ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ศิลปะ-วัฒนธรรม

พุทธธรรม นำพุทธศิลป์ ในพุทธศาสนา Thailand Biennale, Chiang Rai 2023

27
กุมภาพันธ์
2567

Focus

  • เทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ ‘เชียงรายเบียนนาเล่’ (Thailand Biennale, Ching Rai 2023) (9 ธันวาคม 2566 - 30 เมษายน 2567) ที่ จ. เชียงรายเป็นเจ้าภาพ ได้ให้โอกาสแก่กลุ่มศิลปินในการจัดนิทรรศการต่างๆ ณ สถานที่แสดงในหลายอำเภอของจังหวัด ในฐานะที่จังหวัดนี้ได้รับการประกาศยกย่องให้เป็นหนึ่งในเมืองศิลปะ
  • ณ ศูนย์วิปัสสนาสากล ไร่เชิญตะวัน ต. ห้วยสัก อ. เมือง จ. เชียงราย มีงานแสดงศิลปะจัดวาง (Installation Art) ของอาจารย์ทรงเดช ทิพย์ทอง 5 ห้อง ให้ผู้เยี่ยมชมได้สัมผัส อันได้แก่ ห้องที่ 1: “เชื่อ” ในเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือไสยศาสตร์ ห้องที่ 2:  “ศรัทธา” ความเชื่อความศรัทธาในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ห้องที่ 3: “เห็น” แสดงถึงปัญญาที่ผู้คนเข้าถึงแก่นแท้ของพุทธะ ห้องที่ 4 : “รู้” แสดงถึง ‘พุทธ’ คือ ‘ธรรมชาติ’ และห้องที่ 5: “รู้สึก”  เป็นห้องที่ว่างเปล่าที่ไม่มีสิ่งอื่นใดจัดแสดง แต่มีตัวเราเมื่อเท้าสัมผัสก้อนกรวดที่ให้ความรู้สึกว่าตนเป็นที่พึ่งของตนในการพ้นทุกข์
  • งานศิลปะดังกล่าว คือ “ขัวศิลปะ” อันหมายถึง สะพานที่จะเชื่อมศิลปะสู่สังคม โดยเป็นงานศิลปะที่สามารถร่วมมือกันระหว่างศิลปินในประเทศและต่างประเทศ สมควรที่รัฐบาลจะสนับสนุนให้เติบโตและสร้างคุณค่าแก่สังคม เช่น การลดหย่อนภาษีงานศิลปะ การกำหนดให้การก่อสร้างตึกมีพื้นที่ของศิลปะ และส่งเสริม “อาชีพศิลปิน” เป็นต้น

 


Photo : Wanchai Phutthawarin

 

ท่ามกลางกระแสท้องถิ่นนิยมถาโถมโหมกระเพื่อมเพราะคลื่นความตื่นตัวของเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ ‘เชียงรายเบียนนาเล่’ (Thailand Biennale, Ching Rai 2023) ที่ถูกจัดให้เปิดงานตรงกับช่วงเทศกาลท่องเที่ยวประจำปีของจังหวัดเชียงราย ปลุกใจคนรักศิลปะและนักท่องเที่ยวทั้งไทย-เทศต่างพาเหรดไปรวมกันในพื้นที่จัดแสดงงานโดยไม่ได้นัดหมาย เพื่อชมผลงานจากศิลปิน 60 ชีวิตจากทั่วโลก โดยเฉพาะนิทรรศการหลักในเขตอำเภอเมืองกระจายถึง 10 จุด และอีก 2 พื้นที่กิจกรรมพิเศษ, 8 จุด ในเขตอำเภอเชียงแสน และอีก 13 Pavillion จุดแสดงงานชั่วคราว รวมดาวกระจายอยู่ในเขตพื้นที่ 4 อำเภอ ทุกจุดมีกิจกรรมนำความรู้ความรื่นรมย์มาเรียกคะแนนนิยมไม่ได้ขาดสายภายหลังการเปิดงานผ่านไปสองเดือน (เปิดงานอลังการสมศักดิ์ศรีเมืองศิลปะเมื่อ 9 ธันวาคม 2566) หนึ่งในสถานที่แสดงงานซึ่งรวมศิลปะและศิลปินหลายแขนงแข่งกันเด่นคือ ศูนย์วิปัสสนาสากล ไร่เชิญตะวัน ตำบลห้วยสัก เขตอำเภอเมือง เดิมก็เป็นเสมือนศูนย์พุทธศิลป์ประจำจังหวัดเชียงรายอยู่แล้ว วาระสำคัญนี้มีศิลปินสร้างงานเพิ่มขึ้น 6 ท่าน กับอีก 2 กลุ่ม ทั้งไทยและต่างประเทศ แบ่งเขตจัดแสดงงานได้เหมาะสมลงตัวกับแนวคิดพุทธศิลป์รวม 8 จุด ภายในบริเวณพื้นที่ 17 ไร่ ประชาชนคนรักศิลปะหลากไหลไปชมไม่ขาดสายมากมายกว่าปกติทุกวัน

หนึ่งในผลงานเด่นที่จัดแสดง ณ ไร่เชิญตะวัน ที่ได้รับความสนใจจากผู้เข้าชมสูงมาก คืองานศิลปะจัดวาง (Instalation Art) 5 ห้อง ของ อาจารย์ทรงเดช ทิพย์ทอง จองเรือนพักรับรองแขกพิเศษของ ท่าน ว. (พระอาจารย์เมธีวชิโรดม ผู้ก่อตั้งศูนย์วิปัสสนาฯ) ออกแบบให้เป็นหอศิลป์ชั่วคราวเข้มขลังด้วยพลังพุทธศิลป์ร่วมสมัย ถึงนิทรรศการมีวิทยากร (Docent) คอยให้ความรู้กับทุกคนที่สนใจประจำจุด เช่นเดียวกับทุกจุดในงานเบียนนาเล่ แต่อาจารย์ยังยอมขับรถไกลจากบ้านมาประจำการไม่ได้ห่าง แม้ต้องเดินทางกว่า 60 กิโลเมตรแทบทุกวันก็ไม่หวั่น เพราะให้ความสำคัญกับทุกคณะและทุกคนที่เข้าเยี่ยม ยินดีต้อนรับนำชมและบรรยายพิเศษด้วยตัวเองอย่างเปี่ยมพลัง เช่นเดียวกับผลงาน “ที่พึ่ง” (Sanctuary 2023) ซึ่งดึงดูดคนรักงานศิลปะให้ไปใช้เวลาเสพศิลป์ สดับยินคำถามจากภายในตัวตนว่า ที่ผ่านมา…เราต่างท่องล่องเวลาชีวิตไปถึงไหน หนึ่งใน 5 ห้องนั้น … คือสารสำคัญยืนยันสื่อ ส่งตรง และตักเตือน ผู้มาเยือนทุกชีวิต…

 


"ที่พึ่ง" ห้องที่ 2 “ศรัทธา” - Photo : สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย

 

อาจารย์ทรงเดช ทิพย์ทอง[1] ศิลปมหาบัณฑิต สาขาศิลปไทย มหาวิทยาลัยศิลปากร กรุงเทพ ฯลฯ จิตรกร ปฏิมากร ผู้สร้างงานพุทธศิลป์เป็นพุทธบูชา อดีตนายกสมาคมขัวศิลปะ ปี 2559-2560, อาจารย์ประจำสาขาวิชาพุทธศิลปกรรม วิทยาลัยสงฆ์เชียงราย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ผู้ก่อตั้ง หอศิลป์ทรงเดช ทิพย์ทอง,  ผู้ออกแบบหลักสูตรพุทธศิลปกรรม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ล่าสุดได้รับ รางวัลที่ 1 เหรียญทองบัวหลวง ประเภทจิตรกรรมแบบประเพณี ครั้งที่ 22 ฯลฯ

 


“ที่พึ่ง” ห้องที่ 1 “เชื่อ” - Photo : สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย

 

ผลตอบรับจากประชาชนที่มาชมงาน เบียนนาเล่เชียงราย ตลอด 2 เดือนที่ผ่านมาเป็นยังไงบ้างคะอาจารย์

อาจารย์ ทรงเดช : สำหรับผมถือว่าดีมากจนเกินคาด เราก็คาดหวังไว้นะ แต่ไม่คิดว่ามันจะถึง แต่มันถึง คนมาหรือความสนใจของผู้คนมันเยอะ เยอะมาก แรกเราหวังแต่ก็แอบเผื่อใจไว้ผิดหวังแต่กลายเป็นว่าสิ่งที่เราหวังมันได้ตามนั้น คนที่มาดูงานทั้งคนในจังหวัดหรือที่มาจากไกลๆ ผมมักจะถามว่ามาหาพระอาจารย์ ว. หรือมาดูงาน เบียนนาเล่ ส่วนมากมาดูงานเบียนนาเล่ ไม่ใช่มาแถวนี้แล้วแว็บเข้ามาแบบนี้ มีเหมือนกันแต่น้อย คนที่มุ่งมาตระเวนดูหลายจุดไป เชียงแสน หอศิลป์ใหม่ ไร่แม่ฟ้าหลวง เราชวนคุยเขาจะเล่าให้ฟังไปจุดไหนกันมาแล้วบ้าง

ระหว่างคนในพื้นที่กับต่างจังหวัดดูจะเหลื่อมๆ กันอยู่ เพราะคนในพื้นที่ก็มีมาอย่างไม่น่าเชื่อ ซึ่งปกติการแสดงงานศิลปะของเชียงรายจะไม่ค่อยมาดูกัน ยิ่งชาวบ้านนี่จะไม่รู้เรื่องไม่สนใจเลย “ขัวศิลปะ” เปิดมา 10 ปี นั่งเฝ้างานไม่เคยมีคนจากต่างอำเภอมาดู จะมีก็พวกเดียวกัน คนที่ชอบศิลปะ ส่วนใหญ่จะมาเฉพาะวันเปิด ถ้าในพื้นที่ก็เป็นคนพวกเดียวกันคือรู้จักกันอยู่แล้ว จะมีทัวร์นักเรียนบ้างก็เป็นปกติ แต่นี่เป็นชาวบ้านมาจากต่างอำเภอ คือเขารู้จักเบียนนาเล่ แล้วตามมาดู อยากดูงานศิลปะที่ไร่เชิญตะวัน ถือว่าพิเศษมากสำหรับผม เกินคาดไม่คิดว่าจะขนาดนี้ครับ นักเรียนแทบทุกโรงเรียนในจังหวัดทยอยมาเยอะขึ้นเรื่อยๆ

รัฐบาลควรมีงบสนับสนุนให้โรงเรียนพานักเรียนมาทัศนศึกษา เพราะการนำนักเรียนมามีค่าใช้จ่าย ทั้งค่ารถ ค่าอาหารกลางวัน เพราะบางงบในระบบราชการที่ขอไม่ได้เขียนไว้ก็จะยากนะ มันนอกเหนือจากงบที่เขียนขอล่วงหน้าไว้เป็นปี บางทีเขียนไปแล้วแก้ไขเพิ่มไม่ได้ อาจทำให้ครูนักเรียนเสียโอกาส

 


Chiangrai Art Carnival : Photo : สำนักงานส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย

 

“ชาวบ้าน ชุมชน ทุกคนเป็น Artist ร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัด Thailand  Biennale, Chiang Rai 2023” ศาสตราจารย์ ปรีชา เถาทอง[2] ศิลปินแห่งชาติ กล่าว : ปรากฏการณ์ที่เกิดยืนยันแนวคิดนี้ชัดเจน อาจารย์คิดว่าอะไรทำให้เกิดกระแสนี้คะ

อาจารย์ ทรงเดช : ผมว่าจุดที่อาจารย์เฉลิมชัยทำขบวนแห่ 18 อำเภอ (“Chiang Rai Art Carnival 2023” ในวาระวันแถลงข่าวเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2566)[3]  ได้ผลมากครับ ทำให้ชาวบ้านทุกอำเภอรู้จักงานเบียนนาเล่ รู้สึกมีส่วนร่วม แล้วอยากเห็นว่าเป็นยังไงซึมซับเข้าไปสู่ชาวบ้าน ฝังเข้าไปในใจคนเชียงรายทุกหย่อมหญ้าทุกภาคส่วน ทำให้คนในจังหวัดสนใจมาดูงานเพราะภูมิใจในสิ่งที่ตัวเองได้มีส่วนร่วม หรือรู้สึกว่ามันเป็นงานของเขา เขาได้เป็นเจ้าภาพ อยากเห็นว่ามันคืออะไร การโปรโมทว่าเป็นผลงานศิลปินระดับโลก หาดูยาก ยากที่จะเกิดขึ้น ไม่มีอีกแล้ว ไม่รู้อีกกี่ปีถึงจะเวียนมาเชียงราย ร้อยกว่าปีไม่มีโอกาสได้เห็นในเชียงรายอีกแล้ว

