ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ศิลปะ-วัฒนธรรม

“จากปากน้ำ สู่ ปราการป้องแผ่นดิน” PRAKAN FESTIVAL 2024

20
เมษายน
2567

Focus

  • บทความ “จากปากน้ำ สู่ ปราการป้องแผ่นดิน” PRAKAN FESTIVAL 2024 เขียนถึงโครงการ “Prakan Festival” ครั้งที่ 2 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 14-17 มีนาคม พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมา “Prakan Festival 2024” ได้รับรางวัลระดับเอเชีย Asia Local and Traditional Art Festival of 2024 Awards จากสมาคมการจัดงานอีเวนท์และเทศกาลนานาชาติ หรือ International Festival & Event Association (IFEA)
  • แนวคิดของการจัดงานเทศกาลระดับประเทศครั้งนี้มีทั้งความร่วมสมัยและยึดหลักการบริหารแบบพัฒนาประชากรและทรัพยากรเมืองอย่างยั่งยืน ดำเนินงานโดย สสปน. ( สำนักงานส่งเสริม การจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ TCEB-Thailand Convention & Exhibition Bureau) ร่วมกับมูลนิธิหุ่นสายเสมาศิลปะเพื่อสังคม - Semathai Marionette Foundation Art for Social และกลุ่มศิลปินนักพัฒนาและเครือข่ายภายใต้ยุทธศาสตร์ที่ส่งเสริม ‘เศรษฐกิจสร้างสรรค์’ (Creative Economy) อันเป็นหัวใจของ “ระบบนิเวศสร้างสรรค์” (Constructive Ecosystem)
  • PRAKAN FESTIVAL ครั้งที่ 2 มีไฮไลท์อยู่ที่ “สมุทรปราการ นิทรรศการมีชีวิต Live Exhibition” และการแสดง Live Exhibition “จากปากน้ำสู่ปราการ” ในพื้นที่จัดแสดง 4 จุด คือพื้นที่จัดแสดงงานที่ 1 จากภาพวาดสู่ความทรงจำ พื้นที่จัดแสดงงานที่ 2 ห้วงเวลาแห่งการเผชิญหน้าพื้นที่จัดแสดงงานที่ 3 ปราการป้องแผ่นดิน พื้นที่จัดแสดงงานที่ 4 ปากน้ำสมุทร หมุดหมายแห่งปราการ ในรูปแบบการเล่าเรื่องผ่านบทบาทจำลองของบุคคลสำคัญเสมือนอยู่ในเหตุการณ์จริง (Immersive Theatre) สรุปภาพรวมของงานคือ การเสนอนิทรรศการภายใต้กรอบประวัติศาสตร์ฉบับรัฐภายใต้ยุทธศาสตร์ Soft Power ในปัจจุบัน

 

 

สมุทรปราการ เมืองหน้าด่านสำคัญของทะเลไทย เป็นปราการด่านหน้าของเมืองอุตสาหกรรรม และศูนย์กลางการขนส่งที่สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมั่นคงของประเทศ มีประวัติศาสตร์สำคัญที่สารถูกจารไว้ในทุกหย่อมของป้อมปราการซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 25 แห่งทั่วเมือง และในท่ามกลางจารึกร่องรอยของ ‘ประวัติศาสตร์บาดแผล’ แต่ปากน้ำแห่งนี้กลับเป็นพื้นที่ของงานศิลปะและวัฒนธรรมนำชุมชนบนวิถีที่มีอัตลักษณ์ของนักสู้ ด้วยศักยภาพเด่นจึงเป็นที่มาของโครงการ “Prakan Festival” และได้รับรางวัลระดับเอเชีย Asia Local and Traditional Art Festival of 2024 Awards จากสมาคมการจัดงานอีเวนท์และเทศกาลนานาชาติ หรือ International Festival & Event Association (IFEA)

การจัดงานครั้งล่าสุดเป็นปีที่ 2 เมื่อ 14-17 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา  “Prakan Festival 2024” นับเป็นการเปิดมิติใหม่ของการจัดงานเทศกาลระดับประเทศที่ยึดหลักการบริหารแบบพัฒนาประชากรและทรัพยากรเมืองอย่างยั่งยืน  ความสำเร็จครั้งนี้ของงานอยู่ภายใต้การดำเนินงานของ สสปน. ( สำนักงานส่งเสริม การจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ TCEB - Thailand Convention & Exhibition Bureau) ร่วมกับ มูลนิธิหุ่นสายเสมา ศิลปะเพื่อสังคม (SEMA Thai Marionette) กลุ่มศิลปินนักพัฒนาและเครือข่าย ที่สามารถสนองนโยบายขยาย ‘ยุทธศาสตร์ Soft Power’ ของรัฐบาลออกมาอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน ถือเป็นผลงานต้นแบบให้กับแผนต่อยอดฐานการสร้างงานของ TCEB ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็น 5 ปี แห่งการต่อสู้อย่างหนักเพื่อให้ทุกภาคส่วนเข้าใจและยอมรับในหลักการสำคัญอันเป็นกุญแจใหม่ที่จะไขไปสู่ประตูความสำเร็จ ด้วยยุทธศาสตร์ส่งเสริมงาน ‘เศรษฐกิจสร้างสรรค์’ (Creative Economy)[1] อันมีหัวใจปฏิบัติการสำคัญนั่นคืองานสร้าง “ระบบนิเวศสร้างสรรค์” (Constructive Ecosystem) ซึ่งมี ‘Festival Economy’ เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญอันจะนำประเทศไทยไปสู่เวที ‘เทศกาลโลก’ 

 

 

20 ปี TCEB : 5 ปี Festival Ecomomy ผลักไทยไปสู่เวทีโลก[2]

นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 ที่ทาง TCEB - Thailand Convention & Exhibition Bureau ได้ถูกจัดตั้งให้เป็นศูนย์กลางบริการธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย ซึ่งเน้นสร้างผลงานสายการท่องเที่ยวเป็นหลัก ล่าสุดวันที่ 21 มีนาคม 2567 ณ โรงแรม The Coach สุขุมวิท 14  นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) ร่วมกับ 4 สมาคมพันธมิตร (สมาคมการค้าส่งเสริมการจัดมหกรรมและเทศกาลนานาชาติไทย (TIEFA) / สมาคมการค้าผู้จัดงานกีฬามวลชนไทย (TMPSA) / สมาคมเครือข่ายผู้สร้างสรรค์วิชาชีพสื่อบันเทิงไทย (TECNA) / สมาคมการค้าส่งเสริมอุตสาหกรรมและศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (CAPT) ) แถลงข่าวถึง 5 ปี ของความสำเร็จที่ผ่านมา และทิศทางแผนเดินหน้าคว้าชัยก้าวต่อไปของ สสปน. ภายใต้แผนงาน ‘ระบบนิเวศสร้างสรรค์’ (Constructive Ecosystem) โดยมี 3 เสาหลักขับเคลื่อนเลื่อนไทยให้ก้าวต่อไปในเวทีโลก โดยมี “PRAKAN FESTIVAL” เป็นต้นแบบสำคัญเพื่อการพัฒนา Festival Economy ด้วยศักยภาพความเป็น Mice City[3] (เมืองที่มีคุณสมบัติเด่นด้าน ประวัติศาสตร์ ประเพณี วัฒนธรรม กิจกรรมที่แสดงถึงอัตลักษณ์ (Identity) , วิถีชีวิต (Lifestyle) และเศรษฐกิจ (Economic) บนพื้นฐานของการอยู่รวมกันอย่างยั่งยืนระหว่าง เมือง กับ ประชากร

“ต้นทุนทางวัฒนธรรมที่เป็นหัวใจหลักในการขับเคลื่อนจัดงานเทศกาล เป็นนโยบายที่เกี่ยวเนื่องสอดคล้องกับนโยบาย  Soft Power ของรัฐบาลโดยตรง โดยเฉพาะ Festival Economy มี  ขอบเขต เป้าหมาย การดำเนินงาน มีที่มาคือทาง TCEB  ได้ขับเคลื่อนพัฒนาและยกระดับเทศกาลนานาชาติให้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมและอุตสาหกรรม MICE[4] (อุตสาหกรรมสร้างสรรค์งาน Event)  มาตั้งแต่ปี 2562 เหตุผลหลักในการขับเคลื่อนเรื่องนี้เพราะเราเชื่อว่า MICE  ในฐานะที่เป็น platform การพัฒนาด้านเศรษฐกิจ ในเรื่องเทศกาลก็ถือเป็น platform ได้เช่นกัน เหตุผลหลักคือ รูปแบบ งานเทศกาลของโลกจะมีลักษณะที่เปลี่ยนไปหลังเกิดโควิด เรื่องการจัด MICE  จะมีความเป็น Business Event มากขึ้น มีการมองหารูปแบบในการจัดงานใหม่ ๆ  ที่ผสมผสานทั้งในเรื่องของ องค์ความรู้ ธุรกิจ รวมถึง ความบันเทิงเข้าด้วยกัน TCEB ในฐานะที่เป็น Trend Center ในการจัดงาน เราจึงเล็งเห็น Landscape ที่เปลี่ยนไป

งานเทศกาลที่ประสบความสำเร็จในต่างประเทศหลายแห่งมักเริ่มจากงานดนตรี สู่การเน้นนำแนวความคิดใหม่และเทคโนโลยีใหม่ ๆ กลายเป็นเวทีรวมตัวของอุตสาหกรรม เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์ จนล่าสุดมีการรวมตัวของกลุ่ม Startup[5] ในเรื่องเทคโนโลยีระดับโลก ที่สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อย่างมหาศาล ควบคู่ไปกับเรื่องท่องเที่ยวด้วย TCEB จึงได้เตรียมความพร้อม โมเดลในการทำงานเกิดจากประสบการณ์ที่ทำเรื่อง MICE มากว่า 20 ปี และเราได้ร่วมงานกับกลุ่มคนในพื้นที่ (แบบ MICE CITY) เป็นการร่วมสร้างระหว่าง TCEB ร่วมกับตั้งแต่ผู้ว่าจนลงไปในชุมชน และผู้จัดงาน เมื่อมารวมตัวกันแล้วทำให้ได้เห็นว่าสิ่งที่พวกเราต้องการร่วมกันคือ LEGACY  3 ด้านด้วยกัน คือ เศรษฐกิจ สังคม และ สิ่งแวดล้อม”

