ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

เยี่ยมเยือนพิพิธภัณฑ์เสรีไทย ณ เมืองแพร่

28
ตุลาคม
2563

วันพุธที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2563 ผมได้เดินทางไปกับคุณปรีดิวิชญ์ พนมยงค์ กรรมการผู้จัดการสถาบันปรีดี พนมยงค์ และคุณกุลพัชร์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา ผู้จัดการสถาบันปรีดี พนมยงค์ เพื่อร่วมงานพิธีเปิดถนนเสรีไทย (ทอง กันทาธรรม) และอนุสาวรีย์สามพี่น้องเสรีไทย พร้อมงานวันเทิดเกียรติเสรีไทยประจำปีนี้ ณ พิพิธภัณฑ์เสรีไทยแพร่ จังหวัดแพร่ในตอนเช้าวันพฤหัสบดีที่ 15 ตุลาคม ซึ่งทั้งสองงานจัดขึ้นและให้การต้อนรับโดยคุณภุชงค์และคุณปุณิกา กันทาธรรม

รถตู้โดยสารของทางสถาบันปรีดี พนมยงค์ ลุล่วงถึงเมืองแพร่ยามเย็นย่ำค่ำคล้อยวันที่ 14 ตุลาคม แวะที่พักสักครู่ แล้วจึงไปร่วมงานเลี้ยงรับรองที่โรงแรมภราดร ถนนยันตรกิจโกศล กลางตัวเมืองแพร่ บรรยากาศในงานช่างเปี่ยมล้นมิตรภาพและกังวานเสียงดนตรีครื้นเครง ระหว่างรับประทานอาหารมื้อค่ำ พวกเราสนทนาสานสัมพันธไมตรีกับทายาทเสรีไทยและผู้ใฝ่รู้วีรกรรมเสรีไทยจำนวนมากราย ทั้งที่เป็นคนไทยและชาวต่างชาติ โดยเฉพาะคณะชาวอเมริกันจากกงสุลใหญ่สหรัฐอเมริกาประจำจังหวัดเชียงใหม่ 

ผมเองพลอยดื่มด่ำความเพลิดเพลินและค่อย ๆ เติมเต็มความรู้ทางประวัติศาสตร์แปลกใหม่ เช่น เรื่องขบวนการเสรีไทยสายสหรัฐอเมริกาที่ได้รับฟังผ่านปากคำของ ดร.อนุชา จินตกานนท์ ทายาทของคุณอนันต์ จินตกานนท์ สมาชิกขบวนการเสรีไทย ผู้เคยรับราชการตำแหน่งเลขานุการประจำสถานอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้น

รุ่งขึ้นคือวันที่ 15 ตุลาคม แม้ท้องฟ้าจะไร้แสงแดดและสายฝนโปรยปรายลงมาพรำ ๆ หากพิธีเปิดถนนเสรีไทย (ทอง กันทาธรรม) และอนุสาวรีย์สามพี่น้องเสรีไทยก็เป็นไปอย่างราบรื่น เนื่องด้วยความร่วมแรงร่วมใจของชาวเมืองแพร่อย่างแข็งขัน 

เริ่มต้นที่เวลา 08.30-09.30 น. มีการตัดริบบิ้นและวางพวงมาลา ณ อนุสาวรีย์สามพี่น้องเสรีไทย อันหมายถึงพี่น้องแห่งสกุลกันทาธรรม ได้แก่ นายสม, นายอุทัย และนายทอง ซึ่งผู้ร่วมวางพวงมาลาประกอบด้วยนายสมหวัง พ่วงบางโพ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่, มิสเตอร์ฌอน เค โอนีลล์ (Mr. Sean K. O'Neil) กงสุลใหญ่สหรัฐอเมริกาประจำจังหวัดเชียงใหม่, รองศาสตราจารย์ ดร.สรศาสตร์ สุขเจริญสิน จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA), นายบดินทร์ ตามไท ประธานมูลนิธิธรรมไทย, นายโชคชัย พนมขวัญ นายกเทศมนตรีเมืองแพร่ และทายาทเสรีไทย

 

