ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

รำลึก ครูองุ่น มาลิก ดอกไม้กลางใจชน

5
เมษายน
2567

5 เมษายน ปี 2567 ในวาระ 107 ปี ชาตกาลของครูองุ่น มาลิก ผู้มีเจตจำนงทางสังคมว่า  “การผูกพันเป็นหนึ่งเดียวกับการสร้างสรรค์สังคมให้ดีงาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการได้ช่วยเหลือเกื้อกูลผู้เสียเปรียบในสังคมให้ตระหนักคุณค่าแห่งตนได้มี โอกาสพัฒนาคุณภาพชีวิต” และก่อนจากไปเพียงไม่กี่วัน ครูองุ่นยังกล่าวว่า 

“...อยากให้สังคมมีความยุติธรรม เปิดโอกาสให้เด็กๆ เรียนรู้ในสิ่งดีงาม เพื่อเขาจะเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณธรรม มีคุณภาพ สามารถทำคุณประโยชน์ให้กับสังคม อย่างรัฐบุรุษท่านปรีดี พนมยงค์ ที่เป็นแบบอย่างแห่งความเสียสละเพื่อประเทศชาติ

บทความนี้ ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ได้เขียนบันทึกความทรงจำถึงครูองุ่นในช่วงเวลาที่ทั้งสองท่านพบกันสมัยเป็นอาจารย์ประจำ ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเล่าถึง “การเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อรักษาดอกผลของการปฏิวัติตุลาคม 2516” ราว พ.ศ. 2518 ไว้อย่างละเอียดเพื่อเปิดมุมมองของการก่อร่างอุดมคติเพื่อสังคม และเจตจำนงชีวิตของครูองุ่น มาลิก

 

ดอกไม้กลางใจชน[1]

 


ครูองุ่น มาลิก (พ.ศ. 2460-2533)

 

ประวัติชีวิตของครูองุ่น เป็นเรื่องน่าศึกษาอย่างยิ่ง ครูไม่ใช่คนมีชื่อเสียงใหญ่โต ที่คนทั่วไปรู้จักเพราะมีหรือเกี่ยวข้องกับอำนาจ ยศศักดิ์ ฐานะ และการมีชื่อเสียงในแวดวงไฮโซและสื่อมวลชน หากแต่ครูองุ่นเป็นคนเล็กๆ ที่ทำงานตามความเชื่อและศรัทธา อันเกิดจากปัญญาและการฝึกฝนหล่อหลอมตนเองมาอย่างหนัก เอาจริงเอาจัง

กล่าวได้ว่า ทั้งในด้านรูป และนามรวมถึงจิตใจ ครูองุ่นสมควรได้รับการจารึกในแผ่นดินนี้ ว่าเป็นแบบฉบับของคนที่สมบูรณ์ของพลเมืองที่เปี่ยมด้วยคุณภาพของปุถุชนที่รับรู้โลก และต้องการเปลี่ยนแปลงโลกนี้ให้ดีขึ้น สัจธรรมดังกล่าวจึงทำให้ครูองุ่นกลายเป็นนักต่อสู้ที่มีจุดยืนเพื่อมวลประชาชนไป โดยที่ไม่จำเป็นว่าจะต้องเข้าใจและคิดเห็นเหมือนอย่างนักเคลื่อนไหวเดือนตุลาทั้งหลายเสียหมด

ผมก็เช่นเดียวกับ “คนรุ่นใหม่” สมัยโน้น ที่เข้ามารู้จักกับ ครูองุ่น มาลิก เพราะกิจกรรม และการเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อรักษาดอกผลของการปฏิวัติตุลาคม 2516 เอาไว้

ผมปิดฉากการทำงานที่สังคมศาสตร์ปริทัศน์รายเดือน ในปี พ.ศ. 2518 หลังจากได้รับการชักชวนและรับปากเป็นมั่นเป็นเหมาะจากอาจารย์แถมสุข นุ่มนนท์ ซึ่งขณะนั้นเป็นหัวหน้าภาควิชาประวัติศาสตร์ในคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ว่าทางภาคยินดีรับผมเป็นอาจารย์ค่อนข้างแน่นอน แม้ผมจะเรียนวิชาเอกมาทางด้านรัฐศาสตร์ก็ตาม ณ คณะมนุษยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่นั่นเอง ที่ผมได้พบและรู้จักครูองุ่น มาลิกที่ในขณะนั้นเป็นอาจารย์สอนอยู่ในภาควิชาจิตวิทยา

