ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

อ่านความคิด ‘ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี’ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจผ่านความมั่นคงของมนุษย์สู่การสร้างรัฐสวัสดิการในประเทศไทย

26
เมษายน
2564

ความมั่นคงของมนุษย์ที่ไม่มั่นคง

ในงานวิจัยฉบับนี้ ‘ษัษฐรัมย์’ ได้ชี้ให้เห็นข้อวิจารณ์สำคัญของรัฐสวัสดิการประการหนึ่งคือ เรื่องต้นทุนของการดำเนินการเพื่อให้เกิดรัฐสวัสดิการไว้ว่า “รัฐสวัสดิการ” มักจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นทางเลือกของการพัฒนาเศรษฐกิจที่สามารถคงอยู่ได้จากหลายเงื่อนไขเฉพาะ เช่น ประเภทของเศรษฐกิจ ลักษณะประชากร และวัฒนธรรม เป็นต้น

ในขณะที่แนวทางการพัฒนาแบบเสรีนิยมใหม่เป็นแนวทางที่สากลกว่าและสามารถนำมาปรับใช้ได้กับทุกสภาพเศรษฐกิจ ลักษณะนโยบายแบบรัฐสวัสดิการจึงเป็นนโยบายที่แพงและเกิดขึ้นได้ในบางประเทศเท่านั้น ขณะที่พื้นที่อื่นๆ สามารถพัฒนาด้วยรูปแบบอื่นที่ถูกกว่าและได้ผลไม่ต่างกัน

อย่างไรก็ตาม ภายใต้แนวคิดการพัฒนาแบบเสรีนิยมใหม่ที่จำกัดบทบาทของรัฐให้เป็นผู้รับผิดชอบน้อยที่สุด และเก็บภาษีน้อยที่สุดเพื่อเพิ่มแรงจูงใจการสะสมทุนของกลุ่มทุนต่างๆ โดยพยายามให้สวัสดิการเป็นสิ่งที่รับผิดชอบโดยปัจเจกบุคคลให้มากที่สุด ผ่านการบริหารจัดการของตนเองผ่านค่าจ้างที่ได้รับ ไม่ว่าจะเป็นการออมเงินในกองทุนต่างๆ เพื่อใช้ในการเกษียณอายุ การซื้อประกันสุขภาพ การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างมูลค่าในที่อยู่อาศัยของปัจเจกชนเอง 

ดังนั้น รัฐจึงไม่จำเป็นต้องลงทุนในความมั่นคงของมนุษย์เพียงแค่เปิดตลาดเสรี เกิดการแข่งขัน จ้างงาน และปัจเจกชนมีรายได้ก็สามารถรับผิดชอบตนเองได้นั้น ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นในประเทศเศรษฐกิจใหม่นั้นทำให้เกิด “กลุ่มแรงงานเสี่ยง” ที่ไร้อำนาจต่อรองทางเศรษฐกิจและการเมือง ไร้หลักประกันทางสังคม โดยที่ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจถูกผูกขาดไว้โดยกลุ่มทุนขนาดใหญ่

ประเทศ การเติบโตทางเศรษฐกิจ ความสามารถในการบริโภค (อันดับ) ดัชนีการพัฒนามนุษย์(อันดับ)
จีน 6.588 4.22 90
อินเดีย 7.670 3.51 131
บราซิล - 3.270 4.84 79
รัสเซีย - 0.760 4.16 49

การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ปรากฏในประเทศเศรษฐกิจใหม่แม้จะมีสัดส่วนที่สูง แต่เมื่อพิจารณาตัวชี้วัดอื่นๆ แล้วกลับไม่ได้พัฒนาขึ้นแต่อย่างใด ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจขยายตัวสูงขึ้น แม้จะมีรายได้ที่เป็นตัวเงินเพิ่มมากขึ้น

