เหตุการณ์สังหาร ‘4 รัฐมนตรี’ อย่างโหดร้าย ได้แก่ นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ นายจำลอง ดาวเรือง นายถวิล อุดล และ ดร.ทองเปลว ชลภูมิ ซึ่งทั้งหมดมีความใกล้ชิดกับ ปรีดี พนมยงค์ นับเป็นการฆาตกรรมทางการเมืองที่อื้อฉาวที่สุดครั้งหนึ่ง และเป็นครั้งแรกๆ ที่ส่งผลต่อวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิดของสังคมไทยในเวลาต่อมา
การเถลิงอำนาจเผด็จการเช่นนี้ เป็นลักษณะสำคัญของแบบแผนทางการเมืองไทยกินเวลายาวนานตั้งแต่ทศวรรษ 2490-2500 ซึ่งเมื่อพิจารณาเหตุร้ายข้างต้น แล้วสวมเข้ากับบริบทของบ้านเมืองในเวลานั้นจะพบว่า เราไม่สามารถแยกการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 และกระบวนการถัดจากนั้นออกจากความพยายามทำลายขบวนการประชาธิปไตย โดยมีหนึ่งในกลุ่มพลังทางการเมืองคือ “ขบวนการเสรีไทย” เป็นเป้าหมายในการปราบปราม
ในงานคลาสสิกของ ‘ทักษ์ เฉลิมเตียรณ’ เสนอไว้ว่า การกำจัดศัตรูทางการเมืองในลักษณะนี้เกิดขึ้นหลังการปราบขบวนการประชาธิปไตย กุมภาพันธ์ 2492 ซึ่งคณะรัฐประหารเล็งเห็นถึงโอกาสในการกำจัดพวกเสรีไทย[1] ซึ่งแม้ว่าจากบันทึกของปรีดี พนมยงค์ เองจะอธิบาย ว่า ขบวนการเสรีไทยเป็นแต่เพียงกองหน้า (vanguard) ของปวงชนชาวไทยผู้รักชาติเท่านั้น[2] แต่ความกังวลของผู้ถืออำนาจในเวลานั้นที่เรียกว่าระบอบ “สฤษดิ์ ผิน เผ่า และ ป.” ก็ยังมองกลุ่มพลังนี้ในฐานะภัยคุกคามทางอำนาจ
ฉะนั้นจึงไม่น่าแปลกใจ ว่าเหตุใดขบวนการอันเป็นองค์กรที่สามารถระดมคนที่ความรู้ มีความสามารถและศักยภาพขนาดนี้ เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจกู้ชาติในสงครามโลก จึงถูกตามล่าและปราบปรามต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเสรีไทยสายอีสาน เพราะนอกจากการสังหาร ทองอินทร์ จำลอง ถวิล และ ทองเปลว ที่ทุ่งหลักสี่ ในเวลาไม่นานก็มีการสังหาร ‘เตียง ศิริขันธ์’ ผู้นำเสรีไทยสายอีสานอีกด้วย
เสรีไทยสายอีสานเคลื่อนไหวอย่างไร
มากกว่าภาพเสรีไทยเดินสวนสนามที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยกว่า 80,000 คน จากทั่วประเทศ ส่วนหนึ่งเป็นเสรีไทยสายอีสาน ข้อมูลทั่วไปที่รับทราบกัน คือ แกนนำเสรีไทยสายอีสาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักการเมืองที่เคารพนับถือปรีดี พนมยงค์ นั้นก่อตั้งในปี 2485 เมื่อเตียง ศิริขันธ์ ได้จัดประชุมเสรีไทยในโรงแรมตราชู จังหวัดอุดรธานี โดยมีนักการเมืองอีสานปีกที่สนับสนุนปรีดี พนมยงค์ ระดมมวลชนหลากหลายกลุ่มให้ทำบทบาทหลายอย่าง ตั้งแต่การหาข่าว การสร้างสนามบินลับ การลำเลียงอาวุธ หรือเวชภัณฑ์ เป็นต้น สิ่งที่น่ารู้เกี่ยวกับเสรีไทยสายอีสาน ที่ได้จากการค้นคว้าของสรศักดิ์ งามขจรกุลกิจ[3] ยังพบว่ามีลักษณะสำคัญ 2 ประการคือ
