ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทสัมภาษณ์

PRIDI interview: ไพศาล พรหมยงค์ เล่าเรื่องคุณพ่อ ‘แช่ม พรหมยงค์’

28
สิงหาคม
2564

 
‘ไพศาล พรหมยงค์’ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสมุทรปราการ คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ผู้ก่อตั้งมูลนิธิเด็กกำพร้า “บ้านอัลเกาษัร”
 
‘ไพศาล พรหมยงค์’ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสมุทรปราการ
คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย
ผู้ก่อตั้งมูลนิธิเด็กกำพร้า “บ้านอัลเกาษัร”

 

ต้นตระกูล: เชลยศึกรุ่นแรกเมื่อปลายสมัยรัชกาลที่ 1 

‘คุณแช่ม พรหมยงค์’ บิดาของผมเป็นลูกของนักวิชาการด้านศาสนารุ่นโบราณ ตระกูลของเราเป็นตระกูลเชลย เมื่อสมัยก่อนที่สยามประเทศของเรายังอยู่ในสนามรบ รบกับพม่า รบกับเขมร รบกับ ฟาฏอนีดารุสสลาม ซึ่งฟาฏอนีดารุสสลาม ไม่ใช่มาเลเซีย แต่เป็นรัฐอีกรัฐหนึ่งที่เป็นอิสระ ทำสงครามกันมาจนปลายสมัยสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 สยามประเทศจึงสามารถตีเมืองฟาฏอนีดารุสสลามแตก จึงต้อนผู้คนและทำลายเมืองเพื่อไม่ให้เกิดการแข็งข้อขึ้น 

บรรพบุรุษของคุณพ่อก็คือเชลยศึกรุ่นแรกที่ถูกต้อนมาจากเมืองปัตตานีมาดุสลาม แล้วเอามาไว้ที่บ้านปากลัด พระประแดง ซึ่งเป็นชุมชนมุสลิมที่เก่าแก่ที่สุดในเมืองสมุทรปราการ สมัยก่อนเรียกว่านครเขื่อนขันธ์ อยู่กับบรรดามอญที่หนีพม่าเข้ามา หนึ่งในนั้นก็คือ ‘พญาเจ่ง’ พญาเจ่งเป็นหลานของพระเจ้าแผ่นดินมอญองค์สุดท้าย และเป็นต้นตระกูลคชเสนี

ตอนนั้นสยามประเทศจึงเอาคนสองกลุ่มนี้เป็นด่านหน้า เอาไว้ต่อสู้ป้องกันเมือง พระประแดงเป็นเมืองปากอ่าวก่อนที่จะเข้าสู่กรุงรัตนโกสินทร์ นี่คือจุดเริ่มต้นของต้นตระกูลของผม มีความเป็นมาเกือบ 300 ปีมาแล้ว

เล่าเรื่องคุณพ่อ: แช่ม พรหมยงค์ นักปฏิวัติที่นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง

หลังจากที่มอญกับมุสลิมมลายูมาอยู่ร่วมกัน มีปฏิสัมพันธ์กัน มีไมตรีจิตรที่ดีต่อกัน จนกลายเป็นคนกลุ่มเดียวกัน คุณปู่ของผมเป็นนักวิชาการที่เรียกกันว่า “โต๊ะครู” (ครูมุสตอฟา) อยากให้ลูกชายคือคุณพ่อของผมเติบโตมาเป็นนักวิชาการศาสนาแบบท่าน จึงส่งคุณพ่อไปเรียนมหาวิทยาลัยอัลอัซฮัรที่ประเทศอียิปต์ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่สอนศาสนาใหญ่ที่สุด และ สำคัญที่สุดในโลก 

 

‘แช่ม พรหมยงค์’ จุฬาราชมนตรีคนแรกของประเทศไทย อดีตสมาชิกคณะราษฎร และขบวนการเสรีไทย
‘แช่ม พรหมยงค์’ จุฬาราชมนตรีสายซุนนีคนแรกของประเทศไทย
อดีตสมาชิกคณะราษฎร และขบวนการเสรีไทย

 

