เหตุการณ์ที่เป็นเหตุให้เรามาพบกันในวันนี้ เป็นเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นโดยบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมอาจจะต้องยอมรับว่าเป็นข้อเท็จจริงส่วนหนึ่ง แล้วก็เข้าใจว่าเราก็ได้มีกิจกรรมเพื่อที่จะศึกษารวบรวม และสกัดเอาสาระข้อเท็จจริง และทำให้มีการรำลึกถึงบุคคลที่ได้ตกเป็นเหยื่อของการใช้ความรุนแรงครั้งนั้นให้เหมาะสม คิดว่าเป็นกระบวนการเรียนรู้ทางสังคมที่มีคุณค่า และจะต้องดำเนินการต่อไป
ตอนที่เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 ผมมีอายุแค่ 2 ขวบ แต่ก็ได้พยายามศึกษาหาความรู้ ทำความเข้าใจจึงพบว่าเป็นเหตุการณ์ที่มีลักษณะหนึ่งที่ถือว่าเป็นโจทย์สำคัญที่ทำให้ผมอยากจะมาชวนทุกท่านคิดต่อ คือ “กระบวนการยุติธรรม” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “กระบวนการยุติธรรมทางอาญา” ควรจะมีบทบาทอย่างไร ในการที่สังคมจะใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการความขัดแย้ง หรือ ความเห็นต่างทางการเมือง
ผมยกเป็นโจทย์ไว้อย่างนี้ เนื่องจากว่าเหตุการณ์ครั้งนั้น เข้าใจว่ายังไม่ได้มีการดำเนินการเพื่อที่จะนำตัวผู้ที่กระทำผิดกฎหมายมารับผิดชอบ ก็ยังต้องเป็นสิ่งที่ถ้าสังคมเรายังอยากที่จะเรียนรู้และก้าวข้ามเหตุการณ์นี้ไปอย่างมั่นคงและปรองดองกันได้ดี ถือว่าเป็นโจทย์ที่สำคัญ
เพราะฉะนั้น ผมจะขออนุญาตชวนคิดว่า กระบวนการยุติธรรมทางอาญาควรจะเข้าไปจัดการกับความต่างทางการเมืองหรือไม่? แล้วถ้ามันมีส่วนที่ควรต้องเข้าไปแล้ว ขอบเขตที่เหมาะสมควรเป็นอย่างไร?
ในเบื้องต้นเพื่อทำความเข้าใจให้ตรงกันว่า กระบวนการยุติธรรมทางอาญาในระดับที่เป็นหลักการ หรือ ที่ควรจะเป็น เป็นอย่างไร? และหลังจากนั้นจะชวนท่านไปดูสิ่งที่เป็นอยู่ในบริบทของไทย เพื่อจะมาตอบคำถามว่า แล้วกระบวนการยุติธรรมทางอาญาไทยควรเข้าไปจัดการความเห็นต่างทางการเมืองหรือไม่?
โดยหลักการ “กระบวนการยุติธรรมทางอาญา” เป็นวิวัฒนาการหลังจากที่สังคมต่างๆ ต้องมีความจำเป็นต้องจัดการความขัดแย้ง และต้องหาความจริงให้ได้ว่า เมื่อมีความขัดแย้ง ละเมิด มีการทำผิดกฎ หรือ จารีตกฎหมายบ้านเมืองขึ้นมา เมื่อมีการกล่าวอ้าง และคนที่ถูกกล่าวอ้าง ทำความผิดจริง อย่างที่ถูกกล่าวอ้างหรือไม่
กระบวนการนี้จึงให้ความสำคัญกับการหาความจริง และเมื่อทราบความจริงแล้ว ก็จะได้ดำเนินการเพื่อให้คนที่เมื่อทำผิดจริงก็ต้องแสดงความรับผิดชอบในทางกฎหมาย ถ้าไม่ได้ทำผิด ความจริงปรากฏก็ต้องปล่อยตัวไป คืนเสรีภาพให้เขา และต้องชดเชย เยียวยาไปตามครรลองที่เหมาะสม
เพราะฉะนั้น หน้าที่แบบนี้ของ “กระบวนการยุติธรรมทางอาญา” จำเป็นต้องอาศัยเงื่อนไขจำนวนมาก ทั้งการที่จะต้องใช้ความรู้ในทางกฎหมาย การปรับใช้กฎหมายให้เข้ากับสภาพความเป็นจริง อีกทั้งต้องมีคุณธรรมจริยธรรมที่สำคัญ คือ “ความเป็นกลาง” ต้องทำงานโดยมีประสิทธิภาพ เพราะว่าถ้าเน้นความยุติธรรม อย่างตอนนี้ แต่ไม่สามารถที่จะดำเนินการกับการกระทำความผิดที่ปรากฏในสังคมได้ ก็อาจจะเกิดผลกระทบอีกมุมหนึ่ง และจะทำให้ผู้คนเริ่มรู้สึกว่ากระบวนการนี้ไม่มีประสิทธิภาพในการที่จะเอาคนทำผิดมาลงโทษ มีผลกระทบต่อความเชื่อมั่น ศรัทธาของกระบวนการยุติธรรม
ในขณะเดียวกัน “กระบวนการยุติธรรมทางอาญา” เป็นสิ่งที่เกิดจากกลไกสถาบันย่อยๆ มาทำหน้าที่สืบเนื่องกัน โดยแต่ละส่วนก็มีอิสระขาดจากกันระดับหนึ่ง เริ่มตั้งแต่ตำรวจมาที่อัยการ มาที่ศาล และก็กระบวนการหลังศาล มีคำพิพากษาตัดสินผิด-ถูก และลงโทษ แล้วก็จะเป็นการบังคับโทษไปอีก เป็นสายธารที่ค่อนข้างยา
แต่ว่าจะด้วยจุดไหนที่เรามองไป จะพบว่าจุดร่วมกันที่สำคัญของกระบวนการที่ว่านี้ ที่ทำหน้าที่ได้ดีและก็ทำให้เกิดประโยชน์แก่สังคม โดยให้สังคมรู้สึกว่า คนทำผิดไม่ลอยนวล และสังคมอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข ต้องรักษามาตรฐานในการที่จะดูทั้งสิทธิและเสรีภาพพื้นฐานที่ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าผู้กระทำผิดเขาอยู่ในหลักประกันสากล นักทฤษฎีอาญาได้ให้ความรู้เกี่ยวกับสิ่งที่กล่าวมาไว้มากมาย
ถ้าเราเป็นจำเลย ผู้ต้องหาก็ไม่อยากที่จะถูกปรักปรำ หรือ ถูกบังคับให้ต้องสารภาพทั้งที่เราไม่ได้ทำผิด สิทธิพื้นฐานเหล่านี้ โอกาสได้พบกับทนายเป็นสิทธิที่กระบวนการยุติธรรมจะต้องให้ความสำคัญและต้องดูแล
ในขณะเดียวกันก็ต้องให้ความสำคัญกับเหยื่อ หรือ ผู้ที่เขาเป็นผู้ได้รับผลเสียจากการกระทำความรุนแรงด้วย ถ้าไม่ได้คนกระทำผิด ญาติของผู้ที่ได้รับผลกระทบ บาดเจ็บ ล้มตายนั้น ก็จะรู้สึกว่ากระบวนการยุติธรรมไม่ให้ความยุติธรรมกับเขา และยังต้องคำนึงถึงมาตรฐานของสังคมด้วยว่าคาดหวังอะไร จะเห็นได้ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นความคาดหวังที่กระบวนการยุติธรรมต้องจัดการให้ดี จึงเรียกได้ว่าเป็นกระบวนการที่มีพัฒนาการมา และทุกวันนี้ก็ยังต้องพัฒนาต่อไป เพราะสิ่งเหล่านั้นไม่ใช่สิ่งที่ทำแล้วก็จบ ยังมีเรื่องของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป ลักษณะการกระทำความผิดก็มีพัฒนาการไปมาก อาชญากรรมมีลักษณะไร้พรมแดน โจทย์ความท้าทายเหล่านี้ ยังเป็นโจทย์ที่กระบวนการยุติธรรมทางอาญาต้องปรับตัว ต้องเรียนรู้และพัฒนาต่อ สิ่งเหล่านี้เป็นกรอบที่เราควรทำความเข้าใจกันก่อนว่ากระบวนการยุติธรรมทางอาญามีกลไกแบบนี้
ทีนี้ในความเป็นจริง อยากจะชวนทุกท่านดูว่า กระบวนการยุติธรรมทางอาญาของไทยเราเป็นอย่างไร ผมคิดว่าเพื่อให้เป็นมุมมองที่ตรงไปตรงมา อาจจะลองไปดูผลการจัดอันดับ หรือ การสำรวจกระบวนการยุติธรรมรวมไปถึงหลักนิติธรรมของไทยที่มีองค์การระหว่างประเทศ NGO ได้ติดตามและนำเสนอผลมาอย่างยาวนาน ก็คือ “ดัชนีชี้วัดหลักนิติธรรม” ของ World Justice Project สิ่งนี้น่าจะเป็นตัววัดได้บ้าง เพื่อสะท้อนว่าประเทศไทยมีกระบวนการยุติธรรมทางอาญาเป็นอย่างไร และเราพบว่าถ้ามองในมุมนี้ กระบวนการยุติธรรมทางอาญาของเราก็อยู่ในเกณฑ์ที่ทำหน้าที่ได้ปานกลาง
ถ้าดูจากตัวชี้วัดนี้ก็มีเกณฑ์ 0 - 1 ถ้าคะแนนเท่ากับ 1 คือ ดีมาก เป็นกระบวนการยุติธรรมที่เป็นกลาง ปราศจากการแทรกแซงของอำนาจรัฐ ให้ความสำคัญกับการดูแลเหยื่อ รักษาและเคารพต่อสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ต้องหา ไม่มีคอร์รัปชันก็จะได้คะแนน 1 เต็ม ในทางตรงกันข้าม ถ้าคะแนนเท่ากับ 0 ก็จะสะท้อนว่ากระบวนยุติธรรมนั้นมีปัญหามากในหลายๆ มิติ
ในประเทศไทยจะอยู่ที่ประมาณ 0.4 กว่าๆ ยังไม่ถึงครึ่ง 0.42 บ้าง 0.43 บ้าง มากบ้าง น้อยบ้าง ก็จะอยู่ในเกณฑ์นี้ จะบอกว่านี่เป็นกระบวนการยุติธรรมที่ทำหน้าที่ได้ดีหรือยัง ก็ต้องบอกว่าก็ทำได้ดีระดับหนึ่ง และมีความต่อเนื่อง แต่ยังไม่เห็นพัฒนาการที่เด่นชัด ก็ต้องเข้าใจว่าสิ่งต่างๆ เหล่านี้ มันต้องอาศัยเวลาที่จะค่อยๆ พัฒนา เพราะปัจจัยมีความซับซ้อน
นอกจากนี้ เราก็ยังพบว่า ถ้าไม่ต้องไปดูมุมมองของ NGO ต่างชาติที่เขาประเมินไว้ ข้อดี คือ เขาประเมินเราด้วยมาตรวัดเดียวกันกับทุกประเทศในโลก ถ้าเราจะดูเปรียบเทียบระหว่างบ้านเรากับประเทศใกล้เคียงในภูมิภาคก็สามารถทำได้ แต่ว่าถ้าดูที่คะแนนดิบๆ ว่ามันดีขึ้นหรือไม่ ทำให้เห็นว่าแนวโน้มก็ค่อนข้างจะดีบ้างเล็กน้อย แต่ว่าก็ยังไม่มีปีไหนที่เกิน 0.5 ไปเลย นี่ก็เป็นมุมมองที่อยากให้ข้อมูลอีกส่วนหนึ่ง
เราพบว่าแม้จะมองในเชิงตัวเลขว่าเป็นแบบนั้น เรายังมีสิ่งที่ “สถาบันเพื่อความยุติธรรมแห่งประเทศไทย” ได้ไปสำรวจความคิดเห็นประชาชนมา 2 ปี พบว่า ความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อกระบวนการยุติธรรมของไทยเรายังไม่ได้สูงมาก ให้ประชาชนลองให้คะแนน 0 - 5 ว่าถ้า 5 คือ เชื่อมั่นมากที่สุด แล้วเขามองว่ากระบวนการยุติธรรมไทยในความเห็นเขามีความน่าเชื่อถือในระดับที่เท่าไหร่ แล้วก็พบว่าอยู่ที่ 2 กว่าๆ ในช่วงเมื่อปีที่แล้ว เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนความรู้สึก ความเชื่อมั่นก็ตกมาอีกที่ 1.9 ก็พบว่ายังไม่ได้สูง และนี่คือสภาพความเป็นไป
ทีนี้ ถ้าเราจะมาดูว่าแล้วกลไกกระบวนการยุติธรรมซึ่งก็มีโจทย์ มีปัญหาในตัวระบบเอง และเราอยากใช้กระบวนการนี้ เข้ามาทำหน้าที่ในการที่จะจัดการกับความเห็นต่างทางการเมืองหรือไม่อย่างไร นี่เป็นสิ่งที่ผมพยายามขบคิดและอยากจะนำเสนอมุมมองเพื่อเป็นประเด็นแลกเปลี่ยนกับทุกๆ ท่าน
โดยหลักการ ผมคิดว่ากระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ควรจะใช้เท่าที่จำเป็น ใช้เพื่อที่จะจัดการกับผู้ที่ล่วงละเมิดกฎหมายอย่างเคร่งครัด มันเป็นมาตรการทางสังคมที่ใช้ทรัพยากรสูง ต้องมีกลไกในการทำงานเพื่อให้มั่นใจว่าโปร่งใส มีการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกัน แต่ก็ยังทำได้ไม่ง่ายนัก เพราะว่าในความเป็นจริงกระบวนการนี้ก็เหมือนกับระบบ ระบอบอื่นๆ ที่เป็นสถาบันหลักในสังคม อยู่ภายใต้บริบททางการเมืองเช่นเดียวกัน เราจะบอกว่าต้องพยายามรักษาความเป็นกลาง ผู้พิพากษาต้องพิพากษาคดีโดยปราศจากอคติ อันนี้เป็นหลักการ
แต่ในความเป็นจริง เราก็ต้องยอมรับว่า ระบบเป็นแบบหนึ่ง บุคลากรที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในระบบนั้นยังเป็นมนุษย์ปุถุชนที่การทำหน้าที่ไม่ได้ปราศจากอคติโดยสิ้นเชิง ยังมีความท้าทายในเชิงปัจเจก ยังมีความท้าทายในเชิงการบังคับใช้ที่ยังอยู่ภายในโครงสร้างวัฒนธรรมอำนาจบางอย่าง ที่ทำให้การใช้บุคลากรให้ตรงกับความรู้ความสามารถยังไม่เกิดขึ้น
เพราะฉะนั้น ผมจึงค่อนข้างจะมีข้อกังวลที่สังคมไทย เราจะไปหวังให้กระบวนการยุติธรรมทางอาญามาทำหน้าที่จัดการความเห็นต่างทางการเมือง คิดว่าน่าจะเป็นแนวทางที่มีความเสี่ยงและมีอันตรายต่ออนาคตของสังคมในระยะยาวสูง
เหตุที่เรียนเช่นนี้ก็เพราะว่า “กระบวนการยุติธรรมทางอาญา” จำเป็นต้องจัดการให้ได้ข้อเท็จจริง ให้ปรากฏโดยปราศจากข้อสงสัยว่าคนคนนั้นทำผิดกฎหมายอาญาจริงหรือไม่ ในขณะที่ “ความเห็น” เป็นเรื่องของความเชื่อ อุดมการณ์ และลัทธิ ไม่ใช่สิ่งที่จะเอามาพิสูจน์ความผิดกันได้ด้วยมาตรฐานในด้านกระบวนการยุติธรรมทางอาญาได้
การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง ยกตัวอย่างในเหตุการณ์เมื่อครั้งพฤษภาคม 2553 เราจะพบว่าในทางหนึ่ง คนที่กระทำผิดกฎหมายอาญาอย่างแน่ชัด คือ จงใจที่จะใช้เหตุนั้น ฆ่าสังหารบุคคลโดยที่มีความตั้งใจที่จะทำเช่นนั้น ก็ต้องถูกดำเนินคดี แต่มีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่เข้าไปร่วมอยู่ในกระบวนการที่ก่อให้เกิดการใช้ความรุนแรง เพราะว่าความเชื่อทางการเมือง
การใช้กระบวนการยุติธรรมทางอาญา จัดการกับกลุ่มคนจำนวนมากเหล่านั้น มีข้อจำกัดสูง ที่ผ่านมาประเทศไทยเรา ได้รับบทเรียนและพยายามที่จะใช้กลไกอื่นๆ นอกเหนือจากกระบวนการยุติธรรมทางอาญา แต่ก็ใช้ได้อย่างจำกัด
เรามีคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ หรือ คอป. มาทำหน้าที่นั้น ก็เห็นพ้องต้องกันว่าเราไม่ควรพึ่งกระบวนการยุติธรรมทางอาญา แต่ควรที่จะเน้นกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ หรือ ยุติธรรมเปลี่ยนผ่าน เพื่อที่จะทำให้สังคมได้เรียนรู้ และได้บทเรียนที่เป็นประโยชน์ แล้วเก็บกระบวนการยุติธรรมทางอาญาไว้ใช้กับเหตุและปัจจัยที่เหมาะสมจริงๆ
สรุปสั้นๆ ว่าการใช้ “กระบวนการยุติธรรมทางอาญา” เพื่อจัดการความเห็นที่แตกต่างทางการเมือง มีข้อจำกัดสูง ถ้ามองเป็นการลงทุนก็เป็นการลงทุนที่น่าจะไม่คุ้มค่า เพราะกระบวนการของเราเองก็ยังต้องพัฒนาปรับปรุง แต่ถามว่าแล้วควรที่จะดูแลปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของไทยให้ดีขึ้นอย่างไร เราก็สามารถที่จะเป็นกลไกที่จะเอื้อให้มีส่วนในการสนับสนุนให้สังคมมีพัฒนาการต่อเนื่องไป รวมถึงเป็นกลไกที่เอื้อให้สังคมเรา สามารถที่จะอยู่ร่วมกันได้โดยที่การแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างกันทางการเมือง การแสดงออกก็ยังได้รับการเคารพ
สิ่งเหล่านี้จึงเป็นโจทย์ที่ยังต้องขบคิดต่อ และขอทิ้งท้ายไว้เท่านี้ก่อนว่าเราจำเป็นต้องใช้กระบวนการยุติธรรมทางอาญาอย่างประหยัด อย่าใช้ฟุ่มเฟือย สุรุ่ยสุร่าย แล้วก็ใช้ให้ตรงกับโจทย์ที่เหมาะสมกับฟังก์ชันของมันจะดีที่สุด
ที่มา: เสวนาออนไลน์ PRIDI Talks #13 รำลึก 45 ปี 6 ตุลาฯ “จากทุ่งสังหารถึงสำนักงานตั๋วช้าง” ตำรวจ-ทหาร กองทัพของราษฎร หัวข้อ “มุมมองกระบวนการยุติธรรมกับความเห็นต่างทางการเมือง” โดย ดร.พิเศษ สอาดเย็น, จัดขึ้น ณ วันที่ 6 ตุลาคม 2564