ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

ปวัตติยานุกรมหนังสือชีวประวัติ “ปรีดี พนมยงค์ (พ.ศ.๒๔๔๓-๒๕๒๖)” : ตอนที่ ๔

30
พฤษภาคม
2563

ตอน ๔

ทัศนะต่อท่านปรีดีจากมิตรและบุคคลที่รู้จัก

“สุลักษณ์ ศิวรักษ์” จากปฏิปักษ์สู่กัลยาณมิตร 

“ที่ข้าพเจ้าถูกกล่าวหาว่าเป็นเจ้าเข้าเจ้าของนายปรีดีนั้น ข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นเกียรติ โดยเฉพาะก็ขณะเมื่อชนชั้นปกครองที่อาสัตย์อาธรรม์ไม่ต้องการท่านผู้นั้น ทั้งๆที่รู้ว่าท่านบริสุทธิ์และยุติธรรม” ส.ศิวรักษ์

บทบาทของสุลักษณ์ที่เริ่มแสดงความเป็นปฏิปักษ์กับนายปรีดีเริ่มจากบทวิจารณ์หนังสือ The Devil’s Discus (กงจักรปีศาจ)[1] ในสังคมศาสตร์ปริทรรศน์ฉบับปฐมฤกษ์ปี ๑ เล่ม ๑ พ.ศ.๒๕๐๗ งานในสวนอักษรชิ้นนี้สร้างความโสมนัสต่อฝ่ายอนุรักษ์นิยมอย่างสูง ในทางกลับกันนำความโทมนัสมาสู่ผู้สนับสนุนปรีดีจนเป็นเหตุให้สุลักษณ์ถูกพะยี่ห้อ “ว่าเป็นพวกเจ้า พวกศักดินา” กระทั่งในปีที่นายปรีดีย้ายมาฝรั่งเศสอีกหลายปีต่อมา สังคมศาสตร์ปริทรรศน์ นับเป็นนิตยสารสำหรับปัญญาชนและสนามประลองน้ำหมึกของนักคิดนักเขียนหัวก้าวหน้าสมัยนั้น โดยสุลักษณ์คงบทบาทเป็นบรรณาธิการเมื่อแรกเริ่มก่อนโอนถ่ายให้ สุชาติ สวัสดิ์ศรี ดูแลในเวลาต่อมา สุลักษณ์รำพึงถึงกระแสตอบรับบทความนั้นไว้ว่า “ข้าพเจ้ามาทราบเมื่อภายหลัง จากนายป๋วย อึ๊งภากรณ์ ว่านายปรีดีเองก็แค้นเคืองข้าพเจ้ามากที่วิจารณ์งานชิ้นนั้นอย่างมีอคติ...” จนเมื่อมาพบ ดร.เดือน บุนนาค (ผู้เขียนประวัติปรีดี พ.ศ.๒๕๐๐) ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยในงานเลี้ยงคืนหนึ่งนายเดือนได้เล่าให้ฟังถึงสรรพคุณของนายปรีดี ถึงแม้สุลักษณ์จะเคยอ่านหนังสือของเดือนเรื่องปรีดีเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๑ แต่ก็สารภาพว่ายังตกอยู่ภายใต้มิจฉาทิฐิและอิทธิพลของหนังสือเครือสยามรัฐ สุลักษณ์ยังกล่าวถึงบทความของปรีดี บางเรื่องเกี่ยวกับการก่อตั้งคณะราษฎร และระบอบประชาธิปไตย (๒๕๑๕) ว่าบทความนี้พาดพิงสุลักษณ์ถึง ๑๐ เปอร์เซ็นต์ และเชื่อว่าปรีดีจงใจนิยาม “ซากเดนศักดินา สวะสังคม หรือเศษโสมม ซึ่งอวดดีและเห็นแก่ตัว” อันหมายถึงต่อว่าถึงสุลักษณ์[2] หลังจากนั้นไม่นาน สุลักษณ์ได้ “เริ่มทำการบ้าน” จนยอมรับว่า “ทัศนคติของข้าพเจ้าในเรื่องราชาธิปไตยและประชาธิปไตย ได้คลี่คลายขยายตัวเรื่อยมา จาก ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ จน ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ ข้าพเจ้าเห็นว่า ถ้าราชาธิปไตยไร้ธรรมก็ไม่ผิดไปจากโจราธิปไตย...” ระยะเวลานั้นแม้นายปรีดีจะไม่เคยติดต่อกับสุลักษณ์โดยตรง แต่ท่านผู้หญิงพูนศุขก็มักส่งข้อเขียนของนายปรีดีและเอกสารหลักฐานต่างๆให้สุลักษณ์ได้อ่านเนืองๆ จนมาสลายมิจฉาทิฐิลงหลังได้รับหนังสือเรื่อง คำตัดสินใหม่เกี่ยวกับคดีสวรรคต ที่ตีพิมพ์สำหรับงานฉลองอายุ ๘๐ ปีของนายปรีดี เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๓ จึงได้ดำริว่าจะขอขมาโทษนายปรีดีด้วยการร่างจดหมายแล้วส่งไปในวันที่ ๑๓ พ.ค.๒๕๒๓ ถัดมาเพียงไม่ถึงเดือนมีจดหมายตอบข้อความจากนายปรีดีว่า “...ผมมิเพียงแต่ยินดีอโหสิกรรมแก่คุณเท่านั้น หากขอสรรเสริญคุณอีกด้วยในการที่คุณมีคุณธรรมสูง คือเมื่อพลั้งพลาดไปเพราะความเข้าใจผิดแล้วทราบความจริงภายหลัง คุณก็มีความกล้าหาญแก้ความเข้าใจผิดนั้น อันเป็นลักษณะของบุคคลก้าวหน้า...” จนแล้วสุดสุลักษณ์เริ่มมีการคุยโทรศัพท์ครั้งแรกกับนายปรีดีเมื่อเดินทางไปยุโรปเมื่อวันที่ ๑ พ.ย.๒๕๒๔ และกลับมาเขียนบทความบูชาคุณแด่นายปรีดีในต้นปีถัดมาอันเป็นปีฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี ชื่อว่า อยู่อย่างไทย ในสมัยศตวรรษที่สามแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และในปีนี้เองเมื่อวันเสาร์ที่ ๒๑ สิงหาคม นายปรีดีและท่านผู้หญิงพูนศุขก็ได้ต้อนรับการมาเยี่ยมเยียนคารวะของ “ศัตรูเก่า” อย่าง ส.ศิวรักษ์ พร้อมภริยาที่บ้านอองโตนี ชานกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และได้พูดคุยกัน ๒ วัน แม้ในปีถัดมานายปรีดียังแสดงน้ำใจด้วยการส่ง ส.ค.ส.มาอวยพรปีใหม่ และเมื่อสุลักษณ์ฝากมะม่วงอกร่องจากต้นหน้าบ้านไปให้ผ่านสุภา สิริมานนท์ ก่อนถึงวันมรณะของปรีดีเพียงไม่กี่วัน นายปรีดีได้เอ่ยขึ้นว่า "เลือกของคุณสุลักษณ์มาให้กินก่อน เจ้าของเขาจะได้ดีใจ" ทั้งนี้กลางปีนั้นเองท่านรัฐบุรุษอาวุโสก็ถึงกาลลาลับดับสังขาร เพียงหนึ่งเดือนหลังจากนั้นสุลักษณ์ได้เขียนบทความอุทิศขนาดยาว เรื่องปรีดี พนมยงค์ที่ข้าพเจ้ารู้จัก ทยอยตีพิมพ์ลงมติชนสุดสัปดาห์ ๕ ตอนและรวมเป็นบทความครั้งแรกร่วมกับบทรำลึกจากนักเขียนชื่อดังร่วมสมัย เช่น สุภา ศิริมานนท์, เสนีย์ เสาวพงศ์, อังคาร กัลยาณพงศ์, ทวีปวร ฯลฯ ในหนังสือชื่อว่า ปรีดี พนมยงค์ แกร่งกล้าทุกสมัย โดยสำนักพิมพ์มติชน ทั้งยังนำมาผนวกรวมจัดพิมพ์เป็นเล่ม เรื่องนายปรีดี พนมยงค์ ตามทัศนะ ส.ศิวรักษ์ ในงานศตวาหะเมื่อ ๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๒๖ 