สามพี่น้องเสรีไทยแห่งสกุลกันทาธรรม นายอุทัย กันทาธรรม (คนซ้ายสุด), นายสม กันทาธรรม (คนกลาง) และนายทอง กันทาธรรม (คนขวาสุด) ภาพจาก พิพิธภัณฑ์เสรีไทยแพร่
สามพี่น้องเสรีไทยแห่งสกุลกันทาธรรม
นายอุทัย กันทาธรรม (คนซ้ายสุด), นายสม กันทาธรรม (คนกลาง) และนายทอง กันทาธรรม (คนขวาสุด)
ภาพจาก พิพิธภัณฑ์เสรีไทยแพร่

 

อนุสาวรีย์สามพี่น้องเสรีไทย ถนนเสรีไทย (ทอง กันทาธรรม)
อนุสาวรีย์สามพี่น้องเสรีไทย ถนนเสรีไทย (ทอง กันทาธรรม)

 

เสร็จสิ้นพิธีเปิดถนนและอนุสาวรีย์  ก็จะเริ่มงานวันเทิดเกียรติเสรีไทยประจำปี พ.ศ. 2563 ที่ลานหน้าพิพิธภัณฑ์ บริเวณโรงแรมภราดร ช่วงเวลา 09.30-10.00 น. รับชมการเล่นละครสะท้อนวีรกรรมของขบวนการเสรีไทยแห่งเมืองแพร่ จากนั้น คุณภุชงค์ กันทาธรรม เชื้อเชิญแขกผู้มีเกียรติเยี่ยมชมภายในพิพิธภัณฑ์ และทำหน้าที่ผู้นำบรรยายอย่างเป็นกันเอง 

พอเวลาประมาณ 10.00 น. จึงย้ายไปประกอบพิธีการในห้องอาหารภราดร นายสมหวัง พ่วงบางโพ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ กล่าวเปิดงาน และท่านกงสุลใหญ่มิสเตอร์ฌอน เค โอนีลล์ กล่าวสุนทรพจน์ว่าด้วยความสัมพันธ์แน่นแฟ้นและความร่วมมือกันระหว่างสหรัฐอเมริกากับไทย ถัดต่อมามีการบรรยายเกี่ยวกับขบวนการเสรีไทยโดย ดร.ผุสดี ตามไท, รองศาสตราจารย์ ดร.สรศาสตร์ สุขเจริญสิน, ดร.อนุชา จินตกานนท์ และคุณวีระ สตาร์ ตามลำดับ จวบจนคุณภุชงค์ กันทาธรรม กล่าวขอบคุณและมอบของที่ระลึก ทางสถาบันปรีดี พนมยงค์ นำโดยคุณปรีดิวิชญ์ พนมยงค์ ก็ได้มอบของที่ระลึกเป็นภาพลำดับเหตุการณ์ขบวนการเสรีไทยไว้ให้แก่พิพิธภัณฑ์เสรีไทยแพร่  

งานในห้องอาหารคับคั่งไปด้วยแขกผู้มีเกียรติทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ทั้งชาวท้องถิ่นเมืองแพร่ และผู้เดินทางมาจากที่อื่น ๆ เช่น ศาสตราจารย์ ดร.บุษยา วีรกุล จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) ซึ่งดำรงตำแหน่งที่ปรึกษามูลนิธิปรีดี พนมยงค์  นายบดินทร์ ตามไท ประธานมูลนิธิธรรมไทย และคณะชาวอเมริกันจากกงสุลใหญ่สหรัฐอเมริกาประจำจังหวัดเชียงใหม่ 

สิ่งที่ชวนให้ผมรู้สึกสนอกสนใจยิ่งนักในการไปร่วมพิธีเปิดถนนเสรีไทย (ทอง กันทาธรรม) และงานวันเทิดเกียรติเสรีไทยประจำปี พ.ศ. 2563 ณ เมืองแพร่คราวนี้ คงมิพ้นพิพิธภัณฑ์เสรีไทยแพร่หรืออาคารที่โดดเด่นอยู่บริเวณด้านหลังโรงแรมภราดร ผมจะไม่ตื่นเต้นได้เยี่ยงไร ก็ในเมื่อตนเองเคยเยี่ยมเยือนเมืองแพร่มาก่อน แต่เพิ่งทราบและเพิ่งได้แวะชมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นหนแรกสุด

 

พิพิธภัณฑ์เสรีไทยแพร่ วันงานเทิดเกียรติเสรีไทยประจำปี พ.ศ. 2563
พิพิธภัณฑ์เสรีไทยแพร่ วันงานเทิดเกียรติเสรีไทยประจำปี พ.ศ. 2563

 

พิพิธภัณฑ์เสรีไทยแพร่ก่อตั้งและเปิดให้เข้าชมครั้งแรกวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2550 ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ คือ คุณภุชงค์ บุตรชายของนายทอง กันทาธรรม หัวหน้าขบวนการเสรีไทยจังหวัดแพร่ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และยังก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยในรัฐบาลที่มีพลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี  จุดประสงค์การก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ก็เพื่อน้อมคารวะและรำลึกวีรกรรมหาญกล้าของขบวนการเสรีไทยในเขตจังหวัดแพร่ นำเสนอข้อมูลเนื้อหาประวัติศาสตร์ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 รวมทั้งจัดแสดงข้าวของและภาพถ่ายแห่งวันวาน

เพียงผ่านเข้าไปข้างในอาคารพิพิธภัณฑ์ พลันคลับคล้ายว่ากำลังเคลิ้มคลุกในกลิ่นอายยุคสงครามมหาเอเชียบูรพา ครั้นทอดน่องสำรวจและทอดสายตาอ่านเนื้อหาข้อมูลต่าง ๆ ในห้วงระยะเวลาสั้น ๆ ทำให้ทราบคร่าว ๆ ว่า ขบวนการเสรีไทยในภาคเหนือมีศูนย์กลางหลักอยู่เมืองแพร่อันเป็นพื้นที่ของปฏิบัติการนิวเมอรัล (Operation Numeral) ซึ่งนายปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าขบวนการเสรีไทย ได้ร่วมมือกับนายทอง กันทาธรรม หรือที่ชาวบ้านเรียกขาน ‘ผู้แทนทอง’ รวมถึงเจ้าวงศ์ (โว้ง) แสนศิริพันธุ์ คหบดีเจ้าของสัมปทานป่าไม้เมืองแพร่ เริ่มดำเนินงานในเดือนกันยายน พ.ศ. 2487 มุ่งเป้าหมายเพื่อทำงานสืบข่าวกรองเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของพวกทหารญี่ปุ่นในภาคเหนือ 

นายทหารเสรีไทยสองนายผู้ยอมเสี่ยงตายกระโดดร่มลงมาสู่พื้นดินจังหวัดแพร่ครั้งแรกสุด ได้แก่ ร้อยโท บุญมาก เทศบุตร และร้อยตรี วิมล วิริยะวิทย์ เรียกว่า ‘ปฏิบัติการฮอทฟูท’ แล้วต่อมาเสรีไทยจึงกระโดดร่มลงมาพร้อมสัมภาระ อาวุธและยารักษาโรคที่แพร่อีก 3 ครั้ง ผู้กระโดดร่ม เช่น นายชโรช โล่ห์สุวรรณ และนายแปลง คำเมือง 

ด้านศูนย์บัญชาการขบวนการเสรีไทยแพร่นั้นอยู่ที่บ้านหนองม่วงไข่ ถิ่นฐานของนายทอง กันทาธรรม และมีชาวบ้านจังหวัดแพร่เข้าร่วมภารกิจในฐานะเสรีไทยกว่า 500 คน  จึงไม่แปลกเลยที่ในพิพิธภัณฑ์จะพบเสียงเล่าวีรกรรมของชาวบ้านธรรมดา ๆ ปรากฏอยู่หลากหลาย 

 

เจ้าวงศ์ (โว้ง) แสนศิริพันธุ์ ภาพจาก พิพิธภัณฑ์เสรีไทยแพร่
เจ้าวงศ์ (โว้ง) แสนศิริพันธุ์
ภาพจาก พิพิธภัณฑ์เสรีไทยแพร่

 

นายชโรช โล่ห์สุวรรณ ภาพจาก พิพิธภัณฑ์เสรีไทยแพร่
นายชโรช โล่ห์สุวรรณ
ภาพจาก พิพิธภัณฑ์เสรีไทยแพร่

