ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ศิลปะ-วัฒนธรรม

ดารา ศิลปิน นักแสดง กับ พื้นที่แห่งการถ่ายทอดและต่อยอดความฝัน

14
สิงหาคม
2565

การแสดงเป็นศาสตร์ที่มีมนต์ ยิ่งค้นก็ยิ่งลึก ต่างรับรู้และสัมผัสได้ด้วยหัวใจ จากพลังของการถ่ายทอด เราสามารถโอบกอดตัวละครให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตได้เหมือนเป็นเพื่อนกัน หรือรู้สึกผูกพันประหนึ่งที่พึ่งทางใจอย่างยากจะอธิบายได้ 

แม้หลายบทบาทของผู้แสดงคนเดียวกันในหลากตัวละคร จะซ้อนทับนับไม่ถ้วนที่ล้วนประทับรับไว้ในความทรงจำ แต่ถ้อยคำและจริตกริยาที่ตราตรึง จะบอกถึงพลังจากภายในที่ส่งให้ผู้ชม ซึ่งได้รับการบ่มจากประสบการณ์และวิชาการ ขึ้นอยู่กับฐานความรู้ที่ร่ำเรียนและความเพียรสั่งสม กว่าจะคมพร้อมขายจึงไม่ง่ายเลยสำหรับแผนการตลาดระยะยาว เพราะแต่ละก้าวคือการลงทุนเพื่อต่อยอดสินทรัพย์สำหรับการเป็นมืออาชีพในปัจจุบัน ที่ให้ความสำคัญกับ “ตัวจริง” เท่านั้น ในแต่ละขั้นที่คัดเข้มเพื่อเติมเต็มความเป็น Super Star ดาราของโลก แล้วประเทศไทยอยู่ตรงไหน และกำลังทำอะไรตอบสนองความฝันของคนรุ่นใหม่ เพื่อการก้าวไกลไปสู่เวทีโลก

 

Pop Culture - K-pop - Copy Show - Cover Dance

ภาพรวมในโลกบันเทิงของเด็กหนุ่มสาวชาวเอเชียทุกวันนี้มี Pop Culture เป็นศาสนานำพาชีวิต มีวัฒนธรรมสุดฮิตของการเต้นสไตล์เกาหลีที่เรียกว่า K-Pop เป็นศาสดา เพราะว่าความสำเร็จสูงสุดของเกาหลีทั้งในสายดนตรีและภาพยนตร์ ที่ดารานักร้องทุกคนได้รับการฝึกให้แกร่งกล้าท้าทาย ไม่ใช่แค่เดินสายภายในประเทศ แต่ต้องเวทีระดับโลกเท่านั้น

ความสำคัญที่ถูกขีดเส้นไว้เป็นมาตรฐาน สำหรับรับรองคุณภาพงาน เสมือนการประกาศเกียรติคุณความสำเร็จ เป็นเหตุให้โรงเรียนสอนดนตรี การร้องเพลง และการเต้น (Academy of Dance and Music)  ในไทย เกิดขึ้นมากมาย ปะปนสอนหลายระดับ (ส่วนมากจะเน้นกลุ่มใหญ่วัยรุ่น) เพื่อรองรับตลาดแห่งความฝัน สนุกสนั่นเน้นสอนการเต้นเพื่อ Cover Dance นำแถวหน้ามาด้วย S-Poping, The Inner Studio ฯลฯ ไปจนถึงโรงเรียนที่เน้นหลักสูตรระดับสูงมุ่งสร้างศิลปินเพื่อต่อยอดการเป็นมืออาชีพ ที่สามารถออกแบบท่าเต้นด้วยตัวเองได้ (Choreography) เช่น ฺBangkok Dance Academy, I Star Academy, Zoom Studio และอีกสารพัดแห่งที่มาพร้อมความนิยมรูปแบบใหม่ในการออกกำลังกายสำหรับคนชอบเต้น (Cardio เน้นเคลื่อนไหวร่างกายอย่างต่อเนื่อง สร้างความแข็งแรงให้กับหัวใจ) ฯลฯ และได้รับการสนับสนุนให้มีการประกวดเพื่อก้าวไปสู่เวทีอีกระดับในทุกภูมิภาคของไทย