 

 

“การเปิดตัว Festival Economy เมื่อ 5 ปีก่อน (2563) หลังฝ่าฟันโควิดด้วยกันมาทั้ง 4 สมาคม (TIEFA , TMPSA , TECNA และ CAPT) ก็ยังร่วมกันทำงานต่อ คือผู้ที่อยู่ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังของการจัดเทศกาลของประเทศไทย มี 5 กลุ่มธุรกิจ Soft Sectors (Business Sectors)[6] ประกอบด้วย

  1. Art and Culture
  2. Creative & Lifestyle
  3. Entertainment
  4. Mass Participation Sports[7]
  5. Innovation 

 

ทั้ง 5 ส่วนไม่ได้มีวัตถุประสงค์ที่มุ่งเรื่องการท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว แต่เพื่อพัฒนาสินค้าและบริการใน Sector ต่าง ๆ ของตัวเอง ซึ่งเราเห็นแล้วว่าเป็นคุณค่าที่จะพัฒนาได้เร็ว กระจายทุกพื้นที่ ไปสู่ชุมชน งานเทศกาลเหล่านี้จึงมีส่วนผสานหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็น ธุรกิจบันเทิง ประชุมสัมมนา MICE เข้าด้วยกันโดยแบ่งกลุ่มเป้าหมายที่อยู่ในภาคนั้น ๆ ทำให้แม้แต่ในช่วงโควิดก็สามารถดำเนินการได้ ทั้ง online และ onsite”

 

 

“ช่วงแรก ในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา สมาคมทั้ง 4 สร้าง Eco System ได้พอสมควร  มีความพร้อมในการยกระดับงาน ทำให้เราต้องวางแผนที่จะดำเนินร่วมกันต่อไปเราได้สนับสนุนในส่วน Festival Owner ไปแล้วกว่า 100 งาน สามารถสร้าง Economic Impact ได้ถึง 50,000 ล้านบาท ก้าวต่อไปเรากำลังเข้าสู่ระยะที่ 2 Festival Economy ขยายผลการพัฒนาในลักษณะ Business Elements ของเทศกาลที่พร้อมต่อยอดควบคู่ไปกับการพัฒนาประสบการณ์สร้างสรรค์ การพัฒนาบุคลากร และการสร้าง Eco System ในเรื่องเครือข่ายเทศกาลทั้งในและต่างประเทศ ประกอบไปด้วย 3 ส่วน ที่เป็นหัวใจหลัก คือ

  1. มุ่งประมูลสิทธิ์การจัดงานที่มีศักยภาพระดับโลกเข้ามาในประเทศไทย เราเห็นแล้วว่ารัฐบาลก็เอาจริงเรื่องนี้ เพื่อเป็นการปักหมุดให้ประเทศไทยในเวทีโลกว่าเราคือ Festival Center ของ Asia และจะเป็นเวทีที่ให้คนไทยได้เข้ามามีส่วนร่วม สร้างแรงบันดาลใจ สร้างเครือข่ายของคนในอุตสาหกรรม Soft Sectors (Business Sectors)   ทั้งในและต่างประเทศเข้าด้วยกัน ในรูปแบบ Quick Win ที่เราพยายามดึงงานและสร้างงาน
  2. Business  Festival หลังโควิดเราค้นพบหลังจากที่ทำโครงการ ‘Mice for Site’ ว่า ผลกระทบทางเศรษฐกิจมีผลต่อ การพัฒนาทางด้าน AI  ความยั่งยืนด้าน SDGs  ฯลฯ ในความเปลี่ยนแปลงของโลก Mice Industry ก็เปลี่ยน payer ที่หายไปในช่วงโควิดก็ไม่น้อย แต่ก็มี  payer ใหม่ ๆ ขึ้นเยอะ ลักษณะงานก็เปลี่ยนไป เพราะฉะนั้น เราจึงเชื่อว่าเราจะมุ่งในการสนับสนุน Business  Festival เพราะใน  Festival ต้องมี Business เข้ามา คือสิ่งที่เราต้องพยายามสร้าง เพราะนั่นคือที่มาของการพัฒนาเศรษฐกิจ

    ตัวอย่างงานใหม่ล่าสุดคือ FINTECH[8] (งานเทคโนโลยีทางการเงินยุคใหม่ที่ใหญ่ที่สุดในโลก )  ในเอเชียเขาเลือกประเทศไทยแทนที่จะเลือกประเทศจีน เพราะเขาเห็นเขาเชื่อ เพราะเขาได้มาสัมผัสแล้วรู้ว่าสามารถดึงดูดคนได้มากกว่า “MONEY 20/20 ASAI”[9] งานจัด 23 -25 เมษายน 2567 ณ ศูนย์ประชุมฯ สิริกิติ์เป็นการรวมตัวของผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน และ Startup มากกว่าสองหมื่นคน ที่มีรูปแบบลักษณะการจัดไม่ใช่ Convention แต่เหมือน  Exhibition หรือ Mega Event ที่ใช้เทคโนโลยีใหม่เข้ามาช่วยเยอะมาก เป็นงานในแนวที่ TCEB จะมุ่งไป อยู่ในส่วน Business  Festival ของ Festival Economy
  3. Festival Academy ตรงกับนโยบายรัฐบาลทาง TCEB ดำเนินการด้าน training พัฒนาศักยภาพด้าน Industry การสนับสนุนพันธมิตรในการทำกิจกรรม เช่น Festival Creative Lab ที่เพิ่งจัด เราถือว่าการสร้างเครือข่ายระหว่างผู้จัดงานในประเทศต่างประเทศ เชิญเกาหลีมาร่วมงาน ผมเชื่อว่าเป็นทิศทางที่เราจะทำต่อไป คนที่ lead คือทางสมาคมที่เราพร้อมสนับสนุน (TIEFA , TMPSA , TECNA และ CAPT)

โครงการทั้งสามเสาหลักเป็นรากฐานที่ TCEB ให้ความสำคัญ เพื่อทำให้ระบบนิเวศหรือ Constructive Ecosystem ของการจัดเทศกาล ให้สอดรับกับแนวความคิดการจัดเทศกาลของโลก ถือว่าจะช่วยในการทำ Networking เครือข่าย ส่งเสริมในการสร้างบุคลากร ทำงานใกล้ชิดกับหน่วยงานที่กำลังจะเกิดขึ้น พร้อมทำงานกับทุกหน่วยงานในการที่จะเดินหน้าตามแนวทาง พร้อมที่จะรับฟังคำแนะนำต่าง ๆ พร้อมจะเป็น platform ในการพัฒนา Festival ไปด้วยกันครับ”

 

 

Festival Academy : Art Education

TCEB มีหน่วยที่ดูแลงานทั่วประเทศในแต่ละภาค คัดและประเมินศักยภาพความเป็นไปได้โดยจะต้องหาดีเอ็นเอของโจทย์ให้เจอ (DNA legacy คือ อัตลักษณ์ที่เมื่อได้รับการสถาปนาแล้วจะกลายเป็นมรดกเมืองได้ด้วย) การจัดงานครั้งที่สองได้จับประเด็นเด่นเรื่อง ‘รศ. 112’  ประวัติศาสตร์การเสียดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงของไทย เพราะสมุทรปราการมีป้อมปราการอยู่ทั่วเมือง 25 ป้อม แต่ไม่เป็นที่ประจักษ์ในคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของแผ่นดิน นิมิตร พิพิธกุล ได้เข้าศึกษาและออกแบบงานทั้งหมด โดยเอาป้อมปราการมาเป็น ‘ตัวเอก’ ในการเล่าเรื่อง ป้อมผีเสื้อสมุทร ที่อยู่ภายใต้การดูแลของกองทัพเรือจึงกลายเป็น Start Model  ความเป็น Festival Owner มีผลต่อการทำงานที่จะง่ายมากกว่าการขึ้นตรงต่อจังหวัด ทั้งมีอิสระในการคิดสร้างสรรค์งาน ไปจนถึงการจัดสรรแบ่งส่วนงบประมาณ จึงมีกองทัพเรือเป็นเจ้าของโครงการ โดยมี มูลนิธิหุ่นสายเสมา เป็นผู้ออกแบบและพัฒนางาน หลักการคือ สร้างสรรค์ให้เป็นเทศกาลประจำหน่วยงาน จนถึงประจำเมือง จากนั้นทางมูลนิธิฯ ส่งมอบให้เป็นมรดกของเมืองต่อไป

หลักการทำงานของ TCEB โครงการที่เป็นกิจกรรมทางสังคมจะสอดรับไปกับ  Festival Economy ที่ไม่ใช่ (trade) event (ซึ่งเน้นการจัดงานโดยไม่ได้มีแนวคิดต่อเนื่องเรื่องการศึกษาและพัฒนาแบบยั่งยืนแต่อย่างใด) จึงเป็นที่มาของ Trend โลก ที่เน้นพัฒนาองค์ความรู้คู่ไปกับการขยายกลุ่มเศรษฐกิจชุมชน และความบันเทิง PRAKAN FESTIVAL 2 # 2024 คือโครงการระยะยาวที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อดำเนินงานผสานนโยบายสร้างสรรค์การเรียนรู้จากเทศกาลสู่ชุมชนอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจนและต่อเนื่อง ในแนว Art Education แก่ประชากรในวงกว้างที่ไม่ใช่เพียงภายในจังหวัดสมุทรปราการเท่านั้น แต่หมายรวมถึงผู้ที่สนใจใฝ่รู้ทั่วไปทั้งไทยและต่างประเทศ ผ่านนิทรรศการและงานศิลปะการแสดงในแนว Live Exhibition ที่เน้นการรับสารอย่างเข้าถึงแบบ Immersive Theatre

