ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทสัมภาษณ์

ครั้งแรกกับท่านปรีดี และ ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ที่ปารีสประเทศฝรั่งเศส พ.ศ. 2513 (1970) กับ ครั้งสุดท้ายในบางกอก สยามประเทศ (ไทย) พ.ศ. 2544 (2001)

3
พฤษภาคม
2564

ผมเกิดที่บ้านโป่งเมื่อ พ.ศ. 2484 (1941) สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 พ่อแม่ของผมเป็นคนชั้นกลาง พ่อเป็นพ่อค้าและเทศมนตรี แม่เป็นนางพยาบาลอิสระ เมื่อผมเกิดนั้น ท่านปรีดี พนมยงค์ เป็น รมต. คลัง (ก่อนที่ท่านจะถูกโยกขึ้นไปเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ของในหลวงอานันท์  รัชกาลที่ 8 และเป็นหัวหน้าขบวนการเสรีไทย ต่อต้านญี่ปุ่นในสมัยสงครามฯ) ท่านมีอายุ 41 ปี ส่วนศรีภริยา คือ ท่านผู้หญิงพูนศุข มีอายุได้ 29 ปี

ต่อมาเมื่อเริ่ม “วัฏจักรของความชั่วร้าย” เกิดรัฐประหาร พ.ศ. 2490 (1947) โดยมีพลโท ผิน ชุณหะวัณ เป็นหัวหน้า นำจอมพล ป. พิบูลสงคราม  กลับมาเถลิงอำนาจใหม่ ท่านปรีดีก็ต้อง “ลี้ภัยการเมือง” ไป ผมมีอายุได้ 6 ขวบ จำความได้กระท่อนกระแท่นว่าพ่อของผมได้รับรูปถ่ายปึกใหญ่ทาง ป.ณ.  เป็นรูปของยุวกษัตริย์สององค์ (ในหลวงรัชกาลที่ 8 กับรัชกาลที่ 9) กับพระชนนีและพระพี่นาง สมัยอยู่เมืองนอกที่สวิตเซอร์แลนด์ ผมได้ยินเสียงกระซิบกระซาบเรื่องกรณีสวรรคตอย่างงุน ๆ งง ๆ    ผมอยู่บ้านโป่งจนอายุ 14 ปี  ถึง พ.ศ. 2497 (1954)  ก็เข้ากรุงเพื่อ “ชุบตัว”

เมื่อเติบใหญ่ ผมเข้าเรียนธรรมศาสตร์ระหว่าง พ.ศ. 2503-2506 (1960-1963)  ยุคนั้นเป็นสมัยของ “สายลม-แสงแดด และยูงทอง” กับ “ความทรงจำทางประวัติศาสตร์อันเลอะเลือน” พวกเราบรรดานักศึกษา (แม้จะเป็นแนวหน้า) ก็ไม่รับรู้รับทราบว่าท่านปรีดี คือผู้ประศาสน์การ สถาปนาธรรมศาสตร์ พวกเราเพ้อเจ้อว่าถ้าไม่ใช่กรมหลวงราชบุรีฯ ก็คงเป็นเสด็จในกรมนราธิปฯ หรือบรรดา “เจ้านาย” องค์ใดองค์หนึ่งเป็นผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยของเรา  

ดังนั้น ธรรมศาสตร์ในสมัยของผม ถึงกับมีนายทหารใหญ่ อย่างจอมพล ถนอม กิตติขจร  เป็นอธิการบดี !!!??? (แต่ผู้ที่มีอำนาจจริงในการบริหาร คือ ดร.อดุล วิเชียรเจริญ ในตำแหน่งเลขาธิการที่ถูกส่งจาก กต.ให้มาคุม มธ.)  นามของปรีดี พนมยงค์ ต่อพวกเรานักศึกษาสมัยนั้น เป็นนาม “ต้องห้าม-ลบ-ดำ-มืด” และถูกกระทำให้มัวหมอง มีมลทินพัวพันกับกรณีสวรรคตของในหลวงอานันท์รัชกาลที่ 8

ผมและเพื่อนคู่หู (ชัช กิจธรรม) ได้แต่กระซิบกระซาบกันเรื่องของท่านปรีดี เรื่องของเสรีไทย และวิชารัฐศาสตร์/การทูต  ที่เราเรียนกันสมัยนั้นก็ไม่มี “ประวัติศาสตร์การเมืองไทย” ที่จะทำให้เรารู้เรื่องและเกิดสติปัญญาเกี่ยวกับสังคมไทยของเราเอง   สมัยนั้นยังไม่มีงานเขียนปลุกจิตสำนึกอย่างงานของคุณสุพจน์ ด่านตระกูล หรือ ไสว สุทธิพิทักษ์ เพื่อน ๆ และ พี่ ๆ ของเราเป็นลูกผู้ดีมีสกุลอย่างสกุลสำคัญ ๆ เช่น ภูริพัฒน์-สิงหเสนี-ตันหยงมาศ แต่เขาและเธอเหล่านั้น เมื่อต้องเอ่ยพระนามหรือนามบุคคลสำคัญร่วมสมัยก็ดูจะอึก ๆ อัก ๆ ประดักประเดิด และพร่ามัว อีกทั้ง “คลังมันสมอง”  อย่างห้องสมุดของคณะรัฐศาสตร์ หรือของมหาวิทยาลัยสมัยนั้นก็มีแต่หนังสือเก่า ๆ ไร้สาระ ห่างไกลวิชาการ ฝุ่นจับเขรอะ ไม่น่าเข้าไปสัมผัสเสียนี่กระไร

