ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณสถาบันปรีดีฯ ที่ให้เกียรติผมมาร่วมเสวนากับทุกๆ ท่านในวันนี้ ความจริงเคยได้มีโอกาสร่วมงานกับสถาบันปรีดีฯ ครั้งหนึ่งในประเด็นเรื่องรัฐธรรมนูญ ซึ่งแน่นอนก็เป็นประเด็นที่สำคัญในการนำพาประเทศไปสู่ประชาธิปไตยสมบูรณ์
ในส่วนของวันนี้จะเน้นในเรื่อง “การศึกษา” เป็นหลัก พอเราพูดถึงการศึกษาก็ต้องยอมรับว่า การศึกษาเป็นประเด็นที่สำคัญสำหรับทั้ง SDGs เอง และสำหรับความคิดของอาจารย์ปรีดีเช่นกัน
ใน SDGs เราก็เห็นว่าการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพเป็นเป้าหมายที่ 4 จาก 17 เป้าหมายทั้งหมด ถ้าเราไปดูความคิดความอ่านของอาจารย์ปรีดี สิ่งที่สะท้อนอย่างชัดเจน คือ เรื่องของการศึกษาเป็นข้อที่ 6 ในหลัก 6 ประการของคณะราษฎร และการที่อาจารย์ปรีดี ก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ยิ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญที่อาจารย์ปรีดีให้กับการศึกษา
สิ่งที่ผมคิด คือ ถ้าเราอ่านระหว่างบรรทัด ไม่ว่าจะเป็น SDGs หรือไม่ว่าจะเป็นความคิดของอาจารย์ปรีดีเอง ผมเชื่อว่าทั้ง SDGs และอาจารย์ปรีดี คงมองว่าการศึกษาไม่ได้เป็นเป้าหมายในตัวมันเองที่โดดเดี่ยวออกไป แต่ว่าเป็นกลไกหรือเครื่องมือที่สำคัญในการพัฒนาประเทศในประเด็นอื่นๆ ด้วยเช่นกัน
ถ้าเราพูดถึงบทบาทของการศึกษา เครื่องมือในการพัฒนาประเทศ ผมคิดว่ามี 3 วัตถุประสงค์หลัก หรือ 3 บทบาทหลักทางการศึกษา เพื่อให้เห็นภาพอาจจะหยิบยกเค้กก้อนหนึ่งของคุณศิริกัญญามาอธิบายต่อ คือ ถ้าเราจินตนาการว่าประเทศเปรียบเสมือนกับเค้กก้อนหนึ่ง อาจจะคิดว่าเค้กก้อนนี้คือ GDP การรวบรวมรายได้ ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจของประชาชนทุกคนเข้าหากัน ผมคิดว่าเป้าหมายการพัฒนาประเทศ หรือว่าคำถามที่ว่าจะทำให้เค้กก้อนนี้ดีขึ้นอย่างไร ที่ไปด้วยกันได้กับ 3 ทิศทางที่สำคัญ คือ
ทิศทางที่ 1 ทำอย่างไรให้เค้กก้อนนี้เติบโต
พูดง่ายๆ ก็คือทำอย่างไรให้เศรษฐกิจเจริญเติบโต ทำอย่างไรให้รายได้รวมกันของทุกคนในประเทศนั้นสูงขึ้น แน่นอนว่าการศึกษามีบทบาทสำคัญเพราะว่าถ้าเรามีการศึกษาที่ดี ที่มีคุณภาพ เราก็จะมีหลักสูตรการเรียนการสอนที่ช่วยติดอาวุธทักษะให้กับประชาชน สามารถช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจเจริญเติบโตได้ เพราะฉะนั้น บทบาทที่ 1 ของการศึกษา คือ การมีการศึกษาที่มีคุณภาพเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้โตขึ้น