 

 

 Festival Economy มีระยะพัฒนางาน 3 ปี

  • ปีแรกหาข้อมูล จัดการเนื้อหา  บริหารทรัพยากร
  • ปีที่สองสร้างเครือข่าย ขยาย Showcase
  • ปีที่สามสนับสนุนพันธมิตรในการทำกิจกรรมร่วมกัน

ปราการ เฟสติวัล 2 จึงเป็นระยะที่มุ่งสร้างเครือข่ายขยายผล โดย มูลนิธิหุ่นสายเสมา และเครือข่ายกลุ่มศิลปินนักพัฒนา นำโดย นิมิตร พิพิธกุล ศิลปินดีเด่นรางวัล “ศิลปาธร”  สาขาศิลปะการแสดง ปี 2550 (กระทรวงวัฒนธรรม) นักบริหารงานวัฒนธรรมต่างตระหนักถึงศักยภาพของศาสตร์ละครเวทีที่มีพลังสูงต่อการสื่อสาร และงานพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ให้เติบโตไปพร้อมกับโอกาสในการฝึกฝนจากประสบการณ์ตรง จึงเปิดโกาสให้เยาวชน นักเรียน นักศึกษา ในเขตจังหวัดสมุทรปราการ เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของอาสาสมัครรักเรียนรู้ ทั้งในงานบริหารจัดการ และศิลปินนักแสดง โดยเฉพาะละครเวทีที่มีเจตนารมณ์ให้ผู้ชมซึมซับรับสารอย่างใกล้ชิด งานจึงถูกสร้างสรรค์ขึ้นบนสถานที่จริงทางประวัติศาสตร์ของเมือง ซึ่งยังคงเป็นประวัติศาสตร์ที่มีชีวิตอยู่ในชุมชน ให้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงด้วยบทบาทของ ‘ตัวเอก’ ทั้งในนิทรรศการมีชีวิต (Live Exhibition) และในละครนอกเวทีแนว Documentary Theatre ที่รังสรรค์ใหม่ทั้งหมดรวม 4 เรื่อง เปิดแสดงบนพื้นที่จริง 4 จุด ของเมืองสมุทรปราการ

 

 

“ สมุทรปราการ นิทรรศการมีชีวิต Live Exhibition ”

PRAKAN FESTIVAL 2 2024 ต้นแบบงานนิทรรศการสร้างสรรค์แนวใหม่ Live Exhibition สัมผัสประสบการณ์การเที่ยวท่องล่องชมรูปแบบงานแสดงศิลปะ-การแสดงสด ทุกจุดและทุกรายการสร้างสรรค์ด้วยหลักการของ  Festival Academy บนพื้นที่แห่งการเรียนรู้ร่วมกัน ในสถานที่จริงทางประวัติศาสตร์ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ตลอด 4 วันเต็ม 14-17 มีนาคม 2567

จุดที่ 1. Live Exhibition ปราการแห่งการสร้างสรรค์ พิพิธภัณฑ์ทหารเรือ (Naval Museum) จับรถไฟฟ้า BTS จากใจกลางกรุงเทพฯ ตรงสู่ชานเมืองสมุทรปราการจนสุดสาย ปลายทางคือที่ตั้งของโรงเรียนนายเรือ ศูนย์กลางการจัดงาน Prakan Festival 2024 ที่ถูกปรับเป็นลานกิจกรรม ห้องเสวนา โรงละคร ฯลฯ

  • ศึกษางานออกแบบนาวาสยาม ความหมายแห่งเรือรบหลวงโบราณ (งานออกแบบสร้างเรือพระราชพิธี)
  • การแห่เรือพยุหยาตราชลมารค กับอุปกรณ์ยุทธนาวีของไทยในอดีต
  • การแสดงแสงสีสุดคลาสสิคกับครั้งแรกของ พิพิธภัณฑ์ทหารเรือ ในแบบ Night Live Museum  
    • บรรยายพิเศษเรื่อง “ประวัติศาสตร์ธงชาติไทย”
    • การแสดง Documentary Theatre เรื่อง “นาวาแห่งปราการ”
    • การแสดงละคร “ขอให้การพายเรือของเจ้าเที่ยวนี้ … จงเป็นเที่ยวสุดท้าย” 2 รอบ บ่ายบนตึกเย็นฉ่ำ รอบค่ำตากลมกลางลานสราญใจ
    • หนังกลางแปลงคัดสรร สาร สัมพันธ์กับเมืองเขื่อนขันธ์โดยตรง
    • Street Art Show - ชมการแสดงละครใบ้ / ร่วมร้องเพลงบรรเลงสด (โดย Artist  ชื่อดังของจังหวัดสมุทรปราการ Ta Lent Show Theatre )
    • Street Art_DRU ทุกวัยร่วมวาดระบายสีเล่าเรื่องเมืองสมุทรปราการ บนผืนผ้ายาวกว่า 10 เมตร ​(โดยศิลปินกลุ่ม DRU > Art & Design ศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี)
    • "Dream of Prakan" ร่วมแสดงผลงานศิลปะการออกแบบอย่างมีส่วนร่วม​ (Participatory Art) กิจกรรมระบายสีกล่อง ‘ป้อมปราการในฝัน’ ตามจินตนาการ​ที่ได้รับแรงบันดาลใจ​มาจาก​รูปทรงของ "ป้อมปราการ" นำมาคิดตีความใหม่ ให้เร้าจินตนาการ​และเข้าถึงผู้ร่วมกิจกรรมมากขึ้น​

 

 

ปราการเฟสติวัล เปิดกิจกรรมให้ชาวสมุทรปราการช่วยกันเล่าเรื่องเมืองปราการ ผ่านชุดความคิดที่ออกแบบโดย  นิมิตร พิพิธกุล ซึ่งมีผู้กำกับมือขวาคู่ใจคือ ศุภวัฒน์ หงษา (มหา-ซ้ายสุด) ชาวเมืองสมุทรปราการ เป็นกวีนักเขียนบท, ผู้กำกับละครเวที ซีรีส์ ภาพยนตร์ โฆษณา งานนี้ท่านมหาฝึกลูกศิษย์ลูกหา โรงเรียนป้อมนาคราชสวาทยานนท์ (Pomnakarachsawatyanon School)  มาโชว์ความสามารถด้วยละครเวที 2 เรื่อง  ("ขอให้การพายเรือของเจ้าเที่ยวนี้…จงเป็นเที่ยวสุดท้าย" (นักเรียนล้วน) , "นาวาแห่งปราการ")   จัดแสดงทั้ง 2 พื้นที่ (ป้อมผีเสื้อสมุทร และพิพิธภัณฑ์ทหารเรือ)

ในการแสดง Night Museum ณ พิพิธภัณฑ์ทหารเรือ ช่วงหนึ่งของการแสดง Night live exhibition มีการกล่าวถึง พระสมุทรเจดีย์ ที่ผู้ชมจะต้องเดินผ่านจุดนั้น คุณสมพงษ์ หงษา (บิดาของ ครูมหา ผู้กำกับการแสดงชุดนี้)  ท่านได้นำภาพที่วาดด้วยตนเองมาเป็นหนึ่งในองค์ประกอบของการแสดงด้วย เมื่อการแสดงจบลงคุณสมพงษ์ได้ตัดสินใจมอบภาพวาดนี้ให้กับ พิพิธภัณฑ์ทหารเรือ โดยมีท่าน ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ฯ น.อ. สมควร สุกดิษฐ์ (เสื้อขาว) เป็นผู้รับมอบ และได้สัญญาว่าจะนำไปขึ้นทะเบียนและจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์เป็นสมบัติชาติ ท่านมหากล่าวอย่างภูมิใจว่า

“เทศกาลนี้ไม่ใช่แค่ผมกับเด็ก ๆ ที่ได้มีโอกาสมาทำละครกัน แต่ยังเป็นพื้นที่ให้พ่อผมและใครก็ได้อีกมากมาย มามีพื้นที่แสดงออกทางศิลปะร่วมกัน นำไปสู่การผูกสัมพันธ์กันด้วยศิลปะ งานดี ๆ แบบนี้ควรจะเกิดขึ้นทุกปีใช่ไหมครับ”

 

 

จุดที่ 2. ป้อมผีเสื้อสมุทร ปราการมั่นคงดำรงธงชาติสยาม

  • บรรยายพิเศษก่อนการแสดง “กว่าจะมาเป็นธงชาติไทย” จาก พิพิธภัณฑ์ธงชาติไทย เรียนรู้ผังธงโบราณของ ANDRIVEAU-GOUJON ที่มีการพิมพ์ ‘ธงช้างเผือก’ ธงชาติสยามที่เก่าแก่ที่สุดในประวัติศาสตร์ อายุกว่า 187 ปี
  • ศึกษาเบื้องหลังสารคดี “ธงช้างเผือก” ธงชาติสยามผืนเดียวในประวัติศาสตร์ ที่ถูกฝรั่งเศสยึดไปในฐานะผู้พ่ายแพ้ในสงคราม “Franco-Siamese War 1893” หรือในภาษาไทยเรียกว่า “วิกฤตการณ์ ร.ศ. 112” ปัจจุบัน ธงช้างเผือก ผืนดังกล่าวได้ถูกแขวนไว้ที่ Église Saint-Louis-des-Invalides กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส
  • จัดแสดง นิทรรศการภาพวาดประวัติศาสตร์ “วิกฤตการณ์ รศ. 112”   จากภาพวาด สู่ความทรงจำ และการจำลองเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ให้ปรากฏมีชีวิต Live Exhibition ปราการ
  • Live Exhibition การแสดง “จากปากน้ำสู่ปราการ” จากประวัติศาสตร์บาดแผลแม้ผ่านมานานกว่าร้อยปีเรื่องราวยังไม่เคยเลือนเคลื่อนจากความทรงจำของคนไทย ป้อมนี้มี “ปืนเสือหมอบ” คือคุณปู่ปืนใหญ่ 3 ใน 10 กระบอก (อีก 7 กระบอก อยู่ที่ป้อมพระจุลจอมเกล้าฯ) ประทับเด่นเป็นสง่า สร้างมาจากพระคลังข้างที่ของ รัชกาลที่ 5 พระราชทานมาเพื่อปกป้องแผ่นดินใน ‘วิกฤตการณ์ ร.ศ 112’ คุณปู่เสือหมอบร่วมแสดงบทบาทสำคัญในเหตุการณ์สู้รบด้วย

