ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ศิลปะ-วัฒนธรรม

THACCA SPLASH 2024 : Soft Power Forum (SPF101)

31
กรกฎาคม
2567

Focus

  • THACCA หรือ Thailand Creative Culture Agency เป็น “องค์กรสร้างงาน สร้างอุตสาหกรรมสร้างสรรค์” มีจุดมุ่งหมายที่จะสร้างคน 20 ล้านคน ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ  และ “สร้างงาน 20 ล้านตำแหน่ง” เพื่อรองรับแรงงานเหล่านี้ด้วย โดยมีเป้าหมายใหญ่ 11 อุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ ซึ่งทางองค์กรได้จัดงาน “THACCA SPLASH : Soft Power Forum 2024” ผ่านไปเมื่อวันที่ 28-30 มิถุนายน 2567 โดยการจัดงานตั้งเป้าให้เปิดกว้างสำหรับประชาชนทุกกลุ่มและเป็นเวทีแห่งโอกาสในการแลกเปลี่ยนมุมมองของผู้ประสบความสำเร็จในวงการ Soft Power ระดับโลก มุ่งมั่นปักหมุด 3 สร้าง คือ สร้างแรงบันดาลใจให้ทุกคนตระหนักในศักยภาพของตัวเอง สร้างเวทีแลกเปลี่ยนนานาชาติเพื่ออุตสาหกรรม  Soft Power ของไทย ผ่านการเรียนรู้ case study ของไทยในต่างประเทศ และสร้างการรับรู้ให้เกิดอย่างกว้างขวางถึงพลัง Soft Power ไทย ให้สื่อสารทุกทิศทางอย่างทรงพลัง เปรียบเสมือนการสาด (splash)
  • บทสรุปงานผู้เขียนวิเคราะห์ว่า THACCA SPLASH 2024 ครั้งที่ 1 จบลงไปด้วยการสร้างปรากฏการณ์ที่แสดงให้เห็นถึงจุดแตกต่างทางความคิดของคนหลายกลุ่ม โดยมีจุดเด่น คือ content ของการเสวนา และมีวิทยากรหลากหลาย มีจำนวนมากในทุกสาขา จุดอ่อน คือการออกแบบจัดสรรพื้นที่กว้างใหญ่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดเพราะความยิ่งใหญ่ของการจัดงานไม่ได้วัดกันด้วยขนาดของพื้นที่ หรือการโชว์เทคนิคภาพ-เสียงสุดยอดเทคโนโลยีที่มีคุณภาพเท่านั้นหากควรวัดกันที่ ‘คุณค่าแท้จริง’ นั่นหมายถึงเนื้อหาที่สื่อสารในอีกระดับของการจัดงานฯ

 


photo : THACCA SPLASH : SOFT POWER FORUM 2024

 

ยุทธศาสตร์การขายงานศิลปะและวัฒนธรรมของรัฐบาล (ที่กำลังอยู่ในระหว่างการเสนอเพื่อจะออกเป็นพระราชบัญญัติให้เสร็จสิ้นภายในกลางปี 2568) เป็นโครงการเรือธงแรกที่ท้าทายของ พรรคเพื่อไทย ซึ่งได้รับการจับตาสูงเพราะเป้าหมายตามประกาศคือ ‘การสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างรายได้อย่างทั่วถึง’ ตามแบบอย่างที่ยึดคือ KOCCA (Korea Creative Content Agency) ของเกาหลีใต้ หรือ TAICCA (Taiwan Creative Content Agency) ของไต้หวัน แต่ด้วยวิธีคิดของไทย THACCA จึงมีขอบเขตการสร้างแบรนด์ (Soft Power แบบไทย) ให้มีแนวทางที่เป็น Multi Focus ไม่ใช่ Single Focus เหมือนประเทศต้นแบบที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว THACCA เน้นสนับสนุนเฉพาะอุตสาหกรรมเนื้อหาเป็นหลัก เช่น ภาพยนตร์ เกม หนังสือ แอนิเมชัน ดนตรี และยังครอบคลุมไปถึงอุตสาหกรรมอาหาร กีฬา และการท่องเที่ยว  ด้วยเหตุผลว่า อุตสาหกรรมเหล่านี้อยู่นอกเหนือจาก ‘อุตสาหกรรมเนื้อหา’ แต่ตั้งอยู่บนฐานของ ‘วัฒนธรรมสร้างสรรค์’  ตั้งแต่วัฒนธรรมดั้งเดิมไปจนถึงวัฒนธรรมร่วมสมัย THACCA (Thailand Creative Content Agency) จึงถูกเปลี่ยนชื่อเต็มใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจที่จะสนับสนุนอุตสาหกรรมที่อยู่บนฐานของ “วัฒนธรรมสร้างสรรค์” จึงเป็น “Thailand Creative Culture Agency” ให้เต็มที่หลายสาขาเพราะเข้าใจว่า ‘เนื้อหา’ มีอยู่ในทุกประเภทของ ‘สินค้า’ ขึ้นกับวิธีการนำเสนอว่าจะ present ให้ content ออกมาอย่างไร และด้วยวิธีการแบบไหน (เนื่องจากการตีความ นิยาม คำว่า Soft  Power ที่แตกต่างกัน ไทยให้ความสำคัญสิ่งนี้ในฐานะของ ‘สินค้าส่งออก’ จึงใช้ยุทธศาสตร์แบบ Multi Focus เจาะชัด ๆ พร้อมกัน 11 สาขา ไม่มีปัญหากับทฤษฎีการตลาดที่ฉลาดเก่งกล้าซึ่งบัญญัติการสร้างแบรนด์ (Brand Awareness) ไว้ว่า ควรเลือกมาสักอย่างแล้วสร้างให้ ‘เกิด’ และรับรู้ทั่วโลก ที่เหลือจะหลั่งไปตามการไหลของ ‘กระแส’ แน่นอน)

 


photo : THACCA SPLASH : SOFT POWER FORUM 2024

 

“Thacca Splash : Soft Power Forum 2024” งาน event ระดับชาติถูกเนรมิตรขึ้นบนชั้น G ใช้พื้นที่ 1,800 ตารางเมตร ของ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ (NCC) ภายในเวลากว่าสองเดือนโดยบริษัท Index หนึ่งในผู้นำ organizer ระดับแถวหน้ามาแสดงฝีมือจากโจทย์โหดระดับปราบเซียน ทดสอบบทเรียนสำคัญก่อนเลื่อนขั้นขึ้นชั้น ‘Super IMC’[1] ใน ‘อีกสาย’ ของการจัดงานที่ไม่ง่ายและไม่ธรรมดา แม้สำหรับมือเทวดาที่สรรมาเสกงานสายศิลปะ (ให้ตรงกับจังหวะวันเปิดอัลบั้มเพลงของ ‘QUEEN OF SOFT POWER’ ในวันที่ 28 มิถุนายน 2567 โดย ‘ QUEEN OF THACCA’) เพราะไม่ใช่ Trade Events ทั่วไปที่คุ้นเคย บนอัครมหาสถานศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ (NCC) 4 โซนบนพื้นที่กว้างใหญ่ให้กลายเป็นสนามประลองยุทธศาสตร์ สร้างปรากฎการณ์เพื่อประกาศ ‘อำนาจเสน่ห์’  ความเท่ในนโยบายของพรรคเพื่อไทย บนความฝันของคนทำงานสร้างสรรค์ทั่วประเทศ ที่วงการ Agency ไม่สามารถจัด Value Proposition Canvas[2] วัด ‘คุณค่าที่แท้จริง’ ได้ ไม่ว่าด้วยรูปแบบของการจัดงานหรือจำนวนผู้เข้าชมก็ตาม

 


photo : THACCA SPLASH : SOFT POWER FORUM 2024

 

OFOS นโยบายสร้างคน & THACCA องค์กรสร้างงาน[3]

การผลักดัน Soft Power ไทยจะเป็นจริงได้ ต้องทำทั้งระบบด้วยการ “สร้างแรงงานทักษะสูง 20 ล้านคน” ด้วยนโยบาย 1 ครอบครัว 1 Soft Power (OFOS - One Family One Soft Power) และต้อง “สร้างงาน 20 ล้านตำแหน่ง” ด้วยเจ้าภาพหลัก คือ Thailand Creative Content Agency (THACCA) ที่จะดูแล Soft Power อย่างเป็นระบบ ครบวงจร  ทั้งนี้ OFOS กับ THACCA มีความเกี่ยวข้องกันในรูปแบบของ “นโยบาย” กับ “องค์กรที่มีหน้าที่ขับเคลื่อนนโยบาย” โดย OFOS นั้นเป็น “นโยบายสร้างคน” ที่ต้องการให้ “ทุกครอบครัว” สามารถ Upskill-Reskill ผ่าน “ศูนย์บ่มเพาะสร้างสรรค์” เพื่อยกระดับศักยภาพแรงงานด้านความสร้างสรรค์ให้สูงขึ้น สำหรับการฝึกอบรมจะแบ่งเป็นระดับตามขั้นบันได จากระดับพื้นฐานจนถึงระดับมืออาชีพ พร้อมใบ Certificate รับรองศักยภาพ โดยศูนย์ฯ จะกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ เพื่อให้ทุกครัวเรือนเข้าถึงได้ตั้งแต่ระดับตำบล → จังหวัด → ประเทศ และหากต้องการต่อยอด ก็มีทุน
ให้ศึกษาต่อในต่างประเทศได้ด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ

สำหรับ OFOS ถือเป็นนโยบายที่มุ่งเน้นการพัฒนาทักษะฝีมือคนไทยครั้งใหญ่เพื่อ “สร้างคน” หรือสร้างแรงงานที่มีทักษะด้านความคิดสร้างสรรค์ขั้นสูง จำนวน “20 ล้านคน จาก 20 ล้านครอบครัว” ทั่วประเทศไทย เพื่อให้ทุกครอบครัว “สร้างรายได้” ไม่น้อยกว่า 200,000 บาทต่อปี

ขณะที่ THACCA จะเป็น“องค์กรสร้างงาน” จำนวนไม่ต่ำกว่า 20 ล้านตำแหน่ง เพื่อรองรับแรงงาน 20 ล้านคน ที่เป็นผลผลิตจากนโยบาย OFOS  ซึ่ง THACCA จะดำเนินการ “สร้างอุตสาหกรรมสร้างสรรค์เต็มระบบ” ด้วยอำนาจเบ็ดเสร็จ โดยประสานกับกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ให้เติบโตขึ้น ภายใต้ยุทธศาสตร์  Soft Power ของประเทศ

 


photo : THACCA SPLASH : SOFT POWER FORUM 2024

 

"ปฏิญญา THACCA" - เจตนารมณ์ และบทถัดไปของ Soft Power ไทย

THACCA หรือ Thailand Creative Culture Agency เป็น “องค์กรสร้างงาน สร้างอุตสาหกรรมสร้างสรรค์” มีจุดมุ่งหมายที่จะสร้างคน 20 ล้านคน ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ  และ “สร้างงาน 20 ล้านตำแหน่ง” เพื่อรองรับแรงงานเหล่านี้ด้วย โดยมีเป้าหมายใหญ่ 11 อุตสาหกรรมซอฟท์พาวเวอร์หลังจากได้จัดงาน “THACCA SPLASH : Soft Power Forum 2024” ผ่านไปเมื่อวันที่ 28-30 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา การจัดงานตั้งเป้าให้เปิดกว้างสำหรับประชาชนทุกกลุ่ม ตอบโจทย์ทุกความสนใจ เป็นเวทีแห่งโอกาสในการแลกเปลี่ยนมุมมองของผู้ประสบความสำเร็จในวงการ Soft Power ระดับโลก มุ่งมั่นปักหมุด 3 สร้าง คือ

