Focus
- บทความฉบับนี้นำเสนอ เรื่องราวชีวิตของ หลวงศรานุชิต (พลตรี สมบูรณ์ ศรานุชิต) ในฐานะนายทหารอาชีพที่มากความสามารถและน้อยคนจะรู้จัก ในฐานะทหารกับบทบาทสมาชิกขบวนการเสรีไทยภาคพายัพและกบฏเสนาธิการ

สมบูรณ์ ศรานุชิต ถ่ายเมื่อมียศพันตรี ขณะศึกษาที่ฝรั่งเศส
ที่มา: ภาพจาก ที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพฯ พลตรี หลวงศรานุชิต (สมบูรณ์ ศรานุชิต) ต.ช. ณ เมรุวัดเทพศิริทราวาส วันพฤหัสที่ 15 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2522
ชื่อหลวงศรานุชิต หรือพลตรี สมบูรณ์ ศรานุชิต อาจเป็นชื่อที่ไม่คุ้นหูสำหรับสังคมปัจจุบันโดยทั่วไป หากค้นคว้าด้วยเว็บไซต์ Google หรือแอปพลิเคชั่น ChatGPT ก็มักจะพบว่า เป็นผู้นำกบฏเสนาธิการ พ.ศ. ๒๔๙๑ (ค.ศ. 1948) การก่อการยึดอำนาจของนายทหารบกบางส่วน ที่ต้องการแยกกองทัพกับการเมือง จึงพอจะเข้าใจถึง พลตรีสมบูรณ์ว่าท่านนี้ มีอุดมการณ์ทหารอาชีพ ที่จะไม่เป็นเครื่องมือของคณะการเมืองคณะหนึ่งใด
ทว่าแทบไม่มีผู้ใดยจะรับรู้เลยว่า ท่านพลตรี สมบูรณ์ ศรานุชิตผู้นี้ มีประวัติชีวิตอย่างไร มีความโดดเด่นอะไร มีผลการปฏิบัติอะไรบ้างทั้งในยามสันติและยามสงคราม ก่อนจะเข้าร่วมกบฏเสนาธิการ
๑. ปรมาจารย์ - สมภารแห่งโรงเรียนเสนาธิการทหารบก

กินเลี้ยงระหว่างนายทหารต่างประเทศ ซึ่งเข้าเรียนในโรงเรียนเสนาธิการ ชุดที่ 59 และ ชุดที่ 60
ที่มา: ภาพจากที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพฯ พลตรี หลวงศรานุชิต (สมบูรณ์ ศรานุชิต) ต.ช. ณ เมรุวัดเทพศิริทราวาส วันพฤหัสที่ 15 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2522
สมบุญ กงศะพุกก์ เกิดเมื่อวันที่ ๒๗ กันยายน พ.ศ. ๒๔๔๔ (ค.ศ. 1901) เป็นบุตรของพระยาสยามนนท์เขตร์ขยัน (จาด กงศะพุกก์) และนางคร้าม กงศะพุกก์ สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยทหารบก เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๕ (ค.ศ. 1922) มีเพื่อนร่วมรุ่นที่เป็นกำลังสำคัญของกองทัพและวงราชการไทย เช่น พลเอก หลวงสุทธิสารรณกร อดีตผู้บัญชาการกองพลที่ ๔ (เสรีไทยลำปาง) และอดีตประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ฉบับ ๒๕๑๑) พลเอก เดช เดชประดิยุทธ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย พลตำรวจเอก ไสว ไสวแสนยากร อดีตอธิบดีกรมตำรวจ พลตรี หลวงวีรวัฒนโยธิน อดีตผู้บัญชาการกองพลที่ ๑ (เสรีไทยพระนคร) เป็นต้น
หลังจากสำเร็จการศึกษาแล้วได้รับราชการในเหล่าทหารปืนใหญ่ ก่อนจะศึกษาโรงเรียนเสนาธิการทหารบก สอบไล่ที่ ๑ ของรุ่น พ.ศ. ๒๔๗๓ แล้วจึงศึกษาต่อวิชาทหารที่ประเทศฝรั่งเศส เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๐ - ๒๔๘๒ (ค.ศ. 1937 - 1939) ชีวิตราชการทหารส่วนมากจึงรับตำแหน่งด้านฝ่ายเสนาธิการ ประจำกรมเสนาธิการทหารบกเป็นหลัก ควบคู่กับการเป็นอาจารย์ประจำกำลังหลักแห่งโรงเรียนเสนาธิการทหารบก ด้วยเป็นนายทหารฝ่ายเสนาธิการจำนวนน้อยที่ได้ผ่านการศึกษาจากต่างประเทศ รวมทั้งเขียนตำราสำหรับฝึกศึกษาในราชการทหารมาหลายฉบับ เช่น บันทึกคำสอนเรื่องยุทธศาสตร์ การใช้ปืนใหญ่ในทางยุทธวิธี และบันทึกเรื่องทูตทหาร เป็นต้น ได้รับบรรดาศักดิ์เป็นหลวงศรานุชิต และได้รับเลื่อนชั้นยศตามลำดับ จนเมื่อมีกฎหมายยกเลิกบรรดาศักดิ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ (ค.ศ. 1941) จึงใช้ชื่อ - สกุลเป็น “สมบูรณ์ ศรานุชิต”

หน้ามุขห้องพักโฮเต็ล BEAUSEJOUR ระหว่างฝึกภาคสนาม 23 เมษายน 2480
ที่มา: ที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพฯ พลตรี หลวงศรานุชิต (สมบูรณ์ ศรานุชิต) ต.ช. ณ เมรุวัดเทพศิริทราวาส วันพฤหัสที่ 15 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2522
ดังนั้นสมบูรณ์ ศรานุชิตจึงได้รับความเคารพนับถือ เป็นปรมาจารย์ฝ่ายเสนาธิการแห่งกองทัพบกจากทหารทหารบกยุคทศวรรษ ๒๔๗๐ - ๒๔๘๐ จนเกือบตลอดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ได้ผลิตลูกศิษย์นายทหารฝึกหัดราชการเสนาธิการมาหลายนาย เช่น นาวาอากาศตรี หะริน หงสกุล นาวาอากาศตรี ทวี จุลละทรัพย์ พันตรี วัลลภ โรจนวิสุทธิ์ ร้อยเอก เสริม ณ นคร พันตรี ชาญ อังศุโชติ ร้อยเอก ดำเนิร เลขะกุล เป็นต้น มีอาจารย์สำคัญที่ร่วมสอนยุคเดียวกัน เช่น พลโท จิร วิชิตสงคราม (หลวงวิชิตสงคราม) เสนาธิการทหารบก พันเอก เนตร เขมะโยธิน พันเอก สุรจิตร จารุเศรณี เป็นต้น
พลอากาศเอก หะริน หงสกุล หนึ่งในศิษย์เก่าได้กล่าวถึงอดีตอาจารย์หลวงศรานุชิตไว้ว่า เป็นเสมือน “สมภาร” ที่เข้มงวดกวดขันในการเรียนการสอน เคี่ยวเข็ญนายทหารฝึกหัดราชการโรงเรียนเสนาธิการทหารบกในการศึกษา อ่านหนังสือ ตอบคำถาม แม้บรรดาศิษย์เหล่านี้จะอยู่ในวัยผู้ใหญ่ มีภรรยามีลูกแล้วก็ตาม
พลโท ดำเนิร เลขะกุล ศิษย์เก่าอีกท่านหนึ่งเล่าว่า ในการสอนนั้นอาจารย์ศรานุชิตจะเข้ามาถามเพื่อให้เกืดการแลกเปลี่ยนความรู้จากลูกศิษย์เป็นรายคน แล้วจึงสรุปในชั้นเรียน หากลูกศิษย์นายทหารฝึกหัดราชการตอบไม่ได้ จะต้องถูกตำหนิรุนแรง ทำให้ลูกศิษย์เกรงกลัวการซักถามและต้องขยันเรียน และขยันอ่านหนังสือหรือถกแถลงยุทธวิธีกับเพื่อนนายทหารจนดึกดื่น จึงมาตอบและเรียนรู้กับอาจารย์ศรานุชิตในเช้าวันรุ่งขึ้นได้ ซึ่งจากการสอนด้วยการซักถามถกแถลงอย่างใกล้ชิด ทำให้อาจารย์ศรานุชิตสามารถประเมินได้ว่า ควรบรรจุนายทหารเหล่านี้ ในสายงานใดของกองทัพต่อไป แล้วลูกศิษย์หลายนายจึงเติบโตประสบความสำเร็จในสายงานนั้น ๆ นับหลายสิบปีต่อมา
เมื่อเกิดการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ (ค.ศ. 1932) อาจารย์หลวงศรานุชิตไม่ได้ร่วมก่อการปฏิวัติ และไม่ได้มีส่วนร่วมก่อการกบฏบวรเดช พ.ศ. ๒๔๗๖ (ค.ศ. 1933) แต่อย่างใด จึงไม่ปรากฏท่าทีทางการเมืองของหลวงศรานุชิต แต่เมื่อมีนโยบายทางทหารของผู้นำใหม่คณะราษฎร คือพันเอก พระยาทรงสุรเดช (ทศ พันธุมเสน) รองผู้บัญชาการทหารบก ที่จะให้ยกเลิกนายทหารฝ่ายเสนาธิการ และยุบโรงเรียนเสนาธิการทหารบก มีการเผาทำลายตำราเอกสารของโรงเรียนเสนาธิการทหารบกไปเป็นจำนวนมาก

เอกสารบันทึกคำสอน พล ต. สมบูรณ์ ศรานุชิต สำหรับใช้ในโรงเรียนเสนาธิการทหารบก
ทว่าร้อยเอก หลวงศรานุชิตได้ลักลอบขัดคำสั่ง ร่วมกับเพื่อนนายทหารฝ่ายเสนาธิการ เช่น หม่อมเจ้าพิสิษฐ์ดิศพงษ์ ดิศกุล และหลวงสุทธิสารรณกรยักยอกเก็บเอกสารประวัติและทะเบียนโรงเรียน เอกสารตำราต่าง ๆ และแม่แบบเข็มเสนาธิปัตย์ (เครื่องหมายนายทหารฝ่ายเสนาธิการ) จนพระยาทรงสุรเดชพ้นจากอำนาจกองทัพ เข้าสู่ยุคของนายพันเอก หลวงพิบูลสงคราม ได้ให้รื้อฟื้นกรมเสนาธิการทหารบก และโรงเรียนเสนาธิการทหารบกขึ้นมาใหม่ จึงได้อาศัยเอกสารหลักฐานที่หลวงศรานุชิตและเพื่อนายทหารเสนาธิการลักลอบสะสม เป็นพื้นฐานในการรื้อฟื้นกิจการเสนาธิการขึ้นมาใหม่ หลังจากนั้นหลวงศรานุชิตจึงปฏิบัติหน้าที่ราชการประจำในสถานะอาจารย์และนายทหารฝ่ายเสนาธิการ ภายใต้ผู้บัญการทหารบกพิบูลสงครามด้วยดี จนเกือบตลอดสมัยสงครามมหาเอเชียบูรพา หากไม่ได้มีความต้องการเข้าสนามการเมือง คงมุ่งมั่นและรักในราชการประจำทหารอาชีพ
นับว่าหลวงศรานุชิตผู้นี้เป็นนายทหารอาชีพแบบฉบับผู้หนึ่ง มาตั้งแต่เริ่มงานราชการ ที่ไม่ได้ทะเยอทะยานไปข้องเกี่ยวกับการเมือง หากแต่เมื่อการเมืองมาพัวพันเกี่ยวข้อง หลวงศรานุชิตสามารถปฏิบัติหน้าที่สนองนโยบายชาติได้เต็มกำลังความสามารถ และสามารถพิจารณาขัดคำสั่งที่เห็นว่า เป็นผลเสียต่อราชการทหารบางอย่างได้ โดยไม่ได้ใช้วิธีการยึดอำนาจ