สิ่งที่ทำให้คนต่างจังหวัดมาคือ ตัวงาน ศิลปินที่มาแสดงกับศักยภาพ ความดัง หรือความน่าสนใจของตัวงาน หรือว่าภัณฑารักษ์ (อาจารย์ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช) กับทีมงานแข็งแรงสามารถเชิญศิลปินชื่อเสียงระดับโลกจริงๆ มาร่วมงาน คนไทยก็เป็นศิลปินที่มีชื่อเสียงจริงๆ เช่น คุณเจ้ย (อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล) ตอนฉายหนังที่แม่มะ ดาราฮอลลีวู้ดมาเลย เสวนาที่ อบจ.เชียงราย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ก็มา คนระดับปัญญาชนซื้อตั๋วเครื่องบินมาเลย พรึ่บเดียวที่นั่งเต็มช้าเข้าไม่ได้ ไม่เคยมีปรากฏการณ์นี้แม้ทำในกรุงเทพฯ ก็ยังไม่เคยเห็นเลยครับ

 


พระเมธีวชิโรดม (ท่าน ว.) , ภัณฑารักษ์ อังกฤษ อัจฉริยโสภณ และ อาจารย์ทรงเดช ทิพย์ทอง
Photo : ศูนย์วิปัสสนาสากล ไร่เชิญตะวัน

 

ก่อนเข้าไปถึง “ที่พึ่ง” 5 ห้อง พุทธศิลป์จัดวาง ทางนำสู่นิพพานมีงานศิลป์ ‘ตุงล้านนา’ ปักประดับนำมาตั้งแต่ซุ้มประตูทางเข้า ล้อมรอบอาคารพราวรุ่ง และทางเดินภายในสู่ห้องต่างๆ อย่างงดงาม

อาจารย์ ทรงเดช : ความหมายของ ‘ตุง’ ส่วนมากจะสร้างขึ้นเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาเหมือนเป็นบันไดในการช่วยให้เราได้หลุดพ้นจากทุกข์ภัย ความยากลำบาก ทำให้เรามีชีวิตที่ดีขึ้นหรืออุทิศไปให้ผู้ล่วงลับหากตกอยู่ในนรกก็จะช่วยให้ได้เกาะหางตุงหลุดพ้นขึ้นมาได้ ประเพณีที่ใช้ตุงชัดเจนที่สุดคือ ‘งานปอยหลวง’ จะมีการปักตุงอยู่ตั้งแต่หัวหมู่บ้านไปจนถึงท้ายหมู่บ้าน คนเหนือเป็นอันรู้กันว่าในหมู่บ้านนี้จะมีงานปอยหลวงหรือการเฉลิมฉลองถาวรวัตถุขนาดใหญ่ที่สร้างขึ้นเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาภายในวัด

 


ประตูทางเข้าจุดแสดงงาน “ที่พึ่ง” - Photo : Thai Art by Songdej Thipthong

   

ในงานชุด “ที่พึ่ง” มีการใช้ตุงประดับตกแต่งเป็นทิวแถว ตั้งแต่ทางเข้าไปจนถึงอาคารที่แสดงงาน เพื่อนำอัตลักษณ์ความเป็นพื้นถิ่นมาแสดงออกให้สอดคล้องกับสัญลักษณ์ของงาน Thailand Biennale 2023 (เปิดโลก) ครั้งนี้ เปรียบเสมือน ‘งานปอยหลวงศิลปะ’ (ปอยหลวง[4] คืองานบุญใหญ่ในประเพณีของศาสนาพุทธ วาระเฉลิมฉลองศาสนสมบัติเพื่อให้เกิดอานิสงส์แก่ตน ครอบครัว และอุทิศส่วนกุศลแก่บรรพบุรุษฯ) โดยออกแบบตุงขึ้นมาใหม่เป็นลวดลายของสัญลักษณ์ต่างๆ ตามเนื้อหาของ 5 ห้อง ที่ได้จัดสร้างขึ้นตามความเชื่อของการนับถือพระพุทธศาสนาเป็นที่พึ่งของชาวไทย ตุงฉลุลวดลายลงบนผืนผ้าเป็นรูปต่างๆ คือ

 

1. ท้าวเวสสุวรรณและพระพิฆเนศ เพื่อสะท้อนความเชื่อความศรัทธาที่มีต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา ทั้ง 2 ลายใช้ สีดำ, สีแดงเข้ม และสีแดงสด เป็นสีของตุงเพื่อสะท้อนความเชื่อในอำนาจมนต์ดำ อิทธิฤทธิ์ความศักดิ์สิทธิ์ โชคลาภ

 


Photo : ศูนย์วิปัสสนาสากล ไร่เชิญตะวัน

 

2. พระปางมารวิชัย ที่ล้อมรอบด้วยลวดลายพญานาคและราหู ลายนี้ใช้สีแดงเข้มและสีขาวธรรมชาติ เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความศักดิ์สิทธิ์ อิทธิฤทธิ์ ความเป็นมงคล ความศรัทธาในพระพุทธพระเจ้า นำไปสู่การความสงบและการเห็นธรรม

 


Photo : ศูนย์วิปัสสนาสากล ไร่เชิญตะวัน

 

3. ลายพระพุทธเจ้าเปิดโลก ใช้ผ้าสีขาวธรรมชาติและสีขาวบริสุทธิ์ เพื่อให้เห็นถึงการเห็นธรรมและเข้าใจในธรรมะของพระพุทธเจ้า

 


Photo : ศูนย์วิปัสสนาสากล ไร่เชิญตะวัน

 

4. ลายต้นโพธิ์และใช้สีขาวธรรมชาติและสีขาวบริสุทธิ์ เพื่อแสดงความรู้สึกการเข้าใจในธรรมะ คือรู้และเข้าใจสัจธรรมชาติ อันเป็นหลักการปฏิบัติที่นำทางไปสู่การพ้นทุกข์และความว่าง

 


อาคารพราวรุ่ง จุดแสดงงาน “ที่พึ่ง” -  Photo : Art Parkpoom Teng

 


พญาครุฑ ผลงานของ อาจารย์สุวัฒน์ แสนขัตติยรัต ด้านหน้าอาคารพราวรุ่ง

 

ด้านหน้าอาคารพราวรุ่งสถานที่จัดแสดงงานเป็นประติมากรรมรูปพญาครุฑ

อาจารย์ ทรงเดช :  พญาครุฑเป็นผลงานของ อาจารย์สุวัฒน์ แสนขัตติยรัต ศิลปินรุ่นน้องผมที่เสียชีวิตไปแล้ว ทางญาติเลยนำเงินมาสร้างเรือนหลังนี้ชื่อว่า ‘อาคารพราวรุ่ง’ (เรือนรับรอง 5 ห้อง ณ ไร่เชิญตะวัน ที่ใช้ในการจัดแสดงงาน “ที่พึ่ง”) เพื่อทำบุญอุทิศให้อาจารย์สุวัฒน์ แล้วนำพญาครุฑผลงานของอาจารย์สุวัฒน์มาตั้งถาวรไว้ด้านหน้าอาคาร ผมนำเครื่องสักการะมาไหว้เหมือนกับให้พื้นที่ทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งของงานรวมทั้งพญาครุฑที่อยู่ด้านนอก ไม่ได้รวมไว้ในห้องแต่ก็สะท้อนถึงความเชื่อความศรัทธาเหมือนกัน หลัง 30 เมษายน 2567 สิ้นสุดงานเชียงรายเบียนนาเล่ พญาครุฑยังอยู่แต่ห้องต้องรื้องานปรับคืนกลับสภาพเดิมครับ

 


“ที่พึ่ง” ห้องที่ 1 “เชื่อ” - Photo : Chaisit Aphichatphornsakul

 

นิทรรศการพุทธศิลป์ “ที่พึ่ง” (Sanctuary 2023) แบ่งออกเป็น 5 ห้อง จัดแสดงให้เห็นถึง ‘ที่พึ่ง’ ของคนไทยที่เป็นอยู่จริงในสังคม ซึ่งสอดคล้องเชื่อมโยงกับแนวคิด “เปิดโลก” (Open World - แมงสี่หู ห้าตา สัตว์ในตำนานของชาวล้านนา จำนวนสี่หูและห้าตาแสดงถึงหลักธรรมทางพุทธศาสนาคือ พรหมวิหาร 4 และศีล 5 เป็นการให้คติแก่พุทธศาสนิกชนให้พึงรักษาและปฏิบัติหลักธรรม) ของ Thailand Biennale, Ching Rai 2023 เป็นการเปิดมิติของความเชื่อและความศรัทธา

  • ห้องที่ 1 ชื่อ “เชื่อ” สื่อสารถึงเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือไสยศาสตร์ ไม่มีพระพุทธรูป หรือความเป็นพุทธะอยู่เลย มีเพียงพระพิฆเณศร ท้าวเวสสุวรรณ ตั้งอยู่ภายในห้อง มีการจัดวางที่ให้ความรู้สึกประหนึ่งอยู่ในเทวสถาน มีการเสี่ยงเซียมซี ขอพรและโชคลาภต่างๆ สะท้อนความเป็นจริงในสังคมไทยที่มีมาช้านานแต่โบราณกาล
  •  ห้องที่ 2 ชื่อ “ศรัทธา” ความเชื่อความศรัทธาในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ด้วยการสวดมนต์อ้อนวอนร้องขอ สื่อด้วยรูปเคารพของพระพุทธเจ้า (พระจักรพรรดิ) สร้างบรรยากาศจำลองใกล้เคียงกับห้องที่ 1 ให้อารมณ์ความรู้สึกถึงการนับถือพุทธะแบบเทวนิยม
  •  ห้องที่ 3 ชื่อ “เห็น” ลดทอนความเป็นพุทธะลง บรรยากาศสะอาด สว่าง และสงบ แสดงถึง ปัญญา ต้องการสื่อสารให้ผู้คนเข้าถึงแก่นแท้ของพุทธะ ใช้เทคนิคการฉลุแผ่นสแตนเลสและปิดทองคำเปลว
  • ห้องที่ 4 ชื่อ “รู้” เป็นภาพจิตรกรรมสีอะคริลิก รูปต้นโพธิ์ ท่ามกลาง ความสงบเงียบ เป็นแนวคิดของความเชื่อที่ ‘เลย’ สัญลักษณ์ของพุทธะ หรือรูปเคารพใดๆ  สื่อให้ผู้คนเข้าใจว่าแท้จริงแล้ว ‘พุทธ’ คือ ‘ธรรมชาติ’ หรือมีนัยยะว่า ‘พระพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมชาติ’ และให้คนเข้าใจหลักกฎเกณฑ์ในธรรมชาติทุกอย่าง
  •  ห้องที่ 5 ชื่อ “รู้สึก”  ห้องสุดท้ายเป็นห้องที่ว่างเปล่า เข้าความหมายว่า แท้จริงแล้วตัวเราคือที่พึ่งของตัวเอง ไม่ว่าเราจะรู้สึกทุกข์หรือสุขขึ้นอยู่กับเราคนเดียว พื้นปูด้วยหินสีขาว เพื่อให้รู้สึกตัวขณะเหยียบเดินเข้าไปในห้อง มีเบาะสีขาววางไว้กึ่งกลาง เพื่อให้คนที่เข้ามานั่งสมาธิหรือทำกิจกรรมเจริญสติ และเกิดสภาวะจิตที่ว่างและสงบ ณ ห้วงเวลานั้น

 


“ที่พึ่ง” ห้องที่ 1 “เชื่อ”  - Photo : Chaisit Aphichatphornsakul

 

งานศิลปะ “ที่พึ่ง” มีทั้งหมด 5 ห้อง สังเกตคนดูชอบไปห้องไหนมากกว่ากันคะ

อาจารย์ ทรงเดช : มาถึงเขาก็เห็นสองห้องแรกที่เปิดกว้างก่อน สะท้อนความจริงของการนับถือพุทธในเมืองไทย สองห้องนี้คนจะอยู่เยอะ ห้องที่ 1 รวมทั้งพราหมณ์ ฮินดู ที่ตามวัดไทยต่างๆ เปิดรับเอาไปเป็นสิ่งชูโรงเป็นจุดขายของวัด ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่ศาสนาพุทธ มีแทบทุกวัดเลยตอนนี้ วัดไหนอยากได้คนเข้าก็ต้องปั้นท้าวเวสสุวรรณ ต้องทำพระพิฆเนศเพื่อดึงคนด้วย

อีกวัดคือแบบห้องที่ 2 ซึ่งเป็นพุทธไม่มีพราหมณ์ ฮินดู ผมมองว่าเราชูพุทธศาสนาแบบพราหมณ์ ฮินดู แบบสิ่งศักดิ์สิทธิ์แบบเทพเจ้า คือพระแทบทุกวัดเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เราไปวัดแทบจะนึกไม่ออกว่าอริยสัจสี่ ความว่าง เป็นยังไง วัดบ้านเราไม่มีลักษณะนี้ มีแต่วัดที่ทำพิธีกรรม นับถือพระแบบเทพ พระพุทธรูปกลายเป็นเทพเจ้า กลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ถูกตั้งชื่อขึ้นมาใหม่ ทั้งที่องค์นั้นเป็นพระโคตม (พระโคตมพุทธเจ้า ศาสดาของศาสนาพุทธ) ท่านกำหนดว่าพระพุทธมีหลายองค์จำนวนเท่าเม็ดทราย แต่สัญลักษณ์ที่เราทำกันอยู่ในทุกวันนี้เป็นตัวแทนของ ‘พระโคตมโรดม’ คือเป็นพระพุทธเจ้าองค์ที่ 4 ซึ่งมาตรัสรู้ให้เราได้ศึกษาธรรมะกัน) แต่เราก็ตั้งชื่อใหม่ อย่างพระพุทธชินราช เป็นพระโคตมหรือเปล่า? หรือหลวงพ่อโสธร ก็มีอีกชื่อหนึ่ง เหมือนเป็นอีกองค์หนึ่ง ทั้งที่สององค์นี้คือพระพุทธเจ้าโคตมแต่ถูกแยกออกไปตั้งชื่อเป็นสมมุติเทพ เหมือนไม่ใช่โคตม ไม่ใช่พุทธพาณิชย์นะ แต่เป็นการนับถือพระแบบเทพเจ้า สองห้องนี้อยากตั้งคำถามทั้งพระทั้งคนที่นับถือว่า “คุณมองพุทธศาสนาประมาณไหน?”

 


อ.ทรงเดช ทิพย์ทอง : “ที่พึ่ง” ห้อง 1 - Photo :  Kawinporn Charoensri

 

อาจารย์เชื่อเรื่อง ดวง โชคชะตา กับ คำทำนาย รึเปล่าคะ สามคำนี้แตกต่างกันอย่างไรในทางที่มีผลต่อคนเราคะ

อาจารย์ ทรงเดช : จริงๆ จุดเริ่มต้นก็ไม่ได้เป็นเรื่องดวงหรือโชคชะตาอยู่แล้ว ผมเป็นคนชอบไปทำบุญกับยาย เชื่อในบุญเชื่อในการทำดีแล้วได้ดี พอมาศึกษาธรรมะมากขึ้น พระหลายรูปก็ปฏิเสธเรื่องนี้ จึงทำให้ไม่ได้เชื่อเรื่องดวงหรือโชค แต่ก็ไม่ได้ปฏิเสธ และมีความสนใจเกี่ยวกับคนที่เชื่อว่าทำไมเขาถึงเชื่อ แล้วได้เห็นกลุ่มที่เชื่อปฏิบัติเหมือนกับเขาดีขึ้นพบความสำเร็จและทำให้ชีวิตเขาดีขึ้น เหมือนกับคนที่เชื่อเรื่องผีเขาก็มักจะมีเรื่องเล่า ได้พบได้เห็นอยู่ตลอด ส่วนตัวผมก็ไม่ได้ปฏิเสธว่าผีไม่มีแต่ก็ไม่ได้เชื่องมงายว่ามันมีผีจริงๆ แบบในหนัง

พอเราศึกษาอะไรเยอะๆตอนนี้เชื่อเหมือนเป็นพลังงานบางอย่าง ความเชื่อต่างๆมันเหมือนกับพลังงาน เป็นพลังงานความดีพลังงานความชั่ว การคิดดีกับการคิดไม่ดี มันจะนำสิ่งที่เราคิดรู้สึกเกิดขึ้นกับตัวเรา ตัวอย่างทางกายภาพแบบหยาบๆการนำตัวเองไปในสถานที่ที่ไม่ดีหรือนำไปในสถานที่ที่ดี เราก็จะได้พบกับสิ่งนั้นๆ  ความคิดความรู้สึกก็น่าจะเป็นแบบนั้น หากเราคิดเรารู้สึกไปในทางที่ดี สิ่งดีๆ ก็จะเข้ามาหาหรือเกิดขึ้นกับตัวเราแบบง่ายๆ หรืออย่างประหลาด หากเราคิดไม่ดีมันก็จะพาเราจมดิ่งไปในสู่ห้วงแห่งความไม่ดีและพาสิ่งที่ไม่ดีเข้ามาหาเรา

เหมือนบางคนเวลาทำอะไรก็จะเจอแต่ปัญหาหรือมีแต่อุปสรรค ไม่รู้ว่าคิดแบบนี้จะเรียกว่าเชื่อหรือไม่เชื่อ เชื่อในสิ่งที่เรียกว่าบุญเก่าแบบว่าเราเห็นบางคนเขาเกิดมาเพื่อเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้จริงๆ มันเหมือนเป็นพรสวรรค์ที่ติดตัวมาสามารถทำอะไรได้ดีกว่าคนอื่นๆ โดยที่ไม่ต้องฝึกอะไรมากมาย เช่นบางคนความจำดีอ่านหนังสือรอบเดียวก็จำได้เกือบทั้งหมด บางคนความจำไม่ดี ต้องอ่านหลายๆ รอบถึงจะจำได้ บุญใหม่เหมือนพรแสวงคือสิ่งที่พยายามเปลี่ยนแปลงฝึกฝนจนชำนาญ ทำได้ดีเท่าหรือดีกว่าคนที่มีพรสวรรค์เชื่อว่ามันมีและเหมาะสำหรับคนที่เชื่อ

แต่เราเชื่ออีกแบบ คิดว่าแบบที่เราเชื่อเหมาะกับเรา ทำให้เรามีความสุขและพบในสิ่งที่ดี เชื่อในพลังความคิดความตั้งมั่นการอธิษฐาน แต่เราไม่ได้นำมานำทางชีวิต เหมือนเราไม่ได้เป็นสาวกในแบบนี้ เราไม่ได้ดูถูกลบหลู่เขา แต่เราคิดว่าแบบนี้ไม่เหมาะกับเรา เหมือนการนับถือศาสนาการเสพงานศิลปะ ดูรูป ฟังเพลง ก็เหมือนกัน มีหลากหลายรูปแบบแต่ละรูปแบบก็นำพาไปสู่อารมณ์ความรู้สึกที่ดี และเหมาะสมกับคนที่ปฏิบัติหรือชื่นชอบในแต่ละคนตามห้วงเวลาของตนเอง  สรุป ไม่ปฏิเสธ ไม่ลบหลู่ ให้ความเคารพ แต่ไม่ได้เอามานำทางชีวิต

 


“ที่พึ่ง” ห้องที่ 2 “ศรัทธา” - Photo : Art Parkpoom Teng

 

การเลือกเทพแต่ละองค์ออกแบบจัดวางมีความหมายพิเศษต่างกันออกไปนะคะ

อาจารย์ ทรงเดช : ผมทำเป็นแค่สัญลักษณ์เพื่อให้ชัดเจนเท่านั้นเอง (ศิลปะจัดวาง หรือ ศิลปะติดตั้ง : Installation art) แล้วผมสร้างงานขึ้นจากผลงานทั้งหมดที่เคยทำของผมจริงๆ ห้อง 1 พระพิฆเนศกับท้าวเวสสุวรรณ ห้อง 2 พระมหาจักรพรรดิ (พระทรงเครื่อง-ทรงกษัตริย์ / กษัตริย์คือสมมุติเทพ) ไม่ได้เป็นศิลปินจัดวางแบบสมัยใหม่ที่อาจจะต้องซื้อหามา ศิลปินแค่คิดไม่จำเป็นต้องทำเองก็ได้ เช่นถ้าผมเป็นศิลปินรุ่นใหม่ที่ทำงานนี้เป็นครั้งแรก ก็จะต้องซื้อเทพทุกองค์มาประกอบกันเป็นงานจัดวางในแต่ละห้อง วัสดุที่หล่อพระพิฆเนศ กับ พระมหาจักรพรรดิเป็นเรซิน (Resin) พระพุทธชินราชในห้อง 1 เป็นบอร์น สัมฤทธิ์

 


“ที่พึ่ง” ห้องที่ 2 “ศรัทธา” - Photo : Kawinporn Charoensri

 


“ที่พึ่ง” ห้องที่  “ศรัทธา” -  Photo : Lipikorn Makaew

 

ห้องที่ 3 ชื่อ “เห็น” ก็เป็นสัญลักษณ์ วัสดุเป็นสแตนเลสปิดทองคำเปลวแผ่นบางๆ ให้เห็นว่าใช้ทองจริงไม่ใช่ทองปลอม แบบที่ใช้ปิดพระพุทธรูปตามวัดต่างๆ แผ่นละ 7 บาท สังเกตพื้นผิวจะเห็นเป็นสี่เหลี่ยมตารางเล็กๆ  เราต้องการสื่อถึงวัสดุที่มันจริงไง พุทธที่แท้จริงมีคุณค่าเหมือนทองคำเพราะทองเป็นวัตถุเดียวในโลกที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ต่อให้โดนไฟเผาก็เป็นทอง ในห้องใช้สีพื้นขาวอยากให้เกิดความรู้สึกเป็นเรื่องของความสุข ความปิติในใจ คือไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ แต่อิงพระธรรมของพระพุทธเจ้าถ้าใครศึกษาธรรมะถึงจะได้สิ่งนี้

 


“ที่พึ่ง” ห้องที่ 3 “เห็น” - Photo : สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย

 

สำหรับผมคือห้องที่สาม ไม่เป็นองค์พระพุทธเจ้าแล้ว เป็นแค่รูปทรงที่รู้ว่ามาจากฟอร์มพระพุทธเจ้าเฉยๆ (ไม่มีรูปเคารพ เจาะฉลุทะลุโลหะปิดทอง มีเพียงแสงไฟส่องผ่านความว่าง ข้างหลังเห็นรูปทรงเงาพระพุทธรูป มีนัยว่าต้องเห็นธรรมะก่อนจึงจะเห็นพระพุทธเจ้า) ผมตั้งใจจะให้คนผลักม่านเข้าไป ไม่เปิดโล่งเหมือนสองห้องแรก การที่จะค้นพบห้องนี้เหมือนเราอ่านหนังสือ ต้องศึกษาธรรมะหรืออะไรสักอย่างถึงจะเจอห้องนี้ ตั้งใจจะสื่อเป็นนัยว่าวัดแบบนี้ ณ ปัจจุบันหายาก เหมือนวัดป่าที่สอนแก่นธรรมจริงๆ

แก่นของห้องที่สามคือการค้นพบความจริงของพุทธว่า ไม่ใช่เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เปรียบเทียบเหมือนห้องหนึ่งเป็นพลัง ห้องสองศรัทธา ห้องสามนี้เหมือนเป็น ความปิติสุข ที่ได้เห็นพระธรรม แก่นธรรมะที่แท้จริงของพระพุทธเจ้าที่พูดถึง ‘ความว่าง’ ศีล สมาธิ ปัญญา ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา เป็นเรื่องของการเห็นธรรมะ คุณเห็นธรรมะเมื่อใดคุณก็จะเห็นพระพุทธเจ้าในห้องนั้น ห้องสามนี้ไม่ได้เป็นเรื่องของความศักดิ์สิทธิ์ ไม่ได้บอกว่าอ้อนวอน ขอพร ขลัง มีพลัง แต่เป็นเรื่องของจิตของความรู้ เหมือนทฤษฎีที่เป็นองค์ความรู้ คำสอน ธรรมะจริงๆ คือพระธรรม

