ผมเคยเขียนเล่าเรื่องราวครั้งปรีดี พนมยงค์ เป็นนักเรียนโรงเรียนวัดเบญจมบพิตรมาหนหนึ่ง ซึ่งคุณผู้อ่านสามารถนำสายตาไปสบสัมผัสได้จาก ‘ปรีดีเคยเจอเขาทั้งสอง ! ก.ศ.ร. กุหลาบ และ เทียนวรรณ’ สำหรับคราวนี้ ผมใคร่ขอเสนอเกร็ดข้อมูลพึงตื่นเต้นเกี่ยวกับปรีดีในห้วงเวลานั้นเช่นกัน
ชีวิตของปรีดีระหว่างเรียนหนังสือในวัยเยาว์ดูเหมือนไม่ค่อยเป็นที่รับทราบกว้างขวางเท่าไหร่ แต่ก็ใช่ว่าจะปราศจากความน่าค้นหาเสียเลย มิหนำซ้ำ ยังชวนให้ถวิลเห็นแง่มุมใหม่ ๆ ที่ผู้ศึกษาชีวประวัติของปรีดีอาจไม่รู้สึกมักคุ้น
ครั้นปรีดีสอบไล่ชั้นประถมตามหลักสูตรกระทรวงธรรมการจากโรงเรียนวัดศาลาปูนที่พระนครศรีอยุธยาได้ นายเสียง ผู้บิดา เพียรเสาะหาโรงเรียนดี ๆ มีชื่อเสียงให้แก่บุตรชาย และตัดสินใจส่งเด็กหนุ่มชาวกรุงเก่าเข้ามาเรียนหนังสือชั้นมัธยมเบื้องต้นในกรุงเทพฯ ณ โรงเรียนวัดเบญจมบพิตร ในปี พ.ศ. 2454 นายเสียงฝากให้มาพำนักอยู่กับพระมหาบาง ชาวอำเภอผักไห่ อยุธยา ผู้จำพรรษาอยู่วัดนี้
โรงเรียนวัดเบญจมบพิตรก่อตั้งขึ้นโดยพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เริ่มเปิดสอนครั้งแรกปี พ.ศ. 2444 ถือเป็นโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ที่ยังมิได้ขึ้นตรงต่อกระทรวงธรรมการ (กระทรวงศึกษาธิการในปัจจุบัน) กระทั่งปี พ.ศ. 2445 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ให้สร้างตึกรูปทรงยุโรปเพื่อใช้เป็นอาคารเรียนถาวร และนักเรียนได้ขึ้นไปเรียนหนังสือบนตึกภายหลังฉลองอาคารในปี พ.ศ. 2447 ก่อนที่ต่อมากระทรวงธรรมการจะเข้ามาจัดการดูแล เรียกว่า ตอนปรีดีเข้ามาเรียน โรงเรียนก็ก่อตั้งมาราวสิบปีแล้ว
ในปีแรกสุดของปรีดีที่โรงเรียนวัดเบญจมบพิตร (พ.ศ. 2454) ครูใหญ่ผู้ดูแลปกครองนักเรียน ได้แก่ หลวงนิเพทย์นิติสรรค์ (ฮวดหลี หุตะโกวิท) ซึ่งดำรงตำแหน่งมาแต่ปี พ.ศ. 2452 คนรุ่นหลัง ๆ ที่ชอบอ่านหนังสือประวัติศาสตร์ไทยอาจจะคลับคล้ายคลับคลาชื่อคุณหลวงในฐานะผู้แปลงานเขียนเรื่อง The Tai Race, Elder Brother of the Chinese ของหมอดอดด์ หรือวิลเลียม คลิฟตัน ดอดด์ (William Clifton Dodd) มิชชันนารีชาวอเมริกันผู้มาเผยแผ่คริสต์ศาสนาประจำอยู่ที่เชียงรายระหว่างปี พ.ศ. 2429-2461 หมอดอดด์ได้พยายามศึกษาเรื่องชนชาติไทยและบันทึกประสบการณ์ที่พบเห็นจากการเดินทางเยือนถิ่นต่าง ๆ ทั้งเชียงตุง เชียงรุ้ง กวางสี ยูนนานและกวางตุ้ง พร้อมถ่ายทอดเป็นหนังสือตีพิมพ์เผยแพร่ปี ค.ศ.1923 (ตรงกับ พ.ศ. 2466) หลวงนิเพทย์นิติสรรค์ได้อ่านงานเล่มนี้ก็ประทับใจยิ่ง อุตสาหะแปลและเรียบเรียงมาสู่พากย์ไทยชื่อ ชนชาติไทย จนสำเร็จ หากยังมิทันตีพิมพ์เผยแพร่ ผู้แปลมีอันถึงแก่กรรมเสียก่อนในปี พ.ศ. 2477 นั่นหมายความว่าสมัยที่คุณหลวงเป็นครูใหญ่โรงเรียนวัดเบญจมบพิตรในตอนที่ปรีดีเป็นนักเรียน ท่านยังมิได้มาจับงานแปลชิ้นสำคัญ ปีถัดมา คือ พ.ศ. 2455 ทางโรงเรียนก็ได้พระชำนาญอนุสาสน์ (ทองคำ โคปาลสุต) เป็นครูใหญ่คนใหม่แทน