 


ครูองุ่น มาลิกกับการแต่งกายเรียบง่าย

 

ภาพประทับใจแรกๆ ที่จำได้คือความเป็นตัวของตัวเองและเป็นอิสระของท่าน แน่นอนที่เห็นง่ายคือการแต่งกาย ครูองุ่นเป็นอาจารย์คนเดียวในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่สมัยโน้นที่นุ่งโสร่ง สวมเสื้อชาวนาสีน้ำเงินกรอมแขนมาทำงาน สวมหมวกสานอีกด้วย หลังจากนั้นอีกหลายปีต่อมาข้าราชการในเชียงใหม่ก็จะมีการแต่งกายชุดพื้นเมืองมาทำงานทุกวันศุกร์ แต่เป็นซิ่นและเสื้อที่สวยงามทันสมัยไม่ใช่แบบชาวนา แต่นั่นไม่ใช่เรื่องสำคัญอะไรหนักหนาของการรู้จักครูองุ่น

ที่ติดตาติดใจมากกว่าคือ ครูองุ่นเป็นคนแรกๆ ที่เข้ามานั่งฟังการอภิปรายและเสวนาในห้องเรียนหรือห้องประชุมในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยจะนั่งในบริเวณแถวแรกๆ ตั้งแต่ก่อนการอภิปรายจนถึงเสร็จสิ้น การอภิปรายของนักศึกษามักจะจัดตอนเย็นหลังอาหารไปจนถึงกลางคืน...หัวข้อของการอภิปรายในตอนนั้นก็หนีไม่พ้นปัญหาทางการเมือง เช่น การต่อต้านเท็มโก้ (บริษัทเหมืองแร่ในภาคใต้)

การต่อต้านการฆ่าผู้นำชาวนา การจับกุมนักศึกษาและชาวนา การต่อต้านฐานทัพอเมริกา การเรียกร้องความเป็นธรรมในเรื่องค่าเช่าที่ดิน ฯลฯ กล่าวได้ว่าครูองุ่นในระหว่างปี 2518-2519 อันเป็นช่วงที่ผมอยู่และรู้จักครูนั้น ท่านเป็นแนวหลังผู้สนับสนุนการเคลื่อนไหวทำงานเพื่อสังคม และการเมืองของนักศึกษาและอาจารย์เชียงใหม่อย่างสุดจิตสุดใจ เป็นการสนับสนุนที่ไม่มีผลประโยชน์ไม่ว่าจะในแง่ของการได้รับชื่อเสียง หรือเพราะตนเชื่ออย่างนั้นก็เห็นด้วยที่มีคนทำเหมือนที่ตัวคิดและต้องการ

ผมเข้าใจว่าครูองุ่นมอบมิตรจิต และความเมตตาอารีย์ต่อพวกเราอย่างเต็มที่ด้วย ความเชื่อมั่นและศรัทธาในการทำงานอุทิศตนเพื่อคนส่วนใหญ่ที่ยากจนและเพื่อสิ่งที่เรียกว่า “ความดี” ในโลกนี้ ดังนั้น ครูองุ่นจึงสามารถแต่งตัวและพูดอย่างที่คิดและเชื่อได้อย่างเต็มปาก โดยไม่ต้องพะวงและกังวลว่าใคร ไม่ว่าจะเป็นทางการ ฝ่ายทหาร ตำรวจและกระทั่งฝ่ายบริหารของมหาวิทยาลัยเองที่จะตีตราครูว่าเป็น พวก “แดง” หรืออย่างน้อยก็ “สีชมพู” คือเป็นคอมมิวนิสต์ หรือไม่ก็พวกแนวร่วมหรือผู้สนับสนุนคอมมิวนิสต์ซึ่งเป็นข้อหาอันรุนแรงฉกาจฉกรรจ์ยิ่งในตอนนั้น

หลังกรณี 6 ตุลาคม 2519 อำนาจรัฐได้ทำบาปกรรมต่อครูองุ่นด้วยการ “เรียกตัวไปอบรม” ที่ศูนย์การุณยเทพ ข้อหาว่าเป็นภัยต่อสังคม นี่คือท่าทีและการปฏิบัติของรัฐและทางการต่อพลเมืองผู้มีคุณภาพและคุณธรรมยิ่งคนหนึ่ง ครูองุ่นมีห้องพักอาจารย์อยู่ห้องหนึ่งในหอพักชาย 1 เป็นห้องใหญ่มีห้องน้ำพร้อมและอยู่ในทำเลที่สวยงามสงบ ต่อมาเมื่อครูทราบว่ามีอาจารย์ใหม่มาจากกรุงเทพฯ ยังไม่มีห้องพักอาศัยจึงยกห้องนี้ให้ไป แทนที่จะเก็บไว้สำหรับตัวเอง อาจารย์จิ๋ว พิทักษ์ ธวัชชัยนันท์ จึงเข้ามาป็นเจ้าของห้องพร้อมกับการเข้ามาของบรรดานักศึกษากิจกรรมจากศูนย์กลางนักศึกษาภาคเหนือ