ประการแรก ขบวนการเสรีไทยที่มีจำนวนประมาณ 8,000 คน นอกจากนั้นยังมีค่ายฝึกจำนวนมากที่สุด โดยมีสมาชิกที่เข้าร่วมขบวนการถึง 3,000 คน สำหรับค่ายฝึกเสรีไทยขนาดใหญ่เป็นอันดับหนึ่งในอีสานตั้งอยู่ที่จังหวัดอุดรธานี โดยที่นั่นสามารถฝึกกำลังพล 800-1,000 คน จังหวัดสกลนครมีจำนวน 500 คน และจังหวัดอุบลราชธานี ฝึกไปทั้งหมด 3 รุ่น เป็นจำนวน 400 คน
ประการที่สอง คือ พื้นฐานของมวลชนที่เข้าร่วมขบวนการ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นนักการเมือง ร่วมกับข้าราชการระดับล่าง และชาวนา ชาวไร่ ขณะที่เสรีไทยในส่วนอื่น มักจะเป็นผู้มีการศึกษา นักการทูต นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ นักเรียนนอก พ่อค้า นักธุรกิจ
กล่าวได้ว่าปฏิบัติการในช่วงสงครามโลก ยังสามารถแบ่งเสรีไทยสายอีสานออกเป็นหลายกลุ่มตามบทบาทหน้าที่ ได้แก่ กลุ่มที่มีพื้นฐานที่ได้รับการศึกษาจะได้รับหน้าที่ดูแลหน่วยเป็นหลักหรือถูกส่งไปฝึกต่างประเทศ เช่น จารุบุตร เรืองสุวรรณ จากจังหวัดขอนแก่น
กลุ่มข้าราชการในพื้นที่ คอยทำหน้าที่ช่วยจัดตั้งศูนย์ฝึกให้แก่พลพรรคเสรีไทยในระดับท้องถิ่น เช่น ‘วิสุทธิ์ บุษยกุล’ จากจังหวัดสกลนคร ‘ดำริห์ บุณยประสิทธิ’ และ ‘ผดุง จัทรเบกษา’ จากจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งกลุ่มนี้เป็นกลุ่มผู้ใกล้ชิดนักการเมือง ขณะที่ผู้นำชาวนา ชาวไร่ ฯลฯ เช่น ‘ครอง จันดาวงศ์’ ‘ทองปาน วงศ์สง่า’ ดำเนินการเคลื่อนไหว อาทิ ระดมมวลชน ส่งข่าวจากส่วนกลางต่อภูมิภาค บริเวณเทือกเขาภูพานอันเป็นสถานที่ฝึกกำลังที่สำคัญแห่งหนึ่ง
โดยในกลุ่มของครองและทองปาน ทำงานร่วมกับกลุ่มกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เช่น ละเอียด อภิวาทนะศิริ เสรี นวลมณี สุรสี กองเสนา ที่ได้รับการฝึกโดยกองบัญชาการ ที่ 136 ของอังกฤษ ในเวลาต่อมามีการจัดตั้งหน่วยวิทยุจากจีน ในหมู่บ้านโพนก้างปลา จังหวัดสกลนคร มี ‘กระจ่าง ตุลารักษ์’ เป็นผู้คุม ‘สว่าง ตราชู’ และ ‘สัมฤทธิ์ ตราชู’ เป็นผู้ช่วย