อนึ่ง สุลักษณ์ เคยถึงกับเสนอว่านิยามการลาลับของอาจารย์ปรีดีควรใช้คำว่า “พิราลัย” มากกว่า “อสัญกรรม” เพื่อเป็นเกียรติแด่รัฐบุรุษอาวุโสและผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ท่านนี้![3]

-----

สุภาพสตรีผู้ศรัทธาในตัว ปรีดี พนมยงค์

ฉลบชลัยย์ พลางกูร (พ.ศ.๒๔๕๙-๒๕๖๐) ภริยาของเลขาธิการเสรีไทย นายจำกัด พลางกูร (พ.ศ.๒๔๕๗-๒๔๘๖) วีรชนผู้ที่นายปรีดีกล่าวคำอำลาด้วยวาทะเลื่องชื่อ “เพื่อชาติ เพื่อ Humanity” แด่ภารกิจเสรีไทยชิ้นสำคัญเพื่อพบ “เจียงไคเช็ค” ผู้นำจีนยุคสมัยสงครามมหาเอเชียบูรพา คู่ชีวิตนายจำกัดท่านนี้ได้เขียนบันทึกอันมีคุณค่าต่อ “ปรีดีศึกษา” ยิ่งนัก บทความนี้เริ่มแรกเผยแพร่ในหนังสือวันปรีดี ๑๑ พ.ค.๒๕๓๔ ชื่อว่า ทำไมดิฉันจึงรัก เคารพและบูชา ท่านปรีดี พนมยงค์ เรื่องราวที่เธอเล่าให้ภาพชีวิตส่วนตัวของนายปรีดีระหว่างปฏิบัติการลับเสรีไทยเนื่องด้วยขณะนั้นชีวิตของเธอได้รับการอุปการะจากครอบครัวนายปรีดีเป็นอย่างดี จนแม้เมื่อวาระสุดท้ายชีวิตของนายปรีดีที่ฝรั่งเศส ประจวบเหมาะที่เธอได้พำนักชั่วคราวอยู่ในปารีสร่วมกับท่านผู้หญิงและนายปรีดี บันทึกของฉลบชลัยย์ชิ้นนี้กล่าวได้ว่าประหนึ่งจดหมายเหตุชิ้นสำคัญที่เก็บรายละเอียดต่อเหตุการณ์วาระสุดท้ายของท่านรัฐบุรุษอาวุโส จะขอยกบางย่อหน้ามาแสดงไว้ดังนี้

“เช้าวันนั้นท่านปรีดีรับประทานอาหารได้อย่างปกติ และคงจะรู้สึกอร่อยเป็นพิเศษ จึงขอขนมปังจากคุณพูนศุขอีกครึ่งชิ้น หลังจากอาหารเช้าประมาณ ๑๐.๐๐ น.กว่าๆ คุณพูนศุขและดิฉันขึ้นรถเมล์ไปตลาดนัดที่ใกล้ๆบ้าน...มาถึงบ้านประมาณ ๑๐.๔๐ เห็นท่านนั่งอยู่ที่โต๊ะทำงานในห้องสมุด ประตูเปิดอยู่ ท่านนั่งหันหน้ามาทางประตู คุณพูนศุขตรงไปหาท่าน ส่วนดิฉันเข้าห้องน้ำซึ่งอยู่ห่างจากประตูนั้นเพียง ๑-๒ เมตร ดิฉันได้ยินเสียงคุณพูนศุขพูดกับท่าน ๓-๔ ประโยค และก็ร้องเสียงดังว่า ‘เธอคะ เธอเป็นอะไร? ใครอยู่บ้าง? เร็ว เธอเป็นอะไรไม่รู้’...เห็นท่านนั่งคอพับก้มมาทางข้างหน้า...เมื่อหมอประจำตัวของท่านมาถึงก็บอกว่าถึงอย่างไรก็ช่วยท่านไม่ทัน ท่านเสียชีวิตแบบที่งดงามที่สุดแล้ว เราควรจะยินดีกับท่านด้วยซ้ำ จริง เราไม่เถียง ท่านมีบุญจริงๆ ท่านจากไปด้วยอาการสงบไปอย่างสบาย...” อนึ่งปัจฉิมบทแห่งชีวิตของนายปรีดีนี้สามารถหาอ่านเสริมด้วยบทสัมภาษณ์ของภริยาเรื่อง ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ เล่าวัตรปฏิบัติบั้นปลายชีวิตของรัฐบุรุษอาวุโส[4]

อีกหนึ่งสตรีที่ควรค่าแก่การเอ่ยถึง ครูองุ่น มาลิก (พ.ศ.๒๔๖๐-๒๕๓๓) เธอผู้นี้ถึงจะไม่เคยรู้จักนายปรีดีเป็นการส่วนตัว แต่ในบั้นปลายชีวิตได้ทำพินัยกรรมเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๖ “ยกที่ดินส่วนหนึ่งในซอยทองหล่อ ให้ มูลนิธิปรีดี พนมยงค์ เพื่อก่อสร้างสถาบันปรีดี พนมยงค์” ซึ่งท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ได้เขียนคำไว้อาลัยในหนังสือ จารึกไว้บนแผ่นดิน ที่ระลึกงานศพครูองุ่นไว้อย่างชวนซาบซึ้งว่า

“เมื่อประมาณ ๕๐ ปีมานี้ ข้าพเจ้าได้ยินชื่ออาจารย์องุ่นในฐานะนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่สวยเก๋ ปราดเปรียว ทันสมัย เคยมีรูปลงหน้าปกหนังสือรายสัปดาห์...ข้าพเจ้าเพิ่งมาพบอาจารย์องุ่นเมื่อเธอแสดงความจำนงบริจาคที่ดินในซอยทองหล่อให้กับมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ เพื่อสร้างสถาบันที่จะอำนวยประโยชน์แก่สังคมเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๖ อาจารย์องุ่นไม่เคยพบหรือรู้จักนายปรีดีเป็นส่วนตัวมาก่อน แต่มีความเลื่อมใสศรัทธาในอุดมการณ์ของท่านซึ่งอาจมีทัศนะตรงกันในเรื่องช่วยเหลือผู้ยากไร้”

ยังมีบันทึกของสุภาพสตรีอีกท่านหนึ่งที่ควรค่าแก่การกล่าวถึงคือ จินดา ศิริมานนท์ ภริยาของนักหนังสือพิมพ์ชื่อดัง สุภา ศิริมานนท์  ชื่อว่า ปัจฉิมชีวิตของรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ ความทรงจำจากบ้านชานกรุงปารีส ท่านผู้หญิงพูนศุขนำมาจัดพิมพ์เป็นรูปเล่มในวาระครบวันเกิดนายปรีดี เมื่อ พ.ศ.๒๕๓๖ ประกอบคำชี้แจงไว้ว่า “คุณจินดา ศิริมานนท์ กัลยาณมิตรของครอบครัวเราได้บันทึกไว้ภายหลังที่เธอได้ไปเยือนครอบครัวเราเมื่อครั้งพำนักอยู่ ณ ประเทศฝรั่งเศสเป็นเวลาสองสัปดาห์และเมื่อเธอลากลับประเทศไทยเพียง ๔ วัน นายปรีดีก็วายชนม์ ข้อความที่เธอเขียนได้บรรยายจากการสังเกตสังกาอย่างละเอียด...บทความนี้ได้เคยลงในหนังสือ อาวุโส ที่นำมาตีพิมพ์อีกครั้งในโอกาสนี้...จะได้ทราบชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยคนหนึ่งในบั้นปลายที่ต้องระหกระเหินจากบ้านเกิดไปโดยปราศจากความผิดใดๆทั้งสิ้น”[5]

-----

บทสัมภาษณ์นายปรีดี 'รงค์ - ตะวันใหม่ - อรุณ - ฉัตรทิพย์ 

ปัจฉิมวัยของนายปรีดีช่วงพำนัก ณ กรุงปารีสมีบทสัมภาษณ์ที่น่าสนใจในวาระต่างๆไม่น้อย ในที่นี้ผู้เขียนเห็นว่า ๔ ชิ้นนี้มีมิติทั้งในด้านเนื้อหาและผู้ร่วมสนทนา

'รงค์ วงษ์สวรรค์ ๒๕ กันยายน พ.ศ.๒๕๒๑[6] การพบกันของมันสมองคณะปฏิวัติกับพญาอินทรีย์แห่งสวนอักษรถือเป็นวาระที่พิเศษมากๆ การสนทนาของคู่นี้มีความผ่อนคลายและเป็นกันเอง คำถามของ 'รงค์ ไร้พิธีรีตองและตรงไปตรงมา มีลูกเล่นลูกหยอดตามสไตล์ 'รงค์  แต่ยังเปี่ยมไปด้วยความเคารพ เพียงมีข้อสังเกตว่าเหตุใดผลงานชิ้นนี้ของ 'รงค์ จึงตกหล่นมิได้เอ่ยถึงในบรรณานุกรมของผู้เขียนนามระบือนี้ในอนุสรณ์งานศพ?[7] บางบทสนทนาที่น่าสนใจ มีดังนี้

“'รงค์: อยากจะเรียนถามอันหนึ่ง ท่านคงไม่โกรธและถือสานะครับ ที่มาอยู่ฝรั่งเศสนี้ท่านอยู่ในฐานะผู้ลี้ภัยทางการเมือง หรือว่า...

ปรีดี: ขณะนี้ยังถือว่าเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมือง แต่ได้สิทธิ์บางอย่างที่ดีกว่าคนอื่น คือบัตรประจำตัวของผมสิบปีถึงค่อยไปต่อ

'รงค์: ฝรั่งเศสได้ช่วยเหลือด้านการเงินท่านบ้างไหมครับ

ปรีดี: เปล่าเลย เงินที่อยู่นี้ได้จากการขายทรัพย์สมบัติ เดี๋ยวนี้ไม่มีทรัพย์อะไรเหลือแล้ว บอกได้เลย ไปดูโฉนดได้เลย”

คำถามสุดท้ายที่นักเขียนชื่อก้องถามทิ้งท้าย ความว่า

'รงค์: อะไรคือความปรารถนาของท่านที่จะบอกกับชาวไทย

ปรีดี: ก็เพียงแต่ตั้งปรารถนาว่าให้ราษฎรไทยได้ร่วมมือกันพัฒนาประเทศ โดยถือว่าเศรษฐกิจเป็นรากฐานสำคัญ ถ้าหากประเทศนี้ขาดหลักเศรษฐกิจแล้ว ระบบการเมืองก็ดี ระบบวัฒนธรรมที่จะเกิดขึ้นมันก็ตั้งอยู่ไม่ได้ เศรษฐกิจคือรากฐานของสิ้งทั้งปวง แล้วมีระบบการเมืองที่ดีตั้งอยู่บนรากฐานเศรษฐกิจให้สมานกัน แล้วก็ขอให้มีวัฒนธรรมในที่นี้หมายถึงความคิดนะครับ

วัฒนธรรมไม่ใช่การกระโดดโลดเต้นหรืออะไรต่างๆ แต่หมายความถึงธรรมะที่เจริญ ซึ่งภาษาฝรั่งเขาเรียกว่าคัลเชียล คือการเพาะจิตใจให้เจริญ ไม่ใช่คัลเจอร์เฉยๆ นี่แหละครับ ทางจิตใจอันนี้ที่จะต้องมีให้พร้อม ถ้าไม่ได้เจริญ ไม่ได้เพาะจิตใจ การเมืองก็พัง เศรษฐกิจก็พัง สามอย่างมันต้องสมานด้วยกัน แต่อย่าลืมว่ารากฐานคือเศรษฐกิจ”[8]

-----

นิตยสารตะวันใหม่ ฉบับพิเศษ ๘๐ ปีรัฐบุรุษอาวุโส ๒๙ เมษายน พ.ศ.๒๕๒๓[9]

บทสัมภาษณ์นี้นายปรีดีได้ทำเรื่องตอบทางจดหมายต่อบรรณาธิการไพศาล มังกรไชยา ฉบับนี้ยังรวมการสัมภาษณ์ท่านผู้หญิงพูนศุข และร้อยเอกวัชรชัย ชัยสิทธิเวชช เนื้อหามีความเข้มข้นและให้อารมณ์ร่วมในการอ่านมากๆ ดั่งคำถามสำคัญที่ว่า

“ขอทราบเงื่อนไขที่ท่านอาจารย์จะกลับประเทศไทยเมื่อใด?

ปรีดี: ผมได้แจ้งให้ญาติมิตรและสานุศิษย์และได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์และนิตยสารภายในประเทศและต่างประเทศหลายฉบับแล้วว่า สภาพการณ์ขณะนี้ยังไม่เหมาะสมที่ผมจะกลับประเทศไทยเพราะผู้ที่ไม่มีใจเป็นธรรมยังคุกคามผมอยู่อีก แม้ผมจะได้รับความยุติธรรมจากศาลยุติธรรมแล้วก็ตาม”

อรุณ เวชสุวรรณ ๗ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๒๔[10] ผู้สนทนาท่านนี้มีความเคารพและศรัทธาต่อตัวนายปรีดีและทำการบ้านมาค่อนข้างดี “การสัมภาษณ์ครั้งนี้ ผู้สัมภาษณ์ได้เขียนคำถามไป ๒๐ กว่าคำถาม แต่เมื่อไปเห็นสภาพความชราของท่านปรีดีแล้ว ก็ไม่กล้าที่จะถามเพราะกลัวจะเป็นการกระทบกระเทือนจิตใจ แต่อย่างไรก็ตามผู้สัมภาษณ์เชื่อว่าพฤติกรรมที่แล้วมาของท่านผู้นี้ ที่ทำไปแล้วล้วนแต่เป็นประโยชน์ต่อชาติบ้านเมืองและท่านเป็นพุทธศาสนิกชนที่มีศรัทธามั่นอยู่ในพุทธศาสนาอย่างแน่นแฟ้นคนหนึ่งทีเดียว.”

บางส่วนของบทสนทนากับอรุณเรื่องหนังสืออ้างอิงเกี่ยวกับการปฏิวัติ ๒๔๗๕ นายปรีดีรับรองเล่มสัมภาษณ์ของกุหลาบ สายประดิษฐ์ ที่คุยกับพระพระยาพหลฯ และบันทึกของพระยาทรงสุรเดชว่าเชื่อถือได้ ขณะที่เมื่อเอ่ยนามถึงหนังสือของ “ศราภัยพิพัฒน์” ปรีดีตอบแบบทันทีว่า “นั่นเป็นฝ่ายตรงกันข้าม!”[11]

