วรรณกรรมอนุรักษ์นิยมของไทย ไม่ได้มีเฉพาะสี่แผ่นดิน มีอีกหลายเล่มหลายเรื่อง ที่สำคัญ คือ งานของ “ดอกไม้สด” ซึ่งเป็นนามปากกาของหม่อมหลวงบุปผา นิมมานเหมินท์ (เดิมนามสกุลกุญชร) ภรรยาของคุณสุกิจ นิมมานเหมินท์
วรรณกรรมของ “ดอกไม้สด” เป็นเรื่องอนุรักษ์นิยมชัดๆ ท่านเขียนขึ้นเมื่อหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเล็กน้อย ภาษาไพเราะเพราะพริ้งมาก เช่น สามชาย ชัยชนะของหลวงนฤบาล เป็นต้น เป็นเรื่องราวการเมืองที่ยืนหยัดว่า การเมืองแบบเก่าไม่ได้เลวร้าย ราชาธิปไตยไม่ได้เลวร้าย ผิดกับวรรณกรรมหัวก้าวหน้าที่ออกในช่วงนั้น เช่น วรรณกรรมของ “ศรีบูรพา” กุหลาบ สายประดิษฐ์ เสนีย์ เสาวพงศ์ นี่เป็นตัวอย่างวรรณกรรมก้าวหน้าที่โจมตีอนุรักษ์นิยม
ส่วน สี่แผ่นดิน ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นวรรณกรรมอนุรักษ์นิยมที่ไม่ธรรมดา แต่เป็นวรรณกรรมอนุรักษ์นิยมชนิดที่เชิดชูสถาบันเจ้า ยกย่องคนที่เกิดมีชาติมีตระกูลสูง และโจมตีการเปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่ประชาธิปไตย
หนังสือที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์เขียน โดยเฉพาะ สี่แผ่นดิน เขียนไว้ได้ดีมาก แนบเนียน เรื่องต่างๆ ให้ประโยชน์ทางประวัติศาสตร์สังคมที่ดีมาก โดยเฉพาะสังคมในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งคุณคึกฤทธิ์เกิดไม่ทัน แต่อาศัยไปขอข้อมูลจาก ม.จ.จงจิตรถนอม ดิศกุล ว่าสมัยรัชกาลที่ 5 มีความเป็นอยู่อย่างไร มีการละเล่นอย่างไร เช่น ในหลวงรัชกาลที่ 5 โปรดมากเรื่องนำงาช้างมาแกะเป็นตลับ (ตลับงา) สมเด็จพระพันวัสสามี 1 ชุด สมเด็จพระพันปีมี 1 ชุด สมเด็จพระปิจตุฉามี 1 ชุด
ในเรื่อง สี่แผ่นดิน คุณคึกฤทธิ์จะเอ่ยถึงชุดที่สมเด็จพระปิตุจฉามี เหตุเพราะว่าคุณคึกฤทธิ์สยบกับพระองค์เจ้าจุมภฏพงษ์บริพัตร ซึ่งเป็นหลานของสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี ดังนั้น ถึงเอ่ยเฉพาะชื่องาช้างชุดนี้ชุดเดียว นับว่าเป็นเรื่องที่ให้ความรู้มาก
แต่ที่สำคัญ คือ เมื่อถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 หนังสือเล่มนี้โจมตีฝ่ายคณะราษฎร เพราะตัวละครเอกที่เป็นลูกแม่พลอยคนหนึ่ง (คุณอั้น) ไปเข้าร่วมกับคณะราษฎร เลยทำให้ถูกโจมตีมาก เพราะฉะนั้นถ้าใครอ่าน สี่แผ่นดิน ถ้าไม่มีโยนิโสมนสิการ ก็จะถูกมอมเมาอย่างละเมียดให้เห็นว่า ขัตติยาธิปไตยเป็นของดี การเกิดมามีชาติกำเนิดสูงดีกว่าการที่เกิดมามีชาติกำเนิดต่ำ
นี่คือการผิดหลักศาสนาพุทธ พระพุทธเจ้าสอนว่า มนุษย์เรามีความเท่าเทียมกันหมด คุณจะเป็นชนชั้นไหน จะทำความชั่วก็ชั่วด้วยกันทั้งนั้น จะทำความดีก็ดีด้วยกันทั้งนั้น แต่ที่น่าเสียดาย คนส่วนมากที่อ่านหนังสือเล่มนี้ ไม่เข้าใจว่ามีนัยยะทางการเมืองที่โจมตีความคิดที่เป็นประชาธิปไตย
ประชาธิปไตย คือ สิ่งที่ประเสริฐที่สุด เพราะให้อำนาจแก่คนส่วนใหญ่ “ประชา” คือ ประชาชน “อธิปไตย” คือ อำนาจสูงสุด และคนที่นำอำนาจมาให้คนส่วนใหญ่คนแรกที่ทำได้สำเร็จ คือ อาจารย์ปรีดี พนมยงค์
ก่อนหน้านั้นมีความพยายามจากคณะทหารหนุ่มๆ ที่พยายามจะเปลี่ยนแปลงการปกครองในสมัยรัชกาลที่ 6 แต่ต้องล้มเหลวไป ในปีแรกที่รัชกาลที่ 6 เสวยราชย์ จึงเกิด “กบฏ ร.ศ. 130”
แม้ก่อนหน้านั้นในสมัยรัชกาลที่ 5 คนที่มีสติปัญญาต่างก็ลุกขึ้นเรียกร้องประชาธิปไตย คือ เทียนวรรณ
