ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

ท่าทีของนายปรีดี พนมยงค์ต่อแพทย์บางส่วนในคณะกรรมการชันสูตรพระบรมศพ

9
มิถุนายน
2565

ปรีดี พนมยงค์ไม่เห็นด้วยกับข้อสรุปของประธานคณะกรรมการชันสูตรพระบรมศพสรุป

นายปรีดี พนมยงค์ ตำหนิการให้ความเห็นของแพทย์ว่าทำเกินขอบเขตหน้าที่ของแพทย์ และไม่เห็นด้วยกับข้อสรุปของคณะแพทย์ในส่วนที่ไม่ได้เป็นเอกฉันท์ โดยปรากฏคำให้การของ นายแพทย์นิตย์ เวชชวิศิษฏ์ ที่เบิกความในศาลอาญาเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492 ไว้ตอนหนึ่งว่า

“ในคราวประชุมคณะกรรมการแพทย์เมื่อวันที่ ๒๕ มิถุนายน นั้น ได้มีการอภิปรายถกเถียงกันว่า ควรจะแสดงความเห็นด้วยหรือไม่ว่าสวรรคตเกิดจากอุบัติเหตุ หรือปลงพระชนม์หรือถูกลอบปลงพระชนม์ คณะกรรมการแพทย์มีความเห็นแบ่งออกเป็นสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเห็นว่าควรจะแสดงความเห็นประกอบด้วยว่าสวรรคตเพราะเหตุใด 

อีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่าไม่ควรแสดงความเห็นเลย ควรแสดงความเห็นแต่เพียงว่าบาดแผลเกิดจากอะไร เข้าทางไหนออกทางไหน และอาวุธชนิดไหนทำให้สวรรคตเท่านั้น เมื่อถกเกียงกันแล้ว ที่ประชุมได้ลงมติให้แสดงความเห็นว่ากรณีเป็นอย่างไรในสามอย่างนั้นด้วย เมื่อมีมติเช่นนั้นแล้วประธานกรรมการได้ให้คณะกรรมการเขียนความเห็นลงในกระดาษแผ่นเดียวกันทุกคน...”

และนายแพทย์นิตย์ยังได้ให้การต่อไปว่า

“ในคืนวันที่ ๒๕ เวลาประมาณ ๒๑ นาฬิกา หรือก่อนนั้นนิดหน่อย ข้าพเจ้าได้รับโทรศัพท์จากทำเนียบท่าช้างว่า นายกรัฐมนตรีต้องการพบข้าพเจ้า ข้าพเจ้าก็ไปที่ทำเนียบทันที ไปถึงทำเนียบเข้าใจว่าเป็นเวลาไม่เกิน ๒๑ นาฬิกา พบท่านนายกรัฐมนตรี ท่านได้ต่อว่าข้าพเจ้าว่าทำไมแพทย์ชันสูตรพระบรมศพแล้วจึงต้องออกความเห็นด้วยว่า กรณีเกิดจากอย่างใดอย่างหนึ่งในสามอย่างนั้น ตามธรรมดาที่ปฏิบัติกันในเมืองไทยนี้ แพทย์จะแสดงความเห็นได้เพียงว่า การตายเกิดจากอะไร แผลเข้าทางไหน ออกทางไหน ถูกอวัยวะสำคัญหรือไม่อย่างไร จึงทำให้ตายเท่านั้น การที่แพทย์ออกความเห็นเลยไปเช่นนี้น่าจะไม่ถูกต้อง 

ข้าพเจ้าจึงเรียนตอบว่าไม่ควรจะออกความเห็นเช่นนั้นเหมือนกัน เพราะไม่ได้ชันสูตรแต่ต้นมือ ไม่มีโอกาสได้เห็นท่าทางพระบรมศพโดยตนเอง ไม่ได้เห็นวัตถุของกลาง จึงควรออกความเห็นได้เฉพาะบาดแผลเท่านั้น ท่านพูดต่อไปว่า แพทย์ฝรั่งที่เชิญมาร่วมชันสูตรพระบรมศพนั้นก็ทำเกินหน้าที่ของแพทย์ไปด้วย และเป็นการนอกเหนือจากข้อความในหนังสือที่เชิญมาชันสูตรพระบรมศพและท่านได้ปรารภต่อไปว่า ก็ควรจะให้แพทย์ฝรั่งทราบว่าที่ออกความเห็นเช่นนั้นไม่ถูก ควรจะถอนความเห็นไปเสีย และได้สั่งให้นายดิเรก ชัยนามในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้น ซึ่งถูกเรียกไปด้วย ให้ไปจัดการเรื่องนี้กับฝรั่งต่อไป”

สอดคล้องกับข้อมูลในหนังสือ “กรณีสวรรคต ๙ มิถุนายน ๒๔๘๙” ของ นายแพทย์สรรใจ แสงวิเชียร ระบุไว้ตอนหนึ่งมีใจความว่า

“พยานทางวิทยาศาสตร์ คือพยานแพทย์ ถูกประณามว่าทำเกินหน้าที่และมีใจฝักใฝ่ทางการเมือง เพราะแพทย์ให้ความเห็นถึงสาเหตุแห่งการสวรรคต นอกเหนือจากตัดสินบาดแผลทางเข้าทางออกของกระสุนปืน ตำรวจเองก็ควรจะรู้ดีว่าแพทย์มีสิทธิตามกฎหมายที่จะแสดงสาเหตุของการตายของคน แต่ก็ยังบังอาจออกแถลงการณ์หลอกลวงประชาชน ส่อเจตนาของรัฐบาลว่า การที่ตั้งแพทย์เป็นกรรมการชันสูตรพระบรมศพนั้นต้องการเพียงให้แพทย์บอกว่ากระสุนเข้าข้างหน้าออกข้างหลัง ซึ่งตรงกันข้ามกับข่าวลือและตรงกับแถลงการณ์ของรัฐบาลเท่านั้น มิได้มุ่งหมายที่จะให้ได้ความจริงจากการพิสูจน์ของคณะกรรมการแพทย์”

และยังมีความตอนหนึ่งว่า

“ค่ำวันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๔๘๙ นายแพทย์หลวงนิตย์ เวชวิศิษฐ์ถูกนายปรีดี พนมยงค์เรียกไปต่อว่าสองเรื่องคือ เรื่องที่นายแพทย์นิตย์แจ้งให้ที่ประชุมแพทย์ทราบว่านายปรีดีเป็นผู้แนะนำและให้คำปรึกษาในการออกแถลงการณ์ฉบับแรกของสำนักพระราชวัง และเรื่องแพทย์ลงความเห็นถึงสาเหตุแห่งการสวรรคต นายปรีดีมีความเห็นว่าแพทย์ควรรายงานแต่เพียงว่าถูกอาวุธเข้าทางไหน ออกทางไหน ถูกส่วนใด และเป็นเหตุให้ตายหรือไม่เท่านั้น ซึ่งนายแพทย์นิตย์ เวชวิศิษฐ์ ก็เห็นพ้องด้วย

ก่อนหน้านั้น นายปรีดี พนมยงค์ ได้เรียก นายดิเรก ชัยนาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ พลเอกหลวงอดุลเดชจรัส และนายดอลที่ปรึกษาการคลังไปพบ นายปรีดีบอกนายดิเรกว่า ได้ทราบมาว่ามีการยุยงแพทย์ฝรั่งให้เล่นการเมืองนอกเหนือหน้าที่แพทย์ ทั้งสี่คน (นายปรีดี นายดิเรก หลวงอดุลเดชจรัส และนายดอล) เห็นพ้องต้องกันว่า แพทย์ควรทำหน้าที่ชันสูตรพระบรมศพอย่างเดียว ไม่ควรออกความเห็นเรื่องสาเหตุ

นายปรีดีได้ใช้ให้นายดิเรกและนายดอลไปแจ้งให้เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทยทราบ ในที่สุดแพทย์กองทัพอังกฤษจึงขอถอนความเห็น โดยนายแพทย์ไดรเบอร์กแจ้งแก่ พระยาดำรงแพทยาคุณว่า จำต้องถอนความเห็นเพราะเป็นทหารต้องปฏิบัติตามวินัย

พระยารามอินทรา อธิบดีกรมตำรวจในเวลานั้นได้ชี้แจงว่า นายปรีดี พนมยงค์ ต้องการให้แพทย์แต่ละคนแสดงเหตุผลรองรับต่อการให้ความเห็นของตนเองเป็นลายลักษณ์อักษร ทั้งยังให้แพทย์ให้การต่อคณะกรรมการศาลกลางเมืองด้วย

นายปรีดี พนมยงค์ ยังได้ทำหนังสือถึงคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เพื่อขอยืมโครงกระดูกมาทดลองเพื่อเทียบกับกรณีของพระบรมศพ ซึ่งหลวงพิณพากย์ คณบดี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้ทำหนังสือไปถึง นายแพทย์สุด แสงวิเชียร เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2489 ทั้งนี้ก็เพื่อที่นายปรีดี พนมยงค์ จะได้นำโครงกระดูกไปพิสูจน์และทดลองด้วยตนเอง และเนื่องจากนายปรีดีไม่มีความรู้ที่ดีพอในด้านการแพทย์ ไม่สามารถคัดค้านความเห็นของแพทย์ได้ถูกต้อง