และจากห้องนี้เองที่หนังสือพิมพ์ “ชาวนาไทย” ของสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ภาคเหนือ โดยมีพ่อหลวงอินถา ศรีบุญเรือง เป็นบรรณาธิการ ได้ตีพิมพ์ออกมาหนังสือพิมพ์ “ชาวนาไทย” มีเพียงฉบับเดียว หลังจากนั้นไม่นานพ่อหลวงอินถา ศรีบุญเรืองก็ถูกลอบสังหารเสียชีวิตไป (เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2518)

ครูองุ่น มาลิก ยังได้ยกบ้าน ‘สวนอัญญา’ ให้เป็นที่พักและทำงานของนักกิจกรรมภาคเหนือ และใช้โฉนดที่ดินแห่งนี้ซึ่งอยู่ข้างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันนักศึกษาที่ถูกจับกุมในการเคลื่อนไหวทางการเมือง ครูยังได้ออกค่ายพัฒนาชนบทร่วมกับบรรดานักศึกษาอย่างแข็งขัน แต่ครูองุ่นไม่ได้มีแต่ด้าน ‘แดง’ หรือ ‘แรง’ เพียงด้านเดียว ตรงกันข้าม ผมคิดว่าครูองุ่นมีความเป็นมนุษย์ปุถุชนที่มีชีวิตอันเป็นจริงอยู่มาก หากเป็นชีวิตที่มีสติและปัญญาที่มีความรักและความเข้าใจในโลกและมนุษย์อย่างมาก

ทุกครั้งที่มีโอกาสได้พูดคุยกันนานสักหน่อย ผมไม่เคยได้พูดคุยเรื่องการเมืองอะไรกับครูองุ่นเลย ผมพบว่าครูมีเรื่องและสิ่งดีๆ น่าคิดน่าทำอยู่มากมาย เกินกว่าที่จะเสียเวลาไปนั่งพูดเรื่องของความชั่วร้ายและสิ่งบั่นทอนความเป็นคนของเราลงไปทุกเมื่อเชื่อวัน ครั้งหนึ่งผมพบครูที่โต๊ะกินข้าวในหอพักชาย 1 แปลกที่ผมจำเรื่องราวที่เราคุยกันวันนั้นได้สนิทใจยิ่งนัก ทั้งๆ ที่เรื่องคุยกันนั้นเรียกว่าไม่เป็นเรื่องการเมืองอะไรเลย มิหนำซ้ำอาจถูกวิพากษ์จากมิตรและสหายร่วมขบวนการว่าเป็นพวกปัญญาชนนายทุนน้อยอีกด้วย

ครูเล่าประสบการณ์ที่ประทับใจสมัยไปเรียนต่อเมืองนอก เล่าถึงการเดินทางที่ไปเที่ยวยุโรปที่ประทับใจยิ่ง คือ ออสเตรีย เวลาค่ำก็ไปกินอาหารในภัตตาคารมีนักดนตรีเล่นเพลงคลาสสิคคลออยู่ แล้วก็มีหนุ่มออสเตรียมานั่งคุยด้วย เขาเชิญออกไปเต้นรำ ครูยิ้มละไมตามธรรมชาติ ดวงตาสดใส มีความสดชื่น และอิ่มเอมราวกับหยดน้ำกลิ้งอยู่บนใบบัวยามแสงอรุณยามเช้าสาดแสงอ่อนๆ ลงมาจับ