  • สร้างแรงบันดาลใจให้ทุกคนตระหนักในศักยภาพของตัวเอง
  • สร้างเวทีแลกเปลี่ยนนานาชาติเพื่ออุตสาหกรรม  Soft Power ของไทย ผ่านการเรียนรู้ case study ของไทยในต่างประเทศ
  • สร้างการรับรู้ให้เกิดอย่างกว้างขวางถึงพลัง Soft Power ไทย ให้สื่อสารทุกทิศทางอย่างทรงพลัง เปรียบเสมือนการสาด (splash)

หลังการทำงานตลอดระยะเวลากว่า 9 เดือน 17 วัน นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองประธานคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ได้สรุปเนื้อหาที่เป็นความรู้สึกร่วมกันของทุกฝ่าย (คณะกรรมการพัฒนา Soft Power แห่งชาติ  คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมทั้ง 11 ด้าน และหน่วยงานต่างๆ ที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาและขับเคลื่อน) ออกมาเป็น "ปฏิญญาทักก้า" หรือ "Declaration of THACCA" ไว้ 5 ประการ และได้ประกาศอย่างเป็นทางการบนเวทีงานเปิด THACCA SPLASH : Soft Power Forum 2024 ไว้ดังนี้

ประการที่ 1 ในยามที่ประเทศไทยลำบาก เศรษฐกิจเปราะบาง ประชาชนต้องการความหวัง Soft Power คือยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่สุดยุทธศาสตร์หนึ่งของรัฐบาล ไม่ใช่การมาหาคำนิยาม ไม่ใช่คำเท่ ๆ ที่พูดกันไปปากต่อปาก ไม่ใช่เป้าหมายว่าเราทำ Soft Power เพื่อ Soft Power แต่เราทำ Soft Power เพื่อเป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศไทยครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่ง เราอยากจะเปลี่ยนรายได้ของประเทศให้สามารถที่จะทำให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางเป็นประเทศที่มีรายได้สูง

ประการที่ 2 เรารู้ดีว่ายุทธศาสตร์ Soft Power ที่จะทำต่อไปนี้ จะต้องลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ทุกคนต้องได้ประโยชน์จากนโยบายนี้ จะต้องไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง การฝึกฝนทักษะฝีมือระดับสูงหรือความคิดสร้างสรรค์ จะทำให้เกิดการพัฒนาทักษะระดับสูงครั้งที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ คือมีคนถึง 20 ล้านคนที่จะได้รับประโยชน์นี้

ประการที่ 3 เรารู้ดีว่าการขับเคลื่อน Soft Power ครั้งนี้ เราจะต้องมีการเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารจัดการครั้งที่ใหญ่ที่สุด บางส่วนจะต้องรวมศูนย์และบางส่วนจะต้องกระจายอำนาจ ในด้านที่รวมศูนย์ เราจะต้องมีการรวมศูนย์การกำหนดยุทธศาสตร์ จะต้องมีการรวมศูนย์ในการกำหนดงบประมาณเพื่อทำตามแผนยุทธศาสตร์นั้น เราจะมีการตั้ง สำนักงานส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ หรือ Thailand Creative Culture Agency (THACCA) โดยจะออกเป็นพระราชบัญญัติให้เสร็จสิ้นในกลางปี 2568 ในด้านที่กระจายอำนาจ เรารู้ดีว่าเราจะต้องกระจายให้จังหวัดและท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนยุทธ Soft Power  ที่ประสานสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ระดับชาติ เราจะให้มีคณะอนุกรรมการ Soft Power ระดับจังหวัด ทุกจังหวัด ในขณะเดียวกันก็ต้องมีหน่วยงานที่ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ อย่าง TCDC ในทุกจังหวัด เช่นเดียวกัน

ประการที่ 4 การขับเคลื่อนยุทธ Soft Power นี้ จะมีการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน โดยภาครัฐจะทำหน้าที่สนับสนุนอำนวยความสะดวก , ปรับปรุงกฎหมาย, พัฒนาระบบนิเวศ, จัดตั้งกองทุน, จัดตั้ง ‘One Stop Service’ เพื่อให้ภาคเอกชนได้มีบทบาทในการขับเคลื่อนอย่างจริงจัง และจัดตั้งสภาอุตสาหกรรมของ Soft Power ด้านต่าง ๆ เช่น สภาภาพยนตร์, สภาดนตรี, สภาศิลปะ, สถาบันหนังสือแห่งชาติ, สถาบันอาหาร และสถาบันแฟชั่น เป็นต้น

ประการที่ 5 เราจะทำให้ Soft Power ในฐานะที่เป็นเครื่องมือทางเศรษฐกิจที่จะมุ่งเน้นในการทำให้ ‘เสน่ห์ของคนไทย’ ไปสู่ตลาดระดับโลกผ่านการทูตเชิงวัฒนธรรม ขับเคลื่อนโดยท่านเอกอัครราชทูต ท่านทูตพาณิชย์ ที่ประจำอยู่ในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ในขณะเดียวกัน เราก็จะส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือกับมิตรประเทศ เพื่อที่จะประสานความสามารถในการขับเคลื่อนในเวทีโลกด้วยกัน

“การจัดงาน THACCA SPLASH : Soft Power Forum 2024 ครั้งนี้ ถือเป็นงานระดับนานาชาติที่ได้รับคำชมจากวิทยากรและผู้เข้าร่วมงานจำนวนมาก เราจะจัดงานซอฟต์พาวเวอร์ต่อเนื่องกันไปทุกปี เราหวังว่าแสงแห่งความหวังที่ได้เริ่มต้นในสามวันนี้ จะนำพาให้เราได้นำแสงสว่างนี้ไปถึงชีวิตของคนไทยทุกคนที่ต้องการความหวัง ในทุกถิ่นทั่วไทย เป็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ให้กับประเทศไทย เรารู้ดีว่าเรากำลังทำเรื่องที่ยากที่สุดเรื่องหนึ่ง เรากำลังทำเรื่องที่อาจจะไม่เคยมีใครทำมาก่อนเลยในประเทศนี้

เราคิดว่าเราจะต้องช่วยกันขับเคลื่อนไม่ใช่แค่พวกเราทั้ง 12 คนบนเวทีแห่งนี้ ท่านประธานกรรมการพัฒนา Soft Power แห่งชาติ (แพทองธาร ชินวัตร) แล้วก็หลายท่านที่เป็นผู้มีเกียรติอยู่ในที่นี้ แต่เราจะต้องช่วยกันขับเคลื่อนทั้งสังคม ทุกอย่างที่เริ่มต้นใหม่อาจจะมีข้อบกพร่อง อาจจะไม่สมบูรณ์แบบ แต่เราก็พร้อมจะแก้ไขปรับปรุงต่อเนื่องตลอดเวลา เพราะเรารู้ว่าเรากำลังทำงานที่ยากที่สุด ทะเยอทะยานที่สุด มันก็จะต้องมีจุดเริ่มต้น และจุดเริ่มต้นก็คือวันนี้”

 


photo : THACCA SPLASH : SOFT POWER FORUM 2024

 

พันธกิจของ THACCA เพื่อผลักดัน ‘Soft Power ไทย’  ให้ครบวงจร

1. THACCA เป็นเจ้าภาพหลักดูทั้งระบบจบที่เดียว เบ็ดเสร็จในองค์กรเดียว โดยไม่ต้องประสานหลายหน่วยงาน

2. กองทุนรวมซอฟต์พาวเวอร์รวมกองทุนที่กระจัดกระจายในหลายหน่วยงานให้อยู่ภายใต้การดูแลของ THACCA และเติมทุนให้ทุกสาขาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ลดหย่อนภาษีสร้างแต้มต่อให้รายเล็กและรายใหม่

3. ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ขยายงาน TCDC ให้ครบทุกจังหวัด เพิ่ม Co-Working Space สร้างสิ่งอำนวยความสะดวกครบวงจร เชื่อมโยงสถานที่ท่องเที่ยวด้วยระบบขนส่งมวลชน และลงทุนถนน ราง เรือ ขยายสนามบิน

4. ยกระดับคนทำงานด้วย 1 ครอบครับ 1 Soft Power (OFOS)

สร้างศูนย์บ่มเพาะเพื่อยกระดับศักยภาพสร้างสรรค์ทุกพื้นที่ เรียนฟรีมีเงินเดือนผ่านการเรียนไปทำงานไป สนับสนุนให้ตั้ง ‘สหภาพคนทำงาน’ ในทุกสาขา เพื่อสร้างความเป็นธรรมในการจ้างงานและคุ้มครองสวัสดิการ

5. รื้อกฎหมาย ทลายอุปสรรค เลิกงานเอกสาร ลดขั้นตอน ลัดเวลา ในการประสานงานและการขอใบอนุญาตทุกฉบับ, แก้กฎหมายที่เป็นอุปสรรค, ปลดล็อคสุราเสรี, ปลดล็อคเวลาเปิดปิดธุรกิจกลางคืน, กวาดล้างขบวนการรีดไถ่จ่ายส่วยให้หมดไป

6. ปลดปล่อยเสรีภาพในการแสดงออก, เลิกเซนเซอร์, เปิดพื้นที่แสดงออก,  ไม่ตีกรอบความคิดสร้างสรรค์

7. เร่งผลักดัน 11 อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ โดยมีเป้าหมายเร่งส่งออกสินค้าสร้างสรรค์ , เจรจาเปิดตลาดใหม่ ขยายขนาดอุตสาหกรรม , สร้างงาน 20 ล้านตำแหน่ง (11 อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ประกอบด้วย อาหาร, แฟชั่น, การออกแบบ, ศิลปะ, เกม, กีฬา, ภาพยนตร์, ละคร และซีรีส์, การท่องเที่ยว, เฟสติวัล, ดนตรี และหนังสือ

 


photo : THACCA SPLASH : SOFT POWER FORUM 2024

 

THACCA : นโยบายเพื่อ “ศิลปะร่วมสมัย” ไทย

ประกาศให้ทราบทั่วกัน : นอกจาก THACCA จะดูนโยบายส่งเสริม Soft Power ในภาพรวมแล้ว THACCA ยังต้องลงรายละเอียดทำนโยบายส่งเสริมแต่ละอุตสาหกรรม Soft Power และนี่คือ นโยบายเพื่อ “ศิลปะร่วมสมัย” ไทย โดย เสริมคุณ คุณาวงศ์ ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านศิลปะ

1. ปรับปรุงกองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย

ย้ายกองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัยมาอยู่ภายใต้ THACCA และปรับปรุงระเบียบกองทุนเพื่อสนับสนุนศิลปะร่วมสมัยอย่างครอบคลุม รวมถึงสนับสนุนให้ศิลปินไปแสดงงานศิลปะและส่งไปเรียนต่อต่างประเทศ

2. ปลดล็อคทุกความคิดสร้างสรรค์

ไม่ยัดเยียดตีกรอบ ไม่กำหนดค่านิยมในการสนับสนุนศิลปะ ระเบิดความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างเต็มที่

3. แก้กฎหมาย คลายระเบียบ

ปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้ศิลปินสามารถจดทะเบียนเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไรได้ง่ายขึ้น และให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีกับเอกชนที่สนับสนุนด้านศิลปะ

4. ลดภาษีอุปกรณ์ศิลปะเหลือ 0%

ลดภาษีอุปกรณ์ศิลปะจากเดิมที่เก็บอยู่ 10% ให้เหลือ 0% เพื่อให้ศิลปินได้ใช้อุปกรณ์ที่ดีในราคาถูก

5. คูปองท่องฝัน

แจกคูปองท่องฝันให้แก่เยาวชนเพื่อนำไปดูงานสร้างสรรค์ได้ทุกสาขา ไม่ใช่เฉพาะศิลปะเท่านั้น แต่รวมถึงไปซื้อหนังสือ ดูคอนเสิร์ต เสพดนตรี และอื่น ๆ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ สานฝันเด็กไทย

6. 1 ตำบล 1 ลานสร้างสรรค์

เปิดพื้นที่สร้างสรรค์ให้ศิลปินสามารถแสดงผลงานได้อย่างเต็มที่ในทุกเขตทุกตำบลทั่วประเทศ

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของนโยบายเพื่อ “ศิลปะร่วมสมัย” ไทย เพราะ THACCA จะมีกลไกให้คนในวงการศิลปะเข้ามาช่วยกำหนดและผลักดันนโยบายที่ควรจะมี เพื่อให้วงการศิลปะไทยไปไกลกว่าที่เป็นอยู่

เป้าหมายในการขับคเลื่อนอุตสาหกรรมด้านศิลปะ หลังการจัดงาน THACCA SPLASH : Soft Power Forum 2024 จะมีการขับเคลื่อนงานทั้ง Fine art และ Performing art (นำเสนอนโยบายโดย เสริมคุณ คุณาวงศ์ ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านศิลปะ)

1. Thailand art move คือ Digital Platform ที่เปรียบเสมือนหน้าต่างบานใหญ่ให้กับศิลปะไทย และเพื่อให้ศิลปะไทยไปต่างประเทศ

- สร้างแพลตฟอร์มที่รวบรวม stakeholder ที่เกี่ยวข้องในวงการเข้าไว้ด้วยกัน เป็นหน้าต่างผู้สนใจงานศิลปินไทย ให้ง่ายต่อการเข้าถึง รวมถึงการซื้อขายงานศิลปะได้ง่ายขึ้น

- แสดงรายการงาน event ศิลปะต่าง ๆ ที่จัดขึ้นแบบ real time แสดงข้อมูลแผนที่ ข้อมูลภายในพื้นที่จัดแสดงว่ามีงานศิลปะใดบ้าง

2. โครงการสร้างหอศิลป์แห่งใหม่ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ศิลปะไทย โดยมีพื้นที่มากถึง 15,000 ตรม. เพื่อรวบรวมงานศิลป์ที่หลากหลาย มีคุณค่า แสดงความยิ่งใหญ่ของศิลปินไทย ซึ่งในหอศิลป์แห่งนี้จะรวมงานศิลปะที่จะมาจัดแสดงมูลค่ากว่า 5,000 ล้านบาท

“เราจะทำให้หอศิลป์ใหม่นี้เป็นเหมือน พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ (Louvre Museum) ในฝรั่งเศส หรือพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโปลิแทน (The Met) ใน New York”

 


photo : THACCA SPLASH : SOFT POWER FORUM 2024

 

คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านศิลปะ

ลำดับ รายชื่อ การทำงาน ตำแหน่ง
(1) คุณเสริมคุณ คุณาวงศ์ ประธานบริษัท อาร์ต แท็งก์ กรุ๊ป จำกัด ประธานอนุกรรมการ
(2) คุณกิตติภรณ์ ชาลีจันทร์ นายกสมาคมนักสะสมงานศิลปะไทย อนุกรรมการ
(3) คุณนที อุตฤทธิ์ ศิลปินร่วมสมัยเจ้าของรางวัลศิลปาธร สาขาทัศนศิลป์ ประจำปี 2562 อนุกรรมการ
(4) คุณพรรัตน์ ดำรุง ภาคีสมาชิก​ราชบัณฑิตสำนักศิลปกรรม และ ศาสตราจารย์​ประจำภาควิชาศิลปการละคร​ คณะอักษรศาสตร์​ จุฬาลงกรณ์​มหาวิทยาลัย อนุกรรมการ
(5) คุณพิสาข์ ไวความดี คนรุ่นใหม่ที่ช่วยนำพาศิลปะการแสดงไปสู่สากล อนุกรรมการ
(6) คุณลักขณา คุณาวิชยานนท์ ภัณฑารักษ์และอดีตผู้บริหารหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร อนุกรรมการ
(7) คุณสุคนธ์ทิพย์ นาคเกษม ผู้ก่อตั้ง Warin Lab Contemporary อนุกรรมการ
(8) คุณถกลเกียรติ วีรวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) อนุกรรมการ
(9) คุณเพียงดาว จริยะพันธุ์ Bangkok International Performing Arts Meeting (BIPAM) อนุกรรมการ
(10) คุณพิเชษฐ กลั่นชื่น ศิลปินรางวัลศิลปาธร สาขาศิลปะการแสดง อนุกรรมการ
(11) คุณอลิสา พันธุ์ศักดิ์ คุณผลิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทิฟฟานี่โชว์ พัทยา จำกัด อนุกรรมการ
(12) คุณศิริวัฒน์ แสนเสริม อาจารย์ประจำสาขาออกแบบนิเทศศิลป์ คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม และคณะกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย อนุกรรมการและเลขานุการ

 

 

 


photo : เวทีเสวนา“การพัฒนาศิลปะในอีก 2 ทศวรรษข้างหน้า” เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2567

 

"การพัฒนาศิลปะในอีก 2 ทศวรรษข้างหน้า"

เวทีเสวนาที่ได้รับการกล่าวถึงอย่างท่วมท้นบน Pathway Stage ในงาน THACCA SPLASH : Soft Power Forum 2024 เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2567

คือหัวข้อ “การพัฒนาศิลปะในอีก 2 ทศวรรษข้างหน้า” โดยมีลักขณา คุณาวิชยานนท์ คณะกรรมการบริหารหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ดำเนินรายการประกบสองกูรูของวงการศิลปะ กฤติยา กาวีวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ Jim Thompson Art Centre และ ศ.ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ และกรรมการมูลนิธิ Bangkok Art Biennale วิทยากรผู้มีวิสัยทัศน์ คม ชัด ลึกมา lecture มุมมองเกี่ยวกับการพัฒนาศิลปะของประเทศไทย ในหัวข้อ “การพัฒนาศิลปะในอีก 2 ทศวรรษข้างหน้า”  มีรายละเอียดที่เท่าทันกลเกมส์ซึ่งก่อให้เกิดแรงกระตุ้นการขับเคลื่อนของกระบวนการและแผนพัฒนาศิลปะ ในคณะกรรมการพัฒนา Soft Power แห่งชาติ อย่างน่าจับตามอง

 


photo : เวทีเสวนา“การพัฒนาศิลปะในอีก 2 ทศวรรษข้างหน้า” เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2567

 

ศ.ดร.อภินันท์ - งานวันนี้ชื่อ “Super Splosh The Future of Thai Art Ecosystem” คำว่า ‘splosh’ มาประสานกับคำว่า ‘splash’ คำว่า ‘splosh’ เป็น ‘splash’ ที่เล็ก ๆ แต่ว่าอาจจะกระเพื่อมถี่หน่อย ในวงการศิลปะหากเทียบเกี่ยวกับอีก 11 สาขา วงการศิลปะจะเป็นอะไรที่เล็กหน่อย งบประมาณ 5,200 กว่าล้าน[4]ที่ THACCA ให้กับสาขาศิลปะมันอยู่ที่อันดับ 6 เมื่อวันศุกร์ (28 มิถุนายน 2567) เราได้มีโอกาสร่วมในพิธีเปิดอย่างเป็นทางการของ THACCA จะเห็นว่ามีกิจกรรมเยอะมากและคนเยอะมาก ๆ เลย ผมคิดว่าเป็นปรากฏการณ์แล้วก็เป็นสิ่งที่ต้องจารึกไว้ว่า เมื่อ 20 ปีที่แล้วการเปิดลักษณะนี้เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาล พรรคไทยรักไทย โดยมีคุณทักษิณ ชินวัตร มาเป็นประธานเปิดงาน 20 ปี ผ่านไป คือการเปิด THACCA ใครได้ร่วมในวันนั้นจะเห็นชัดว่ามันเป็นการรวมตัวของ พรรคเพื่อไทย มีตำแหน่งการนั่งของแต่ละคนที่จัดไว้ เวทีข้างล่างจะเป็นของสมาชิกเพื่อไทย การที่เราเข้ามาร่วมกิจกรรมของ THACCA ต้องเข้าใจนะครับว่าเรามาทำอะไร ถึงแม้ว่าไม่ได้มีการบอกอย่างชัดเจนว่า งานนี้เป็นการเสนอผลงาน 10 เดือนของพรรคเพื่อไทย แต่สิ่งนั้นแหละคือสิ่งที่เราได้มีส่วนร่วม เวทีนี้ก็เป็นวันสุดท้ายของ THACCA เพราะหลายคนไม่เข้าใจว่ามาทำอะไร

พอแถลงเสร็จแล้วคุณทักษิณได้มาร่วมงาน อันนี้ก็เป็นปรากฎการณ์สำคัญเพราะว่าเป็นการบ่งบอกตอกย้ำให้เห็นถึงผลงาน และการจัดงานครั้งนี้มีนัยยะสำคัญคือ เป็นภาพลักษณ์ของรัฐบาลโดยที่มีพรรคร่วมไม่ค่อยมาเกี่ยวข้องมากนัก  เพราะฉะนั้นการที่เราบอกว่า “Soft Power เป็นแคมเปญของพรรคเพื่อไทยตอนหาเสียง” ต้องเข้าใจว่าเมื่อเรานำเอานโยบายของภาครัฐมาใช้ (Soft Power) มันเป็นการบ่งบอกอะไรที่ท้าทายและสุ่มเสี่ยงมาก เพราะว่านโยบายนี้เป็นนโยบายของพรรค แต่ในเวลาเดียวกันเราต้องเข้าใจว่า ก่อนหน้านั้นของรัฐบาลที่แล้ว (นำโดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี) ซึ่งจะหนุนโดยทหารหรือไม่ก็ตาม เขาก็ทำ Soft Power เขาก็โหนกระแส ลิซ่า (ลลิษา มโนบาล) เขาก็มี 5 F (FOOD FILM FASION FIGHTING FESTIVAL)

แม้แต่พรรคก้าวไกลเขาก็เสนอโครงการหาเสียงโดยใช้นโยบาย Soft Power เพราะฉะนั้นการที่เราจะเดินหน้าไปเรื่อง Soft Power เราต้องรับฟังทุกส่วน ทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นพรรคร่วมฝ่ายค้านรัฐบาล ที่สำคัญที่สุด stakeholder ในวงการศิลปะ ถึงตอนนี้ 10 เดือนมาแล้วเรายังไม่มีการนั่งฟัง stakeholder คุยกันว่าต้องการอะไรจากภาครัฐ  (หลังเสวนาเดือดครั้งนี้ ล่าสุดจึงได้มีการประชุมรับฟังความเห็นเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านศิลปะ (ครั้งที่ 1)[5] ขึ้นมา เมื่อวันที่ 24 - 30 - 31 กรกฎาคม 2567)

ผมดีใจที่หน่วยงานอื่น 11 สาขา โดยเฉพาะ ภาพยนตร์ สารคดี และซีรีส์ อดัม (ม.ร.ว. เฉลิมชาตรี ยุคล ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม ด้านภาพยนตร์ ละคร ซีรีส์ สารคดี และแอนิเมชัน) พูดเลยเมื่อวานว่ามีการพูดคุยแลกเปลี่ยนกับ stakeholder เรากำลังรออยู่ว่าของเราจะมีเมื่อไหร่ แต่ว่าเรามานั่งฟ้งแล้วในเซ็คชันของศิลปะเห็นเลยว่า เขาบอกเราว่าเราจะต้องทำอะไร เขาจัดเมนูมาให้เบ็ดเสร็จมาเรียบร้อยแล้ว คำถามคือว่า เรากำลังทำอะไรอยู่ เมื่อตอนที่มีการพูดถึง 100 วัน “Exploring The First 100 Days What Has Soft Power Thailand Been Up To” คำตอบคือ Nothing!!! ผ่านมา 10 เดือนวันนี้ก็ได้มาฟังว่าเราควรจะเดินหน้ากันไปอย่างไร

 


photo : เวทีเสวนา“การพัฒนาศิลปะในอีก 2 ทศวรรษข้างหน้า” เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2567

 

วันเปิดงาน 28 มิถุนายน 2567 ช่วงเช้ามีการเปิดตัว MV ของลิซ่าร็อคสตาร์มาถ่ายที่เยาวราช (LISA - ROCKSTAR)[6] เหตุเกิดขึ้นช่วงบ่าย พอแถลงข่าวแล้วก็ให้มีการเปิด MV ลิซ่า ต่อด้วย THACCA เป็นการนำเสนออย่างแยบยลโดยที่ผมไม่รู้ว่าจงใจหรือไม่ก็ตาม เกิดการสับสนพอสมควรเพราะมีคนถามว่าตกลงลิซ่าคือส่วนหนึ่งของ THACCA หรือเปล่า คำตอบคือน่าจะเปล่า แต่ในเวลาเดียวกันก็มีการเปรียบเทียบว่า ถ้าเผื่อบ่ายนั้นลิซ่ามาที่ศูนย์สิริกิติ์มันจะเกิดกระแสอะไรบ้าง ผมก็เสียดายที่น้องไม่ได้มา ผมเชื่อว่าลิซ่าไม่กล้ามา เพราะว่าไม่งั้นจะถูกบังด้วยรัศมีของ QUEEN OF THACCA

ในเชิงรูปธรรมตอนที่มีการแถลงงบประมาณ 5,200 ล้าน สำหรับ VISUAL ART บวกกับ PERFORMING ART แยกแยะกันอย่างไร 32 เปอร์เซ็นต์ เกี่ยวกับประชาสัมพันธ์ การจัด EVENT 23.92 เปอร์เซ็นต์ เกือบครึ่งหนึ่งของงบประมาณอยู่ที่สองเรื่องนี้  ยังไม่เกี่ยวกับศิลปะเลย ลองจินตนาการว่าคูณ 20 เข้าไป คือใน 20 ปี ข้างหน้า งบประชาสัมพันธ์กับ Oganize ของ VISUAL ART มันจะมากแค่ไหน สัดส่วนของอย่างอื่น ฝึกอบรม กิจกรรมต่าง ๆ มันทยอยย่อยลงมา เราอยู่อันดับที่ 6 ของทั้ง 11 โครงการ เวลานี้เงินยังไม่มีนะครับเพราะ พ.ร.บ. ยังไม่ผ่านงบประมาณปี 2568 ตอนนี้ยังคาอยู่ Digital Vallet ก็ถูกแขวนไว้ (ล่าสุดประกาศเมื่อ 24 กรกฎาคม 2567 Digital Vallet มีกำหนดลงทะเบียน 1 สิงหาคม 2567 ถึง 15 กันยายน 2567 เริ่มใช้จ่ายภายในไตรมาสที่ 4 ของปี 2567 )[7] เสนอโครงการเป็นแสนล้านกระดาษแผ่นเดียวของบประมาณส่วนกลาง

ทุกอย่างที่จัดอยู่ตอนนี้อยู่ในงบประมาณที่จำกัดมาก แต่ในเวลาเดียวกันเทียบแล้ว ศิลปะ 375 ล้าน สัดส่วนคือ 7.2 เปอร์เซ็นต์ จาก 5,200 ล้าน ส่วนใหญ่อยู่ที่ อาหาร กับ Festival ไม่เกี่ยวกับศิลปะ (Festival ที่เป็นคำต่อท้ายชื่องานเทศกาลศิลปะ) เขาแยกออกมาแล้ว ที่สำคัญสำหรับทัศนศิลป์คือ 375 ล้าน 66 เปอร์เซ็นต์จะสร้างคอลเลคชันถาวรที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยที่หอศิลป์แห่งชาติ ถนนรัชดา (ติดกับศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) อันนีก็ควรติดตามว่าจะดำเนินการอย่างไร ทราบว่าจะมีการเปิดตัวหอศิลป์ที่มีคอลเลคชันนี้ในช่วงเดือนธันวาคม 2567 งบประมาณ 66 เปอร์เซ็นต์ จะอยู่ที่คอลเล็คชันนี้ ส่วนอื่น ๆ เป็นการสนับสนุนสาขาศิลปะการแสดง 21 เปอร์เซ็นต์ ถามว่าศิลปะการแสดงทำไมมารวมอยู่ในทัศนศิลป์ ศิลปะการแสดงเขายิ่งใหญ่ ลำตัด หมอลำ โขน เป็นส่วนหนึ่งที่สามารถจะดึงเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับถ้าจะขาด kindness อันนี้เป็นส่วนสำคัญ ทำไมมากินงบอยู่ในส่วนของทัศนศิลป์ ทางฝ่ายศิลปะการแสดงเขาก็น้อยใจ เดิมทีไม่มีสาขานี้เลย (ในการจัดสรรงบประมาณ) แต่พอมีการพูดกันเยอะก็เลยมาติ่งไว้ที่สาขาทัศศิลป์

 


photo : เวทีเสวนา“การพัฒนาศิลปะในอีก 2 ทศวรรษข้างหน้า” เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2567

 

พอคุณเสริมคุณมา (เสริมคุณ คุณาวงศ์ ประธานอนุกรรมการฝ่ายทัศนศิลป์) ต้องถามว่าทั้งหมดนี้กำลังจะขับเคลื่อนกันอย่างไร เมื่อไหร่เราจะมีการประชุมในเรื่อง stakeholder ซะที (ล่าสุดมีความเคลื่อนไหว การประชุมเพื่อขอรับฟังความเห็นและแจ้งให้ทราบถึงโครงการที่กำลังดำเนินการ ครั้งที่ 1)[8] สิ่งที่ได้มีการประกาศออกไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการลดหย่อนภาษี การสร้าง International Art Fair จำได้ไหมครับตอนนายกกลับมาจากยุโรปบอกจะมีการดึงเอากิจกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น Tomorrow Land เรื่อง Microsoft รวมไปถึง Art Basel ที่จะเอามาเมืองไทยถามว่าเอามาแล้วคุ้มไหม ที่หนักกว่านั้นคือเขาจะมาหรือเปล่า บ้านเรามันไม่ใช่แค่ know how นะครับ มันต้อง know who แล้วก็ how much อันนี้เป็นเรื่องสำคัญมันอยู่กับคนไทยแต่ฝรั่งงง

อื่น ๆ มี Thailand Art Move ฟังดูดีนะครับ ถ้าเราไปดูส่วนของทัศนศิลป์ต่างจากสาขาอื่น ๆ ไม่มี Time line ใด ๆ ทั้งสิ้น ไม่มีการบอกมูลค่าแต่ละปีรายได้เราเท่าไหร่ อย่างไร แกลเลอรี่สร้างเม็ดเงินได้เท่าไหร่ กลุ่ม NGO มีกิจกรรมอะไรบ้าง เหล่านี้เรายังไม่เห็น มีแต่ว่ามีพิมพ์ไปตามเซ็คชันต่าง ๆ ว่า เราอยากได้อะไร อยากเห็นหอศิลป์แบบไหน มีปฏิสัมพันธ์อย่างไร เหล่านี้เป็นอะไรที่ต้องรีบจัดการเพราะเวลามันเสียมาแล้ว 10 เดือน

หัวข้องาน “การพัฒนาศิลปะในอีก 2 ทศวรรษ ข้างหน้า” ก็ประมาณ 2044 เราจะมีชื่อ THACCA ว่า “THAKI CREATIVE COERCIVE AGENCY 2024” THACCA กับ THAKI จะไปด้วยกัน มี ART BASEL BANGKOK , LANNA BIENNALE , เพื่อไทย ART FESTIVAL และที่สำคัญเราจะมี เซาะกราวน์ (SORGRAW BIENNALE) ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญมากเพราะตอนนี้สีน้ำเงินมาแรงอีก 20 ปีข้างหน้า The Colour Trend สีน้ำเงินอาจจะเป็นสีชั้นนำอย่างในงานนี้ที่แดงเถือกไปทั้งงานอาจจะหมดสมัยก็ได้ หรือสีอื่น ๆ ผมไม่รู้ อาจจะมี LAND BRIDGE ART FESTIVAL , CHIANG MAI PM2.5 MONTH หรือแม้แต่ GUNCHA ART WEEK อันนี้สำคัญเพราะจะอบอวลไปด้วยความงดงาม และเรื่องของสุขภาพ หรือจะมี มะเมียแอนด์เจ้าพ่อคอนเฟอร์เรนซ์ อันนี้สำคัญเรื่องของมาเฟียกับบุคคลากรที่ทำอะไรนอกกฎหมายเขาก็ต้องมา Holiday  ส่วนใหญ่บุคคลเหล่านั้นจะดูว่ากรุงเทพฯหรือพัทยาเป็น Holiday Destination เพราะฉะนั้นอย่ามองข้ามบุคลากรเหล่านี้ จะเป็นการเข้ามาจากนานาชาติ การมี conference ลักษณะนั้นผมคิดอย่างที่ท่านนายกบอก ถ้าจะนำเอาสิ่งที่อยู่ใต้ดินขึ้นมาอยู่เหนือดิน เมื่อตอนอยู่เหนือดินอะไรมันก็เกิดขึ้นได้ THAI POLICE ART BIENNALE  กับ AI ART FOR ALL ก็จะเป็นอะไรที่ค่อนข้างสำคัญ แน่นอนครับ ONE TUMBON ONE TCDC เราต้องมี TCDC ทุกตำบล

stage ต่าง ๆ ในงานนี้ผมมาฟังทุกวัน มีอะไรที่ดี ๆ เยอะมาก แต่ละคนที่มีโอกาสมาพูดเป็นองค์ความรู้ทั้งนั้น คนที่เพิ่งเข้ามาสัมผัส THACCA น้อง ๆ หลายคนผมคิดว่าโชคดีที่ได้มาฟังบุคลากรเหล่านี้ ได้มีการพูดถึงสิ่งเหล่านี้  เมื่อวานผมได้ฟังน้องพูดเรื่อง AI ดีมาก ๆ เลย (ถอดรหัส “3Ws” ช่วยสร้างคอนเทนต์ใหม่ ๆ โดย พัทน์ ภัทรนุธาพร จาก MIT Media Lab)[9]

รูปเมื่อวานท่านผู้นำทางจิตวิญญาณ (ทักษิณ ชินวัตร) มาแวะชมเซ็คชันของทัศนศิลป์ ท่านคุยกับคุณเสริมคุณอยู่กำลังหันไปมอง CRY BABY[10] ที่อยู่ทางซ้ายมือ การมาของท่านท่านบอกว่างานนี้ดีกว่างาน OTOP เมื่อ 20 ปีที่แล้ว แนะนำให้รัฐโปรโมทเยาวราชให้เป็นจุดรวมของการท่องเที่ยว ผมตอกย้ำว่ากิจกรรมทั้ง 11 สาขาเหล่านี้ ศิลปะก็ดี ดีไซน์ก็ดี ภาพยนตร์ก็ดี ฯลฯ ถ้าเผื่อมันถูกผูกโยงการเมือง มันไม่ healthy ครับ เพราะทุกอย่างมี Hidden Agenda เกี่ยวกับการเมือง เราเป็น Stakeholder เราต้อง aware ว่า เรากำลังถูกจูงไปทิศทางไหน เราอาจถูกล่อด้วย Carrot And Stick Policy[11] หรือเปล่า? งบประมาณรออยู่ตรงนี้นะครับ จะเดินไปทางไหนตามมา กิจกรรมเหล่านี้คือ ประชานิยม

 


photo : เวทีเสวนา“การพัฒนาศิลปะในอีก 2 ทศวรรษข้างหน้า” เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2567