บริบทของสังคมไทยปัจจุบันนั้น มีลักษณะคล้ายกับความมั่นคงของมนุษย์ถูกผลักไสให้เป็นเรื่องความรับผิดชอบของปัจเจกชนเองมากกว่าการดูแลแบบรวมหมู่โดยรัฐ ซึ่งทำให้บทบาทของรัฐน้อยลง โดยผลักให้เป็นเรื่องของกลไกตลาดเข้ามาจัดการ ผลจากการที่ภาครัฐปล่อยให้การจัดสรรเป็นไปตามกลไกตลาด ความไม่มั่นคงทั้งหมดจึงตกอยู่กับปัจเจกบุคคลที่จะต้องจัดสรรรายได้จากการจ้างมาใช้เพื่อสะสมทุน และสร้างหลักประกันความมั่นคงในชีวิต และเมื่อความผันผวนทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นปัจเจกบุคคลก็ต้องรับความเสี่ยงไปด้วยตนเองเช่นกัน สภาพดังกล่าวสะท้อนผ่านการเกิดขึ้นของวิกฤตการณ์ที่ค่าเงินเปลี่ยนแปลงไปจากสภาวะเงินเฟ้อ

รัฐสวัสดิการคือหนทางของความมั่นคงของมนุษย์

ในงานวิจัยฉบับนี้ ‘ษัษฐรัมย์’ ได้ชี้ให้เห็นว่า หนทางของการสร้างความมั่นคงของมนุษย์ ก็คือการพัฒนาระบบรัฐสวัสดิการขึ้นมา ดังจะเห็นได้จากประเทศในกลุ่มนอร์ดิก ซึ่งมีการเติบโตทางเศรษฐกิจ ความมั่นคงของรัฐ และความมั่นคงของมนุษย์สามารถเติบโตไปด้วยในทิศทางเดียวกัน

ประเทศ การเติบโตทางเศรษฐกิจ ดัชนี Gini ความสามารถในการบริโภค ดัชนีการพัฒนามนุษย์ (อันดับ)
สวีเดน 3.550 2.73 9 14
นอร์เวย์ 0.857 2.59 24 1
ฟินแลนด์ 0.903 2.71 16 23
เดนมาร์ก 1.013 2.91 19 5

การเติบโตทางเศรษฐกิจกับแนวทางรัฐสวัสดิการสามารถไปด้วยกันได้ และแนวทางรัฐสวัสดิการแบบถ้วนหน้าครบวงจรก็เป็นเงื่อนไขสำคัญในการวางเงื่อนไขความมั่นคงของมนุษย์ไปพร้อมกันกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ ขณะที่แนวทางตลาดเสรีนิยมใหม่ มักวางเงื่อนไขให้ปัจเจกชนและความมั่นคงของมนุษย์และการเติบโต โอกาสทางเศรษฐกิจของตนเอง ซึ่งตามจริงแล้วหากใช้แนวทางแบบรัฐสวัสดิการสามารถผลักดันให้เงื่อนไขหลายอย่างเกิดขึ้นได้พร้อมกัน โดยมีรัฐเข้ามาช่วยในการสนับสนุนให้เกิดความมั่นคงของมนุษย์

อุปสรรคของการไม่เกิดขึ้นของรัฐสวัสดิการไทย

การเกิดขึ้นของรัฐสวัสดิการแบบถ้วนหน้าครบวงจรนั้น ช่วยสร้างความมั่นคงของมนุษย์ให้เกิดขึ้นได้  ทว่า ภายใต้บริบทของสังคมไทยนั้นอุปสรรคสำคัญของการเกิดขึ้นของรัฐสวัสดิการแบบถ้วนหน้าครบวงจรมีปัจจัย 3 ประการด้วยกันดังนี้

ประการแรก กระบวนการทำให้ยอมจำนนในวัฒนธรรมทางการเมืองและการไร้อำนาจต่อรอง ซึ่งเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับความตระหนักถึงสิทธิแห่งความเป็นมนุษย์ที่เสมอกันในสังคมอันเป็นคุณค่าพื้นฐานของการเกิดรัฐสวัสดิการ การตระหนักถึงสิทธิแห่งความเสมอภาคนั้นไม่ได้เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ แต่เกิดขึ้นจากการต่อสู้ทางการเมือง ซึ่งเริ่มต้นนับตั้งแต่การอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 

