ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

(จะ) มีอะไรในพิพิธภัณฑ์เสรีไทย

16
สิงหาคม
2566

Focus

  • พิพิธภัณฑ์เสรีไทยเป็นสิ่งแสดงถึงความทรงจำในทางประวัติศาสตร์ที่มีต่อขบวนการเสรีไทย อันเป็นเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองที่มวลชนมีส่วนร่วม อันแตกต่างจากประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยม โดยการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์เกิดสืบเนื่องจากการผลักดันของบุคคลหลายฝ่ายให้คณะรัฐมนตรีในสมัยนายกชวน หลีกภัย พ.ศ. 2538 มีมติเห็นชอบให้วันที่ 16 สิงหาคม ของทุกปีเป็นวันสันติภาพไทย  และมีการจัดสร้างสวนเสรีไทยแทนสวนน้ำบึงกุ่ม ขึ้นในสมัยนายพิจิตต รัตตกุล เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เมื่อ พ.ศ. 2542
  • ประวัติศาสตร์อันควรแก่การทรงจำต่อขบวนการเสรีไทยที่บรรจุไว้ในพิพิธภัณฑ์เสรีไทย ยืนยันว่าคำประกาศสันติภาพ ในวันที่ 16 สิงหาคม 2488 เมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง โดยนายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในฐานะหัวหน้าขบวนการเสรีไทยนั้น มีใจความสำคัญ คือ การประกาศสงครามของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ต่ออังกฤษและอเมริกาก่อนหน้านั้น เป็นการกระทำอันผิดจากเจตจำนงของประชาชนชาวไทย และฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมายบ้านเมือง การประกาศสงครามของรัฐบาลไทยต่อฝ่ายสัมพันธมิตรจึงเป็นโมฆะ
  • อาคารพิพิธภัณฑ์เสรีไทยเป็นการจำลองทำเนียบท่าช้างซึ่งเป็นกองบัญชาการของขบวนการเสรีไทย ประกอบด้วย 8 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 บริบทสังคมการเมืองไทย/โลก ส่วนที่ 2 การรวมตัวเป็นขบวนการเสรีไทย ส่วนที่ 3 ห้องจัดแสดงสิ่งของ ส่วนที่ 4 กองบัญชาการเสรีไทย ส่วนที่ 5 ห้องปรีดีอนุสรณ์ ส่วนที่ 6 ปฏิบัติการเสรีไทย ส่วนที่ 7 ผลสำเร็จของขบวนการเสรีไทย และ ส่วนที่ 8 ห้องสารสนเทศเสรีไทย

 

“สำหรับคนรุ่นใหม่มันเป็นประวัติศาสตร์ สำหรับคนรุ่นผมมันเป็นความทรงจำ”

ศ. บำรุงพงศ์ (พ.ศ. 2518)

 

(ซ้าย) อาคารพิพิธภัณฑ์เสรีไทย บริเวณสวนบึงกุ่มจำลองแบบมาจากทำเนียบท่าช้างซึ่งเป็นกองบัญชาการขบวนการเสรีไทยในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 (กลาง) อาคารทำเนียบท่าช้าง มองจากแม่น้ำเจ้าพระยา ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (ขวา) อาคารพิพิธภัณฑ์เสรีไทยจากมุมเดียวกัน
(ซ้าย) อาคารพิพิธภัณฑ์เสรีไทย บริเวณสวนบึงกุ่มจำลองแบบมาจากทำเนียบท่าช้างซึ่งเป็นกองบัญชาการขบวนการเสรีไทยในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 (กลาง) อาคารทำเนียบท่าช้าง มองจากแม่น้ำเจ้าพระยา ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (ขวา) อาคารพิพิธภัณฑ์เสรีไทยจากมุมเดียวกัน

 

ความทรงจำต่อขบวนการเสรีไทยสำหรับสังคมไทยก็เช่นเดียวกับความทรงจำอื่นๆ ในฐานะเหตุการณ์ที่มีความสำคัญทางการเมืองที่มวลชนมีส่วนร่วมคือการถูกลดความสำคัญลงไปในโครงเรื่องใหญ่ของประวัติศาสตร์การเมืองที่นักประวัติศาสตร์เช่น ดร.ธงชัย วินิจจะกูล เรียกว่า ประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยม

ประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยม คือ เรื่องเล่าแบบสมัยใหม่ว่าด้วยการต่อสู้เพื่อเอกราชภายใต้การนำของพระมหากษัตริย์ ซึ่งมักมีโครงเรื่องง่ายๆ ไม่ซับซ้อนคือ การถูกต่างชาติคุกคาม และจบลงด้วยการที่พระมหากษัตริย์ที่ปรีชาสามารถทรงนำการต่อสู้จนกระทั่งกอบกู้/รักษาเอกราชไว้ได้

ดังนั้นความทรงจำต่อขบวนการเสรีไทยที่มีความสำคัญทางการเมืองโดยมวลชนมีส่วนร่วมนั้นก็ถูกอธิบายว่าเป็นเพียงการดำเนินนโยบายต่างประเทศแบบตีสองหน้า กล่าวคือ ขณะที่รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ดำเนินนโยบายเป็นมิตรร่วมรบกับญี่ปุ่นและฝ่ายอักษะนั้นก็ปล่อยให้ขบวนการเสรีไทยดำเนินนโยบายต่อต้านญี่ปุ่นและร่วมมือกับฝ่ายสัมพันธมิตรเพื่อที่ว่าเมื่อสงครามสิ้นสุด ประเทศไทยก็ไม่เป็นฝ่ายพ่ายแพ้สงคราม เพราะเรามีที่ยืนทั้ง 2 ฝ่าย โดยที่ความทรงจำดังกล่าวไม่สำเหนียกเลยว่าเราอาจจะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ได้ทั้ง 2 กรณีไม่ว่าใครจะเป็นฝ่ายชนะ

ดังนั้นจึงไม่แปลกอะไรเมื่อถึงวันที่ 16 สิงหาคมของแต่ละปีที่ถือกันว่าเป็นวันสันติภาพไทยเนื่องจากเป็นวันที่นายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในฐานะหัวหน้าขบวนการเสรีไทยได้ประกาศสันติภาพ โดยมีใจความสำคัญคือ การประกาศสงครามของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ต่ออังกฤษและอเมริกาก่อนหน้านั้น เป็นการกระทำอันผิดจากเจตจำนงของประชาชนชาวไทยและฝ่าฝืนขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมายบ้านเมือง จะมีเพียงกิจกรรมเล็กๆ ที่จัดโดยผู้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์โดยตรงเท่านั้น ซึ่งนับวันคนกลุ่มนี้จะลดน้อยลงไปทุกทีเนื่องจากอายุที่มากขึ้นและเป็นไปได้ว่า ความทรงจำต่อการต่อสู้เพื่อรักษาเอกราชอธิปไตยในเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 คงจะเลือนหายไปพร้อมกับสังขารของคนเหล่านี้

ท่ามกลางความทรงจำที่จะเลือนหายไปจากสังคมไทยนั้น ก็ได้มีความพยายามผลักดันให้การต่อสู้เพื่อรักษาเอกราชอธิปไตยของขบวนการเสรีไทยได้ดำรงอยู่ต่อไปในความทรงจำของสังคมไทย

เริ่มจากในโอกาสครบ 50 ปี วันสันติภาพไทยในปี พ.ศ.2538 จากการผลักดันของบุคคลหลายฝ่าย คณะรัฐมนตรีในสมัยนายชวน หลีกภัย ได้มีมติเห็นชอบในหลักการให้วันที่ 16 สิงหาคม ของทุกปีเป็นวันสันติภาพไทย ในปีนั้นเองได้มีการเปิด “ลานเสรีไทย” ณ บริเวณสวนบึงกุ่ม ถนนสุขาภิบาล 2 ในวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2538

ต่อมาในสมัยนายพิจิตต รัตตกุล ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ดำเนินการพัฒนาสวนน้ำบึงกุ่ม พร้อมกับเปลี่ยนชื่อเป็น “สวนเสรีไทย” รวมทั้งเปลี่ยนชื่อถนน “สุขาภิบาล 2 ” เป็นถนน “เสรีไทย” อีกด้วย นอกจากนั้นคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานครยังได้ร่วมกับสมาชิกสภากรุงเทพมหานครแปรญัตติให้มีการก่อสร้างอาคารเสรีไทยอนุสรณ์ในบริเวณสวนเสรีไทย

อาคารเสรีไทยอนุสรณ์ ได้จำลองแบบมาจากทำเนียบท่าช้าง ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ แต่ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 อาคารดังกล่าว นอกจากเป็นที่พำนักของนายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แล้ว ยังเป็นกองบัญชาการเสรีไทยในทางลับอีกด้วย อาคารเสรีไทยอนุสรณ์จึงถูกสร้างขึ้นเป็นอาคารสูง 3 ชั้น ขนาด 18 X 20 เมตร รวมพื้นที่ 637 ตารางเมตร มีการวางศิลาฤกษ์ ในวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2542 และได้ดำเนินการก่อสร้างตัวตึกแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2544 ในสมัยที่นายสมัคร สุนทรเวช ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยมอบหมายให้สำนักสวัสดิการสังคมเป็นผู้รับผิดชอบดูแล

ต่อมา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้มีคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 171/2545 ลงวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ.2545 ให้แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการเปิดอาคารเสรีไทยอนุสรณ์ โดยมีนายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว เป็นประธาน และได้จัดตั้งคณะอนุกรรมการขึ้น 9 ชุด ดำเนินกิจกรรมเพื่อเผยแพร่เกียรติคุณเสรีไทย และเปิดอาคารเสรีไทยอนุสรณ์ในวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2546 ประกอบด้วย

  • คณะอนุกรรมการฝ่ายจัดพิพิธภัณฑ์
    นายสามารถ มะลูลีม
    ประธานสภากรุงเทพมหานคร
    เป็นประธาน
  • คณะอนุกรรมการฝ่ายห้องสมุด
    รศ. นรนิติ เศรษฐบุตร
    เป็นประธาน
  • คณะอนุกรรมการฝ่ายจัดทำหนังสือที่ระลึก
    นพ. สงวน นิตยารัมภ์พงศ์
    เป็นประธาน
  • คณะอนุกรรมการฝ่ายศิลปวัฒนธรรม
    นางดุษฎี พนมยงค์ บุญทัศนกุล
    เป็นประธาน
  • คณะอนุกรรมการฝ่ายจัดกิจกรรม และเผยแพร่เกียรติคุณเสรีไทยสำหรับเด็กและเยาวชน
    นายวรากรณ์ สามโกเศศ
    เป็นประธาน
  • คณะอนุกรรมการฝ่ายเปิดอาคารเสรีไทยอนุสรณ์
    นางณฐนนท ทวีสิน
    ปลัดกรุงเทพมหานคร
    เป็นประธาน
  • คณะอนุกรรมการฝ่ายการเงินและจัดหาทุน
    รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายบริหาร
    เป็นประธาน
  • คณะอนุกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์
    นายสุชาติ สุชาติเวชภูมิ
    อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์
    เป็นประธาน
  • คณะอนุกรรมการฝ่ายประสานงาน
    ผศ. ประภัสสร เลี่ยวไพโรจน์
    เป็นประธาน

แนวคิดหลักในการใช้พื้นที่อาคาร มีการกันพื้นที่ชั้น 1 จัดสร้างเป็นห้องสมุดประชาชน และพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นของเขตบึงกุ่ม โดยแบ่งเป็นห้องสมุดสำหรับบริการประชาชนทั่วไป ห้องอ่านหนังสือสำหรับเด็ก ห้องประชุม/โสตทัศนูปกรณ์ ห้องทำงานเจ้าหน้าที่ ขณะที่พื้นที่ชั้น 2 และชั้น 3 จะจัดสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์เสรีไทย

ในฐานะเลขานุการคณะอนุกรรมการฝ่ายจัดพิพิธภัณฑ์ ผู้เขียนได้รับมอบหมายให้จัดทำเนื้อหาและนำเสนอรูปแบบของพิพิธภัณฑ์เสรีไทยเสนอต่อคณะอนุกรรมการฝ่ายจัดพิพิธภัณฑ์ และคณะกรรมการดำเนินการเปิดอาคารเสรีไทยอนุสรณ์ ซึ่งคณะกรรมการทั้ง 2 ชุดได้ให้ความเห็นชอบแล้ว โดยมีการแบ่งพื้นที่การจัดแสดงดังต่อไปนี้

 

แปลนพื้นที่อาคารพิพิธภัณฑ์เสรีไทย ชั้นที่ 3
แปลนพื้นที่อาคารพิพิธภัณฑ์เสรีไทย ชั้นที่ 3

 

แปลนพื้นที่อาคารพิพิธภัณฑ์เสรีไทย ชั้นที่ 2
แปลนพื้นที่อาคารพิพิธภัณฑ์เสรีไทย ชั้นที่ 2

 

แบบจำลองการจัดแสดงพิพิธภัณฑ์เสรีไทยชั้นที่ 2
แบบจำลองการจัดแสดงพิพิธภัณฑ์เสรีไทยชั้นที่ 2

 

ส่วนที่ 1 บริบทสังคมการเมืองไทย/โลก ( 47 ตารางเมตร)

เพื่อสร้างความเข้าใจของผู้เข้าชมต่อเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้งในส่วนของ ที่มาผลกระทบและบทบาทของประเทศไทย รวมทั้งการต่อต้านการรุกรานจากต่างชาติของคนไทยผู้รักชาติตั้งแต่วันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 จนพัฒนามาเป็นขบวนการเสรีไทยที่มาจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ

การนำเสนอ

นำเสนอบริบทสังคมการเมืองโลกในศตวรรษที่ 20 ที่เป็นสาเหตุสำคัญนำมาสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 โดยจัดทำเป็นรูปแบบที่หลากหลาย เช่น นำเสนอความต่อเนื่องของเหตุการณ์ที่นำมาสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้งในแง่สถานการณ์สากลและสถานการณ์ในประเทศโดยนำเสนอเป็นตารางเวลา (time line) ซึ่งในตารางเวลานั้นจะแบ่งเป็น 3 ช่วงคือ ก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2, การเริ่มต้นสงครามโลกครั้งที่ 2 (1 กันยายน พ.ศ. 2482), วันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2484 (ก่อนญี่ปุ่นบุกไทย) และเมื่อญี่ปุ่นบุกไทยวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484

นำเสนอแผนที่ยุทธศาสตร์โลก การแผ่อิทธิพลของฝ่ายอักษะ อันประกอบด้วยเยอรมนี ญี่ปุ่น อิตาลี ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยจัดทำเป็นลูกโลกขนาดใหญ่

นำเสนอเหตุการณ์ของเมืองไทยในยามสงครามเพื่อให้บรรยากาศและการดำเนินชีวิตของคนไทยในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ต้องเผชิญทั้งปัญหาข้าวยากหมากแพง และความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 พร้อมๆ กับการที่รัฐบาลดำเนินนโยบายชาตินิยม

 

ส่วนที่ 2 การรวมตัวเป็นขบวนการเสรีไทย (33 ตารางเมตร)

“นายฉันทนา” (มาลัย ชูพินิจ) ได้นำเสนอ “ความทรงจำ” ต่อขบวนการเสรีไทยไว้อย่างน่ารับฟังว่า

 

“ขอให้เราอย่านึกถึงตัวตนของบุคคลซึ่งย่อมร่วงโรยไปตามกาลเวลา แต่ขอให้นึกถึงงานอันอมตะของเขา บุคคลอาจจะแตกต่างด้วยกำเนิด ด้วยฐานะ และการศึกษา แต่การเสียสละเป็นยอดแห่งคุณธรรมที่ยกให้มนุษย์อยู่ในระดับเดียวกัน”

 

ดังนั้น การนำเสนอในส่วนนี้จึงเป็นการแสดงให้เห็นถึงความหลากหลายของขบวนการเสรีไทยที่มีตั้งแต่คนในรัฐบาล นักการเมือง ปัญญาชนทั้งในและต่างประเทศ นักหนังสือพิมพ์ ขบวนการใต้ดินกลุ่มต่างๆ ผ่านกิจกรรมที่คนเหล่านั้นได้ทำขึ้นก่อนจะมารวมกันเป็นขบวนการเสรีไทย จนถึงช่วงที่มารวมกันเป็นขบวนการเสรีไทย

การนำเสนอ

แสดงให้เห็นความสำคัญของกลุ่มต่างๆ ก่อนจะมารวมเป็นขบวนการเสรีไทยไม่ว่าจะเป็นขบวนการเสรีไทยในประเทศ, ขบวนการเสรีไทยสายอเมริกา, ขบวนการเสรีไทยสายอังกฤษ ตลอดจนความสำคัญของประชาชนไทยที่ให้ความร่วมมือในปฏิบัติการเสรีไทยจนถึงการรวมตัวจัดตั้งเป็นกองบัญชาการเสรีไทย และการมอบหมายภารกิจให้มีผู้รับผิดชอบหน่วยฝึกต่างๆ ทั่วประเทศ

 

ส่วนที่ 3 ห้องจัดแสดงสิ่งของ (18 ตารางเมตร)

นำผู้เข้าชมสัมผัสกับบรรยากาศจริงในยุคนั้นผ่านเอกสารหลักฐานสำคัญ โดยมีแนวคิดหลักคือ การใช้สิ่งของเล่าเรื่องราว

การนำเสนอ

จัดตู้แสดงสิ่งของ/เอกสารสำคัญที่เป็นตัวแทนของภารกิจต่างๆ ไว้ในตู้จัดแสดง โดยสิ่งของที่จะจัดแสดงนั้นจะต้องเป็นตัวแทนภารกิจต่างๆ ที่มีการปฏิบัติการ นอกจากนั้นยังจะจำลองเครื่องมือสื่อสาร (วิทยุ) มาจัดแสดงด้วยเพื่อแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการสื่อสารซึ่งเป็นหัวใจหลักในการทำสงคราม (โดยเครื่องวิทยุจะเชื่อมโยงไปกับห้องการสื่อสารในชั้นที่ 3 ด้วย)

 

ส่วนที่ 4 กองบัญชาการเสรีไทย (22 ตารางเมตร)

เนื่องจากอาคารพิพิธภัณฑ์เป็นการจำลองทำเนียบท่าช้างซึ่งเป็นกองบัญชาการของขบวนการเสรีไทย ดังนั้นจึงเป็นโอกาสดีที่จะนำเสนอบรรยากาศการดำเนินกิจกรรมการวางแผนของขบวนการเสรีไทยภายในทำเนียบท่าช้าง และเชื่อมโยงให้เห็นภาพรวมพื้นที่ทางยุทธศาสตร์ของเกาะรัตนโกสินทร์ชั้นในด้วย

การนำเสนอ

จัดทำแผนที่ทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญของเกาะรัตนโกสินทร์ชั้นใน ที่เป็นที่ตั้งของปฏิบัติการสำคัญของขบวนการเสรีไทย เช่น ทำเนียบท่าช้าง บ้านมะลิวัลย์ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ฯลฯ ขณะเดียวกันก็จัดทำแผนที่ช้อนลงไปให้เห็นความสำคัญของพื้นที่ต่างๆ ของทำเนียบท่าช้างด้วย

 

สงวน ตุลารักษ์ (ขวาสุด) กำลังปรึกษากับปรีดี พนมยงค์ ในการประชุมเสรีไทย บริเวณชั้น 2 ของทำเนียบท่าช้าง
สงวน ตุลารักษ์ (ขวาสุด) กำลังปรึกษากับปรีดี พนมยงค์ ในการประชุมเสรีไทย บริเวณชั้น 2 ของทำเนียบท่าช้าง

 

แบบจำลองการแสดงภายใน ส่วนที่ 5 ห้องปรีดีอนุสรณ์
แบบจำลองการแสดงภายใน ส่วนที่ 5 ห้องปรีดีอนุสรณ์

 

ส่วนที่ 5 ห้องปรีดีอนุสรณ์ (30 ตารางเมตร)

แม้ว่าขบวนการเสรีไทยจะสำเร็จลงได้ด้วยการร่วมมือของคนเป็นจำนวนมาก แต่สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือ ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในฐานะหัวหน้าขบวนการเสรีไทยคือนายปรีดี พนมยงค์ (พ.ศ. 2443-2526) ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ทว่าผลจากความขัดแย้งทางการเมืองหลังจากนั้นได้มีคณะบุคคลบางกลุ่มสร้างภาพนายปรีดี พนมยงค์ เป็น “ปีศาจทางการเมือง” จนบดบังคุณูปการสำคัญที่ท่านได้สร้างไว้ ดังนั้นห้องปรีดีอนุสรณ์จึงเป็นการนำเสนอประวัติและผลงานของนายปรีดี โดยภาพรวมและเจาะลึกลงไปในแนวคิดเรื่องเอกราชและอธิปไตย

การนำเสนอ

แสดงให้เห็นแนวคิด “เอกราชสมบูรณ์” ของนายปรีดี ที่มีมาแต่วัยเยาว์จนนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 และการเป็นผู้นำในขบวนการเสรีไทย ซึ่งในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้นนายปรีดี ได้นำเสนอแนวคิดที่สำคัญเกี่ยวกับแนวทางสันติภาพ/สันติวิธี โดยผ่านนวนิยายและภาพยนตร์เรื่อง พระเจ้าช้างเผือก ดังนั้นในห้องปรีดีอนุสรณ์ ยังได้จะนำเสนอแนวคิดเรื่องสันติวิธีของนายปรีดี ผ่านนวนิยายและภาพยนตร์เรื่อง พระเจ้าช้างเผือก ในหัวข้อ “พระเจ้าช้างเผือก : จากหนังสือมาสู่หนัง”

นอกจากนั้นยังจะได้จัดทำแผนภูมิตารางชีวิตของนายปรีดี พนมยงค์ ในรอบ 100 ปี ตั้งแต่เกิดในปี พ.ศ. 2443 จนกระทั่งได้รับเลือกเป็นบุคคลสำคัญของโลกจากยูเนสโกในปี พ.ศ. 2543 อีกด้วย

 

ส่วนที่ 6 ปฏิบัติการเสรีไทย (47 ตารางเมตร)

ภายหลังจากมีการรวมตัวเป็นขบวนการเสรีไทยแล้ว ภารกิจหลักที่สำคัญคือการร่วมมือกับฝ่ายสัมพันธมิตรในการขับไล่ญี่ปุ่นออกจากประเทศไทย ส่วนนี้จึงเป็นการนำเสนอภารกิจของขบวนการเสรีไทยแต่ละส่วน โดยผ่าน 3 ปฏิบัติการที่สำคัญคือ ปฏิบัติการทางมนุษยธรรม ปฏิบัติการทางทหาร และปฏิบัติการทางการทูต

การนำเสนอ

ปฏิบัติการทางมนุษยธรรม

นำเสนอการช่วยเหลือเชลยศึกฝ่ายสัมพันธมิตรในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือของระดับชนชั้นนำ ดังกรณี นายปรีดี พนมยงค์ ในฐานะผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (มธก.) ได้ประสานงานให้ มธก. เป็นค่ายกักกันโดยมีเหตุผลคือ คนเหล่านั้นจะรอดพ้นจากการถูกทหารญี่ปุ่นทรมาน และการช่วยคนสัญชาติพันธมิตร จะเป็นการผ่อนหนักเป็นเบาให้แก่ประเทศไทยถ้าประเทศเหล่านั้นชนะสงคราม นอกจากนั้น ยังมีการช่วยเหลือทางมนุษยธรรมของประชาชนเป็นจำนวนมากต่อเชลยศึกฝ่ายสัมพันธมิตร ผลของการช่วยเหลือดังกล่าวทำให้ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ฝ่ายสัมพันธมิตร (โดยเฉพาะประเทศอังกฤษ) ได้มีการผ่อนหนักเป็นเบาในมาตรการที่จะดำเนินการต่อฝ่ายไทย ในฐานะประเทศคู่สงคราม

ปฏิบัติการทางการทหาร

การเตรียมปฏิบัติการเริ่มต้นจากการฝึกของเสรีไทยทั้งจากอังกฤษและอเมริกา บุคคลเหล่านี้มีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นสะพานเชื่อมต่อระหว่างเสรีไทยในประเทศกับฝ่ายสัมพันธมิตรที่เคยเหินห่าง (อันเนื่องมาจากการประกาศสงครามของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม) ภายหลังจากการฝึกแล้ว บุคคลเหล่านี้ต้องเข้ามาปฏิบัติการในประเทศไทย ดังนั้นจึงมีการฝึกพลพรรคเสรีไทย ซึ่งมีอยู่สองขั้นตอน คือ การจัดเตรียมบุคคลเพื่อที่จะเป็นหัวหน้าทำการฝึกอาวุธและสอนยุทธวิธีการสู้รบให้แก่พลพรรคเสรีไทย ที่มีการจัดตั้งกระจายอยู่ทั่วประเทศ และการจัดฝึกพลพรรคใต้ดินโดยแบ่งตามพื้นที่รับผิดชอบของผู้แทนราษฎรในแต่ละจังหวัด ประสานกับนายทหารเสรีไทยทั้งอังกฤษและอเมริกาที่แบ่งพื้นที่รับผิดชอบกันอย่างชัดเจน

การสื่อสาร นำเสนอการติดต่อสื่อสารของขบวนการเสรีไทย ทั้งในรูปแบบของการสื่อสารกันเอง เช่น การรับส่งวิทยุ โทรเลข หรือว่าการติดต่อสื่อสารกับสาธารณะ เช่น วิทยุ กระจายเสียง การจัดทำใบปลิวเพื่อแจกจ่าย เป็นต้น

การเข้ามาปฏิบัติการในประเทศไทย ในระหว่างสงครามการติดต่อสื่อสารระหว่างกัน (ภายในและภายนอกประเทศ) เป็นสิ่งสำคัญยิ่งและวิธีเดียวที่เป็นไปได้คือการติดต่อทางตรง โดยการส่งคนเข้า/ออกระหว่างประเทศ เพื่อนำสารของแต่ละฝ่ายมาติดต่อถึงกัน ซึ่งการเข้า/ออก ไปปฏิบัติการนั้น มีทั้งช่องทางของเรือดำน้ำ การกระโดดร่ม หรือแม้กระทั่งการเดินเท้า

การรับส่งอาวุธ เป็นความต่อเนื่องมาจากการสื่อสารและการเข้ามาปฏิบัติการ เพราะเมื่อมีการสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างขบวนการเสรีไทยกับฝ่ายสัมพันธมิตรแล้ว สิ่งที่ขบวนการเสรีไทยในประเทศต้องการความช่วยเหลือเป็นอย่างมากจากฝ่ายสัมพันธมิตรคือ อาวุธเพื่อใช้ในปฏิบัติการ ดังนั้นปฏิบัติการรับส่งอาวุธจึงเกิดขึ้น เริ่มแรก การรับส่งอาวุธทำโดยการทิ้งร่มชูชีพ และการรับส่งทางเรือของกรมศุลกากร

แต่ทว่าทั้ง 2 วิธีมีข้อจำกัดมาก การทิ้งร่มทำได้เฉพาะคืนเดือนหงาย และอาวุธที่จะส่งมาได้นั้นมีจำนวนจำกัด ต่อมาจึงมีการจัดสร้างสนามบินลับขึ้นโดยมีนายเตียง ศิริขันธ์ ผู้แทนราษฎรจังหวัดสกลนคร เป็นผู้ควบคุมดูแล โดยจัดสร้างขึ้นที่บริเวณอำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ และอำเภอโนนหันจังหวัดเลย ต่อมาได้มีการขยายเพิ่มอีก รวมทั้งสิ้นจำนวน 14 แห่ง

ปฏิบัติการทางการทูต

การจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น นำเสนอความพยายามในการจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น ดังเช่นที่มีการจัดตั้งรัฐบาลฝรั่งเศสพลัดถิ่นของนายพล ชาร์ลส์ เดอ โกลล์ ในประเทศอังกฤษเพื่อร่วมต่อสู้กับฝ่ายสัมพันธมิตร ภายหลังจากที่ฝรั่งเศสถูกเยอรมนีเข้ายึดครอง โดยนำเสนอผ่านเส้นทางการเดินทางออกนอกประเทศ รวมทั้งข้อเสนอของขบวนการเสรีไทยต่อฝ่ายสัมพันธมิตร

เจรจาทางการทูต ขณะที่ความร่วมมือทางการทหารกับฝ่ายสัมพันธมิตรของขบวนการเสรีไทยดำเนินไปได้ด้วยดี แต่การดำเนินการทางการเมืองเพื่อให้ฝ่ายสัมพันธมิตรยอมรับสถานภาพของขบวนการเสรีไทยกลับไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควรโดยการเจรจานั้นฝ่ายสัมพันธมิตร (โดยเฉพาะอังกฤษ) แจ้งว่า “การประชุมปรึกษากัน... จะจำกัดเฉพาะในด้านการทหาร จะไม่มีการพูดเรื่องการเมือง”

ในช่วงเวลานั้นได้มีการดำเนินการทางการทูตหลายอย่าง เพื่อให้ฝ่ายสัมพันธมิตรยอมรับการดำรงอยู่ของขบวนการเสรีไทย โดยเฉพาะการทำหนังสือส่งไปยังตัวแทนฝ่ายสัมพันธมิตรที่วอชิงตัน ลงวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2488 แจ้งให้ทราบว่าเสรีไทยกำลังถูกกดดันจากญี่ปุ่นเป็นอย่างมากและพร้อมที่จะสู้ในทันที ทำให้มีจดหมายตอบจากวอชิงตันว่าให้รอคำสั่งที่จะลงมือพร้อมกันเท่านั้น ผลจากการดำเนินการทางการทูตดังกล่าว มีผลอย่างมากต่อการเจรจาสถานภาพทางการเมืองของไทยภายหลังสงคราม เพราะจะไม่มีเหตุผลให้ฝ่ายสัมพันธมิตรอ้างได้ว่าขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นไม่พร้อมที่จะลุกขึ้นมาต่อสู้กับญี่ปุ่น เพราะที่การลุกขึ้นสู้กองทัพญี่ปุ่นในประเทศไทยยังไม่เกิดขึ้นเนื่องจากฝ่ายสัมพันธมิตรต้องการชะลอเวลาให้มีการปฏิบัติการพร้อมกัน

 

ส่วนที่ 7 ผลสำเร็จของขบวนการเสรีไทย (33 ตารางเมตร)

นำเสนอ คุณูปการของขบวนการเสรีไทยต่อประเทศไทยในประเด็นที่ว่า ประเทศไทยไม่เป็นผู้แพ้สงคราม, รัฐบาลไทยไม่ต้องยอมจำนน กองทัพไทยไม่ต้องวางอาวุธ และดินแดนไทยไม่ต้องการถูกยึดครอง

การนำเสนอ

เปรียบเทียบและเชื่อมโยงให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างสถานภาพของประเทศแพ้สงคราม (ที่รัฐบาลไทยประกาศเข้าร่วมเป็นพันธมิตรด้วย) กับสถานภาพของประเทศไทยที่ผ่านพ้นวิกฤตการณ์เหล่านั้นมาได้ในมิติต่างๆ โดยแยกเป็นหัวข้อกฎหมาย เศรษฐกิจ และสังคม

ขณะที่บทส่งท้ายของพิพิธภัณฑ์นี้ก็พยายามเชื่อมโยงให้เห็นว่าสันติภาพมิใช่เพียงสภาวะปราศจากสงคราม (เท่านั้น)

 

ส่วนที่ 8 ห้องสารสนเทศเสรีไทย (30 ตารางเมตร)

รวบรวมสารสนเทศเกี่ยวกับเสรีไทยทั้งหมดเท่าที่จะหาได้มาไว้ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นเอกสารชั้นต้นต่างๆ หนังสือ งานวิจัยค้นคว้า เทปบันทึกภาพรายการ สารคดีต่างๆ ภาพยนตร์เกี่ยวกับเสรีไทย ฯลฯ นอกจากนั้นห้องสารสนเทศเสรีไทยยังจะเป็นฐานข้อมูลสำหรับการค้นคว้าศึกษาเกี่ยวกับแนวคิดเรื่องสันติภาพ/สันติวิธีอีกด้วย

แต่ทั้งหมดนี้ก็เป็นเพียงเค้าโครงการนำเสนอเท่านั้น การรวบรวม เอกสารหลักฐานภายหลังเหตุการณ์ที่ผ่านมาร่วม 6 ทศวรรษนับว่าประสบปัญหาอย่างยิ่ง เพราะว่าเค้าโครงการนำเสนอของผู้เขียนได้มาจากการอ่านเอกสาร ซึ่งเป็นข้อเขียนและบทสัมภาษณ์บุคคลที่เข้าร่วมขบวนการเสรีไทย แต่การจัดทำพิพิธภัณฑ์ให้มีชีวิตนั้น ผู้เขียนตระหนักดีว่าจะต้องรวบรวมวัตถุจัดแสดงให้ได้มากที่สุด เพื่อที่จะถ่ายทอดเรื่องราวที่คณะผู้จัดทำพิพิธภัณฑ์ต้องการสื่อให้ผู้เข้าชมได้รับทราบ

“เพราะผู้เขียนตระหนักดีว่าขณะที่ภาพถ่ายสามารถแทนคำนับพันได้ วัตถุจัดแสดงบางชิ้นมีค่ายิ่งกว่าภาพถ่ายมากมายนัก”

เนื่องจากว่าปฏิบัติการเสรีไทยกระทำภายใต้สถานการณ์ที่ตึงเครียดที่กองทัพญี่ปุ่น ซึ่งเข้ามาปฏิบัติการทางการทหารในประเทศไทย มีกิตติศัพท์เรื่องความเด็ดขาดและโหดเหี้ยมและได้เป็นที่ประจักษ์ไปทั่วทวีปเอเชียที่กองทัพญี่ปุ่นเข้ายึดครอง ดังนั้นปฏิบัติการต่างๆ ของเสรีไทยจึงเป็นงานใต้ดินที่ต้องปิดลับ และจะต้องแบ่งฝ่ายรับผิดชอบกันอย่างชัดเจน ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยของขบวนการในการรักษาความลับ ซึ่งแน่นอนว่าผู้ปฏิบัติงานเหล่านั้นย่อมไม่เก็บเอกสารหลักฐานไว้กับตัว

แต่ก็มิใช่ว่าความพยายามที่จะรวบรวมเอกสารหลักฐานเพื่อจะนำมาจัดแสดงนั้นสิ้นหวังโดยสิ้นเชิง เพราะจากการแนะนำของผู้อาวุโสหลายท่านต่อๆ กันไป ผู้เขียนได้ไปที่วังวรดิศ พบกับ หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล เพื่อไปชมปลอกแขนสีน้ำเงิน-ขาว ที่ท่านได้รับการบอกเล่าจากหม่อมราชวงศ์สังขดิศ ดิศกุล ผู้เป็นบิดาซึ่งเสียชีวิตไปไม่นานนี้ว่า เป็น “ปลอกแขนเสรีไทย”

 

ส่วนหนึ่งของพลพรรคเสรีไทยในวันเดินขบวนสวนสนาม 25 กันยายน พ.ศ. 2488 ซึ่งทุกคนสวมปลอกแขนเสรีไทยน้ำเงิน-ขาวที่แขนซ้าย
ส่วนหนึ่งของพลพรรคเสรีไทยในวันเดินขบวนสวนสนาม 25 กันยายน พ.ศ. 2488
ซึ่งทุกคนสวมปลอกแขนเสรีไทยน้ำเงิน-ขาวที่แขนซ้าย

 

ความสำคัญของปลอกแขนชิ้นนี้ นายทวี บุณยเกตุ ได้บันทึกไว้ใน “ข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเกี่ยวกับเหตุการณ์ในประเทศไทยในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2” ว่า

 

“เพื่อวางแผนประสานงานระหว่างหน่วยงานเสรีไทยกับทหารเสรีไทย ได้มีการกำหนดเครื่องหมายเพื่อแสดงให้รู้ว่าเป็นพวกเดียวกัน ได้ทำปลอกแขนสีขาวมีแถบสีน้ำเงินพาดกลางไว้ เพื่อแจกเมื่อถึงเวลาจะได้สวมที่แขนให้ทราบว่าเป็นพวกเดียวกันกำหนดจุดต่างๆ ที่พลพรรคเสรีไทยจะต้องทำลายเพื่อไม่ให้ทหารญี่ปุ่นใช้การได้

....การเตรียมพร้อมและภาวะคับขันเช่นนี้กองบัญชาการที่แคนดีทราบเป็นอย่างดี เขาจึงได้วิทยุห้ามมาอย่างเด็ดขาดว่าให้หลีกเลี่ยงการปะทะกับญี่ปุ่นจนกว่าจะถึงวันดีเดย์ ซึ่งเขาจะกำหนดขึ้นและแจ้งให้ทราบ ข้าพเจ้าเองต้องสั่งกำชับไปยังหน่วยพลพรรคต่างๆ ขอให้ยับยั้งการกระทำใดๆ อันจะเป็นเหตุให้เกิดการรบขึ้นได้ แต่กระนั้นก็ดีก็ยังมีหน่วยพลพรรคบางหน่วยที่ต้องทำลายทหารญี่ปุ่นที่ได้ล่วงล้ำเข้าไปในเขตหวงห้ามอันเป็นที่ตั้งของเสรีไทย แล้วก็ทำการฝังเพื่อทำลายหลักฐานเสีย เช่น ที่จังหวัดกาญจนบุรีและที่จังหวัดสุโขทัย เป็นต้น

....การกระทำเหล่านี้ได้ล่วงรู้ไปถึงกองบัญชาการที่เมืองแคนดีหมด ทำให้กองบัญชาการทหารอังกฤษและอเมริกันเชื่อถือและไว้วางใจในความร่วมมือของเสรีไทยในประเทศมาก”

 

ปลอกแขนชื้นนี้จึงเป็นประจักษ์พยานได้เป็นอย่างดีว่า ขบวนการเสรีไทยเป็นขบวนการที่มีการจัดตั้งอย่างเข้มแข็งรวมทั้งมีปฏิบัติการจริง

 

ต้นฉบับคำปราศรัยของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช อัครราชทูตไทย ประจำกรุงวอชิงตัน
ต้นฉบับคำปราศรัยของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช อัครราชทูตไทย ประจำกรุงวอชิงตัน

 

หรือการเข้าไปค้นเอกสารที่กองบรรณสารกระทรวงการต่างประเทศ ผู้เขียนได้พบเอกสารสำคัญคือ บทปราศรัยของสถานอัครราชทูตไทย ประจำกรุงวอชิงตัน ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งกระจายเสียงโดยวิทยุคลื่นสั้นจากกรุงวอชิงตันมาสู่ประเทศไทย เพราะก่อนหน้านี้เราทราบแต่เพียงว่ามีการปราศรัยทางวิทยุจากกรุงวอชิงตันถึงประชาชนชาวไทยว่าจะอยู่ต่อในสหรัฐอเมริกาต่อไป เพื่อต่อสู้เพื่ออิสรภาพของคนไทย โดยให้ความมั่นใจว่าฝ่ายสัมพันธมิตรจะได้รับชัยชนะในที่สุดหรือจากบันทึกของจินตนา นาควัชระ ซึ่งขณะนั้นได้รับทุนรัฐบาลให้ไปศึกษาด้านอักษรศาสตร์ ที่แคนาดาได้เล่าการทำงานของสถานีวิทยุของสถานอัครราชทูตว่า

 

“มีเลขานุการตรี อนันต์ จินตกานนท์ เป็นผู้ประสานงานและเป็นผู้อ่านบทความ การเตรียมบทความนั้นนอกจากนายเมอร์เรย์ ธีแฮนด์ ผู้ดูแลนักเรียนไทยในขณะนั้นแล้ว ก็มีคุณชุบ จินตกานนท์ ภริยาคุณอนันต์และเจ้าหน้าที่สถานทูต”

 

ซึ่งบทปราศรัยทั้งหมด ผู้เขียนได้ทำสำเนามาจัดไว้บริการในห้องสารสนเทศเสรีไทยด้วย ทว่าหลักฐานที่ยกมาก็เป็นเพียงน้อยชิ้นเท่านั้นที่มีอยู่ในขณะนี้ ดังนั้นเพื่อเป็นการคืนความทรงจำของขบวนการเสรีไทยต่อคนรุ่นหลัง ผู้เขียนในฐานะตัวแทนของคณะอนุกรรมการ ฝ่ายจัดพิพิธภัณฑ์ จึงมีความยินดีที่จะเชิญชวนทุกท่านที่มีเอกสารหลักฐาน ทั้งที่เกี่ยวข้องกับขบวนการเสรีไทย และสงครามโลกครั้งที่ 2 ร่วมกันบริจาคเอกสารหลักฐานเหล่านั้นเพื่อนำมาจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ต่อไป

 

ที่มา : ธนาพล อิ๋วสกุล. (จะ) มีอะไรในพิพิธภัณฑ์เสรีไทย ใน จุลสารหอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์ ฉบับที่ 7 มิถุนายน 2546-พฤษภาคม 2547. [ม.ป.ท.]: หอจดหมายเหตุมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์; 2546. น. 52-60.

หมายเหตุกองบรรณาธิการ : ขอขอบคุณผู้เขียนที่อนุญาติให้เผยแพร่ข้อเขียนนี้ได้ ในสื่อของสถาบันปรีดี พนมยงค์