 

เรื่องของคนหนึ่งที่ผมสะดุดตา ก็คือ เจ๊กฟุก แซ่หลี (ต่อมาเปลี่ยนชื่อมาเป็นไทยว่านายสวัสดิ์ วงศ์ศิริ)  ช่างเครื่องชาวจีนอพยพประจำโรงสีข้าวชมภูมิ่ง ผู้ประพฤติตนเป็นสายลับคอยสืบข่าวความเคลื่อนไหวของทหารญี่ปุ่น ซึ่งเขาปลอมตัวเป็นพ่อค้าขายก๋วยเตี๋ยวตรงสี่แยกบ้านทุ่ง

 

เจ๊กฟุก แซ่หลี หรือ นายสวัสดิ์ วงศ์ศิริ ภาพจาก พิพิธภัณฑ์เสรีไทยแพร่
เจ๊กฟุก แซ่หลี หรือ นายสวัสดิ์ วงศ์ศิริ
ภาพจาก พิพิธภัณฑ์เสรีไทยแพร่

 

ที่พิพิธภัณฑ์วันนั้น ผมยังพบคุณตาจันทร์ ณ เชียงใหม่ วัย 93 ปี เสรีไทยสายเวียงต้าตัวจริงที่ยังมีชีวิตมาร่วมย้อนรำลึกอดีตในงานและมอบปืนยาวของตนให้กับคุณภุชงค์ กันทาธรรม เพื่อนำมาจัดแสดงต่อไป กลางทศวรรษ 2480 คุณตาจันทร์ในวัยรุ่นเป็นนักแม่นปืนผู้อาสาปราบเสือและสัตว์ป่าที่มารังควานชาวบ้าน ช่วงที่เข้าร่วมขบวนการเสรีไทย คุณตาจันทร์เคยปะทะกับทหารญี่ปุ่นสองนายด้วยการใช้ปืนพกสั้น 11 มม. แต่ยิงกระสุนพลาด เพราะถนัดการใช้ปืนยาวมากกว่า 

 

คุณตาจันทร์ ณ เชียงใหม่ในวัยหนุ่ม
คุณตาจันทร์ ณ เชียงใหม่ในวัยหนุ่ม

 

คุณปรีดีวิชญ์ พนมยงค์, คุณภุชงค์ กันทาธรรม และคุณตาจันทร์ ณ เชียงใหม่ วันงานเทิดเกียรติเสรีไทยประจำปี พ.ศ. 2563
คุณปรีดีวิชญ์ พนมยงค์, คุณภุชงค์ กันทาธรรม และคุณตาจันทร์ ณ เชียงใหม่
วันงานเทิดเกียรติเสรีไทยประจำปี พ.ศ. 2563

 

อาหารการกินของเสรีไทยเป็นอีกเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยน่าสนุก ผมเจอเรื่องเล่าตอนที่นายทอง กันทาธรรม และนายทวีศักดิ์ สินธุวงศ์ (เสรีไทยแพร่ฝ่ายสื่อสารและการข่าว) กำลังปฏิบัติการคู่กันบนดอยผาบ่อง ตำบลเวียงต้า อำเภอลอง วันหนึ่งเสบียงอาหารเหลือแค่เพียงจิ้นส้ม (แหนม) ค้างคืนหนึ่งห่อและข้าวเหนียว นายทวีศักดิ์จึงอาสาออกไปเก็บผักกูดมาต้มในน้ำร้อน แล้วขยี้จิ้นส้มลงไปโดยปราศจากเครื่องปรุงอื่นใด ทั้งสองคนรับประทานแกงผักกูดใส่แหนมด้วยความหิวโหย ต่อมาภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ในวันประกาศชัยชนะและเดินขบวนสวนสนามของเสรีไทยที่กรุงเทพมหานคร นายทอง กันทาธรรม ถือโอกาสไปเลี้ยงฉลอง ณ ภัตตาคารหรูหรานาม ‘ห้อยเทียนเหลา’ และได้สั่งอาหารมาเต็มโต๊ะ รับประทานไปสักครู่ นายทองเอ่ยกับผองเพื่อนว่า “อาหารมื้อนี้สู้แกงผักกูดใส่แหนม (จิ้นส้ม) บนดอยผาบ่องไม่ได้เลย”  จนทุก ๆ คนลั่นเสียงหัวเราะ 