ทิศทางที่ 2 ต้องถูกแบ่งและจัดสรรอย่างเป็นธรรม
เค้กโตอย่างเดียวไม่พอแต่ต้องถูกแบ่งและจัดสรรอย่างเป็นธรรม ถ้าเค้กก้อนโตแต่สามารถเข้าถึงแค่คนคนเดียว ในขณะที่คนอื่นในประเทศไม่มีใครสามารถเข้าถึงได้เลย ก็คงเรียกไม่ได้ว่าเป็นการพัฒนาที่ดี เพราะฉะนั้น เค้กต้องถูกจัดสรรอย่างเป็นธรรมหรือว่าพูดง่ายๆ คือ การลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในประเทศ
ทีนี้ถามว่า “จะลดความเหลื่อมล้ำได้อย่างไร” สิ่งหนึ่งที่จำเป็นต้องลด คือ การลดความเหลื่อมล้ำที่ถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งวิธีหนึ่งที่จะทำได้ คือ การทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ
ทิศทางที่ 3 เคารพสิทธิ เสรีภาพ เสมอภาคอย่างเป็นธรรม คือ ประชาธิปไตยสมบูรณ์
เมื่อเค้กโตแล้ว การแบ่งกันอย่างเป็นธรรมแล้วไม่พอ ต้องอร่อยด้วยนะครับ นี่คือการมีประชาธิปไตยสมบูรณ์ที่เคารพเรื่องสิทธิเสรีภาพ เคารพเรื่องหลักคิด เรื่องความเสมอภาค ซึ่งถือเป็นบทบาทสำคัญเช่นกันของการศึกษา เพราะว่าการพัฒนาประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ การทำให้เค้กอร่อย ในมุมหนึ่งคือการแก้กฎกติกาทางการเมืองในรัฐธรรมนูญเพื่อให้คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างรัดกุมขึ้น เพื่อให้สถาบันทางการเมืองทุกสถาบันตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน
มิติหนึ่งที่สำคัญมากต่อการพัฒนาประชาธิปไตย คือ การปลูกฝังและรณรงค์ค่านิยมประชาธิปไตย ซึ่ง “ห้องเรียน” ถือเป็นเวทีหนึ่งที่มีความสำคัญมาก ถ้าเราอยากให้มีประชาธิปไตยที่เบิกบาน ค่านิยมประชาธิปไตยที่แพร่หลายในสังคม เราต้องทำให้ห้องเรียน และโรงเรียนของเราเผยแพร่ค่านิยมประชาธิปไตยเหล่านี้
อุปสรรคในการพัฒนาการศึกษาสู่ประชาธิปไตยสมบูรณ์
ถ้าเราไล่ในแต่ละบทบาท เราก็จะเห็นว่าประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหาอุปสรรคใน 3 มิติ
มิติแรก : บทบาทเรื่องของการมีการศึกษาที่มีคุณภาพเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
ถ้าเราอยากให้มีการศึกษาที่มีคุณภาพ ผมคิดว่ามันน่าจะแตกออกมาเป็น 3 ประเด็นย่อย ถ้าถามว่าการศึกษาที่มีคุณภาพคืออะไร
