ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

ปรีดีเคยเจอเขาทั้งสอง ! ก.ศ.ร. กุหลาบ และ เทียนวรรณ

19
ตุลาคม
2563

แม้ปรีดี พนมยงค์จะครองบทบาท ‘มันสมอง’ ของคณะราษฎร อันเป็นกลุ่มคนที่สามารถเปลี่ยนแปลงการปกครองจนสำเร็จเมื่อวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 แต่เขามิได้หลงลืมบุคคลผู้ส่งทอดอิทธิพลทางความคิดในการเรียกร้องให้มีระบอบประชาธิปไตยขึ้น ซึ่งเขาเคยสัมผัสพบเห็นตอนเยาว์วัย สองบุคคลสำคัญที่แจ่มจรัสความทรงจำของปรีดี ก็คือ ก.ศ.ร. กุหลาบ และเทียนวรรณ

ย้อนไปครั้งปรีดียังเป็นนักเรียนชั้นมัธยมท่ามกลางบรรยากาศยุคระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เด็กหนุ่มชาวกรุงเก่าสบโอกาสได้เจอนักคิดนักเขียนสามัญชนหัวก้าวหน้า 2 ท่านผู้หาญกล้าเสนอแนวทางการปกครองแบบประชาธิปไตยในประเทศสยามมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ดังเขากล่าวถึงไว้ในผลงาน บางเรื่องเกี่ยวกับการก่อตั้งคณะราษฎรและระบบประชาธิปไตย ที่เขียนและลงวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2515

“เมื่อครั้งข้าพเจ้าเรียนในชั้นมัธยมเบื้องต้น  สมัย 60 ปีกว่ามาแล้ว  เคยได้ยินและได้อ่านและได้พบคนธรรมดาสามัญที่มีอายุชราแล้ว 2 คน คือ ก.ส.ร. กุหลาบ ที่ออกนิตยสาร ‘สยามประเภท’ ที่แคะไค้ระบบปกครองสมบูรณาฯ จนมีผู้ใส่ความว่าผู้นี้มีจิตฟุ้งซ่าน แต่เมื่อข้าพเจ้าไปพบก็ไม่เห็นว่าท่านฟุ้งซ่าน อีกคนหนึ่งคือ ‘เทียนวรรณ’ ซึ่งมีฉายาว่า ‘วรรณาโภ’ ท่านผู้นี้มีคติประชาธิปไตยมาก  ขณะนั้นท่านหนวดขาวแล้ว ประมาณว่าขณะนั้นมีอายุเกือบ 70 ปี ข้าพเจ้าพบที่ตึกแถวใกล้วัดบวรนิเวศน์...”

ปรีดีแจกแจงรายละเอียดเกี่ยวกับเทียนวรรณอีกว่า

“ท่านผู้นี้เคยติดคุกเพราะเขียนหนังสือและโฆษณาที่ขัดแย้งระบบสมบูรณาฯ ท่านเห็นว่าท่านไม่ผิดกฎหมาย กรณีของท่านจึงเข้าลักษณะมีคำพังเพยโบราณว่า ‘กฎหมายสู้กฎหมู่ไม่ได้’ ซึ่งแสดงถึงการเล่นพวกของตุลาการสมัยโบราณ แต่ท่านเทียนวรรณที่ถูกติดคุกได้กล่าววลีเติมอีกรวมเป็นดังนี้ ‘กฎหมายสู้กฎหมู่ไม่ได้ กฎหมู่ก็ยังสู้กดคอไม่ได้ กดคอก็ยังสู้เจ้าหักคอไม่ได้’ นี่ก็แสดงถึงทรรศนะที่ท่านเทียนวรรณมีต่อระบบสมบูรณาฯ ชนรุ่นใหม่หลายคนในยามสมัยนั้นที่ได้อ่าน และสนทนากับท่านเทียนวรรณยังพอจำกันได้ถึงวลีของท่านดั่งกล่าวนี้ แต่ท่านเป็นคนธรรมดาสามัญจึงไม่ได้รับความสนใจจากผู้ที่ถือทรรศนะตามพลังเก่า...”

ก.ศ.ร. กุหลาบ เป็นใครเล่า?

เริ่มทำความรู้จักกันที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ (หรือปรีดีเรียก ก.ส.ร. กุหลาบ) ก่อน ชายผู้นี้มีนามแท้ ๆ ว่า กุหลาบ ตฤษณานนท์ ตามข้อมูลชีวประวัติที่เขียนขึ้นเองระบุว่า บิดาชื่อเส็ง เชื้อสายจีน ส่วนมารดาชื่อตรุษ เชื้อสายลาวทางฟากเวียงจันทน์ เกิดปี พ.ศ. 2377 อายุยืนยาวมาจนถึงแก่กรรมราว ๆ กลางทศวรรษ 2460 ตัวอักษรย่อนำหน้าชื่อที่ใช้เป็นนามปากกานั้น ‘ก.ศ.ร.’ มาจากฉายา ‘เกศโร’ (หรือ ‘ก.ส.ร.’ มาจาก ‘เกสโร’) ในตอนบวชพระ