 

 

จุดที่ 3. อุทยานการเรียนรู้และหอชมเมืองวิวปากน้ำสมุทรปราการ ที่นี่ไม่มีปราการแห่งการเรียนรู้ 15-17 มีนาคม 2567 ชมฟรี ทั้งชาวไทยและต่างชาติ

  • ชุมชนป้อมปราการ และ พิพิธภัณฑ์หอชมเมือง เล่าเรื่องเหตุการณ์ รศ. 112 และประวัติศาสตร์เมืองสมุทรปราการผ่านการติดตามเส้นทางแผนที่เมืองสมุทร หมุดหมายปราการด้วยมิติการจัดงานแบบนิทรรศการมีชีวิต (Live Exhibition) ที่นำพาย้อนเวลากลับไปสู่ช่วงสำคัญในอดีตในนิทรรศการ "ร้อยเป็นเรื่องเมืองปากน้ำ" ปากน้ำเมื่อนานมา ปรากฏเป็นปราการ  ปราการป้อมแผ่นดิน นำเสนอผ่านเทคโนโลยีล้ำสมัยเหมือนอยู่ในเหตุการณ์จริง
  • การแสดงแบบสวมบทบาทจำลองในแนว Documentary Theatre เรื่อง "นาวาแห่งปราการ" ตัวละครจากประวัติศาสตร์นำพาไปสู่ช่วงเวลาที่สำคัญในอดีต ศึกยุทธนาวีระหว่างสยามและฝรั่งเศส ที่ไทยต้องจำใจยอมสละดินแดนบางส่วนพร้อมเงินถุงแดงเพื่อปกป้องเอกราชของชาติ

 

 

จุดที่ 4. ร่วมฉลองวาระครบรอบ 60 ปี เมืองโบราณ พิพิธภัณฑ์กลางแจ้งแห่งสยามประเทศ ด้วย Live Exhibition พิพิธภัณฑ์มีชีวิต

  • การแสดง Live Exhibition “ปราการสืบสาน”   ประวัติศาสตร์แห่ง ศรีอโยธยา ย้อนเวลา ณ พระที่นั่ง (จำลอง) สรรเพชรปราสาท อันเคยใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีสำคัญของราชสำนัก และเป็นที่รับแขกบ้านแขกเมืองของพระมหากษัตริ
  • ร่วมรับประสบการณ์ในพิธีรับขวัญต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง สดับรับฟัง กาพย์เห่เรือ เจ้าฟ้าธรรมธิเบศไชยเชษฐ์สุริยวงศ์ ( เจ้าฟ้ากุ้ง) , การบรรเลงรับขวัญ ระบําราชสํานักอยุธยาท่ามกลางท้องพระโรงโอ่โถงสง่างาม
  • จําลองบรรยากาศท่าน้ํานานาชาติ ณ ตลาดน้ําเมืองโบราณเป็นสถานีหอการค้าของชาวฮอลันดา ที่ปากแม่น้ําเจ้าพระยาในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีการยกย่องในหมู่ชาวฮอลันดาว่าเป็นเมือง "นิวอัมสเตอร์ดัม" (New Amsterdam)
  • วิถีชีวิตและการค้าขายของเมืองปากน้ำสมัยกรุงศรีอยุธยา ชม-ชิม เครื่องคาวหวาน ตระการตาอาหารท้องถิ่นชาวสมุทรปราการ

 

 

จุดที่ 5. ปราการพิทักษ์รักษ์สิ่งแวดล้อม ชุมชนบ้านขุนสมุทรจีน

  • ศึกษานิทรรศการมีชีวิต ‘จดหมายเหตุขุนสมุทรจีน’ จากอดีตสู่ปัจจุบัน ‘จากพิพิธภัณฑ์สู่โบสถ์จม’ เรียนรู้ประวัติศาสตร์เรื่องราวความเป็นมาของชุมชนบ้านขุนสมุทรจีน
  • ล้อมวงเล่าจากประสบการณ์ชาวสมุทรปราการ บ้านขุนสมุทรจีน “การปรับตัวเพื่อความอยู่รอด และปกป้องแผ่นดินผืนสุดท้าย”  อันเป็นปราการด่านหน้าที่เห็นประจักษ์แก่ตากับภาพ ‘โบสถ์จมน้ำแห่งบ้านขุนสมุทรจีน’ ชุมชนเล็ก ๆ ซึ่งเป็นที่กล่าวขานไปทั่วโลก ถือเป็นนิทรรศการมีชีวิตที่สื่อสารเรื่องราวรูปธรรมชัดเจน คือผลกระทบจากภาวะโลกร้อน
  • ประดิษฐกรรมชุมชนลดโลกร้อน ชมกระบวนการผลิตอิฐปูพื้นจากขยะพลาสติค ความพยายามลดปัญหาการย่อยสลายที่ต้องใช้เวลานานกว่า 450 ปี ผ่านภูมิปัญญาและงานบริหารจัดการของท้องถิ่นโดย ‘ชุมชนขุนสมุทรจีน’

 

 

Highlight : Live Exhibition “จากปากน้ำสู่ปราการ”

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง ‘ป้อมผีเสื้อสมุทร’ ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2362 ตั้งอยู่ทางทิศใต้ขององค์พระสมุทรเจดีย์ ต้องเดินเท้าเข้าไปทางท่าวิบูลย์ศรีที่ใช้ประมาณ 20 นาที เพื่อไปยังจุดแสดงงาน ผ่านสะพานเหล็กสูงมุ่งป่าชายเลน ทักทายเรือชาวเล ลมเย็นโชยชื่นให้ตื่นใจก่อนไปเปิดประสบการณ์กับการท่องเที่ยววิถีใหม่ ในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ “รศ. 112” Live Exhibition ชมการแสดงเรื่อง “จากปากน้ำสู่ปราการ” ท่ามกลางฉากทัศน์ต่างๆ ที่ถูกสร้างสาน เล่าเรื่องผ่านบทบาทจำลองของบุคคลสำคัญในเหตุการณ์ ร่วมเดินติดตามการแสดงไปยังพื้นที่ต่าง ๆ  ของ ‘นิทรรศการมีชีวิต’ สัมผัสเรื่องราวย่างใกล้ชิดเสมือนได้ร่วมอยู่ในเหตุการณ์จริง (Immersive Theatre) ในห้วงเวลาแห่งการเผชิญหน้ากับข้าศึกกลางป่าชายเลนลึก ณ ปราการป้อมแผ่นดิน ปากน้ำสมุทรหมุดหมายแห่งปราการ ….

 

 

‘วิกฤตการณ์ ร.ศ 112’ เมื่อ 13 กรกฎาคม พ.ศ 2436 เวลา 18.15 น. ฝรั่งเศสเคลื่อนทัพเรือปิดน่านน้ำไทยป้อมพระจุลจอมเกล้า เริ่มยิงเตือนด้วยนัดทิ้งเปล่าไม่บรรจุหัวกระสุน แต่เรือรบฝรั่งเศสยังไม่หยุด จึงยิงนัดที่สามและสี่ กระสุนตกข้างเรือเพื่อย้ำเตือน แต่ไม่ได้ผลเรือฝรั่งเศสชักธงขึ้นยอดเสาแล้วกระหน่ำยิงตอบมาเป็นร้อยนัดยังป้อมพระจุล แต่ไทยไม่ถอยให้กับยุทโธปกรณ์ที่เหนือกว่า ทหารเรือโดนคร่าชีวิต 8 คน บาดเจ็บ 40 คน จากนั้นฝรั่งเศสยื่นข้อเสนอกดดันหวังหั่นแผ่นดิน

  • ให้สยามยอมรับว่าดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง และเกาะต่างๆ ในลำน้ำนี้เป็นของฝรั่งเศส  ไทยต้องเพิกถอนสิทธิเหนือดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงและเกาะต่างๆตั้งแต่ภาคเหนือของลาวไปจนถึงพรมแดนเขมร
  • ให้ไทยรื้อถอนด่านทั้งหมดบนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงให้เสร็จภายใน 1 เดือน 3. ให้ไทยจัดการปัญหาทุ่งเชียงคำ เมืองคำพวน และความเสียหายที่เรือรบฝรั่งเศสและชาวฝรั่งเศสได้รับจากการปะทะกัน
  • ต้องถอนกำลังทหารออกไปภายใน 1 เดือน และจ่ายค่าปรับรวม 3 ล้านฟรังก์ ร.5 ทรงจำยอมแม้โทรมนัสหนักเพื่อรักษาผืนแผ่นดินส่วนใหญ่ของสยาม (แผ่นดินไทยในวันนี้) รวมถึงเงินถุงแดงที่ ร.3 มีพระราชดำริให้เก็บไว้เป็นทุนสำรองยามบ้านเมืองวิกฤติ  วิกฤตินี้จึงเป็นการรวบรวมเงินแผ่นดินและเงินถุงแดง จนมากพอต่อการฝ่ากรงเล็บแห่งการล่าอาณานิคมครั้งนั้นมาได้

 

 

ใน‘วิกฤตการณ์ รศ. 112’ ป้อมผีเสื้อสมุทร ได้ทำการยิงต่อสู้ร่วมกับ ป้อมพระจุลจอมเกล้า เมื่อครั้งที่เรือรบฝรั่งเศสแล่นฝ่าน่านน้ำล่วงล้ำอธิปไตยเข้ามาโจมตี แต่ไทยไม่อาจต้านทานได้ ส่งผลให้ต้องเสียดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้กับฝรั่งเศส ต่อมาในปี พ.ศ 2480 ได้สร้างอาคารเพิ่มขึ้นมาเป็นคลังเก็บทุ่นระเบิดที่ได้รับมาจากประเทศเดนมาร์ก และในปี พ.ศ 2518 ได้เปลี่ยนมาเป็นอาคารคลังยุทโธปกรณ์เก็บวัตถุระเบิดและดอกไม้เพลิง (จุดแสดงงาน) ปัจจุบันอยู่ในการดูแลของกรมสรรพาวุธทหารเรือ

 

 

การแสดง Live Exhibition “จากปากน้ำสู่ปราการ” 

รูปแบบของ live Exhibition ได้มีการออกแบบสร้างสรรค์ขึ้นครั้งแรก ณ ป้อมผีเสื้อสมุทร สมุทรปราการ ในปี 2023 ได้นำมาสู่การจัดงาน เทศกาล ปราการเฟสติวัล (Prakan Festival) จังหวัดสมุทรปราการ เป็นที่มาของการได้รับรางวัล Asia Local and Traditional Art Festival of 2024 Awards จาก IFEA (International Festivals and Events Association) ด้วยรูปแบบเทศกาลงานสร้างสรรค์แนวใหม่ Live Exhibition ‘สมุทรปราการ นิทรรศการมีชีวิต’ จัดแสดงวันละ 3 รอบ รวม 3 วัน 14-17 มีนาคม 2567 “จากปากน้ำสู่ปราการ”เป็นส่วนหนึ่งของงานจัดนิทรรศการในรูปแบบ Living history ที่ผู้ชมจะได้ร่วมเข้าไปอยู่ในการจำลองเรื่องราวประวัติศาสตร์ ‘วิกฤตการณ์ รศ.112’ ผ่านการชมแบบ walking theatre โดยร่วมออกเดินติดตามการแสดงไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ในบริเวณใกล้กับ อาคารคลังพัสดุวัตถุระเบิด (จุดที่ 1 เป็นที่ตั้งกองบัญชาการงานนำเสนอ) ทั้งหมดแบ่งออกเป็น 4 จุด (4 องค์ของละครเวที)

พื้นที่จัดแสดงงานที่ 1   จากภาพวาดสู่ความทรงจำ

พื้นที่จัดแสดงงานที่ 2   ห้วงเวลาแห่งการเผชิญหน้า

พื้นที่จัดแสดงงานที่ 3   ปราการป้องแผ่นดิน

พื้นที่จัดแสดงงานที่ 4   ปากน้ำสมุทร หมุดหมายแห่งปราการ

การแสดงงานมีช่วงระยะเวลาต่อเนื่องวันละ 3 รอบ ก่อนการเข้าชมแต่ละรอบในแต่ละพื้นที่จะมีสัญญาณการเป่าแตรเข้าประจำการของทหารเรือดังขึ้น เพื่อขอให้ผู้ชมเข้าถึงพื้นที่จัดงาน ร่วมรับประสบการณ์การอย่าง เข้าใจ เข้าถึง อย่างลึกซึ้ง พร้อมเพรียง และต่อเนื่อง (Immersive Theatre) ประวัติศาสตร์จึงมีชีวิต

 

 

การแสดงนิทรรศการมีชีวิต พื้นที่จัดแสดงทื่ 1 “จากภาพวาดสู่ความทรงจำ”

ภายในโถงคลังยุทโธปกรณ์ทางการทหาร (อาคารพัสดุวัตถุระเบิด) เก็บถูกปรับให้เป็น Gallery แสดงงานภาพวาดในประวัติศาสตร์ได้บรรยากาศ “วิกฤตการณ์ ร.ศ 112” รายรอบไปด้วยผู้คนที่สนใจ ทุกคนจดจ่อ หอศิลป์กลายเป็นโรงละครขนาดใหญ่ที่ผู้ชมคือส่วนหนึ่งของการแสดง ที่นั่งถูกจัดให้ประชิดกับผู้สวมบทบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ นักแสดงทุกคนทำให้ผู้ชมระลึกถึงบุคคลจริงในเหตุการณ์ โดยเฉพาะนักแสดงนำ (กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ ภาพของพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ 5 ลอยมาประทับร่าง) โดยไม่ต้องสร้างเทคนิคอลังการแสงสี เพียงเสียงบรรยายก้องกังวานก็สะท้านใจแล้ว สารและเสียงที่บอกเล่าล้วนเป็นรายละเอียดเบื้องลึก ที่ทำให้พวกเรารู้สึกรักและร่วมสำนึกในบุญคุณของบรรพบุรุษที่ต่อสู้กู้แผ่นดิน (ผู้เขียนจึงขออนุญาตคัดย่อบทบางส่วนมาร่วมจารึกบันทึกประวัติศาสตร์ เพียงเป็นตัวอย่างตามแนวทางของ Documentary Theatre)

เหตุการณ์ รศ.112 เป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ชาติไทยที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ กับประเทศฝรั่งเศส บันทึกที่ได้ถูกเก็บรักษาไว้มีทั้งจดหมาย พระราชหัตถเลขา บันทึกการประชุม รายงาน การบอกเล่า และ ภาพวาด ซึ่งปรากฏในสิ่งพิมพ์จากต่างประเทศ ที่ทำให้เหตุการณ์นี้ได้รับการเล่าขานสื่อสารออกไปทั่วโลก ค่ำคืนของวันที่ 13 กรกฎาคม พุทธศักราช 2436 เรือทุกลำและป้อมพระจุลจอมเกล้า ได้รับคำสั่งให้เตรียมการทุกอย่างให้พร้อมเพื่อการต่อสู้ พายุฝนตกอย่างหนักปกคลุมมิให้เห็นทุกอย่าง เวลา 18.15 เราเห็นเรือรบ 2 ลำ มีเรือ ยังบัปติสต์เซย์ แล่นนำหน้าเข้ามา ในสันดอนแล้ว เรือทั้งสองไม่ชักธงชาติ มองไกลไม่สามารถทราบแน่ว่าเป็นเรืออะไร เรือลำหน้าหยุดชักธงชาติฝรั่งเศสขึ้น และทำการยิงมายังป้อม ปรากฏแน่ชัดว่าเป็นเรือ แองคองสตังต์ ได้ผ่านทุ่นดำเข้ามา  แล่นตรงมายังเรือทุ่นไฟ  ทุ่นระเบิดลูกหนึ่งได้ถูกบังคับให้ระเบิดขึ้น ...

ในการต่อสู้จนถึงที่สุด สุดท้ายเรือรบฝรั่งเศสหลุดจากแนวกระสุนแล่นผ่านมาจนถึงหน้าศุลกสถานฝรั่งเศส พระยาชลยุทธโยธินสั่งให้ เรือมกุฎราชกุมาร และ เรือมูรธาวสิตสวัสดิ์ เร่งความเร็วเพื่อไล่ติดตามกองเรือรบฝรั่งเศสไปให้ทัน มีคำสั่งว่าเมื่อใกล้ถึงกองเรือรบฝรั่งเศสแล้วก็ให้ดับไฟจนมืดแล้วใช้เรือพุ่งชนกองเรือรบฝรั่งเศสให้จมลง หากแต่แผนการนี้ไม่ได้รับความเห็นชอบจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หลังการสู้รบที่ปากน้ำ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  โปรดให้ประกาศแจ้ง

“ประกาศ ในการที่เรือรบฝรั่งเศสเข้ามากรุงเทพ เพื่อให้ราษฎรได้รับรู้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า เกิดจากการทุ่มเถียงกันด้วยเรื่องเขตแดนทางฝั่งแม่น้ำโขง …ทั้งได้โต้ตอบ ปฤกษาหาฤา กับรัฐบาลฝรั่งเศสที่ปารีส และราชทูตฝรั่งเศสที่กรุงเทพฯข้าพเจ้า กรมหลวงเทวะวงศ์ วโรปการ เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ ได้ประท้วงผ่านสถานทูตไทย และเรียกร้องให้มีคำสั่งถอนเรือรบออกไปทันที  เสนาบดี มีความเห็นแยกเป็น 2 ฝ่าย ประชาชนก็ระส่ำระสาย ฝ่ายแรกนักรบเห็นว่า ควรสู้รบ ต่อไปถึงขั้นแตกหัก ฝ่ายที่สองนักการทูตเห็นว่า ควรจำกัดการสู้รบไม่ให้ขยายวงกว้างออกไป ข้าพเจ้ามีความเห็นว่า เรื่องไม่คิดรบนั้น เปนเหตุให้ศรัตรูดูหมิ่นได้อย่างยิ่ง”

นายโอกุส ปาวี : ฑูตฝรั่งเศสประจำกรุงเทพ ได้แจ้งว่า นายเลอ มีร์ เดอ วิเลรส์ เดินทางมาถึงกรุงเทพ ขอเข้าเฝ้า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า เจ้าอยู่หัว และเรียกร้องว่า ล้านช้างเป็นดินแดนของญวน เมื่อญวนตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสแล้ว ล้านช้างก็ควรตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสเช่นกัน

กรมหลวงเทวะวงศ์ วโรปการ : ฝรั่งเศสเรียกร้องโดยเด็ดขาดว่า ให้ไทยถอนทหารและสละสิทธิ์ ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ลงโทษข้าราชการไทย ที่สู้รบกับทหารฝรั่งเศส จ่ายเงินค่า ปรับไหม ภายใน 48 ชั่วโมง ทั้งสิ้น สามล้านแฟรงค์

เงินค่าปรับที่จ่ายให้ฝรั่งเศสนั้น น้ำหนักของเงินเหรียญทั้งหมดรวมกันกว่า 23 ตัน ต้องขนกันตลอดวันบรรทุกใส่รถออกจากประตูต้นสนของพระบรมมหาราชวังไปลงเรือที่ท่าราชวรดิษฐ์ เพื่อให้ทันตามกำหนดที่ฝรั่งเศสยื่นคำขาด เพียง 48 ชั่วโมง น้ำหนักเงินเหรียญ 23 ตัน นั้น ได้กดทับจนทำให้เกิดรอยสึกบนพื้นถนนเป็นทางทอดยาวราวบาดแผลลึกที่จารึกอยู่ในใจของคนไทย  และในพระราชหฤทัยของพระองค์

“ฉันได้ให้นำเงินพระคลัง ในชื่อฉันเองที่ยังมีเก็บคงอยู่ เพื่อให้เป็นการป้องกันฤาถ่ายถอนพระนคร ด้วยเหตุว่าฉันรู้ตัวชัดอยู่ว่าถ้าความเป็นเอกราชของกรุงสยามได้สุดสิ้นไปเมื่อใด ชีวิตฉันก็คงจะสุดสิ้นไปเมื่อนั้น”

พระองค์ทรงดำริให้นำพระราชทรัพย์แบ่งสันปันสร้าง ป้อมพระจุลจอมเกล้า และป้อมต่าง ๆ ที่ปากน้ำ เพราะหากไม่มีด้วยป้อมเหล่านี้ป้องกันทัดทานไว้ แต่เบื้องต้น ใช่เพียงเรือ 2 ลำ จากฝรั่งเศสที่จะรุกล้ำพระนคร ยังอาจมีการรุกล้ำน่านน้ำเข้ามาอีกมากมายจากหลายชนชาติ ที่รอจ้วงจู่เข้าทำลายจนเราอาจต้องสูญสิ้นสลายแผ่นดินจะเหยียบยืน เราจะรักษาปราการ ที่พระองค์ทรงสร้างไว้ ให้ปกป้องแผ่นดินของเรา  และเราจะไม่ถอยอีกแล้ว เพราะเราจะไม่ถอย เราถอยไปไม่ได้อีกแล้ว….

สิ้นคำบรรยาย องค์ที่ 1 เสียงเพลง “สุดแผ่นดิน” ดังขึ้น เหมือนได้สดับเสียงบรรพบุรุษไทยลอยมาจากท้องทะเล “สุดดินคือถิ่นน้ำ เขตคามไทยสุดแนว เราถอยไปไม่ได้อีกแล้ว…” ฟังต่อไม่ไหวเหมือนใจจะสลายในชั่วขณะ … ผู้ชมตื้นตันหลายคนน้ำตารื้น ทั้งกับเหตุการณ์จำลองที่รู้สึก Real จนสะเทือนใจ และเพราะเสียงเพลง “เราถอยไปไม่ได้อีกแล้ว” … ที่ฟังยังไม่จบท่อนแรกภาพเหตุบ้านการเมืองในปัจจุบันก็แทรกเข้ามาย้ำเหมือนซ้ำเติม…  พลันก็มีเสียงเป่าสัญญาณแทรกขึ้นมา (แตรประจำสถานีรบ) เหมือนระฆังหมดยกให้ผู้ชมต้องรีบเปลี่ยนสถานที่ตามนักแสดงไปในจุดที่ 2 ทางเข้าป้อมผีเสื้อสมุทร เราไม่มีเวลาให้ร่ำไร รีบตามเสียงไปด้วยใจที่มีคำถาม “เกิดอะไรขึ้น แล้วเราช่วยอะไรได้บ้าง…” ยังไม่มีคำตอบ แต่บางคนเผลอวิ่งตามนักแสดงจนหลุดเข้าไปในแถวทหารที่กำลังเตรียมการรบเรียบร้อยแล้ว

 

 

การแสดงนิทรรศการมีชีวิต พื้นที่จัดแสดงทื่ 2 ห้วงเวลาแห่งการเผชิญหน้า

“เส้นทางแห่งสมรภูมิที่นำไปสู่วิกฤติการณ์ รศ.112  เริ่มต้นจากความขัดแย้งจนเกิดการปะทะกันของกองกำลังสยามและฝรั่งเศส จากการปักปันเขตแดนบริเวณลุ่มแม่น้ำโขงของลาว การที่ฝรั่งเศส ต้องการขยายอำนาจมาครอบครองลุ่มแม่น้ำโขง ได้นำมาสู่การเผชิญหน้าที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา ณ ป้อมพระจุลจอมเกล้า และ ป้อมผีเสื้อสมุทร มีข่าวลือว่า เรือปืนฝรั่งเศส 2 ลำ ออกจากไซ่ง่อน แต่ไม่มีใครเชื่อว่าเรือทั้งสองจะมาอย่างศัตรู  ในตอนเย็นเรือกลไฟอังกฤษ Albion ได้มาส่งดินระเบิดที่รอมานาน และดินระเบิดถูกส่งต่อไปยังป้อมเพื่อวางทุ่นระเบิด

ป้อมพระจุลจอมเกล้า ปืนใหญ่อาร์มสตรอง บรรจุท้าย 15 ซม. 7 กระบอก มี นายร้อยเอก ฟอนโฮลค์ (Captain C. von Holck) เป็นผู้บังคับการป้อมผีเสื้อสมุทร ปืนใหญ่อาร์มสตรอง บรรจุท้าย 15 ซ.ม. 3 กระบอก มี นายร้อยเอก เกิตส์เช (Captain T.A. Gottsche) เป็นผู้บังคับการเรือรบ 9 ลำ เตรียมพร้อมอยู่ที่ด้านเหนือของป้อมพระจุลจอมเกล้า เรือปืน มกุฎราชกุมาร เรือปืน มูรธาวสิตสวัสดิ์เรือหาญหักศัตรู เรือนฤเบนทร์บุตรี เรือทูลกระหม่อม เรือวางทุ่นระเบิด

พระองค์เจ้าวัฒนานุวงศ์เอกอัครราชทูตสยามประจำกรุงปารีส สามารถเจรจาให้นายเดอแวล รัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศส ถอนคำสั่งเดิมที่จะให้เรือรบ 2 ลำแล่นเข้ากรุงเทพฯ จึงได้ส่งโทรเลขด่วนถึงกองเรือรบฝรั่งเศสที่ชุมนุมกันอยู่ให้ระงับการเดินทางผ่านสันดอนเข้ามา ทว่าโทรเลขฉบับนี้มาไม่ถึงกัปตันเรือรบทั้ง 2 ลำ เสียงปืนนัดแรกจากป้อมพระจุลจอมเกล้าเป็นการยิงกระสุนจริง แล้วการสู้รบก็เริ่มขึ้น ปืนใหญ่ได้รับการบรรจุเพื่อยิงเรือ Jean Baptiste Say ถูกหัวเรือ ทำให้เรือต้องหันหัวเกยตื้นเพราะเรือกำลังจม เรือโคแมตแล่นตามเรือแองคองสตังค์ ผ่านเข้ามาในเครื่องกีดขวางที่วางไว้ เรือทั้งสองแล่นด้วยความเร็วเต็มที่แล้วเปิดการยิงของทั้งสองฝ่าย 

ป้อมปราการเป็นเหมือนการมีสิ่งคุ้มครองป้องปกให้พสกนิกรปลอดภัย  พระองค์ทรงสร้างป้อมพระจุลจอมเกล้า และปรับปรุงป้อมผีเสื้อสมุทรให้พร้อมเป็นปราการป้องพระนครโดยมี พระยาชลยุทธโยธิน เป็นผู้ควบคุมการก่อสร้างป้อมพระจุลจอมเกล้า มีหลุมปืน 7 หลุม  ส่วนป้อมผีเสื้อสมุทร มีหลุมปืน 3 หลุม และ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จตรวจตราการก่อสร้างและทรงทดสอบยิงปืนเสือหมอบที่ป้อมด้วยพระองค์เอง เรือรบของฝรั่งเศส ทั้ง 2 ลำ ผ่านป้อมพระจุลจอมเกล้า ในเวลา 18 นาฬิกา 55 นาที … 19 นาฬิกา 10 นาที ห้วงเวลาแห่งการเผชิญหน้า

จากการเผชิญหน้าครั้งนี้ มีชาวฝรั่งเศส สูญเสีย 3 คน บาดเจ็บ 3 คน และชาวไทยมีผู้สูญเสีย นายมะถิเยาะ นายมะนิ  นาย โต๊ะหวัง  นายมาน นายผิว นายหรุ่น และนายหวน นายทอง ชาวปากน้ำสมุทรปราการบาดเจ็บทั้งสิ้น 41 คน

ธงชาติสยาม ธงช้างเผือก ได้ถูกฝรั่งเศสยึดไปจากเหตุการณ์ “Franco-Siamese War 1893” หรือ วิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 ปัจจุบัน ได้ถูกจัดแสดงไว้ที่ glise Saint-Louis-des-Invalides กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

 

 