ความมุ่งมั่นของเสือเอเชียตัวล่าสุดฉุดหัวใจเยาวชน จนกลุ่มที่มีกำลังสร้างฝันต้องฟันฝ่าไปฝากชีวาในต่างแดน แขวนชีวิตไว้กับการฝึกหนักเหมือนทหารหาญเตรียมการออกรบ แล้วความสำเร็จอย่างสง่างามก็เป็นของผู้ที่มานะอดทนเกินคนปกติ เช่น สาวน้อยมหัศจรรย์ ลิซา (ลลิษา มโนบาล) ศิลปินชาวไทยที่ค่าย YG  Entertainment ฟูมฟักจนเติบใหญ่ในเกาหลีจนไต่ไปถึงระดับโลก คือ กรณีศึกษาที่เป็นแม่แบบสำคัญ

ปัจจุบันเธอทำลายสถิติวงการเพลงที่ Guinness Book of World Records  ต้องจารึกไว้ในความสำเร็จของ MV เพลง LALISA เพลงไตเติลจากอัลบั้มเดี่ยวชุดแรกที่มียอดเข้าชมสูงสุดทะลุ 73.6 ล้านวิว ภายใน 24 ชั่วโมง ในปี 2021 (2564) เป็นความสำเร็จที่มาพร้อมความตระหนักของรัฐไทยในพลังของ Soft Power ที่บันดาลให้เศรษฐกิจไทยกระเตื้องในทุกเรื่องที่ลิซาขยับ ตั้งแต่ลูกชิ้นยืนกิน โรตีสายไหม ฯลฯ ไปจนถึงการเข้ายึดพื้นที่ทางวัฒนธรรมของเกาหลีที่ศูนย์การเรียนรู้ K-POP โครงการ “ลิซา BLACKPINK” ของ โรงเรียนโนนสุวรรณพิทยาคม จังหวัดบุรีรัมย์ บ้านเกิดของลิซา ซึ่งเป็น 1 ใน 10 ของโรงเรียนที่ได้รับการคัดเลือกและสนับสนุนจากมูลนิธิเกาหลี ภายใต้โครงการเพื่อการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างประเทศ (KOFICE Good Hallyu Project in Thailand) โดยจัดครูผู้เชี่ยวชาญด้านการเรียนการสอนเต้น K-POP ไปประจำการพร้อมอุปกรณ์ทางเทคโนโลยีครบ จบเรียบร้อยโรงเรียนเกาหลี ก่อนที่รัฐไทยจะทันตระหนักให้ถูกจุดในยุทธศาสตร์ วัฒนธรรมนำเศรษฐกิจ ที่ควรถูกคิดถูกทำมานานแล้ว

 

ผู้บุกเบิกสถาบันศิลปะการแสดง

ปัจจุบันชัดเจนว่า สายบันเทิงเชิงพาณิชย์ได้คิดผนวกวิชาศิลปะการแสดงเข้าไปเป็น package เดียวกันกับ ร้อง-เต้น-เล่นละครเป็นหลักสูตร (สำเร็จ) รวบรัด จัดเรียนระยะสั้นแบบ Training Course เพื่อฝึกสอนตามต้องการของผู้เรียน และตอบโจทย์ของลูกค้าที่มาใช้บริการ ไม่ว่าจะเป็นงานอบรมการแสดงละครทีวี หนังโฆษณา ภาพยนตร์ หรืองาน event เน้นการพัฒนาบุคลิก เช่น The Drama Academy, Khru A Academy, World Star Academy ฯลฯ จุดอ่อนคือความแน่นของภูมิและพลังในการแสดงที่ถูกดูดไปตามการใช้งานในเวลาไม่นานนัก แต่ทั้งหมดนั้นไม่ได้หมายรวมกับอีกส่วนในสายมาตรฐานวิชาการที่เรียกขานว่า ศิลปการละคร (ละครเวที Play, Preforming Art) ซึ่งเปิดสอนเต็มหลักสูตรมานานในมหาวิทยาลัยหลายแห่ง (ปัจจุบันถูกบรรจุอยู่ในแผนการเรียนการสอนระดับสถาบันการศึกษาและโรงเรียนด้วย บางแห่งจัดไว้ในหมวดสันทนาการ กิจกรรมกลุ่ม ชมรม ฯลฯ)

ละครเวทีกับการแสดงที่เข้มขลังทรงพลังมักมีวิธีปฏิบัติ ปรัชญา อุดมคติ และอุดมการณ์ อยู่เบื้องหลังงานที่ประสบความสำเร็จ โดยมีสถาบันเป็นสำนักสำคัญในการปลูกฝังนับตั้งแต่ รองศาสตราจารย์สดใส พันธุมโกมล (ศิลปินแห่งชาติ ปี 2554) ผู้ก่อตั้งภาควิชาศิลปการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อมาจึงขยายสู่สาขาสื่อสารการแสดง คณะนิเทศศาสตร์ (คณะอักษรศาสตรเน้นการเรียน “ศิลปะของละคร” คณะนิเทศศาสตร์เน้นการทำละครเพื่อตอบโจทย์การตลาด) และคณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขานาฏยศิลป์

อีกกูรูที่คู่กันมาในยุคเดียวกันคือ ศาสตราจารย์เกียรติคุณมัทนี (โมชดารา) รัตนิน ผู้ริเริ่มการละครสมัยใหม่ในสาขาวิชาการละคอน คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก่อตั้งก่อนปี 2514 ต่อมาจึงขยายไปสู่คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน สาขาภาพยนตร์และภาพถ่าย โฆษณา วิทยุ โทรทัศน์ และกระจายเสียงไปในมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศ อาทิ คณะอักษรศาสตร์ สาขานาฏศาสตร์ (ศิลปะการละคร) มหาวิทยาลัยศิลปากร คณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาการแสดงและกำกับการแสดง นาฏศิลป์ไทย นาฏศิลป์สากล การออกแบบเพื่อการแสดง มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ โดยมีมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เป็นผู้นำโดดเด่นที่เน้นเรื่องอุปกรณ์การศึกษาที่ทันสมัย ในคณะนิเทศศาสตร์ สาขาศิลปะการแสดง คณะสื่อสารมวลชน สาขาสื่อสารการแสดง วิทยุโทรทัศน์ ประชาสัมพันธ์และโฆษณา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ฯลฯ และไล่ตามมาอีกหลายรุ่น ด้วยคณะละครมากมายที่ต่างเป็นดาวกระจายจากรั้วมหาวิทยาลัยเริ่มในยุค 90s

ภาคเอกชนมีสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 เปิดหลักสูตรอบรมศิลปินฟรีเริ่มเมื่อปี 2523 ในนามสถาบันศิลปะการแสดง (โรงเรียนการแสดงช่อง 3 โดย รองศาสตราจารย์สดใส พันธุมโกมล เป็นผู้วางหลักสูตรการเรียนการสอน), สถาบันกันตนา รัชดา (โดยบริษัทผู้ผลิตรายการโทรทัศน์และภาพยนตร์) ฯลฯ รวมถึงเหล่าแกนนำหัวก้าวหน้าผู้นำพาวิทยาการสมัยใหม่ของละครตะวันตกเข้ามาเผยแพร่ ซึ่งมีผลต่อพัฒนาการด้านละครเวทีในวงกว้างต่อมา โดยมีกูรูที่มีผลงานเป็นเสมือนครูบาอาจารย์ให้รุ่นหลังได้ศึกษาเป็นแบบอย่าง อาทิ คำรณ คุณะดิลก นักสื่อสาร นักละครเวที ผู้บุกเบิก คณะพระจันทร์เสี้ยวการละคร ครูช่าง ชลประคัลภ์ จันทร์เรือง (ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง ปี 2562 สาขาภาพยนตร์และละคร) ผู้ก่อตั้งคณะละครมรดกใหม่ รัศมี เผาเหลืองทอง นักวิชาการด้านวรรณกรรมและการละคร ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม ละคร 28  ยุทธนา มุกดาสนิท ผู้กำกับ เขียนบท ศิลปินแห่งชาติ ปี 2560, อดีตกรรมการผู้จัดการ Grammy Entertainment, ผู้ก่อตั้ง Bangkok Actor Studio สถาบันคุณภาพด้านการสอนศิลปะการแสดงและผลิตภาพยนตร์ ที่มีอายุเพียง 5 ปี ภัทราวดี มีชูธน ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง ปี 2557 (ละครเวทีและภาพยนตร์)  ผู้ก่อตั้งโรงเรียนสอนการแสดงบุญภัทร์ธุรกิจและการละคร ต่อมาพัฒนาเป็น ภัทราวดีเธียเตอร์ โรงละครและสถาบันการศึกษาศิลปะการละครเวที เริ่มปี 2535 ฯลฯ

ปูชนียบุคคลเหล่านี้ ล้วนมีบทบาทสำคัญต่อพัฒนาการของศิลปะการละครไทยมากว่าครึ่งศตวรรษ ปัจจุบัน ทุกท่านได้ถ่ายทอดวิชาการละครและสร้างศิษย์อย่างต่อเนื่อง ทั้งในบทบาทของนักแสดงและนักวิชาการด้านละครเวที ล่าสุดที่เพิ่งเปิด Finale Academy สถาบันสอนศิลปะการแสดงแห่งใหม่ มีนโยบายเพื่อลบจุดอ่อนของดารา ศิลปิน และเพิ่มจุดแข็งให้นักแสดง จากการรวมตัวกันของสองบริษัทคือ DreamBox Acting Studio โดย เอื้ออาทร วงศ์ศิริ โปรดิวเซอร์และผู้ฝึกสอนการแสดง สุวรรณดี จักราวรวุธ ศิลปินศิลปาธร ผู้กำกับละครเวทีที่มีผลงานคุณภาพมากมายของโรงละคร DreamBox (โรงละครกรุงเทพฯ) และ วิรัตน์ เฮงคงดี ผู้อำนวยการฝ่ายผลิตละครโทรทัศน์แห่ง Workpoint Entertainment นำบริษัทลูก Skybox Entertainment (บริหารศิลปิน-นักแสดง) เข้าผนึกกำลังให้วงการมีความหวัง เพราะเก่งทั้งธุรกิจและบุคลากร แม้สอนแบบ training course แต่จัดเต็มคอร์สละ 3 ปี

 

Moradokmai Theatre Community & Homeschool

ครูช่าง ชลประคัลภ์ จันทร์เรือง ผู้ก่อตั้งคณะละครมรดกใหม่ เปิดโรงละครแรกที่ตึกช้างกลางกรุงเทพฯ ถนนพหลโยธิน เป็นเวทีให้ลูกศิษย์ได้ฝึกและเปิดการแสดง ก่อนย้ายไปสร้างสำนักศิลปะการละครเพื่อการพัฒนาที่คลอง 6 จังหวัดปทุมธานี และยังคงสร้างสานงานละครอย่างต่อเนื่องในรูปแบบละครเพื่อการศึกษาสัญจรตามโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศ และยกทีมไปทัวร์ต่างประเทศกันในวาระพิเศษ มีวรรณคดี วรรณกรรม นิทาน ตำนาน ฯลฯ เป็นตำราวิชาเขียนบท ฯลฯ ก่อนตีความใหม่แล้วถ่ายทอดออกไปในวิธีคิดที่เป็นอิสระของแต่ละกลุ่ม

ปัจจุบันขยายอาณาจักรเป็น ศูนย์การเรียนรู้บ้านเรียนละครมรดกใหม่ (Moradokmai Homeschool) เป็นหนึ่งในฐานการเรียนรู้หลักสูตรศิลปศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชาผู้ประกอบการสังคม สถาบันอาศรมศิลป์ (เรียนที่มรดกใหม่รับใบประกาศฯ ที่ออกให้โดยสถาบันอาศรมศิลป์) ที่นี่เป็น “หมู่บ้านศิลปิน” ที่ทุกคนใช้ชีวิตอยู่คู่กับการเรียนรู้วิชาศิลปะการละครอย่างเป็นหนึ่งเดียว และเผื่อที่ทางให้ศิลปินต่างถิ่นได้พำนักเรียนร่วมกันทั้งระยะสั้นและระยะยาว Artist Resident) มีโอกาสได้ร่วมเรียนรู้บูรณาการหลอมรวมไปกับวิถีชีวิตซึ่งพึ่งพาตัวเองได้ เลือกทำมาหาเลี้ยงชีพตามความเหมาะสมของแต่ละคน

บนบริบทสังคมส่วนรวมที่อยู่ร่วมกัน ครูช่างสอนและให้ทุกคนฝึกฝนไปพร้อมกับจัดการแสดง เพื่อให้ประสบการณ์เป็นครูจากการเรียนรู้ด้วยตัวเอง ในแต่ละปีจะมีการจัดงานโครงการพิเศษ “เทศกาลละครนานาชาติ” (Moradokmai International Theatre Festival) เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และแสดงงานร่วมกัน ระหว่างเยาวชนคนละครไทยกับต่างประเทศทั่วโลก เป็นวาระรวมเครือข่ายจากทุกสายทั่วประเทศ ทั้งศิษย์เก่า กลุ่มละคร สถาบันการศึกษา กลุ่มภาคีพัฒนาสังคม ฯลฯ โชว์ผลงาน 4-5 วัน เหมือนทุกรุ่นทุกกลุ่มได้มาทุ่มเทร่วมใจกันสังสรรค์ ในวาระสำคัญของชีวิต  

 

โรงเรียนภัทราวดี หัวหิน และโรงละคร วิกหัวหิน

ครูเล็ก ภัทราวดี มีชูธน เคลื่อนย้าย ภัทราวดีเธียเตอร์ ลงใต้ บนทางสายหัวหิน-ปราณบุรี แรกดำริตั้งโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ศิลปะการแสดง (Pataravadi School of Performing Arts) ต่อมาพัฒนาแผนจนตกผลึกเป็น โรงเรียนภัทราวดี หัวหิน ในปี 2552 เปิดรับระดับอนุบาลถึงมัธยมศึกษา จำกัดจำนวนนักเรียนทุกชั้นรวมแล้วไม่เกิน 100 คน ร่วมเรียนรู้ในแนวทางเดียวกัน “นักเรียนคือศูนย์กลาง” อันมีศิลปศาสตร์เป็นสื่อประสานบูรณาการทุกวิชาตามนโยบายของโรงเรียนภัทราวดี หัวหิน

หลักสูตรสามัญสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ภายในอาณาบริเวณเดียวกันเป็นที่ตั้งของโรงละคร “วิกหัวหิน”  ที่มีสถานะสำคัญเป็นสถาบันฝึกอบรมวิชาศิลปะการแสดงทุกสาขา เช่น นาฏศิลป์ คีตศิลป์ ฯลฯ ของบรรดาครู อาจารย์ นักเรียน นักศึกษา ทั้งชาวไทยทั่วประเทศและชาวต่างชาติจากทั่วโลก (lecture, workshop, seminar, forum and conference)  โดยเฉพาะศิลปะการแสดงละครเวที ดนตรี และวรรณกรรม ทุกปีจะมีการแสดงละครเวทีโดยมีดาราและนักแสดงมืออาชีพที่ได้รับการคัดเลือกจากครูเล็กมาแสดงนำ สมทบด้วยนักเรียนที่เหมาะกับบทของแต่ละเรื่อง ร่วมฝึกฝนประสบการณ์แบบเก็บดาวดวงใหม่ไปใส่ฟ้า

นักเรียนทุกชั้นทุกคนมีโอกาสได้เลือกบทบาทของตัวเองตามความถนัดในทุกหน้าที่ ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง สลับกับ Concert in School เป็นการโชว์ผลงานการแสดงดนตรีของนักเรียนทุกชั้นที่ชอบการร้องเพลงและเล่นดนตรี หลังฝึกหนักมาตลอดปี รวมถึงการโชว์ผลงานของนักเรียนทุกระดับจากทั่วประเทศใน Summer Camp ช่วงปิดเทอมเดือนเมษายนของทุกปี และยังมีโครงการพิเศษแทรกเข้ามาให้คนเก่งแจ้งเกิดแข่งกันในวาระต่างๆ ตามความเหมาะสม เช่น ร่วมกับนักเรียนบ้านกาญจนาภิเษกแสดงละคร-เล่นดนตรีบนสเก็ตบอร์ดในโครงการ “เสน่ห์รอยร้าว” หรือ ฝึกงานและร่วมแสดงกับมืออาชีพในการถ่ายทำละครโทรทัศน์ในโครงการ “เสน่ห์รอยรั่ว” ฯลฯ 

ครูเล็กมีหลักชัยให้ทุกคนตั้งหวังว่า “อย่าพอใจแค่ในระดับประเทศ แต่ต้องเป็นหนึ่งในระดับโลกให้ได้” ตามแนวทางที่ครูได้ปูไว้ตลอดมาเป็นเวลากว่า 50 ปี ของ ภัทราวดี มีชูธน

 

ศิลปะแห่งการถ่ายทอดจิตวิญญาณการแสดง

เบื้องหลังการแสดงที่เปี่ยมพลัง คือ การมอบทั้งชีวิตเพื่อซึมซับรับรู้การถ่ายทอดจากครูอย่างใกล้ชิด เพื่อฝึกกาย-จิตอย่างมีวินัย ก่อนสวมวิญญาณผสานลมหายใจกับตัวละครอย่างเป็นธรรมชาติในทุกแนว แม้ไม่ใช่การแสดงแบบเหมือนจริง (Realism-สัจนิยม) ก็ต้อง “จริง” จากข้างในและลื่นไหลโดยไม่ให้เห็นเป็น “การแสดง” กูรูทั้งสองท่านคือต้นแบบของสถาบันและครูสายการเรียนรู้ศิลปะการแสดงเฉพาะทาง แม้ต่างวิธีคิดและวิธีทำที่ล้ำสมัย ซึ่งไม่ใช่แค่วิชาละครแต่สอนประสานการฝึกทักษะชีวิต เพื่อพิชิตโลกใหม่ในอนาคต ไม่มีกฎ เงื่อนไขในการเลือกเพื่อไปให้สุด แค่อย่าหยุดฝันแล้วหมั่นลงมือทำ เท่านั้นเอง