๒. เสนาธิการกองทัพพายัพปลายสงคราม กับงานใต้ดินสู้ญี่ปุ่น
เมื่อไทยเข้าสู่กรณีพิพาทอินโดจีน (พ.ศ. ๒๔๘๓ - ๒๔๘๔ / ค.ศ. 1940 - 1941) และสงครามมหาเอเชียบูรพา (พ.ศ. ๒๔๘๔ - ๒๔๘๘ / ค.ศ. 1941 - 1945) พันเอก สมบูรณ์ ศรานุชิตได้เป็นหัวหน้าแผนกที่ ๓ กรมเสนาธิการทัพบกสนาม และเลื่อนเป็นรองเสนาธิการทหารบก วางแผนยุทธการกองทัพบกไทยในกรณีพิพาทอินโดจีน การวางกำลังป้องกันญี่ปุ่น และการยุทธในรัฐฉาน (แคว้นเชียงตุง) จนเมื่อเข้า พ.ศ. ๒๔๘๘ (ค.ศ. 1945) ช่วงปลายสงครามมหาเอเชียบูรพาจึงได้ย้ายไปเป็นเสนาธิการกองทัพพายัพ แห่งกองทัพบกสนาม กองทัพพายัพที่เคยทำการรุกรัฐฉาน ช่วยป้องกันปีกขวากองทัพบกญี่ปุ่นซึ่งทำการรุกพม่า ตามกติกาสัญญาพันธไมตรีไทย - ญี่ปุ่นช่วงต้นสงคราม
ในห้วงเวลาปลายสงคราม หลังจากที่ประเทศไทยเปลี่ยนรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม มาเป็นรัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ ภายใต้อิทธิพลเสรีไทยในประเทศ ในราชการทหารจอมพล ป. พิบูลสงครามได้พ้นจากตำแหน่งในกองทัพไปด้วย พลเอก พจน์ พหลโยธิน (พระยาพหลพลพยุหเสนา) ได้แม่ทัพใหญ่และแม่ทัพบก พลโท ชิต มั่นศิลป์ สินาดโยธารักษ์ เป็นรองแม่ทัพใหญ่และรองแม่ทัพบก (ทำการแทนแม่ทัพใหญ่) ซึ่งพลโทชิตผู้นี้ได้เป็นหัวหน้าเสรีไทยฝ่ายทหาร ดังนั้นกองทัพไทยในระยะปลายสงคราม จึงได้มีส่วนร่วมมือขบวนการเสรีไทยในแผนการยุทธต่อต้านญี่ปุ่น
ภารกิจเสนาธิการกองทัพพายัพของพลตรี สมบูรณ์ กงศะพุกก์ จึงเป็นการวางแผน อำนวยการ และสนับสนุนกองทัพพายัพในการต่อต้านญี่ปุ่นด้านภาคเหนือ ภายใต้แม่ทัพพายัพท่านสุดท้าย พลโท ตาด ประสิทธิยุทธศิลป์ อินทรนีลวัตร (หลวงประสิทธิยุทธศิลป์)
ตามแผนยุทธศาสตร์ร่วมสัมพันธมิตร เสรีไทย กองทัพไทย ในภาคเหนือเมื่อกองทัพสัมพันธมิตรจะรุกมาทางเมืองตองญี พยาค เชียงตุงในรัฐฉานหรือสหรัฐไทยเดิม แล้วเข้าภาคเหนือของไทยทางท่าขี้เหล็ก แม่สาย เชียงราย ลำปาง อันเป็นปากทางเข้าใหญ่ของพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย จากนั้นอาศัยเส้นทางถนนประชาธิปัตย์ (พหลโยธิน) เข้ายึดพะเยา งาว และลำปางอันเป็นชุมทางคมนาคมสำคัญของภาคเหนือที่ทั้งถนนประชาธิปัตย์และทางรถไฟสายเหนือจะต้องตัดผ่าน แล้วจึงสบทบกับกองทัพสัมพันธมิตรและกองกำลังฝ่ายไทยในภาคกลางตอนบนของประเทศไทย คือพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดตาก และจังหวัดนครสวรรค์
กองทัพพายัพและพลพรรคเสรีไทย จึงจะมีภารกิจหลักทำการโจมตีกองทัพญี่ปุ่นตามเส้นทางเชียงรายและลำปาง คือถนนประชาธิปัตย์ (ถนนพหลโยธินในปัจจุบัน) อันเป็นเส้นแกนกลางของภาคเหนือ เป็นทั้งเส้นหลักการรุกของสัมพันธมิตร และแนบตั้งรับหลักญี่ปุ่นในภาคเหนือ นอกจากนี้กองทัพพายัพและพลพรรคเสรีไทยยังมีภารกิจรองคือการรักษาพื้นที่ชายแดนพม่าด้านจังหวัดเชียงใหม่ และพื้นที่ชายแดนอินโดจีนฝรั่งเศสด้านจังหวัดแพร่และอุตรดิตถ์ อันเป็นปีกซ้ายและปีกขวาของกองทัพพายัพ
ดังนั้นในระยะปลายสงครามตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๘๗ - ๒๔๘๘ (ค.ศ. 1944 - 1945) กองทัพพายัพ ซึ่งมีกำลังพลประมาณ ๒๕,๐๐๐ นาย ภายใต้การบังคับบัญชาและวางแผนของพลโท ตาษ ประสิทธิยุทธศิลป์ อินทรนีลวัตร แม่ทัพพายัพ และพลตรี สมบูรณ์ ศรานุชิต เสนาธิการกองทัพพายัพ ได้ถอนกำลังทหารส่วนใหญ่จากแคว้นเชียงตุง รัฐฉาน (สหรัฐไทยเดิม) เข้าภาคเหนือของไทย โดยตั้งกำลังหลักตามแนวเส้นทางถนนประชาธิปัตย์ เชียงราย - ลำปาง ได้แก่กองบัญชาการกองทัพพายัพและกองพลที่ ๓ ที่เชียงราย กองพลที่ ๒ ที่พะเยา กองพลที่ ๔ ที่ลำปาง วางกำลังสำหรับภารกิจรองที่เชียงใหม่และแพร่ คงกำลัง ๑ กองพันทหารราบในเชียงตุง นอกจากนี้กองทัพพายัพยังเป็นแกนหลักในการจัดตั้งหน่วยพลพรรคเสรีไทยในจังหวัดเชียงรายและจังหวัดลำปาง อีกทั้งยังได้ให้การสนับสนุนปฏิบัติการเสรีไทยในจังหวัดแพร่อีกด้วย ในระยะนี้เองที่กองทัพบกญี่ปุ่นที่ ๑๕ ถอยทัพเข้ามาตั้งภาคเหนือของไทย
ดังนั้นในหัวเมืองและเส้นทางสำคัญในภาคเหนือ เช่น เชียงราย ลำปาง เชียงใหม่ แพร่ จึงปรากฏป้อมสนาม ด่าน และสนามเพลาะติดอาวุธหนักและอาวุธเบา ที่กองทหารไทยและกองทหารญี่ปุ่นตั้งเผชิญหน้า ในลักษณะที่พร้อมจะสู้รบกันไม่ต่ำกว่า ๕๐ ด่าน เมื่อญี่ปุ่นซักถามฝ่ายไทย ฝ่ายไทยจึงอ้างว่า จะช่วยป้องกันกองทหารญี่ปุ่น จากการโจมตีของสัมพันธมิตรและกองโจรใต้ดิน ในขณะที่พลพรรคเสรีไทยจะซุ่มซ่อนในแนวป่าและพื้นที่ชนบท
๓. ปฏิบัติการใต้ดินที่กองบัญชาการกองทัพกองทัพพายัพ จังหวัดเชียงราย

กองบัญชาการกองทัพพายัพ จังหวัดเชียงราย ฐานที่มั่นลับเสรีไทยเชียงราย
ปลายสงครามมหาเอเชียบูรพา
ที่มา: ภาพถ่ายส่วนบุคคลผู้เขียน
ด้านจังหวัดเชียงรายซึ่งเป็นพื้นที่ศูนย์บัญชาการรบของกองทัพพายัพ บรรดานายทหารแห่งกองบัญชาการกองทัพนำโดยพลตรี สมบูรณ์ ศรานุชิต เสนาธิการกองทัพพายัพ พันตรี สุพงษ์ เดชาติวงศ์ ณ อยุธยา พันตรี ประเสริฐ ศรีพยัคฆ์ ร้อยเอก เริงฤทธิ์ รุมาคม เป็นต้น ได้ร่วมกับร้อยตรี อายุส อิศรเสนา ณ อยุธยา นายทหารเสรีไทยสายอเมริกา (ซึ่งลักลอบเข้าเชียงรายด้านชายแดนลาว) ในการจัดตั้งหน่วยพลพรรคเสรีไทยจังหวัดเชียงราย ซึ่งจะทำสงครามกองโจรด้วยการทำลายเส้นทางคมนาคม ก่อวินาศกรรมเพื่อก่อกวนกองทหารญี่ปุ่นทั้งส่วนที่จะถอยมาจากสหรัฐไทยเดิม และกองทหารญี่ปุ่นประจำที่บ้านตู่ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ประสานกับทหารกองพลที่ ๓ กองทัพพายัพจะได้สู้รบกับกองทหารญี่ปุ่นในเชียงรายด้วยสงครามตามแบบ

ร้อยตรี อายุส อิศรเสนา ณ อยุธยา เสรีไทยสายอเมริกา ผู้ร่วมงานกับนายทหารฝ่ายเสนาธิการ กองทัพพายัพ จัดตั้งค่ายเสรีไทยเชียงราย
ที่มา: อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพฯ นายอายุส อิศรเสนา ณ อยุธยา
ในขณะเดียวกันด้านจังหวัดลำปาง ได้จัดตั้งหน่วยพลพรรคเสรีไทยลำปางด้วยเช่นกัน ด้วยความร่วมมือจากกองพลที่ ๔ กองทัพพายัพ ส่วนมหาดไทย ตำรวจภูธร และโรงงานน้ำตาลเกาะคา ร่วมกับเสรีไทยสายอังกฤษ
๔. การรับอาวุธอเมริกันและฝึกพลพรรคที่ดอยด้วน

ดอยด้วน อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย เคยเป็นที่ตั้งฐานทิ้งร่มอาวุธยุทธภัณฑ์จากสหรัฐ ให้แก่เสรีไทยเชียงราย
ที่มา: https://surveyphan
ในการรับอาวุธจากอเมริกัน บรรดานายทหารฝ่ายเสนาธิการกองทัพพายัพร่วมกับร้อยตรีอายุศลาดตระเวนจุดรับของทางอากาศ เนื่องจากอเมริกันจะส่งอาวุธทางอากาศด้วยร่มชูชีพ เลือกดอยยอดด้วน บ้านป่าแดง อำเภอพาน จังหวัดเชียงรายเป็นที่รับอาวุธจากฝ่ายสัมพันธมิตรทางอากาศ และกำหนดให้ดอยด้วนแห่งนี้เป็นที่ตั้งค่ายฝึกพลพรรคเสรีไทย เนื่องจากดอยด้วนมีสันฐานรูปเกือกม้าทอดจากทิศเหนือไปทิศใต้ มีสันเขาสองข้างสูง จึงพรางสายตาจากบุคคลภายนอกได้
ในการรับร่มแต่ละครั้ง กลุ่มนายทหารฝ่ายเสนาธิการกองทัพพายัพจะได้สำรวจภูมิประเทศ เลือกจุดทิ้งร่ม (Dropping Zone) บนดอยด้วนให้พรางสายตาได้มากที่สุด จัดทหารจากกองพันทหารปืนใหญ่ที่ ๑๐ ช่วยถากลานทิ้งร่ม เตรียมกองไฟกิ่งไม้ และดูต้นทางขณะทิ้งร่ม ในขณะที่ ร.ต.อายุส เสรีไทยจากอเมริกาได้ติดต่อวิทยุกับศูนย์ปฏิบัติการโอเอสเอส (OSS.) ที่อินเดีย และให้สัญญาณแก่เครื่องบินทิ้งร่ม เมื่อถึงเวลานัดหมายทิ้งร่ม ร.ต.อายุสจะให้ทหารจุดกองไฟรูปตัว T เป็นสัญญาแก่เครื่องบิน แล้ว ร.ต.อายุสฉายไฟฉายให้สัญญาณแก่เครื่องบินยืนยันอีกครั้ง เครื่องบินจึงทิ้งร่มมาให้ ทั้ง ร.ต.อายุสและทหารกองทัพพายัพช่วยกันเก็บร่มให้พ้นกองไฟ และช่วยดับไฟอย่างรวดเร็ว
ได้มีการทิ้งร่มอาวุธยุทธภัณฑ์ ๓ ครั้งบนดอยด้วนนี้ อาวุธที่ทิ้งร่มมาให้มีปืนเล็กสั้นคาร์ไบน์ (M1 Carbine) ปืนกลมือทอมป์สัน (M1A1 Thompson) ปืนกลเบรานิง (M1919 Browning Machine gun) ระเบิดขว้าง (M2 Grenade) และดินระเบิด TNT แล้วจึงมีการฝึกใช้อาวุธอเมริกันเหล่านี้ทำสงครามกองโจรและก่อวินาศกรรม เช่น การใช้วัตถุระเบิดสร้างกับดัก ทำลายสะพาน และโค่นต้นไม้ โดยจะเริ่มฝึกให้แก่ทหารกองทัพพายัพจำนวนประมาณ ๑ กองร้อย แล้วจึงจะขยายผลต่อพลพรรคฝ่ายตำรวจและพลเรือน
ทั้งนี้กองโจรเสรีไทยด้านเชียงรายมีภารกิจจู่โจมก่อกวนกองทหารญี่ปุ่น ทั้งที่จะถอยมาจากสหรัฐไทยเดิม และโดยเฉพาะกองทหารญี่ปุ่นประจำที่บ้านตู่ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย พร้อมกับที่หน่วยหลักของกองทัพพายัพจะทำการรบตามแบบต่อต้านญี่ปุ่น
๕. ความผันผวนหลังสงคราม สู่กบฏปรับปรุงกองทัพ
จนเมื่อสิ้นสงครามมหาเอเชียบูรพา ประเทศไทยยังคงมีเอกราชและอธิปไตย กองทัพของชาติ รวมทั้งกองทัพพายัพ ซึ่ง พล.ต. สมบูรณ์ ศรานุชิตเป็นเสนาธิการ ต้องถอนทหารกลับภูมิลำเนา ยุบหน่วย และปลดทหารอย่างรีบด่วน เพื่อพิสูจน์ความจริงใจที่ไทยจะไม่คงกำลังรบใกล้แดนอังกฤษในพม่าให้เป็นที่หวาดระแวงแก่ผู้ชนะสงคราม อีกทั้งกองทัพพายัพยังขาดแคลนพาหนะ และการส่งกำลังบำรุง (Logistics) ในการเลี้ยงดูนำส่งทหารกลับภูมิลำเนา เพราะต้องใช้รถไฟแทบทั้งหมดลำเลียงเชลยญี่ปุ่น ภายใต้การควบคุมของสัมพันธมิตร ทหารจำนวนมากจึงต้องเดินเท้าจากภาคเหนือกลับบ้านในภาคอีสาน ภาคตะวันออก และภาคกลาง บางหน่วยที่ถูกยุบกลางสนาม บางหน่วยขาดนายทหารบังคับบัญชาควบคุมการเดินทางกลับ เพราะถูกปลดหรือถูกย้าย
จึงเกิดปรากฏการณ์ “นับไม้หมอน” และ “ปลดในสนาม” เป็นที่ระส่ำระสายภายในกองทัพ ทหารบางนายขาดอาหารถึงกับต้องลักขโมยหรือปล้นประชาชน สร้างความเดือดร้อนไม่น้อย
อย่างไรก็ตามเมื่อเสร็จสิ้นการใช้รถไฟบรรทุกเชลยศึกญี่ปุ่น จึงได้ใช้รถไฟลำเลียงทหารผ่านศึกกองทัพพายัพส่วนที่เหลือ จนการยุบหน่วยและส่งกลับทหารกองทัพพายัพได้เสร็จสิ้น เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๙ (ค.ศ. 1946)
เมื่อสิ้นสุดภารกิจด้านกองทัพพายัพ พลตรี สมบูรณ์ ศรานุชิตได้ย้ายมารับตำแหน่งใหม่ เป็นรองเสนาธิการทหาร และรองเสนาธิการกลาโหมหรือที่เรียกลำลองว่า “รอง เสธ.ใหญ่” ตามลำดับ สังกัดกรมเสนาธิการกลาโหม กระทรวงกลาโหม มีภารกิจช่วยเหลือเสนาธิการกลาโหม ในการวางแผนยุทธศาสตร์ ให้คำปรึกษาแก่ประสานงาน และอำนวยการร่วมระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและสามเหล่าทัพ
ที่สำคัญ พล.ต ศรานุชิต ยังได้รับตำแหน่งผู้อำนวยการศึกษาวิจัย กรมเสนาธิการกลาโหม มีภารกิจหน้าที่ในการสร้างหลักสูตรและก่อตั้งสถาบันการศึกษาร่วมสามเหล่าทัพ จนต่อมาเป็นรากฐานของกรมยุทธศึกษาทหาร (ปัจจุบันยุบรวมกับสถาบันวิชาการป้องกันประเทศ) วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร และวิทยาลัยเสนาธิการทหาร
อย่างไรก็ตามด้วยสถานการณ์ความผันผวนเศรษฐกิจการเมืองหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ทำให้กองทัพอยู่ในสภาพทรุดโทรมล้าสมัย ทั้งการบำรุงกำลังพล อาวุธยุทธภัณฑ์ อาชีพทหารไม่มั่นคง ทหารผ่านศึกไม่สามารถยืนหยัดได้ ที่สำคัญเกียรติภูมิของกองทัพได้ตกต่ำลง ผู้คนไม่น้อยเสื่อมความนิยมและดูหมิ่นกองทัพ ทำให้ทหารประจำการเกิดความไใพอใจต่อสถานการณ์ จนนำไปสู่รัฐประหาร พ.ศ. ๒๔๙๐ (ค.ศ. 1947) นำโดยพลโท ผิน ชุณหะวัณ พันเอก กาจ กาจสงคราม พันเอก เผ่า ศรียานนท์ และพันเอก สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เปิดทางให้จอมพล ป. พิบูลสงครามและพรรคพวกกลับมาครองอำนาจทางการเมืองอีกครั้ง โดยฝ่ายคณะรัฐประหาร มีอุดมการณ์เชื่อว่าทหารจะต้องมีบทบาทเกี่ยวข้องกับการเมือง เมื่อชาติอยู่ในภาวะวิกฤติ และมีความเหมาะสมแก่การเป็นผู้นำชาติ เพราะเป็นผู้ที่กล้าหาญยินยอมสละชีพเพื่อชาติ จึงมีความรักชาติมากเป็นพิเศษ
อย่างไรก็ตามแม้ฝ่ายทหารจะกลับมามีอำนาจอีกครั้ง ภายหลังรัฐประหาร ๒๔๙๐ แต่สำหรับมุมมองนายทหารอาชีพจำนวนมาก สภาพการณ์ความเสื่อมโทรมของกองทัพยังไม่ดีขึ้น แต่กลับทำให้นายทหารจากคณะรัฐประหารได้กลายเป็น “อภิสิทธิ์ชน” กลุ่มใหม่ในกองทัพ ที่จะได้รับความดีความชอบได้เร็วกว่านายทหารนอกคณะรัฐประหาร ทั้งการเลื่อนตำแหน่ง การรับโควต้าการศึกษาต่อต่างประเทศ นายทหารรัฐประหารบางนายยังมีความเกี่ยวข้องผลประโยชน์ธุรกิจ หรือมีแนวโน้มทุจริตในและนอกกองทัพ จนเพิ่มความเสื่อมเสียต่อเกียรติภูมิกองทัพ โดยภาพรวมเท่ากับว่า คณะรัฐประหาร ๒๔๙๐ กลับมาทำให้กองทัพเสื่อมเสียยิ่งกว่าเดิม ทั้งผลประโยชน์ การพัฒนากองทัพ และชื่อเสียงเกียรติภูมิ
นายทหารจำนวนหนึ่งในกองทัพบกจึงคิดที่จะปรับปรุงพัฒนา และยึดอำนาจรัฐบาลและแม่ทัพนายพลจากคณะรัฐประหาร จึงเกิดคณะก่อการต่อต้านรัฐประหาร นำโดยพลตรี สมบูรณ์ ศรานุชิต รองเสนาธิการกลาโหม พลตรี เนตร เขมะโยธิน รองเสนาธิการทหารบก พันเอก หลวงศรีสิงหสงคราม (โลม ศิริปาลกะ) เจ้ากรมพาหนะทหารบก พันเอก หม่อมหลวง จเร สุทัศน์ เจ้ากรมคลังแสงทหารบก พันเอก กิตติ ทัตตานนท์ อาจารย์ประจำโรงเรียนเสนาธิการทหารบก พันโท ประสพ ฐิติวร อาจารย์ประจำโรงเรียนเสนาธิการทหารบก พันโท รวย อภัยวงศ์ พันตรี สามารถ วายะวานนท์ เสนาธิการกรมทหารราบที่ ๑๑ ฯลฯ พล.ต. ศรานุชิต และ พล.ต.เนตรรับหน้าที่เป็นหัวหน้า ทำหน้าที่วางแผนก่อการ และได้พยายามประสานกับนายทหารเรือสำคัญ เช่น พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี พลเรือตรี สังวร สุวรรณชีพ ตลอดจนอดีตเสรีไทยบางท่าน

กับพลเอก เนตร เขมะโยธิน ระหว่างการศึกษาวิชาทหารในประเทศฝรั่งเศส พ.ศ. 2479
ที่มา: ที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพฯ พลตรี หลวงศรานุชิต (สมบูรณ์ ศรานุชิต) ต.ช. ณ เมรุวัดเทพศิริทราวาส วันพฤหัสที่ 15 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2522
อย่างไรก็ตามมีข่าวทางลับทางตำรวจและทางการทูตว่า กบฏครั้งนี้นอกจากนายทหารบกฝ่ายเสนาธิการแล้ว ยังมีกลุ่มการเมืองที่เป็นศัตรูของคณะรัฐประหารอยู่เบื้องหลัง ทั้งกลุ่มเสรีนิยม - สังคมนิยมที่นำโดยนายปรีดี พนมยงค์ และกลุ่มอนุรักษ์นิยมโดยพระราชวงศ์บางส่วนและพรรคประชาธิปัตย์
แผนการของฝ่ายคณะเสนาธิการทหารนั้น จะลงมือยึดอำนาจในวันที่ ๑ - ๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๑ (ค.ศ. 1948) ซึ่งจะเป็นวันที่มีการฉลองสมรสระหว่าง พลตรี สฤษดิ์ ธนะรัชต์ กับ นางสาววิจิตรา ชลทรัพย์ ที่ทำเนียบรัฐบาลซึ่งจะเป็นโอกาสอันดีที่คนสำคัญของรัฐบาลและคณะรัฐประหารจะมารวมตัวกันที่ทำเนียบรัฐบาล จึงจะง่ายแก่การจับกุมบุคคลสำคัญเหล่านั้น ในขณะที่นายทหารสำคัญจำนวนมากจะผละจากการบังคับบัญชาไปร่วมฉลองงานมงคลนี้