ผมคิดว่าเรามานั่งตรงนี้กันก็ดีแล้ว จะได้เกิดมิติใหม่ในการมองกิจกรรมต่าง ๆ ของภาครัฐอีก 20 ปีข้างหน้ายังจะมีบุคลากรเหล่านี้อยู่กับพวกเรา (ขึ้นภาพบนจอสามท่านครอบครัว ชินวัตร และบรรดานักการเมืองหลายท่านในอนาคต 20 ปีข้างหน้า) ผมน่ะไม่อยู่แล้ว แต่ท่านยังจะเป็นผู้นำจิตวิญญาณของเราอยู่ รวมทั้งหลายคนที่เดินไปมาแถวนี้ คุณดวงฤทธิ์ บุนนาค ด้วย (ประธานอนุกรรมการ Soft Power ด้านการออกแบบ) ก็จะเป็นกำลังสำคัญในอีก 20 ปีข้างหน้า พ.ร.บ. ก็จะเป็นฟันเฟืองสำคัญในการผลักดันสิ่งที่เรากลังพูดถึงในอีก 20 ปีข้างหน้า ผมชื่นชมท่านชาดามากชอบท่าเต้นของท่าน คิดว่าในอนาคตต่อไปควรจะมาเป็นรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม (ชาดา ไทยเศรษฐ์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน) รวมทั้ง แป้ง นาโหนด อย่ามองข้ามความสำคัญของแป้ง เมื่อเราจะเอาสิ่งใต้ดินขึ้นมาบนดินแล้ว ต้องเอาแป้งมาสอนพวกเราว่าควรจะอยู่อย่างไรเพื่ออยู่รอด โดยเฉพาะเรื่องของการหลบหนีแป้งจะรู้ทิศทางหมดเลย เพราะหลายคนถ้าเผื่อจะทำ THACCA ต่อไป ต้องรู้ทิศทางการหลบหนีเพราะงบประมาณของรัฐไม่เข้าใครออกใคร ถ้าเผื่อใช้อย่างสะเพร่า ระวังจะโดน Conflict of interest[12] (การขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลและผลประโยชน์ส่วนรวม)

ถ้าเราจะมี F1 , Tomorrow Land , การสร้างคาสิโน , Sex City ก็มีอยู่แล้วที่พัทยาและกรุงเทพฯ เหล่านั้นคือ Escape Routes Forum มีการสัมนาว่าควรจะหนีในลักษณะของการข้ามไปยังอินโดก็ดี ผ่านไปทางบาหลีหรือกัมพูชา ไปทางเรือหรือบก Phuket - Pattaya - Chiangmai - ThakSin - Festival (Escape Routes)

จบการบรรยายพิเศษที่เผ็ดร้อน แต่ละชื่อที่วาดไว้ ล้วนน่าตื่นตาตื่นใจในแต่ละโครงการแห่งอนาคต ที่เราสมควรรักษาชีวิตไว้ให้มีโอกาสได้ร่วมรับรู้ในปรากฏการณ์เหล่านั้น แม้มันออกแนว Satire Comedy ที่ขำไม่ออกบอกไม่ถูกก็ตาม

 


photo : เวทีเสวนา“การพัฒนาศิลปะในอีก 2 ทศวรรษข้างหน้า” เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2567

 

กฤติยา - ต้องปรบมือให้อาจารย์อภินันท์ อาจารย์เป็นคนที่รักชาติมาก ๆ อยู่กับกระทรวงวัฒนธรรมมานานก็รู้ลึกรู้จริง เป็นคนที่มีความอดทนมานะที่สุดเพราะว่า ขนาดเราไปทำ Thailand Biennale 18 เดือนนี่ยังแทบตาย แต่อาจารย์อยู่ 20 กว่าปี ตั้งแต่ตั้งกระทรวงมา เพราะฉะนั้นจะเป็นประมาณ Watch Dog ของนโยบาย อาจารย์จะเขียนใน บางกอกโพสต์ตลอดเกี่ยวกับอะไรที่มันควรไปต่อแล้วไม่ได้ไปต่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจาก สศร. (สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย) โจทย์ให้พูดถึงอนาคตของประเทศไทย ศิลปะในอีก 20 ปี เราไม่สามารถที่จะเห็นภาพได้เลย เพราะฉะนั้น ขอแค่ฝันให้ฟังว่ามันจะต้องเป็นยังไง ไม่ว่าจะเป็นนโยบายของ Thacca หรือว่าอะไรก็ตามที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เราไม่รู้ว่ามันจะเปลี่ยนไปยังไงด้วย ที่อยากจะพูดแล้วคนในวงการก็ไม่ได้แชร์เลยก็คือ ทุกอย่างจะ Top-Down ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น user stakeholder คนทำงาน ฯลฯ ขอฉายภาพ 3 มุมมอง

1. มุม Individual ที่เป็นคนทำงานศิลปะ เริ่มจาก Artist ที่เราควรจะต้องมองว่าในระดับบุคคลที่เรียนหนังสือจบออกมา ไม่มีใครสามารถช่วยตัวเองได้ หลายคนที่เรียนศิลปะทุกวันนี้ไม่มีใครอยากเป็นศิลปิน ในอีก 20 ปีข้างหน้า โรงเรียนศิลปะอาจจะต้องยุบ คนที่ไปสอนก็คือ “ฉันมาทำอะไรตรงนี้?”

ถ้าไม่ได้ทำงานขายก็ไม่ได้เข้าไปสู่ตลาด ไม่ว่าข้างในข้างนอกก็ช่วยตัวเองไม่ได้ ที่เราสนใจคือศิลปินที่ทำงานแบบอื่นที่ไม่ใช่งานตลาด แต่ทำงานแนวทดลองซึ่งพวกเราทำอยู่ ก็ต้องได้รับการช่วยเหลือทั้งจากภาครัฐและเอกชน ด้วยการสนับสนุนและเปิดทางให้สามารถเดินด้วยตัวเองได้ ไม่ใช่แค่จัดประกวดเหมือนเมื่อก่อน ที่เมืองไทยทำแค่นี้แทรคเดียว กรรมการ 20-30 ปี ก็ชุดเดิม ไม่ทำให้ move on ไปไหน

ไม่จำเป็นต้องเปิดตลาดศิลปะทุกจังหวัด เรามีศิลปินขนาดนั้นเลยเหรอ? ถ้าเปิดจริงใครจะมาซื้อเพราะคนที่เป็น collector ที่จะมาซื้อก็ไม่ได้เยอะขนาดนั้น สิ่งที่เราคิดว่าจำเป็นต้องทำคือ ต้องทำให้งานพัฒนาความเป็นเลิศของงานศิลปะ จากการฟังหน้าที่ของ Art Council อังกฤษ เริ่มที่ทุกคนต้องพัฒนางานให้เป็นเลิศ เรื่องเงินนี่ไม่ต้องคิดเลยตั้งแต่แรก เป็นกระบวนการในการ ‘เดินเชิด’ หรือว่าสนับสนุนศิลปินให้สร้างสรรค์งาน ปัญหาของพวกเราที่มางานนี้คือเน้น product เลย เป็น Raining Man มาก ๆ เรามองว่ามันไม่ work

จากที่ซาวเสียงขอฟังความคิดเห็น ทุกคนเสนอเป็นเสียงเดียวกันว่าอยากได้ทุน มี training โดยเฉพาะอย่างยิ่งทุนทางด้านการศึกษาศิลปะ วัฒนธรรม ปรัชญา วรรณกรรม ทุนทำงาน เดินทาง ทุน residency จริง ๆ แล้วสิ่งที่ศิลปินต้องการก็คือทุนแบบ Monbukagakusho ที่ญี่ปุ่นให้ศิลปินเลือกว่าจะไปประเทศไหนก็ได้ทั่วโลก 1 ปี ตรงนี้จะทำให้ศิลปินได้พัฒนาตัวเอง

ทุกคนต้องมีพื้นที่แสดงงานทั่วเมืองไทย ระดับตำบล อำเภอ จังหวัด เป็น idia ที่ ideal มาก ๆ แค่จังหวัดก็หรูแล้วสำหรับบ้านเรา จะต้องมีการ decentralization (กระจายอำนาจ) แน่นอน จะต้องมีการสนับสนุนทั้งจากรัฐและเอกชน Founding ที่จะเกิดขึ้นไม่ได้มีแค่ระดับประเทศ จะต้องมีระดับภาค กับระดับจังหวัด อันนี้ฝาก Art Council ด้วย ศิลปินต้องสามารถเข้าไปขอความช่วยเหลือหรือว่าทำงานได้กับทุกระดับ สภาศิลปะควรต้องมีนโยบายที่ยั่งยืน ไม่ใช่เปลี่ยนรัฐบาลก็จบข่าว ไม่ว่าพรรคไหนเข้ามาถ้ามันเวิร์คก็ทำต่อไป เราคิดว่าอันนี้เป็นปัญหาที่สุด อีกส่วนคือวัฏของประชาธิไตยควรไปตามทางของมัน ไม่มีการหยุดโดยรัฐประหารหรืออะไรก็ตาม

เราต้องทำ inventory หรือ  DATA BASE ของศิลปินทุกแขนง หรือ Craft Man ของทุกจังหวัด เพื่อจะได้เป็นระบบ สะดวกในการพัฒนา ช่วยเหลือโปรโมท จัดเก็บ ทางฝั่ง design ทำไว้ค่อนข้างดี ทุกจังหวัดใครทำอะไรที่ไหน ใครอยากได้ material เขาก็จะไปหาได้ แต่ฝั่งศิลปินยังไม่มี ตัวอย่างทางเชียงรายจะมีชื่อศิลปิน 300-400 คน ไม่แน่ใจว่าจังหวัดอื่นมีหรือเปล่า ตรงนี้ Thacca หรือ Art Council ต้องเริ่มทำมันไม่ได้ยาก

ตัวบุคลากรในวงการศิลปะ ทั้งในโลกของ Non profit ไม่ว่าจะเป็น curator , art educater , regista , logistic , boardmember ฯลฯ ต้องจัดการอบรมเสริมความรู้ให้เขาตลอด อีกส่วนที่เป็น commercial ไม่ว่าจะเป็น gallerist หรืออะไรก็ตามที่ทำงานฝั่งนี้ก็ต้องมีการสนับสนุนเช่นกัน เพราะทุกคนพูดเหมือนกัน “จบอย่างอื่นมาแล้วเข้าทำ gallery” เลย ไม่รู้ว่า Art Admin เป็นยังไง ทุกคนต้องการ grant ด้าน production publication distribution ต้องเป็นการ upskill reskill ของทุกคน บางคนทำงานมา 10 ปี ทุกอย่างมันเปลี่ยนตลอด ไม่ว่าจะเป็นการใช้ AI หรือเทคนิคใหม่ต่าง ๆ

 


photo : เวทีเสวนา“การพัฒนาศิลปะในอีก 2 ทศวรรษข้างหน้า” เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2567

 

2. ในส่วนของรัฐบาลต้องเปลี่ยนเยอะมาก ต้องปรับโครงสร้างองค์กร ทัศนคติ อยากให้ระบบราชการมีการปรับทัศนคติให้เข้าใจคนทำงานศิลปะมากขึ้น (เพราะมีลักษณะเฉพาะ) ไม่ใช่ทำตัวเป็นปฏิปักษ์ ระแวงว่าศิลปิน คนทำงาน จะมาเอาผลประโยชน์จากรัฐบาล ซึ่งไม่ใช่ทุกคนที่จะเป็นแบบนั้น conflict of interest ตรงนี้ค่อนข้างมีปัญหา ในขณะเดียวกันอย่างที่เราไปทำ Thailand Biennale มาองค์กรเล็ก ๆ ของ สศร.กระทรวงวัฒนธรรม ถ้าจะทำงานระดับ International อย่างเรื่อง Soft Power ขอให้มีคนตอบอีเมลเป็นภาษาอังกฤษได้ก่อนเถอะ เรื่องแค่นี้มันเป็นอะไรที่ง่าวมากเลย ทำไมพูดอย่างนี้เพราะมันคือความจริงค่ะ มีน้องเขาทำที่กระทรวงวัฒนธรรม คนที่ตอบภาษาอังกฤษได้ก็จะไม่อยากอยู่ความที่เขาทำงานดีมากแต่เขาอยู่ไม่ได้ ไม่เข้าใจเหมือนกัน…(เพราะวัฒนธรรมองค์กร)

รัฐบาลต้องทำตัวเป็น Policy Maker ไม่ใช่ organizer เหมือนที่เรากำลังทำอยู่ ต้องให้คนอื่น implement ให้คนอื่น organizer แต่นี่ได้ข่าวว่าทำเองทุกอย่างในเวลา 2 เดือน มันก็จะออกมาเป็นอย่างนี้ค่ะ เหมือนงานวัดนิดนึงนะทุกคน สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นกับ ‘ระบบราชการ’ คำนี้เราต้องปลดลอ็คให้ได้ เพราะถ้าไม่ปลดลอ็คเราก็จะฉิบหายวายป่วงแบบนี้ 20 ปีข้างหน้า ไม่ต้องพูดเลย มันก็จะเป็นแบบนี้ หวังว่าในอีก 20 ปี เราจะไม่ต้องมาพูดเรื่องนี้อีกแล้ว ต้อง move on ให้ได้ และอะไรที่มัน Impossible ตัว mentarity ของคนที่ทำงานราชการต้องบอกว่า I am possible ไม่ใช่ใครเสนออะไรก็เป็นไปไม่ได้

รัฐบาลต้องทำงานทุกระดับตั้งแต่ระดับประเทศ regional แล้วก็ inter ต้องมีการสนับสนุนทุกแขนง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นต่างชาติอย่างอังกฤษเขาสนับสนุนทั้งข้างในข้างนอก เช่น Thailand Biennale ลงทุน 200 ได้ 2,000 ดีมากทำต่อไป ที่เคยทำอยู่นอกประเทศอย่าง Thai Pavillion เหมือน  Venice Biennale ก็ต้องทำต่อ การเอาศิลปินไปคุยกับเวทีโลกมันสำคัญมาก ๆ เป็นการยืนยันตัวตนว่าเรายังมีอยู่ และทำงานได้ถึงระดับไหนแล้ว

ในขณะเดียวกันพื้นที่ของ Thai Pavillion ก็ต้องเป็นพื้นที่สมศักดิ์ศรีประเทศไทย ไม่ใช่ไปอยู่หน้าส้วมมันไม่สมควร ก็โอเคถ้าไม่มี แต่ถ้าจะกลับไปอีกต้องไม่ใช่แบบนี้ ต้องอยู่ในที่ที่ดีมาก ต้อง invest ค่ะ

 


photo : เวทีเสวนา“การพัฒนาศิลปะในอีก 2 ทศวรรษข้างหน้า” เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2567

 

3. อีกส่วนที่เราฝันมากเลย ถ้าอาจารย์อภินันท์เกษียณต้องให้ไปเป็น Culture Ahgase เราไม่อยากมี Thai Council เหมือน British Council ไม่ต้องมี Thai Foundation ไปทั่วโลก แต่เราไปแปะกับสถานทูตประเทศไทย แล้วเราก็มี

  •  Culture Ahgase ที่อยู่ประจำทุกทวีป แล้ว Soft Power ไทยจะไปได้ไกลมาก แล้วต้องมี Reserch and Development ความที่ไม่มี Reserch and Development มันก็จะเป็นแบบงานนี้ค่ะ การจัดงานก็จะเป็นแบบนี้ทุกครั้ง
  •  เราต้องมี Media Lab ให้พวกที่ทำการทดลอง โดยเฉพาะคนที่ทำหนังหรืองาน Media Art เพราะเครื่องมือมันแพงมาก รัฐต้องสนับสนุนนะคะ
  • Infrastructure : National Museum and Contemporary Art ไม่ต้องรอ 20 ปี เราต้องเปิดให้ได้ สิ้นปีเราจะเปิดแล้วใช่ไหม?
  • เงินที่จะสนับสนุนในการซื้องานศิลปะก็ต้องให้มัน consistant
  • อีกส่วนที่ต้องทำคือ coraboration ระหว่างเอกชนกับรัฐในการสนับสนุน Art Education และ Appreciation ทุกคนต้องทำงานร่วมกัน จะได้ move on ไปด้วยกัน ให้ศิลปินที่เพิ่งจบใหม่ ให้ทุกคนมีงานทำ

ลักขณา  ผู้ดำเนินรายการ - ทั้งสองท่านได้พูดอย่างชัดเจนหมดแล้ว ‘ชำแหละ’ ฉายภาพให้เห็นว่าตอนนี้เราอยู่ตรงจุดไหน ณ หมุดหมาย แล้วจะเดินไปยังไงได้บ้าง ที่สำคัญคือ stakeholder หลายท่านนั่งกันอยู่ในที่นี้ ในท้ายที่สุดคิดว่าน่าจะเป็นกำลังสำคัญในอันที่จะกลับมาพูดคุยกัน ร่วมกันผลักดันให้ตรงนี้เดินไปได้ แม้มี An in Covenient Truth เป็นความจริงที่ไม่ค่อยอยากจะฟังแต่มันก็เกิดขึ้นแล้ว ขอบคุณที่ฉายภาพให้เห็นเราในความ ‘ไม่มี’ ขนาดไหน มีความเหนื่อยยากในทุกขั้นตอนตลอด 30 ปี ที่ทำงานบนความพร่องมาตลอด ไม่ว่าจะยังไงก็แล้วแต่เชื่อว่าทุกคนมีความตั้งใจดีที่จะช่วยพัฒนา แต่ว่าเราต้องฝ่าฟันตรงนี้ไปให้ได้

 


photo : THACCA SPLASH : SOFT POWER FORUM 2024

 

บทความวิชากู[13]:  ครูพิเชษฐ กลั่นชื่น[14]

มีการจัดตั้ง ‘คณะกรรมการพัฒนา Soft Power แห่งชาติ’ เมื่อ 3 ตุลาคม 2566    โดยมี แพทองธาร ชินวัตร เป็นประธานกรรมการ เพื่อทำหน้าที่ผลักดันและขับเคลื่อนนโยบายในด้านต่างๆ ให้มีความคืบหน้าแล้วนำเสนอต่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ Soft Power  เพื่อพิจารณา และต่อมาได้มีการประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งแรกเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2566 มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 11 สาขา / ครั้งที่ 2/2566 เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 เสนอแผนงานในเบื้องต้นแล้วจำนวน 54 โครงการ กรอบวงเงิน 5,164 ล้านบาท จากโครงการทั้ง 11 สาขาได้แก่ แฟชั่น , หนังสือ , ภาพยนตร์ ละครและซีรีส์ , เฟสติวัล , อาหาร , ออกแบบ , ท่องเที่ยว , เกม , ดนตรี , ศิลปะ และ กีฬา แต่ทั้ง 11 สาขา ไม่มี ‘ศิลปะการแสดง’ แต่ในปัจจุบันได้ถูกนำมาผนวกกับสาขา ‘ศิลปะ’ (ทัศนศิลป์ - ศิลปะร่วมสมัย) แม้ว่าทั้งสองประเภทนี้จะเป็นศิลปศาสตร์คนละสาขา ที่ล้วนมีลักษณะเฉพาะและรายละเอียดประกอบสร้างคนละทิศของแนวทาง อันจะนำมาซึ่งการจัดการที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิง ครูพิเชษฐ (พิเชษฐ กลั่นชื่น ศิลปินศิลปาธร สาขาศิลปะการแสดง และปัจจุบันเป็นหนึ่งในคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านศิลปะ) คือหนึ่งในหลายเสียงสำคัญเสมือนเป็นตัวแทนของวงการจึงออกมาแสดงความคิดเห็น สะท้อนวิธีคิดวิธีทำของคณะกรรมการฯ แม้หลังการเสนอของคณะอนุกรรมการ และระดมความคิดเห็นเรื่อง พ.ร.บ.THACCA [15] ผ่านไปแล้ว ปัจจุบันก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขปรับเปลี่ยนแต่อย่างใด หลายฝ่ายจึงฝากความหวังไว้ในอนาคต

 


photo : THACCA SPLASH : SOFT POWER FORUM 2024

 

บทความ “วิชากู ไม่มีเขาเราก็อยู่กันมาได้”

นโยบายซอฟท์พาวเวอร์แห่งชาติที่รัฐบาลกำลังผลักดันมี 11 สาขา ยกเว้นสาขา ศิลปะการแสดง ในประเทศไทยหลังปี 2530 เรามี ‘สาขาศิลปะการแสดง’ ในมหาวิทยาลัย ตั้งแต่ระดับปริญญาตรีไปจนถึงปริญญาเอก อย่างน้อยประมาณ 50 สถาบันการศึกษาทั่วประเทศ ที่สอนเกี่ยวกับศิลปะการแสดงทั้งแบบประเพณีและร่วมสมัย มีบุคลากรทั้งผู้สอน ผู้ศึกษา และผู้ที่จบการศึกษามากมาย เรามีคณะนักแสดง เรามีศิลปิน เรามีเทศกาลศิลปะที่เชื่อมโยงทั้งในระดับประเทศและต่างประเทศ เรามี ‘สมาพันธ์ศิลปะการแสดงระดับอุดมศึกษาฯ’[16] เรามี ‘ชมรมวิจารณ์ศิลปะการแสดง’ เรามีการประชุมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านศิลปะการแสดงในระดับนานาชาติทุกปีที่เรียกว่า Bipam เรามี ‘เทศกาลละครกรุงเทพ’ ซึ่งมีคณะละครประมาณกว่า 50 คณะมาแสดงร่วมกัน

ในสาขาศิลปะการแสดงเรามีศิลปินแห่งชาติที่ได้รับรางวัลทุกปี แต่เมื่อรัฐบาลมีนโยบายซอฟท์พาวเวอร์วัฒนธรรมนำเศรษฐกิจกลับไม่มีสาขาศิลปะการแสดง เข้าไปอยู่ในยุทธศาสตร์ซอฟพาวเวอร์ครั้งนี้

คำถาม

  • สาขาศิลปะการแสดง ไม่มีคุณภาพเพียงพอที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้กับประเทศจริงหรือ?
  • ในสาขาศิลปะการแสดง ไม่มีบุคลากรหรือบุคคลที่มีคุณภาพเพียงพอที่จะเข้าไปนั่งเพื่อที่จะเสนอนโยบายเกี่ยวกับศิลปะการแสดงจริงหรือ ?
  • ในสาขาศิลปะการแสดงไม่สามารถสร้างเป็น ‘เศรษฐกิจสร้างสรรค์’ ให้กับประเทศได้จริงหรือ ?
  • สาขาศิลปะการแสดงไม่เคยมีอยู่จริงในประเทศไทยใช่ไหม ?

รัฐบาลยังคงใช้หลักคิดทางวัฒนธรรมแบบหลังสงครามโลกมองศิลปะการแสดงเพียงสิ่งประกอบในขบวนแห่ต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง นักแสดงมาทำหน้าที่ส่งพวงมาลัยให้แขกผู้มาเยือน การแสดงระหว่างการกินอาหารมื้อค่ำหลังงานประชุมแห่งชาติ ศิลปะการแสดงยังคงถูกมองเป็นเพียงเครื่องเคียงในอาหารจานหลัก

  • รัฐบาลให้คุณค่าศิลปะการแสดงไว้เพื่อต้อนรับ มีไว้เพื่อประดับและตกแต่ง แสดงถึงความเป็นชาติ ยังคงกดขี่ให้เป็นการแสดงพื้นบ้าน การแสดงประจำชาติ มีไว้เพื่อการอนุรักษ์และการสร้างภาพลักษณ์ให้กับประเทศเท่านั้น
  • รัฐบาลมีความภาคภูมิใจในศิลปะการแสดงของไทยแต่รัฐบาลไม่มีความเชื่อมั่นในศิลปะการแสดงและศิลปะการแสดงแบบร่วมสมัย ว่าจะพัฒนาเป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ได้

ภาพยนตร์เกาหลีที่ประสบความสำเร็จมาจากนักแสดงที่ดีไปพร้อมกัน วงดนตรีเกาหลีที่ประสบความสำเร็จมาจากนักร้องนักออกแบบท่าเต้นที่เป็นนักแสดงในเวลาเดียวกัน

ผมต้องการให้รัฐบาลมองคำว่าศิลปะการแสดงในมุมมองใหม่

  • มีเทศกาลศิลปะการแสดงในต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จนำพาเม็ดเงินเข้าประเทศมากมายในหลายประเทศทั่วโลก
  • เรามีบุคลากรที่มีความรู้มีความสามารถที่จะเข้าไปวางแผนนโยบายไปพร้อมพร้อมกันกับรัฐบาล ทั้งอาจารย์ในมหาวิทยาลัย ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง และคณะละครที่ทำงานอยู่ในแวดวงศิลปการแสดง ทุกคนพร้อมที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนศิลปะและวัฒนธรรม เศรษฐกิจและประเทศให้เดินทางไปข้างหน้า

ศิลปะการแสดงอาจจะไม่ใช่อาหารจานหลัก แต่ศิลปะการแสดงคืองานศิลปะที่สร้างรสชาติให้กับอาหารจานนั้นนั้น อาหารที่ดีต้องมีรสชาติที่อร่อย

พิเชษฐ กลั่นชื่น
4 ตุลาคม 2566

 


photo : THACCA SPLASH : SOFT POWER FORUM 2024

 

“THEATRE TO GO”[17]

หลังเข้าประตูฮอลมาภายในบริเวณงาน จะพบโถงขนาดใหญ่กว้างขวางเป็นห้องแรกเพื่อรองรับผู้ชมได้ไม่ต่ำกว่า 500 คนขึ้น สิ่งที่ทุกคนต้องรับรู้ร่วมกันก่อนเข้าประตูสู่นิทรรศการคือ การฉายสปอตบนจอ LED ที่กว้างใหญ่อลังการนาน 4 นาที ว่าด้วยนิยามของคำว่า Soft Power จนจบแล้วจึงเปิดประตูชั้นในให้เข้าสู่ห้องนิทรรศการใหญ่หนังสือ ที่ present หนังสือที่ได้รับรางวัลและได้รับการแปลด้วย model ขนาดใหญ่ยักษ์อย่างสวยงามเรียงราย โชว์ content ด้วยเทคนิคการพลิกหน้ากระดาษบนจอแบบ E-Book ติดกันเป็น ART section ที่รวมศิลปะทุกสาขา โดยมี ‘ศิลปะการแสดง’ เป็นหนึ่งในนั้น แยกออกเป็น 2 จุด จัดโชว์ชุดที่ใช้ในการแสดงของ พิเชษฐ กลั่นชื่น (Pichet Klunchun Dance Company) ใช้พื้นที่ประมาณ 9 ตารางเมตร อีกจุดจัดวางแบบจำลองของละครเวที 5 เรื่อง บนพื้นที่ประมาณ 1.50 ตารางเมตร ใกล้กันมีตู้ถ่ายสติ๊กเกอร์ 3 ตู้ กับบอร์ดแปะโพสต์อิทแสดงความคิดเห็น ซึ่งใช้พื้นที่ประมาณครึ่งหนึ่งของสนามฟุตบอลขนาดเล็ก (น่าใช้ทำเวทีละคร เพราะละครเวทีเกิดได้ทุกที่ แม้ไม่มีแสงสีอลังการ)

 


photo : THEATRE TO GO

 

ณัฐพร เทพรัตน์ (พึ่ง) เป็นผู้จัดแสดงงาน “THEATRE TO GO” โดยรับโจทย์จาก เพียงดาว จริยะพันธุ์ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสากรรมด้านศิลปะ จัดแสดงในรูปแบบของ ‘ศิลปะจัดวาง’ (Installation Art) บนยกพื้นไม้ลังขนาดเล็ก พึ่งเป็น curator ที่คอยให้ความรู้กับคนที่มาชมงานด้วยตัวเองตั้งแต่ 10.00-19.00 น. ทุกวัน (จุดอื่นมีนักศึกษาอาสาสมัครเป็นไกด์) เพราะพื้นที่ตรงนี้มีความหมายต่องานและการขับเคลื่อนในฐานะที่เป็นตัวแทนชุมชนคนทำละครที่จะส่งเสียงส่งสาร

“เป็นผลงานที่เคยจัดแสดง และเคยได้รับรางวัล มาร่วมจัดแสดงอีกครั้งค่ะ ในรูปแบบ Theatre Model (ไม่มีงบประมาณในการจัดจ้าง จ่ายค่าขอยืมชิ้นงานในการจัดแสดงเป็นค่า set up) วิธีการ curated คือ เลือกศิลปินที่ active ช่วงวิกฤตโควิดแล้วพยายามที่จะหาช่องทางต่อสู้กับการที่ไม่ได้อยู่ใน space เราไม่ได้เลือกเฉพาะศิลปินในกรุงเทพฯ เท่านั้นนะคะ แต่เลือกที่อยู่ในต่างจังหวัดด้วย เพราะเรารู้สึกว่างานที่นั่นทุกคนก็พยายามที่จะต่อสู้กับสิ่งเหล่านี้เหมือนกัน มีงานจากเชียงใหม่ ขอนแก่นด้วย คนดูน่าจะคิดถึงโรงละครเราก็เลยส่งกล่องโรงละครไปหาคนดูทั้งหมด 600 กล่อง ทั่วประเทศ ด้วยแนวคิดที่ต้องการลบข้อจำกัดในการเดินทาง ใช้เทคโนโลยีเว็บ AR เข้ามาเพื่อเพิ่มสเปซเสมือนจริงที่ผู้ชมสามารถรับชมการแสดงได้ มุมมองของแต่ละเรื่อง วิธีการรับชมก็ไม่เหมือนกัน บางเรื่องดูจากด้านหน้า บางเรื่องดูจากมุม top เราคิดว่าเมื่อหมดโควิดแล้วสิ่งเหล่านี้จะทำอะไรได้บ้างเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อศิลปิน

 


photo : THEATRE TO GO

 

“Theatre To Go” รวบรวมนักออกแบบกับศิลปินทั้งหมด 5 กลุ่ม ล้วนมือรางวัลการันตีทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตัวเรื่องที่เลือกมาจัดแสดงส่วนใหญ่พูดถึงความ suffer กับชีวิตในประเทศไทย การที่พลเมืองไม่มีสิทธิ์มีเสียงในการแสดงออกทางความคิด ประกอบด้วย 5 เรื่องคัดสรร ซึ่งควรอยู่บนเวทีการแสดง

“เรื่องที่ 1  “ตลาดปลา” (TALADPLA) สารเป็นการที่เราต้องจำทนกับเรื่องการเมือง หรือปัญหาของบ้านเมือง จนวันหนึ่งเราชิน แล้วเราก็ไม่ได้รู้สึกว่าอยากจะเปลี่ยนแปลงอะไร เปรียบเทีนยว่าตลาด ตลาดหนึ่งวันดีคืนดีน้ำท่วมขึ้นมา คนในตลาดก็ทนอยู่กับภาวะน้ำท่วม จนเรากลายพันธุ์เป็นปลา แต่อยู่ๆ น้ำลดปลามันก็ไม่มีทางเลือกนอก จากจะหนีไปอยู่ในแหล่งน้ำใหม่ หรือจะตายตรงนี้ เป็นการเปรียบเทียบกับเมืองไทยในช่วงนี้ที่เรารู้ว่ามันไม่ใช่ มันผิด แต่ว่าเราก็ทนอยู่ไปเรื่อย ๆ ไม่รับรู้ว่านี่เป็นปัญหาของเรา เมื่อไหร่เราจะตัดสินใจ หรือบางเรื่องเราไม่สามารถแสดงได้บนเวที ในโรงละคร Theatre To Go ก็เป็นกล่องกล่องหนึ่งที่ขยายแนวคิดของกรอบไอเดียไปสู่  global scale ได้เหมือนกัน

เรื่องที่ 2 “การหายตัวไปของนักการละคร” เป็นเรื่องของการอุ้มหาย ถามว่านักการละครที่เขียนวิจารณ์จริง ๆ แล้วหายไปไหน ในเรื่องเขาถูกลักพาตัวไป ภรรยาก็พยายามจะถามหาว่า คนนี้ทำความผิดอะไรแล้วเขาอยู่ไหน ยังมีตัวตนอยู่ไหม

เรื่องที่ 3 จากผลงาน “TranceI: The (Un) Governed Body” ของ “ธีระวัฒน์ ‘คาเงะ’ มุลวิไล” ศิลปินศิลปาธร สาขาศิลปะการแสดง ปี 2561 การแสดงแนว physical theatre สัญลักษณ์ของกลุ่ม B-floor Theatre เป็นเรื่องของนักแสดงที่ถูกกดทับด้วยสภาวะต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ตั้งคำถามเกี่ยวกับร่างกาย เมื่อต้องเผชิญ การต่อรอง หรือจัดการกับอัตลักษณ์แปลกปลอมของตนเอง (เคยจัดแสดงระหว่างวันที่ 13-22 กันยายน 2562 ณ ศูนย์ศิลปะวัฒนธรรมแสดงอรุณ ถนนสาทรเหนือ สีลม)

เรื่องที่ 4 Single Number จาก ขอนแก่น พูดถึงเรื่องตัวเลขที่กำหนดชีวิตคนแต่ละคน เช่น ลอ็ตเตอรรี่ แต่จริง ๆ แล้วพวกเราทุกคนถูกตีตราด้วย number มาตลอด ตัวเลขเป็นการวัดค่า บางทีมันอาจจะวัดค่าความเป็นมนุษย์ ความมากความน้อย มีมากมีน้อย รวยตนมาก รวยตนน้อย เราถูกตีตราด้วยการนับมาตลอด โดยที่เราไม่รู้หรอกว่าคุณค่าของชีวิตมันไม่ต้องนับขนาดนั้นก็ได้

เรื่องที่ 5 “จานนี้พ่อเคยล้าง” (This Plate Father Used to Wash : Another Day in May) เป็นเรื่องเกี่ยวกับวันที่ ตามความสนใจของผู้กำกับ พัฒนามาจากงานของ วิชย อาทมาทเรื่อง “เพลงนี้พ่อเคยร้อง” (This Song Father Used to Sing : Three Days in May รับรางวัลละครพูดยอดเยี่ยมจากชมรมวิจารณ์ศิลปะการแสดง (IATC) ปี 2558 ) วันที่ 8 พฤษภาคม สองพี่น้องกลับมาพบกันเพื่อร่วมรำลึกถึงพ่อ สองคนคุยกันในวันพ่อเสีย ความทรงจำต่าง ๆ สิ่งที่เกิดขึ้นหมุนเวียนไป โดยมีวัตถุพยานคือรูปของพ่อกับจานที่พ่อเคยล้าง”

 


photo : THEATRE TO GO

 

“พึ่งเชื่อมาตลอดว่าศิลปะการแสดง ศิลปะการละคร เป็นเรื่องของประสบการณ์ ไม่มีผิดไม่มีถูก ไม่มีเข้าใจ 100 เปอร์เซ็นต์ วันหนึ่งเมื่อเวลาผ่านไปเขาอาจเข้าใจแบบหนึ่ง พอเขาโตขึ้นอาจจะเข้าใจอีกแบบหนึ่ง รู้สึกว่าข้อดีของงานที่พวกเราทำมันเป็นปลายเปิดมาก ๆ คนสามารถเข้าใจมันได้ด้วยสภาวะ ประสบการณ์การเติบโตของตัวเอง พึ่งเชื่อว่าศิลปะที่ดีต้องไม่ชี้ผิดชี้ถูกค่ะ

ผลการตอบรับดีมากค่ะ ประทับใจที่ได้พา Performing Art ไปสู่กลุ่มที่เราอาจไม่เคยเจอมาก่อน เช่น ชุมชนคนทำงาน creative , graphic designer , กลุ่มข้าราชการที่อาจจะต้องมองหา content ใหม่ ๆ ในการทำงาน หรือกลุ่ม start up ต่าง ๆ ที่กำลังมองหาโอกาส แต่สิ่งที่รู้สึกไม่ค่อยโอเคคือคนส่วนใหญ่ที่มาในงานนี้เหมือนมา shopping ค่ะ ไม่ได้มาเสพผลงาน ไม่ได้รู้สึกว่าการจัดงาน Thacca Slash ครั้งนี้จะมีผลกับอะไร หรือขับเคลื่อนชุมชน Performing Art ซึ่งอาจจะเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ไม่ได้พูดถึงกลุ่มที่ทำ Performing Art ในสเกลใหญ่ หรือว่า Cultural Show นะคะ พึ่งรู้สึกว่าการรวมตัวกันครั้งนี้ ชุมชน Performing Art ที่เป็นกลุ่มเล็กยังไม่ได้มีบทบาทมากในวงการศิลปะ แล้วเขา (คณะกรรมการ) ก็ยังไม่เห็นว่าตรงนี้ (ชุมชน Performing Art) มีส่วนผลักดันเศรษฐกิจอย่างไร และไม่ควรเอาการเมืองทารวมกับศิลปะค่ะ

แต่กับโปรเจ็ค “THEATRE TO GO” ซึ่งเป็น creative base ที่มันสามารถเอาไปทดลอง ประยุกต์ใช้กับการเผยแพร่องค์ความรู้ และทำงานร่วมกับวงการการตลาด branding หรือวงการการแพทย์ ในแง่ของการเผยแพร่ รวบรวม ว่าคนที่มาในงานส่วนใหญ่สนใจจะเอาสิ่งนี้ไปต่อยอดยังไง แต่ถ้ามองกลับมาในมุมมองของศิลปะการแสดง พึ่งไม่คิดว่าคนส่วนใหญ่ที่มาจะหยิบ ‘ศิลปะการแสดง’ เป็น subject หลัก เพื่อนำไปส่งต่อค่ะ”

 


photo : Place Style Blog

 


photo : Place Style Blog

 

ทุกโซนทำให้รู้สึกเสียดายเหมือนกลายเป็นพื้นที่กลวงเพราะความกว้างที่จัดวางไว้ต้อนรับฝูงชนในจุดที่ไม่ต้องใช้เวลานานในการชมและทำความเข้าใจ พื้นที่ถูกออกแบบให้ได้อารมณ์เสมือนฝ่าเขาวงกตลดเลี้ยวไปเพื่อพบเซอร์ไพรส์ที่ไม่ธรรมดา

โดยเฉพาะโถงของ ท.ท.ท. ใช้ฉายวีดิโอโชว์เทคนิคมุมภาพสูงตระการตา แต่ว่าชวนเวียนหน้าอาเจียน มีเวลาปิดเปิดที่เว้นระยะห่างจนไม่เห็น content ที่ควรได้รับ เช่น

โซน Stage แบ่งออกเป็น 5 เวที มีพื้นที่ตรงกลางว่างไว้เตะบอล (หน้า THACCA HALL) ล้อมรอบด้วยบูธของเกาหลี ญี่ปุ่น ที่จำกัดไว้แจกเอกสารกับงานสมัครเรียน

- Vision Stage เวทีใหญ่พื้นที่เยอะสุดสำหรับพิธีเปิด-ปิดงานที่อลังการด้วยจอยักษ์ กว้าง-ยาวเข้ากับสำหรับรับแขกบ้านแขกเมืองที่เนืองแน่นในวันเปิด ส่วนช่วงเสวนากลายเป็นว่าใหญ่เกินไป แต่เครื่องเสียงชั้นดีช่วยให้ไม่เป็นปัญหา ใครฟังภาษาไม่เข้าใจมีหูฟังแปลให้นานาชาติ

- Pathway Stage ขนาดเล็กกำลังดีเวทีถูกยกสูง แต่ติดกับเวทีมวย เสียงดังอื้ออึงต้องผึ่งหูฟังอย่างตั้งใจ ฝึกการใช้สมาธิสูงสุด เข้าข่ายงานวัดเสียงซัดกันน่วม วิทยากรต้องแข่งกับระบบเสียงที่มีประสิทธิภาพยอดเยี่ยมจนอยากยกไปตั้งกลางสนามบอล (ล็อบบี้กลาง)

- โดมฉายหนังตั้งตรงข้าม Pathway Stage ดูเข้ากันดี แต่หนังทีวี-ซีรีส์ไม่ได้เหมาะกับเทคโนโลยีแนวนี้ทุกเรื่อง เข้ากันได้กับ “ศึกเสน่หา ไกรทอง ชาละวัน” นอกนั้นเกิดคำถามที่ชวนให้คิดถึง ‘ท้องฟ้าจำลอง’

- Performance Stage เวทีเล็กเบียดกับโซนอาหารรองรับทั้งเสวนาและการแสดง (ที่เหมาะกับการโชว์หุ่นเล็ก) ไร้เงาสาย Fine Art เวทีว่างนานเป็นช่วง ๆ รอเวลา prime time เสียดายที่ไม่มีการแสดงสลับ ทั้งที่มีดี ๆ ให้เลือกมากมาย (แต่งบหมด? หรืองดเชิญ?) หลายคณะ สถาบันหมดโอกาสไป “ระเบียบวาทะศิลป์” จึงได้ภาพมหาชนล้นทะลักออกไปยืนริมสนามฟุตบอล ใช้พื้นที่ว่างตรงกลางระหว่างเวทีให้เกิดประโยชน์สูงสุดตอนนี้เอง (แม้กระนั้นก็ยังแค่ริมขอบไม่สุดเขต)

- โซนอาหารมีห้อง ทิพยโอษฐ์ ไอเดียเหมือนจำลองภัตราคารจีนมาล้อมผ้าดำกั้นแสง เพื่อฉายวิดีโอโชว์เมนูอาหาร 4 ภาค บนโต๊ะปูผ้าขาวที่ว่างเปล่ารองรับภาพเพียงไม่กี่นาที ทำให้คิดถึงโรงหนังน้อย (Art Moovie) ที่ต้องซุกในพื้นที่จำกัดด้านธุรกิจ คิดถึงหนังดี ๆ ไม่มีพื้นที่จะฉาย เสียดายห้องอุปกรณ์ดีแต่ content มีจำกัด

THACCA SPLASH 2024 ครั้งที่ 1 จบลงไปด้วยการสร้างปรากฏการณ์ที่แสดงให้เห็นถึงจุดแตกต่างทางความคิดของคนหลายกลุ่ม แม้ถูกจัดอยู่ในก้อนเดียวกันอย่างยากจะควบรวม จุดเด่น คือ content ของการเสวนา และวิทยากรที่เชิญมาอย่างหลากหลาย และมากมายในทุกสาขา จุดด้อยคือการออกแบบจัดสรรพื้นที่กว้างใหญ่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพราะความยิ่งใหญ่ของการจัดงานไม่ได้วัดกันด้วยขนาดของพื้นที่ หรือการโชว์เทคนิคภาพ-เสียงสุดยอดเทคโนโลยีที่มีคุณภาพเท่านั้น (งบประมาณสามารถเนรมิตรได้) เพราะโลกที่เจริญแล้ววัดกันที่ ‘คุณค่าแท้จริง’ นั่นหมายถึงเนื้อหาที่สื่อสารในอีกระดับของการจัดงานที่เข้าถึง content หลายจุดถูกใช้อย่างเกินความจำเป็นเพราะพื้นที่เหลือเฟือ ในขณะที่อีกหลายจุดต้องการพื้นที่เพื่อจัดการกับระบบให้เหมาะสมกับ content ที่จำเป็นควรต้องมี แต่ในเวลาของการเตรียมงานที่จำกัดและเร่งด่วน Soft Power Forum (SPF 101) ภาพรวมจึงเน้นไปที่การโชว์ INDEX ให้เห็นเฉพาะสารบัญที่ออกแบบสวยเรียกความสนใจในแต่ละบท ก่อนลงรายละเอียดในเนื้อหา รอเวลาตกผลึกเจาะลึกทุกสาขาของปีต่อไป

 


[1] Integrated Marketing Communication, adaddictth.com, สืบค้น 28 มิถุนายน 2567 https://adaddictth.com/knowledge/IMC-Integrated-Marketing-Communication

[2] Value Proposition Canvas, สืบค้น 28 มิถุนายน 2567, https://contentshifu.com/blog/value-proposition-canvas

[3]  OFOS และ THACCA เกี่ยวข้องกันอย่างไร ?,  secretary.prd.go.th, สืบค้น 15 มิถุนายน 2567, https://secretary.prd.go.th/th/content/category/detail/id/9/iid/294430

[4] economy เปิดงบฯ Soft Power ทั้ง 11 สาขา 54 โครงการ กว่า 5 พันล้านบาท, rocketmedialab.co, สืบค้น 25 มกราคม 2567, https://rocketmedialab.co/soft-power/

[5] การประชุมรับฟังความเห็นเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านศิลปะ (ครั้งที่ 1) , THACCA-Thailand Creative Culture Agency, สืบค้น 18 กรกฎาคม 2567,  https://www.facebook.com/photo?fbid=122165867234197611&set=a.122110040444197611&locale=th_TH

[6] LISA - ROCKSTAR, LLOUD, สืบค้น 28 มิถุนายน 2567, https://youtu.be/hbcGx4MGUMg?si=NxACIK9fznTOMvXT

[7] เงินดิจิทัล 10000 ล่าสุด, bangkokbiznews.com, สืบค้น 24 กรกฎาคม 2567, https://www.bangkokbiznews.com/news/news-update/1137070

[8] อยากเห็นอนาคตวงการศิลปะไทยเป็นอย่างไร?, THACCA-Thailand Creative Culture Agency, สืบค้น 18 กรกฎาคม 2567,  https://www.facebook.com/thaccaofficial/posts/pfbid0yAUmY143GFgpcYyrK5irQKxJ4j9civM1tVsdXpnuvSKoxj7bFDfhHzGXsCBBG1vxl?rdid=ayuab6riWdDH5C8m

[9] ถอดรหัส “3Ws” ช่วยสร้างคอนเทนต์ใหม่ ๆ, CREATIVE TALK, สืบค้น 5 กรกฎาคม 2567, https://creativetalkconference.com/content-creation-3ws-framework/

[10] ศิลปินผู้อยู่เบื้องหลัง “CRYBABY”, www.longtungirl.com,  สืบค้น 5 กรกฎาคม 2567, https://www.longtungirl.com/7031

[11] Carrot and Stick, support.getmycrm.com, สืบค้น 5 กรกฎาคม 2567, https://support.getmycrm.com/Article/Detail/143610

[12] Conflict of interest , deac.drr.go.th, สืบค้น 5 กรกฎาคม 2567, https://deac.drr.go.th/wp-content/uploads/2019/12/drr-2019-12-26_04-32-29_946377.pdf

[13]  ‘วิชากู’ ของ พิเชษฐ กลั่นชื่น, thepotential.org, สืบค้น 9 ตุลาคม 2561, https://thepotential.org/creative-learning/pichet-klunchun/

[14]“ซอฟต์พาวเวอร์ต้องเข้าไปประทับในจิตวิญญาณ”, www.the101.world, สืบค้น 5 มกราคม 2567, https://www.the101.world/pichet-klunchun-interview/

[15] คนศิลปะได้อะไรจาก(ร่าง)พระราชบัญญัติส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ (พ.ร.บ. THACCA) (2024), bacc channel, 11 พฤษภาคม 2567 , https://www.youtube.com/watch?v=gFkUDncGdR0

[16] ไทยเธียเตอร์ฟาวน์เดชั่น (Thai Theatre Foundation), https://www.thaitheatre.org/mission-and-programs 

[17]  THEATRE TO GO, Citizen Journalist, สืบค้น  29 มิถุนายน 2567, https://youtu.be/tfZWXp2g2E8?si=n3PgMMe0c2S06AHw