ก.ศ.ร. กุหลาบสนใจด้านการทำหนังสืออย่างยิ่งและตั้งตนเป็น ‘เอดิเตอร์’ (editor – ในยุคสมัยนั้นยังไม่ปรากฏการบัญญัติศัพท์คำว่า ‘บรรณาธิการ’) ออกหนังสือพิมพ์รายเดือน สยามประเภท และหนังสือพิมพ์ สยามออบเซอร์เวอร์ นำเสนอเนื้อหาเชิงประวัติศาสตร์ พงศาวดารและโบราณคดี พร้อมแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์เรื่องราวต่าง ๆ ในสังคมสยามสมัยรัชกาลที่ 5 กระทั่งถูกหาว่าเป็นคนจิตฟุ้งซ่าน ถึงขั้นต้องถูกส่งตัวเข้าโรงพยาบาลคนเสียจริต  ทว่าพอออกจากโรงพยาบาลแล้ว ก.ศ.ร. กุหลาบยังหมั่นพากเพียรเขียนหนังสือแสดงความคิดเห็นเนือง ๆ ตราบจนในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6

 

ก.ศ.ร. กุหลาบ (คนซ้ายมือ) และบุตรชาย
ก.ศ.ร. กุหลาบ (คนซ้ายมือ) และบุตรชาย

 

เทียนวรรณนั้นคือใคร?

ขณะที่ ‘เทียนวรรณ’ มีนามแท้ ๆ ว่า เทียน วัณณาโภ (ต่อมามักมีผู้เขียนนามสกุลเป็น ‘วรรณณาโภ’) เป็นชาวนนทบุรี เกิดปี พ.ศ. 2385 อายุยืนยาวมาจนถึงแก่กรรมในปี พ.ศ. 2457 ยึดอาชีพทนายความและนักคิดนักเขียน มีสำนักงานว่าความ ‘ออฟฟิศอรรศนานุกูล’ ตั้งอยู่บริเวณแยกคอกวัว

เทียนวรรณนิยมเขียนความเห็นทางการเมืองของตนผ่านหน้าหนังสือพิมพ์เสมอ ๆ  มุ่งวิพากษ์วิจารณ์นโยบายด้านต่าง ๆ ของรัฐบาลสยามช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 ทั้งการต่างประเทศ เศรษฐกิจ และการศึกษา พร้อมเสนอความคิดสมัยใหม่ตามแนวทางประชาธิปไตย อาศัยนามแฝง ‘ต,ว,ส, วัณณาโภ’ ซึ่งมาจากฉายาตอนบวชพระเช่นกัน

คราวหนึ่ง เทียนวรรณเคยว่าความและเขียนหนังสือเรียกร้องให้รัฐบาลสยามปฏิรูปการปกครอง ส่งผลให้มีผู้กลั่นแกล้งจนต้องถูกเฆี่ยนและติดคุกนานเกือบ ๆ 17 ปี  ครั้นก้าวออกมาจากคุกก็หาได้ครั่นคร้ามและย่อท้อ ในทศวรรษ 2440 เทียนวรรณออกหนังสือพิมพ์รายปักษ์ ตุลวิภาคพจนกิจ และพอต้นทศวรรษ 2450 ออกหนังสือพิมพ์ ศิริพจนภาค เพื่อเขียนงานวิพากษ์วิจารณ์สังคม งานเขียนชิ้นลือลั่นได้แก่ “ว่าด้วยความฝันละเมอ แต่มิใช่นอนหลับ” ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2447 เสนอความเห็นต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการห้ามมีภรรยาหลายคน เลิกการพนัน เลิกทาส พัฒนาประเทศให้มีโรงเรียนแพทย์ การสอนหนังสือแก่ผู้หญิง ก่อตั้งศาลยุติธรรม ธนาคาร ไปรษณีย์ โทรเลข ที่สำคัญสุดคือเรียกร้องการปกครองแบบ “ปาเลียเมนต์” ให้มีสภาผู้แทนและหัวหน้าราษฎร สิ่งนี้ย่อมสะท้อนแนวคิดประชาธิปไตยของเทียนวรรณชัดเจน

 

เทียนวรรณ (ภาพจากปกหนังสือ เทียนวรรณ ของสงบ สุริยินทร์)
เทียนวรรณ
(ภาพจากปกหนังสือ เทียนวรรณ ของสงบ สุริยินทร์)

 

