เช้าวันที่ 3 พฤษภาคม 2526 ครูองุ่นเดินร้องไห้ถือหนังสือพิมพ์ มติชน รายวันฉบับเช้าที่รายงานข่าว นายปรีดี พนมยงค์ ถึงแก่อสัญกรรม มาให้ คุณสินธุ์สวัสดิ์ ยอดบางเตย อ่าน
ครูองุ่น มีความศรัทธาและเลื่อมใสในอุดมการณ์ของนายปรีดี ที่เสียสละความสุขส่วนตน เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม จึงได้บริจาคที่ดินในซอยทองหล่อ จำนวน 371 ตารางวา เพื่อสร้างสถาบันปรีดี พนมยงค์ โดยร่วมพิธีวางศิลาฤกษ์ในวันที่ 10 ธันวาคม 2531
แผ่นป้ายจารึก ณ อาคารสถาบันปรีดี พนมยงค์ ความว่า
ณ วันที่ 12 กันยายน 2526 อาจารย์องุ่น มาลิก มูลนิธิไชยวนา ได้มอบที่ดินจำนวน 371 ตารางวาแห่งนี้ให้แก่มูลนิธิปรีดี พนมยงค์ เพื่อก่อสร้างอาคารสถาบันปรีดี พนมยงค์ สำหรับใช้ดำเนินกิจกรรมสร้างสรรค์อันเป็นประโยชน์ต่อสังคมและราษฎรไทย ตามที่นายปรีดี พนมยงค์ ห่วงใย
ปลายเดือนพฤษภาคม 2533 อาการโรคมะเร็งของครูองุ่นกำเริบหนัก กินอาหารได้น้อยมาก คุณสินธุ์สวัสดิ์ไม่ทราบจะปรึกษาใคร จึงนึกถึงชื่อผู้เขียน ทั้งๆ ที่ไม่สนิทสนมกัน คุณสินธุ์สวัสดิ์เล่าว่า เมื่อผู้เขียนทราบเรื่องแล้ว ได้รีบทำข้าวต้มใส่หม้อสเตนเลสเล็กๆ ขับรถไปที่บ้านครูทันที ครูองุ่นคงเห็นความตั้งใจของผู้เขียน จึงพยายามฝืนใจกินข้าวที่ผู้เขียนป้อนให้เองไปหลายคำ
ผู้เขียนไปเยี่ยมครูองุ่นอีกหลายครั้งและได้นำน้ำซุปผัก ข้าวต้มปลา และอื่นๆ ไปให้ครู จากนั้นเพียงไม่กี่วัน คุณสินธุ์สวัสดิ์ได้ส่งข่าวว่า อาการป่วยของครูเข้าขั้นวิกฤตแล้ว เพื่อไม่ให้ครูเจ็บปวดทรมานมากจนเกินไป ผู้เขียนจึงตัดสินใจร่วมกับคุณสินธุ์สวัสดิ์ เป็นธุระจัดการนำครูส่งโรงพยาบาลคามิเลียน
ภาพที่ผู้เขียนยังจำไม่ลืม คือ คุณสินธุ์สวัสดิ์อุ้มครูองุ่นขึ้นรถ ส่วนผู้เขียนเป็นคนขับรถพาครูไปโรงพยาบาลครั้งสุดท้าย
คุณสินธุ์สวัสดิ์บันทึกไว้ว่า เวลา 01.09 น. ของวันที่ 21 มิถุนายน 2533 ครูองุ่นได้สิ้นลมหายใจอย่างสงบตามกฎธรรมชาติ
คุณสินธุ์สวัสดิ์ยังได้บันทึกไว้ว่า นั่นเป็นภารกิจแรกที่ได้มีโอกาสทำร่วมกับผู้เขียน คือ ทำให้บั้นปลายชีวิตที่เต็มไปด้วยความเจ็บปวดจากโรคร้ายอันแสนทุกข์ทรมานของครูองุ่น ได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างถูกวิธี จนครูจากไปด้วยอาการไม่วิตกกังวลใดๆ ในที่สุด
ผู้เขียนภูมิใจที่ได้มีส่วนทำประโยชน์เล็กๆ ให้กับครูองุ่น มาลิก ในบั้นปลายชีวิตของครู
‘ครูองุ่น’ เป็นผู้มีคุณูปการอันใหญ่หลวงต่อสังคมไทย และมีปณิธานเพื่อชาติและราษฎรไทยตามอุดมการณ์ของ ‘นายปรีดี พนมยงค์’
“สถาบันปรีดี พนมยงค์” ที่ครูอุทิศที่ดินให้นั้น ได้ดำเนินกิจกรรมสร้างสรรค์อันเป็นประโยชน์ต่อสังคมและราษฎรไทยเป็นรูปธรรมมาอย่างต่อเนื่อง แม้การเปลี่ยนแปลงใด ๆ จะเกิดขึ้นตามความเป็นอนิจจังของสังคมและเหตุปัจจัยต่างๆ แต่สถาบันปรีดี พนมยงค์ ยังคงทำกิจกรรมตามปณิธานของผู้ก่อตั้งอย่างไม่เปลี่ยนแปลงและไม่มีวันสิ้นสุด
จนถึงวันนี้ อนุชนคนรุ่นใหม่ได้รับรู้ถึงผลงานของนายปรีดี พนมยงค์ เพิ่มมากขึ้น หลายคนได้รับทราบกิจกรรมต่างๆ ของสถาบันปรีดี พนมยงค์ ที่เคลื่อนไหวอยู่เสมอทาง Facebook : สถาบันปรีดี พนมยงค์ Pridi Banomyong Institute
ขอจบบันทึกนี้ด้วยคำไว้อาลัยของคุณแม่ (ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์) ถึงครูองุ่น มาลิก ดังนี้
เมื่อประมาณ ๕๐ ปีมานี้ ข้าพเจ้าได้ยินชื่ออาจารย์องุ่นในฐานะนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่สวยเก๋ ปราดเปรียว ทันสมัย เคยมีรูปลงหน้าปกหนังสือรายสัปดาห์ ต่อมาเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว ชื่อของเธอก็หายเงียบไป ได้ทราบว่ารับราชการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยอยู่จนเกษียณอายุ
ข้าพเจ้าเพิ่งมาพบอาจารย์องุ่นเมื่อเธอแสดงความจำนงบริจาคที่ดินในซอยทองหล่อให้กับมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ เพื่อสร้างสถาบันที่จะอำนวยประโยชน์แก่สังคมเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๖ อาจารย์องุ่นไม่เคยพบหรือรู้จักนายปรีดีเป็นส่วนตัวมาก่อน แต่มีความเลื่อมใสศรัทธาในอุดมการณ์ของท่านซึ่งอาจมีทัศนะตรงกันในเรื่องช่วยเหลือผู้ยากไร้
อาจารย์องุ่นที่ข้าพเจ้าพบนั้นเป็นคนสมถะ เรียบง่าย แต่งเนื้อแต่งตัวคล้ายชาวนาในชนบท และใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า สร้างละครหุ่นสำหรับให้การศึกษาแก่เด็กๆ ในย่านสลัมเพื่อสาธารณประโยชน์
อาจารย์องุ่นเป็นผู้มั่นในสัจธรรมของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยการประพฤติปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ... ใกล้จะละโลกนี้ไปก็ไม่หวั่นไหว มีสติและกำลังใจเข้มแข็ง ปรารถนาจะให้งานที่เธอริเริ่มไว้สำเร็จสมความมุ่งหมาย
ข้าพเจ้ามีความเสียดายและอาลัยอย่างยิ่งในการจากไปของเธอ ซึ่งข้าพเจ้าขอยกย่องให้เธอเป็นคนดีศรีสังคม ขอให้กุศลกรรมที่เธอได้บำเพ็ญมาเกือบตลอดอายุขัย จงบันดาลให้เธอประสบความสุขสงบในสัมปรายภพ และอยู่ในความทรงจำของบรรดาศิษย์และมิตรสหายตลอดกาล
พูนศุข พนมยงค์
บ้านซอยสวนพลู