ทว่า ในบริบทของสังคมไทยนั้นกระบวนการดังกล่าวถูกทำลายโดยชนชั้นนำของไทยในเวลาต่อมา แม้ว่าระบอบการปกครองจะมีลักษณะเสมือนประชาธิปไตย กล่าวคือ มีการเลือกตั้งและมีตัวแทน แต่ประชาชนถูกทำให้ไม่ตระหนักถึงอำนาจของตนหรือสิทธิในการต่อรอง ซึ่งถูกปลูกฝังผ่านข้าราชการในระดับท้องถิ่น ระบบการศึกษา และวัฒนธรรมทางการเมืองแบบรวมศูนย์ สถานะของประชาชนจึงเป็นเพียงแต่ “วัตถุ” ที่ถูกควบคุมภายใต้ผู้มีอำนาจ การสร้างรัฐสวัสดิการจึงมีลักษณะแบบบนลงล่างขึ้นกับผู้มีอำนาจจะดำเนินการให้ จึงเกิดระบบสวัสดิการแบบสังคมสงเคราะห์ การพิสูจน์ความจน หรือสวัสดิการแก่กลุ่มคนเฉพาะกลุ่ม เช่น ข้าราชการ เป็นต้น

ประการที่สอง การไม่ตระหนักถึงราคาของความไม่เท่าเทียม อันเป็นผลมาจากการครอบงำโดยชนชั้นนำที่นิยมกลไกตลาดแบบสุดโต่ง เพื่อประโยชน์ในการผูกขาดทรัพยากรแล้ว การไม่ตระหนักถึงราคาของความไม่เท่าเทียมยังปรากฏในรูปแบบของการไม่เติบโตทางเศรษฐกิจ

เนื่องมาจากความเหลื่อมล้ำในสังคมมีมาก เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าราคาของการจัดการความไม่เท่าเทียมมีราคาที่สูง เช่น การปราบปรามความขัดแย้งจากความเหลื่อมล้ำ การสูญเสียทรัพยากรมนุษย์จากการถูกวางเงื่อนไขให้ไม่สามารถพัฒนาตนเองได้ ชนชั้นนำตระหนักว่าการผูกขาดการใช้อำนาจสร้างความเหลื่อมล้ำเป็นหนทางที่มีความเสี่ยงน้อยที่สุดในการรักษาสถานะ การที่ชนชั้นนำไทยไม่ตระหนักถึงราคาของความเหลื่อมล้ำทำให้หนทางในการรักษาสถานะของพวกเขาวนเวียนอยู่กับวิธีการแบบเดิม คือ การผูกขาดอำนาจทางเศรษฐกิจ

ประการที่สาม การขาดจิตสำนึกรวมหมู่ในชีวิตประจำวัน เนื่องมาจากเงื่อนไขข้างต้นทั้งสองประการ ทำให้สภาพการใช้ชีวิตประจำวันของคนไทยโดยทั่วไป คือ การพยายามเอาตัวรอดจากความเปราะบาง การพยายามก่อกำแพงให้ตนเองปลอดภัย ทั้งในระดับประชาชนทั่วไปและชนชั้นนำ ต้นทุนในการต่อสู้เรียกร้องมีความเสี่ยงสูง ทั้งจากการถูกปราบปรามโดยอำนาจรัฐที่ผูกขาดโดยชนชั้นนำ และต้นทุนทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้นจากการไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขของอำนาจรัฐและทุน

กระแสเสรีนิยมใหม่ทำให้ต้นทุนในการใช้ชีวิตสูงขึ้น การแสวงหากำไรในธุรกิจที่ไม่เคยเป็นสินค้าอย่างเข้มข้น เช่น การศึกษา สาธารณสุข สิ่งแวดล้อม และการพักผ่อน เป็นต้น ถูกแปรสภาพให้กลายเป็นสินค้าที่มีราคา เงื่อนไขข้างต้นนี้ทำให้ปัจเจกบุคคลอยู่ในสภาพปลอดการเมืองโดยปริยาย การรวมกลุ่มในลักษณะต่างๆ จึงมีต้นทุนที่สูงทำได้ยาก ทางออกคือการต่อสู้ในลักษณะของปัจเจกบุคคล ซึ่งโดยรวมขาดพลังและไม่ก่อให้เกิดนโยบายการเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้าง

ข้อเสนอแนะต่อรัฐไทยในการสร้างความมั่นคงของมนุษย์

นโยบายรัฐสวัสดิการแบบถ้วนหน้าครบวงจร ไม่ใช่นโยบายทางเศรษฐกิจเพียงลำพัง หากวางอยู่บนความเป็นประชาธิปไตยทางการเมืองและปรัชญามนุษย์นิยม การพัฒนานโยบายนี้ในประเทศไทยจึงไม่ใช่ข้อจำกัดทางเศรษฐกิจที่เป็นปัจจัยเครื่องมือเท่านั้น เงื่อนไขสำคัญโดยสรุปในการวางรากฐานให้เกิดนโยบายรัฐสวัสดิการแบบถ้วนหน้าครบวงจรประกอบไปด้วยเงื่อนไขดังต่อไปนี้

ประการแรก ปรัชญามนุษย์นิยม ซึ่งเกิดจากความยอมรับร่วมกันในสังคมว่า ความวัฒนาทางเศรษฐกิจและความมั่นคงของรัฐไม่สามารถดำรงอยู่ได้หากมีการละทิ้งความมั่นคงของมนุษย์ สวัสดิภาพ สวัสดิการของมนุษย์ในสังคมเศรษฐกิจของประเทศย่อมไม่สามารถเติบโตอย่างมั่นคงได้ หากประชากรส่วนใหญ่ถูกกองไว้กับความยากจน หนี้สิน และ ความสิ้นหวัง

ความมั่นคงทางการเมืองย่อมไม่เกิดขึ้น หากประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศไม่สามารถคาดเดาได้ว่าพวกเขาจะมีชีวิตอย่างไร รวมถึงไม่สามารถเลือกวิถีชีวิตของตนเองได้ด้วยข้อจำกัดทางชาติกำเนิดและฐานะทางเศรษฐกิจ และ ที่สำคัญมนุษย์สามารถเอาชนะข้อจำกัดความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ได้ด้วยการก้าวสู่สังคมที่โอบอุ้มมนุษย์ร่วมกันโดยไม่จำต้องปล่อยคนทิ้งไว้เบื้องล่าง กลไกตลาดและระบบเศรษฐกิจที่เอื้อประโยชน์แก่ทุนเป็นเพียงหนึ่งในเครื่องมือเท่านั้นที่หาใช่สัจจะนิรันดร์ที่มนุษย์ต้องยึดถือเพียงตัวเลือกเดียว

ประการที่สอง การกระจายอำนาจ ความเป็นประชาธิปไตยในทุกระดับเป็นสิ่งที่ทำให้ระบบรัฐสวัสดิการแบบถ้วนหน้าครบวงจรเกิดขึ้นได้ ไม่เพียงแต่ความมั่นคงทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่รวมถึงการกระจายการตัดสินใจเชิงนโยบายสู่ประชาชน หัวใจสำคัญคือการเพิ่มการมีส่วนร่วมทางการเมืองระดับท้องถิ่นการเพิ่มระดับพรรคการเมืองที่ผูกติดกับการตัดสินใจในระดับมวลชนมากกว่าพรรคการเมืองของชนชั้นนำ

ประการที่สาม การปฏิรูปเงื่อนไขเบื้องต้นทางเศรษฐกิจ แม้ว่ารัฐสวัสดิการแบบถ้วนหน้าครบวงจรจะเกิดขึ้นบนพื้นฐานปรัชญามนุษย์นิยม และการเมืองเป็นระบอบประชาธิปไตยในทุกระดับ แต่การจัดลำดับนโยบายทางเศรษฐกิจก็มีความจำเป็นเร่งด่วนเป็นอันดับแรก การจะไปให้ถึงรัฐสวัสดิการแบบถ้วนหน้าครบวงจร จำเป็นจะต้องมีการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ การปฏิรูปกฎหมายแรงงาน และการเกิดพรรคแรงงานที่เชื่อมรอยต่อการต่อสู้แต่ละสถานประกอบการเข้าหากันและกัน และผลักดันนโยบายสู่วาระสาธารณะ

 

หนังสืออ้างอิง

  • ความหมายที่ปลายรุ้ง: กระบวนการพัฒนาความมั่นคงของมนุษย์ในประเทศรัฐสวสัดิการใต้วิกฤตเสรีนิยมใหม่ Where is the rainbow ends โดย ผศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุตรดี