ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

การเคลื่อนไหวสิทธิแรงงานไทยในเดือนตุลา

8
ตุลาคม
2564

การเคลื่อนเข้าไปสู่การเกิดขึ้นของแรงงาน

ในช่วงก่อนหน้าปี พ.ศ. 2475 นั้นสภาพเศรษฐกิจและการผลิตหลักของประเทศไทยเกี่ยวข้องกับการทำการเกษตรเป็นส่วนใหญ่มากกว่าการผลิตในเชิงอุตสาหกรรม ดังจะเห็นได้จากอาชีพของคนไทยส่วนใหญ่ในช่วงเวลานั้นเป็นข้าราชการกับเกษตรกรมากกว่าจะเป็นผู้ใช้แรงงาน โดยจะเห็นได้ว่าเมื่อคณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วได้มอบหมายให้ 'นายปรีดี พนมยงค์' จัดทำร่างนโยบายเศรษฐกิจของคณะราษฎร หรือที่เรียกว่า “เค้าโครงการเศรษฐกิจ” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการปรับปรุงการปันผลผลิตในสังคม โดยมุ่งใช้ทรัพยากรการผลิตให้เต็มที่ด้วยการแปลงกระบวนการผลิตของไทย โดยอาศัยรัฐวิสาหกิจเข้ามาดำเนินการผลิตในอุตสาหกรรม[1] 

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาเนื้อหาในเค้าโครงการเศรษฐกิจโดยส่วนใหญ่นั้นให้ความสำคัญกับการปฏิรูปและพัฒนาพื้นที่ชนบท และให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือเกษตรกรซึ่งเป็นอาชีพของคนส่วนใหญ่ในเวลานั้น โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาธุรกิจในเมืองเป็นประเด็นรอง[2]  ทว่า ในท้ายที่สุดข้อเสนอในเค้าโครงการเศรษฐกิจของปรีดีนั้นไม่ได้ถูกนำไปใช้ปฏิบัติเนื่องจากมีกระแสคัดค้านทางการเมืองจากชนชั้นสูงและกลุ่มผู้มีอำนาจในระบอบเก่าโดยอ้างพระบรมราชวินิจฉัยของรัชกาลที่ 7 ซึ่งไม่เห็นด้วยกับเค้าโครงการเศรษฐกิจ[3]  นอกจากนี้ การช่วยเหลือชาวนายังหมายถึงการเป็นปฏิปักษ์ต่อกลุ่มนายทุนในเมือง เพราะพวกนี้เป็นพวกขูดรีดส่วนเกินมาจากชาวนาทั้งในรูปแบบของหนี้สินและการเอารัดเอาเปรียบต่างๆ[4]

ในท้ายที่สุด รัฐบาลคณะราษฎรก็ไม่ได้นำเค้าโครงการเศรษฐกิจมาใช้และต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในการดำเนินการทางเศรษฐกิจใหม่ โดยเปลี่ยนมาใช้นโยบายเศรษฐกิจชาตินิยมโดยมีหลวงวิจิตรวาทการเป็นบุคคลสำคัญที่อยู่เบื้องหลังนโยบายเศรษฐกิจดังกล่าว โดยข้อเสนอหลายประการของหลวงวิจิตรวาทการนั้นยังคงต่อต้านระบบศักดินาเดิม เพียงแต่เบากว่าที่ปรีดีได้เสนอไว้ในเค้าโครงการเศรษฐกิจ เช่น การซื้อที่ดินของรัฐทำแบบค่อยเป็นค่อยไป เป็นต้น ซึ่งข้อเสนอของหลวงวิจิตรวาทการนั้นไม่ได้ขัดขวางการเติบโตและขยายตัวของทุนอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เพียงแต่อุตสาหกรรมเหล่านั้นถูกควบคุมโดยชาติผ่านระบบราชการของรัฐบาลหลวงพิบูลสงคราม[5]

การเกิดขึ้นของชนชั้นแรงงานไทยเกิดขึ้นจริงๆ อย่างเป็นกิจจะลักษณะภายหลังเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 เนื่องจากบริษัทห้างร้านโดยส่วนใหญ่ที่เป็นของชาติตะวันตกที่เป็นคู่สงครามมีบทบาทลดลง ทำให้เกิดการเปิดกิจการต่างๆ ของคนไทยโดยเฉพาะคนไทยเชื้อสายจีนเข้ามาทดแทนกิจการเหล่านั้น ซึ่งทำให้เกิดชนชั้นแรงงานเพิ่มมากขึ้น

 

การรับรองสิทธิของแรงงานในกฎหมาย

การรับรองสิทธิแรงงานั้นในทางกฎหมายนั้นทั้งประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ในโลกโดยส่วนใหญ่นั้นเริ่มต้นมาจากความตกลงกันบนพื้นฐานของกฎหมายสัญญาบนความตกลงระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง ในบริบทของประเทศไทยกฎหมายที่เข้ามารับรองเรื่องสัญญาระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างนั้นเป็นไปตามบรรพ 3 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในลักษณะ 6 จ้างแรงงาน ซึ่งได้ประกาศใช้ในปี 2471[6] 

อย่างไรก็ตาม ด้วยสถานะที่ไม่เท่ากันระหว่างนายจ้างและลูกจ้างทำให้รัฐจำเป็นต้องเข้ามาแทรกแซงโดยออกกฎหมายเฉพาะเข้ามาดูแลความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง ซึ่งในประเทศไทยในเวลาต่อมาได้มีการตราพระราชบัญญัติแรงงาน พ.ศ. 2499 ขึ้นมาโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองแรงงานเพื่อประโยชน์ร่วมกัน และเพื่อประสานงานตลอดจนความเข้าใจอันดีซึ่งกันและกันระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง[7] ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ได้รับอิทธิพลมาจากแนวทางขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ซึ่งประเทศไทยนั้นเป็นสมาชิกขององค์การระหว่างประเทศตั้งแต่ต้น โดยภายใต้พระราชบัญญัติฉบับนี้ได้มีการรับรองสิทธิแรงงานในหลายลักษณะตามมาตรฐานสากล เช่น การรับรองสหภาพแรงงานในฐานะองค์การของลูกจ้างที่มีวัตถุประสงค์ในการคุ้มครองผลประโยชน์ในการทำงานและเพื่อสวัสดิการของลูกจ้างหรือการคุ้มครองแรรงานในเรื่องเวลาการทำงาน วันหยุดงาน การใช้แรงงานหญิงหรือแรงงานเด็ก การกำหนดค่าจ้าง และการกำหนดสภาพการจ้างแรงงานอื่นๆ เป็นต้น

 

เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 กับการเคลื่อนไหวของแรงงาน

แม้ในช่วงเริ่มต้นของการเกิดชนชั้นแรงงานไทยขึ้นมาจะมาพร้อมๆ กับการเกิดขึ้นของกฎหมายแรงงาน แต่พระราชบัญญัติแรงงาน พ.ศ. 2499 นั้นมีอายุการใช้งานที่สั้นมากเพียงแค่ 3 ปี ก็ถูกคณะรัฐประหารนำโดย 'จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์' มีประกาศของคณะรัฐประหารฉบับที่ 19 ลงวันที่ 31 ตุลาคม 2501 โดยกล่าวหาว่าเป็นการเปิดช่องให้เป็นเครื่องมือยุยงส่งเสริมให้เกิดความร้าวฉานระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง เป็นโอกาสให้ตัวแทนคอมมิวนิสต์อาศัยใช้ลูกจ้างเป็นเครื่องมือยุยงในทางมิชอบ ทำให้เกิดความระส่ำระส่ายในการประกอบอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมเป็นภัยร้ายแรงแก่การดำเนินการเศรษฐกิจเพื่อความเจริญรุ่งเรืองของประเทศ[8] เนื่องจากในเวลานั้นรัฐบาลของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นั้นต้องการสร้างบรรยากาศลงทุนที่ดีสำหรับนักลงทุนต่างชาติด้วยการกดค่าแรงให้ต่ำ[9]

ผลของประกาศคณะปฏิวัติฉบับนี้มีผลทำให้บรรดาสิทธิแรงงานที่เคยได้รับตามพระราชบัญญัติแรงงาน พ.ศ. 2499 และแทนที่ด้วยสิทธิแรงงานตามประกาศคณะปฏิวัติฉบับนี้แทน ซึ่งในเวลาต่อมาก็ได้มีการออกประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 103 ลงวันที่ 16 มีนาคม 2515 เพื่อใช้แทนกฎหมายแรงงานที่ได้ถูกยกเลิกไป ซึ่งเป็นระยะเวลาเกือบ 14 ปี ที่ประเทศไทยไม่มีกฎหมายคุ้มครองสิทธิแรงงานตามมาตรฐานสากล

อย่างไรก็ตาม ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 103 ยังพอมีข้อดีอยู่บ้างเนื่องจากประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ได้รับรองสิทธิของลูกจ้างในการตั้งสมาคมลูกจ้างได้ แต่ไม่ให้มีการตั้งสหภาพแรงงาน ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญของลูกจ้างในการตั้งข้อเรียกร้องเพื่อต่อรองและเจรจากับนายจ้าง[10] ผลของการยอมจัดตั้งสมาคมลูกจ้างได้นั้นประกอบกับการมีนิสิตนักศึกษาเข้าไปช่วยจัดตั้งทำให้เกิดสมาคมลูกจ้างพระประแดงขึ้นมา ซึ่งก็มีส่วนช่วยให้เกิดการรวมตัวกันของผู้ใช้แรงงาน โดยในช่วงปี 2515 – 2516 นั้นมีการนัดหยุดงานมากกว่า 500 ครั้ง ซึ่งการรวมกันระหว่างกลุ่มผู้ใช้แรงงานกับนักศึกษานั้นเป็นแนวร่วมสำคัญในการต่อต้านรัฐบาลเผด็จการของ 'จอมพลถอนม กิตติขจร'

ภายหลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 นั้น สังคมไทยเกิดความตื่นตัวเรื่องสิทธิและเสรีภาพมากขึ้นอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน กระแสการใช้สิทธิและเสรีภาพทั้งในทางการเมืองและการแสดงความคิดเห็นประกอบกับแนวร่วมสามประสานระหว่างนิสิตนักศึกษา ผู้ใช้แรงงาน และชาวนาเกษตรกรนั้นทำให้เกิดความเคลื่อนไหวในสังคมเพื่อให้เกิดสังคมที่เป็นธรรมในขอบเขตทั่วประเทศ

ในด้านสิทธิแรงงานนั้น กระแสความเคลื่อนไหวของแนวร่วมสามประสานทำให้เกิดการผลักดันให้เกิดพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ซึ่งให้สิทธิคนงานในการจัดตั้งสหภาพแรงงานขึ้นมาอีกครั้ง ในเวลานั้นความเข้มแข็งของผู้ใช้แรงงาน และแรงสนับสนุนจากแนวร่วมสามประสานนั้นทำให้เกิดการจัดตั้งสภาแรงงานแห่งประเทศไทยขึ้นเป็นครั้งแรกในวันที่ 1 พฤษภาคม 2519 โดยมีนายไพศาล ธวัชชัยนันท์ เป็นประธานสภาผู้ใช้แรงงานแห่งประเทศไทย[11] ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิแรงงานของผู้ใช้แรงงาน โดยอาศัยการรวมตัวเพื่อสร้างแรงกดดันทางการเมืองให้กับรัฐบาล

การรวมตัวกันของผู้ใช้แรงงานอย่างเป็นกลุ่มเป็นก้อนนี้ ประกอบกับการมีอยู่ของแนวร่วมสามประสานนี้เองทำให้ในช่วงเวลาดังกล่าวการเรียกร้องให้มีการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำนั้นสามารถทำได้สำเร็จโดยมีการปรับเปลี่ยนค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยตลอด ซึ่งรัฐบาลก็ได้ตอบสนองความต้องการนี้ของประชาชนเป็นอย่างดี[12]

ตารางแสดงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล (พ.ศ. 2516 – 2520)

ฉบับที่ อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ วันที่ประกาศใช้
1 12 บาท 4 กุมภาพันธ์ 2516
2 16 บาท 30 พฤศจิกายน 2516
3 20 บาท 13 มิถุนายน 2517
4 18 บาท 1 สิงหาคม 2517
5 25 บาท 1 ตุลาคม 2517
6 28 บาท 23 สิงหาคม 2520
8 35 บาท 30 สิงหาคม 2521

ที่มา: กระทรวงแรงงาน

 

6 ตุลาคม 2519 กับจุดผลิกผันของขบวนการแรงงาน

อย่างไรก็ตาม ภายหลังการสังหารหมู่กลางกรุงเทพฯ ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ส่งผลให้กลุ่มสามประสานระหว่างนิสิตนักศึกษา ผู้ใช้แรงงาน และชาวนาเกษตรกรถูกทำลายลง คณะรัฐประหารได้สร้างกระบวนการ (อ) ยุติธรรมของตนเองขึ้นมาโดยการเพิ่มอำนาจในการควบคุมตัวผู้ต้องหาและการให้พลเรือนขึ้นศาลทหาร ซึ่งการบีบบังคับดังกล่าวนั้นทำให้ผู้ต้องหาบางส่วนหนีเข้าป่าแล้วไปเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ในขณะเดียวกันขบวนการแรงงานก็ถูกฝ่ายขวากล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์และก็ถูกทยอยจับกุมเข้าเรือนจำ[13]

คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินที่ได้นำการรัฐประหารมาสู่ประเทศไทยในเวลานั้น ได้มีคำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฉบับที่ 22 ได้กำหนดข้อหา “ภัยสังคม” ขึ้นมา โดยรวมกำหนดให้การ “ร่วมหยุดงาน หรือปิดงานงดจ้างโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย” เป็นภัยสังคมในลักษณะหนึ่ง บรรยากาศของการเคลื่อนไหวของผู้ใช้แรงงานค่อยๆ ลดลงไป

ระบอบรัฐประหารนั้นไม่ได้เพียงแต่ทำลายระบอบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น แต่กลายเป็นระบอบรัฐประหารนั้นได้ทำลายการเคลื่อนไหวของขบวนการแรงงานลง คณะรัฐประหารไม่ได้ให้ความสนใจกับคุณภาพชีวิตและสวัสดิภาพของผู้ใช้แรงงาน แต่เห็นแก่ประโยชน์ของกลุ่มทุนและต้องการเสริมสร้างการลงทุนเพื่อแสวงหาประโยชน์จึงพยายามกดผู้ใช้แรงงานเอาไว้ ภายหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 นั้นกลายเป็นชวนสำคัญของการหยุดยั้งการเติบโตของขบวนการสิทธิแรงานอย่างไม่หวนกลับมา

ในปัจจุบันสิทธิของผู้ใช้แรงงานยังคงมีปัญหาอยู่ แม้ว่ารูปแบบการดำเนินกิจการจะเปลี่ยนแปลงไป แต่ปัญหาของกลุ่มผู้ใช้แรงงานก็เปลี่ยนแปลงไปตามความเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคม กลุ่มผู้ใช้แรงงานในปัจจุบันไม่ได้มีเพียงแค่การใช้แรงกายเท่านั้น แต่ยังมีแรงงานในลักษณะอื่น เช่น การไม่มีสถานะเป็นผู้ใช้แรงงานของฟู๊ดไรเดอร์ (Food Rider) และคนขับรถที่ให้บริการผ่านแอพลิเคชั่น หรือ ผู้ให้บริการอิสระ (Freelance) ที่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากความตกลงที่อาจจะไม่เป็นธรรม และแม้แต่ “Sex Worker” ซึ่งปัจจุบันก็ยังไม่ได้มีการรับรองตามกฎหมาย เป็นต้น ปัญหาของผู้ใช้แรงงานในรูปแบบต่างๆ ทั้งความไม่เป็นธรรมที่เกิดจากสัญญาหรือความไม่เป็นธรรมที่เกิดจากสภาพการจ้าง สิ่งเหล่านี้ยังคงถูกเพิกเฉยละเลยอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมที่ไม่เป็นประชาธิปไตย

 

หมายเหตุ: กฤษณัย ราชพิบูลย์ ผู้ช่วยค้นคว้าและเรียบเรียงเนื้อหา


[1] ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจแห่งประเทศไทย, 106

[2] เศรษฐกิจการเมืองไทยสมัยกรุงเทพฯ, 146

[3] ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจแห่งประเทศไทย, 107

[4] เศรษฐกิจการเมืองไทยสมัยกรุงเทพฯ, 146-146

[5] ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจแห่งประเทศไทย, 108

[6] พระราชกฤษฎีกาให้ใช้บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ ๓ ที่ได้ตรวจชำระใหม่

[7] หมายเหตุท้ายพระราชบัญญัติแรงงาน พ.ศ. 2499

[8] ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 19 ลงวันที่ 31 ตุลาคม 2501

[9] ‘การต่อสู้ของกรรมกร’ (บันทึก 6 ตุลา) <https://doct6.com/learn-about/how/chapter-2/2-2/2-2-1> สืบค้นเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2564

[10] ‘14 ตุลากับขบวนการแรงงาน เพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์’ (Voice Labour, 28 สิงหาคม 2556) <https://voicelabour.org/14-ตุลากับขบวนการแรงงาน-เ/> สืบค้นเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2564

[11] นภาพร อติวานิชยพงศ์ ‘14 ตุลากับขบวนการแรงงานไทย’ (ประชาไท, 12 ตุลาคม 2557) <https://prachatai.com/journal/2014/10/55959> สืบค้นเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2564

[12] เขมภัทร ทฤษฎิคุณ, ‘6 ตุลา ชนวนสำคัญของการหยุดยั้งการเติบโตของขบวนการสิทธิแรงงาน’ (สถาบันปรีดี พนมยงค์, 27 กันยายน 2564) <https://pridi.or.th/th/content/2021/09/845> สืบค้นเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2564

[13] สุภชาติ เล็บนาค, ‘จากคุกถึงคุก: กระบวนการ(อ)ยุติธรรรม สามารถทำร้ายคนหนึ่งคนได้มากแค่ไหน’ (The Momentum, 17 เมษายน 2564) <https://themomentum.co/lostinthought-fromjailtojail/> สืบค้นเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2564