 

นายทวีศักดิ์ สินธุวงศ์ ภาพจาก พิพิธภัณฑ์เสรีไทยแพร่
นายทวีศักดิ์ สินธุวงศ์
ภาพจาก พิพิธภัณฑ์เสรีไทยแพร่

 

หรือเรื่องเล่าตอนที่ทหารอเมริกัน 3 นายกระโดดร่มลงมาเป็นครูฝึกให้เสรีไทยชาวแพร่ แล้วอาจจะไม่คุ้นชินรสชาติอาหารพื้นเมืองภาคเหนือ เจ้าวงศ์ (โว้ง) แสนศิริพันธุ์ ได้จ้างคนไทยผู้เคยเป็นกุ๊กฝรั่งมาอยู่ในป่าคอยทำขนมปังให้ทหารอเมริกันกิน

น่าเสียดายที่ผมมีเวลาการค้นคว้าในพิพิธภัณฑ์เสรีไทยแพร่เพียงชั่วมิทันครึ่งชั่วโมง ไม่ทันเก็บรายละเอียดและซึมซับข้อมูลมาได้ทั้งหมด คงต้องหาโอกาสเหมาะ ๆ ย้อนกลับไปเยือนพิพิธภัณฑ์แห่งนี้อีกหนในอนาคต 

เคยอ่านถ้อยแถลงของพลตำรวจเอก อดุล อดุลเดชจรัส ในรายงานการประชุมช่วงที่รัฐบาลไทยเตรียมประกาศพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยเหรียญตราสำหรับวีรกรรมเสรีไทย หรือ ‘เหรียญศานติมาลา’ (The Santi Mala Medal) ปลายทศวรรษ 2480 พบใจความตอนหนึ่งทำนอง ถ้าจะสร้างเหรียญนี้มอบให้เสรีไทยจริง ๆ อาจต้องสร้างเป็นหมื่นเป็นแสน คำกล่าวเช่นนี้ย่อมยืนยันว่า สมาชิกขบวนการเสรีไทยมีจำนวนมากมายนับหมื่นนับแสน[1] แม้จะมีความพยายามการรวบรวมรายชื่อได้มากสุดเพียงแค่หลักพัน นั่นแสดงว่ายังมีอีกหลายรายชื่อที่ตกหล่นขาดหายไป พอมาเยือนพิพิธภัณฑ์เสรีไทยแพร่และแลเห็นการให้ความสำคัญกับชาวบ้าน ก็จุดประกายให้ผมตระหนักและคำนึงถึงคนธรรมดาสามัญทั้งหลายผู้ทำหน้าที่เพื่อชาติ แต่ยังมิได้รับการจารึกนามในโฉมหน้าประวัติศาสตร์ขึ้นครามครัน

แพร่เป็นเมืองซึ่งคนส่วนใหญ่อาจจะนึกถึงประวัติศาสตร์ยุคเก่า ๆ ทั้ง ๆ แท้จริงแล้ว นี่คือเมืองที่แฝงเร้นข้อมูลน่าทึ่งเกี่ยวกับขบวนการเสรีไทยและรอคอยให้ใครต่อใครมาสัมผัสค้นหา 

พิพิธภัณฑ์เสรีไทยแพร่บริเวณด้านหลังโรงแรมภราดร ริมถนนยันตรกิจโกศล ตำบลในเวียง เปิดให้ประชาชนเข้าชมฟรีทุกวัน คุณผู้อ่านที่สบโอกาสไปเยือนเมืองแพร่  ก็อย่าลืมแวะเที่ยวชมและสัมผัสเรื่องราวน่าเรียนรู้ ณ พิพิธภัณฑ์เสรีไทยแพร่กันเน้อจ้าว


[1] ขอบคุณคุณบุญพิสิฐ ศรีหงส์ ที่แนะนำข้อมูลนี้และชี้ชวนให้ขบคิด