ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

เสรีไทย เขาคิดกันอย่างไร?

25
สิงหาคม
2564

 

เสรีไทย: แรงบันดาลใจ

ผมได้ดูโทรทัศน์ TV Series ชื่อว่า “เวียดนาม” เป็นสารคดีประมาณ 10 ตอน เมื่อดูแล้วจะเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นหลังสงครามโลกเป็นอย่างยิ่ง และจะเห็นชัดเจนมากขึ้นว่าเวลาที่มหาอำนาจตกลงแบ่งปันผลประโยชน์กัน ชาติเล็กๆ ลำบากอย่างยิ่ง

“เวียดนาม” เป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศสมายาวนาน ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ทางสหรัฐอเมริกาสัญญาว่าถ้าต่อต้านญี่ปุ่นแล้วเมื่อจบสงครามจะให้เอกราช แต่พอสงครามจบลง ฝรั่งกับอังกฤษ สหรัฐอเมริกา เป็นผู้ชนะ ฝรั่งเศสก็กลับใจ ไม่ยอมที่จะออกไปจากอินโดจีน ไม่ยอมยกเว้นเวียดนาม พยายามจะต่อรองบุกเข้าไปในดินแดน ซึ่งเวียดนามไม่สารถสู้ได้เพราะฝรั่งเศสมีทหารมากกว่า

ทางฝ่ายพันธมิตรด้วยกันก็บอกอย่ามายุ่งเลย ถอยๆ มาเลยดีกว่า ให้ฝรั่งเศสเขาเจรจาคือไม่อยากจะเหยียบเท้าเพื่อน ปรากฏว่าเวียดนามต้องต่อสู้กับฝรั่งเศสตั้งแต่ปี 1954     จนล้มตายเป็นแสนๆ คน ก่อนที่จะฝรั่งเศสจะยอมแพ้ออกไปได้ จากเวียดนามที่เดียนเบียนฟู แต่ฝรั่งเศสออกไปแล้วมันไม่จบเพราะสหรัฐอเมริกาเข้ามาแทน จึงต้องรบกันอีก 20 ปี

ระหว่างนั้น คนเวียดนามฆ่าฟันกันตายไปไม่ต่ำกว่า 3 ล้านคน กว่าที่จะได้อิสรภาพกลับคืนในเมื่อตอนเอาชนะสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 1975 เห็นได้ชัดเจน ว่าประเทศเวียดนามถูกปู้ยี้ปู้ย้ำ จากการตกลงกันทั้งลับหลัง และต่อหน้า

พอผมได้มาอ่านเรื่องราวของประเทศไทยจึงเห็นได้ชัดว่า แม้แต่ท่านหัวหน้าหน่วยใต้ดิน ‘ท่านอาจารย์ปรีดี  พนมยงค์’  ท่านมีบทบาทสำคัญมากในเรื่องที่ทำให้เราไม่เป็นผู้แพ้สงคราม ถึงแม้ว่าเราจะประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกาก็ตาม ถึงแม้ว่าในวันสันติภาพที่เราประกาศ หลังจากที่ญี่ปุ่นยอมแพ้เมื่อปี 2488

‘ลอร์ด หลุยส์ เมานท์แบทเตน’ ได้โทรเลขมาบอกท่านอาจารย์ปรีดี ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ว่าให้ประกาศออกมาจากประเทศไทยว่าไม่ได้ยินดีร่วมในสงครามกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ไม่ได้เป็นปฏิปักษ์ แต่ว่ายอมรับที่จะคืนดินแดนที่เคยได้จากญี่ปุ่นมานั้น กลับคืนไปหมด แล้วก็คนไทยไม่เห็นด้วยเลย ฉะนั้นอังกฤษก็พร้อมที่จะไม่คิดว่าประเทศไทยเป็นผู้แพ้สงคราม ท่านอาจารย์ปรีดีก็ประกาศไป มีความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร เพราะฉะนั้น เราจึงถือว่าวันที่ 16 สิงหาคมเป็นวันสันติภาพไทย

เมื่อประกาศไปแล้ว เรื่องไม่ได้จบแค่นั้น เพราะเบื้องหลังยังมีปัญหาอีกมากมายทีเดียว กว่าที่จะยกเลิกสถานะของสงครามกับอังกฤษได้ คือ หลังสงคราม

หลังเหตุการณ์วันสันติภาพ อังกฤษยังต้องการหลายอย่างจากประเทศไทย เป็นจำนวนถึง 21 ข้อ ส่วนสหรัฐอเมริกาไม่ต้องการอะไรจากประเทศไทย ต้องการมิตรภาพ ต้องการที่จะทำให้ประเทศไทยกับประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นเพื่อนกัน

เพราะฉะนั้น สหรัฐอเมริกาจึงช่วยทัดทานหลายเรื่องที่อังกฤษขอร้อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการปลดอาวุธ เช่น ต้องการให้จีนเข้ามาปลดอาวุธญี่ปุ่นในประเทศไทย ซึ่งตอนนั้นท่านผู้สำเร็จราชการแผ่นดินก็กลัวว่า ถ้าหากเข้ามาปลดอาวุธแล้วจะเป็นปัญหาขึ้นมา และในประเทศไทยมีทหารอินเดียอยู่เป็นหมื่นคนที่อังกฤษเอาเข้ามาปล่อยไว้ ถ้าหากเกิดข้อขัดแย้งกัน ระหว่างจีนกับอินเดียแล้ว มันก็จะเกิดการรบกัน และก็จะแบ่งประเทศไทยเป็นหลายส่วนด้วยกัน

ทางฝั่งอังกฤษเองก็พยายามบีบบังคับให้ไทยได้ลงสัญญาโดยเร็ว แต่ว่าทางฝ่ายไทย   ไม่ปล่อยครับ พิจารณาประเด็นทั้งหลาย ดึงไปเรื่อยๆ จนกระทั่งในที่สุด สหรัฐอเมริกาก็สามารถบีบบังคับให้อังกฤษยอมที่จะเรียกร้องต่อประเทศไทยน้อยที่สุด นี่เป็นผลสำเร็จมากจากวันสันติภาพ แต่ก่อนที่จะได้สถานะมา เป็นเรื่องที่ยากลำบากมาก เพราะอังกฤษโดนกดดันจากคนอังกฤษด้วยกันเอง ที่ถือว่าไทยร่วมสงครามโลกกับญี่ปุ่น ก็พยายามจะเรียกร้องอะไรต่างๆ มากมาย สุดท้ายไทยก็เสียข้าวหลายล้านตันให้กับอังกฤษ แต่ว่าก็มีการซื้อขายกันในราคาที่เป็นธรรม อันนี้ก็เป็นเปอร์เซ็นต์ชนะของไทย ถึงแม้ว่าไทยจะแพ้ก็ตาม ด้วยความรอบคอบจากขบวนการเสรีไทย

เสรีไทยสำคัญอย่างไร จึงทำให้ประเทศไทยเปลี่ยนจากผู้แพ้สงคราม กลายเป็นผู้ที่ไม่ถูกยึดครองไปได้

ผมก็ขออนุญาตอ่านข้อความจากหนังสือ ตำนานเสรีไทย ของ ดร. วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร์ ได้กล่าวไว้ว่า

“ปฏิบัติการทางทหาร คือ ปัจจัยที่มีน้ำหนักมากที่สุด ในการโน้มน้าวจิตใจของผู้บังคับบัญชาการทหารของอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ใช้สนับสนุนเอกราชและอธิปไตยของประเทศไทย ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประโยชน์ที่ทางฝ่ายทหารสัมพันธมิตรได้รับจากการปฏิบัติการต่างๆ ที่ทหารเสรีไทยทั้งสายอังกฤษและสายสหรัฐอเมริกาได้ปฏิบัติตามที่ได้รับมอบหมาย ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้น้ำหนักต่อการพิจารณาฐานะของประเทศไทย

แต่ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ ความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวและขีดความสามารถของบรรดาทหารเสรีไทยในการปฏิบัติหน้าที่ ประกอบด้วยความรักชาติ รักอิสรภาพและเสรีภาพ อีกทั้งสิทธิมนุษยชนและมนุษยชาติที่ได้แสดงออกอย่างจริงใจ ชัดเจนและต่อเนื่อง โดยเอาชีวิตเข้าแลก ทำให้ผู้บังคับบัญชาทุกระดับ ทั้งฝ่ายสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ มีความรู้สึกและทัศนะคติที่ตรงกันว่า ประเทศไทยจะต้องคงความเป็นเอกราชโดยไม่ต้องยอมจำนนในฐานะประเทศผู้แพ้สงคราม กองทัพไทยไม่ต้องวางอาวุธ และไทยไม่ต้องถูกยึดครองภายหลังสงคราม

ลอร์ด หลุยส์ เมานท์แบทเตน ผู้บัญชาการทหารอังกฤษและผู้บัญชาการทหารสูงสุดสัมพันธมิตรในภาคพื้นเอเชียอาคเนย์ และนายพล William J. Donovan ผู้อำนวยการ OSS ของสหรัฐฯ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ทหารระดับรองลงมา ส่วนใหญ่ที่ปฎิบัติงานเกี่ยวกับประเทศไทยก็ล้วนแต่มีทัศนคติที่ดีต่อประเทศและประชาชนชาวไทย เนื่องมาจากการปฏิบัติการทางทหารของบรรดาเสรีไทย ทั้งสายอังกฤษและสายสหรัฐอเมริกา เป็นสำคัญ”

นี่คือเหตุผลว่าทำไมเวลาที่สงครามเราแพ้สงคราม เราถึงไม่ถูกยึดครอง หรือถูกแบ่งสมบัติเหมือนกับประเทศญี่ปุ่นที่ถูกยึดครอง หรือเยอรมนีที่ถูกยึดครอง ก็เพราะว่ามีขบวนการเสรีไทยซึ่งแสดงออกซึ่งความจริงใจ

ขบวนการเสรีไทยในประเทศไทย นับเป็นหมื่นคนที่มีการซ้อมอาวุธทางลับ ในภูมิภาคต่างๆ ที่พร้อมจะสู้กับญี่ปุ่นอย่างเปิดเผยแต่สัมพันธมิตรห้ามไว้ และยังมีเสรีไทยสายสหรัฐอเมริกา 50 คน สายอังกฤษอีก 36 คน ที่เป็นทหารและคนอื่นอีกเป็นจำนวนมาก คนเหล่านี้ได้ประพฤติ มีวัตรปฏิบัติที่แสดงออกถึงความจริงใจ และต้องการที่จะร่วมมือเพื่อทำงานเพื่อชาติ คนเหล่านี้ก็เลยเห็นความจริงใจ และก็สามารถเอาสิ่งที่คนไทยทำเบื้องหลัง การไม่เห็นด้วยกับญี่ปุ่นมาเป็นข้อแสดงว่าคนไทยทั้งประเทศไทยไม่เห็นด้วยกับการประกาศสงครามกับสหประชาชาติหรือสัมพันธมิตร จึงสามารถจะช่วยให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากภาวะการที่จะแพ้สงครามได้ นี่คือความสำคัญของเสรีไทย

เสรีไทยเหล่านี้...มีใครบ้าง?

บุคคลที่อาสาเป็นเสรีไทย ส่วนหนึ่งเป็นบัณฑิตที่เรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงของสหรัฐอเมริกาเกือบทั้งหมด และในอังกฤษก็เช่นกัน เป็นนักศึกษาจำนวนมาก ท่านเหล่านั้นในปัจจุบันนี้ ไม่ว่าจะเป็นรองนายกรัฐมนตรี อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิการบดีมหาลัยธรรมศาสตร์ อาจารย์ นักวิชาการ คนที่มีชื่อเสียงในสังคมข้าราชการ ล้วนอยู่ในจำนวนคนที่เป็นเสรีไทยสายอังกฤษและสายสหรัฐอเมริกาทั้งสิ้น

ถามว่า...คนเหล่านี้ เขาคิดอะไรกัน?

เรากำลังมองประวัติศาสตร์  ในตอนที่ประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ประเทศไทยให้นักเรียนไทยทั้งหมดที่มีอยู่ในสองประเทศนี้ กลับประเทศโดยด่วน ใครที่ไม่กลับจะต้องถูกถอนสัญชาติแล้วจะไม่ส่งตังค์ไปให้ แล้วจะไม่ให้กลับประเทศไทยอีกเลย จนกว่าสงครามจะสงบ หากจะกลับต้องทำการขออนุญาตอีกครั้งหนึ่ง

เพราะฉะนั้น นักศึกษาเหล่านี้รวมทั้งบัณฑิตที่มีอนาคตที่สดใสรออยู่ข้างหน้า ไม่มีทางจะรู้เลยว่าในอนาคตตัวเองจะเป็นใหญ่เป็นโต ซึ่ง ณ เวลานั้น มันเป็นความเสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย มีข้าราชการบ้างส่วนกลับ เพราะข้าราชการนั้น ถ้าไม่กลับไปจะถูกไล่ออกจากราชการทันที

แต่ถึงกระนั้นก็ตาม มีข้าราชการสถานทูตที่อังกฤษและสหรัฐอเมริกาไม่ต่ำกว่า 10 คน  ที่ไม่ยอมกลับ ยอมเสี่ยงตาย บากหน้าที่จะเป็นเสรีไทย คือทำงานเพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าคนไทยนั้นไม่เห็นด้วยกับการประกาศสงครามครั้งนี้ และต้องการแสดงให้เห็นว่าคนไทยนั้น มีความตั้งใจจริง มีความความเสียสละชีวิตเพื่อจะทำให้คนในสัมพันธมิตรเห็นว่าไม่จำเป็นต้องทำกับประเทศไทย เหมือนกับที่ทำกับประเทศอื่นที่อยู่ในฐานะผู้แพ้สงคราม

นี่แหละครับที่ผมรู้สึกขนลุก เวลาที่ผมกลับไปมองท่านผู้ใหญ่เหล่านี้ ขณะนั้นไม่มีทางรู้หรอกครับว่าอนาคตจะออกหัวออกก้อย หลายคนจบมหาวิทยาลัยชั้นเลิศของอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ถ้ากลับไปเมืองไทยก็เจริญรุ่งเรืองแน่นอน คนเรานั้นไม่เคยเห็นอนาคตเลยว่า 100 คนเหล่านี้จะมาเป็นใหญ่เป็นโตในเวลา 50-60 ปีต่อมา

ตอนนั้นเห็นแต่ความมืดมน แต่คนเหล่านี้ก็กล้าที่จะตัดสินใจ เพราะพวกเขามีความรักชาติ มีความหวงแหนเอกราช หวงแหนอธิปไตย มีหลักฐานข้อเขียนคำพูดที่จดบันทึกไว้โดยฝรั่งและคนไทยจำนวนมาก ที่นักเรียนในวัย 20-30 กว่าปีมีจิตใจฮึกเหิมมาก รักชาติ ห่วงอธิปไตย ไม่ยอมให้ใครมากดขี่  และในจำนวนนั้นก็มีผู้สูงอายุหลายท่าน เจ้าหน้าที่สถานทูต อายุ 40 ปีก็มี เป็นคุณหลวงก็มี และในจำนวนคนที่เป็นเสรีไทยนั้น    ในสายอังกฤษ มีตั้งแต่หม่อมเจ้า หม่อมราชวงศ์ ถึงหม่อมหลวง ขุนนาง ลูกขุนนาง ลูกชาวบ้านที่ปนอยู่ในสายอังกฤษก็มีอยู่ประมาณ 36 คนที่เป็นทหาร  และสนับสนุนที่ค่ายทหารอีกจำนวนมากกว่าหลายเท่าตัวทีเดียว

ทุกคนมาร่วมกันได้จากพื้นฐานที่แตกต่างกัน การเมืองที่แตกต่างกัน มาร่วมกันเพื่อชาติ หลายคนไม่ชอบรัฐบาล หลายคนก็เออออกับรัฐบาล แต่คนเหล่านี้ไม่ได้มองว่าทำงานเพื่อรัฐบาล แต่ทำงานเพื่อชาติ รัฐบาลกับชาติแตกต่างกัน  รัฐบาลเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา แต่ชาติไม่มีวันเปลี่ยนแปลงเพราะฉะนั้น ผมขนลุกทุกครั้งที่ได้รับฟังเรื่องราวของเสรีไทยเหล่านี้ ที่ได้เสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย ได้ทำหน้าที่ อย่างที่คนรุ่นหลังจะต้องนึกขอบคุณ 

ผมพูดเชิดชูเสรีไทย ไม่ได้ต้องการให้เชิดชูบรรพบุรุษของผม คนเหล่านี้เขาไม่ได้ต้องการคำสรรเสริญเพราะเขาสาบานกันไว้แล้วว่า เมื่อหมดหน้าที่เสรีไทยจะสลายตัวทันที จะไม่มีใครพูดถึงเรื่องบุญคุณ ท่านอาจารย์ปรีดี หัวหน้าหน่วยเสรีไทยบอกว่า “คนที่มีบุญคุณต่อประเทศไทย ไม่ใช่คนเหล่านี้เลย คนที่มีบุญคุณต่อประเทศไทยจริงคือคนไทยทุกคน ที่พร้อมใจร่วมมือกัน ในสงครามครั้งนี้”

นี่เป็นเรื่องที่จริง ที่ผมมาเล่านี้ ผมเล่าในฐานะที่ผมได้ฟัง ได้เห็นเหตุการณ์ คนที่เป็นเพื่อนของคุณพ่อผม รุ่นเดียวกันที่คุยกัน ผมมีความรู้สึกว่าคนเหล่านี้มีความรักชาติมาก คุยกันไม่ได้คุยกันในเรื่องผลประโยชน์ส่วนตัว แต่ว่าคุยว่าจะทำอย่างไรให้เป็นประโยชน์ต่อชาติบ้านเมือง และเมื่อจบสงครามแล้ว ผมไม่เคยได้ยินพวกเขามาคุยกันอีกเลย แต่ละคนจะไม่พยายามคุยเรื่องเหล่านี้ เพราะถือว่าทำไปแล้วก็จบ และสิ่งที่เขาทำ ก็ะเพื่อต้องการสร้างมาตรฐานให้ลูกหลานเห็นว่า ครั้งหนึ่งเมื่อเกิดศึกสงครามขึ้นมีคนไทยที่กล้าพร้อมจะเสียชีวิต เพื่อสืบทอดจริงที่เป็นมรดกแผ่นดินไทย อธิปไตย ผลประโยชน์ของชาติให้กับคนรุ่นต่อไป คนเหล่านี้มีความมุ่งมั่นในจิตใจเป็นอย่างยิ่ง

ผู้สละชีพเพื่อรับใช้ชาติในภารกิจขบวนการเสรีไทย

ท่านแรก ‘คุณจำกัด พลางกูร’ เราคงเคยได้ยิน ท่านเดินเท้าจากประเทศไทยไปจุงกิง เมืองหลวงของจีนในเวลานั้น เพื่อจะทำให้จีนในเวลานั้นรู้ว่า ขบวนการเสรีไทยของไทยได้เกิดขึ้นแล้ว ซึ่งยากลำบากมาก ต้องหลบทหารญี่ปุ่น สายลับญี่ปุ่นไปตลอดทาง กว่าจะถึงจีน และกว่าจะพบ เจียง ไคเชก ที่จะยอมรับว่าจริงหรือไม่ที่ประเทศไทยมีเสรีไทยแล้ว และเพราะว่าความเห็นไม่ลงรอยกัน ระหว่างสถานทูตไทยในสหรัฐฯ กับจีน จนกระทั่งที่สุด ท่านก็เสียชีวิตไปเพราะว่าโรคมะเร็งในลำไส้ อายุเพียง 24 ปี จบจากมหาวิทยาลัยมีชื่อ มีความมุ่งมั่นและรักชาติเป็นอย่างยิ่ง

สองท่านหลังนี้ ยิ่งน่าเศร้า ท่านแรก คือ ‘คุณการะเวก ศรีวิจารณ์’ ท่านเป็นทหาร ได้รับทุนมาเรียนเกี่ยวกับแผนที่ เนื่องจากเรียนเก่งมาก ก็ได้รับอนุญาตให้ไปเรียนปริญญาตรีของ MIT หรือ Massachusetts Institute of Technology ที่มีชื่อเสียงจนจบปริญญาตรี และท่านก็เรียนปริญญาโทอีกใบที่ Syracuse University

อีกท่านคือ ‘คุณสมพงศ์ ศัลยพงศ์’ เรียนมหาลัยในสหรัฐอเมริกาเช่นเดียวกัน ทั้งสองคนนี้เป็นเสรีไทยสายสหรัฐอเมริกา เข้าไปถูกฝึกฝนโดยกระบวนการที่เป็นต้นตำรับของ CIA ให้เข้ามาแทรกแซงในประเทศไทย 1 ปีก่อนสงครามจะสงบ ในปี 2487 เดินเท้าเข้ามาในประเทศไทย ข้ามไปที่ลาว ปรากฏว่าถูกจับ ท่านก็เอาอาวุธ เอาวิทยุ เครื่องมือสื่อสารเหล่านี้ มอบให้กับทางฝ่ายที่จับ คือ ตำรวจไทย ตำรวจไทยก็ 3 คน  รวมทั้งผู้ใหญ่บ้าน ก็พาข้ามมาฝั่งแม่น้ำโขง เพื่อจะมาฝั่งไทย ระหว่างทางที่มาบนเรือ 2 ลำที่ต่อเนื่องกัน คุณการะเวกโดนยิงก่อน ยิงโดยตำรวจไทยที่อยู่บนเรืออีกลำหนึ่ง เสียชีวิตทันที

‘คุณสมพงศ์ ศัลยพงศ์’ นั้นมีร่างกายใหญ่โตกว่า ลุกขึ้นยืนต่อสู้ ถูกยิง 2 นัด ไม่เสียชีวิต ตำรวจบังคับให้ชาวบ้านที่มาด้วยกัน โยนคุณสมพงศ์ลงในแม่น้ำโขง เมื่อโยนลงไปแล้ว คุณสมพงศ์ก็ตะโกนขึ้นมาว่า ผมทำงานเพื่อชาติ ผมคนไทย ไม่น่ายิงผมเลย เมื่อโยนลงน้ำแล้ว คนบนเรือก็เอาไม้พาย กดให้ท่านจมน้ำ ดำน้ำหนีไปเกาะแก่งกลางแม่น้ำโขง เขาเอาเรือตามมา จะให้ตายให้ได้ แต่ท่านก็ยังไม่ตาย เพราะท่านเป็นคนแข็งแรง

สุดท้ายตำรวจอีกคนเอาปืนสั้นยิงร่างกายลอยหายไปในแม่น้ำ ไม่มีใครพบ แม้กระทั่งบัดนี้ น่าเสียใจมาก ผมว่าถ้าทั้ง 2 ท่านอยู่ ต้องรุ่งเรืองแน่นอน คุณการะแวกและอีก 26 คนในรุ่นเดียวกันและคุณสมพงศ์  ศัลยพงศ์ นั้นก็สูญหายไป ไม่มีใครพบเลย

ภายหลังสงครามมีการขุดศพที่หลังสถานีโรงพักขึ้นมา แล้วก็ทำพิธีเอาอัฐิของทั้ง 2 ท่าน ของคุณการะเวก และคุณจำกัด เป็นอัฐิที่อยู่ในอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิในปัจจุบันนี้  ผมคิดว่าเรื่องราวของอดีตเป็นเรื่องราวที่สำคัญมาก  คนเราจะต้องสำนึกในประวัติศาสตร์ด้วยเหตุที่ว่าเราต้องเชิดชูคนที่เสียชีวิตไป เราต้องเชิดชูคนที่เสียสละเพื่อชาติ

1 เดือนหลังจากที่ชนะสงคราม ในวันสันติภาพ ท่านปรีดีบอกว่า ขอให้ท่านทุกท่านได้สำนึกวีรกรรมของเพื่อนร่วมตาย ที่ต้องเสียชีวิตในการปฏิบัติหน้าที่ครั้งนี้ คือ 1. นายจำกัด พลางกูร 2. นายการะเวก ศรีวิจารณ์ และ 3. สมพงศ์  ศัลยพงศ์ ชีวิตเขาสิ้นไปเพื่อได้มาซึ่งเอกราชและความคงอยู่ของชาติไทย ซึ่งชาวไทยไม่ควรลืม นี่ครับคือความสำคัญของการเชิดชูคนที่เสียชีวิตไปแล้ว เราต้องให้เกียรติบรรพบุรุษของเราที่ได้ยอมเสียสละชีวิตเพื่อให้มีความคงอยู่ของชาติไทย มีเอกราช มีอธิปไตย

นี่คือความสำคัญ ที่เราต้องต้องเข้าใจว่าการทำงานเพื่อชาตินั้น คืออย่างไร ผมว่าสิ่งสำคัญ อย่าสับสนระหว่างทำงานเพื่อรัฐบาลกับทำงานเพื่อชาติ เพราะรัฐบาลเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ถ้าคนเหล่านี้คิดว่าทำงานเพื่อรัฐบาล คงมีเสรีไทยไม่กี่คนหรอกเพราะเสรีไทยสมัยนั้น ก็ไม่พอใจรัฐบาลจำนวนมากเลยทีเดียว แต่เขาทำงานเพื่อชาติ

‘อาจารย์ป๋วย อึ้งภากรณ์’ เสรีไทยที่มีชื่อเสียงของสายอังกฤษคนหนึ่ง ท่านก็ทำงานให้จอมพล สฤษดิ์ เพราะท่านถือว่าทำงานเพื่อชาติ เป็นกรรมการสภาพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ เป็นผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังหลายตำแหน่งด้วยกัน ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยด้วย ท่านถือว่าทำงานเพื่อชาติ เพราะฉะนั้น ทำงานเพื่อชาติกับทำงานเพื่อรัฐบาลนั้นแตกต่างกัน  ถ้าเรามุ่งมั่นเข้าใจความถูกต้อง อะไรที่คนทำงานเพื่อชาติ อะไรที่ทำงานให้รัฐบาล ผมว่าเราจะเป็นกำลังใจต่อคนที่ทำงานต่อไปเป็นอันมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เราต้องไม่ลืมว่าคนที่เสียชีวิตไปเหล่านั้น เสียสละไปเพื่อชาติ

ผมคิดว่าชีวิตของ ‘คุณสมพงศ์ ศัลยพงศ์’ เป็นชีวิตที่น่าสงสารมาก มีชีวิตที่รุ่งเรืองแน่นอนประโยคของท่านที่ก้องอยู่ในหู ผมอ่านแล้วผมสลดใจและสะเทือนใจมากก็คือ คำพูดที่ว่า “ผมเป็นคนไทย” แต่ว่าคนบนเรือก็ไม่ฟัง ควักปืนสั้นออกมายิง 2 นัด สิ้นชีวิต ศพล่องลอยไปในแม่น้ำโขง ไม่เคยมีใครพบศพท่าน แม้กระทั่งปัจจุบันนี้ ผ่านมาแล้ว 76 ปี นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต ถ้าเรามีความสำนึกในประวัติศาสตร์ เราจะเชิดชูครูสิ่งที่คนในอดีตเราได้เสียสละ เราต้องเข้าใจถึงการเสียสละของคนเหล่านี้ เพื่อให้เรามีวันนี้

ขอให้พวกเรารำลึกถึงวันสำคัญนี้ในอดีต คือ “วันสันติภาพไทย” หมายความถึงการที่ชาติเราได้พ้นจากการถูกเอาเปรียบ มีอธิปไตย มีเสรีภาพ และก็รักษาผลประโยชน์ให้เราถึงลูกหลานเราในวันนี้

ถ้าไม่มีวันสันติภาพไทย ไม่มีเหตุการณ์สันติภาพ ไม่มีเสรีไทย เราอาจจะมีแผ่นดินไทยที่แยกเป็น 2 ส่วน 3 ส่วนก็ได้ เหมือนที่เวียดนามหรือบางประเทศ แต่ที่เรามีทุกวันนี้ได้ แทบจะไม่มีอะไรสูญหายไปเลยจากสงคราม ก็เพราะว่าคนส่วนหนึ่งได้เสียสละ เสรีไทยในประเทศนับหมื่นคน ที่พร้อมที่จะต่อสู้ ฝึกอาวุธ เสรีไทยในอังกฤษที่เป็นทหาร 36 คน และที่ไม่ได้เป็นทหารอีกจำนวนเท่าตัว ในสายสหรัฐอเมริกาก็เช่นกัน 40-50 คนกับคนที่อยู่ในสายที่ไม่ทำงานในเชิงทหารอีก

เพราะฉะนั้น ผมขอคารวะ ระลึกถึงพระคุณของท่านทั้งหลายที่ได้ร่วมทำให้เรามีวันนี้  ที่สุขสบาย เราจะไม่ลืมท่านครับ เพราะว่าความคงอยู่ของชาตินั้น ต้องคงอยู่ตลอดไป.

 

ที่มา: PRIDI Talks #12 “รำลึก 76 ปี วันสันติภาพไทย: ความสำคัญของหลักเอกราช” เสวนาเรื่อง เสรีไทย เขาคิดอย่างไร โดย รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