“ท่านชิ้น”: พันโท อรุณ เสรีไทย 136
นายทหารเสรีไทยสายอังกฤษซึ่งมีบทบาทสำคัญในปฏิบัติการของเสรีไทยจากประเทศอังกฤษ และยังเป็นผู้ที่ได้รับความเชื่อถือไว้วางใจทั้งจากฝ่ายอังกฤษและฝ่ายไทยมากที่สุด คือ ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน อดีตนักเรียนนายร้อยวูลลิช พระเชษฐาของสมเด็จพระนางเจ้ารําไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7 ซึ่งรู้จักกันโดยทั่วไปว่า “ท่านชิ้น” หรือในพระนามแฝงระหว่างปฏิบัติการเสรีไทยว่า “อรุณ”
ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิททรงมีส่วนสําคัญในการเจรจาให้ทางการอังกฤษยินยอมรับอาสาสมัครคนไทย จํานวน 36 นาย เข้าประจําการในกองทัพบกอังกฤษเมื่อกลางปี 2485 ซึ่งท่านเองก็ทรงสมัครเป็นทหารอังกฤษ และทรงปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับคําสั่งซึ่งเป็นงานที่เสี่ยงอันตรายอย่างยิ่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันเป็นผลดีต่อทั้งฝ่ายอังกฤษและต่อบ้านเกิดเมืองนอนของท่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อทรงเล็ดลอดเข้ามาในประเทศไทยเพื่อประสานกองทัพไทยกับกองกําลัง 136 และประสานงานระหว่างหัวหน้าขบวนการเสรีไทยกับกองบัญชาการทหารสูงสุดสัมพันธมิตรที่แคนดี
ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน เป็นพระโอรสในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฏ์ กับม.ร.ว.เสงี่ยม (สนิทวงศ์) ธิดาในพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ ประสูติเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2443 หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เสด็จไปศึกษา ณ ประเทศอังกฤษ เมื่อ พ.ศ. 2461 รัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนักเรียนสังกัดกระทรวงกลาโหม ภายหลังที่ได้ศึกษากับครูพิเศษมาเป็นเวลา 3 ปี เพื่อเตรียมตัวเข้าโรงเรียนนายร้อย ปี 2465 ทรงเข้าศึกษาในโรงเรียนนายร้อยทหารบกที่วูลลิช ซึ่งเป็นโรงเรียนทหารปืนใหญ่ของอังกฤษและเป็นสถานศึกษาเดิมของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
เมื่อทรงสําเร็จการศึกษา จึงเสด็จกลับเมืองไทย ได้รับพระราชทานยศเป็นนายร้อยตรีและเข้ารับราชการในกรมทหารปืนใหญ่ ระหว่างปี 2474-2475 เสด็จไปทรงศึกษาและดูงานที่สกอตแลนด์ยาร์ด ประเทศอังกฤษ และศึกษากิจการตํารวจที่สหรัฐอเมริกา
หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อเดือนมิถุนายน 2475 ทรงย้ายมารับราชการในกรมทหารรักษาวัง มียศเป็นนายร้อยเอก ต่อมาได้ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวไปต่างประเทศจนรัชกาลที่ 7 ทรงสละราชสมบัติ และเสด็จสวรรคตที่อังกฤษเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2484
ปีต่อมาประเทศไทยประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกาในวันที่ 25 มกราคม 2485 ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิททรงสมัครรับราชการในกองทัพบกอังกฤษได้รับยศเป็นร้อยเอก เมื่อนักเรียนไทยและข้าราชการสถานทูตไทย ณ กรุงลอนดอน แสดงความประสงค์จะอาสาสมัครเป็นทหารเพื่อทํางานรับใช้ชาติด้วยการเป็นเสรีไทย “ท่านชิ้น” ทรงวิ่งเต้นกับทางการอังกฤษให้รับอาสาสมัครเสรีไทยจํานวน 36 นายเข้าประจํากองทัพบกอังกฤษ โดยมีลายพระหัตถ์ไปถึงนายวินสตัน เชอร์ชิลล์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ
หลังจากอาสาสมัครเสรีไทยเข้าเป็นทหารประจําหน่วยโยธาและได้รับการฝึกเบื้องต้นในประเทศอังกฤษแล้ว ก็ออกเดินทางโดยทางเรืออ้อมแหลมกู๊ดโฮปมาขึ้นบกที่เมืองบอมเบย์ประเทศอินเดียปลายเดือนเมษายน 2486 พ.ต. หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์ หรือ “พันตรี อรุณ” จึงเสด็จมาประจํา ณ กองกําลัง 136 ซึ่งตั้งกองบัญชาการอยู่ที่ชานเมืองแคนดี บนเกาะลังกา
ภายหลังสงคราม ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน ทรงได้เลื่อนยศเป็นพันโทแห่งกองทัพบกอังกฤษ และได้รับพระราชทานยศชั่วครามเป็นพันโทแห่งกองทัพบกไทย นอกจากนั้นทางการอังกฤษยังถวายอิสริยาภรณ์ O.B.E ให้ที่กรุงเทพฯ อีกด้วย ก่อนที่จะปลดประจำการกองทัพบกอังกฤษ
ภารกิจพบนายจำกัดที่อินเดีย
ก่อนหน้านั้นไม่นานนัก นายจํากัด พลางกูร ตัวแทนขององค์การต่อต้านญี่ปุ่นในประเทศไทยได้เล็ดลอดออกไปเมืองจีน ได้พบกับ พ.อ. ลินเซย์ ที.ไรด์ ผู้บังคับการหน่วยความช่วยเหลือของกองทัพบกอังกฤษ ที่เมืองกุยหลินทางตอนใต้ของประเทศจีน พ.อ. ไรด์เป็นนักเรียนเก่ามหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดเช่นเดียวกับนายจํากัด ซึ่งได้มีการบอกให้นายจํากัดเขียนรายงานละเอียด แล้ว พ.อ. ไรด์จึงนํามาปรับปรุงทําเป็นรายงานอย่างเป็นทางการเสนอผ่านทูตทหารบกและหัวหน้าคณะทหารอังกฤษประจําประเทศจีน ถึงกองกําลัง 136 ที่เมียรุตและแคนดี
เดือนสิงหาคม 2486 กองกําลัง 136 มอบหมายให้ “พ.ต. อรุณ” และ พ.ต. ครุต (อดีตผู้จัดการไฟฟ้าวัดเลียบ) เดินทางจากอินเดียเพื่อไปพบนายจํากัด พลางกูร ที่จุงกิง “พ.ต. อรุณ” ได้รับอนุญาตให้ดําเนินการติดต่อนัดหมายกับองค์การต่อต้านญี่ปุ่นในประเทศไทย เพื่อส่งเสรีไทยสายอังกฤษซึ่งกําลังฝึกอยู่ที่ริมทะเลสาบคารัควัสลา นอกเมืองปูนา ประเทศอินเดีย เข้าไปปฏิบัติงานหลังแนวรบญี่ปุ่นในประเทศไทย
จากปากคําของนายจํากัด พลางกูร ทําให้ ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิททราบว่า หัวหน้าองค์การต่อต้านญี่ปุ่นในประเทศไทยที่ส่งนายจํากัดมาติดต่อกับฝ่ายสัมพันธมิตรที่เมืองจีน คือ นายปรีดี พนมยงค์ หรือหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งเป็นผู้นําฝ่ายพลเรือนในการอภิวัฒน์ระบอบการปกครองของสยามจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่ระบอบรัฐธรรมนูญ และเป็นบุคคลสําคัญในวงการเมืองไทยภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็น ปรปักษ์ต่อระบบกษัตริย์นิยม
ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน นายทหารเสรีไทยอาวุโสทรงได้รับการยืนยันจากนายจํากัด พลางกูร ว่า นายปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้ที่รักชาติและเทิดทูนสถาบันหลักของชาติ คือ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และรัฐธรรมนูญ ด้วยบริสุทธ์ใจและจริงใจ อีกทั้งมีเจตจํานงอันแน่วแน่ที่จะธํารงไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ซึ่งนายปรีดีเป็นผู้นํามาสู่สยามเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475
สายสัมพันธ์จากท่านชิ้นถึงนายปรีดี
การได้ร่วมทํางานรับใช้ชาติในขบวนการเสรีไทยในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 กับนายปรีดี พนมยงค์ ทำให้ ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิททรงรู้จักนายปรีดีอย่างแท้จริง ดังที่ทรงนิพนธ์ไว้ในเรื่อง “ลําดับเหตุการณ์ของคณะเสรีไทยในประเทศที่ได้ปฏิบัติ (สะกดตามต้นฉบับ) ว่า
“ตามที่ข้าพเจ้าได้สังเกตเห็นหลวงประดิษฐ์ทํางานในการต่อต้านครั้งนี้ ข้าพเจ้ารู้สึกได้แน่ชัดว่าท่านผู้นี้ได้พยายามเต็มสติกำลังความสามารถ อดทนมิได้คิดเห็นแก่เหน็ดเหนื่อย พยายามกระทําการทุกอย่างโดยมิได้เห็นแก่ตัว และภยันตรายที่กำลังจะมาถึงตน จนพวกเราทั้งหลายที่เข้ามาจากต่างประเทศต่างพากันขอร้องกันหลายครั้งหลายคราว ให้เตรียมตัวที่จะต้องคิดป้องกันตัวเองเสียบ้าง หาไม่ฉะนั้นการงานของประเทศจะเสียหมดถ้าหลวงประดิษฐ์เปนอันตรายไป
“ตลอดเวลาหลวงประดิษฐ์มัวนึกถึงความปลอดภัยของผู้อื่น เช่น ไปมัวมีกังวลถึงเรื่องความปลอดภัยของเจ้านายที่บางประอิน และความอดอยากของผู้อื่น ๆ ซึ่งจะเกิดมีขึ้นเมื่อญี่ปุ่นจะเข้าทําลายต่อตีประเทศไทย ในที่สุด เราต้องบังคับให้หลวงประดิษฐ์จัดการกระทําการตามแผนการปลอดภัยของเราว่า ถ้าเมื่อญี่ปุ่นเข้าตีเมื่อใดแล้ว หลวงประดิษฐ์จะต้องออกเดินทางไปสู่ยังที่ที่ปลอดภัยโดยทันที การเหล่านี้เปนของที่ทางข้าพเจ้าเห็นใจเปนที่สุด เพราะคนเรานั้นย่อมเชื่อแต่คําพูดเท่านั้นไม่ได้ การกระทําของบุคคลนั้นแหละเป็นเครื่องพิสูจน์แห่งความจริงใจของเขาว่าเขามีความจริงในใจแค่ไร”
ความเอื้ออาทรที่ ม.จ.ศุภสวัสดิ์ฯ ทรงมีต่อนายปรีดี พนมยงค์ มิได้จํากัดอยู่เฉพาะในระหว่างการรับใช้ชาติในภาวะสงครามเท่านั้น แม้ภายหลังสงครามซึ่งนายปรีดียังจําเป็นต้องรับผิดชอบต่อบ้านเมือง ไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อมก็ตาม ท่ามกลางทั้งมิตรและศัตรูทางการเมืองรอบด้าน ม.จ.ศุภสวัสดิ์ฯ ได้พิสูจน์ความเป็นกัลยาณมิตรด้วยการให้คําปรึกษาหารือในข้อราชการ ให้กําลังใจ ตลอดจนข้อคิดและคําแนะนําที่มีค่าแก่นายปรีดี ดังปรากฏในลายพระหัตถ์หลายต่อหลายฉบับ ซึ่งเป็นเอกสารสําคัญทางประวัติศาสตร์ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิทมิได้เป็นเจ้านายในราชสกุล “สวัสดิวัตน”เพียงองค์เดียวที่ได้รับใช้ชาติในฐานะเสรีไทย นอกจากสมเด็จพระนางเจ้ารําไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7 ซึ่งมีพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นแก่บรรดาเสรีไทยในอังกฤษแล้ว ก็ยังมีอีก 3 องค์ ในราชสกุล “สวัสดิวัตน” คือ ม.จ.ผ่องผัสมณี กับ ม.จ.กอกษัตริย์ เสรีไทยสายอังกฤษ และ ม.จ.ยุธิษเฐียร เสรีไทยสายสหรัฐอเมริกา
พ.ศ. 2495 ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน เสด็จกลับมาประทับที่เมืองไทย บั้นปลายชีวิตทรงทํา “สวนเสมา”อยู่ที่หมู่บ้านบางควาย อําเภอชะอํา จังหวัดเพชรบุรี
พ.ท. หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน สิ้นชีพตักษัยที่โรงพยาบาลศิริราชเมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2510
ฟังผู้ใหญ่เล่าเรื่องปรีดี EP 3: ม.ร.ว.สายสวัสดี สวัสดิวัตน
ม.ร.ว.สายสวัสดี สวัสดิวัตน เป็นธิดาของ ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน หรือ "ท่านชิ้น" พระเชษฐาของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7 อดีตผู้นำเสรีไทยสายอังกฤษ อดีตผู้บังคับการกองทหารรักษาวัง เล่าเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างนายปรีดีกับท่านชิ้น ผู้ซึ่งมีบทบาทสำคัญอยู่เบื้องหลังประวัติศาสตร์การเมืองไทย
ในโอกาสครบรอบ 120 ปีชาตกาลของนายปรีดี พนมยงค์ วันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 สถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้จัดทำโครงการบันทึกคำบอกเล่าของผู้ใหญ่ที่รู้จักนายปรีดี เพื่อให้ท่านเหล่านั้นได้ถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับนายปรีดีในความทรงจำ และเกร็ดความรู้ที่ไม่ได้บันทึกเอาไว้ในประวัติศาสตร์ ให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้และได้ศึกษาจากแหล่งข้อมูลโดยตรง
แหล่งอ้างอิง: วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร, ตำนานเสรีไทย, กรุงเทพฯ: แสงดาว, 2546, หน้า 934-943.