ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

นาคืนเดียว ของคนที่ชื่อ สวาสดิ์ และ สวัสดิ์ ตราชู

2
กุมภาพันธ์
2565

จากสนามบินมาเป็นท้องนาในเวลาคืนเดียว ก่อนที่ญี่ปุ่นจะไปตรวจสนามบินตาดภูวง ของหน่วยเสรีไทยสกลนคร

 

ทุกคนในวงการเสรีไทยสายอีสาน (สายของครูเตียง ศิริขันธ์) ยอมรับว่าหน่วยเสรีไทยต้องพึ่งอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ฝ่ายอังกฤษและอเมริกาส่งมาให้ การส่งอาวุธให้นี้ในระยะแรกมีเพียงการทิ้งร่ม (ได้แก่ การเอาเครื่องบินบรรทุกอาวุธยุทธสัมภาระบรรจุถังเหล็กมาทิ้งลง โดยอาศัยร่มชูชีพ ณ สถานที่ที่ตกลงกันเป็นคราวๆ) การทิ้งร่มเป็นกิจกรรมประจำที่ชาวเสรีไทยทุกคนรอคอย

เพราะแต่ละครั้งหมายถึงการเพิ่มอาวุธสมัยใหม่ที่เราสร้างเองไม่ได้ แต่การทิ้งร่มจะทำได้เฉพาะคืนเดือนหงาย คือ ประมาณระหว่างวันขึ้น ๑๒ ค่ำไปถึงวันแรม ๔ หรือ ๕ ค่ำ และจำนวนอาวุธที่ส่งแต่ละครั้งก็มีจำกัด

ต่อมาได้มีการสร้างทางวิ่งชั่วคราว สำหรับเครื่องบินขนาดกลาง และทุกคนก็เริ่มสร้างความหวังว่า สักวันหนึ่งการส่งอาวุธและยุทธสัมภาระมาสู่หน่วยเสรีไทยจากฝ่ายสัมพันธมิตรนั้นจะใช้เครื่องบินลำเลียงโดยตรง ไม่ต้องมีการรอคอยข้ามคืน ไม่ต้องวิ่งตามร่มบางร่มที่อาจตกไกลจากที่หมายไม่ต้องปีนต้นไม้ในกรณีที่ร่มอาจติดค้างอยู่บนยอดไม้ และเรื่องความกังวัลที่เกี่ยวข้องอีกหลายประการ

 

ภาพจาก: http://rach1968.blogspot.com/2017/08/blog-post_18.html
ภาพจาก: http://rach1968.blogspot.com/2017/08/blog-post_18.html

 

ทางวิ่ง หรือ สนามบินแรกที่สร้างขึ้นในภาคอีสานนั้น จัดทำขึ้นที่บ้านชาดนาคู ในปัจจุบันอยู่ในเขตจังหวัดกาฬสินธุ์ แต่ใน พ.ศ. ๒๔๘๕-๒๔๘๘ นั้น ยังเป็นจังหวัดมหาสารคามอยู่ สนามบินนี้เป็นลานดินแข็งซึ่งต้องปราบพื้นที่ให้เรียบ โดยอาศัยแรงคนโดยไม่มีรถบดหรือรถขนดินใดๆ เลย

เมื่อพันตรี Smiley ที่เป็นนายทหารอังกฤษประจำอยู่กับหน่วยเสรีไทยสายอีสานเห็นว่าถึงเวลาที่กองกำลัง ๑๓๖ ของกองทัพอังกฤษในอินเดียจะได้ทดลองใช้สนามบินแห่งนี้แล้ว ในต้นเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ กองกำลัง ๑๓๖ ก็ได้ส่งเครื่องบิน Dakota ขนยุทธสัมภาระมาทดลองลงที่สนามบินนี้ ปรากฏว่านักบินพอใจในลักษณะของสนามบินมากกว่าที่คาดไว้ เพราะสนามบินมีขนาดใหญ่ยาวพอ ไม่มีต้นไม้สูงบัง หรือ เกะกะทางวิ่งขึ้นลง พื้นดินแข็งพอที่จะรับน้ำหนักเครื่องบินและยุทธสัมภาระได้เป็นอย่างดี และฝ่ายเสรีไทยก็พอใจ เพราะจำนวนอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ส่งมาโดยทางเครื่องบินเช่นนี้มากกว่าที่ส่งมาทางทิ้งร่มมาก

คุณเตียง ศิริขันธ์ ตกลงให้ คุณจำลอง ดาวเรือง เป็นผู้สร้างสนามบินบ้านชาดนาคูเป็นสนามบินแห่งแรก เนื่องจากต้องคำนึงถึงความปลอดภัยจากหน่วยทหารญี่ปุ่น ที่สกลนครมีหน่วยทหารญี่ปุ่นประจำ มีการจ้างคนที่ติดยาเสพติดเป็นสายสืบความเคลื่อนไหวของหน่วยเสรีไทย เพราะฉะนั้นจึงต้องมาทดลองสร้างแห่งแรกที่บ้านชาดนาคูซึ่งอยู่ห่างจากเขตแดนระหว่างสกลนคร-กาฬสินธุ์ประมาณสิบกว่ากิโลเมตร อย่างไรก็ตาม ในจังหวัดสกลนคร คุณเตียง ศิริขันธ์ ได้หาทำเลที่จะสร้างสนามบินไว้สองแห่งที่บ้านเต่างอยแห่งหนึ่งและที่บ้านตาดภูวงอีกแห่งหนึ่ง

ความสำเร็จในการใช้สนามบินที่บ้านชาดนาคูนับเป็นสิ่งที่ให้กำลังใจแก่หน่วยเสรีไทยอีสานอย่างมาก และยังมีสนามบินลับอีกแห่งอยู่ที่บ้านตาดภูวงอยู่ในเขตสกลนคร แต่ค่อนข้างจะใกล้กับเขตจังหวัดอุดรธานี ในปัจจุบันอยู่ในเขตอำเกอวาริชภูมิ บริเวณนี้อยู่ในหน่วยเสรีไทยสายอเมริกัน คุณเตียงตัดสินใจสร้างสนามบินขึ้นที่บ้านตาดภูวง เพราะอยู่ไกลจากหน่วยทหารญี่ปุ่นอย่างหนึ่ง และเพราะเป็นการหาทางที่จะขออาวุธจากทางด้านอเมริกันอีกทางหนึ่ง

สนามบินแห่งนี้ลงมือสร้างมาก่อน แต่ไม่ได้ปรับที่ให้แน่นอย่างเต็มที่ แต่หลังจากที่เครื่องบิน Dakota ได้มาทดลองใช้สภาพที่บ้านชาดนาคูแล้ว การก่อสร้างได้เร่งมือและไม่ช้าก็อยู่ในสภาพที่เรียกว่าพอจะทดลองใช้ได้จากการตรวจสอบชั่วคราวของผู้ที่เกี่ยวข้อง สนามบินแห่งนี้มีลักษณะคล้ายกับสนามบินบ้านชาดนาคู มีภูเขาล้อมเกือบทุกด้าน ต้นไม้ใหญ่ตามทางที่เกะกะทางขึ้นลงถูกตัดออกไปทั้งหมด ทางวิ่งก็เข้าใจว่าจะพอเปรียบกันได้กับที่บ้านชาดนาคู

ญี่ปุ่นเองมิใช่ว่าจะหลับตา ในต้นเดือนกรกฎาคม ๒๔๘๘ หน่วยทหารญี่ปุ่นใช้เครื่องบินตรวจการบินอยู่ในระดับสูงอยู่ในบริเวณบ้านชาดนาคูและบินกลับไปกลับมาจนเป็นที่น่าสังเกต วันนั้นเป็นวันที่ทางหน่วยเสรีไทยที่บ้านชาดนาคูคอยรับเครื่องบินจากกองกำลัง ๑๓๖ อยู่แล้ว ท้องฟ้าวันนั้นค่อนข้างจะมีเมฆสลัว เวลายังเช้ากว่าที่ได้ตกลงไว้กับทางอินเดียมาก ดูเหมือนเวลาที่เครื่องบินจากกองกำลัง ๑๓๖ กำหนดจะมาถึงนั้นประมาณบ่ายโมงเศษ แต่เมื่อได้ยินเสียงเครื่องบินครั้งแรกในวันนั้นเป็นเวลาประมาณ ๑๐ นาฬิกา

 


จากซ้ายไปขวา แถวยืน ส.อ.กันเนอร์ (ช่างวิทยุ) ร.อ.กฤษ โตษะยานนท์, พ.ต.แคมป์*, ส.อ.ผู้ติดตาม (*มาปลดอาวุธทหารญี่ปุ่น)
จากซ้ายไปขวา แถวนั่ง พ.ต.สไมเลย์, เตียง ศิริขันธ์
ที่มา: หนังสือ ลับสุดยอด เมื่อข้าพเจ้าเป็นเสรีไทย กับ ขุนพลภูพาน เตียง ศิริขันธ์
ผู้เขียน: สวัสดิ์ ตราชู

 

วันนั้น คุณเตียง ศิริขันธ์ คุณกฤษ โตษยานนท์ อยู่ที่นั่น พันตรี Smiley และ สิบเอก Gunner เป็นทหารจากอินเดียที่อยู่ประจำหน่วยบ้านชาดนาคู ทุกคนสงสัยว่าเพราะเหตุใดเครื่องบินจึงมาก่อนกำหนด แต่เพราะว่าเครื่องบินญี่ปุ่นไม่เคยบินมาในบริเวณนั้นเลย และเกรงว่าอาจเป็นเครื่องบินของฝ่ายเรามาจากอินเดียจริงๆ ก็ได้ การใช้วิทยุถามนั้น ไม่มีทางทำได้ เพราะการใช้วิทยุนั้นต้องนัดล่วงหน้า และเวลาที่จะติดต่อกันครั้งต่อไปก็ในเช้าวันรุ่งขึ้น

ในที่สุด พวกเราได้รับคำสั่งให้จุดไฟสัญญาณ เราก่อไฟขึ้น ๔ กอง ที่มุมสนามบิน แล้วมีก่อไฟเป็นรูปตัวอักษรรหัสอีกตัวหนึ่ง (ซึ่งจำไม่ได้ว่าเป็นตัวอะไร) เอาใบไม้สดๆ มาสุมไฟให้มีควัน ทุกคนต่างออกมาจากค่ายที่พักกระจายกันเกือบทั่วสนามบินพิเศษของเรา

และแน่นอนที่สุด เพราะว่าเครื่องบินนั้นเป็นเครื่องบินตรวจการของญี่ปุ่น นักบินของญี่ปุ่นต้องเห็นสัญญาณอย่างแน่นอน เครื่องบินไม่ลดระดับลงมา พวกเราใช้กล้องส่องสองตาพยายามจะมองหาเครื่องบินแต่ก็ไม่เห็น ได้ยินแต่เสียงบินไปมาในระดับสูง หลังจากที่วนกลับไปกลับมาประมาณ ๑๕ นาทีแล้วก็เงียบไป

กองทัพญี่ปุ่นได้นำเอาเรื่องสนามบินและพฤติการณ์อันเป็นที่น่าสงสัยถามรัฐบาลไทยทันที รัฐบาลไทยได้ตอบไปอย่างไม่มีอะไรผิดปกติว่าที่นั่นเป็นสนามบินพาณิชย์มาก่อน และได้เลิกร้างไปแล้วร่วมสิบปี ในปัจจุบันเป็นเพียงทุ่งกว้างประชาชนอาจจะทำไร่ทำนาหรือใช้ประโยชน์อย่างใดไม่สามารถจะตอบยืนยันได้ทันที

เข้าใจว่าทางญี่ปุ่นไม่ยอมเชื่อ ที่จริงก็คงจะให้เขาเชื่อก็ลำบากสนามบินพาณิชย์สร้างขึ้นที่บ้านชาดนาคู ห่างไกลจากตัวเมืองขนาดนั้นดูเป็นการที่จะให้เชื่อได้ยาก แล้วก็ปรากฏว่าตั้งแต่นั้นมา เครื่องบินตรวจการของญี่ปุ่นจะออกบินตรวจการอยู่ในระดับสูงทั่วทั้งภาคอีสาน และในต้นเดือนสิงหาคม ๒๔๘๘ กองทัพญี่ปุ่นได้ยืนยันว่าได้พบสนามบินอีกแห่งหนึ่งในเขตภาคอีสาน ที่บ้านตาดภูวง เขตจังหวัดสกลนคร และขอให้ทางไทยอธิบาย

รัฐบาลไทยปฏิเสธ โดยอ้างว่าไม่มีสนามบินใดๆ ในบริเวณที่กองทัพญี่ปุ่นอ้างถึง แต่ฝ่ายญี่ปุ่นยืนยันจะมาตรวจ “โดยทางเครื่องบิน” และจะต้องมีทหารไทยร่วมคณะมาด้วย กำหนดจะเดินทางมาตรวจในเวลาอีกเพียงสองวัน ในขณะนั้นกองทหารญี่ปุ่นมีประจำอยู่ที่สกลนครนานแล้ว แต่ระยะทางจากหน่วยทหารหน่วยนั้นถึงบ้านตาดภูวงนั้นไกลกว่า ๘๐ กิโลเมตร และจำนวนทหารญี่ปุ่นที่มีอยู่ก็เพียงหยิบมือเดียว ถ้าหากต้องเผชิญหน้ากัน เรามั่นใจว่าทหารญี่ปุ่นจะไม่เหลือรอดไปแม้แต่คนเดียว แต่เราได้รับคำสั่งให้คอยจนกว่าจะได้รับคำสั่ง และเราจะทำอย่างอื่นไม่ได้

แม้แต่เรื่องสนามบินก็จำเป็นต้องหาทางปกปิด คุณเตียงนั่งซึม การที่จะทำลายสนามบินที่อุตส่าห์สร้างขึ้นมาด้วยหยาดเหงื่อของเสรีไทยนั้นเป็นสิ่งที่ทำลายจิตใจอย่างที่สุด และการทำลายสนามบินจะทำได้ด้วยวิธีใดก็ยังไม่รู้ด้วยซ้ำ แต่ในที่สุด เสรีไทยสองคนพี่น้อง ผู้ที่เคยเสียสละทุกสิ่งทุกอย่างเพื่องานเสรีไทยมาตั้งแต่แรกเริ่มก็เสนอความเห็นและขออาสาจัดการ “พราง” สนามบินแห่งนี้ สองคนนั้นคือ “สวาสดิ์ ตราชู” และน้องชายที่ชื่อ “สวัสดิ์ ตราชู”

 


จากซ้ายไปขวา สวัสดิ์ ตราชู, สนิท ประสิทธิ์พันธ์, สวาสดิ์ ตราชู
ที่มา: หนังสือ ลับสุดยอด เมื่อข้าพเจ้าเป็นเสรีไทย กับ ขุนพลภูพาน เตียง ศิริขันธ์
ผู้เขียน: สวัสดิ์ ตราชู

 

ผู้เป็นเจ้าความคิดในการนี้ได้แก่คุณสวาสดิ์ เขาเข้าไปหาคุณเตียง บอกว่า เขาขอคน ๕๐๐ คน และขอข้าวกล้าจำนวนหนึ่ง เขาจะเอาข้าวกล้าไปดำบนดินแห้งและแข็งที่เราทำขึ้นเป็นทางวิ่งขึ้นลงของเครื่องบินแห่งนั้นและเมื่อมองจากเครื่องบินแล้วจะนึกว่าเป็นนาจริงๆ (แม้ว่าจะไม่มีน้ำเลี้ยงข้าวเลย) คุณเตียงไม่อยากจะเชื่อว่าจะทำได้เพราะดินแข็งมาก แต่คุณสวาสดิ์ยืนยันว่าทำได้ ขอเวลาเพียงคืนเดียว คือ คืนก่อนหน้าวันที่เครื่องบินจะมาตรวจนั่นเอง

ในที่สุดคุณเตียงก็ยอม มีการสำรวจเนื้อที่บนสนามบินตรงที่จะ “ดำนา” ว่ามีขนาดเล็กใหญ่เพียงใด และจะต้องใช้ข้าวกล้ามากน้อยเพียงไหน ต่อจากนั้นก็มีการกว้านหาข้าวกล้าในบริเวณนั้นตามจำนวนที่ต้องการ คืนนั้นเป็นคืนข้างแรมตอนหัวค่ำเดือนยังไม่ขึ้น แต่คุณสวาสดิ์กะไว้แล้วว่าจะต้องคอยให้เดือนหงาย

พอตกกลางคืน ทุกคนเตรียมพร้อม ตกดึกเสรีไทยประมาณ ๕๐๐ คน ต่างก็ไปสู่สนามบิน ทุกคนมีไม้แข็งที่เสี้ยมแหลมเป็นเครื่องมือ มีไม้ค้อนสำหรับใช้ตอกไม้แหลมนั้นด้วย ถึงดินจะแข็งแต่ไม้ที่เสี้ยมไว้ก็สามารถตอกดินให้เป็นหลุมเล็กๆ พอที่จะเอาข้าวกล้าปักลงได้ต้นหนึ่ง ข้าวกล้าที่เตรียมไว้นั้นมีจำนวนมากพอ กว่าเดือนจะขึ้นก็ประมาณเที่ยงคืน ที่ต้องทำในตอนดึกก็เพราะรู้อยู่ว่าข้าวกล้าที่ดำลงไปนั้นไม่มีน้ำหล่อเลี้ยง ถ้าแดดจัดแล้วเพียงวันเดียวก็คออ่อนและแห้งตายหมด ถึงแดดจะไม่จัด ข้าวกล้าที่ดำลงบนดินแห้งก็คงอยู่ได้เพียงไม่กี่ชั่วโมง ทางที่ดีก็คือต้องคอยให้ดึกที่สุดเท่าที่จะทำได้

ในที่สุด กว่าเดือนจะขึ้นสูงพอและสว่างพอสมควรก็ประมาณตีสองหรือตีสาม ทุกคนลงมือทำงาน คนตอกหลุมก็ตอกไป คนปักต้นข้าวก็ปักไป และสนามบินแห่งนั้นกลายเป็น “นาด่วน” อย่างเรียบร้อยก่อนย่ำรุ่ง ทุกคนภาวนาอย่าให้มีแดดจัดในวันรุ่งขึ้น และขอให้เครื่องบินตรวจการของญี่ปุ่นมาตรวจแต่เช้า และก็เป็นบุญของฝ่ายเรา เครื่องบินของญี่ปุ่นมาตั้งแต่ประมาณสิบโมงเช้า ข้าวกล้าของเรายังคอตั้งอยู่เหมือนกับเป็นนาจริงๆ เครื่องบินบินผ่านไปมาหลายเที่ยวและประมาณสิบนาทีก็บินกลับไป และทราบว่าทางญี่ปุ่นยอมรับว่าไม่สงสัยเรื่องสนามบินแห่งนั้น

เหตุการณ์เกี่ยวกับเรื่องสนามบินบ้านชาดนาคูกับสนามบินบ้านตาดภูวงนั้น ห่างกันเพียงประมาณสามอาทิตย์ ที่จริงเราเองไม่ทราบว่าญี่ปุ่นยอมเชื่อคำแก้ตัวของเรามากแค่ไหน แต่เหตุการณ์เข้าข้างเรา เพราะในกลางเดือนสิงหาคมญี่ปุ่นก็ยอมแพ้ และเรื่องสนามบินทั้งสองแห่งก็เป็นเรื่องของความพยายามของฝ่ายเสรีไทยที่ได้พยายามทำเพื่ออุดมคติของเขา

พวกเสรีไทยที่บ้านตาดภูวงทุกคนจำเรื่องเปลี่ยนสนามบินให้เป็นนาข้าวภายในคืนเดียวนี้ได้ดี คุณสวาสดิ์ และ คุณสวัสดิ์ สองคนพี่น้องได้รับฉายาว่าเป็น “ชาวนาคืนเดียว” บ้าง “ชาวนาบนสนามบิน” บ้าง เป็นเรื่องในอดีตที่คุณสวาสดิ์และคุณสวัสดิ์ภูมิใจอยู่จนทุกวันนี้

 

ที่มา: หนังสือรำลึก 62 ปี วันสันติภาพไทย 16 สิงหาคม 2550 ณ อาคารเสรีไทยอนุสรณ์ สวนเสรีไทย กรุงเทพฯ หน้า 55-60