 


“ที่พึ่ง” ห้องที่ 3 “เห็น” - Photo : Art Parkpoom Teng

 

อาจารย์เคยบวชเรียนรึเปล่าคะ

อาจารย์ ทรงเดช : ไม่เคย ผมศึกษาอยู่หลายท่าน พระอาจารย์ ว. (พระเมธีวชิโรดม - ว.วชิรเมธี) พระธรรมปิฎก หลวงพ่อปัญญา ผมอ่านงานท่านพุทธทาส ฯลฯ ตอนหลังมาผมว่าผมได้ธรรมะจากคนธรรมดามาก คุณพศิน อินทรวงศ์ ไม่เคยเจอตัวจริงนะ ผมฟังคลิปจากยูทูปแล้วคิดว่าความรู้ทางธรรมะของเขามันชัดแล้วง่ายกว่าพระสอน เป็นหลักความจริง พูดง่าย ตอบง่าย เวลาเขาพูดแล้วมันเคลียร์ที่สุด เป็นตรรกะที่เหมือนถูกจริตทำให้เราเข้าใจ รู้สึกว่าสิ่งที่เขาพูดมันใช่ มีเหตุมีผล คุณพศินอาจจะเลยไปถึงห้องที่สี่ที่ของ “ที่พึ่ง” ห้องนี้เหมือนศาสนาพุทธ ถ้าเราศึกษาลงลึกมันไม่ใช่ศาสนา คือพระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้ธรรมชาติ ท่านรู้และเข้าใจในธรรมชาติทั้งหมด ให้เรารู้ เข้าใจ แล้วอยู่กับธรรมะอย่างเป็นปกติและมีความสุข

เมื่อเราเข้าใจธรรมะก็จะอยู่อย่างไม่มีความทุกข์ ถ้าเรารู้ว่าวันหนึ่งต้องตาย ทุกคนก็ตายหมดไม่มีใครไม่ตาย นี่คือหลักคือกฎธรรมชาติ พระพุทธเจ้าก็สอนเราอยู่แล้ว ไม่ใช่การขอพรวิเศษแต่พูดเรื่องง่ายๆ เป็นหลักของธรรมชาติ ทุกอย่างเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ถ้าไม่มีการเกิดก็ไม่มีการตาย แล้วเราจะอยู่ยังไงตั้งแต่จุดเริ่มต้นจนถึงวันตาย ที่วันหนึ่งเราก็ต้องเดินไปถึงจุดนั้นอยู่ดี ในระหว่างทางที่เราอยู่ตั้งแต่เกิด เราต้องยอมรับให้ได้ว่าถ้าเกิดมาแล้วก็ต้องตายด้วย เหมือนคำสอนที่ว่า “ของขวัญที่เราได้ในวันเกิดก็คือวันตาย ความตาย” คือความตายเป็นจุดสมบูรณ์ของชีวิต ตราบใดที่เรายังไม่ตายมันก็ยังไม่จบ ชีวิตก็ยังไม่สมบูรณ์ที่เกิดมาเป็นคน

 

อาจารย์เคยเจอเหตุการณ์สะเทือนใจที่สุดไหม แล้วจัดการรับมือกับมันยังไงคะ

อาจารย์ ทรงเดช : ความสะเทือนใจมากที่สุดของผมเกิดจากความพลัดพราก ในตอนเด็กที่ญาติเสียผมไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ ยายที่เลี้ยงเรามาเสียไป ทวดเสีย เขาเลี้ยงเรามาก็รู้สึกผูกพัน ตอนนั้นเรายังรับไม่ได้ ยังเป็นเด็กไม่รู้ว่าทำไมต้องตาย ทำไมหมอไม่รักษา ทำไมรักษาไม่ได้ มันก็น่าจะเหมือนซ่อมรถ สายไฟขาดก็ต่อสายใหม่สิ เหมือนเสียคนที่เรารักมากร้องไห้จนหลับ จัดการอะไรไม่ได้ครับแต่เวลาก็ทำให้เราลืมบ้าง พอโตขึ้นเราเรียนธรรมะก็เข้าใจ เห็นคนแก่อายุ 70-80 ตาย ก็เออโชคดีแล้ว หรือ เขาไปสบายแล้ว ก็คิดว่าเราอายุ 55 จะได้อยู่จน 60 ถึงตายเหมือนเขาหรือเปล่าไม่รู้ ช่วงหลังเห็นจนไม่สะเทือนแล้ว แต่พอเจอเข้าจริงๆ สำหรับบางคนอาจยากที่จะทำใจเหมือนกันนะ แต่มันจะหายเร็วขึ้น เออเดี๋ยวเราก็ตายตามไปเหมือนกัน ไม่ใช่เราจะรอด ไว้เจอกัน

 

สายมูฯ (มีที่มาจากหนังอินโดนีเซียเรื่อง “มูเตลู ศึกไสยศาสตร์” Penangkal Ilmu Teluh) เกิดจากคนต้องการที่พึ่ง เพราะจิตต้องการสิ่งยึดหรือเปล่าคะ

อาจารย์ ทรงเดช : คนเราเหมือนบัวสี่เหล่า ยังไม่พร้อมที่จะไปถึง ‘ความว่าง’ ทุกคน (ละกิเลส ปล่อยวาง สู่นิพพาน)  บางคนเขายังไม่ถึงจุดนั้นเขายังต้องการกำลังใจที่จะลุกไปทำงาน เขายังไม่มีกิน ยังต้องหาความหวัง หาพลังสักอย่างช่วย จะเอาเวลาครึ่งวันมานั่งดูงานศิลปะได้ไง มันไม่ใช่ความจริง แค่ทำงานทั้งวันยังไม่พอกินเลย เราต้องยอมรับ พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้ให้หนี ต้องอยู่กับมัน เห็นมัน แล้วเข้าใจมันทั้งหมดว่ามันเป็นอย่างนี้นะ ห้องที่ 1 มันก็เป็นอย่างนี้ คนมีหลากหลายถ้าวันหนึ่งบุญถึงพร้อมแล้วเขาก็จะไปถึงห้องอื่นๆ ได้เอง (พัฒนาการจากประสบการณ์และการศึกษาเรียนรู้)

 ตัวผมก็เริ่มจากห้องหนึ่งสองก่อน ไม่ใช่เกิดมาเจอ ‘ความว่าง’ เลย (บรรลุธรรม) เราก็ไปขอความเป็นสิริมงคล ดีกว่าคนไม่เข้าวัด เราต้องทำให้ตัวเองเป็นมงคลก่อนไปแก่นธรรม พอเราศรัทธาก็เป็นที่มาของการไม่ทำความชั่ว เป็นจุดเริ่มต้น เข้ามาแล้วถึงจะมีพลังเห็นคุณค่าของตัวเอง เป็นบันไดขั้นที่ 1 สำคัญไม่แพ้ขั้นที่ 10 ถ้าไม่มีขั้นที่ 1 จะไปถึงขั้นที่ 10 ได้ยังไง ต้องไต่ขึ้นไป ถ้าดูถูกขั้นที่ 1 ว่ากระจอก ไม่เอา เอาออกให้หมดเลย แล้วใครจะขึ้นไปถึงขั้นที่ 10 ได้ ถ้าทุกคนโดดสูงได้มันก็ขึ้นไปได้ แต่เพราะบางคนกระโดดข้ามขั้นไม่เป็นก็ทำไม่ได้

 


“ที่พึ่ง” ห้องที่ 4 “รู้”  - Photo : Kawinporn Charoensri

 

ห้องที่ 4 ชื่อ “รู้” ต้นโพธิ์ต้นเดียว เป็นต้นไม้ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้  มีต้นเดียวสื่อความสงบ คือความสุขที่เกิดจากความสงบ พระพุทธเจ้าตรัสว่า “สุขอื่นใดเหนือจากความสงบนั้น ไม่มี” สงบคือที่สุดของความสุขแล้ว เน้นบรรยากาศด้วยสีเทาเข้ม ต้นโพธิ์ก็โทนเทา ใบโพธิ์ปิดทองคำเปลวทั้งหมด พระพุทธเจ้าเป็นลูกกษัตริย์ที่ตรัสรู้ใต้ต้นไม้ (ต้นโพธิ์) ทั้งหมดมี 10 กิ่ง คือ ‘ทศชาติ’ สิบชาติ ชาติสุดท้ายของพระองค์คือพระเวสสันดรต้องสละทั้งหมดกระทั่งครอบครัว กว่าจะบรรลุเป็นพระพุทธเจ้าต้องผ่านการปฏิบัติหรือสะสมบารมี เหมือนกับกว่าที่ต้นไม้จะเติบโต ทุกอย่างต้องการเวลา

ในภาพต้นแบบของพระโพธิ์จุดกลางลำต้นมีลวดลาย 7 ดอก คือย่างก้าวแรกประสูติของพระพุทธเจ้าเดินได้ 7 ก้าว บรรลุธรรมตรัสรู้ใต้ต้นโพธิ์เป็นมหาศาสดาที่ยิ่งใหญ่ มีสาวก มีวัดต่างๆ จะไปปรินิพพานที่ไหนก็ได้ แต่ท่านเลือกใต้ต้นไม้ เหมือนจะสอนเราว่า เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป คืนสู่ธรรมชาติ ท่านก็เป็นคนเป็นธรรมชาติเหมือนกับเรา ตายเหมือนเราไม่ได้เป็นเทพ พระพุทธเจ้ายังตายเลย ถ้าคิดเรื่องนี้ได้เราก็จะทุกข์น้อยลง ท่านสอนเราจนวาระสุดท้าย

เป็นห้องที่ให้ทุกคนยอมรับความจริงว่า ธรรมะที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้เป็นหลักความจริง หรือการเข้าใจหลักธรรมชาติทั้งหมดแล้วยอมรับมัน ห้องสี่นี่ไม่เป็นศาสนาแล้วนะ คือเหนือศาสนา ไม่ได้บัญญัติจากเทพองค์ไหนหรือว่าคิดขึ้นมาเอง แต่พระพุทธเจ้าท่านนั่งสมาธิถึงเข้าใจธรรมชาติทั้งหมดแล้วเอามาสอนเรา ให้เรายอมรับแล้วอยู่กับมันอย่างเป็นทุกข์น้อยที่สุด หรือหมดไป ถ้าใครบรรลุอรหันต์คือหมดทุกข์

มีใบโพธิ์น้อย 1 ใบ วางในพานด้านล่างเฟรมภาพคือ ‘ความเป็นธรรมชาติ’ ใบนี้ผมนำมาจากพุทธคยาสถานที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ ไปมาสามครั้ง แล้วก็ไปที่สารนาถ (เป็นพุทธสังเวชนียสถานแห่งที่ 3 เป็นเมืองศูนย์กลางทางศาสนาของศาสนาฮินดู) การไปจาริกแสวงบุญตามรอยพระพุทธเจ้าในพุทธสถานเราได้พลังนะ ไปเห็นแล้วขนลุกรู้สึกได้ว่าพระพุทธเจ้ามีจริง ได้ไปเห็นที่นั่งท่านตรงบรรลุธรรมแล้วปิติ เพิ่มความศรัทธาทั้งร่างกายและด้วยจิตวิญญาณที่ให้ไปทั้งหมดแล้ว มีเหตุปัจจัยที่ได้ไปเพราะมีคนชวน ครั้งแรกก็เรื่อง “พุทธศิลป์โลก” เขาเชิญศิลปินไปทำงานที่พุทธคยาประมาณหนึ่งอาทิตย์ ไปปิดทองแท่นวัชรอาสน์ใต้ต้นโพธิ์[5]

 


“ที่พึ่ง” ห้องที่ 4 “รู้” - Photo : Art Parkpoom Teng

 

ห้องที่ 4 คือรู้ว่าธรรมะของพระพุทธเจ้าคือธรรมชาติ  แต่สูงสุดคือต้องรู้สึก ความรู้สึกนี่มันเป็นที่สุด ถ้าเรา ‘รู้สึก’ จะเป็นจุดที่เป็นจริงที่สุด ถ้าเรารู้สึกว่ามีความสุขนั่นจะเป็นความสุขจริงแท้ แต่ถ้าเราแกล้งยิ้มหรือหัวเราะนี่ยังเชื่อไม่ได้นะว่าเรามีความสุขจริงหรือเปล่า เพราะเป็นการแสดงออกทางภายนอก แต่ถ้าเรารู้สึกถึงจะเป็นจริง

 


บุคคลสำคัญใน ห้องที่ 5 “รู้สึก” - Photo : สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย

 


“ที่พึ่ง” ห้องที่ 5 “รู้สึก” - Photo : สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย

 

ห้องที่ 5 ห้องสุดท้ายชื่อ “รู้สึก”  จะเป็นห้องของความรู้สึก พอเดินเข้าไปเหยียบกรวดจิตจะไปอยู่ที่เท้า แล้วเราจะอยู่ใกล้ตัวเองที่สุด เวลาเดินเราไม่รู้ว่าก้าวซ้ายหรือขวา เดินจงกรมพระต้องบอกให้มีสติอยู่ที่เท้าซ้ายขวา แต่ห้องนี้เรารู้สึกได้โดยอัตโนมัติว่ากำลังยืนอยู่เพราะรู้สึกเจ็บ เหมือนได้กลับมาอยู่กับตัวตน เราจะรู้สึก รู้ตัว งานทั้งหมด 5 ห้องชื่อ “ที่พึ่ง” แต่ห้องนี้จะไม่มีสัญลักษณ์ใดๆ เป็นที่พึ่งเลย เข้าไปก็จะมีเบาะนั่งกับตัวเรา ไม่มีต้นไม้หรืออะไรสักอย่าง มีแต่ห้องสีขาวโล่งหมายความว่าเราต้องพึ่งตัวเองในการหลุดพ้น การจะพ้นทุกข์ต้องหลุดให้ได้ด้วยตัวเอง ไม่มีใครช่วยใครได้ เทพองค์ไหนก็ช่วยบันดาลไม่ได้ รับฟัง รับทราบก็แค่ความรู้ แต่รู้สึกนี่ยิ่งกว่าเข้าใจอีกนะ  (‘เข้าใจ’ สามารถอธิบายคนอื่นได้แต่ตัวเองอาจไม่รู้สึก) ถ้าเรารู้สึกนี่หลอกใครก็ไม่ได้ หลอกตัวเองยังไม่ได้เลย บทสรุปของพุทธสูงสุดอยู่ที่เราต้องปฏิบัติจัดการตัวเอง หรือว่าควบคุมตัวเองเพื่อให้พ้นทุกข์

 


“กรรม กิเลส วิบาก” - Photo Kawinporn Charoensri

 

มีงานจิตรกรรมอีกสองภาพวาดขนาดใหญ่ขนาบผนังระหว่างทางเดินเข้า 5 ห้อง

อาจารย์ ทรงเดช : ภาพแรกเป็นเรื่องของ “ปฏิจจสมุปบาท” (Pratītyasamutpāda หรือ อิทัปปัจจยตา Idappaccayatā) คนเห็นแล้วไปศึกษาต่อได้ว่า ปฏิจจสมุปบาท คืออะไร ภาพที่ 2 ชื่อ “กรรม กิเลส วิบาก” ท่านเจ้าคุณพระอาจารย์สุธี รัตนบัณฑิต เจ้าอาวาสวัดสุทธิฯ เป็นคนที่ตั้งโจทย์ให้ผมเขียน ภาพจริงอยู่ที่วัดสุทธิ คนเราจะก้าวข้าม ศีล สมาธิ ปัญญา จะหลุดพ้นหรือไปถึงนิพพานได้ต้องผ่าน กรรม กิเลส วิบาก ที่ทุกคนมีเหมือนกัน เป็นกงล้อหรือเป็นวัฏของโลก ถ้าเราเกิดมาแล้วจะไปสู่ความหลุดพ้นต้องก้าวข้ามมันไปให้ได้  ต้องเห็นมันเป็นสิ่งธรรมดาหรือว่าต้องผ่านมันไป ถ้าก้าวข้ามไม่ได้ก็ไม่มีทางหลุดพ้น เพราะทุกคนมีชีวิตต้องมีกรรม ไม่ว่ากรรมที่เคยทำมา หรือสิ่งที่ทำอยู่ก็เป็นกรรม แต่เราต้องไม่ยึดติดต้องข้ามมันไปให้ได้ ทั้งสองภาพมีสารที่เชื่อมโยงกันในเนื้อหา (เป็นประเด็นเดียวกันกับนิทรรศการ ศิลปะจัดวาง “ที่พึ่ง” ด้วย) เพราะเป็นสิ่งที่ผมทำเองทั้งหมด

ทั้งสองภาพเป็นการแก้ปัญหาตัวอาคาร เป็นงานตกแต่งเพื่อสร้างบรรยากาศองค์รวมทั้งหมดให้สวยงาม เอางานเดิมผมเคยทำไว้ (ที่วัดสุทธิวราราม เขตสาทร กรุงเทพฯ) มาปิด เดิมเป็นช่องหน้าต่างของอาคาร ถ้าเราไม่ปิดมันก็จะไม่สวย ต้องเอารูปมาปิดคนดูจะได้ไม่รู้สึกสะดุดว่าเป็นอาคารที่พัก จะรู้สึกราบรื่นไม่รู้เลยว่ากั้นห้อง เพราะที่ผมถูกเลือกให้ทำงานนี้ผมไม่ได้งบเยอะเหมือนศิลปินคนอื่นนะ  ศิลปินข้างนอกทำงานใหญ่เขาได้เป็นหลักล้าน ของผมนี่ได้ไม่ถึงสามแสนแค่นั้น แต่สิ่งที่ผมทำเกินเป็นล้านนะ แค่หล่อพระมาก็หลักแสนแล้วครับ เพราะเขาเลือกผมโดยมองว่าผมเป็นจิตรกร

 


“ปฏิจจสมุปบาท” (Pratītyasamutpāda) - Photo Kawinporn Charoensri

 

ตัวตนผมเป็นคนวาดรูป ไม่ใช่ประติมากร หรือศิลปินจัดวางสมัยใหม่ ภาพลักษณ์ผมหรือว่าสิ่งที่เป็นตัวผมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันที่ผู้คนรับรู้คือ ‘จิตรกร’ ประติมากรรมที่ทำเป็นงานการกุศลที่แต่ละองค์กรมาขอให้ผมช่วยออกแบบ ให้เขาเอาไปหาเงินซึ่งไม่เกี่ยวกับผม ล่าสุด พระพุทธราษฎร์สวัสดิ์มงคล[6] ทำกับ อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ เป็นของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เอาไปไว้ที่สำนักงานตำรวจด้วย เงินที่ได้เกือบ 70 ล้านบาท เอาไปให้โรงพยาบาลตำรวจจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ส่วนหนึ่ง อีกส่วนเอามาช่วยอาจารย์เฉลิมชัยสร้างหอศิลป์ร่วมสมัยเชียงราย (CIAM : Chiang Rai International Art Museum) ให้องค์กรการกุศลอีกสองสามที่ ที่ละ 10-20 ล้าน บางที่ 5-6  ล้านครับ

 


อ.ทรงเดช ทิพย์ทอง - Photo : Facebook : Songdej Thipthong

 

อาจารย์ทำ “พระปางเปิดโลก” (พุทธศิลป์ Rare Item) ให้งานเชียงรายเบียนนาเล่ด้วย ได้รับความสนใจสูงมากโดยเฉพาะในวันเปิดนิทรรศการ 11 ธันวาคม 2566

อาจารย์ ทรงเดช :  “พระปางเปิดโลก” เป็นพระเนื้อดินผสมผงมวลสารที่ปลุกเสกจากวัดบวรนิเวศวิหาร ที่ผมตั้งใจออกแบบจัดสร้างขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับแนวคิดหลักให้เป็นส่วนหนึ่งของงาน เพราะโดยปกติเวลาจัดกิจกรรมต่างๆ มีพิธีการ พิธีกรรม ผมก็จะแจกหรือให้บูชาพระที่เป็นเหรียญตลอด ครั้งนี้จัดสร้างเพียงจำนวน 2566 องค์ตาม พ.ศ. ของการจัดงานนิทรรศการ “ที่พึ่ง”

สร้างพระเอาไว้ทำบุญเวลาหน่วยงานไหนต้องการปัจจัยที่จะไปใช้ทำอะไรก็ต้องทำสิ่งนี้เพื่อจำหน่าย จะถามว่าเป็นพุทธพาณิชย์ไหม? ก็ใช่ แต่เป็นพาณิชย์ที่เอาเงินไปทำประโยชน์ ที่ผมทำสองห้องแรก ไม่ได้ปิดว่าสองห้องนี้ไม่เอา ไม่ดีนะ ไม่ใช่อย่างนั้น แต่ความจริงสองห้องแรกนี่เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดพุทธศิลปกรรม ทำให้เกิดวัดวาอารามสวยงาม ทำให้เกิดมรดกของชาติ พลังจากความศรัทธาของคนทำให้เราสร้างสิ่งเหล่านี้ แล้วสามารถดึงคนเข้าวัดได้จำนวนมหาศาลจริงๆ เพราะแรงศรัทธา

ด้านเสียคือ ถ้าวัดกลุ่มนี้ไม่เอาโอกาสที่คนเข้าวัดแล้วชี้ทางให้เขาไปในทางที่ถูกก็จะเสีย สำหรับพระที่มีคนมาวัดเป็นร้อยเป็นหมื่นมันมีอยู่สองทางที่คุณจะเลือกคือทำ หนึ่งเลือกให้เขางมงายไปเลย เอาเงินมา เอาเงินมา สองต้องบอกว่าอันนี้ไม่ใช่แก่นแท้นะ คนมาหาแล้วควรจะถือโอกาสสอนว่าธรรมะของพระพุทธเจ้าจริงๆ คืออะไร

 


วิทยากร Wisut Lesak นำชม : Photo : ปอยหลวงศิลปะ เชียงราย

 

กำหนดการจัด งานมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ จะมีขึ้น 2 ปี/ครั้ง เวียนไปในแต่ละจังหวัดของประเทศไทย ครั้งที่ 4 Thailand Biennale Phuket 2025[7] มีกำหนดจัดที่ จังหวัดภูเก็ต 2568-9/2025-26 (คาบเกี่ยวสองปี) theme มหัศจรรย์แห่งการเดินทาง (The Never Ending Journey) ภูเก็ต จัดงานในฐานะ "ตัวแทนประเทศไทย"  มีระยะเวลาจัดงาน 5 เดือน พื้นที่การจัดงานจะแบ่งเป็น 4 พื้นที่หลัก กระจายออกเป็นพื้นที่ย่อย 61 พื้นที่ ในอำเภอเมือง 22 พื้นที่ , อำเภอถลาง 9 พื้นที่ , อำเภอกะทู้ 5 พื้นที่ และ พื้นที่บ้านศิลปิน 25 แห่ง

ลักษณะการจัดงานเป็นนิทรรศการศิลปะ 4 รูปแบบ ได้แก่

  • การจัดนิทรรศการของศิลปินไทย ทั้ง 4 ภาค ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคอีสาน ภาคใต้ และศิลปินจากกลุ่มอันดามัน
  • การจัดแสดงนิทรรศการของศิลปินจากต่างประเทศ ที่สนใจจะมาเปิด Pavillion ในฐานะตัวแทนของประเทศนั้นๆ
  • Art Festival Event การจัดนิทรรศการหลักในทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นศิลปะการจัดวางเฉพาะพื้นที่ ประติมากรรมถาวร-ชั่วคราว โดยมีภาคประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประจำพื้นที่จะจัดกิจกรรมการแสดงศิลปวัฒนธรรม ให้ทุกพื้นที่เป็นนิทรรศการศิลปะที่มีชีวิต ทำให้เกิดการเข้าถึงศิลปะในรูปแบบ Local Touch ได้ชัดเจน และมีเสน่ห์มากขึ้น
  •  Public Art Landmarks ภาคเอกชน ภาคธุรกิจ โรงแรม จะเข้ามามีส่วนในฐานะผู้ลงทุน ในการสร้างผลงานศิลปะแบบถาวรของศิลปินรุ่นใหม่ จัดวางตามมุมเมืองต่างๆ ของภูเก็ต โดยคัดเลือกแบบประติมากรรมที่ชนะการประกวดผลงานของ ศิลปิน หรือ เยาวชน และผู้ที่สนใจ

 


อ. ทรงเดช ทิพย์ทอง - Photo สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วสมัย

 