การแสดงนิทรรศการมีชีวิต พื้นที่จัดแสดงงานที่ 3  ปราการป้องแผ่นดิน

เสียงเป่าแตรเรียกประจำการ ผู้ชมวิ่งตามนักแสดงนำไปยังจุดที่ 3 ของการแสดงตามแนวกำแพงป้อม บนลานฝึกถูกปรับให้เป็นโรงละครกลางแจ้ง มีเก้าอี้น้อยคอยรอรับ เห็นน้ำใจ… ไม่ต้องมีไมค์ก็ได้ยินชัดเจนจากการโปรเจ็คเสียงอันทรงพลัง

จากเหตุการณ์ที่กองทัพฝรั่งเศสได้เข้ายึดดินแดนสิบสองจุไทไว้ในปี พ.ศ. 2431 ส่งผลทำให้สถานการณ์ภายในล้านช้าง ยังไม่สงบ เนื่องจากในขณะนั้นทั้งฝ่ายสยามและฝ่ายฝรั่งเศสต่างตรึงกำลังทหารหยั่งเชิงกันอยู่ซึ่งทางฝรั่งเศสมีเป้าหมายชัดเจนที่จะต้องครอบครอง“ดินแดนฝั่งซ้ายเเม่น้ำโขง” (ลาว) ให้ได้โดยมี “โอกุสต์ ปาวี” กงสุลฝรั่งเศสประจำกรุงเทพฯ สมคบคิดกับฝรั่งเศสในการวางแผนยึดดินแดนฝั่งซ้ายเเม่น้ำโขงจากสยาม นำมาสู่การสร้างปราการป้องแผ่นดิน มีนาคม พ.ศ. 2436 ฝรั่งเศสได้ส่งเรือ“ลูแตง” เข้าจอดอยู่ที่หน้าสถานทูตฝรั่งเศส โอกุสต์ ปาวี กงสุลฝรั่งเศสประจำกรุงเทพฯ ได้ร้องขอให้รัฐบาลสยามยอมรับเขตแดนญวนว่าจรดถึงดินแดนฝั่งซ้ายเเม่น้ำโขง

กรมหลวงเทวะวงศ์ วโรปการ : ข้าพเจ้า กรมหลวงเทวะวงศ์ วโรปการ ขอแจ้งว่า รัฐบาลสยามได้คัดค้านและขอให้การปักปันเขตแดนถือเอาดินแดนที่ใครได้ปกครองอยู่ในเวลานี้เป็นเกณฑ์ แต่ถ้าทางฝรั่งเศสยืนยันได้ว่าญวนมีสิทธิอันชอบอยู่เพียงไร เกณฑ์นี้อาจเปลี่ยนแปลงได้

ฝรั่งเศสปฏิเสธไม่ยอมถอนเรือรบออกไปจึงได้เริ่มดำเนินการรุกล้ำเข้าไปในเขตแดนสยาม โดยการส่งเข้ายึดเมืองต่างๆ ซึ่งฝรั่งเศสใช้เหตุการณ์เหล่านี้เป็นข้ออ้างหรือข้อเรียกร้องในการกดดันฝ่ายสยาม “เมืองสมุทรปราการ” หรือ “เมืองปากน้ำ” คือจุดยุทธศาสตร์ของการออกสู่ทะเลจากเมืองท่าภายใน นอกจากสันดอนทรายที่เป็นปราการธรรมชาติแล้ว จำเป็นต้องมีเมืองด่านหรือเมืองป้อม

โปรดเกล้าฯ ให้เร่งรัดการก่อสร้างป้อมพระจุลจอมเกล้า ณ ตำบลแหลมฟ้าผ่า เมืองสมุทรปราการ โดยทรงพระราชทานเงินจำนวน ๑๐,๐๐๐ ชั่ง เป็นค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างป้อมและซื้ออาวุธประจำป้อม ปืนใหญ่อาร์มสตรอง ปืนเสือหมอบ พร้อมทั้งโปรดเกล้าฯ ให้ตระเตรียมป้อมแผลงไฟฟ้าบริเวณเมืองนครเขื่อนขันธ์ (พระประแดง)  ป้อมเสือซ่อนเล็บ และป้อมผีเสื้อสมุทร ไว้ให้พร้อมสรรพ จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันที่ 13 กรกฎาคม มีป้อมปราการทั้งหมดที่สร้างมาแต่เดิม และที่สร้างใหม่ 25 ป้อม รายรอบพระนคร และสมุทรปราการ หากไม่มีป้อมปราการเหล่านี้ ที่ตรึงกำลังไว้ ‘วิกฤติการณ์’ จะยิ่งเลวร้ายอย่างหนัก

วันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2436 เรือสลุปแองคองสตังค์ เรือปืนโคแมต และเรือลูแตง จึงได้ทำการหันปากกระบอกปืนใหญ่ไปทางพระบรมมหาราชวัง พร้อมกับที่ โอกุสต์ ปาวี ได้ยื่นคำขาดต่อรัฐบาลสยาม

“ให้สยามต้องเพิกถอนสิทธิเหนือดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงและเกาะต่างๆ

ให้สยามต้องรื้อถอนด่านทั้งหมดที่ตั้งอยู่บนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงภายใน 1 เดือน

ให้สยามจัดการปัญหาความเสียหายที่เรือรบฝรั่งเศสและชาวฝรั่งเศสได้รับจากการปะทะ

ให้สยามลงโทษเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบในการยิงปืนที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา

ให้สยามชดใช้ค่าเสียหายแก่ฝรั่งเศสเป็นเงิน 3 ล้านฟรังก์

สยามต้องตอบรับคำขาดภายใน 48 ชั่วโมงเท่านั้น”

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงตอบรับคำขาดของฝรั่งเศสในวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2436 โดยพระองค์ท่านทรงยอมรับเงื่อนไขของฝรั่งเศสทุกข้อ ยกเว้นข้อ 1 คือให้สยามต้องเพิกถอนสิทธิเหนือดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ส่งผลทำให้ฝรั่งเศสไม่พอใจสั่งถอนกองกำลังเรือรบทั้งสามลำออกจากกรุงเทพฯ ไปยึดเกาะสีชังไว้แล้วประกาศปิดล้อมอ่าวไทย เข้ายึดครองปากน้ำและเมืองจันทบุรีไว้เป็นประกันนานกว่า 10 ปี จนกว่าสยามจะส่งมอบดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงให้แก่ฝรั่งเศสโดยสมบูรณ์

เมื่อฝ่ายสยามยอมรับข้อเรียกร้องเพิ่มเติมของฝ่ายฝรั่งเศสแล้วการปิดล้อมอ่าวไทยจึงยุติลงในวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2436 หลังจากนั้นฝรั่งเศสจึงได้ส่งผู้แทนรัฐบาลเข้ามาเจรจาขอทำสนธิสัญญากับฝ่ายสยามเพื่อยุติกรณีพิพาท ร.ศ. 112

กรมหลวงเทวะวงศ์ วโรปการ : ในปี พ.ศ. 2436 (ร.ศ. 112) กรุงเทพมหานครถูกยึดครองเป็นเวลาถึง 12 วัน ด้วยกองเรือรบติดอาวุธของฝรั่งเศส อย่างหมดหนทางต้านทานจากฝ่ายไทย หากแต่การตัดสินพระทัยเพื่อสร้างป้อมปราการแห่งการปกป้องครั้งยิ่งใหญ่ คือการแลกการสูญเสียเพื่ออิสรภาพและเอกราชของชาติไทยไว้

เมื่อรัฐบาลไทยกับฝรั่งเศส ได้ตกลงทำสัญญาแบ่งปันดินแดนกันขึ้นใหม่ สัญญาลงวันที่ 23 มีนาคม ร.ศ. 125 โดยฝรั่งเศสยอมคืนเมืองตราดและเกาะ โดยรัฐบาลทั้งสองฝ่ายได้กำหนดว่าจะรับและส่งเมืองกัน ณ ที่จังหวัดตราด

กรมหลวงเทวะวงศ์ วโรปการ : รุ่งเช้าของวันที่ 6 กรกฎาคม เวลา 9.00 น. ทั้งสองฝ่ายแต่งกายเต็มยศมาพร้อมเพียงกัน พร้อมด้วยข้าราชการทหารตำรวจได้มาประชุมกัน ข้าหลวงฝ่ายฝรั่งเศสก็อ่านหนังสือมอบเมืองจังหวัดตราด ข้าหลวงฝ่ายไทยกล่าวคำรับเมืองแล้ว จึงให้ข้าหลวงไทยชัก ‘ธงช้างแดง’ ขึ้น เป็นสัญลักษณ์ว่าอิสรภาพกลับคืนมาอยู่กับสยามประเทศอีกครั้ง

 

 

การแสดงนิทรรศการมีชีวิต พื้นที่จัดแสดงงานที่ 4  ปากน้ำสมุทร หมุดหมายแห่งปราการ

ณ จุดนี้ที่อดีตได้จารึก
ปัจจุบันได้ บันทึก
เพื่ออนาคตได้ร่วมกันสานสร้างสำนึก
ด้วยสนธิสัญญา สู่ พันธะสัญญา
จากปากน้ำสมุทร หมุดหมายแห่งปราการ

กรมหลวงเทวะวงศ์ วโรปการ : จากจุดนี้มองออกไปยังปากน้ำอ่าวไทยใน วันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2436 ณ จุดที่เห็นอยู่นี้คือจุดที่เคยมีเรือรบฝรั่งเศสแล่นผ่านเข้ามา และได้เกิดสมรภูมิอันจารจารึกผนึกไว้บนน่านน้ำแห่งนี้ จงมองดูเหมือนดั่งเช่น ‘อดีต’ เคยมอง รับรู้เหมือนดั่งที่อดีตเคยสัมผัส เช่นเดียวกันกับทุกชีวิตที่ได้เคยมีลมหายใจ และผ่านเหตุการณ์ รศ.112 มา

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์พระโอรสพระองค์ที่ 28 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในขณะ เกิดเหตุการณ์ รศ.112 พระองค์ทรงมีพระชนมายุ 13 ชันษา

