ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

นักเรียนฝรั่งเศส นาม ปรีดี พนมยงค์ ข้ามฝั่งไปเยือนอังกฤษ

3
ตุลาคม
2563

หากว่ากันเรื่องชีวิตนักเรียนนอกของนายปรีดี พนมยงค์  แน่นอนทีเดียว ดินแดนที่ได้รับการเอ่ยอ้างมาเชื่อมโยงเสมอ ๆ ย่อมมิแคล้วประเทศฝรั่งเศส นั่นเพราะเขาคือนักเรียนทุนกระทรวงยุติธรรมผู้ไปร่ำเรียนวิชากฎหมายจวบจนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยปารีส แต่กลับไม่ค่อยมีใครทราบเท่าไหร่ว่า ขณะนายปรีดีเป็นนักเรียนฝรั่งเศส เขาก็ได้เดินทางข้ามฟากไปเยี่ยมเยือนและแสวงหาความรู้ทางฝั่งประเทศอังกฤษ

นายควง อภัยวงศ์ อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 4 ของไทย และเคยเป็นนักเรียนฝรั่งเศสในทศวรรษ 2460 เช่นเดียวกับนายปรีดี กล่าวคำปาฐกถาเรื่อง “ชีวิตของข้าพเจ้า” ณ หอประชุมคุรุสภาเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2506  โดยเล่าย้อนถึงตอนที่ตนสอบเข้าโรงเรียนช่างโยธา École Centrale de Lyon ได้สำเร็จ พระองค์เจ้าจรูญศักดิ์กฤดากร อัครราชทูตไทยประจำกรุงปารีส จึงให้รางวัลด้วยการส่งตัวไปพักผ่อนช่วงหยุดหน้าร้อนที่อังกฤษ และเพื่อเรียนภาษาอังกฤษให้แข็งแรงขึ้น ดังถ้อยความว่า

“ตอนนี้มีเรื่องขำ ๆ หน่อย คือพอผมสอบได้แล้วก็เขียนจดหมายถึงแฟน บอกเขาว่าประเดี๋ยวเราจะไปพบกันที่ชายทะเล แล้วผมก็กลับปารีส กำลังดีอกดีใจที่สอบได้แล้ว ท่านทูตกลับบอกว่า เอ้อแก ฉันไม่นึกว่าแกจะสอบได้ ฉันคิดว่าแกคงจะตกเสียอีก เพราะฉะนั้น เพื่อเป็นรางวัล ฉันจะส่งแกไปพักผ่อนที่ประเทศอังกฤษ ผมก็ใจฝ่อ แฟนหายหมดไม่ได้พบกัน เพราะต้องไปอังกฤษ แล้วไปกับใครทราบไหม ก็ไปกับนายปรีดีนั่นเอง ไปอยู่บ้านเดียวกันเสียด้วย”

สำหรับชีวิตในอังกฤษของนักเรียนกฎหมายหนุ่มนามปรีดี ยังปรากฏผู้ใช้นามแฝง ‘เสรี’ พาดพิงไว้ผ่านข้อเขียน “นักเรียนต่างประเทศผู้หนึ่งเล่าเรื่องหลวงประดิษฐ์มนูธรรมเมื่อเวลาอยู่เมืองนอก” ลงในหนังสือพิมพ์ ชาติไทย ปีที่ 1 ฉะบับที่ 4 ประจำวันศุกร์ที่ 21 ตุลาคม 2475 ช่วงภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วเกือบสี่เดือน

 

หัวหนังสือพิมพ์ ชาติไทย ปี 2475
หัวหนังสือพิมพ์ ชาติไทย ปี 2475

 

‘เสรี’ เป็นนักเรียนอังกฤษและได้พบกับนักเรียนฝรั่งเศสคนหนึ่ง ณ กรุงลอนดอน ดังเริ่มต้นเล่าว่า

“เวลานั้นอยู่ในระวางเดือนเมษายน ซึ่งเปนฤดูใบไม้ผลิ ข้าพเจ้านั่งอ่านหนังสือพิมพ์อยู่ในห้องรับแขกบ้านมิสซิสชาร์ป ณะถนนครอมเวลล์ กรุงลอนดอน ระวางนั้นกำลังหยุดเรียน ข้าพเจ้าโดยสารรถไฟขึ้นมาพักในกรุงลอนดอน เพื่อเดิรทางต่อไปยังเมืองบอร์นมัธ ทางฝั่งทะเลภาคใต้ของประเทศอังกฤษ ข้าพเจ้าเปนนักเรียนใหม่พึ่งมาถึงอังกฤษได้ไม่ถึง ๖ เดือน และยังไม่รู้จักใครมากนัก.”

และ “ในขณะที่ข้าพเจ้ากำลังอ่านหนังสือพิมพ์เพลินอยู่ที่หน้าเตาไฟ นักเรียนไทยอีกคนหนึ่งได้เดิรเข้ามาในห้องรับแขก ข้าพเจ้าเขยิบเก้าอี้เพื่อให้โอกาสเขาได้ผิงไฟบ้าง เพราะเย็นวันนั้นอากาศหนาวเยือกเย็นผิดปกติ”

ในสายตาของ ‘เสรี’ “รูปร่างของนักเรียนไทยผู้นี้สันทัด ไม่สูงไม่ต่ำจนเกินไป แต่ลักษณะค่อนข้างล่ำ แม้เห็นแต่เพียงเผิน ๆ ข้าพเจ้าก็พอสังเกตได้ว่า เขามีท่าทางเปนผู้ใหญ่ น่าจะมีนิสสัยเปนคนขยันขันแข็ง เอาการเอางาน และไม่ชอบสนุกมากนัก”

นักเรียนหนุ่มชาวไทยทั้งสองทักทายและต่างมอบยิ้มให้แก่กัน  ‘เสรี’ เอ่ยถามอีกฝ่ายว่า มาอยู่อังกฤษได้กี่ปี ยังมิทันได้รับคำตอบ ก็ถูกเรียกให้ลงไปตรวจตราหีบเสื้อผ้าข้างล่างที่เพิ่งมาถึง และไม่สบโอกาสสนทนากับเพื่อนนักเรียนคนใหม่เลยตลอดเย็น  มิหนำซ้ำ เพื่อนนักเรียนคนอื่น ๆ อีกสองสามคนยังชวน ‘เสรี’ ไปรับประทานอาหารจีน กว่าจะกลับมาบ้านถนนครอมเวลล์ก็ดึกดื่นราว 11 นาฬิกาครึ่งหรือ 23.30 น.

ครั้น ‘เสรี’ เข้าไปยังห้องพักพบเตียงนอนอยู่สองเตียง ไฟฟ้าในห้องดับมืดหมด เตียงหนึ่งมีคนนอนอยู่ แต่มิรู้ใคร จึงปลดเครื่องแต่งกายเงียบ ๆ เกรงอีกคนจะตื่น ก่อนจะ “...ย่องขึ้นบนเตียงอันเยือกเย็นประดุจน้ำแข็งของข้าพเจ้า” ฉับพลันทันใด ยินเสียงแว่วมาจากเตียงหนึ่ง “คุณพึ่งกลับหรือ?”  ฟังดูก็จำได้ คือเสียงนักเรียนชาวไทยที่พบกันในห้องรับแขกตอนเย็น  ‘เสรี’ ชี้แจงว่าตนไปรับประทานอาหารจีนเพิ่งกลับมา  และได้ยินเสียงอีกฝ่ายถามต่อ “คุณเห็นจะพึ่งมาถึงอังกฤษกระมัง?”

‘เสรี’ บอกว่าตนเพิ่งมาอยู่อังกฤษไม่ถึง 6 เดือน พร้อมถามกลับนักเรียนไทยร่วมห้อง มาถึงอังกฤษได้กี่ปี เขาว่า “ผมไม่ใช่นักเรียนอังกฤษ ผมเปนนักเรียนฝรั่งเศส เรียนกฎหมาย มาเมืองนอกได้ราวปีกว่า ๆ เท่านั้น”

‘เสรี’ ยังคงซักถาม “ขอโทษคุณชื่ออะไร?”

“ปรีดี พนมยงค์” เป็นคำตอบ

คืนนั้น นายปรีดีกับ ‘เสรี’ พูดคุยกันอีกสองสามคำ ต่างคนต่างนอนหลับ วันรุ่งขึ้น นักเรียนอังกฤษออกเดินทางไป ‘โฮลิเดย์’ ที่เมืองบอร์นมัธ ส่วนนักเรียนฝรั่งเศส มิอาจล่วงรู้ว่าเขาใช้ชีวิตถัดต่อไปเช่นไร

‘เสรี’ หวนนึกความหลังและรำพันผ่านข้อเขียนของตนในเดือนตุลาคม 2475 ทำนองว่า “ใครบ้างจะนึกฝันว่า เพื่อนร่วมห้องของข้าพเจ้าในคืนวันนั้นจะเปนผู้ให้กำเนิดรัฐธรรมนูญฉะบับแรกของเมืองไทย จะเปนคนสำคัญที่สุดคนหนึ่งของประเทศสยาม และถือทุกข์ สุข ของคนตั้ง ๑๑ ล้านคนไว้ในกำมือ?”

ภายหลังการอภิวัฒน์เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน นายปรีดี พนมยงค์ ย่อมเป็นผู้ครองบทบาทสำคัญของประเทศในฐานะมันสมองของคณะราษฎร

 

บรรยากาศถนนครอมเวลล์ (Cromwell Road) ช่วงประมาณปีคริสต์ศักราช 1915-1920 ภาพจาก www.peterboroughimages.co.uk
บรรยากาศถนนครอมเวลล์ (Cromwell Road) ช่วงประมาณปีคริสต์ศักราช 1915-1920
ภาพจาก www.peterboroughimages.co.uk

 

วกย้อนไปยังต้นทศวรรษ 2460 หลังนอนร่วมห้องกัน ณ บ้านมิสซิสชาร์ป ถนนครอมเวลล์ กรุงลอนดอน  ในปีถัด ๆ มา พอ ‘เสรี’ เดินทางมาประเทศฝรั่งเศส ก็ได้นัดเจอกับนายปรีดีเนือง ๆ ส่วนใหญ่มักพบปะกันย่านการ์ติเย ลาแตง (Quartier Latin) อันเป็นแหล่งรวมตัวของนักศึกษา

“...เมื่อข้าพเจ้ามีโอกาส ข้าพเจ้ามักเล็ดลอดไปเที่ยวกรุงปารีสเสมอ ๆ หลวงประดิษฐ์เองในชั้นแรกอยู่ที่เมืองกัง แต่ภายหลังได้ย้ายมาอยู่ในปารีส เพราะฉะนั้น เมื่อข้าพเจ้าข้ามไปฝรั่งเศสทีไรจึงพบหลวงประดิษฐ์ทุกครั้ง”

และ “ถิ่นที่นักเรียนไทยมักพบกันบ่อย ๆ ก็คือ โรงกาแฟซูฑเฟล ในแถบการ์เตียร์ลาแตง ซึ่งนับว่าเปนถิ่นของนักเรียน หลวงประดิษฐ์เคยเปนล่ามให้ข้าพเจ้าก็หลายครั้ง แต่ข้าพเจ้าขอออกตัวเสียก่อนว่า หลวงประดิษฐ์ไม่เคยเปนผู้นำทางให้ข้าพเจ้าเลย”

ตามทัศนะของ ‘เสรี’ ที่สัมผัสคลุกคลีกับนายปรีดีมากขึ้น ก็ได้มองว่านายปรีดี “..เปนคนฉลาดและเต็มไปด้วยความพากเพียร และเริ่มแลเห็นว่าหลวงประดิษฐ์จะเปนคนใหญ่คนโตในภายหน้าผู้หนึ่ง” เนื่องจาก “มีอุปนิสสัยของหลวงประดิษฐ์ในครั้งนั้นอยู่ข้อหนึ่ง ซึ่งส่อให้เห็นว่าจะเปนหัวหน้าคนในวันต่อไป หลวงประดิษฐ์เปนคนชอบคบเพื่อนทุกชั้น และเอาใจใส่คอยพูดจาปราสัยไม่ว่าใคร ข้าพเจ้าเปนนักเรียนอังกฤษ และมีผู้กล่าวว่านักเรียนอังกฤษมักจะถือตัว ฉะนั้น นักเรียนฝรั่งเศสบางคนจึงไม่สมัคร์ที่จะสมาคมกับนักเรียนอังกฤษ  แต่หลวงประดิษฐ์ไม่เปนเช่นนั้น ไม่ว่าใครที่ผ่านไปหลวงประดิษฐ์ต้องยินดีรับรองและช่วยเหลือทุกคน”

และ “ความกว้างขวางของหลวงประดิษฐ์ไม่มีอยู่ฉะเพาะระวางนักเรียนไทยด้วยกันเท่านั้น แม้นักเรียนชาติอื่น ๆ หลวงประดิษฐ์ก็รู้จักเปนจำนวนมาก เช่น พวกนักเรียนญวน เปนต้น”

ภาพลักษณ์ของนายปรีดีหาใช่คนชอบสนุก ตลกโปกฮา ดื่มเหล้าและเที่ยวเตร่เต้นรำ ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกนักเรียนฝรั่งเศสมักถูกค่อนแคะ ถ้าจะมีบ้างก็ฝืนสนุกเพื่อตามใจเพื่อน ๆ ด้วยนิสัยอ่อนโยน  การที่นายปรีดีนิยมคบหาเพื่อนพ้องทุกชนชั้นทุกเชื้อชาติพร้อมยินดีคอยช่วยเหลือเกื้อกูลมิตรสหาย มีบุคลิกทรงภูมิเป็นผู้ใหญ่ ส่งผลให้เขากลายเป็นบุคคลที่เมื่อตั้งตนเป็นผู้นำกระทำการสิ่งใด ก็จะได้รับแรงสนับสนุนอย่างแข็งขัน

เหตุการณ์ที่ ‘เสรี’ เจอกับนายปรีดีครั้งแรกในอังกฤษ ผมคิดว่าเกิดขึ้นประมาณปี พ.ศ. 2465 (ค.ศ. 1922) ช่วงหยุดหน้าร้อนที่นักเรียนกฎหมายจากฝรั่งเศสข้ามฝั่งมาเรียนภาษาอังกฤษเพิ่มเติม ณ กรุงลอนดอน สังเกตบทสนทนาที่ว่านายปรีดี “...มาเมืองนอกได้ราวปีกว่า ๆ เท่านั้น” และเมื่อพิจารณาข้อมูลเรื่องนายปรีดีเดินทางจากเมืองไทยมาถึงฝรั่งเศสปลายเดือนกันยายน 2463 (ค.ศ. 1920) เข้าประกอบ ผมใคร่วิเคราะห์ว่า ตอนนั้นนายปรีดีคงจะผ่านการเรียนวิชากฎหมายระดับปริญญาตรีในมหาวิทยาลัยกัง (Université de Caen) แต่ยังมิได้เข้ามาเรียนต่อวิชากฎหมายชั้นสูงในกรุงปารีส

หลักฐานพึงสนใจอีกชิ้น คือ ‘บทที่ ๑๑ การเรียนในฝรั่งเศส’ ในสมุดบันทึกของนายปรีดีเอง ซึ่งหน้าปกเป็นภาษาจีนและมีข้อความเขียนด้วยลายมือว่า หัวข้อสังคมของอัตโนตั้งแต่บทที่ ๑๐ พบถ้อยความระบุว่า พอปลายปี ค.ศ. 1922 (พ.ศ. 2465) ได้เข้าเรียนปีที่ 2 ในมหาวิทยาลัยกัง จนเดือนมิถุนายนค.ศ. 1923 (พ.ศ. 2466) สอบไล่ได้เกียรตินิยมดี และช่วงหยุดหน้าร้อนหลังสอบเสร็จชั้นปี 2 ก็ข้ามไปอังกฤษ โดยไปพักบริเวณใกล้ ๆ เมืองทอร์คีย์ (Torquay) ทางตอนใต้ของมณฑลเดวอน (Devon) เมืองชายฝั่งทะเลอันเลื่องลือความสวยงามและเหยียดยาวของหาดทราย สายลมพัดโชยแผ่วเบา และทิวต้นปาล์มพลิ้วไหวโดดเด่น

เรียกว่า ถ้าฝรั่งเศสมีชายฝั่งทะเลน่าหลงใหลเยี่ยงโกตดาซูร์ (Côte d'Azur) หรือเฟรนช์ริเวียรา (French Riviera) อังกฤษย่อมมีชายฝั่งทะเลแห่งทอร์คีย์ประหนึ่ง ‘English Riviera’  ยิ่งในปี ค.ศ. 1923 ซึ่งนายปรีดีแวะไปเยี่ยมเยือนเมืองนี้ นับเป็นห้วงยามที่หาดทรายกำลังมีชื่อเสียงจนใคร ๆ ก็ปรารถนาไปพักตากอากาศกัน ทั้งชายหาด Oddicombe ชายหาด Meadfoot และชายหาด Babbacombe กระทั่งทางเมืองทอร์คีย์เกิดแนวคิดที่จะสร้างรถรางจากชายหาดขึ้นไปบนหน้าผาหรือ ‘Babbacombe Cliff Railway’ จนเสร็จสิ้นในปี ค.ศ. 1926

 

บรรยากาศชายหาดแห่งเมืองทอร์คีย์ (Torquay) ช่วงทศวรรษ 1920s ภาพจาก www.babbacombecliffrailway.co.uk
บรรยากาศชายหาดแห่งเมืองทอร์คีย์ (Torquay) ช่วงทศวรรษ 1920s
ภาพจาก www.babbacombecliffrailway.co.uk

 

บรรยากาศชายหาดแห่งเมืองทอร์คีย์ (Torquay) ช่วงทศวรรษ 1920s ภาพจาก www.babbacombecliffrailway.co.uk
บรรยากาศชายหาดแห่งเมืองทอร์คีย์ (Torquay) ช่วงทศวรรษ 1920s
ภาพจาก www.babbacombecliffrailway.co.uk

 

เมืองทอร์คีย์ยังเป็นภูมิลำเนาของนักประพันธ์สตรีระดับโลก เธอเกิดเมื่อวันที่ 15 กันยายน ค.ศ. 1890 ก่อนหน้านายปรีดีถึง 10 ปี (นายปรีดีเกิดเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2443 ตรงกับ ค.ศ. 1900) ผลงานนวนิยายฆาตกรรมเขย่าขวัญของเธอทำให้นาม อกาธา คริสตี้ (Agatha Christie) ระบือลั่นบรรณพิภพ

ขณะนายปรีดีเป็นนักเรียนกฎหมายในฝรั่งเศส เขาเคยข้ามฝั่งไปเยือนอังกฤษอยู่หลายหน ทั้งช่วงหยุดหน้าร้อนหลังเรียนมหาวิทยาลัยกังจบปีหนึ่ง ซึ่งได้พบกับ ‘เสรี’ ที่บ้านมิสซิสชาร์ป กรุงลอนดอน ช่วงหยุดหน้าร้อนหลังเรียนมหาวิทยาลัยกังจบปีสองแล้วไปพักแถวเมืองทอร์คีย์ และอาจจะมีช่วงหยุดหน้าร้อนที่เขาไปพร้อมกับนายควง อภัยวงศ์ หรือไปพร้อมกับมิตรสหายคนอื่น ๆ

ผมเองต้องตามสืบเสาะต่อไปให้กระจ่างว่า ผู้ใช้นามแฝง ‘เสรี’ ในหนังสือพิมพ์ ชาติไทย จริง ๆ แล้วคือใครกัน? เผื่อบางที เราอาจแกะรอยค้นพบเรื่องราวชีวิตในอังกฤษและฝรั่งเศสอันแสนสนุกของนักเรียนกฎหมายนาม ปรีดี พนมยงค์ ทยอยพรั่งพรูมาสมทบอีกมากโขก็เป็นได้ !

____________________

หมายเหตุ:  ถ้อยความที่อ้างอิงมาจากหลักฐานจะรักษาการสะกดคำไว้ตามเดิมที่ปรากฏในเอกสารต้นฉบับ

 

เอกสารอ้างอิง

  • ควง อภัยวงศ์. “ชีวิตของข้าพเจ้า” ใน อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พันตรีควง อภัยวงศ์ ป.จ., ม.ป.ช. , ป.ม. ณ เมรุหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 13 มิถุนายน 2511. พระนคร: โรงพิมพ์ไทยสัมพันธ์, 2511
  • ปรีดี พนมยงค์. หัวข้อสังคมของอัตโนตั้งแต่บทที่ ๑๐ (สมุดบันทึก ยังไม่ตีพิมพ์)
  • ‘เสรี’. “นักเรียนต่างประเทศผู้หนึ่งเล่าเรื่องหลวงประดิษฐ์มนูธรรมเมื่อเวลาอยู่เมืองนอก.” ชาติไทย ปีที่ 1 ฉะบับที่ 4 (21 ตุลาคม 2475)
  • www.babbacombecliffrailway.co.uk
  • www.peterboroughimages.co.uk
  • www.torquay.com