งานเซ็ทนี้ “ที่พึ่ง” ไม่ได้ตั้งแสดงไว้ที่ไร่เชิญตะวันเป็นงานถาวรนะคะ (Pavillion)  Thailand Biennale 2025 จัดที่ภูเก็ตอาจารย์คิดว่ายังไงคะ

อาจารย์ ทรงเดช : หลังวันสุดท้ายของงานเบียนนาเล่ 30 เมษายน 2567 ต้องรื้อถอนเหมือนกับทุกงานที่จัดแสดงในตัวอาคารครับ การจัดงานจะเวียนไปอีกร้อยกว่าปีถ้าไม่มาดูก็ไม่มีโอกาสแล้วนะ ถ้าจัดเวียนแบบนี้คงไม่มีอีกแล้ว ยากที่จะมีอย่างนี้เกิดขึ้นอีกถ้าภาครัฐไม่สนใจ ดูแล้วก็ไม่สนใจเท่าไหร่ สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นต้องเป็นการทำจากภาครัฐเป็นตัวหลัก เพราะลำพังศิลปินทำไม่ได้ครับ แค่จะเอางานไปตั้งที่ถนนก็ลำบากแล้ว บางทีเอาป้ายไปติดยังถูกรื้อเลย ภาครัฐต้องเห็นด้วยหรือว่าเห็นความสำคัญอำนวยความสะดวกให้  หรือว่ามาช่วยขับเคลื่อนมันถึงจะเกิดขึ้น

แต่ถ้าภาครัฐในจังหวัดเชียงรายหรือว่าเอกชนก็ดีร่วมมือกัน ถ้าเห็นว่างานครั้งนี้ประสบความสำเร็จเชียงรายควรมีเบียนนาเล่เป็นของตัวเองได้เลย เหมือนเมืองอื่นๆ ในโลกที่เขาทำกัน ก็จะทำเฉพาะในเมืองนั้นไม่เวียนจังหวัดอื่น เขาจะรู้ว่าเมืองมีศักยภาพที่พร้อมแบบนี้ ก็ให้จัดเป็นสัญลักษณ์เอกลักษณ์ไปเลยเพราะเชียงรายเป็นเมืองศิลปะ ก็เอาเฉพาะเชียงรายเพราะเมืองอื่นไม่ได้เด่นเรื่องนี้ จังหวัดอื่นเด่นเรื่องไหนก็จัดเรื่องนั้นไป ไม่จำเป็นต้องเวียนหลายจังหวัด อีกอย่างเมืองมีประสบการณ์แล้วทำครั้งต่อไปก็ง่าย ถ้าไปจัดจังหวัดอื่นทุกอย่างต้องนับหนึ่งใหม่หมดผมว่าจะเหนื่อย ทั่วโลกเขาจัดอยู่กับที่อย่าง “กวางโจวเบียนนาเล่” ก็มีแค่ที่กวางโจวไม่ใช่ปีหน้าปักกิ่ง อีกปีเป็นเซี่ยงไฮ้ ไม่ใช่แบบนั้น “เวนิสเบียนนาเล่”[8] เป็นเทศกาลชื่อดังระดับโลกก็มีเฉพาะเวนิสไม่ได้วนอีกปีไปเมืองฟอร์เรนซ์ ถ้าจะทำเรื่องนักร้องก็ต้องเป็นสุพรรณบุรีที่นักร้องเยอะ จะมาทำที่เชียงรายหรือพะเยาก็ไม่ใช่เรื่องต้องขนนักร้องกันอีก

ที่เชียงรายทำง่าย สมบูรณ์แบบ เพราะจำนวนศิลปินในพื้นที่เยอะ แล้วศิลปินนานาชาติที่มาเวลาเขาจะทำอะไรก็เหมือนมีฐานที่รอง เป็นกองหนุนกองกำลังที่พร้อมจะช่วยกัน เหมือนจะถักไม้ไผ่ หรือ paint ศาลากลาง ก็มีคนมาทำช่วยอยู่แล้ว ถ้าเป็นจังหวัดอื่นที่ไม่มีศิลปินอยู่ในพื้นที่ ต้องไปจ้างศิลปินวาดภาพจากจังหวัดลำปางมามันก็จะยาก แต่ที่นี่จะเอากี่ร้อยคนล่ะเพราะเชียงรายมี 300-400 คน พร้อมที่จะกระจายไปหลายจุดช่วยศิลปินได้หลายคน ถ้าจังหวัดอื่นต้องลงงาน 60 จุด ศิลปิน 40 คน ต้องการลูกมือผู้ช่วยทีมละ 10 คน ก็ต้องใช้ช่างนับร้อยแล้วจะไปเอาที่ไหน เป็นความยุ่งยากเพราะที่อื่นไม่มีขนาดนี้ ที่อื่นไม่ได้โดดเด่นด้านศิลปะ แต่อาจมีความโดดเด่นด้านสถานที่หรือคนที่จะมาชมงาน ฯลฯ ในเมืองท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่มาเป็นกลุ่มไหน เขามาเที่ยวทะเลมากินอาหารทะเลหรือเปล่า น่าคิดนะเรื่องงบประมาณที่ลงไปกับผลตอบรับที่ได้มา

ถ้าจัดที่เชียงราย 2 ปี/ครั้ง งานศิลปะติดตั้งถาวรที่เป็นสื่อเชื่อมโยงกับสิ่งแวดล้อมจะเต็มเมือง มันจะรับใช้คนใครมาก็เห็น ศิลปะแบบนี้มีประโยชน์มาก ดีกว่าศิลปะที่ทำแล้วขายให้นักสะสม  เราเป็นเจ้าของงานอยากเห็นรูปที่เราวาดพอไปอยู่ในมือนักสะสมตัวศิลปินเองยังไม่ได้เห็นเลย แต่พองานตั้งไว้เป็นสาธารณะผู้คนจะเสพได้ตลอดเวลาจับต้องได้เข้าถึงได้ จะให้ประโยชน์กับผู้คนได้ง่ายได้มากกว่าครับ

 


แถลงข่าว Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 - Photo : FB page Thailand Biennale

 

เมื่อปี 2556 มีการจัดตั้ง ‘โครงการหอศิลป์ร่วมสมัย เชียงราย’ เพื่อเผยแพร่ข้อมูลและวิชาการด้านศิลปะ-วัฒนธรรมของจังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นโครงการนำเสนอรวมอยู่ใน ‘โครงการพัฒนาพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำกก’ บนพื้นที่เกาะวัฒนธรรมช่วงสะพานแม่ฟ้าหลวง หลังผ่านการเลือกตั้งแผนงานจัดสร้างหอศิลป์ถูกระงับไป ไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ กลุ่มศิลปินเชียงรายและคนรักศิลปะจึงได้รวบรวมทุนร่วมกันปรับแบบแปลนออกแบบหอศิลป์สร้างขึ้นในพื้นที่เดิมตามกำลังที่มี แล้วเปิดใหม่ในนาม “ขัวศิลปะ” (Art Bridge Chiang Rai และกำลังจะหมดสัญญาเช่าที่ในปี 2567 นี้)  อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ได้มอบเงินทุนตั้งต้น 500,000 บาท[9] สำหรับจัดตั้ง ‘กองทุนศิลปินเชียงราย’ ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุน ส่งเสริมการทำงานของศิลปิน และการศึกษาของนักศึกษาศิลปะในจังหวัดเชียงราย หลังจากนั้นได้พัฒนาจนมาเป็นหอศิลป์ร่วมสมัยแห่งใหม่ของจังหวัดเชียงราย (CIAM : Chiang Rai International Art Museum) เปิดอย่างเป็นทางการร่วมกับภาครัฐในงานเปิด เทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา

หลังจากหมดสัญญาในพื้นที่เดิม “ขัวศิลปะ” จะย้ายไปที่ CIAM นายกสมาคมคือ อาจารย์สุวิทย์ ใจป้อม คณะกรรมการมีแผนเตรียมขยายทั้งพื้นที่แสดงงานและโครงการ “บ้านศิลปิน-หอศิลป์ชุมชน” ต่อไปในอนาคต

 

“ขัวศิลปะ” ได้เคยเสนอแนวทางบริหารจัดการต่อรัฐแล้วผลเป็นยังไงบ้างคะ

อาจารย์ ทรงเดช : ถือว่าทุกอย่างเดินทางมาดั่งที่ตั้งใจไว้ก็คือการเชื่อมสะพานศิลปะสู่สังคม ทำให้คนได้รู้จักกลุ่มศิลปินเชียงราย กลุ่มศิลปิน “ขัวศิลปะ” ได้มีบทบาทสร้างคุณประโยชน์นำศิลปะเข้าไปสู่สังคมด้วยการร่วมมือกับภาครัฐ-ภาคเอกชน จนทำให้เชียงรายได้ถูกประกาศยกย่องให้เป็นหนึ่งในเมืองศิลปะ แล้วได้เป็นเจ้าภาพ “ไทยแลนด์เบียนนาเล่ 2023” จนได้มีการสร้างหอศิลปร่วมสมัยเมืองเชียงราย เพราะได้รับการบริจาคที่ดินจากภาคเอกชนคือเฮียเอี่ยม (ทวีชัย อร่ามรัศมีกุล ได้บริจาคที่ดินรวม 17 ไร่ ในเขต บ้านสันตาลเหลือง หมู่ 1 ต.ริมกก อ.เมืองเชียงราย) ให้ก่อสร้างหอศิลป์โดยเงินส่วนตัวของอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ทุ่มงบลงไปก้อนแรก 40 ล้านบาท แต่หลังสร้างเสร็จแล้วรวมงบทั้งหมดมากกว่า 65 ล้านบาท ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐดีขึ้น แต่ก็ถ้าเทียบกับภาคเอกชนแล้วก็ยังถือว่าเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก การให้ความสำคัญของภาครัฐในท้องถิ่นก็ยังถือว่าน้อยมากๆ แทบจะไม่ได้มีส่วนร่วมเลย ส่วนมากก็จะเข้ามาขอความช่วยเหลือจากเรามากกว่าที่จะมาช่วยเรา เหมือนนักกีฬาโอลิมปิกตอนต่อสู้ไม่ค่อยมีคนสนับสนุนครับ พอได้เหรียญทองกลับมาก็จะมีคนล้อมหน้าล้อมหลัง

 


หอศิลป์ร่วมสมัยเมืองเชียงราย : Chiang Rai international Art Museum (CIAM)
Photo : Chiang Rai international art museum (CIAM)

 

“ขัวศิลปะ” (Art Bridge Chiang Rai) ศิลปินรวมตัวกันก่อตั้งรัฐรับรู้มาตั้งแต่เริ่มอยู่แล้วแต่เขาไม่ทำ กระทรวงก็รู้ปัญหาแต่ไม่มีใครทำอะไร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมไม่มีนโยบายจะช่วยศิลปินยังไง จะขับเคลื่อนไปในทางที่ดีแบบไหน การไปดูงานต่างประเทศไม่ต้องไปดูหรอก เรารู้กันอยู่แล้วว่าวิธีช่วยศิลปินช่วยได้หลายทาง เช่น

  • หนึ่งคือลดหย่อนภาษี ง่ายที่สุดเลยรัฐไม่เสียตังค์เลย แค่เสียภาษีนิดเดียว
  • สองบังคับให้การก่อสร้างตึกมีพื้นที่ของศิลปะ อย่างน้อยต้องมีประติมากรรมอยู่หน้าตึก หรือข้างในต้องมีรูปติดนะ
  • สำคัญที่ยังไม่ได้สักทีคือ “อาชีพศิลปิน” ผมมี “อาชีพรับจ้าง” นะครับ วาดรูปมาตั้งแต่เรียนจบ การขอวีซ่าถ้าเราได้อาชีพเป็น ARTIST เวลาเดินทางไปต่างประเทศมันง่ายสำหรับประเทศศิวิไลซ์ ต่างจากอาชีพรับจ้างนะ บางประเทศแทบจะอุ้มเข้าถ้าเขารู้ว่าเราเป็นศิลปิน