กรมหลวงเทวะวงศ์ วโรปการ : สำหรับ เด็ก ที่จะต้องเติบโตไปเป็นคนรุ่นต่อไปในอนาคต  ไม่ว่าใครก็ตาม หากได้ผ่านประสบการณ์ของการที่บ้านเมืองเกิดวิกฤต ย่อมฉุกคิดถึงสิ่งอันเป็นการสร้างสรรค์เพื่อประโยชน์อันจะเกิดแก่ชาติบ้านเมือง ที่จะต้องมีพันธะสัญญาในการร่วมดำรง รักษา เป็นเสมือนการร่วมเป็นดั่งป้อมปราการ สานต่อก่อความร่วมมือในการปกบ้านรักษาเมืองต่อไป

เมื่อกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ทรงมีพระชันษาได้ 13 ปี หลังจากที่ผ่าน ‘วิกฤติการณ์ รศ.112’ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ส่งเสด็จไปทรงศึกษาต่อ ณ ประเทศอังกฤษทันที ในปีเดียวกันนั้น พ.ศ. 2436 โดยได้ทรงเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนนายเรืออังกฤษ ต่อจากนั้นทรงศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยทหารเรือ โรงเรียนปืนใหญ่ และโรงเรียนตอร์ปิโด เมื่อพระองค์เสด็จกลับมา ทรงพัฒนาความเจริญรุ่งเรืองสู่กองทัพเรือและประเทศชาติ

กรมหลวงเทวะวงศ์ วโรปการ : ด้วยมุ่งหมายให้การปกบ้านป้องเมืองต่อไป ชาวไทย จะต้องรู้จักรักและพัฒนาตนให้เป็นเสมือนปราการปกป้องแผ่นดิน พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ทรงสักยันต์คำว่า “ตราด ร.ศ. ๑๑๒” ไว้ตรงพระอุระของพระองค์ท่านเพื่อเป็นการย้ำเตือนถึงวิกฤตการณ์ รศ .112 ที่เกิดขึ้นพระบรมรูปของพระองค์หันพระพักตร์ออกไปยังปากน้ำ และสายพระเนตร มองการณ์ไกลออกไปสู่อ่าวไทย  มองข้ามความบาดหมางในอดีต เพื่ออนาคตของความสัมพันธ์ใหม่ จากสัมพันธไมตรีที่ดี ที่จะเดินทางเข้ามาจากนานาอารยประเทศ เพื่อให้ทุกคนร่วมสร้างปราการเพื่อร่วมปกป้องกันและกัน.

ย่อหน้าสุดท้ายของคำบรรยาย ถอดความหมายจากสายพระเนตรออกมาได้เหมือนอ่านน้ำพระทัยของพระบิดาที่ทอดพระเนตรมายังพระโอรส หมดจดในพระประสงค์ของสองพระองค์ ที่ทรงมีต่อปวงชนชาวไทย … ทุกรอบของการแสดงในช่วงสุดท้ายทั้งผู้ชมและนักแสดงได้มารวมตัวกัน ณ อนุสาวรีย์พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์  ‘องค์บิดาของกองทัพเรือไทย’ ด้านที่ติดชายทะเลฝั่งตะวันออก เหล่านกนางนวลฝูงใหญ่โฉบเฉวียนเวียนมาร่วมยินดีกับเอกราชแห่งชาติสยาม ท่ามกลางความปิติตื้นตันของตัวแทนปวงชนชาวไทยที่ได้ร่วมอยู่ในบรรยากาศของนิทรรศการมีชีวิต ปิดท้ายด้วยการถ่ายภาพร่วมกัน ประหนึ่งจะให้คำมั่นกับบรรพบุรุษว่า เราสัญญาจะปกปักรักษ์แผ่นดินร่วมกันจนวันตาย

 

 

ละครสามแนว สามเรื่อง “ขอให้การพายเรือของเจ้าเที่ยวนี้…จงเป็นเที่ยวสุดท้าย” (นักเรียนล้วน) , “นาวาแห่งปราการ” (นักเรียนร่วมกับนักแสดงมืออาชีพ) และ “จากปากน้ำสู่ปราการ” (นักแสดงมืออาชีพร่วมกับทหารเรือ) ศิลปะการแสดงทั้งสามเรื่องนี้ถูกใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารประกอบการสร้างงานบูรณาการร่วมกันในรูปแบบของนิทรรศการแนวใหม่ “Live Exhibition” สร้างสรรค์โดยไม่มีเกณฑ์วัดเพื่อจัดรางวัลหรือแบ่งชั้นการทำงาน มีเพียงปณิธานเพื่อพัฒนาลูกหลานของสมุทรปราการให้เติบโตเต็มตามวุฒิภาวะของแต่ละคน ด้วยประสบการณ์จากกิจกรรมการทำงานใน ‘เทศกาลปราการฯ’ อย่างคนที่มีอุดมการณ์ ‘สร้างบ้านแปลงเมือง’ ปรารถนาเป็นฟันเฟืองเพื่อความรุ่งเรืองประเทืองประเทศตามแบบประเภทของพลเมืองตื่นรู้ (Active Citizen) โดยมีผู้นำให้การสนับสนุนอย่างถูกทิศตามแนวทางของ Festival Economy ในปีหน้า (2025)/2568 สามหน่วยงานหลักทั้ง มูลนิธิหุ่นสายเสมา  พิพิธภัณฑ์ทหารเรือ และ TCEB  ยังคงเป็นเสาหลักให้นักพัฒนาทุกสาขาได้มาร่วมกันสร้างสานต่อยอดจากฐานที่ก่อไว้ให้มั่นคงยิ่งขึ้น และต่อเนื่องไปในทุกปีอย่างมีเป้าหมาย เพื่อขยายเจตจำนงดำรงอธิปไตยของคนไทยในการ ‘ปกบ้านป้องเมือง’ ร่วมกันต่อไปทั้งในปัจจุบันและอนาคต.

 

 

เพลง “สุดแผ่นดิน”[10]
คำร้อง-ทำนอง :  ส.ต.พรเลิศ สารานิยคุณ
บรรเลงโดย ดุริยางค์กองทัพบก

 

สุดดินคือถิ่นน้ำ เขตคามไทยสุดแนว
เราถอยไปไม่ได้อีกแล้ว
ผืนดินสิ้นแนว ทะเลกว้างใหญ่
ชาติไทยในเก่ากาล ถูกเขารานย่ำใจ
เคยเสียน้ำตามากเพียงไหน
เสียเนื้อเลือดเท่าไร ชาวไทยจำได้ดี
เราถอยมาอยู่แสนไกล รวมเผ่าไทยอยู่อย่างเสรี
พระสยามทรงนำโชคดี
ผืนดินถิ่นนี้ คือแผ่นดินทอง
ไม่มีที่แห่งไหน ให้ไทยไปจับจอง
เราถอยไปไม่ได้พี่น้อง
ใครคิดมาแย่งครอง ผองไทยจงสู้ตาย.

 

ขอขอบคุณ ภาพ และ วีดิทัศน์ โดย พิพิธภัณฑ์ทหารเรือ (NAVAL MUSEUM)

ขอขอบคุณ ภาพ และ วีดิทัศน์ โดย PRAKAN FESTIVAL 2024

ขอขอบคุณ ผู้ประพันธ์บทละคร “จากปากน้ำสู่ปราการ” โดย นิมิตร พิพิธกุล

 


[1]   Creative Economy, nxpo.or.th, สืบค้น 25 มีนาคม 2567 https://www.nxpo.or.th/th/9440/

[2] ทีเส็บเดินหน้าขับเคลื่อนงานเทศกาลไทยสู่เวทีโลก, businesseventsthailand.com, สืบค้น 25 มีนาคม 2567 https://www.businesseventsthailand.com/th/press-media/news-press-release/detail/1591-tceb-propels-thai-festivals-onto-global-stage

[3] Mice City, rfs.businesseventsthailand.com, สืบค้น 28   มีนาคม 2567 https://www.businesseventsthailand.com/index.php/th/press-media/news-press-release/detail/1088-mice-is-the-new-definition-of-event-

[4] “MICE” อุตสาหกรรมไมซ์ นิยามบทใหม่แห่งการสร้างสรรค์งานอีเวนท์, businesseventsthailand.com, สืบค้น 25 มีนาคม 2567 https://www.businesseventsthailand.com/index.php/th/press-media/news-press-release/detail/1088-mice-is-the-new-definition-of-event-

[5] Startup คืออะไร?, airafactoring.co.th, สืบค้น 25 มีนาคม 2567 https://airafactoring.co.th/knowledge_hub/startup-สตาร์ทอัพ-คืออะไร-แตกต/

[6] Business Sector, businesseventsthailand.com, สืบค้น 25 มีนาคม 2567 https://www.businesseventsthailand.com/uploads/image_file/file/230214-file-1GOQF8YCT.pdf

[7] Sport Mass Participation,  Public_Hallmark-Policy, rfs.businesseventsthailand.com, สืบค้น  25 มีนาคม 2567 https://rfs.businesseventsthailand.com/SwiftApply/media/source/Termsandconditions/Public_Hallmark-Policy_Sport-Mass-Participation.pdf

[8]  FINTECH, cimbthai.com, สืบค้น 25 มีนาคม 2567, https://www.cimbthai.com/th/personal/blog/business-maker/fintech.html

[9] MONEY 20/20 ASAI, thereporter.asia,  สืบค้น 25 มีนาคม 2567 https://thereporter.asia/2024/03/money20-20-asia/

[10] เพลง “สุดแผ่นดิน”, เพื่อชาติ แผ่นดินไทย, สืบค้น 25 มีนาคม 2567 https://youtu.be/maXMl1m-REA?si=kb4r-swLs0YNmwu2