จาก “ประภาส” กับการแก้ไขปัญหาหมูแพง
ในช่วงปี พ.ศ. 2507 ประเทศไทยประสบกับปัญหาราคาเนื้อหมูแพงเช่นเดียวกันกับที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่รัฐบาลของ จอมพล ถนอม กิตติขจร กำลังบริหารประเทศ บุคคลสำคัญที่มีบทบาทในการแก้ไขปัญหาราคาหมูแพงในเวลานั้นก็คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในเวลานั้น คือ พลเอก ประภาส จารุเสถียร (ตำแหน่งในขณะนั้น)
ในเวลานั้นสถานการณ์เกี่ยวกับราคาหมู่ที่แพงขึ้น พลเอกประภาส ได้ชี้แจงสาเหตุและแนวทางแก้ไขของรัฐบาลกับหนังสือพิมพ์ประชาธิปไตย ฉบับวันเสาร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2507 ว่า
“เรื่องที่หนังสือพิมพ์วิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับราคาหมูในขณะนี้แพงมาก เพราะขายกันกิโลกรัมละ 18 บาท บางแห่งก็ 20 บาท ว่าไม่ใช่เพิ่งจะมาแพงตอนนี้ แต่ได้แพงมานานแล้วตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ราคาหมูได้ขึ้นมาเรื่อยๆ ครั้นทางกระทรวงมหาดไทยได้เข้าจัดการในเรื่องหมูอีก ก็ได้ประกาศไม่ให้ขึ้นราคาหมู โดยตรึงราคาไว้กิโลกรัมละ 17 บาท มา 1 ปีแล้ว บางแห่งที่ขายเกิน 17 บาท เป็นเพราะพ่อค้าฉวยโอกาสเนื่องจากหมูมีน้อย นอกจากนั้น ยังพบข้อบกพร่องอีกว่าเขียงหมูในความควบคุมของบริษัทสหสามัคคี ที่ให้ขายในราคากิโลกรัมละ 17 บาท ก็แอบเอาหมูไปขายให้กับพ่อค้าหมูนอกการควบคุมเสียครึ่งหนึ่ง ขณะนี่ก็ได้เพิ่มเจ้าหน้าที่ตรวจตลาดเพิ่มขึ้นเพื่อคอยสอดส่องพวกนี้แล้ว”
ถึง “ประยุทธ์” กับการแก้ไขปัญหาหมูแพง
สิ่งที่เกิดขึ้นในรัฐบาลของจอมพลถนอม ได้ย้อนรอยกลับมาเกิดขึ้นในรัฐบาลของ พลเอก ประยุทธ์ จันทรโอชา อีกครั้งหนึ่ง แต่สาเหตุของเรื่องนั้นอาจจะแตกต่างกันออกไปจากคราวก่อน ในครั้งนี้ปัญหาการขาดแคลนเนื้อหมูและราคาเนื้อหมูแพงนั้น สืบเนื่องมาจากการระบาดของเชื้อไวรัสอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (AFS) ที่แพร่ระบาดเข้ามาสู่ประเทศไทย ซึ่งทำให้ราคาหมูในท้องตลาดเพิ่มขึ้นเป็นกิโลกรัมละ 200 บาท (ราคาดังกล่าวไม่รวมเนื้อหมูที่อยู่ในตลาดเนื้อหมูระดับบน)
ผลของเชื้อไวรัสดังกล่าวทำให้หมูมีชีวิตที่เลี้ยงไว้ตายเป็นจำนวนมากและต้องเชือดหมูก่อนถึงอายุที่จะต้องเชือดทำให้ได้เนื้อหมูน้อย คุณภาพไม่เป็นไปตามมาตรฐาน รวมถึงต้นทุนที่ใช้ในการรักษาและป้องกันหมูที่แพงขึ้นทำให้ผู้เลี้ยงหมูอาจหยุดเลี้ยงเพื่อรอสถานการณ์ดีขึ้นก่อน
อย่างไรก็ดี ไม่ว่าด้วยปัจจัยใดก็ตามที่เกิดขึ้นนั้นทำให้ราคาหมูปรับตัวสูงขึ้น ท้ายที่สุดรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ โดยกระทรวงพาณิชย์ได้มีการออกประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 18 พ.ศ. 2563 เรื่อง การกำหนดสินค้าและบริการควบคุม โดยกำหนดให้หมูและเนื้อหมู กลายเป็นสินค้าควบคุมเพื่อป้องกันการกำหนดราคาซื้อหรือราคาจำหน่าย เพื่อป้องกันมิให้มีการขายเนื้อหมูในราคาแพง ซึ่งหากมีการฝ่าฝืนจะถูกลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542
กล่าวโดยสรุป มาตรการที่รัฐบาลทั้งสองชุดนำมาใช้ในการแก้ไขปัญหาเนื้อหมูราคาแพงก็คือ การควบคุมราคาเนื้อหมู ให้อยู่ในระดับราคาที่รัฐบาลเห็นว่าประชาชนสามารถจะซื้อเพื่อบริโภคได้ คำถามสำคัญก็คือ มาตรการควบคุมราคาสินค้านั้นช่วยให้ราคาหมูถูกลงจริงหรือไม่ และประชาชนสามารถเข้าถึงเนื้อหมูราคาถูกได้จริงหรือไม่
เศรษฐศาสตร์ว่าด้วยกฎหมายควบคุมราคาสินค้า
ปัญหาสำคัญของรัฐบาลทั้งสองมีความคล้ายคลึงกันก็คือ การทำอย่างไรให้ราคาเนื้อหมูลดลง ซึ่งวิธีการที่รัฐบาลทั้งสองนำมาใช้ก็คือ มาตรการควบคุมราคาสินค้า อย่างไรก็ดี ในบรรดาทางเลือกทั้งหมดมาตรการควบคุมราคาสินค้าเป็นมาตรที่แก้ไขปัญหาได้ในเชิงความรู้สึก แต่บังคับใช้ยากมากในทางปฏิบัติ สิ่งนี้สืบเนื่องมาจากหลักการเบื้องหลังของการทำงานของกลไกตลาดในช่วงวิกฤตที่ราคาสินค้าและบริการแพงขึ้นเนื่องจากความขาดแคลน
กรณีของเนื้อหมูก็เช่นเดียวกัน ที่ราคาเพิ่มขึ้นเนื่องจากความขาดแคลน โดยสมมติให้ราคาเนื้อหมูในสถานการณ์ปกติอยู่ที่ 120 บาทต่อกิโลกรัม แต่เมื่อเกิดการระบาดของเชื้อไวรัสทำให้หมูตาย ต้นทุนสูงขึ้นจึงลดการผลิต หรือ แม่พันธุ์หมูตายไม่สามารถผลิตได้ ปัจจัยเหล่านี้ทำให้เนื้อหมูขาดแคลน ราคาหมูจึงเพิ่มขึ้นไปที่ 200 บาทต่อกิโลกรัม รัฐบาลรู้สึกว่าราคาที่เพิ่มขึ้นนั้นเป็นการฉวยโอกาสและเอาเปรียบผู้บริโภค จึงเข้ามาควบคุมราคาเนื้อหมูโดยการกำหนดราคาหมูที่กิโลกกรัมละ 130 บาทแทน
สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ความต้องการของผู้บริโภคจะยิ่งเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการซื้อเพื่อกักตุนสินค้าไว้ (อย่างไรก็ดี สินค้าเกษตรแตกต่างจากสินค้าทั่วไปตรงที่กักตุนไว้มากเกินไปก็ไม่ได้ เพราะจะหมดอายุหรือเน่าเสีย) แต่ความต้องการที่มากกว่าปริมาณสินค้านั้นยังคงอยู่ แม้ราคาสินค้าจะลดลงแต่ปริมาณก็ไม่เพียงพอกับความต้องการ
ท้ายที่สุดเมื่อประกอบกับต้นทุนทั้งหมดแล้วผู้ขายก็ยังจะขายสินค้าในราคาที่อาจแพงกว่าราคาที่รัฐบาลกำหนด โดยเพิ่มความเสี่ยงจากการถูกลงโทษตามกฎหมายเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของราคาสินค้า โดยราคาดังกล่าวอาจจะแพงไปกว่าราคาสินค้าที่ปรับขึ้นตามท้องตลาด ในขณะเดียวกันเนื้อหมูเป็นสิ่งจำเป็นแก่การบริโภค ผู้บริโภคอาจจะยินดีที่จะซื้อเนื้อหมูในราคาที่เพิ่มขึ้น ไม่ก็หันไปบริโภคเนื้อสัตว์อย่างอื่นแทน
ภาพของสถานการณ์ข้างต้นนี้กำลังบอกกับเราว่า มาตรการควบคุมราคาสินค้านั้นไม่ได้ผลในความเป็นจริง และกลายเป็นการซ้ำเติมราคาสินค้าให้แพงขึ้น วิธีการที่จะทำให้มาตรการควบคุมราคาสินค้านั้นใช้ได้ผลอย่างมีประสิทธิภาพก็คือ การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดโดยการลงพื้นที่ตรวจสอบแบบเดียวกันกับที่พลเอกประภาสให้สัมภาษณ์
อย่างไรก็ดี ในทางปฏิบัตินั้น การจะไปบังคับใช้กฎหมายแบบเข้มงวดนั้นเป็นได้ยาก และในขณะเดียวกันภาครัฐต้องใช้ทรัพยากรจำนวนมากเพื่อที่จะให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งอาจจะทำให้มาตรการดังกล่าวกลายเป็นการขี่ช้างจับตั๊กแตนไปแทน