แต่ด้วยคุณพ่อเป็นคนโลดโผน ตอนนั้นน่าจะเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ท่านได้เดินทางไปประเทศตุรกี ได้ไปพบกับ ‘มุสตาฟา เคมาล ปาชา’ นักปฏิวัติที่ใครๆ รู้จักในนาม ‘อตาเติร์ก’ ผู้เปลี่ยนระบบการปกครองประเทศตุรกีให้เข้าสู่ยุคใหม่เป็นระบบสาธารณรัฐ ท่านคงได้ไปซึมซับอะไรในคราวนั้น

หลังจากกลับมาประเทศไทยได้ไปพบกับ ‘คุณบรรจง ศรีจรูญ’ คุณบรรจงเป็นเพื่อนที่เรียนด้วยกันที่อัลอัซฮัร คุณบรรจงเป็นผู้ที่มาชักชวนคุณพ่อ ประมาณว่า “เออ เนี่ยพอดีเมืองไทยก็จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างนั้นอย่างนี้นะ สนใจไหม” คุณพ่อซึ่งเป็นคนที่สนใจเรื่องแบบนี้อยู่แล้ว ตอนนั้นยังไม่ได้ตอบตกลงอะไร แต่สนใจ คุณบรรจงจึงพาไปยุโรปไปรู้จักกับผู้หลักผู้ใหญ่กลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นกลุ่มที่ชื่อว่า “คณะราษฎร”

หลังจากที่คุณพ่อกลับมาบ้านที่กรุงเทพฯ ก็จะมีคนมาส่งของให้บอกว่า “ของที่สั่งมาแล้ว ขอให้มารับ” ซึ่งคุณพ่อบอกว่าเป็นโค้ดลับในปฏิบัติการ หน้าที่ของคุณพ่อในตอนนั้นก็คือแจกใบปลิวให้ราษฎรเพื่อทำความเข้าใจในระบอบประชาธิปไตยที่ท้องสนามหลวง

พอคุณปู่รู้นี่ก็เป็นเรื่อง โมโหใหญ่บอกว่าอุตส่าห์ส่งไปเรียนศาสนาแต่กลับไปยุ่งเรื่องการเมือง แล้วคุณปู่ก็ไล่คุณพ่อออกจากบ้าน คุณพ่อก็หลุดไปเลย ไม่มีบ้านให้กลับ ก็เลยไปอยู่กับขบวนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนา ซึ่งตอนนั้นจะมีมุสลิมอยู่ 4 คน ก็คือคุณพ่อกับพี่น้อง ตระกูลศรีจรูญ มีหน้าที่ควบคุมตัวพระบรมวงศานุวงศ์ในวันที่เกิดการก่อการ คนมุสลิมหน้าโหด คุณพ่อกับเพื่อนๆ เลยได้ทำหน้าที่นี้ จนในที่สุดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เป็นอันสำเร็จ

 

“มุสลิมีน” (มุสลิม ในรูปพหูพจน์) ทั้ง 4 คน ได้แก่ นายบรรจง ศรีจรูญ, นายประเสริฐ ศรีจรูญ, นายการุณ ศรีจรูญ และ นายแช่ม พรหมยงค์
“มุสลิมีน” (มุสลิม ในรูปพหูพจน์)
ทั้ง 4 คน ได้แก่ นายบรรจง ศรีจรูญ, นายประเสริฐ ศรีจรูญ,
นายการุณ ศรีจรูญ และ นายแช่ม พรหมยงค์

 

แช่ม พรหมยงค์: สามัญชนผู้ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี สายซุนนี คนแรกของประเทศไทย และบทบาทในขบวนการเสรีไทย

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง หลังจากที่สมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 สละราชย์ฯ คุณพ่อติดตามพระองค์ท่านพาเสด็จไปที่ประเทศอียิปต์ และไปที่ประเทศยุโรป 

 

แช่ม พรหมยงค์ และ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7
แช่ม พรหมยงค์ และ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 

 

หลังจากนั้นคุณพ่อกลับมารับราชการในกรมการโฆษณา (กรมประชาสัมพันธ์ปัจจุบัน) จนเกิดเหตุการณ์ที่รุนแรงขึ้นในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่อังกฤษต้องการแยกดินแดนตรงนี้ออกไป และเห็นว่าประเทศไทยไปเข้ากับประเทศญี่ปุ่นจึงถือว่าเราเป็นประเทศที่แพ้สงคราม

พอสงครามสิ้นสุดลง แต่ยังมีการเคลื่อนไหวอยู่มาก และเพื่อป้องการการก่อความไม่สงบทางการเมืองภาคใต้ ในตอนนั้นมีการสืบทราบของขบวนการเสรีไทยมาว่าขบวนการใต้ดินของมลายูจะมีการแบ่งแยกดินแดนใน 4 จังหวัดภาคใต้ออกเป็นรับอิสระหรือไม่ก็ไปร่วมกับสหพันธ์รัฐมลายา ภายใต้อำนาจการปกครองของอังกฤษ

เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ทรงทราบเรื่อง จึงมีการพูดคุยกับอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งอาจารย์ปรีดีได้กราบทูลฯ ท่านถึงเรื่องว่าในสังคมมุสลิมมีผู้นำอยู่ ซึ่งผู้นำของมุสลิมเป็นสายของ ‘ท่านเชค มูฮัมหมัด’ เรียกตำแหน่งนี้ว่า “พระยาจุฬาราชมนตรี” ตำแหน่งนี้เคยมีการแต่งตั้งมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา กรุงรัตนโกสินทร์ แต่ได้มีการสิ้นสุดลงเมื่อตอนที่มีการยกเลิกบรรดาศักดิ์ ก็คือเมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนา 2475

พระเจ้าอยู่หัวอานันท์ฯ จึงรับสั่งให้อาจารย์ปรีดีหาบุคคลที่เหมาะสมกับตำแหน่งนี้ อาจารย์ปรีดีจึงพาพ่อเข้าเฝ้าฯ และเสนอให้พ่อเป็นจุฬาราชมนตรี เป็นผู้นำในการแก้ไขปัญหาในครั้งนี้ พระเจ้าอยู่หัวอานันท์ฯ  จึงได้มีการแต่งตั้งตำแหน่งจุฬาราชมนตรีขึ้นเป็นประมุขของฝ่ายศาสนาอิสลามในประเทศไทย จึงทำให้คุณพ่อได้เป็น จุฬาราชมนตรีคนแรกที่อยู่ในสายสุหนี่ และเป็นคนที่ 6 ของประเทศไทยทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาของพระมหากษัตริย์เกี่ยวกับปัญหาชายแดนภาคใต้

หน้าที่ที่คุณพ่อได้รับมอบหมายเป็นภารกิจแรก คือ การเดินทางไปแก้ไขปัญหาใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้

ทำอย่างไรก็ได้เพื่อที่จะให้พื้นที่ตรงนี้อยู่กับสยามประเทศ เพราะเราเสียดินแดนไปเยอะ แล้วเสียเกาะหมาก เราเสียพระตะบอง เราเสียอะไรต่อมิอะไร ให้กับพื้นที่ต่างๆ ให้กับฝรั่งเศส ให้กับอะไร ตอนนี้อังกฤษจะเอาไปอีกแล้ว

ผู้นำปัตตานีได้ตกลงกับอังกฤษว่าจะนำบรรดาผู้นำศาสนาไปพบเพื่อสวามิภักดิ์ต่ออังกฤษ คุณพ่อทราบข่าวจึงได้ให้นายสถานีรถไฟเปลี่ยนหัวจักรรถมุ่งเข้าบางกอกโดยบรรดาผู้นำในขบวนรถไฟ ต่างไม่รู้ว่ากำลังจะเดินทางไปไหน

พอเดินทางมาถึงกรุงเทพฯ คุณพ่อพาโต๊ะครูประมาณ 80 คนเข้าเฝ้าฯ พระเจ้าอยู่หัว แต่ละคนก็ตกใจ คิดไม่ถึงว่ากษัตริย์ของสยามประเทศจะดูแลและพูดคุยกับพวกเขาอย่างดี ไม่มีพิธีรีตรองอะไรให้มากมาย

จนในที่สุด เมื่อบรรดาผู้นำศาสนากลับไป จึงเกิดการเปลี่ยนแนวคิดที่ว่าอยู่กับสยามประเทศดีกว่า ซึ่งถือว่าภารกิจของคุณพ่อเป็นอันสัมฤทธิ์ผล

 

แช่ม พรหมยงค์ ขณะนำเสด็จ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ชมมัสยิดต้นสน (พ.ศ. 2489)
แช่ม พรหมยงค์ ขณะนำเสด็จ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล
ชมมัสยิดต้นสน (พ.ศ. 2489)

 

‘ปรีดี พนมยงค์’ บุคคลผู้ซึ่งเป็นความศรัทธาของ ‘แช่ม พรหมยงค์’

ภายหลังเหตุการณ์ในครั้งนั้น คุณพ่อได้กลับมาทำหน้าที่ผู้นำศาสนาอิสลาม ออกกฎหมาย กฎระเบียบ มีการตั้งมัสยิด และ แต่งตั้งอิหม่าม คอเต็บ และ บิหลั่น โดยได้รับการสนับสนุนเต็มที่จากอาจารย์ปรีดี

ความเคารพในตัวอาจารย์ปรีดีของคุณพ่อ จะเรียกได้ว่ามีความเคารพเป็นการส่วนตัว คุณพ่อเป็นคนตรงไปตรงมา ออกไปทางไม่ค่อยสนใจใคร แต่สำหรับอาจารย์ปรีดี อาจจะเป็นเพราะว่ามีพื้นเพมาจากคนธรรมดาที่คล้ายๆ กัน เป็นลูกชาวนา มีความมุ่งมั่นและตั้งใจทำประโยชน์ให้แก่ชาติบ้านเมือง ส่งเสริมอุดมการณ์ของคุณพ่อ

ด้วยศรัทธานี้ จึงเป็นที่มาของนามสกุล “พรหมยงค์” ที่คุณพ่อตั้งขึ้นให้คล้ายกับนามสกุลของอาจารย์ปรีดี คือ “พนมยงค์”

พายเรือพาอาจารย์ปรีดีหนี!!!

เหตุการณ์ไม่คาดคิดที่เป็นจุดเปลี่ยนทั้งครอบครัวของผม ครอบครัวของอาจารย์ปรีดี และครอบครัวของใครหลายๆ คน รวมทั้งเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของประเทศไทยก็คือ เหตุการณ์การสวรรคตของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8 

 

ปรีดี พนมยงค์ กับ แช่ม พรหมยงค์
ปรีดี พนมยงค์ กับ แช่ม พรหมยงค์

 

ครอบครัวผมมีคุณพ่อ คุณแม่ และ พี่น้อง 10 คน ในวันที่คุณพ่อตัดสินใจไปกับอาจารย์ปรีดี ก็คือประเด็นเรื่องสวรรคต อาจารย์ปรีดีถูกลอบสังหารสารพัด ด้วยความที่คุณพ่อศรัทธารักใคร่ในตัวอาจารย์ปรีดี ตอนนั้นตัดสินใจทิ้งลูก ทิ้งเมีย แล้วไปเลย พายเรือหนี ซึ่งตอนนั้นยังมีตำแหน่งจุฬาราชมนตรีอยู่ด้วย สถานะของผู้ดำรงตำแหน่งคือ 1 ลาออก 2 ตาย ถามว่าท่านสนไหม ? ท่านไม่สน เพราะความรัก ความจงรักภักดีที่มีต่ออาจารย์ปรีดี

สุดท้ายคือคุณพ่อลี้ภัยไปอยู่ที่เมืองจีนกับอาจารย์ปรีดี ไปที่นั่นก็ไปทำหน้าที่เป็นอิหม่ามในมัสยิดที่เมืองจีน ส่งรูปส่งอะไรมาให้แม่ดู ให้พี่ๆ ดู ทางอาจารย์ปรีดีก็ส่งเงินมาให้ เพราะอาจารย์ปรีดีได้เดินทางลี้ภัยต่อไปยังประเทศฝรั่งเศส คุณพ่ออยู่ที่นั่นเป็นเวลานานมาก นานจนลูกๆ แทบไม่รู้จัก

จนเข้ามาสมัยรัฐบาลของ ‘จอมพล ถนอม กิตติขจร’ เกิดปัญหาเรื่องเทือกเขาบูโด และขบวนการพูโลและโจรบูโด รัฐบาลหารือกันว่าจะเรียกให้ใครมาช่วยแก้ปัญหาตรงจุดนี้ ผลออกมามีการเสนอให้เป็นคุรพ่อ จอมพลถนอมจึงส่งจดหมายไปที่เมืองจีน บอกประมาณว่า “คุณแช่มกลับมาเมืองไทย มาช่วยแก้ไขปัญหาบ้านเมือง ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นคดีอะไร ผมจะจัดการให้เรียบร้อย”

เดินทางกลับสู่ประเทศไทยใช้ชีวิตบั้นปลายที่บ้านสวน

คุณพ่อตกลงที่จะกลับมา ถ้าเป็นเรื่องทำประโยชน์ให้บ้านเมือง ท่านไม่เคยต้องคิดมาก แต่พอกลับมา อ้าว...ถูกจับไปสันติบาล ตอนนั้นผมโตแล้ว ยังได้ไปเยี่ยมคุณพ่อที่สันติบาลด้วย พอคุณพ่อถูกปล่อยตัวก็เดินทางไปช่วยแก้ไขปัญหาทางภาคใต้อย่างที่ท่านตั้งใจมาทำ แต่ผลที่ออกมาคือช่วยอะไรได้ไม่มาก คุณพ่อเองก็อายุมากแล้ว และเหตุการณ์บ้านเมืองมันเปลี่ยนไป ยุคจอมพลถนอมก็คือยุคขบวนการตุลาแล้วช่วงท้ายๆ ชีวิตของคุณพ่อค่อนข้างเรียบง่ายอยู่ที่บ้านสวนแห่งนี้ ถึงแม้อาจารย์ปรีดีจะไม่กลับมาด้วย แต่ท่านก็ยังคงติดต่อกันอยู่ตลอดเวลา คุณพ่อจะไปเยี่ยมท่านผู้หญิงพูนศุขที่บ้านซอยสวนพลูทุกๆ เดือน โดยผมกับพี่สาวก็จะติดสอยห้อยตามไปด้วย ไปเที่ยวหา ไปกราบท่าน ผู้ใหญ่ก็พูดคุยกันตามประสาผู้ใหญ่

มีอยู่หนหนึ่งคุณพ่อเดินทางไปเยี่ยมอาจารย์ปรีดีที่ประเทศฝรั่งเศส ก็พาพี่สาวไปด้วย พี่สาวไปเรียนที่ฝรั่งเศสก็จะไปคลุกคลีอยู่ที่บ้านของอาจารย์ปรีดี สายสัมพันธ์ของคุณพ่อกับอาจารย์ปรีดี ไม่เคยขาดตอน

เพราะเป็น “พรหมยงค์” จึงใช้ชีวิตค่อนข้างลำบาก ใครๆ ก็เรียกผมว่า “ลูกกบฏ”

ครอบครัวผม ที่บ้านผมจะมีปัญหาอยู่มาก เพราะโดนกาหัวไว้หมดแล้ว เพราะความเป็นลูกหลานของคณะราษฎร ถ้าคิดจะรับราชการไม่มีทางรอด คนอื่นๆ มีแต่ตำแหน่งขึ้นสูงเอาๆ ครอบครัวนี้อยู่นานไม่ได้เลื่อนอะไรไปไหน ลูก หลาน ครอบครัวพี่ๆ ของผมไปเรียน ไปอยู่ที่ต่างประเทศกันหมด ไปใช้ชีวิตเติบดตอยู่ที่นั่นดีกว่า มีผมคนเดียวที่ไม่ไปไหนอยู่กับแม่ อยู่ดูแลแม่

ยิ่งเมื่อตอนสมัยเรียนหนังสือ นึกถึงแล้วยังรู้สึกว่ามันเป็นความปวดร้าว บ้านเรามีพี่น้อง 10 คน มีคุณแม่ 1 คนที่คอยจัดการทุกอย่าง เราอยู่กันด้วยความยากจน ค่าเทอมนี่โดนทวงกันทุกคน ทุกเทอม

ตอนเราอยู่โรงเรียนก็จะมีคุณครูหลายคน หรือไม่ก็พ่อเพื่อนแม่เพื่อนบ้าง ที่พอจะรู้เรื่องของคุณพ่อ เขาก็จะเรียกเรากันว่า “ลูกกบฏ” คำนี้ก็จะฝังหัวมาตลอด ตั้งแต่เด็ก แต่ ณ วันนี้ พอมองย้อนกลับไปมันก็เป็นเพียงแค่อดีต 

บ้านอัลเกาษัร: เพราะเคยลำบากเมื่อมีโอกาสจึงต้องหยิบยื่น

ครอบครัวเรายากจน แต่ก็อบอุ่นมาก คุณแม่จะให้เราพี่น้อง 10 คน รวมคุณแม่ 11 คน ทานข้าวพร้อมๆ กัน นั่งล้อมวงเป็นโต๊ะกลมๆ มีน้ำ 1 ขันวางไว้ จริงๆ คือถ้าไม่ทานข้าวพร้อมกันข้าวจะไม่พอ พี่น้องพวกเราจะสอนกัน ดูแลกันตลอด รักความเป็นธรรม 

 

 

เราเคยลำบากมาก่อน พอมีโอกาสได้คืนอะไรให้สังคมบ้าง ก็เลยมาตั้งมูลนิธิเด็กกำพร้า ที่นี่เราดูแลเด็ก เลี้ยงเด็กกำพร้า ส่งให้เรียนหนังสือจนจบชั้นสูงที่สุด เรียนจบและทำงานไปแล้วหลายคน

ที่นี่มีห้องเรียนออนไลน์ ตอนนี้ช่วงโควิดเด็กๆ ไม่ต้องไปโรงเรียน เรียนกันที่นี่ก็จะมีคุณครูคอยดูแล มีโรงอาหาร มีสนามให้เด็กเล่น มีสื่อคอมพิวเตอร์ให้เรียนรู้ เราเรียกที่นี่ว่า “บ้านอัลเกาษัร” เป็นภาษาอาหรับแปลว่า “บ่อน้ำของสวรรค์”

ปัจจุบันมีเยาวชนกำพร้าที่อยู่ในการดูแล 60 กว่าคน ถือว่าเป็นบ้านหลังใหญ่ เป็นครอบครัวใหญ่ที่มีความรักและความอบอุ่น เด็กกำพร้าส่วนใหญ่มาจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พื้นที่ตรงนั้นเขาลำบากกันจริงๆ เด็กบางคนเพิ่งเกิด เด็กบางคนยังไม่ขวบดี พ่อแม่ถูกฆ่าตายหมดแล้ว เราปล่อยไว้ไม่ได้ เลยรับมาเลี้ยงดูอยู่ที่นี่ 

 

 

ส่วนตัวแล้วผมคิดว่า ในวันหนึ่งข้างหน้า ความเป็น “พรหมยงค์” อาจจะไม่หลงเหลืออะไรไว้บนหน้าแผ่นดินเสียด้วยซ้ำ เพราะลูกหลานคุณพ่อส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง แต่งงานไปแล้วใช้นามสกุลสามีกันทั้งนั้น เพราะฉะนั้น มันไม่ใช่นามสกุลที่ยิ่งใหญ่ เรามองว่าเราทำประโยชน์อะไรที่ยิ่งใหญ่ เป็นประโยชน์ต่อสังคม และประเทศชาติ น่าจะมีความหมายต่อชีวิตของเรามากกว่า 

 

SPECIAL GUEST:          ไพศาล พรหมยงค์
เรียงเรียงบทสัมภาษณ์:    ณภัทร ปัญกาญจน์
ตัดต่อ:                              กุลพัชร์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา
ถอดเทป:                          ปวิตรา ผลสุวรรณชัย