เทียนวรรณติดคุกข้อหาหมิ่นตราราชสีห์น้อยถึง 17 ปี ก่อนหน้านี้ไม่มีกฎหมาย เข้าคุกไปแล้วจะออกมาได้เมื่อไหร่นั้น แล้วแต่พระมหากรุณาธิคุณ เทียนวรรณไม่ได้เขียนอะไรมาก แค่เขียนว่าต้องการให้มีปาเลียเมนต์ คำนี้แต่ก่อนประเทศไทยยังไม่มี parliament คือ รัฐสภา เจ้ากับไพร่ต้องไปด้วยกันเท่านั้นเอง ซึ่งในตอนนั้นเป็นความผิดที่ร้ายแรงมาก
แม้กระทั่งเจ้านายเองในสมัยรัชกาลที่ 5 เจ้านายและขุนนางที่อยู่ในยุโรป เขียนคำกราบบังคมทูล ร.ศ. 103 ถวายรัชกาลที่ 5 ว่าควรจะมีธรรมนูญในการปกครองแผ่นดิน ควรจะลดทอนพระราชอำนาจลง หัวหน้าใหญ่ คือ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ แต่เจ้านายที่มาร่วมลงพระนามด้วย คือ กรมพระนเรศวรฤทธิ์ ขณะนั้นเป็นราชทูตสยาม กรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดาเป็นทูตทหารบก และพระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ ภายหลังเป็นสมเด็จกรมพระสวัสดิ์ฯ ตอนนั้นท่านเป็นผู้อภิบาลในหลวงรัชกาลที่ 6 อยู่สถานทูตที่เมืองนอก และข้าราชการสามัญชนคนหนึ่งที่ร่วมลงนามด้วย คือ พระยาไชยวิชิตสิทธิสาตรา (นาค) คุณปู่ของท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ แต่เมื่อเป็นหลวงวิเสศสาลี
เพราะฉะนั้นการเรียกร้องประชาธิปไตย สำหรับคนที่รักความยุติธรรม ไม่ว่าเจ้า ไม่ว่าไพร่ ล้วนเห็นว่าบ้านเมืองต้องปกครองโดยมีกฎหมายสูงสุด โดยมีรัฐธรรมนูญสูงสุด ทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมายเท่าเทียมกันหมด
นี่เป็นเนื้อหาสาระสำคัญที่สุดของประชาธิปไตย ที่อาจารย์ปรีดีเป็นคนที่ทำได้สำเร็จเป็นคนแรก และได้นำความคิดมาขยายในการอภิวัฒน์ สำเร็จในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 วันที่ 27 อาจารย์ปรีดี สามารถให้ในหลวงรัชกาลที่ 7 พระราชทานธรรมนูญปกครองแผ่นดิน ซึ่งฉบับนี้เป็นฉบับที่แสดงถึงจุดยืนทางการเมืองของอาจารย์ปรีดีที่ชัดเจนที่สุด เพราะก่อนหน้านี้อำนาจสูงสุดอยู่ที่พระเจ้าแผ่นดิน แต่ฉบับนี้เห็นชัดเจนว่า “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย” ตอนนั้นในหลวงท่านตกพระทัยและกลัว จึงเซ็นให้และต่อรองใช้เป็นฉบับชั่วคราว และค่อยมาตกลงไกล่เกลี่ยกันร่างกันใหม่ ซึ่งประกาศใช้ ณ วันที่ 10 ธันวาคม 2475
เรามีรัฐธรรมนูญมากี่ฉบับแล้ว ถูกฉีกบ้าง ถูกให้แก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้นบ้าง แต่วันที่ 10 ธันวาคม ก็จะเป็นวันรัฐธรรมนูญอยู่ มีเกร็ดว่า ผู้ที่ให้ฤกษ์วันที่ 10 ธันวาคม นี้ คือ สมเด็จพระสังฆราช (อยู่) วัดสระเกศ ซึ่งเวลานั้นยังเป็นพระธรรมเจดีย์ เพราะเป็นโหรที่มีชื่อมาก
คำว่า “รัฐธรรมนูญ” เพิ่งใช้ครั้งแรกบัญญัติศัพท์โดยกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ แม้คำว่า “ประชาธิปไตย” ท่านก็บัญญัติ โดยท่านมีความเชื่อว่า การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ คือ การเปลี่ยนแปลงทั้งทางความคิดและรูปแบบทางภาษา
ที่จริงงานของคุณคึกฤทธิ์ที่ดีที่สุดไม่ใช่ สี่แผ่นดิน แต่เป็น หลายชีวิต เพราะว่าเป็นเรื่องสั้นที่เล่าถึงชีวิตของหลายๆ คน สี่แผ่นดิน สำหรับผมแล้วเป็นเรื่องโฆษณาชวนเชื่อ
ที่มา: เรียบเรียงจากกิจกรรมเสวนาออนไลน์ PRIDI Live : Soft Power บนเส้นทางการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา โดยมีอาจารย์วิโรจน์ อาลี เป็นผู้ดำเนินรายการ