ฉัตรทิพย์ นาถสุภา ๑๐ เมษายน พ.ศ.๒๕๒๕[12] กล่าวได้ว่าบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ เป็นการให้สัมภาษณ์ขนาดยาวครั้งสุดท้ายที่ท่านปรีดี พนมยงค์ แสดงต่อสาธารณะ เนื้อหามีความเป็นวิชาการสูงสมกับที่ตัวผู้สัมภาษณ์เป็นนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง “เนื้อหาคำสัมภาษณ์ของนายปรีดี พนมยงค์ ได้อธิบายให้เห็นถึงสภาพสังคมไทยก่อน พ.ศ.๒๔๗๕ โดยเฉพาะความอัตคัดขัดสนของชาวนา, บ่อเกิดแห่งจิตสำนึกของนายปรีดี พนมยงค์ ในการตกลงใจทำการอภิวัฒน์ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕, พื้นฐานความคิดของนายปรีดี พนมยงค์ในเรื่องเค้าโครงเศรษฐกิจและสหกรณ์ ฯลฯ...”

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง:

 

เชิงอรรถ:

[1] สุลักษณ์วิจารณ์จากต้นฉบับภาษาอังกฤษพิมพ์ครั้งแรก The Devil’s discus: An Inquiry into the Death of Ananda King of Siam โดย Rayne Kruger หนังสือเล่มนี้ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยปี พ.ศ.๒๕๑๗ โดย ชลิต ชัยสิทธิเวช ถือเป็นหนังสือ “ต้องห้าม” และเข้าใจว่ามีการแปลไทยในตลาดมืดฉบับโรเนียวก่อนหน้านั้นเล็กน้อย

[2] สุลักษณ์ ศิวรักษ์, นายปรีดีที่ข้าพเจ้ารู้จัก ใน  ปรีดี พนมยงค์ แกร่งกล้าทุกสมัย, (มติชน ๒๕๒๖),น.๑๑๒.

[3] ส.ศิวรักษ์, เรื่องนายปรีดี พนมยงค์ ตามทัศนะ ส.ศิวรักษ์,พิมพ์ครั้งแรก ๙ สิงหาคม ๒๕๒๖,(มูลนิธิโกมลคีมทอง), น.๓๔.

[4] ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และ เพิ่มพล โพธิ์เพิ่มเหม บรรณาธิการ, ปรีดี พนมยงค์: ชีวิต งาน และธรรมศาสตร์, สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดพิมพ์เนื่องในโอกาสรับอัฐิธาตุ ท่านผู้ประศาสน์การ ปรีดี พนมยงค์ ๖-๑๑ พฤษภาคม ๒๕๒๙,๑๗๕.

[5] ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ เป็นผู้จัดพิมพ์ เนื่องในโอกาส ๑๐ ปีแห่งการจากไปของนายปรีดี พนมยงค์ พิมพ์ครั้งแรก ๑๑ พ.ค.๒๕๓๖,น.คำชี้แจง.

[6] 'รงค์ วงษ์สวรรค์. วานปีศาจตอบ,พิมพ์ครั้งแรก ๒๕๔๙,(มติชน),น.๓๘๗-๔๐๓.

[7] ดู อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ ณ สุสานสันกู่เหล็ก อ.เมือง จ.เชียงใหม่ วันจันทร์ที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๕๓, น.๖๙-๑๘๕.

[8] 'รงค์ วงษ์สวรรค์. วานปีศาจตอบ,พิมพ์ครั้งแรก ๒๕๔๙,(มติชน),น.๔๐๓.

[9] ตะวันใหม่ ปีที่ ๓ ฉบับที่ ๑๑๓ จันทร์ที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๒๓ ฉบับพิเศษ ๘๐ ปี รัฐบุรุษอาวุโส.

[10] อรุณ เวชสุวรรณ, รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ บิดาแห่งระบอบประชาธิปไตยของไทย, พิมพ์ครั้งแรก พ.ค.๒๕๒๖,(เคล็ดไทย),น.๒๘-๓๖.

[11] อ้างแล้ว,น.๓๑-๓๓.

[12] ฉัตรทิพย์ นาถสุภา สัมภาษณ์, ประสบการณ์และความเห็นบางประการของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์, พิมพ์ครั้งแรก พฤษภาคม ๒๕๒๖,(เคล็ดไทย).