ควรแจกแจงว่า ในปี พ.ศ. 2454 กรมศึกษาธิการได้จัดทำ หลักสูตร์สามัญศึกษา ร.ศ. 130. แน่ละ นักเรียนหนุ่มนามปรีดีย่อมจะผ่านการเรียนหลักสูตรดังกล่าวในส่วนของระดับชั้นมัธยมศึกษา (ชาย) ซึ่งกำหนดให้นักเรียนมัธยมชั้นปีที่ 1 ต้องเรียนในรอบวิกหนึ่ง (หนึ่งสัปดาห์) จำนวนเวลา 28 ชั่วโมง เป็นวิชาจรรยา 1 ชั่วโมง, วิชาภาษาไทย 5 ชั่วโมง, วิชาภาษาอังกฤษ 7 ชั่วโมงครึ่ง, วิชาคำนวณวิธี 5 ชั่วโมง, วิชาภูมิศาสตร์ พงษาวดาร 2 ชั่วโมง, วิชาฟิสิออกราฟี 1 ชั่วโมงครึ่ง, วิชาศรีระศาสตร์กับศุขวิทยา 1 ชั่วโมง, วิชาแปรกติกล ฟิสิกส 1 ชั่วโมงครึ่ง, วิชาวาดเขียน 1 ชั่วโมง, วิชายิมนาสติกส 1 ชั่วโมงครึ่ง รวมถึงให้เลือกวิชาใดวิชาหนึ่งจากวิชาการฝีมือ วิชาเพาะปลูก และวิชาค้าขายอีก 1 ชั่วโมง (ชื่อวิชาต่าง ๆ รักษาการสะกดคำไว้ตามเดิมที่ปรากฏในเอกสารต้นฉบับ)
‘ยิมนาสติกส’ เป็นวิชาที่ทั้งหลักสูตรระดับประถมศึกษา (ชาย) และระดับมัธยมศึกษา (ชาย) คล้ายคลึงกัน ผิดแผกกันบ้างตรงจุดที่ระดับมัธยมเพิ่มเติมการหัดเดินแถวและเข้าแถวอย่างทหาร ส่วนระดับประถมกำหนดเวลาของวิชานี้ 2 ชั่วโมงครึ่ง แต่ทั้งสองระดับชั้นก็เน้นให้มีการเล่นอันเป็นประโยชน์ต่อร่างกายและใจคอมั่นคงหนักแน่น ซึ่งการเล่นที่หลักสูตรแนะนำ คือ การเล่นฟุตบอลตามแบบของกรมศึกษาธิการ
ต้นและกลางทศวรรษ 2450 ได้ปรากฏกระแสตื่นตัวของการเล่นฟุตบอลแพร่หลายไปทั่วตามโรงเรียนต่าง ๆ ทั้งเขตกรุงเทพมหานครและธนบุรี แท้จริง กรมศึกษาธิการเริ่มริจัดการแข่งขันฟุตบอลนักเรียนมาตั้งแต่กลางทศวรรษ 2440 ทว่าในปี ร.ศ. 129 (ตรงกับ พ.ศ. 2453) ทางกรมปรับปรุงกติกาฟุตบอลให้ทันสมัยขึ้น มีการแต่งตั้งกรรมการรับผิดชอบและดำเนินการแข่งขันฟุตบอลนักเรียนเพื่อชิงโล่เงินของมิสเตอร์ดับบลิว จี จอห์นสัน (W. G. Johnson) ที่ปรึกษากระทรวงธรรมการ พร้อมเปลี่ยนแปลงเกณฑ์กำหนดอายุผู้เข้าแข่งขันจากเดิมอายุไม่เกิน 20 ปีมาเป็นอายุไม่เกิน 18 ปี กำหนดการแข่งขันตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคมไปจนถึง 13 ธันวาคมและจะหยุดการแข่งขันช่วงปิดภาคเรียน โดยใช้สนามโรงเรียนราชบูรณะและสนามโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์เป็นสนามแข่งขัน มีโรงเรียนเข้าร่วมแข่งขันทั้งหมด 18 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนประถมสุขุมาลัย, โรงเรียนปทุมคงคา, โรงเรียนประถมสามจีน, โรงเรียนมัธยมพิเศษอัสสัมชัญ, โรงเรียนอนุกรมทยาคาร (วัดสระเกษ), โรงเรียนมัธยมพิเศษเทพศิรินทร์,โรงเรียนประถมสุทัศน์, โรงเรียนมัธยมพิเศษคฤสเตียนไฮสกูล, โรงเรียนประถมบพิตรภิมุข, โรงเรียนราชวิทยาลัย,โรงเรียนประถมบรมนิวาศ, โรงเรียนมัธยมอนงค์, โรงเรียนกล่อมพิทยาคาร, โรงเรียนเบญจมบพิตร, โรงเรียนประถมทองนพคุณ, โรงเรียนราชบูรณะ, โรงเรียนประถมอนงค์ และโรงเรียนมัธยมวัดนวลนรดิศ กระนั้น ยังมิทันที่การแข่งขันจะจบสิ้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตในวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 กระทรวงธรรมการจึงประกาศยกเลิกการแข่งขันทั้งหมด
ล่วงสู่สมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 กีฬาฟุตบอลทบทวีความนิยมในสังคมไทย กรมศึกษาธิการกลับมาจัดแข่งขันฟุตบอลนักเรียนขึ้นในปี ร. ศ. 130 (พ.ศ. 2454) โรงเรียนต่าง ๆ ส่งนักเรียนเข้าร่วมแข่งขันหลายทีม ยังคงใช้สนามแข่งขันเดิมที่โรงเรียนราชบูรณะและสนามโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ ปีนี้มีโรงเรียนเข้ารอบสุดท้าย ได้แก่ โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย, โรงเรียนคฤสเตียนไฮสกูล (โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนในปัจจุบัน) และโรงเรียนอัสสัมชัญ ผลแข่งขัน คือ โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยคว้าชัยชนะเลิศ ในปี ร.ศ. 131 (พ.ศ. 2455) กรมศึกษาธิการจัดการแข่งขันฟุตบอลนักเรียนออกเป็น 2 รุ่น ชุดเล็กอายุไม่เกิน 18 ปี และชุดใหญ่อายุไม่เกิน 20 ปี ผลการแข่งขันฟุตบอลรอบชิงชนะเลิศ ณ สนามโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ของชุดใหญ่แข่งกันในวันที่ 20 กันยายน ระหว่างโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์กับโรงเรียนราชแพทยาลัย ฝ่ายชนะ คือ โรงเรียนราชแพทยาลัย ส่วนของชุดเล็กแข่งกันในวันที่ 2 ตุลาคมระหว่างโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยกับโรงเรียนเบญจมบพิตร ฝ่ายชนะ คือ โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย
ด้วยบรรยากาศที่นักเรียนพากันสนใจการเล่นฟุตบอล ประกอบกับทางโรงเรียนเบญจมบพิตรก็เข้าไปมีส่วนร่วมในการแข่งขันฟุตบอลที่กรมศึกษาธิการจัดขึ้นหลายหนช่วงต้นและกลางทศวรรษ 2450 นั่นอย่างไรเล่า ปรีดี พนมยงค์ เด็กหนุ่มชาวกรุงเก่าผู้เข้ามาเป็นนักเรียนชั้นมัธยมเบื้องต้นคงได้รับอิทธิพลด้านการเล่นฟุตบอลพอสมควร หลักฐานที่สอดคล้อง คือ ถ้อยความตอนหนึ่งของไสว สุทธิพิทักษ์ เกี่ยวกับปรีดีขณะอาศัยอยู่ที่วัดเบญจมบพิตรว่า
“....ในระยะนี้ปรากฏว่า เด็กชายผู้นี้ค่อนข้างซุกซน และชอบกีฬาฟุตบอลล์อยู่บ้าง จนถึงกับวันหนึ่งได้ประสบอุปัทวเหตุจากการเล่นฟุตบอลล์ตามลำพัง ศีรษะได้ฟาดลงกับพื้นลานหินถึงสลบ พระภิกษุในวัดมาพบเข้าและนำตัวไปพยาบาล...”
การเปิดเผยของไสวไม่เพียงทำให้เราประจักษ์แจ้งว่า ปรีดีเองชื่นชอบฟุตบอลเฉกเช่นนักเรียนในสมัยนั้น แต่ยังสะกิดใจเราว่า ปรีดีเคยเผลอพลั้งประสบอุบัติเหตุจนถึงขั้นสลบไสลไปเลยทีเดียว
ปรีดี พนมยงค์ เป็นนักเรียนโรงเรียนเบญจมบพิตรแค่ 1 ปี พอสอบไล่ได้ก็ต้องลาออกกลับไปเรียนชั้นมัธยมต่อโรงเรียนตัวอย่างมณฑลกรุงเก่าที่พระนครศรีอยุธยาจังหวัดบ้านเกิดในปีการศึกษา พ.ศ. 2455 แต่ประสบการณ์ที่เขาสัมผัสตอนเป็นนักเรียนมัธยมเบื้องต้นในกรุงเทพฯ ย่อมไม่สูญเปล่ากระมัง อย่างน้อยที่สุด เขาได้มีโอกาสพบเจอนักคิดนักเขียนสามัญชนเยี่ยง ก.ศ.ร. กุหลาบ และเทียนวรรณ ได้สัมผัสกับกระแสความตื่นตัวในการเล่นฟุตบอลที่กำลังเป็นวัฒนธรรมนิยมแห่งยุค
เอกสารอ้างอิง
กรมศึกษาธิการ. หลักสูตร์สามัญศึกษา ร.ศ. 130. พิมพ์ครั้งที่ 2. พระนคร: โรงพิมพ์อักษรนิติ์, 2454.
ดอดด์, วิลเลียม คลิฟตัน. หนังสือชนชาติไทย. นางทองคำ นิเพทย์นิติสรรค์ พิมพ์แจกในการพระราชทานเพลิงศพ หลวงนิเพทย์นิติสรรค์ (ฮวดหลี หุตะโกวิท) ณ วัดสามจีน วันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2478. พระนคร: โรงพิมพ์ศรีหงส์, 2478.
บุญเจือ องคประดิษฐ์. “พระชำนาญอนุสาสน์ (ทองคำ โคปาลสุต)” ใน ประวัติครู คุรุสภาจัดพิมพ์ในวันครู ๑๖ มกราคม ๒๕๐๒. พระนคร: โรงพิมพ์คุรุสภา, 2502.
ปริยัติเวที,พระ. พระมหาปรินิพพานสูตรแปลย่อ (ระยะทางเสด็จไปปรินิพพาน). พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ พระชำนาญอนุสรณ์ (ทองคำ โคปาลสุต) ณ เมรุวัดโสมนัสวิหาร พระนคร 20 เมษายน 2501. พระนคร: ห้างหุ้นส่วนจำกัด ศิวพร, 2501.
ปรีดี พนมยงค์. ชีวประวัติย่อของนายปรีดี พนมยงค์. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ: แม่คำผาง, 2553.
วิชัย ภู่โยธิน. ก้าวแรกแห่งความสำเร็จ ดร. ปรีดี พนมยงค์. กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช, 2539.
สวัสดิ์ เลขยานนท์. ศตวรรษแห่งการกีฬา. พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายสวัสดิ์ เลขยานนท์ ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2520. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์พระจันทร์, 2520.
สิทธิ รัตนราษี. การศึกษากีฬาฟุตบอลอาชีพในประเทศไทย. วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต ครุศาสตร์ (พลศึกษา) บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2540.
สุพจน์ ด่านตระกูล. นายปรีดี พนมยงค์ กับการอภิวัฒน์. กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช, 2535.
ไสว สุทธิพิทักษ์. ดร. ปรีดี พนมยงค์. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: บพิธการพิมพ์, 2526.