โดยนายทหารผู้ก่อการวางแผนชักชวนและยึดกรมกองทหารสำคัญในกรุงเทพฯ เช่น กรมทหารราบที่ ๑ (ทหารมหาดเล็ก) กรมทหารราบที่ ๑๑ หน่วยรถรบ และกรมต่อสู้อากาศยาน (ปตอ.) เพื่อเป็นกำลังในการยึดอำนาจครั้งนี้ โดยจัดกำลังควบคุมตัวบุคคลสำคัญของรัฐบาลและคณะรัฐประหารที่ทำเนียบรัฐบาล ยึดสถานที่ราชการสำคัญต่าง ๆ ยึดแนวถนนราชวิถีตัดขาดเส้นทางตอนเหนือของกรุงเทพฯ ไม่ให้ส่วนราชการติดต่อกับหน่วยทหารย่านบางซื่อได้ ฝ่ายทหารเรือจะยึดกรมไปรษณีย์โทรเลขตัดขายสายสื่อสารทั้งปวง ฝ่ายทหารอากาศจะนำเครื่องบินทิ้งใบปลิวชี้แจงเหตุผลการยึดอำนาจแก่ประชาชน ฝ่ายคณะก่อการจะยึดกระทรวงกลาโหมเป็นกองบัญชาการ
ในแผนการจะได้จัดตั้งคณะรัฐบาลผสมกลุ่มการเมืองอนุรักษ์นิยมและเสรีนิยม - สังคมนิยม มีบุคคลสำคัญ เช่น พลโท ชิด มั่นศิลป์ สินาดโยธารักษ์ (อนุรักษ์นิยม) เป็นนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นายควง อภัยวงศ์ (อนุรักษ์นิยม) รองนายกรัฐมนตรี หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช (อนุรักษ์นิยม) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายทวี บุณยเกตุ (เสรีนิยม) รัฐมนตรว่าการกระทรวงเกษตร นายดิเรก ชัยนาม (เสรีนิยม) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นต้น นับเป็นองค์ประกอบบุคคลที่ใกล้เคียงกับกองบัญชาการขบวนการเสรีไทย
แต่แผนการทั้งหมดนี้ได้เกิดรั่วไหล โดยมีสายลับของฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายตำรวจของ พล.ต.ต. เผ่า ศรียานนท์ (ยศขณะนั้น) สืบรู้เสียก่อน ดังนั้นในคืนวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๑ (ค.ศ. 1948) ฝ่ายรัฐบาลจึงได้วางแผนจับกุมคณะนายทหารบกฝ่ายเสนาธิการชุดนี้ทันที ซึ่งผู้มีบทบาทในการจับกุมฝ่ายกบฏครั้งนี้คือ พล.ต.ต. เผ่า ศรียานนท์ และ พล.ต. สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เริ่มจากการจับกุมพันเอก หลวงศรีสิงหสงคราม (โลม ศิริปาลกะ) เจ้ากรมพาหนะทหารบก แล้วขยายผลจับกุมนายทหารก่อการนายอื่น ๆ รวมทั้งจับบุคคลสำคัญฝ่ายตรงข้ามหลายรายไปด้วย เช่น พล.ต. ศรานุชิต พล.ต. เนตร เขมะโยธิน พ.อ. กิตติ ทัตตานนท์ พ.ท. ประสพ ฐิติวร นายปราโมทย์ พึ่งสุนทร พ.อ. ทวน วิชัยขัทคะ และ พล.ท. ชิต มั่นศิลป์ สินาดโยธารักษ์ เป็นต้น
อย่างไรก็ตามในการพิจารณาคดีชั้นศาล ปรากฏว่า พล.ต.ศรานุชิตได้ถูกกันตัวเป็นพยาน จึงไม่ได้ถูกศาลพิพากษาฐานกบฏแต่อย่างใด แล้วปรากฏว่า พล.ต.ศรานุชิตได้ให้การในลักษณะที่พยายามซัดทอดบุคคลที่เกี่ยวข้องให้น้อยที่สุด อีกทั้งได้ยอมรับว่ามีส่วนร่วมวางแผนการกบฏ ได้อภิปรายแสดงความไม่พอใจในความผันผวนของกองทัพ หากในช่วงก่อนจะก่อการ พล.ต. ศรานุชิตกลับเลิกล้มความคิดนี้ เพราะไม่ต้องการเป็นตัวอย่างไม่ดีในการใช้กำลังล้มรัฐบาลให้กลายเป็นเรื่องปกติของกองทัพ และไม่ต้องการกระทำการกระทบกระเทือนต่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม ผู้เป็นที่เคารพนับถือในกองทัพ
๖. ชีวิตบั้นปลาย

ที่มา: ที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพฯ พลตรี หลวงศรานุชิต (สมบูรณ์ ศรานุชิต) ต.ช. ณ เมรุวัดเทพศิริทราวาส วันพฤหัสที่ 15 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2522
เมื่อเสร็จสิ้นการพิจารณาคดีแล้ว พล.ต.ศรานุชิตได้ถูกปลดจากราชการทหารตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๓ (ค.ศ. 1950) ถูกถอดยศและถูกริบเครื่องราชอิสริยาภรณ์เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๕ (ค.ศ. 1952) จนปี พ.ศ. ๒๕๐๑ (ค.ศ. 1958) ได้รับพระราชทานยศและเครืองราชอิสริยาภรณ์คืน หลังจากออกจากราชการทหาร พล.ต.ศรานุชิต จึงได้ทำงานเป็นพนักงานเอกชน และได้เรียนภาษาจีนเพิ่มเติม โดยไม่ขอรับราชการอีกต่อไป แม้จะมีผู้เชื้อเชิญจากในกองทัพก็ตาม ถึงช่วงวัยเกษียณอายุจึงได้พักผ่อนกับการอ่านหนังสือ ในระดับที่เรียกว่า “หนอนหนังสือ” จนถึงแก่อนิจกรรมวันที่ ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๒ (ค.ศ. 1979) เมื่ออายุ ๗๘ ปีเศษ
๗. ปรมาจารย์ ทหารเสรีไทย ผู้ยืนหยัดอุดมการณ์ “ทหารอาชีพ”
จากเรื่องราวชีวิตของพลตรี สมบูรณ์ ศรานุชิต ผู้ที่ปรากฏชื่อและเรื่องราวกบฏเสนาธิการอันคลุมเครือ หากเมื่อศึกษาแล้วจะพบว่าอยู่กับราชการทหารมากว่าครึ่งชีวิต หากเป็นนายทหารสายวิชาการ ผ่านการศึกษาจากฝรั่งเศส จึงมีวิสัยทัศน์ทางทหารที่ทันสมัย เป็นปรมาจารย์ผู้หนึ่งของกองทัพบกไทย สร้างลูกศิษย์เป็นที่เคารพนับถือในกองทัพทั้งสามเหล่า เมื่อยามสงครามได้เป็นนายทหารเสนาธิการผู้อยู่เบื้องหลังแผนการยุทธสำคัญของกองทัพบกไทย จนตอนปลายสงคราม ได้พลิกฐานะของกองทัพพายัพจากที่เคยรุกรัฐฉานตามนโยบายของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ให้กองทัพหน่วยนี้เป็นกำลังสำคัญร่วมปฏิบัติการเสรีไทยในภาคเหนือ
และแม้จะไม่ได้ศึกษามาทางรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ไม่ได้มีความใกล้ชิดบุคคลสำคัญทางการเมือง เช่น นายปรีดี พนมยงค์ นายทวี บุณยเกตุ นางควง อภัยวงศ์ เป็นต้น หากด้วยประสบการณ์ในราชการทหาร จากยุครุ่งเรืองสู่ยุคเสื่อมโทรม และปัญหาการเมืองในกองทัพ ได้ทำให้หล่อหลอมอุดมการณ์ทหารอาชีพมาโดยตลอด และแม้อาจจะมีแนวคิดขัดแย้งในตัวเองเมื่อจะก่อการกบฏ หากโดยตัว พล.ต. ศรานุชิตแล้ว ก็ยังคงยึดมั่นในการเป็นทหารอาชีพ และไม่กลับรับราชการในกองทัพที่พัวพันครอบงำการเมืองอีกต่อไป
หมายเหตุ:
- อักขระและวิธีสะกดคงไว้ตามต้นฉบับ
เอกสารอ้างอิง :
- กบฏเสนาธิการ ผลผลิตของการต่อต้านคณะรัฐประหาร โดย ชิตพล กาญจนกิจ สืบค้นจาก https://pridi.or.th/th/content/2021/02/601
- การเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ต่อต้านรัฐบาลสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม (พ.ศ. ๒๔๙๑ - ๒๕๐๐) Political movement against field Marshal Pibulsonggram’s regine 1948-1957 วิทยานิพนธ์โดยสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ,(บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๓๒)
- ขบถ ๑ ตุลา ๙๑. รวบรวมโดย อุดม อุตมายน, (กรุงเทพฯ:โอเดียนสโตร์, ๒๔๙๓). (รวมคำให้การและสำนวนพิจารณาคดีในชั้นศาล กบฏเสนาธิการ ๑ ตุลาคม ๒๔๙๑)
- ณัฐพล ใจจริง,ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี : การเมืองไทยภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา ๒๔๙๑ - ๒๕๐๐, (นนทบุรี:สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน, ๒๕๖๓).
- งานใต้ดินของพันเอกโยธี โดย พลเอก เนตร เขมะโยธิน อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พลเอกเนตร เขมะโยธิน ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันพฤหัสบดีที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๒๘
- ที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ พลตรี หลวงศรานุชิต (สมบูรณ์ ศรานุชิต) ต.ช. ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันพฤหัสบดีที่ ๑๕ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๒๒
- ประวัติ บก. ป. ท.พายัพ. พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลตรี อุทัย วงศ์วีรเดช ณ ฌาปนสถานกองทัพบก วัดโสมนัสวิหาร ๒๗ เมษายน ๒๕๑๓
- อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พลโท เริงฤทธิ์ รุมาคม ม.ว.ม. ป.ช. ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันพฤหัสบดีที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๔๐