ประเด็นแรก คือ การศึกษาที่มีคุณภาพต้องทำให้ผู้เรียนมีทักษะที่พร้อมรับมือกับโลกแห่งอนาคต แต่ปัจจุบันเราก็เห็นว่าถึงแม้เด็กไทยเรียนหนักเป็นอันดับต้นๆ ของโลก แต่หลักสูตรการเรียนการสอน เวลา ที่ใส่เข้าไปไม่ถูกแปรเป็นทักษะที่สามารถไปแข่งกับนานาชาติได้ ไม่ว่าจะเป็นทักษะการคิดวิเคราะห์ ทักษะการสื่อสาร ทักษะการทำงานเป็นทีม
จะเห็นว่าเวลามีการวัด PISA เรื่องทักษะวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์การอ่าน ประเทศไทยก็มาเป็นอันดับท้ายตาราง หรือว่าที่น่ากลัวที่สุด คือ ทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษ ล่าสุด English Proficiency Index ประเทศไทยเข้ามาเป็นอันดับที่ 100 จาก 112 ประเทศทั่วโลกต่ำสุดในอาเซียน
ถามว่าเรามีการเรียนการสอนที่ไม่ถูกวิชาหรือไม่ ก็ไม่ใช่ แต่เรามีการเรียนการสอนที่ไม่ถูกวิธี หมายถึงว่าการสอนวิชาภาษาอังกฤษ เราเริ่มเรียนตั้งแต่เด็ก ไม่ใช่ว่าเราไม่ได้สอน แต่ว่ามันอาจจะเป็นการสอนที่เน้นการรู้หลักภาษา การท่องจำไวยากรณ์มากกว่าการใช้ภาษาให้พอมีทักษะการสื่อสาร หรือว่าทักษะที่จำเป็นกว่าในอนาคต
ประเด็นที่ 2 ย่อยมาในมิติของคุณภาพ คือ การศึกษาที่มีคุณภาพ ผมคิดว่าต้องเป็นการศึกษาที่ส่งเสริมการเรียนรู้ ถามว่า การศึกษากับการเรียนรู้ต่างกันอย่างไร การศึกษา คือ หลักสูตรการเรียนการสอนที่รัฐจัดสรรให้กับเด็ก
ในขณะที่ การเรียนรู้ คือ ทัศนคติของคนคนหนึ่งที่อยากจะแสวงหาความรู้ใหม่ๆ ในโลกที่มันมีการเปลี่ยนแปลงผันผวนอย่างรวดเร็ว การเรียนรู้ตลอดชีวิตมีความสำคัญยิ่งขึ้นเพราะว่าทุกองค์ความรู้มีวันหมดอายุ
เพราะฉะนั้น ทำอย่างไร เมื่อเด็กถึงแม้จบจากรั้วโรงเรียนไปแล้ว ออกจากรั้วโรงเรียนไปแล้ว ยังมีทัศนคติที่พร้อมจะหาความรู้ใหม่ๆ นี่เป็นอีกสิ่งที่น่ากังวลมากสำหรับมิติของการศึกษาไทย เพราะว่าผมเคยไปเปรียบเทียบ 2 สถิติ ในประเทศอาเซียน หนึ่งคือคะแนน PISA ซึ่งวัดคุณภาพการศึกษา อีกหนึ่ง คือ งานวิจัยของ C GROUP ที่ถามเยาวชนว่าคุณคิดว่า สิ่งที่คุณรู้จากโรงเรียนเพียงพอหรือเปล่า
แน่นอนว่าถ้ายิ่งเด็กยอมรับว่าไม่พอ เราก็จะถือว่าเขามีทัศนคติที่ดีต่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต ปรากฏว่ายิ่งประเทศไหนการศึกษาคะแนน PISA ดี เด็กกลับยอมรับว่า สิ่งที่ตัวเองเรียนรู้นั้น ยังไม่พอ แล้วยิ่งประเทศไหนการศึกษาคะแนน PISA ไม่ดีอย่างเช่นประเทศไทย กลายเป็นว่าเด็กส่วนใหญ่กลับรู้สึกว่าได้จากโรงเรียนเพียงพอแล้ว
ผมพยายามจะตีความว่านั่นมีความหมายว่าอย่างไร ทำไมเราถึงมั่นใจว่าสิ่งที่เราได้จากการศึกษาที่คุณภาพอาจจะไม่ดีมากถึงได้พอ ผมคิดว่าวิธีการหนึ่งที่ผมตีความก็คือว่าปัจจุบันการศึกษาไทยกำลังทำให้เด็กหมดไฟในการเรียนรู้ เพราะว่าความเครียดที่สะสมจากการบ้านที่เยอะเกินไป ความเครียดที่สะสมจากรูปแบบการสอนในบางกรณี หรือว่าความเครียดที่สะสมมาจากการสอบแข่งขันกันมากจนเกินไป เมื่อเด็กจบมาจากรั้วการศึกษาแล้ว เขาจึงถือว่าพอแล้วกับการเรียนรู้
ประเด็นที่ 3 สิ่งสุดท้ายในฝั่งของคุณภาพ คือ การศึกษาที่มีคุณภาพ ผมคิดว่าต้องเป็นที่ปลอดภัยให้นักเรียนได้ค้นพบตัวเองว่าชอบหรือไม่ชอบอะไร ถนัดหรือไม่ถนัดอะไร แต่ปัจจุบันเราก็เห็นว่าหลายคนจบมาจากการศึกษาแล้ว ก็อาจจะยังไม่แน่ใจ ว่าตัวเองอยากจะทำอะไรซึ่งเป็นเรื่องปกติ แต่ผมคิดว่าถ้าเราลองจินตนาการชีวิตเด็กคนหนึ่งตั้งแต่ประถม มัธยม เขามีทางเลือกน้อยมาก มีอิสรภาพน้อยมากจะเลือกเรียนวิชาอะไร เพราะว่าวิชาบังคับก็เต็มตารางไปหมดแล้ว
เพราะฉะนั้น การที่ทำให้เด็กมีอิสรภาพในการเลือกวิชาที่เราสนใจ รวมถึงลดเวลาเรียนเพื่อให้เขามีเวลาได้ทำกิจกรรมนอกห้องเรียนและค้นพบตัวเองคงเป็นสิ่งที่สำคัญเช่นกันสำคัญ นี่คือมิติของคุณภาพ
มิติที่ 2 คือ เรื่องของความเหลื่อมล้ำ
ประเทศไทยหรือว่าการศึกษาไทยเรามีปัญหา ผมคิดว่าเราเจอปัญหาความเหลื่อมล้ำ 3 ตลบในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ ตลบที่ 1 คือ การศึกษาเรายังไม่ฟรีจริง ถึงแม้รัฐธรรมนูญจะเขียนไว้ว่าทุกคนมีสิทธิในการเรียนฟรี แต่เราก็เห็นว่าปัจจุบันการเข้าถึงการศึกษามีค่าใช้จ่ายแอบแฝงเข้ามา ความจริงกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เขาก็ทำวิจัยมาว่าค่าใช้จ่ายแอบแฝงด้านการศึกษาสำหรับเด็กแต่ละคนอยู่ที่ประมาณ 2,000 - 6,000 บาทต่อปี
ไม่ว่าจะเป็นค่าอุปกรณ์ ค่าหนังสือ ค่าเดินทาง ค่าเครื่องแบบ พอมีค่าใช้จ่ายแบบนี้เลยทำให้พอประเทศเจอวิกฤตเศรษฐกิจอย่างโควิดเข้ามา ค่าใช้จ่าย 2,000 - 6,000 บาทต่อปีจึงเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงเกินกว่าหลายครอบครัวจะแบกรับได้ จึงทำให้เด็กหลายคนต้องหลุดออกจากวงการศึกษา แล้วปัจจุบันตัวเลขอยู่ที่ประมาณ 60,000 คนแล้วจากวิกฤตโควิดครั้งนี้ เพราะฉะนั้น ตลบที่ 1 คือ การศึกษาไม่ฟรีจริง
ตลบที่ 2 คือ ถ้าสมมติก้าวข้ามกำแพงนั้นไปได้แล้ว เราก็จะเห็นว่าคุณภาพการเรียนการสอนของแต่ละโรงเรียนไม่เหมือนกัน ในขณะที่โรงเรียนที่มีชื่อเสียงในกรุงเทพฯ เปิดรับสมัครทีไรมีเด็กแข่งกันมาสอบทั่วประเทศเป็นพันเป็นหมื่นคน แต่โรงเรียนส่วนใหญ่ในประเทศเป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่มีครูไม่พอสำหรับทุกวิชา หรือบางโรงเรียนมีครูไม่พอสำหรับทุกระดับชั้นด้วยซ้ำ เด็ก ป.1 ป.2 ป.3 ต้องแชร์ครูเดียวกัน ครูจะเก่งแค่ไหนก็ยากที่จะออกแบบการเรียนการสอนที่เหมาะกับเด็กในแต่ละช่วงการพัฒนา
ส่วน ตลบที่ 3 ตลบสุดท้าย คือ นอกจากคุณภาพการเรียนการสอนแต่ละโรงเรียนจะไม่เท่ากันแล้ว เรายังเจอความเหลื่อมล้ำในการเรียนการสอนนอกห้องเรียนอีก มันกลายเป็นว่าการเรียนที่โรงเรียนอย่างเดียวไม่เพียงพออีกต่อไปแล้ว สำหรับการเข้ามหาวิทยาลัยในบางกรณี เพราะว่าเราก็เห็นว่าการสอบเข้ามหาวิทยาลัย เด็กหลายคนก็ต้องไปพึ่งพาการเรียนพิเศษนอกห้องเรียน ซึ่งบางครั้งก็มีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก หรือแม้กระทั่งระบบการสอบที่มีค่าสอบที่ค่อนข้างสูงและเป็นอุปสรรคในการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาอย่างแท้จริง นี่คือ ความเหลื่อมล้ำ 3 ตลบ ในมิติของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
มิติที่ 3 คือ บทบาทการศึกษาในการปลูกฝังประชาธิปไตยในห้องเรียน
มีหลายคนพูดและผมก็ค่อนข้างเห็นด้วยว่าถ้าเราอยากจะเข้าใจว่าวัฒนธรรมของประเทศใดเป็นอย่างไรให้ลองเข้าไปสังเกตในห้องเรียนของประเทศนั้น เขาบอกว่าถ้าเราเข้าไปดูในประเทศที่มีความเป็นเผด็จการ ห้องเรียนจะเป็นลักษณะที่ครูยืนอยู่บนแท่นสูงๆ พูดลงมาหานักเรียน นักเรียนอาจจะนั่ง ทุกคนจะหันหน้าเข้าหาคุณครู บางที่มีที่ปิดกั้นระหว่างเด็กแต่ละคนด้วย ห้ามคุยกันนะครับ
แต่ถ้าเราเข้าไปในห้องเรียนของประเทศที่เป็นประชาธิปไตย หลายครั้งคุณครูจะนั่งอยู่กลางห้องแล้วก็ล้อมวงด้วยนักเรียน หรือว่านักเรียนอาจจะจัดเป็นวงกลมเล็กๆ หลายๆ วง เพื่อให้มันมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนระหว่างกันมากขึ้น ถ้าเข้าไปฟังในห้องเรียน ห้องเรียนนั้นจะได้ยินคุณครูพูดสักส่วนหนึ่ง แล้วเด็กก็พูดอีกส่วนหนึ่ง เพราะฉะนั้น จะเห็นว่าค่านิยมในห้องเรียนเป็นตัวบ่งบอกได้ถึงค่านิยมของสังคม
นอกจากห้องเรียนแล้ว ความจริงมีอีกสิ่งหนึ่งที่ชวนทุกคนไปลองสังเกตดู คือ สภา ยิ่งรัฐสภามีลักษณะที่กว้างใหญ่ คนนั่งห่างกันมักจะเป็นประเทศที่เป็นเผด็จการ แต่ประเทศที่เป็นประชาธิปไตย คนจะนั่งกันใกล้กันแล้วก็หันหน้าเข้าหากัน ค่อนข้างใกล้ชิด ทำให้เกิดการตั้งคำถาม การแลกเปลี่ยนความเห็น แต่ถามว่าแล้วค่านิยมของโรงเรียนไทย ของห้องเรียนไทยเป็นประชาธิปไตยมากแค่ไหน ผมคิดว่าก็มีปัญหา ผมเรียกว่า “ค่านิยม 6 ประการ” ซึ่งสะกดออกมาเป็นคำว่า “School” หรือคำว่า “โรงเรียน” ในภาษาอังกฤษ
ข้อที่ 1 ตัว S คือคำว่า Single answer ผมคิดว่าระบบการศึกษาไทยไม่ว่าโดยเจตนาหรือไม่ กำลังออกแบบให้เหมือนกับว่าทุกคำถามมีคำตอบเดียวที่ถูกต้อง สังเกตหรือไม่ครับว่าข้อสอบในระบบการศึกษาไทย มักจะเป็นข้อสอบปรนัย ซึ่งก็ไม่ได้ผิดในบางกรณี แต่เราเอาข้อสอบปรนัยมาใช้กับบางคำถามที่ไม่ควรจะเป็นในลักษณะปรนัย
อย่างไม่นานมานี้ ตอนที่มีเรื่องการเรียนออนไลน์ก็มีกระแสออกมาว่ามีเด็กนักเรียนบางคนเจอคำถามว่า ปัจจัยอะไรทำให้ประเทศไทยเจริญรุ่งเรืองมาถึงปัจจุบัน แล้วก็มี 3 ตัวเลือก
- ก. เทคโนโลยีที่ทันสมัย
- ข. จำนวนประชากรที่สูง
- ค. การเสียสละของบรรพบุรุษในอดีต
ผมคิดว่าคำถามเหล่านี้เป็นคำถามที่ไม่ควรจะมีคำตอบเดียวเป็นคำตอบที่ถูกต้อง แต่ควรจะเป็นการเปิดให้มาแลกเปลี่ยนว่าในทัศนะของผู้เรียนนั้น จากข้อมูลที่วิเคราะห์แล้ว คิดว่าปัจจัยอะไรสำคัญที่สุด คิดว่าในความเป็นจริงแล้วทั้ง 3 ปัจจัยมีส่วนทำให้ประเทศไทยมาถึงทุกวันนี้ นี่คือตัวอย่างของ S หรือว่า Single Answer คือการบีบว่าทุกคำถามมีคำตอบเดียวที่ถูกต้อง
ต่อไปตัว C คือ Corruption เป็นเรื่องที่ย้อนแย้งอย่างหนึ่งว่าเราพยายามจะให้เด็กท่องว่าโตไปไม่โกง พยายามจะปลูกฝังให้เด็กต่อต้านการทุจริตตั้งแต่เด็กๆ แต่การทุจริตกลับเกิดขึ้นเยอะมากในรั้วโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นค่าแป๊ะเจี๊ยะที่ต้องจ่ายสินบนเพื่อเข้าสู่บางโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นการทุจริตงบอาหารกลางวัน หรือว่าในบางกรณีที่คุณครูบางคนอาจจะกั๊กวิชาที่สอนในห้องเรียนเพื่อเก็บส่วนนั้นมาสอนหลังเลิกเรียนแล้วคิดเป็นค่าเรียนพิเศษ
เพราะฉะนั้น ถ้าเราอยากจะให้เด็กเรามีความตื่นรู้พร้อมที่จะต่อต้านการทุจริตจริงๆ เราก็ต้องปลูกฝังให้ห้องเรียนหรือว่าชีวิตในโรงเรียน ที่ทำให้การโกงไม่ได้เป็นเรื่องปกติ
ต่อไป ตัว H คือ คำว่า Hierarchy หรือว่าลำดับชนชั้น หรือว่าการแบ่ง หรือว่าความไม่เท่าเทียม จริงๆ เราก็เห็น ไม่ว่าจะเป็นความเหลื่อมล้ำระหว่างโรงเรียนที่บ่งบอกถึงคุณภาพการเรียนการสอนในโรงเรียนเอกชนกับโรงเรียนรัฐบาล
เด็กนักเรียนหลายคนสะท้อนมาว่า การปฏิบัติต่อเด็กแต่ละคนในโรงเรียนบางครั้งก็ไม่เท่าเทียมกัน ระหว่างเด็กที่อาจจะมีผลการเรียนดีกับเด็กที่มีผลการเรียนที่ไม่ดี เด็กที่เก่งวิชาการกับเด็กที่เก่งในด้านอื่น หรือแม้กระทั่งการปฏิบัติระหว่างเด็กกับคุณครู เด็กหลายคนตั้งคำถาม เวลาผมไปคุยกับน้องๆ ในโรงเรียน ถามว่ามีอะไรที่เขารู้สึกไม่เป็นธรรมบ้าง เขาบอกว่าเขาไม่เข้าใจว่าทำไมตอนพักกลางวันคุณครูถึงแซงคิวเขาได้ เรื่องเล็กๆ น้อยๆ สะท้อนถึงวัฒนธรรมที่อาจจะมีการแบ่งลำดับชนชั้น
ต่อไป ตัว O ตัวแรก คือ คำว่า Obedient หรือว่าการเชื่อฟัง คือ การทำตามคำแนะนำของคุณครูคงไม่ใช่เรื่องที่ผิด แต่ว่าในบางครั้งวัฒนธรรมอำนาจนิยมในห้องเรียนไทยทำให้เด็กบางคนเถียงครูไม่ได้ เห็นต่างจากครูไม่ได้ ไม่ว่าคุณครูจะมีเหตุและผลมากหรือน้อยแค่ไหน แล้ววัฒนธรรมแบบนี้ที่ทำให้เด็กไม่กล้าตั้งคำถาม บางครั้งก็ถูกฉวยโอกาสโดยคุณครูบางคนไปละเมิดสิทธิของเด็ก ไม่ว่าจะเป็นการลงโทษเกินขอบเขตแล้วก็อ้างว่าที่ตีไปเพราะหวังดี หรือว่าแม้กระทั่งกรณีเลวร้ายถึงขั้นการล่วงละเมิดทางเพศ และพอเด็กจะออกมาร้องเรียนก็ถูกกล่อมว่าอย่าเลยเพราะจะทำให้โรงเรียนนั้นเสียชื่อเสียง เพราะฉะนั้น สิ่งเหล่านี้ คือ ปัญหาจากวัฒนธรรมอำนาจนิยมที่ทำให้บางครั้งกลายเป็นไปปิดกั้นไม่ให้เด็กตั้งคำถาม หรือว่ามีความกล้าที่จะไม่ทำตามคำสั่งหรือว่าคำแนะนำของคุณครูที่อาจจะไม่สมเหตุสมผล
ตัว O - Outdated คือ การที่ค่านิยมหรือกฎระเบียบไม่ได้ปรับไปตามยุคสมัย เราเห็นเด็กออกมาตั้งคำถาม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทรงผม สีของถุงเท้า ว่ามันเกี่ยวข้องกับการเรียนอย่างไร ซึ่งนี่คือสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าถ้าเรายังมีกฎระเบียบในโรงเรียนที่ปรับไม่ทันกับสังคมอยู่ เราก็จะมีกฎหมายที่ปรับไม่ทันสังคมอยู่เช่นกัน เช่น เรื่องการเกณฑ์ทหาร ปัจจุบันเรายังมีการเกณฑ์ทหารประชาชนเป็นแสนๆ คนต่อปี ทั้งที่เราก็เห็นว่าคนที่เข้าไปก็ไม่ได้ทำหน้าที่อะไรเกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงเลย และเราก็จะเห็นว่ารูปแบบของความมั่นคงนั้นมันเปลี่ยนแปลงไปในรูปแบบที่ขนาดของกำลังพลไม่สามารถตอบโจทย์ได้อีกต่อไป เพราะมันเปลี่ยนแปลงไปเป็นภัยคุกคามความมั่นคงในรูปแบบอื่นๆ ซึ่งพอเรามีกฎหมายแบบนี้มันก็ทำให้กระทบการศึกษา เพราะเมื่อเด็กต้องการจะประกอบอาชีพอื่นๆ ที่ไม่ใช่ทหาร พวกเขาก็ไม่ต้องการที่จะเสียเวลาหกเดือน หนึ่งปี สองปีไป ก็ต้องไปเรียน ร.ด. แทน สุดท้ายก็ต้องเสียเวลาบางส่วนของชีวิตมัธยมเพื่อไปเรียนในวิชาที่เขาไม่ได้สนใจ
ตัว L - Limited Truth ‘ความจริงแค่ครึ่งเดียว’ เรื่องของการตั้งคำถามโดยเฉพาะวิชาประวัติศาสตร์ ปัญหาหนึ่งของวิชาสังคมศึกษาและประวัติศาสตร์ของการศึกษาไทยตอนนี้คือ หลายๆ เหตุการณ์ถูกเลือกนำเสนอด้วยมุมมองเดียว เพราะฉะนั้น สิ่งสำคัญคือ การวางหลักให้ชัดว่าการเรียนประวัติศาสตร์นั้นมีไปเพื่ออะไร และไม่ควรจะเป็นการเรียนประวัติศาสตร์ที่ให้เห็นแค่ด้านดีด้านเดียวของประเทศ แต่ควรจะเป็นการเรียนที่ให้ผู้เรียนได้ฝึกนำข้อมูลและชุดข้อมูลที่แตกต่างหลากหลายมาวิเคราะห์และประเมินความน่าเชื่อถือ
ซึ่งพอเราเห็นว่ารัฐพยายามที่จะผูกขาดมุมมองทางด้านประวัติศาสตร์เพียงมุมมองเดียว ดังนั้น เราจึงไม่แปลกใจว่าเวลาเราไปเดินงานสัปดาห์หนังสือก็จะเห็นว่าหนังสือที่ขายดีที่สุดของเด็กมัธยมก็จะเป็นหนังสือสังคมศึกษาหรือประวัติศาสตร์ที่เล่าเหตุการณ์ในมุมมองที่แตกต่างจากหนังสือเรียน หรือหนังสือเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่ไม่เคยถูกกล่าวถึงในตำรา
ดังนั้น ผมมองว่า “SCHOOL” ที่กล่าวมานี้นั้นเป็นอุปสรรคของต่อการสร้างทัศนะด้านประชาธิปไตยอย่างที่อาจารย์ปรีดีได้วางเอาไว้ และขอทิ้งท้ายไว้ว่า บทบาทสำคัญสามข้อของการศึกษาไทยก็คือ ทำอย่างไรให้เรามีการศึกษาที่ทำให้เค้กเศรษฐกิจเติบโต ทำอย่างไรให้เรามีการศึกษาที่ไม่เหลื่อมล้ำ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำที่ยังถูกส่งต่อจากรุ่นต่อรุ่น และสุดท้ายทำอย่างไรให้เรามีการศึกษาที่ปลูกฝังค่านิยมประชาธิปไตยในห้องเรียน เพื่อให้เค้กเราอร่อย และมีประชาธิปไตยสมบูรณ์ในระดับประเทศ
ที่มา : งานเสวนา PRIDI Talks #15: วันปรีดี พนมยงค์ 2565 “มุมมอง SDGs เพื่อการพัฒนาสู่ประชาธิปไตยสมบูรณ์” เนื่องในวาระ 122 ปี ชาตกาล ปรีดี พนมยงค์, พุธที่ 11 พฤษภาคม 2565, ห้องปรีดี เกษมทรัพย์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
สามารถรับชมคลิปเต็มได้ที่ :