แล้วฟ้าก็ผ่าลงมาในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 พวกเรากระเด็นกระดอนไปตามเส้นทาง บ้างก็เสียชีวิต บ้างก็ค้นพบชีวิตใหม่ หลายคนไม่ต้องการชีวิตใหม่อีกต่อไป มันเป็นมหากาพย์ฉบับราษฎรของรัตนโกสินทร์ปลายยุคสมัย เป็นความโชคร้ายของสังคมไทยก็ว่าได้ที่เราไม่อาจเปิดช่อง และให้โอกาสกับความคิดและการประพฤติปฏิบัติที่ทำไปเพื่อคนเสียเปรียบอย่างที่เป็นธรรม และเสมอภาคมีศักดิ์ศรีแห่งความเป็นคนเหมือนกันได้เข้ามาเป็นภูมิปัญญาแห่งชาติบ้าง เราพอใจหรือที่จะให้คนที่เล็กกว่าออกปากขอความช่วยเหลือ (ขอทาน) เพื่อที่คนใหญ่กว่าจะได้รู้สึกถึงบุญคุณ มากกว่าที่จะเห็นพวกเขายืนขึ้นมาอย่างเสรีชน ผมไม่ได้รู้ข่าวคราวของครูองุ่นอีกเลย กระทั่งครูเสียชีวิตไปแล้วเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2533

ขณะนั้นผมยังไม่ได้กลับมา มาทราบข่าวจากเพื่อนที่ มช. ก็ในหลายเดือนต่อมา ความทรงจำเหล่านั้นนำความเศร้า อาลัย และความถวิลหาถึงอดีต - มูลเหตุและปัจจัยของอดีตเหล่านั้นที่ยังประกอบเป็นตัวตนหรือชีวิตให้ หวนกลับมาอีกวาระหนึ่ง

 

หมายเหตุ :

  • “ตอนจบบทความ แสดงว่าผมยังไมได้ออกจากเขตป่าเขากับพรรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) เกือบจะออกมาแล้ว และหลังออกมาแล้ว ไปเรียนต่อที่อเมริกาจึงได้เขียนบทความนี้ ตอนที่ผมพบอาจารย์องุ่นที่ มช. ผมอายุ 28 ปี” [ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ, เมษายน 2567]

บรรณานุกรม

หนังสือและบทความ :

  • ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ, “รำลึก ครูองุ่น มาลิก ดอกไม้กลางใจชน”, เนชั่นสุดสัปดาห์, ปีที่ 8 ฉบับที่ 367 วันที่ 17-23 มิถุนายน 2542.
  • รุ่งวิทย์ สุวรรณอภิชน. “อาจารย์องุ่น มาลิก กับนักศึกษา มช.” ใน นักธรณีวิทยามาเป็นนักเขียน 60 ปี รุ่งวิทย์ สุวรรณอภิชน. กรุงเทพฯ: บ้านมงคล, 2554.

สื่ออิเล็กทรอนิกส์ :

 

ภาคผนวก :

ชีวประวัติย่อของครูองุ่น มาลิก[2]

 


ครูองุ่น มาลิก (พ.ศ. 2460-2533)

 

“ครูองุ่น มาลิก” เกิดวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2460  เป็นบุตรคนที่สองของพระรุกขชาติบริรักษ์ กับนางบู่ สุวรรณมาลิก พระรุกขชาติบริรักษ์เป็นช่างหลวงในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เป็นช่างหลวงผู้หนึ่งที่มีหน้าที่สร้างดุสิตธานีตามพระราชประสงค์ ต่อมาในต้นรัชสมัยรัชกาลที่ 7 สยามประเทศได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกอันสืบเนื่องมาจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ส่งผลบิดาของครูองุ่นจึงถูกดุลออกจากราชการ

ในปี 2477 เมื่อครูองุ่นเรียนจบมัธยมปลาย ได้เข้าเรียนต่อเป็นนิสิตรุ่นที่ 3 ของคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระหว่างเป็นนิสิตด้วยรูปร่างหน้าตาสะสวยโดดเด่น พูดจาตอบโต้คล่องแคล่วทันสมัยจนได้รับคัดเลือกให้เป็นดาวจุฬาฯ และภาพถ่ายของเธอถูกนำขึ้นปกนิตยสารหลายหน เมื่อสำเร็จการศึกษาจึงมีผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ไทยทาบทามให้ไปแสดงภาพยนตร์ในบทนางเอกอยู่หลายครั้งแต่เธอตอบปฏิเสธ

 


ครูองุ่น มาลิก ขณะเรียนปริญญาโท ที่มหาวิทยาลัยอิลินอยส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา
(ภาพ : มูลนิธิไชยวนา)

 

ปี 2481 ครูองุ่นจบการศึกษาจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วเริ่มทำงานที่โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ ถนนบำรุงเมือง โดยใช้ชื่อนามว่า ‘คุณหญิงศรีบัญชา’ และได้เข้ารับการอบรมหลักสูตรวิชาสังคมศาสตร์สำหรับอาชีพครู โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ (เตรียมอุดม) อบรมหลักสูตรภาษาอังกฤษสำหรับอาชีพครูที่ A.U.A. และเข้ารับการอบรมหลักสูตรสาขาบรรณารักษ์ภาคฤดูร้อน และช่วงปี 2500 ถึง 2502 เข้าอบรมภาคฤดูร้อนและเป็นนักศึกษาภาคค่ำที่วิทยาลัยวิชาการศึกษา ต่อมาในปี 2503 ได้เข้าเรียนคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำเร็จเป็นบัณฑิตรุ่นแรก

กระทั่งในปี 2505 จึงเดินทางไปศึกษาที่มหาวิทยาลัยฮาวาย ประเทศสหรัฐอเมริกา และปี 2508 ได้สำเร็จการศึกษาปริญญาโท ด้านจิตวิทยาที่เออร์บานา มหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา

ส่วนการงานแห่งชีวิต ครูองุ่นมีอาชีพและจิตวิญญาณเป็นครูมาโดยตลอด รวมชีวิตความเป็นครู-อาจารย์ ทั้งในรั้วโรงเรียนและรั้วมหาวิทยาลัย ระหว่างปี 2482– 2521 เกือบ 40 ปี

ปี 2482-2486 ครูองุ่นทำงานเป็นครูสอนวิชาภาษาอังกฤษที่โรงเรียนเขมะสิรินุสรณ์ กรุงเทพฯ จากนั้นในปี 2488-2497 ก็เป็นครูสอนวิชาภาษาอังกฤษที่โรงเรียนสุกิจวิทยา กรุงเทพฯ

​ปี 2500–2501 ครูองุ่นทำงานเป็นครูสอนวิชาภาษาอังกฤษ ที่โรงเรียนวัดธาตุทอง พระโขนง และระหว่างนั้นจนถึงปี 2502 ยังเข้าอบรมภาคฤดูร้อนและเป็นนักศึกษาภาคค่ำที่วิทยาลัยวิชาการศึกษาจนเรียนจบเป็นนิสิตรุ่นแรก คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วทำงานเป็นผู้ช่วยฝ่ายศึกษาวิจัย แผนกวิจัยการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


ครูองุ่น มาลิก  (ภาพ : มูลนิธิไชยวนา)

 

ส่วนในงานที่เกี่ยวกับหนังสือ ครูองุ่นเคยเป็นผู้สื่อข่าวและนักเขียนหนังสือพิมพ์สยามนิกร รองบรรณาธิการนิตยสารรายสัปดาห์ดรุณสาร รวมถึงรับผิดชอบคอลัมน์สโมสรปรียาในนิตยสารสตรีสาร ตั้งแต่ปี 2500 โดยปรากฏข้อเขียนของเธอในที่ต่างๆ รวมทั้งผลงานแปลนิทานสำหรับเยาวชนและบทความจิตวิทยาครอบครัว

หลังเรียนจบภาคพิเศษของคณะครุศาสตร์ และทดลองทำงานเป็นนักวิจัยอยู่ระยะหนึ่ง ก่อนไปเรียนจบด้านจิตวิทยาที่สหรัฐอเมริกา ปี 2507-2509 ครูองุ่นตัดสินใจเข้าเป็นอาจารย์ที่คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมกับเป็นอาจารย์สอนภาษาอังกฤษที่มหาวิทยาลัยศิลปากร

ปี 2510 ครูองุ่นตัดสินใจเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาจิตวิทยา คณะมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีบุคลิกที่แตกต่างไปจากอาจารย์มหาวิทยาลัยในสมัยนั้นคือ ชอบใส่เสื้อผ้าที่เย็บเอง สะพายย่าม นุ่งผ้าถุง เสื้อแขนกระบอกเหมือนชาวบ้านทั่วไปมากกว่าอาจารย์มหาวิทยาลัย

ในช่วงที่อยู่จังหวัดเชียงใหม่เป็นระยะการเมืองคุกรุ่นของยุคหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา ครูองุ่นมักปรากฏตัวในกิจกรรมของนักศึกษา ทั้งการประท้วงทางการเมือง เวทีอภิปราย การแสดงละคร กิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ รวมไปถึงเวลามีความขัดแย้งกับผู้บริหารของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำให้เป็นที่รู้จักกันในหมู่นักศึกษาที่เป็นนักเคลื่อนไหวโดยเฉพาะกลุ่มนักเขียนหัวก้าวหน้าของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในสมัยนั้น กระทั่งหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ครูองุ่นได้ถูกจับควบคุมตัวเข้าศูนย์การุณยเทพ จังหวัดเชียงใหม่ (ปัจจุบันคือสำนักงานสันติบาล เชียงใหม่) เพื่อกักกันและอบรมความประพฤติ