ในเดือน ตุลาคม 2489 นายปรีดีก็ได้ติดต่อ นายแพทย์แสง สุทธิพงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ นายแพทย์ชู ศีตะจิตต์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขหาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชมาช่วยเป็นพยานในคดีนี้

นายแพทย์ทั้งสองจึงนำ นายแพทย์ภิรมย์ สุวรรณเตมีย์ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในวิชานิติเวชวิทยา เพิ่งจะเดินทางกลับจากเยอรมันเมื่อเดือนตุลาคม 2490 เพื่อไปพบนายปรีดีในเดือนพฤศจิกายน 2490 แต่ก็เกิดการรัฐประหารเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 เสียก่อน การกระทำทั้งหมดเหล่านี้ย่อมเห็นได้ชัดว่านายปรีดี พนมยงค์ ไม่เชื่อถือและไม่เห็นด้วยกับข้อสรุปของคณะแพทย์ดังกล่าว

 

 

และเหตุผลหนึ่งที่แพทย์บางส่วนในคณะกรรมการชันสูตรพระบรมศพนำมาอ้างอิงในการให้ความเห็นว่าการเสด็จสวรรคตนั้นไม่สามารถเกิดได้ด้วยพระองค์เองก็คือหากกระทำพระองค์เองจะต้องมีคาดาเวอริค สปัสซั่ม ซึ่งพระบรมศพนั้นไม่ปรากฏลักษณะของคาดาเวอริค สปัสซั่มแต่อย่างใด

คณะกรรมการสอบสวนพฤติการณ์สวรรคต หรือ “ศาลกลางเมือง” ที่ได้ตั้งขึ้นในรัฐบาลของนายปรีดีพนมยงค์ แสดงความไม่เห็นด้วยกับความเห็นดังกล่าวของแพทย์ โดยปรากฏข้อมูลในหนังสือ “กรณีสวรรคต ๙ มิถุนายน ๒๔๘๙” ของนายแพทย์สรรใจ แสงวิเชียรระบุไว้ตอนหนึ่งมีใจความว่า

ในวันที่ 20 กรกฎาคม 2489 ระหว่างที่นายแพทย์ประจักษ์ ทองประเสริฐ ให้ความเห็นต่อศาลกลางเมือง นายวิลาศ โอสถานนท์ ได้นำตำรานิติเวชวิทยาของยอนเตลสเตอร์ ซึ่งแต่งไว้ในปี ค.ศ. 1928 มาอ้างว่า การเกร็งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อผู้ตายมีความกดดันทางจิตอย่างรุนแรงหรือประสาทตื่นเต้นเท่านั้น และตำรวจได้นำคำแปลจากตำราเกี่ยวกับบาดแผลการฆ่าตัวเอง การถูกฆ่าตาย อุปัทวเหตุของบูคานัน แก้ไขเพิ่มเติมโดย อี ดับบลิว แบดฟอลล์ เสนอให้คณะกรรมการสอบสวนพิจารณา ทั้งนี้เพื่อจะตัดความสำคัญของคาดาเวอริค สปัสซั่ม

นอกจากนี้ปรากฏข้อมูลในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ตอนหนึ่งว่า นายสัญญา ธรรมศักดิ์ ซึ่งเคยได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเลขานุการศาลกลางเมืองได้เปิดเผยว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ส่งสำนวนการสอบสวนเรื่องนายสุวรรณ์ แสนสุวรรณ กับพันโทหลวงอุปการยุทธกรรม ยิงตัวตาย ต่อคณะกรรมการศาลกลางเมือง เพื่อแสดงว่าทั้ง 2 รายนั้นไม่มีอาการคาดาเวอริค สปัสซั่มอย่างไร นอกจากนี้ ในรายของพันโทหลวงอุปการยุทธกรรมยังพบว่าบาดแผลกระสุนปืนนั้นอยู่บริเวณหน้าผากเสียด้วย

คำถามที่น่าสนใจก็คือ 

“ในปัจจุบันความเห็นของแพทย์บางส่วนในคณะกรรมการชันสูตรพระบรมศพนั้นยังถูกต้องตามหลักวิชาการหรือไม่”

 

—------------

 

สั่งซื้อได้ที่ : https://shop.pridi.or.th/th/product/879383