ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

ถอดบทเรียน: Russell Crowe กับ อุตสาหกรรม Soft Power และพื้นที่ถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศไทย

11
พฤศจิกายน
2564
ที่มาภาพ: เฮ้ยนี่มันตัดต่อชัดๆ V2
ที่มาภาพ: เฮ้ยนี่มันตัดต่อชัดๆ V2

 

 

ในช่วงเกือบเดือนที่ผ่านมาหนึ่งในเรื่องที่เป็นกระแสมาก คือการที่นักแสดงฮอลลีวูดชื่อดังอย่าง รัสเซล โครว์ เดินทางไปทั่วกรุงเทพฯ เพื่อถ่ายทำภาพยนตร์ซึ่งดัดแปลงมาจากเรื่อง “The Greatest Beer Run Ever” (หนังเรื่องนี้สร้างมาจากเรื่องจริงที่น่าสนใจ) และได้มีโอกาสถ่ายภาพบรรยากาศและการใช้ชีวิตของผู้คนในประเทศไทยผสมกันไประหว่างย่านการท่องเที่ยว ศิลปวัฒนธรรม ร้านอาหาร และภาพสะท้อนของเมืองที่กำลังพัฒนา ในมุมมองหนึ่งอาจจะดูภาพที่ชวนให้ตื่นเต้นว่าวันนี้จะมีรูปมุมไหนของกรุงเทพฯ ไปปรากฏบนทวิตเตอร์ของนักแสดงคนดังบ้าง แต่ในอีกมุมมองหนึ่งก็สะท้อนให้เห็นมุมมองของชาวต่างชาติที่มีต่อกรุงเทพฯ และอีกสิ่งหนึ่งที่มองข้ามไม่ได้เลยคือ “ผลกระทบ” หรือ “กระแสตอบรับ” ที่เกิดขึ้นมาจากการเดินทางมาถ่ายทำภาพยนตร์ของนักแสดงดังก็คือ การประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวของประเทศ (ถึงขนาดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาต้องไปพบเจอนักแสดงดัง) สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ประเทศไทยสามารถจะหารายได้จากการถ่ายทำภาพยนตร์ให้เป็นส่วนหนึ่งของรายได้หลักของประเทศได้หรือไม่

ประเทศไทยกับพื้นที่ถ่ายทำภาพยนตร์ไทย

 

 

ในสถานการณ์ปกติประเทศไทยนั้นเป็นหนึ่งในเป้าหมายของนักท่องเที่ยวหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งสิ่งหนึ่งที่ช่วยดึงดูดการท่องเที่ยวมาสู่ประเทศไทยนั้นก็เป็นผลมาจากการแนะนำในโดย Youtuber หลายคนที่ทำรายการเกี่ยวกับการท่องเที่ยวประเทศไทย หรือ หนังสือแนะนำการท่องเที่ยวชื่อดังอย่าง Lonely Planet

แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่ามีผลต่อการเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยนั้นเป็นอิทธิพลมาจากอุตสาหกรรม Soft Power อย่างเช่น ภาพยนตร์แบบ Lost in Thailand หรือ The Hangover 2 หรือบรรดาซีรีส์หรือละครต่างๆ ที่ได้รับความนิยมโดยเฉพาะในกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีน (ก่อนหน้านี้มีดาราฮอลลีวูดและนักร้องจำนวนมากที่เดินทางมาประเทศไทยเพื่อใช้โลเคชั่นในการถ่ายทำผลงาน)

อุตสาหกรรม Soft Power เป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่มีส่วนช่วยในการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวของประเทศไทย โดยที่ประเทศไทยไม่จำเป็นต้องลงทุนไปกับการออกบูธประชาสัมพันธ์ตามงานท่องเที่ยวต่างๆ แบบแต่ก่อน นอกจากจะสร้างรายได้ให้กับประเทศ ยังสร้างรายได้ให้กับแรงงาน ร้านค้าในพื้นที่ และรายได้อื่นๆ ที่มาจากการเดินทางเข้ามาพักในประเทศไทย เช่น ค่าโรงแรม ร้านอาหาร และท่องเที่ยว เป็นต้น ดังจะเห็นได้จากสถิติของ กรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

 

รายได้จากการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย จำแนกตามประเทศผู้ผลิตภาพยนตร์ (หน่วยนับ : ล้านบาท)

ประเทศ 2548 2549 2550 2551 2552 2553 2554 2555 2556 2557
ญี่ปุ่น   165 142 154 134 108 123 113 149 140 57
อินเดีย   44 72 92 123 108 128 107 125 150 54
เกาหลี   26 42 39 26 27 41 47 33 29 15
จีน   5 21 8 8 16 22 33 24 29 23
อเมริกา   22 21 22 25 25 22 35 27 34 16
ฮ่องกง   24 21 25 23 20 24 24 37 38 14
ออสเตรเลีย   20 27 18 10 8 8 15 6 22 8
ไต้หวัน   6 1 6 3 10 16 9 1 7 1
ยุโรป   105 77 102 106 96 91 119 105 112 69
อื่นๆ   75 67 57 68 78 103 104 129 156 87
รวม/เรื่อง 492 491 523 526 496 578 606 636 717 344
รายได้/ล้านบาท 1,138.36 1,926.83 1,072.62 2,023.24 897.83 1,869.15 1,226.45 1,781.93 2,173.35 942.2

ที่มา: กรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา.

 

กล่าวเฉพาะในช่วงของการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 อีกครั้งหนึ่งในช่วงต้นปีที่ผ่านมา กรมการท่องเที่ยวได้เปิดเผยรายงานของกองกิจการภาพยนตร์และวีดิทัศน์ต่างประเทศ เกี่ยวกับสถิติการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย ซึ่งดำเนินการผ่านศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2564 ตั้งแต่เดือนมกราคม – เมษายน นั้น มีกองถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศมากกว่า 31 เรื่อง สร้างรายได้รวม 1,212.28 ล้านบาท และเฉพาะการเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง “Beer Run” และ “Beer Run 2” ของรัสเซล โครว์ และกองถ่ายทำในช่วงเดือน กันยายน - ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมาในพื้นที่กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ราชบุรี สมุทรปราการ นนทบุรี และประจวบคีรีขันธ์นั้นจะสร้างรายได้จากการประมาณค่าใช้จ่ายได้ราวๆ 373 ล้านบาท

เมื่อพิจารณาลงไปในประเภทของภาพยนตร์ที่เข้ามาถ่ายทำในประเทศไทยนั้น 3 อันดับแรกของภาพยนตร์ (ในช่วงปี 2548 – 2558) ที่เข้ามาถ่ายทำในประเทศนั้น จากการเก็บข้อมูลของกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พบว่าอันดับหนึ่งจะเป็นภาพยนตร์โฆษณาประชาสัมพันธ์จำนวน 2,738 เรื่อง ภาพยนตร์สารคดี 1,989 เรื่อง และมิวสิควิดีโอ 507 เรื่อง สำหรับภาพยนตร์เรื่องยาวจำนวน 429 เรื่อง

 

 

ปัจจัยสำคัญที่ประเทศไทยได้เปรียบ คือ การมีโลเคชั่นหลากหลายทั้งในเชิงภูมิศาสตร์ ประเพณี และการพัฒนาเมือง โดยเมื่อเปรียบเทียบกับค่าครองชีพแล้วสิ่งนี้กลายมาเป็นจุดเด่นของประเทศไทย และยังไม่รวมถึงธุรกิจภาคบริการที่ประเทศไทยมีความเชี่ยวชาญ 

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าประเทศไทยมีจะได้ประโยชน์อย่างมาก หากมีการเข้าถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศไทยทั้งในแง่ของการเข้ามาใช้จ่ายของกองถ่าย ซึ่งประโยชน์จะไปถึงประชาชนโดยตรงจากการซื้อสินค้าและบริการ การจ้างงานในประเทศ การใช้จ่ายบริการสนับสนุนการถ่ายทำ และการกระจายรายได้ไปสู่พื้นที่ต่างๆ ที่มีการถ่ายทำภาพยนตร์ นอกจากประโยชน์ดังกล่าวแล้วภาพยนตร์ยังมีส่วนในการส่งเสริม Soft Power ของประเทศ และเป็นการประชาสัมพันธ์เพื่อดึงดูดนักลงทุนเข้ามาในประเทศ

อย่างไรก็ตาม สิ่งต้องกลับมาทบทวนก็คือ นโยบายของรัฐบาลนั้นสนับสนุนให้เกิดการเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทยเพียงพอแล้วหรือไม่

 

นโยบายของรัฐบาลกับการถ่ายทำภาพยนตร์

หากรัฐบาลพิจารณาแล้วว่า อุตสาหกรรม Soft Power จะกลายมาเป็นเครื่องจักรทางเศรษฐกิจตัวใหม่ที่ช่วยเสริมแรงการท่องเที่ยวที่น่าจะยังไม่ฟื้นฟูขึ้นมาได้อย่างเต็มประสิทธิภาพในช่วงของการแพร่ระบาดของโควิด-19 และรัฐบาลได้ตั้งปณิธานว่าจะขึ้นมาเป็นมหาอำนาจตามนโยบายของรัฐบาล อุปสรรคอย่างหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ นโยบายของรัฐบาลอาจจะยังไม่เอื้ออำนวยให้เกิดการเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทยขนาดนั้น โดยเฉพาะอุปสรรคที่เกิดขึ้นจากใบอนุญาต

ในปัจจุบันการเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศภายในประเทศไทยนั้น กองถ่ายภาพยนตร์จะต้องขอใบอนุญาตหลายใบถึงจะสามารถเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ภายในประเทศได้ ซึ่งบรรดาใบอนุญาตทั้งหลายนี้ก็ไม่ได้รวมกันอยู่ภายใต้หน่วยงานเดียวกัน ซึ่งก็เป็นปัญหาในกรณีที่จะต้องมีการถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศที่จะต้องมีการติดต่อเพื่อขอใบอนุญาตหลายจุด การมีจำนวนใบอนุญาตเป็นจำนวนมากนี้ไม่ได้มีผลเพียงแค่ต้องติดต่อหลายหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องแล้ว บรรดาใบอนุญาตดังกล่าวยังกลายเป็นต้นทุนและเป็นเงื่อนไขที่ต้องรอก่อนจึงจะสามารถเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ดังกล่าวได้

 

ใบอนุญาตการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย*

ใบอนุญาต หน่วยงาน ต้นทุน
ใบอนุญาตการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในราชอาณาจักร** กรมการท่องเที่ยว ค่าใช้จ่ายต่อครั้ง 168,364 บาท ค่าใช้จ่ายรวมต่อปี 9,767,307 บาท
การขออนุญาตเข้าไปถ่ายทำภาพยนตร์ในอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ค่าใช้จ่ายต่อครั้ง 11,519 บาท ค่าใช้จ่ายรวมต่อปี 5,195,160 บาท
การขออนุญาตให้เข้าถ่ายทำภาพยนตร์ในเขตโบราณสถาน กรมศิลปากร ค่าใช้จ่ายต่อครั้ง 28,548 บาท ต่อปี 540,978 บาท
การขออนุญาตเข้าถ่ายทำภาพยนตร์ในเขตวัดและศาสนสถาน สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ค่าใช้จ่ายต่อครั้ง 6,291 บาท ต่อปี 155,062 บาท

หมายเหตุ *การขอใบอนุญาตดังกล่าวไม่นับรวมการขออนุญาตในพื้นที่ เช่น บนท้องถนนที่ต้องขออนุญาตต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นต้น

** กรณีนี้เฉพาะการขอใบอนุญาตถ่ายทำภาพยนตร์ประเภทภาพยนตร์ยาว ซึ่งค่าธรรมเนียมจะแตกต่างกันตามประเภทของภาพยนตร์ที่เข้ามาถ่ายทำ

ที่มา: สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย, ‘รายงานฉบับสมบูรณ์ โครงการศึกษาวิเคราะห์ทบทวนกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับและกระบวนงานที่เกี่ยวกับการอนุญาต เพื่อลดขั้นตอนการดำเนินการและการอนุญาตที่ไม่จำเป็นหรืออุปสรรคต่อการประกอบอาชีพและการดำเนินธุรกิจของประชาชน เล่ม 1’ (เสนอต่อสำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง) 333 – 370 และ 385 - 400.

 

ผลของการมีใบอนุญาตหลายใบนั้นกลายมาเป็นอุปสรรคที่ทำให้กองถ่ายภาพยนตร์ต่างประเทศที่เข้ามาถ่ายภาพยนตร์ในประเทศไทยนั้นเกิดความไม่สะดวกทั้งในแง่ของการติดต่อ การประสานงาน และการดำเนินการ ซึ่งหากรัฐบาลจะอำนวยความสะดวกนั้นควรที่จะทำให้ใบอนุญาตนั้นควรจะมีเพียงแค่ใบเดียว หรือถ้าในระยะเบื้องต้นไม่สามารถรวมใบอนุญาตไว้เพียงแค่ใบเดียวได้นั้นก็ควรที่จะลดการติดต่อของต่างประเทศเพื่ออำนวยความสะดวกในการขอใบอนุญาตโดยอาจจะทำเป็น One Stop Service ที่สามารถขอใบอนุญาตในที่เดียวจบ

 

ที่มาภาพ: ข่าวสดออนไลน์
ที่มาภาพ: ข่าวสดออนไลน์

 

นอกจากความวุ่นวายในการขอใบอนุญาตแล้ว สิ่งที่พ่วงมากับการขอใบอนุญาตก็คือ การขอใบอนุญาตเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทยเกิดขึ้นมาจากนโยบายการเซนเซอร์ของรัฐบาลในการตรวจสอบบทภาพยนตร์ ทำให้เกิดปัญหาว่าในหลายๆ กรณีกองถ่ายภาพยนตร์ต่างประเทศเลือกที่จะเปลี่ยนประเทศเพื่อไปถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศอื่นที่มีบรรยากาศและโลเคชั่นใกล้เคียงกับประเทศไทยเพื่อที่จะได้ไม่ต้องถูกปรับเปลี่ยนบทภาพยนตร์ ประเด็นนี้เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ประเทศไทยอาจจะต้องทบทวนกันเสียใหม่ เพราะควรมองให้เห็นประโยชน์ของการเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์มากกว่าจะให้ความสำคัญกับบทภาพยนตร์ซึ่งไม่อาจแน่ใจได้ด้วยซ้ำว่าเนื้อหาที่นำเสนอนั้นจะไม่เปลี่ยนแปลงในอนาคต เพราะสิ่งที่มาถ่ายทำก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งฟุตเทจ

ปัญหาอีกประการที่เกี่ยวข้องกับการเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทยนั้นยังมีปัญหาเรื่องวีซ่าและใบอนุญาตทำงานของคนต่างด้าวในประเทศไทย (ดารา นักแสดง และสมาชิกกองถ่ายที่เป็นคนต่างด้าวทั้งหมดต้องขอใบอนุญาตทำงานของคนต่างด้าวในประเทศไทย) ซึ่งกองถ่ายต่างประเทศจำเป็นต้องขอใบอนุญาต ในประเด็นนี้หากรัฐบาลจะอำนวยความสะดวกจริงๆ เพื่อดึงดูดเงินลงทุนอาจจะจำเป็นต้องคิดนอกกรอบโดยการออกประเภทวีซ่าใหม่สำหรับการถ่ายทำภาพยนตร์โดยเฉพาะให้กับกองถ่ายภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย และยกเว้นใบอนุญาตทำงานของคนต่างด้าวเนื่องจากใบอนุญาตดังกล่าวอาจจะไม่ได้เหมาะสมกับการทำงานของกองถ่ายภาพยนตร์

กล่าวโดยสรุป เมื่อประเทศไทยอยากคว้าโอกาสจากอุตสาหกรรม Soft Power โดยเฉพาะการเชื้อเชิญต่างประเทศเพื่อเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศไทย ลำพังเพียงแต่การออกนโยบายมาโดยไม่มีการทำอะไรเป็นแผนนิ่งๆ นั้น อาจจะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์

วิธีการสนับสนุนที่ดีที่สุด นั่นก็คือ การแก้ไขกฎระเบียบ ข้อจำกัดต่างๆ และ เงื่อนไขที่เป็นอุปสรรคในการเดินทาง ซึ่งตรงนี้น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้กองถ่ายต่างประเทศตัดสินใจเข้ามากันมากขึ้น และสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศได้มากกว่าที่เป็นอยู่อย่างมหาศาล

 

ภาพ: Russell Crowe ที่มา twitter Russell Crowe
ภาพ: Russell Crowe
ที่มา twitter Russell Crowe

 

อ้างอิงจาก

  • กรุงเทพธุรกิจ, ‘กองถ่ายหนังต่างประเทศไม่หวั่นโควิด! เปิดสถิติ 4 เดือนแรกไทยกวาดรายได้ 1.2 พันล้าน’ (กรุงเทพธุรกิจ, 31 พฤษภาคม 2564) https://www.bangkokbiznews.com/news/940807 สืบค้นเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2564.
  • เนชั่น, ‘รัสเซล โครว์-กองถ่ายหนังฟอร์มยักษ์ Beer Run คาดนำรายได้เข้าไทย 373 ล้านบาท’ (Nation Online, 21 ตุลาคม 2564) https://www.nationtv.tv/news/378847745 สืบค้นเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2564.
  • สถิติการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย และสถิติรายได้จากการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย เข้าถึงได้จาก สำนักสถิติแห่งชาติ, ‘การเผยแพร่ข้อมูลสถิติทางการ (รายสาขา)’ (สำนักงานสถิติแห่งชาติ) https://osstat.nso.go.th/statv5/list.php?id_branch=17 สืบค้นเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2564.
  • สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย, ‘รายงานฉบับสมบูรณ์ โครงการศึกษาวิเคราะห์ทบทวนกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับและกระบวนงานที่เกี่ยวกับการอนุญาต เพื่อลดขั้นตอนการดำเนินการและการอนุญาตที่ไม่จำเป็นหรืออุปสรรคต่อการประกอบอาชีพและการดำเนินธุรกิจของประชาชน เล่ม 1’ (เสนอต่อสำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง)