สงกรานต์ ปีนี้ ข้าพเจ้ามิได้หลบลมร้อนไปพักผ่อนต่างจังหวัด เดี๋ยวนี้ไม่ว่าที่ไหนๆ ในบ้านเรา อากาศร้อนทั้งนั้น การพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างไม่จำกัดขอบเขต ปล่อยมลพิษขึ้นสู่ท้องฟ้าทำให้เกิด ภาวะเรือนกระจก (green house effect)
ข้าพเจ้าจำมาจากคำอธิบายของนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมถึงสาเหตุว่าทำไมอากาศจึงวิปริตเช่นทุกวันนี้ แต่ “เรือนกระจก” ในความเข้าใจของข้าพเจ้าซึ่งต่างกันนั้น ตรงกับ “green house” ในภาษาอังกฤษและ “serre” ในภาษาฝรั่งเศส เป็นเรือนกระจก สำหรับปลูกพืชผักในฤดูหนาวของประเทศแถบยุโรป ความอบอุ่นจากแสงแดดสาดส่องผ่านแผ่นกระจกใส ให้พ้นจากการรบกวนของลมหนาว และหิมะ ตอนที่ข้าพเจ้าอยู่บ้านอองโตนี ชานกรุงปารีส ในสวนหลังบ้านก็มีเรือนกระจกที่เจ้าของบ้านเดิมที่เป็นชาวฝรั่งเศสสร้างไว้ปลูกผัก
เมื่อเราเข้ามาอยู่บ้านนี้แล้ว มีญาติมิตรจากเมืองไทยแวะมาเยี่ยมและพักด้วย นายปรีดีจึงให้ลูกๆ หลานๆ ช่วยกันคนละไม้ละมือ ดัดแปลงเรือนกระจกเป็นห้องพักแขก แล้วจ้างคนงานมาต่อน้ำ ต่อสายไฟ พื้นห้องต่ำกว่าพื้นสวนราว 40 ซม. วางเตียงพับ 2 ตัว ตู้พลาสติก 1 ใบ อ่างล้างหน้าเล็กๆ เครื่องทำความอุ่นพร้อมสรรพ
เชื่อว่าหลายคนที่เคยมาพักในห้องนี้ คงจะจำวิวจากหน้าต่างที่มองเห็นต้นเชอร์รี่ ต้นแอปเปิ้ล ต้นพลัม ในยามดอกไม้บานสะพรั่งช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน หรือผลไม้ เต็มต้นปลายฤดูร้อนในเดือนสิงหาคม เหมือนกับภาพโปสเตอร์แผ่นใหญ่ อย่างใดอย่างนั้น
วกกลับมาเทศกาลสงกรานต์กันดีกว่า ในสมัยข้าพเจ้ายังเด็กๆ เห็นผู้ใหญ่เรียกว่า “ตรุษสงกรานต์”
ปฏิทินเดิมของไทย เวลาที่พระอาทิตย์ย่างขึ้นสู่ราศีเมษ เรียกว่า มหาสงกรานต์ และก็เป็นนักขัตฤกษ์เนื่องในการขึ้นปีใหม่ ต่อจากนั้นเป็น วันเนา คือวันที่พระอาทิตย์โคจรอยู่ระหว่างสองราศี คือ มีนและเมษ และสุดท้ายเป็น วันเถลิงศกจุลศักราช ซึ่งในปัจจุบันได้กำหนด 3 วันนี้ ตามสุริยคติ เป็นวันที่13-14-15 เมษายน
ตามประเพณีที่ปฏิบัติกันมา ในช่วงตรุษสงกรานต์ ครอบครัว ข้าพเจ้าทำบุญบังสุกุลให้บรรพบุรุษที่ล่วงลับแล้ว และเมื่อย้ายมาอยู่ที่บ้านป้อมเพชร์ ถนนสีลม ก็ได้มาทำบุญกันที่วัดสระปทุม หรือ วัดปทุมวนารามเป็นประจำทุกปี
พวกเราเด็กๆ ในบ้านป้อมเพชร์ไม่ค่อยตื่นเต้นกับวันตรุษนี้เท่าไหร่นัก มารดาข้าพเจ้าให้พรรคพวกเชื้อสายมอญที่พระประแดงกวนกะละแม ข้าวเหนียวแดง หอมกลิ่นกะทิรสชาติกลมกล่อม ไม่เหนียวติดฟัน แล้วข้าพเจ้ากับพี่ๆ น้องๆ ผู้หญิงช่วยกันโรยหน้าด้วยงา บรรจุในห่อใบตองเอาไปแจกเพื่อนบ้านเป็นของขวัญวันปีใหม่
ในเวลานั้น บิดาข้าพเจ้า (พระยาชัยวิชิตวิศิษฏ์ธรรมธาดา-ขำ ณ ป้อมเพชร์) รับราชการเป็นอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ได้เข้าวังตามหมายกำหนดการ แต่จะมีพระราชพิธีใดบ้าง ข้าพเจ้าไม่ทราบ จำได้ว่าเวลากลับบ้านมีใบลานติดมือมา เรียกว่า “กระบองเพชร” และเพื่อเป็นสิริมงคลตลอดศกใหม่ ตรุษสงกรานต์มีการรดน้ำ ขอพรผู้ใหญ่ หมายถึงท่านผู้มีวัยสูงเกิน 60 ปี ผู้ใหญ่ที่ครอบครัวข้าพเจ้าเคารพนับถือก็มี มหาอำมาตย์เอก เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) อดีตเสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ กระทรวงนครบาล และ กระทรวงมหาดไทย ฯลฯ
ตั้งแต่รัชกาลที่ 5 ท่านผู้นี้เป็นน้าชายของมารดาข้าพเจ้า (คุณหญิงเพ็ง ชัยวิชิตฯ สกุลเดิม “สุวรรณศร”) ขณะเดียวกัน มีศักดิ์เป็นพี่เขยบิดาข้าพเจ้า ท่านผู้หญิงตลับภรรยาท่านเจ้าคุณ[1] เป็นพี่สาวต่างมารดาของบิดาข้าพเจ้า
ครั้นเมื่อข้าพเจ้าออกเรือน ญาติผู้ใหญ่ที่ไปรดน้ำขอพร นอกจากบิดามารดาข้าพเจ้าแล้ว ก็มีบิดามารดาของนายปรีดีและญาติผู้ใหญ่ที่มีอายุ 60 ปีแล้ว นอกจากนั้นยังไปทำบุญบังสุกุลให้บรรพบุรุษทั้งที่วัดปทุมวนาราม และวัดพนมยงค์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ไปเองไม่ได้ก็ให้ญาติมิตรไปทำบุญแทน และในปัจจุบันนี้ข้าพเจ้าไปทุกปี แต่เปลี่ยนจากช่วงสงกรานต์เป็นวันที่ 2 พฤษภาคม ซึ่งตรงกับวันละสังขารของนายปรีดี
ในบั้นปลายชีวิตของนายปรีดีขณะพำนักที่ประเทศฝรั่งเศส สมาคมนักเรียนไทยในประเทศฝรั่งเศสจัดให้มีพิธีรดน้ำขอพรในวันสงกรานต์ที่หอลาว บริเวณเมืองมหาวิทยาลัย (Maison du Laos, Cité Universitaire) เป็นประจำทุกปี นับว่าคนหนุ่มสาวเหล่านี้แม้เรียนหรือทำงานในต่างแดน ยังรักษาขนบธรรมเนียมแบบไทยได้อย่างดี
ทุกวันนี้ มีลูกหลานมารดน้ำขอพรข้าพเจ้าในช่วงตรุษสงกรานต์หลายคนและหลายครอบครัวปฏิบัติตามประเพณีมาหลายสิบปีไม่เปลี่ยนแปลง
ข้าพเจ้ารู้สึกแปลกใจว่า ประเพณีสงกรานต์ในปัจจุบันเปลี่ยนไปจากรดน้ำขอพรกลายเป็นรดน้ำดำหัว และ “อวยพร” บางทีก็หาใช่ผู้มีวัยวุฒิเกินวัย “แซยิด” (60 ปี หรือ 5 รอบ) และของที่นำไปไหว้ผู้ใหญ่ก็มิใช่ประเภทผ้าเช็ดหน้า หรือผ้าขนหนู จริงๆ แล้วคงไม่ต้องกะเกณฑ์ว่าต้องนำสิ่งของชนิดนี้ชนิดนั้นไปให้ผู้ใหญ่ เพียงแค่ไปรดน้ำขอพรด้วยกุศลจิตกับพวงมาลัยสักพวงก็พอแล้ว
เมื่อก่อนนี้ ในแต่ละถิ่นแต่ละภาค การทำบุญและการละเล่นรื่นเริงเหมือนกันบ้างต่างกันบ้าง เช่น เข้าวัดทำบุญฟังเทศน์ หรือการก่อกองทรายในวัดของชาวเหนือ หรือ การทอยสะบ้าของชาวมอญที่พระประแดงหรือการสาดน้ำกันอย่างสนุกสนานในหมู่หนุ่มสาวที่มีความคุ้นเคยกัน น้ำใสเย็นสะอาดคลายความร้อนในเดือนเมษายน
แต่ในวันนี้ คนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยแทนที่จะรดน้ำขอพรพ่อแม่ พระประจำบ้าน กลับออกมาสาดน้ำปะแป้งผู้คนเดินถนน ใช้กระบอกปืนพลาสติกฉีดน้ำ หรือใช้น้ำแข็งน้ำโสโครกสาดใส่กัน เป็นความสนุกสนานแบบไร้ขอบเขต บางครั้งสร้างความเดือดร้อนและอุบัติภัยแก่ผู้คนและรถราสัญจรไปมา แล้วจะหาผู้ใดรับผิดชอบ
อ่าน และ สามารถดาวน์โหลดไฟล์ PDF ทั้งเล่ม “ไม่ขอรับเกียรติยศใดๆ ทั้งสิ้น ๙๕ ปี ๔ เดือน ๙ วัน พูนศุข พนมยงค์”
ที่มา:
- เนื้อหา: ตัดตอนมาจาก “ตรุษสงกรานต์” ในหนังสือ “ไม่ขอรับเกียรติยศใดๆ ทั้งสิ้น ๙๕ ปี ๔ เดือน ๙ วัน พูนศุข พนมยงค์” ซึ่งเคยพิมพ์ครั้งแรกใน มติชนรายวัน, วันอังคารที่ 13 เมษายน พ.ศ.2547
- ภาพประกอบ: ฐานข้อมูลรูปภาพสถาบันปรีดี พนมยงค์ และ หนังสือหวนอาลัย
- หมายเหตุ: ปรับปรุงโดยบรรณาธิการ
[1] คำเรียกว่า “เจ้าคุณ” นั้นใช้ได้ทั้งผู้มีบรรดาศักดิ์ “เจ้าพระยา” และ “พระยา”