ปี 2521 ครูองุ่นเกษียณราชการในตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ และกลับมาอยู่บ้านซอยทองหล่อ ถนนสุขุมวิท 55 แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ ถาวร มีงานอดิเรก คือ การทำหุ่นเชิดมือจากเศษผ้า ที่ทำตั้งแต่เมื่อเป็นอาจารย์สอนที่คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แล้วมีลูกศิษย์หลายคนมายืมไปจัดกิจกรรมให้เด็กผู้ด้อยโอกาสเมื่อได้กลับมาอยู่ที่บ้านซอยทองหล่อจึงทำหุ่นเชิดมือพร้อมกับทำกิจกรรมทางสังคมอื่น

 


ครูองุ่น มาลิก กับหุ่นผ้าขี้ริ้ว คณะละครหุ่นครูองุ่น (ภาพ : มูลนิธิไชยวนา)

 

ต่อมาในปี 2524 ครูองุ่นได้ก่อตั้ง “มูลนิธิไชยวนา” เพื่อช่วยเหลือเด็กและเยาวชนผู้ด้อยโอกาสและส่งเสริมงานศิลปวัฒนธรรมโดยใช้บ้านเป็นสำนักงาน กระทั่งกิตติศัพท์การสร้างสรรค์หุ่นเชิดมือของครูองุ่น มาลิก แพร่กระจายไปในหมู่นักพัฒนาสังคม ครู อาจารย์และผู้สนใจทั่วไป จึงมีผู้มาหาเพื่อขอหุ่นเชิดมือไปให้เด็กและเยาวชนในชนบท มีอาจารย์พานักเรียน นักศึกษามาเรียนการทำหุ่นเชิดมือจากเธอและฝึกเชิดฝึกแสดงไปด้วย เธอเรียกหุ่นเชิดมือที่เธอสร้างขึ้นมาว่า “หุ่นผ้าขี้ริ้ว” แต่ในความเป็นจริงเธอใช้ผ้าสวยงามหลายชนิด

เมื่อครูองุ่นทราบข่าวการถึงแก่อสัญกรรมของนายปรีดี พนมยงค์ ณ บ้านอองโตนี ชานกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2526 จึงปรารภกับลูกศิษย์ และตัดสินใจยกที่ดินหนึ่งแปลงจำนวน 371 ตารางวา ในซอยทองหล่อติดกับบ้านพักของเธอให้แก่มูลนิธิปรีดี พนมยงค์ ให้จัดสร้างเป็นสถาบันปรีดี พนมยงค์ เพื่อดำเนินกิจกรรมเผยแพร่แนวความคิดอุดมการณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของนายปรีดี พนมยงค์

ต้นเดือนมิถุนายน 2533 ครูองุ่นเคยกล่าวถึงนายปรีดีไว้ว่า

“...อยากให้สังคมมีความยุติธรรม เปิดโอกาสให้เด็กๆ เรียนรู้ในสิ่งดีงาม เพื่อเขาจะเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณธรรม มีคุณภาพ สามารถทำคุณประโยชน์ให้กับสังคม อย่างรัฐบุรุษท่านปรีดี พนมยงค์ ที่เป็นแบบอย่างแห่งความเสียสละเพื่อประเทศชาติ

“ครูองุ่น มาลิก” ถึงแก่กรรมลงเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2533 สิริอายุรวม 73 ปี ขณะที่ “สถาบันปรีดี พนมยงค์” เปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2538 โดยยังคงสืบสานปณิธานตามเจตนารมณ์ของนายปรีดี พนมยงค์ และครูองุ่น มาลิก จวบจนปัจจุบัน

 


[1] ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ, “รำลึก ครูองุ่น มาลิก ดอกไม้กลางใจชน”, เนชั่นสุดสัปดาห์, ปีที่ 8 ฉบับที่ 367 วันที่ 17-23 มิถุนายน 2542.

[2] นลธวัช มะชัย. (28 ตุลาคม 2563). ครูองุ่น มาลิก: รำลึก 30 ปีที่จากไป. https://www.thaitheatre.org/article-entries/kru-angoon