ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

มองปรีดีในสายตานักเรียนไทยในฝรั่งเศส

25
พฤษภาคม
2563

เริง รังษี ที่มา: วงการ มิถุนายน 2526

ใครที่เคยไปเรียนหนังสือหรือทำงานที่ประเทศฝรั่งเศส ย่อมมีโอกาสได้พบคุณลุงคุณป้าคู่หนึ่ง

คุณลุงมีรูปร่างค่อนข้างเล็ก ผมสีดอกเลาตัดสั้นเกรียน หน้าตาสดใส ดูไม่ออกว่าท่านอายุ 80 ปีกว่า

คุณป้าคนผิวคล้ำ รูปร่างสันทัด คล่องแคล่ว โอภาปราศรัย

ถ้าเป็นคู่สามีภรรยาที่พำนักอยู่ในต่างประเทศเฉกเช่นสามีภรรยาคู่อื่น ก็คงจะไม่มีอะไรเป็นพิเศษ แต่คุณลุงที่เรากำลังพูดถึงนี้คือ ท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ และคุณป้าคือท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์

ได้มีบุคคลและหนังสือพิมพ์กล่าวถึงท่านอาจารย์ในฐานะรัฐบุรุษอาวุโส อดีตผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้นำในการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ 24 มิถุนายน 2475 และผู้ก่อตั้งเสรีไทย แล้วอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังมรณกรรมของท่านเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคมนี้ ผู้เขียนจึงขอพูดถึงท่านในฐานะลูกหลานพูดถึงญาติผู้ใหญ่ ลูกศิษย์พูดถึงครู เป็นเพียงความทรงจำของผู้ที่เคยไปเรียนที่ประเทศฝรั่งเศส และได้มีโอกาสรู้จักท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์และครอบครัว

นักเรียนเก่าฝรั่งเศส

ท่านอาจารย์ปรีดีศึกษาอยู่ในประเทศฝรั่งเศสระหว่างปี พ.ศ. 2463-2469 โดยได้รับการคัดเลือกจากกระทรวงยุติธรรม ได้ทุนไปศึกษาวิชากฎหมาย ท่านจบปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยกอง (Caen) ทางตอนเหนือของฝรั่งเศส และเป็นคนไทยคนแรกที่ได้ปริญญาเอกของรัฐ (Doctuer d’ etat) ทางกฎหมาย (Docteur en Droit) เกียรตินิยมดีมาก ที่มหาวิทยาลัยปารีสและสอบไล่ได้ประกาศนียบัตรการศึกษาชั้นสูงทางเศรษฐศาสตร์การเมือง

ระหว่างที่ท่านศึกษาอยู่ในฝรั่งเศสก็ได้ร่วมกับเพื่อนนักเรียนไทยก่อตั้ง “สามัคยานุเคราะห์สมาคม” ขึ้นในปี พ.ศ. 2467 ซึ่งเป็นชื่อแรกตั้งของสมาคมนักศึกษาไทยในฝรั่งเศส และนักศึกษาในความดูแลของสถานทูตไทยประจำกรุงปารีสที่ศึกษาในยุโรป รวมทั้งส่วนหนึ่งที่ศึกษาในประเทศอังกฤษ สมาคมมีชื่อว่า ส.ย.า.ม. โดยเขียนเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า ASSOCIATION “SIAMOISE D’ INTELLECTUALITE ET D’ ASSISTANCE MUTUELLE” (SIAM)

ท่านได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งสภานายก (2468-9) และในช่วงนี้เองที่มีเหตุการณ์เกี่ยวกับการเป็นนักเรียนไทยในฝรั่งเศส คือ ข้อพิพาทระหว่าง ส.ย.า.ม. กับพระองค์เจ้าจรูญศักดิ์กฤดากร ทูตไทยประจำประเทศฝรั่งเศส และเป็นผู้ดูแลนักเรียนไทยในขณะนั้นด้วย เนื่องจาก ส.ย.า.ม. ต้องการจะส่งตัวแทนของตนไปร่วมประชุมกับสามัคคีสมาคม ซึ่งเป็นสมาคมของนักเรียนไทยในประเทศอังกฤษ แต่พระองค์เจ้าจรูญศักดิ์กฤดากร มีความขัดแย้งเป็นส่วนตัวกับคุณภรตราชาผู้ปกครองนักเรียนที่อังกฤษ จึงไม่อยากให้นักเรียนซึ่งอยู่ในความดูแลของตนไปประชุมกับสามัคคีสมาคม โดยอ้างว่า สมาคมอังกฤษเป็นสมาคมไม่ดี    

นักเรียนไทยในฝรั่งเศสเห็นว่าข้อกล่าวหานี้ไม่มีหลักฐาน จึงตกลงจะส่งนักเรียนซึ่งไม่ได้อยู่ในความดูแลของสถานทูตไปประชุมแทน เรื่องเกือบจะจบลงด้วยดี แต่เมื่อพระองค์เจ้าจรูญศักดิ์กฤดากร รู้ว่านักเรียนกำลังรวบรวมลายเซ็นขอขึ้นเงินค่าใช้จ่ายประจำเดือน จึงได้รายงานฟ้องนักเรียนมายังเมืองไทย ท่านอาจารย์ปรีดีถูกกล่าวหาว่าเป็นพวก Syndicaliste และบอลเชวิค เรื่องจึงบานปลาย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ มีรับสั่งให้เรียกตัวอาจารย์กลับเมืองไทย แต่จากการทูลเกล้าถวายฎีกาของบิดามารดาของท่านอาจารย์ จึงโปรดเกล้าให้ท่านอาจารย์อยู่จนกว่าจะสอบไล่เสร็จ โดยมีข้อแม้ว่า จะต้องเขียนคำขอขมาเป็นลายลักษณ์อักษร และแสดงความเสียใจต่อพระองค์เจ้าจรูญศักดิ์กฤดากร (รายละเอียดหาอ่านได้จาก ท่านปรีดี รัฐบุรุษอาวุโส ผู้วางแผนเศรษฐกิจไทยคนแรก ของ ดร.เดือน บุนนาค)

นั่นคือภาพบางตอนของท่านอาจารย์ในสมัยที่ท่านอยู่ในประเทศฝรั่งเศส อีก 50 ปีต่อมา คือใน พ.ศ. 2513 ท่านได้ย้ายจากประเทศจีนมาอยู่ในประเทศฝรั่งเศส และทำให้นักเรียนไทยที่ศึกษาที่นั่นโชคดีได้มีโอกาสรู้จักกับผู้ที่ทำคุณประโยชน์ให้กับบ้านเมืองอย่างมากมาย

ท่านอาจารย์ คุณลุงของนักเรียนไทย

นักเรียนไทยเรียกท่านอาจารย์ว่า “ท่านอาจารย์” บ้าง “อาจารย์” บ้าง “คุณลุง” บ้าง “คุณปู่” หรือ “คุณตา” บ้าง และท่านก็เรียกตัวเองว่า “ผม” “ลุง” “ปู่” “ตา” แล้วแต่กรณี

ส่วนท่านพูนศุข

ในตอนแรกเราเรียกท่านว่า “ท่านผู้หญิง” ท่านก็ท้วงติง ท่านเรียกตัวเองว่า “ป้า” ให้ความสนิทสนมและเอ็นดูพวกนักเรียนหรือคนไทยที่ไปทำงานเหมือนลูกหลาน ต่อมาเด็ก ๆ ทุกคนก็เรียกท่านว่า “คุณป้า”

ในระยะแรกที่ท่านอาจารย์และคุณป้ามาพำนักอยู่ในประเทศฝรั่งเศสนั้น ก็ได้มีคนไทยไปพบท่าน แต่การจะไปแต่ละครั้งนั้น ต่างก็ไม่ปริปากบอกใคร ไม่มีใครกล้าแสดงตนว่าเคยไปเยี่ยมคารวะท่าน บางครั้งถึงกับมีการปั้นเรื่องหลอกเพื่อนกัน แล้วเพื่อนทั้งสองก็ไปเผชิญหน้าพบกันที่บ้านท่านอาจารย์นั่นเอง

เพื่อนคนไทยคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า “ผมพบกับท่านอาจารย์ครั้งแรกราวปี พ.ศ. 2514 ท่านเพิ่งออกจากประเทศจีนได้ไม่นาน และลงไปพักร้อนที่เมืองนีซ ริมทะเลเมดิเตอเรเนียน ทางตอนใต้ของฝรั่งเศส เมื่อนักเรียนไทยที่นั่นทราบข่าว หลายคนมีความกระตือรือร้น บางคนอยากไปดูตัวจริงของท่าน บางคนอยากให้ท่านเล่าเรื่องการลี้ภัยไปอยู่เมืองจีน แต่ก็มีหลายคนไม่กล้าไปพบ เมื่อเอ่ยนาม ปรีดี พนมยงค์ ก็เกิดความกลัวขึ้นมาโดยไม่มีสาเหตุ เด็กรุ่นเราได้รับการเสี้ยมสอนให้เกลียดกลัวท่าน…” (และความกลัวนั้นก็ยังฝังรากลึกอยู่เพราะภายหลังวันที่ 2 พฤษภาคม 2526 แล้ว ก็มีบุคคลที่อยากจะเข้ามามีส่วนในการจัดงานไว้อาลัยระลึกถึงท่านอาจารย์ หรือโครงการปรีดีกับสังคมไทย ที่มีคุณสุภา ศิริมานนท์ เป็นประธาน แต่บุคคลนั้น ๆ ก็ยังอยากจะเข้าร่วมอย่าง “ลับ ๆ” ไม่อยากแสดงตัวเปิดเผยชื่อ)

ระยะหลังคนไทยที่เดินทางผ่านประเทศฝรั่งเศส มักจะขอแวะเข้าพบท่านอาจารย์ การพบท่านอาจารย์ไม่มีพิธีรีตองแต่อย่างใด เพียงแต่โทรศํพท์ไปแจ้งให้ท่านทราบว่าเป็นใคร มาจากไหน ท่านก็จะนัดให้มาพบถ้าท่านสบายดี ไม่เจ็บป่วยในช่วงนั้น

นักเรียนไทยมักจะแวะไปคุยกับท่านเสมอ ทุกครั้งคุณป้าจะอยู่นั่งคุยด้วย ผู้เขียนยังนึกภาพท่านอาจารย์ออก ท่านมักจะใส่กางเกงสีเทา ใส่เสื้อยืดกันหนาวแบบผ่าหน้า ท่านเป็นคนพูดเสียงเบาแต่ชัดเจน สายตาเหม่อมองเพดานเมื่อนึกถึงเรื่องราวที่แล้วมา บางครั้งคุณป้าจะเล่าเสริมการสนทนา ทั้งท่านอาจารย์และคุณป้ามีความทรงจำดีมาก ท่านอาจารย์ยอมรับฟังข้อคิดเห็นที่แตกต่างจากท่านถ้ามีเหตุผลพอ ทุกครั้งที่เราไปคุยกับท่าน เรามีความรู้สึกเหมือนกับได้คุยกับญาติผู้ใหญ่และครูอาจารย์ในเวลาเดียวกัน ท่านให้ความเมตตา เป็นกันเอง ท่านสั่งสอน แนะนำ ถ้ามีสิ่งใดที่เรายังไม่รู้แจ้ง ท่านก็จะบอกให้ไปหาความรู้ศึกษาเพิ่มเติม ท่านมักจะพูดว่า “หนังสือเล่มนี้อ่านหรือยัง…(ชื่อหนังสือ) ไปอ่านมาก่อน”

ท่านพูดสั่งสอนอยู่เสมอว่า จะต้องเป็นคนมีจิตใจเป็นวิทยาศาสตร์ จะต้องไม่เชื่อเรื่องที่เป็นคำบอกเล่า หรือคำที่เขา “กล่าวกันว่า” (hear say) ท่านย้ำอยู่บ่อย ๆ ในข้อนี้ ท่านสอนว่าจะต้องค้นคว้าหาความรู้จาก Authentic Document ไม่ใช่จากที่เขาอ้างกันต่อ ๆ มา

ท่านอาจารย์ปรีดีเป็นคนทันสมัย ท่านติดตามข่าวคราวบ้านเมืองอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นข่าวที่เกี่ยวกับประเทศไทยหรือข่าวต่างประเทศ ท่านอ่านหนังสือพิมพ์ทั้งภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส (หลายฉบับไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์รายวันของฝ่ายซ้ายหรือฝ่ายขวา) ภาษาไทย (ทั้งรายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน) ท่านฟังวิทยุและเหตุการณ์ได้เป็นเครื่องพิสูจน์ว่า บางสิ่งบางอย่างที่ท่านเคยพูดไว้เป็นจริงตามนั้น

ความรักชาติ เป็นห่วงบ้านเมืองไทยของท่านอาจารย์เป็นสิ่งที่ไม่มีข้อสงสัย ท่านมักจะคุยกับนักเรียนถึงเรื่องนี้ ความรักชาติของท่านไม่จำเป็นต้องอ้างชื่อ “ประชาชน” “มวลชน” เหมือนดั่งที่ใคร ๆ เอ่ยกันจนน้ำลายไหล สิ่งใดที่ท่านเห็นว่าเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ ท่านก็ไม่รีรอที่จะปฏิบัติรับใช้บ้านเมือง แต่ก็มีผู้มีใจอคติ โง่และอวดรู้ ใส่ไคล้ท่านอยู่เสมอ

ในช่วงที่ท่านอาจารย์ปรีดียังมีสุขภาพแข็งแรง ท่านไม่เคยปฏิเสธคำเชิญให้ไปแสดงปาฐกถาของสมาคมนักเรียนไทยต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสามัคคีสมาคม สมาคมนักเรียนไทยในสหพันธรัฐเยอรมัน สมาคมนักเรียนไทยในประเทศฝรั่งเศส (ส.น.ท.ฝ.) แม้ว่าบางครั้งการเดินทางจะไม่เหมาะกับผู้สูงวัยอย่างท่านก็ตาม และการปาฐกถาแต่ละครั้งก็กินเวลาเป็นชั่วโมง ร่างกายท่านก็เหนื่อยเพลีย การพูดแต่ละครั้ง ท่านเตรียมตัวมาอย่างดี ค้นคว้ามีหลักฐาน พูดอย่างตั้งใจและถ่อมตัว

ประเพณีที่ถือปฏิบัติกันมาในหมู่นักเรียนไทยในฝรั่งเศสก็คือการเชิญท่านอาจารย์ปรีดีมาร่วมงานสงกรานต์ โดยทาง ส.น.ท.ฝ. จะเชิญท่านมาในตอนบ่าย คนไทยที่มาชุมนุมกันในวันนั้นจะรดน้ำดำหัวท่าน ท่านจะให้ศีล ให้พร และแสดงปาฐกถาตามที่ทางสมาคมฯ ขอมา

ประมาณเดือนมกราคมของทุกปีประธาน ส.น.ท.ฝ. จะนำคณะกรรมการสมาคมเข้าพบท่านอาจารย์ (การเลือกตั้งประธานสมาคมฯ จัดให้มีขึ้นทุกปี ตอนวันปีใหม่)

และแน่นอนทุกวันที่ 11 พฤษภาคม คนไทย ลูกศิษย์ นักเรียน จะถือดอกไม้ไปกราบอวยพรวันเกิดท่าน และรับประทานอาหารเย็นร่วมกัน

ภาพเหล่านี้ ต่อไปนี้ไม่มีอีกแล้ว เหลือไว้เพียงความประทับใจ ความทรงจำ ท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ เป็นตัวเอย่างของผู้ที่ทำแต่คุณงามความดี มีคุณธรรม เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าผลประโยชน์ส่วนตัว น้อยคนนักที่ได้มีโอกาสรู้จัก พูดคุยกับท่านจะเมินเฉยถึงความจริงข้อนี้

ประวัติศาสตร์จะต้องดำเนินต่อไป

บทความนี้ ขอจบลงด้วยการคัดตอนหนึ่งของปฐกถาของท่านที่พูดในงานชุมนุมนักเรียนไทยของสามัคคีสมาคม ที่ Doncester ประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2516 ที่มีความว่า 

ท่านสภานายกได้มีจดหมายแจ้งให้ผมทราบว่า กรรมการขอให้ผมแสดงปาฐกถาในหัวข้อว่า ‘อนาคตของประเทศควรดำเนินไปในรูปใด’ และท่านได้แจ้งเป็นวาทะของท่านด้วยว่า ‘สิ่งที่มีค่ามากและเป็นที่ต้องการคือการได้มีโอกาสซักถามท่าน (ซึ่งหมายถึงผม) ในปัญหาต่าง ๆ โดยไม่จำกัดหัวข้อ’ ผมมีความยินดีที่จะสนองศรัทธาเท่าที่จะทำได้ แต่ก็จำต้องขอความเห็นใจไว้ล่วงหน้าว่า ในบรรดาเรื่องที่ท่านจะซักถามผมนั้น อาจมีเรื่องที่ผมไม่รู้หรือเกินสติปัญญาของผม ผมก็ต้องขอผลัดคำตอบไว้ในโอกาสหน้า ภายหลังที่ผมได้ค้นคว้าศึกษาเสียก่อน และก็อาจมีบางเรื่องที่ผมรู้ แต่เผอิญเข้าลักษณะของคำพังเพยโบราณว่าเป็นเรื่องพูดไม่ออกบอกไม่ได้ ผมก็ต้องขอผลัดไปในโอกาสที่สถานการณ์อำนวยให้พูดออกบอกได้ ถ้าหากโอกาสนั้นยังไม่เกิดขึ้นในอายุขัยของผม

“แต่ประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติมิได้หยุดชะงักลงภายในอายุขัยของคนใดหรือเหล่าชนใด คือประวัติศาสตร์จะต้องดำเนินต่อไปในอนาคตโดยไม่มีสิ้นสุด ดังนั้นผมขอฝากไว้แก่ท่านและชนรุ่นหลังที่ต้องการสัจจะช่วยตอบให้ด้วย”