โดยถัดจากนี้ จะเป็นการขยายการรับรู้ของเสรีไทยไปยัง สมาชิกที่ว่ากันว่ามีจำนวนมากจนเป็นฐานกำลังที่แข็งขันของเสรีไทยสายอีสาน คือ เสรีไทยสายชาวนา ซึ่งจากการค้นคว้าล่าสุดของ ‘ธันวา ใจเที่ยง’ ในชื่อหนังสือ อุดมการณ์ชาวนาอีสานในขบวนการเสรีไทย ตีพิมพ์ในปี 2564 ให้ภาพของบุคคลที่เข้าร่วมต่อสู้ที่ละเอียดมากยิ่งขึ้น
ภาพ: การฝึกเสรีไทยในชนบท
ที่มา: หนังสืออุดมการณ์ชาวนาอีสานในขบวนการเสรีไทย โดย ธันวาใจเที่ยง
จากรัฐมนตรีอีสานสู่มิตรสหายเสรีไทยสายชาวนา
ที่ผ่านมา แม้จะมีการรับรู้ว่าชาวนามีบทบาทและมีกำลังจำนวนไม่น้อย แต่แทบจะไม่เห็นเนื้อหนังชีวิตนักสู้เหล่านั้น นอกจากทราบแต่เพียงว่าเป็นมิตรสหายและพลพรรคเสรีไทยของครอง จันดาวงศ์ อดีตนักต่อสู้คนสำคัญ ดังที่เราจะเห็นตอนหนึ่งในชีวิตของครองว่า แม้เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจเพื่อกู้ชาติของขบวนการเสรีไทย ครองได้รับการเสนอจากเตียงให้กลับเข้ารับราชการดังเดิม แต่ครองก็ปฏิเสธและเลือกที่จะดำเนินชีวิตร่วมกับมิตรสหายชาวนาชาวไร่ ที่เป็นเสรีไทยต่อไป ทว่าหลังการรัฐประหาร 2490 นักการเมืองที่สนับสนุนปรีดี พนมยงค์ ถูกกวาดล้างอย่างหนัก ครองได้ช่วยเหลือเตียงหลบหนี โดยพาไปหลบภัยยังดงพระเจ้า ภูพาน[4]
ความเคลื่อนไหวของเสรีไทยสายชาวนาเหล่านี้ ช่วยทำให้เห็นว่า เหตุใดเมื่อ ‘จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์’ ทำการรัฐประหารในปี 2500 ยุทธศาสตร์ความมั่นคงของรัฐไทย จึงเข้มข้นขึ้นในการปราบปรามการเคลื่อนไหวของอีสาน ซึ่งแม้เพียงแค่การรวมกลุ่มเพื่อต่อรองเรื่องที่ดินทำกิน หรือเพื่อร้องเรียนให้แก้ไขปัญหาภัยแล้งหรืออุทกภัย ก็จะถูกรัฐมองว่า เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ โดยมีครองและมิตรสหายของเขาเป็นเป้า
ผลที่ตามมาจึงทำให้ทั้งเสรีไทยสายอีสานหลายคนและชาวนาโดยทั่วไปที่ไม่เคยเคลื่อนไหวกับเสรีไทยเลยแต่เคยใกล้ชิดกับนักการเมืองหัวก้าวหน้าอีสานก็ถูกจับกุมด้วยข้อหาร้ายแรงนั่นคือ “แบ่งแยกดินแดน” ในที่สุด หนึ่งในกรณีที่น่าจดจำนั้นคือการประหาร ‘ครอง จันดาวงศ์’ และ ‘ทองพันธ์ สุทธิมาศ’ และการจับกุมคนที่ทางการเห็นว่าเป็น “พวกพ้อง” ของครอง กว่า 148 คน
ข้อมูลจากการสัมภาษณ์และรวบรวมของ ‘ธันวา ใจเที่ยง’ เสนอว่า เสรีไทยสายชาวนานับเป็นกำลังหลักของขบวนการ เป็นทั้งนักรบ ผู้หาเสบียง และให้ความปลอดภัยแกนนำ โดยการหาสมาชิกกระทำไปโดยขยายเป็นเซลล์ไปเรื่อย ๆ จากหนึ่งเป็นสาม จากสามเป็นเก้า ไปเรื่อย ๆ โดยสมาชิกจะไม่รู้จักกันจะรู้จักเฉพาะพลพรรคที่ตนหามาเพียง 3 คน และชั้นเหนือตน 1 คนเท่านั้น นอกจากนั้นขบวนการเสรีไทยยังพบว่ามีผู้หญิงเข้าร่วมขบวนการด้วย เช่น ค่ายนาคู จังหวัดกาฬสินธุ์ (ในเวลานั้นยังอยู่ในเขตจังหวัดมหาสารคาม) คอยทำหนาที่ปฐมพยาบาล และการในดงพระเจ้า ที่เป็นการฝึกใช้อาวุธ
สิ่งที่น่าสนใจที่ได้จากข้อมูลของธันวา คือ เสรีไทยสายชาวนายังเป็นการรวบรวมกำลังคนจากกลุ่มชาติพันธุ์ เช่น ย้อ ภูไท และค่าใช้จ่ายในการดำเนินการต้องอาศัยเงินสวนตัวของผู้ปฏิบัติงานในหลายพื้นที่ เช่น อำเภอสว่างแดนดิน ที่เตียงและครองมีบทบาทเคลื่อนไหวสูง จนกล่าวได้ว่าในหลายพื้นที่โดยเฉพาะรอบๆ ภูพาน มีชาวนาเข้าร่วมเคลื่อนไหวกับเสรีไทยจำนวนมาก ซึ่งได้มีการรวบรวมรายชื่อเท่าที่ติดตามได้เพิ่มเติมเป็นจำนวนนับร้อยคน
ข้อมูลนี้สอดคล้องกับการออกแบบโครงสร้างขบวนการเสรีไทย ในช่วงสงครามโลก ซึ่งจากบันทึกของปรีดี ในฐานะรหัส “รูธ” แสดงให้เห็นว่า “รูธ” ในฐานะผู้นำสูงสุดของขบวนการเสรีไทย จะล่วงรู้ภาพรวมของยุทธศาสตร์และแผนยุทธการลับทั้งหมดของขบวนการใต้ดิน[5]
ถึงที่สุดนี่เป็นเพียงภาพหนึ่งในการศึกษา ที่รอคอยให้มีการสืบค้น ติดตามกันต่อไป เพื่อไม่ให้ชีวิตของนักสู้สามัญชนอีกมากมายสูญหายไปตามกาลเวลา
[1] ทักษ์ เฉลิมเตียรณ, การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2548), น.65-67
[3] สรศักดิ์ งามขจรกุลกิจ, ขบวนการเสรีไทยกับความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศไทย ระหว่าง พ.ศ. 2481-2492. (กรุงเทพฯ: สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย} 2535)
[5] อ่านเรื่องนี้ได้ในหนังสือ โมฆสงคราม: บันทึกสัจจะประวัติศาสตร์ที่ยังไม่เคยเปิดเผยของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์
- ฆาตกรรมทางการเมือง
- อิทธิพล โคตะมี
- สี่รัฐมนตรีอีสาน
- ปรีดี พนมยงค์
- หลวงประดิษฐ์มนูธรรม
- ขบวนการเสรีไทย
- ทองอินทร์ ภูริพัฒน์
- จำลอง ดาวเรือง
- ถวิล อุดล
- ทองเปลว ชลภูมิ
- ทักษ์ เฉลิมเตียรณ
- เตียง ศิริขันธ์
- ดำริห์ บุณยประสิทธิ
- ผดุง จัทรเบกษา
- วิสุทธิ์ บุษยกุล
- ครอง จันดาวงศ์
- ทองปาน วงศ์สง่า
- ละเอียด อภิวาทนะศิริ
- เสรี นวลมณี
- สุรสี กองเสนา
- กระจ่าง ตุลารักษ์
- เป็นผู้คุม
- สว่าง ตราชู
- สัมฤทธิ์ ตราชู
- ธันวา ใจเที่ยง
- สฤษดิ์ ธนะรัชต์
- ทองพันธ์ สุทธิมาศ