ปรีดีเจอเขาทั้งสอง

ห้วงเวลาที่ปรีดีพบ ก.ศ.ร. กุหลาบ และเทียนวรรณ ซึ่งทั้งสองอยู่ในวัยชราแล้ว น่าจะตรงกับช่วงปี พ.ศ. 2454-2455 นั่นเพราะภายหลังปรีดีสอบไล่ชั้นประถมจากโรงเรียนวัดศาลาปูนที่พระนครศรีอยุธยาได้ บิดามารดาจึงส่งให้เข้ามาเรียนหนังสือชั้นมัธยมเบื้องต้นในกรุงเทพฯ ที่โรงเรียนวัดเบญจมบพิตรในปี พ.ศ. 2454 และพำนักอยู่กับพระสงฆ์ที่วัด เรียนอยู่เพียงปีเดียวก็กลับไปเรียนชั้นมัธยมต่อที่โรงเรียนตัวอย่างมณฑลกรุงเก่าจนสอบไล่ได้ชั้นมัธยม 6 ในปี พ.ศ. 2457 ปรีดีคงไปเจอ ก.ศ.ร. กุหลาบ และเจอเทียนวรรณ ตอนเขาเป็นนักเรียนชั้นมัธยมต้นโรงเรียนวัดเบญจมบพิตร ตอนนั้น ก.ศ.ร. กุหลาบอายุประมาณ 77-78 ปี แต่ย่อมแข็งแรงแน่ ๆ เพราะเมื่ออายุครบ 80 ปียังเขียนหนังสือเองได้ และตอนที่ ก.ศ.ร. กุหลาบถึงแก่กรรมก็เป็นช่วงปรีดีกำลังเรียนหนังสืออยู่ในฝรั่งเศส  ส่วนเทียนวรรณ ตอนนั้นอายุประมาณ 70-71 ปี ตามลักษณะที่ปรีดีแลเห็นคือเป็นชายชราหนวดขาว นักเขียนผู้นี้ต่อมาถึงแก่กรรมในช่วงปรีดีเรียนจบชั้นมัธยม 6 ที่กรุงเก่า

การที่ปรีดีหวนรำลึกถึงก.ศ.ร.กุหลาบ และเทียนวรรณ โดยเอ่ยขานผ่านข้อเขียนของตน ก็เพื่อจงใจเน้นย้ำให้คนรุ่นใหม่หันมาเล็งเห็นบทบาทของคนธรรมดาสามัญ เพราะ “...ดูเหมือนคนพลังเก่าไม่ยอมกล่าวถึง ก.ส.ร. กุหลาบ และเทียนวรรณ ซึ่งขณะนั้นเป็นหนุ่มเมื่อ 100 ปีกว่ามาแล้วได้แสดงการเรียกร้องให้เปลี่ยนระบบสมบูรณาฯ”  มิหนำซ้ำ ปรีดีสะท้อนทัศนะของเขาว่า “ผู้ที่เป็นพลังใหม่แท้จริง จะต้องไม่ดูหมิ่นคนธรรมดาสามัญว่าไม่มีความคิดที่จะเรียกร้องให้เปลี่ยนระบบสมบูรณาฯ”

ไม่แปลกเลย ถ้าคนหนุ่มเมื่อราว ๆ ร้อยปีก่อนจะคุ้นเคยชื่อเสียงเรียงนามของ ก.ศ.ร. กุหลาบ และเทียนวรรณอยู่บ้าง เนื่องจากยังทันได้อ่านงานที่ทั้งสองเขียนตีพิมพ์ออกเผยแพร่ในตอนที่ยังมีชีวิตอยู่ แต่สำหรับปรีดี พนมยงค์ เขาเคยมีโอกาสพบเจอตัวของบุคคลทั้งสองและอาจจะได้พูดคุยสนทนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วย แน่นอนว่าประสบการณ์นั้นย่อมส่งทอดอิทธิพลต่อแนวความคิดของนักเรียนชั้นมัธยมเบื้องต้นชาวกรุงเก่านามปรีดี จวบจนวันหนึ่งเขาเติบโตกลายเป็นผู้ทำการ ‘อภิวัฒน์’ นำประชาธิปไตยมาสู่ประชาชนได้จริงๆ!

 

บรรณานุกรม

  • ชัยอนันต์ สมุทวณิช. ชีวิตและงานของ เทียนวรรณ และ ก.ศ.ร.กุหลาบ. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: บรรณกิจ, 2524.
  • บุญพิสิฐ ศรีหงส์. แกะปมจินตนภาพ นาย ก.ศ.ร. กุหลาบแห่งกรุงสยาม. กรุงเทพฯ: มติชน, 2560.
  • ปรีดี พนมยงค์. ชีวประวัติย่อของนายปรีดี พนมยงค์. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ: แม่คำผาง, 2553.
  • ปรีดี พนมยงค์. บางเรื่องเกี่ยวกับการก่อตั้งคณะราษฎรและระบบประชาธิปไตย. กรุงเทพฯ: นีติเวชช์, 2515.
  • มนันยา ธนะภูมิ. ก.ส.ร. กุหลาบ. กรุงเทพฯ: สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, 2525.
  • สงบ สุริยินทร์. เทียนวรรณ. พระนคร: สุริยินทร์, 2510.
  • ไสว สุทธิพิทักษ์. ดร. ปรีดี พนมยงค์. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: บพิธการพิมพ์, 2526.
  • ส. พลายน้อย. เล่าเรื่องนักเขียนดังในอดีต 2. กรุงเทพฯ : ฅอหนังสือ, 2546.