การเป็น ‘ศิลปิน’ วัดได้จากผลงานและระยะเวลาที่ทำ คนเรา 5 ปี ก็รู้แล้วว่าเป็นไม่เป็น ไม่มีหรอกที่ไปทำอย่างอื่นแล้วจะมาหลอกว่าเป็นศิลปินได้ ก็เห็นอยู่แล้วว่าถ้าเราไม่ได้เงินมาจากการวาดรูปหรือการทำงานศิลปะ ปีเดียวก็ตายแล้ว กลุ่มนักร้องก็เป็นศิลปินเหมือนกัน รัฐช่วยตั้งใจทำจริงๆ จริงใจ แล้วก็มาลงลึกจริงๆ มาถามศิลปินจริงๆ ว่าต้องการอะไร มาสัมผัสจริงๆ ว่าเป็นอยู่กันยังไง ไม่ใช่นั่งเทียนอยู่บนหอคอยแค่นี้ก็พอแล้ว เอาคนที่มีความรู้จริงๆ มา รัฐมนตรีอาจไม่มีความรู้ก็ได้ แต่ทีมงานน่ะผมว่าคุณต้องเลือกคนที่มีความรู้จริงๆ แล้วที่ปรึกษาของคุณน่ะต้องเป็นมืออาชีพจริงๆ ด้วยนะ ไม่ใช่เอาใครก็ไม่รู้ไปทำงานในสถาบัน เขาก็ไม่รู้หรอกว่าศิลปินเหนื่อยหนักกันขนาดไหน กว่าจะขายงานได้ กว่าจะดำรงชีวิตได้ เพราะคนในกระทรวงวัฒนธรรมก็ไม่ใช่คนที่จบอาร์ตมาเป็นเจ้าหน้าที่ คนเป็นรัฐมนตรีไม่รู้เรื่องอยู่แล้ว ที่ปรึกษาก็ดันไปเอานักวิชาการหรือคนที่ไม่รู้มาอีก ผมว่าสิ่งที่ทำให้ไม่เจริญก็เพราะมันเป็นแบบนี้ไง เหมือนภาพงาน ‘ปฏิจจสมุปบาท’ ที่เอาเด็กมาจูงคนตาบอด คนจูงเป็นเด็กคนที่เดินตามก็ตาบอด ถ้าคนจูงเป็นผู้รู้หรือว่าเป็นผู้ใหญ่ก็จะรู้ว่าควรไปทางไหน ควรทำอย่างไร แต่นี่เหมือนตาบอดจูงตาบอดเลยเป็นแบบนี้มาชั่วนาตาปี เหมือนเป็นกระทรวงฯ แถม พรรคนั้นได้มาคนเดียวเอากระทรวงนี้ไปนะ (กติกาการแบ่งเค้กของกลุ่มการเมืองเก่า)

ไม่เหมือนประเทศภูฏานนั่นกระทรวงวัฒนธรรมอยู่ในวังแข็งแรงที่สุด ถ้าเปรียบเทียบระบบการปกครอง เมื่อก่อนไทยเรามีศิลปะ วัฒนธรรม ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเพราะว่าระบบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธราช กระทรวงวัฒนธรรมสำคัญที่สุดนะครับ ตั้งแต่สมัย เชียงแสน สุโขทัย อยุธยา สิ่งที่รัฐบาล(กษัตริย์)มองเห็นอันดับแรกคือการสร้างศิลปะ การสร้างวัดวาอาราม (เทวสถาน) การสร้างศิลปะที่เป็นมรดกของชาติ ศิลปินมียศเป็นข้าราชบริภาร ท่านขุน คุณหลวง เช่นหลวงวิจิตร ฯลฯ อยู่ในวังมีตำแหน่ง แต่พอมาเป็นระบอบประชาธิปไตยศิลปินถูกปล่อยตามมีตามเกิด กระทรวงที่มีอำนาจมากที่สุดกลายเป็นกระทรวงกลาโหม การคลัง คมนาคม อะไรไป ฯลฯ  พวกนี้ไม่ได้สร้างเศรษฐกิจด้วยนะ

สมมุติว่าประเทศไทยเป็นร้านกาแฟ ก่อนเปิดร้านคุณจะทำอะไรก่อน ตอนนี้ประเทศไทยทำถนนก่อนทำร้านกาแฟ จริงๆ ต้องทำให้กาแฟมีรสชาติที่ดีที่สุดก่อน  ต้องสร้างร้านกาแฟให้สวยงาม พอได้เงินจากการที่คนมาเยอะๆ แล้วค่อยทำถนนเพราะร้านจะต้องเป็นตัวหาเงินทุนก่อน อาจารย์เฉลิมชัยเคยพูดว่ารัฐบาลทำไม่ถูกต้องสร้างวัดร่องขุ่นก่อน ไม่ใช่สร้างถนนก่อนแล้วค่อยมาสร้างวัด เพราะไม่มีรายได้มาสร้างวัด อาจารย์เฉลิมชัยสร้างวัดก่อนถนนมาทีหลังหมดเลยนะ ถ้ามีคนมาเที่ยวก็จะมีเงินมาพัฒนาถนนให้เจริญได้เอง ถ้าจะชู Soft Power อาจารย์เฉลิมชัยบอกว่าสองกระทรวงคือ กระทรวงวัฒนธรรม กับ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นตัวทำเงินได้มากที่สุด ต้องทุ่มงบให้สองกระทรวงนี้เป็นอันดับหนึ่ง เพราะสามารถสร้าง Soft Power ได้ เหมือนเกาหลีที่เขารวยมากดังขึ้นมามากเพราะเขาทุ่มกับงาน ศิลปะ วัฒนธรรม

 


ขัวศิลปะ (Art Bridge Chiang Rai) - Photo : เทศบาลนครเชียงราย

 

Soft Power สำหรับอาจารย์คืออะไรคะ

อาจารย์ ทรงเดช : Soft Power สำหรับผมคือ ‘ศิลปะ’  คือมันง่ายที่สุดและยั่งยืนที่สุด แล้วมันเป็นการลงทุนที่น้อยแล้วได้ผลมาก จะมีอะไรที่มากไปกว่าศิลปะไม่มีอีกแล้วนะในโลกนี้ หมายถึงศิลปะทุกแขนงนะถ้าเอาจริง  K- POP นี่ชัดเจนว่าเกาหลีทำสำเร็จแล้ว หลังจากส่งคนมาเรียนวิชาภาพยนตร์กับเรา อย่างการ์ตูนของ คุณประยุทธ เงากระจ่าง หรือ Animation ของเราแทบจะสร้างพร้อมกับดิสนีย์เลย เราเริ่มมาก่อนแต่จนทุกวันนี้ทั้ง หนัง ซีรี่ย์ สองอย่างนี้เป็นตัวดึงคนไปเที่ยวเกาหลี เราอยากไปเพราะเห็นจากในหนังในซีรี่ย์ เห็นวัฒนธรรมการกินจาก “แดจังกึม” ฯลฯ เพราะเราไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ เอกชนพอลงทุนแล้วไม่ได้กำไรก็ล้มหายตายจากไป เลยไม่เป็น Soft Power ตอนนี้เกาหลีเริ่มมาสายทัศนศิลป์เยอะมากแล้วนะ เราต้องให้งบประมาณเยอะเหมือนเกาหลีถึงจะสำเร็จต้องเทลงสองกระทรวงที่ว่านี่เยอะๆ ไม่ใช่เราไม่มีคนเก่งนะ คนไทยเก่งระดับโลกเลยอย่างคุณเจ้ย อภิชาติพงศ์ ก็ไปด้วยตัวเองคนเดียวนะ เขาประสบความสำเร็จจากความสามารถของเขาด้วยตัวเอง ไม่ได้เกิดจากรัฐสนับสนุนพาหนังไปเมืองคานส์เลย

 

ศิลปะ กับ ศิลปิน มีความสำคัญที่เชื่อมโยงต่อกันยังไงคะ

อาจารย์ ทรงเดช : ‘ศิลปะ’ เป็นเรื่องของความรู้สึก อะไรที่เป็นเรื่องของความรู้สึก รู้สึกกับอะไรก็ตาม ศิลปะต้องสะเทือนใจ สะเทือนความรู้สึกจนทำให้เราเกิดจินตนาการ เหมือนกับ… “โหคิดได้ไง” อะไรแบบนี้ บางทีเราอาจจะดูไม่รู้เรื่องหรอกแต่มันมีความเป็นพิเศษ มันต้องพิเศษ ไม่ใช่ว่า “อ๋อ...เคยเห็นแล้ว” หรือ ตรงนั้นก็มี ตรงนี้ก็ใช่เคยทำแล้ว  ผมคิดว่าไม่น่าจะเป็นศิลปะ ส่วนศิลปินคือคนที่สร้างงานศิลปะ ต้องเป็นศิลปะที่สะเทือนใจด้วยนะ ถ้าไม่ได้สร้างสิ่งเหล่านี้ก็ไม่น่าจะเป็น ‘ศิลปิน’

 

รัฐบาลได้ให้ความช่วยเหลือดูแลคนทำงานศิลปะอาชีพอิสระเท่าที่ควรหรือยังคะ

อาจารย์ ทรงเดช : ผมว่าไม่นะ ผมเติบโตมีชีวิตรอดมาได้ถึงทุกวันนี้ไม่ได้มาจากภาครัฐเลย มาจากเอกชนล้วนๆ แม้กระทั่งช่วงเริ่มต้นหาเงินกินข้าวก่อนที่จะมีชื่อเสียงก็มาจากเอกชนหมดเลย เริ่มประกวดงานก็เป็นองค์กรเอกชนทั้งนั้นที่จัดงาน ภาครัฐก็มีศิลปกรรมแห่งชาติวิธีเดียว นอกเหนือจากนั้นเป็นของเอกชน คนที่มาซื้อรูปก็ไม่เคยมีรัฐบาลมาซื้อรูปเรา ศิลปินถ้าขายรูปไม่ได้จะอยู่ได้ไง สำหรับผมอาจมีงานประกวดบ้างนิดหน่อย แต่คนที่มาซื้อรูป 100 เปอร์เซ็นต์เป็นเอกชน ที่รัฐจะพิจารณาเห็นผลงานเห็นความมุ่งมั่นในการต่อสู้เพื่อทำงานศิลปะ แล้วเห็นคุณค่ายื่นมือมาช่วยเหลือ หรืออัดงบผ่านหน่วยงานมันไม่มี ผมสร้างหอศิลป์ก็เป็นเงินส่วนตัวที่ได้จากการขายรูปให้ภาคเอกชนทั้งหมดเลย เอาไว้จัดแสดงงานกับรับรองแขกคนที่สนใจในงานของเรา มีที่วาดรูป ที่นอนแยกส่วน อยู่ในบริเวณเดียวกับบ้าน

รัฐบาลควรจะสร้างหอศิลป์ สนับสนุนซื้องานศิลปินไปสะสมรวบรวมไว้เหมือนที่สิงคโปร์ หรืออาจจะมีโครงการที่จัดสรรงบให้ได้ทุนทำงานเหมือนประเทศเนเธอร์แลนด์ เขามีศิลปินดังมากมาย ดังที่สุดระดับโลกคือ วินเซ็นต์ แวนโก๊ะ ที่ตายอย่างอนาถาขายรูปไม่ได้ ยุคต่อมาหลังเสียชีวิตงานของเขามีชื่อเสียงมีมูลค่าสูงมาก เขาจะไม่ยอมให้กรณีแบบนี้เกิดขึ้นในประเทศเขาอีก พอรู้ว่าใครตั้งใจจะเป็นศิลปินไม่ทำงานอื่นแล้วต้องการทำงานศิลปะอย่างเดียวเขามีเงินเดือนให้เลย ได้ใช้ชีวิตได้ทำงานโดยไม่ตรวจสอบใดๆ คนพวกนี้ได้เงินมาก็สร้างงาน ไม่ต้องกังวลว่าพรุ่งนี้จะกินอะไร จะเอารูปไปขายที่ไหน มีรัฐบาลส่งเงินมาเลี้ยงดู โดยถือว่าเป็นกลุ่มพิเศษที่รัฐดูแลให้สร้างงานโดยไม่มีเงื่อนไข แต่เมืองไทยเรายังไปไม่ถึงจุดนี้ แค่ซื้องานยังไม่ซื้อเลย

เอาแค่ระดับสิงคโปร์ก็พอแล้ว เขาเอาตึกที่ดีที่สุดของประเทศเขามาสร้างหอศิลป์ เขาตระเวนไปหาศิลปินเพื่อเก็บงาน เมืองไทยโดนไปหลายคนแล้วงานดีๆ ของศิลปินไทยอยู่สิงคโปร์หมด อย่างงานท่านอังคารบางงานเราไม่เคยเห็น สวยมาก แต่บ้านเราไม่เก็บ งานดีๆ กลายเป็นว่าอยู่ในมือเอกชนซะส่วนมาก แล้วเอกชนที่ซื้องานควรได้รับอะไรพิเศษ ถ้ารัฐบาลอยากช่วยอาจไม่ต้องซื้องานก็ได้ เอาเหมือนเกาหลีที่เขามีกฎว่าเมื่อคุณสร้างตึกหนึ่งหลัง 30 เปอร์เซ็นต์ ต้องซื้องานศิลปะเข้าตึกนะ มีอีกอย่างที่ช่วยได้คือ ถ้าคุณซื้องานศิลปะ คุณสามารถเอาเงินนั้นไปลดหย่อนภาษีได้ แค่นี้ก็จะทำให้คนซื้องานศิลปะ เป็นการช่วยศิลปินอีกทางด้วย

 แต่ของเรามันตรงกันข้าม ตอนนี้ศิลปินจะโดนเก็บภาษี บางคนก็ขายกันไม่รู้เรื่องนะ กลายเป็นว่าเรามีรายได้เยอะ ทั้งที่รายได้ไม่ใช่ของเราด้วยซ้ำ แค่ไปทำบุญออกแบบเหรียญออกแบบพระก็อันตรายมาก อย่างกรณีของผมงานมีชื่อบัญชีรับเงินเป็นชื่อผม กลายเป็นว่าผมต้องเสียภาษี รัฐบาลนอกจากไม่ได้ช่วยในแบบที่ผมพูดแล้ว กลายเป็นว่าเขามองศิลปินทัศนศิลป์เหมือนดารา (ที่ล้มละลาย) ในอนาคตไม่แน่เราอาจได้เห็นศิลปินทัศนศิลป์ล้มละลายเพราะรัฐบาลเก็บภาษี มันเป็นความจริงที่มีอยู่ครับ

 


หอศิลป์ทรงเดช ทิพย์ทอง - Photo : Facebook page : Thai Art by Songdej Thipthong

 

เมื่อปี 2562 ขณะสอนที่มหาจุฬาฯ วิทยาลัยสงฆ์เชียงราย อาจารย์ทรงเดชได้ทำวิจัยเกี่ยวกับ ‘บ้านศิลปิน’ ที่สามารถสร้างเป็น ‘หอศิลป์’ ได้ มีเกิน 15 หลัง (โดยร่วมกับ มานิตย์ โกวฤทธิ์ และ ศตวรรษ หน่อแก้ว) เพื่อสนับสนุนแนวความคิดที่ว่าบ้านศิลปินสามารถเป็นที่ท่องเที่ยวได้ รับรองแขกได้ ศิลปินไม่ได้ปิดกั้นพร้อมที่จะให้ความร่วมมือ ให้ความรู้ กับผู้คนที่สนใจ มหาจุฬาฯ คัดเลือกเป็นงานวิจัยดีเด่น ดังบางส่วนของรายละเอียดในรายงานการวิจัย : เรื่อง “การพัฒนาเครือข่ายแหล่งท่องเที่ยววิถีศิลป์บน เส้นทางบ้านศิลปินล้านนา” สนับสนุนทุนวิจัยโดย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

 

สรุปผลการสำรวจ ‘เส้นทางแหล่งท่องเที่ยวสายศิลปะ’ ของบ้านศิลปิน มี 3 เส้นทาง 15 บ้านศิลปิน ดังนี้

1. เส้นทางหอศิลป์เวียงเชียงราย-เวียงชัย ได้แก่

หอศิลป์เชียงรายไออุ่น ชัยวิชิต สิทธิวงศ์, ดาษดา สตูดิโอ (พุทธรักษ์ ดาษดา และ เอกพงษ์ ใจบุญ), บ้านเสงี่ยม ยารังสี, หอศิลป์ฮอมแฮงฮัก ธีรยุทธ-อรพิน สืบทิม, เครื่องปั้นดินเผาดอยดินแดง สมลักษณ์ ปันติบุญ, ควายดินดาก ชาตะ ใหม่วงค์, หอศิลป์สุวิทย์ ใจป้อม และหอศิลป์บ้านพรมมา อินยาศรี

2. เส้นทางหอศิลป์แม่ลาว-พาน ได้แก่ ก๋ำปอ อาร์ต สตูดิโอ : Gumpor Art Studio ผูกพันธ์ ไชยรัตน์-วรวิทย์ แสงทอง, หอศิลป์ทนงศักดิ์ ปากหวาน และหอศิลป์พานทอง แสนจันทร์

3. เส้นทางหอศิลป์แม่จัน-แม่สาย-เชียงแสน ได้แก่ บ้านหลายสี อภิรักษ์ ปันมูลศิลป์, หอศิลป์ทรงเดช ทิพย์ทอง, หอศิลป์นริศ รัตนวิมล, ศรีดอนมูลอาร์ทสเปซ ศรีวรรณ เจนหัตถการกิจ

 


หอศิลป์ทรงเดช ทิพย์ทอง - Photo : Facebook page : Thai Art by Songdej Thipthong

 

ผลการศึกษาเครือข่ายแหล่งท่องเที่ยววิถีศิลป์ บนเส้นทางบ้านศิลปินล้านนาของจังหวัดเชียงราย สรุปความพร้อมได้เป็น 5 ประเด็น คือ

1. การดำเนินการกิจกรรมของเครือข่ายมีความต่อเนื่อง

2. ได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนจากหลายฝ่าย

3. มีการพัฒนาฐานข้อมูลเครือข่ายที่ทันสมัย

4. ความพร้อมของกลุ่มศิลปินภายในเครือข่าย

5. การสร้างความร่วมมือกับเครือข่ายภายนอก

 


หอศิลป์ทรงเดช ทิพย์ทอง - Photo : Facebook page : Thai Art by Songdej Thipthong

 

จากผลการดำเนินงานวิจัยควบคู่กับการพัฒนาเครือข่ายแหล่งท่องเที่ยววิถีศิลป์บนเส้นทางบ้านศิลปินล้านนาในปี 2562 ได้ก่อให้เกิดกิจกรรม “เปิดบ้านศิลปินเชียงราย” จำนวน ๓๐ หลัง ๑ หอศิลปะและวัฒนธรรมอำเภอตามมา เพื่อการท่องเที่ยวและส่งเสริมภาพลักษณ์ “เชียงรายเมืองศิลปะอย่างยั่งยืน” นำมาสู่การเป็นเจ้าภาพจัดงานเทศกาลศิลปะนานาชาติ ไทยแลนด์เบียนนาเล่ เชียงราย 2023 เป็นฐานในการจัดแสดงงานภายใต้แนวคิด ‘เปิดบ้านศิลปิน-หอศิลป์ชุมชน’[10] ในหลายเส้นทาง รวมกับกิจกรรมการศึกษาของ Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 บอกถึงศักยภาพความพร้อมในทุกๆ ด้าน นานแล้ว เช่น หอศิลป์พานทอง – พานทอง แสนจันทร์, ยารังษีสตูดิโอ – เสงี่ยม ยารังษี, สุวิทย์ สตูดิโอ – สุวิทย์ ใจป้อม, บ้านเครื่องปั้นดินเผาดอยดินแดง – สมลักษณ์ ปันติบุญ, เฮือนศิลป์วีระชล – วีระชล ศรีละ, บ้านตอดแกลอรี่ – พิชิต สิทธิวงศ์, ควายดินดาก อาร์ทเฮ้าส์ – ชาตะ ใหม่วงค์, Chansin’s Art Studio – ชาญศิลป์ ใจคำ, หอศิลป์เชียงรายไออุ่น – ชัยวิชิต สิทธิวงศ์, หอศิลป์ไตยวน – ฉลอง พินิจสุวรรณ, กำบี้ ปั้นดิน – แก้วฟ้า เกษรศุกร์ และล่าสุด  หอศิลป์ทรงเดช ทิพย์ทอง ทุกบ้านไม่เพียงอยู่ในโปรแกรมการแสดงงานของเชียงรายเบียนนาเล่ เท่านั้น (สิ้นสุด 30 เมษายน 2567) แต่ยังคงเปิดทุกวัน เพื่อให้คนรักงานศิลปะได้มาเยี่ยมเยียนเรียนรู้ได้ตามวันเวลาที่สะดวกตลอดปี และควรที่จะได้รับการส่งเสริมสนับสนุนให้อยู่ใน Road Map ของการท่องเที่ยวจังหวัด เพื่อขยายผลแผนงานต่อไปในอนาคต.

ติดตามความเคลื่อนไหวการแสดงงาน และกิจกรรมการศึกษาทั้ง 33 จุด  ของ Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 ได้ที่ facebook/page :

  • สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย
  • Thailand Biennale 
  • สนง.วัฒนธรรม เชียงราย
  • หอศิลป์ร่วมสมัยเมืองเชียงราย : Chiang Rai international Art Museum (CIAM)
  • ขัวศิลปะ
  • เบียนนาเล่เชียงราย
  • ปอยหลวงศิลปะ เบียนนาเล่เชียงราย
  • กลุ่มส่งเสริมศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม สวจ.เชียงราย

ฯลฯ     ฯลฯ     ฯลฯ     ฯลฯ      ฯลฯ     ฯล

 

คู่มือไกด์บุ๊ค สำหรับเยี่ยมชมผลงานศิลปะ

รูปแบบออฟไลน์ ดาวน์โหลดคู่มือไกด์บุ๊คที่นี่ https://www.thailandbiennale.org/wp-content/uploads/2023/12/TBCR-Brochure-3-23NOV.pdf

รูปแบบออนไลน์ ผ่าน e-book คู่มือไกด์บุ๊ค ที่นี่ https://anyflip.com/kppic/tlle/

https://drive.google.com/file/d/1i0j4ORpvCewuEMQo3-iHArgXBbyszxKr/view?usp=drivesdk

 

ฟรี รถบริการนำชมนิทรรศการ TBC2023 เวลา 08:00 น. - 16:00 น. ทุกวัน

เส้นทางให้บริการรถนำชมนิทรรศการศิลปะร่วมสมัย TBC2023 https://biennalechiangrai-media-info.my.canva.site/main-menu-transportation

 

 

 

[1] ประวัติชีวิตและการทำงาน อาจารย์ทรงเดช ทิพย์ทอง , thaiartcollector.com , สืบค้น 29 ธันวาคม 2566 https://www.thaiartcollector.com/อาจารย์ทรงเดช_ทิพย์ทอง/60bb7dc1fb91e70012993bd4

[2] ไทยแลนด์ เบียนนาเล่เชียงราย2023 , Suwit jaipom , สืบค้น 26 มกราคม 2567 https://www.youtube.com/watch?v=lroDJ2mIWcc

[3]   กวินพร เจริญศรี , เชียงรายเปิดโลกมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ , pridi.or.th , สืบค้น 26 มกราคม 2567 https://pridi.or.th/th/content/2023/12/1784

[4] ปอยหลวง , สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดมุกดาหาร , สืบค้น 20 กุมภาพันธ์ 2567 https://www2.m-culture.go.th/mukdahan/ewt_news.php?nid=129&filename=index

[5]  พระมหาบุญโฮม ปริปุณฺณสีโล (ไชยฤทธิ์) , "พระแท่นวัชรอาสน์ สถานที่ประทับนั่งตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า" ,  mahabunhome.com , สืบค้น 29 มกราคม 2567 http://www.mahabunhome.com/aticle_/trasru.html

[6]  พระพุทธราษฎร์สวัสดิ์มงคล, ratchasawatmongkol.com, สืบค้น 31 มกราคม 2567   https://www.ratchasawatmongkol.com

[7] Thailand Biennale Phuket 2025 ,   thansettakij.com , สืบค้น 15 มกราคม 2567 https://www.thansettakij.com/business/tourism/585837

[8]  ​​Biennale อุบัติการณ์งานศิลปะ ‘ทุก 2 ปี’ ที่ใหญ่ที่สุด , groundcontrolth , สืบค้น 31 มกราคม 2567 https://groundcontrolth.com/blogs/art-term-biennale

[9] ขัวศิลปะ , chiangraicity.go.th , สืบค้น 31 มกราคม 2567  https://chiangraicity.go.th/travel/detail/110

[10]  Chiang Rai Artist Studios , thailandbiennale.org , สืบค้น 26 มกราคม 2567 https://www.thailandbiennale.org/chiang-rai-artist-studio/