ผมได้ปริญญา ได้เกียรตินิยม แต่ก็เป็นบัณฑิตที่กว่าจะเริ่มเห็น “แสงสว่างทางปัญญา”  ขึ้นมาบ้าง ก็ต้องใช้เวลาเรียนหนังสือในเมืองนอกอีกหลายปี และที่ห้องสมุดมหาวิทยาลัยคอร์แนล (Cornell University) นั่นแหละ ที่ผมได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับเมืองไทย เรื่องเกี่ยวกับท่านปรีดี เรื่องของเสรีไทย และความยอกย้อนของประวัติศาสตร์การเมืองไทย

และเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2513 (1970) เมื่ออายุปาเข้าไปถึง 29 ปี ผมจึงได้มีวาสนาพบท่านปรีดี และท่านผู้หญิงพูนศุขเป็นครั้งแรก ท่านปรีดีมีอายุได้ 70 ปีเข้าไปแล้ว ท่านผู้หญิงมีอายุ 58 ปี  … ครับ ผมก็คงเหมือนกับใคร ๆ หลายคน ที่เมื่อได้พบมหาบุรุษและมหาสตรีคู่นี้ก็เริ่ม “ตาสว่าง” และ ณ ที่ห้องพักแคบ ๆ ของท่านในกรุงปารีสแถบมงต์ปาร์นาส (ท่านยังไม่ได้ย้ายไปอยู่บ้านที่อองโตนี) นั้น ผมก็ได้รับประทานอาหารมื้อที่ต้องจดจำไปชั่วชีวิต  คือ “ข้าวคลุกกะปิ”  และ ต่อไปนี้ก็คือบทสัมภาษณ์ครั้งแรกและครั้งสุดท้ายกับท่านปรีดี (ที่เคยตีพิมพ์มาแล้วในหัวข้อของ “ปรีดี พนมยงค์”  กับการเมืองของสยามประเทศไทย)

ขอแทรกตรงนี้ว่า บริบทของการเข้าพบปะเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2513 (1970) นั้น ยังอยู่ในสมัยของ “สงครามเย็น” และความขัดแย้งกันทางด้านอุดมการณ์และลัทธิ  ยังมีการเผชิญหน้ากันระหว่างค่ายสหภาพโซเวียตและจีน กับค่ายของสหรัฐอเมริกา (และไทย) ที่เราถูกทำให้เชื่อว่าเป็นการต่อสู้ระหว่าง “เสรีประชาธิปไตย กับลัทธิคอมมิวนิสต์”  และ บ้านเมืองของเราก็ “แสนจะเป็นไทย” โดยมีจอมพล ถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี ปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบไทย ๆ  (ซึ่งโดยเนื้อแท้ก็คือ เผด็จการของทหาร-ร่วมด้วยช่วยกันกับข้าราชการพลเรือน และข้าราชการตุลาการ)

นี่เป็นช่วงระยะเวลาก่อนที่สหรัฐฯ จะพ่ายแพ้อย่างย่อยยับในสงครามอินโดจีน พ.ศ. 2518 (1975 ก่อนที่พนมเปญ-ไซง่อน-และเวียงจันทน์ จะแตกไปตามลำดับ)  และก็ยังก่อนเวลาของเหตุการณ์ “วันมหาปิติ 14 ตุลาคม 2516 (1973)”  ช่วงระยะเวลาดังกล่าวนี้ ที่ท่านปรีดีเพิ่งย้ายจากที่พำนัก “ลี้ภัยการเมือง” ถึง 21 ปีในเมืองจีน ไปอยู่ฝรั่งเศส  เปิดโอกาสให้นักเรียนนอกแบบผมได้เข้าพบปะ

ครั้งแรก พ.ศ. 2513 (1970)

1: ต่อข้อถามของผมว่าด้วยอิทธิพลความคิดการเมืองของ “คณะราษฎร” ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง/ปฏิวัติ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 (1932)

ท่านปรีดีตอบได้ใจความว่า : ความคิดทางการเมืองที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 นั้น  มีอยู่ในกลุ่มคนหนุ่มไทยตั้งแต่สมัยที่ท่านยังอยู่เมืองไทยแล้ว  ความคิดต่าง ๆ นี้ไม่ใช่ไปรับเอามาจากเมืองนอกแต่ถ่ายเดียว  การที่คนหนุ่มสมัยนั้น  มีความคิดอ่านทางการเมืองขึ้นมา  ก็สืบเนื่องมาจากสภาพของราษฎรไทย ซึ่งยากจน และเพราะเอกราชไทยยังไม่สมบูรณ์  เนื่องจากถูกบีบบังคับจากจักรวรรดินิยมในเรื่องสิทธิสภาพนอกอาณาเขต และสนธิสัญญาที่ไม่เสมอภาค

กล่าวในแง่ส่วนตัวแล้ว ท่านปรีดีเริ่มต้นการศึกษาที่อยุธยา  จากนั้นก็มาต่อที่โรงเรียนวัดเบญจมบพิตร และ โรงเรียนสวนกุหลาบฯ  สมัยเด็กนั้น ท่านบอกว่าท่านเกเร จึงต้องกลับไปอยู่ท้องนาอีก  ตอนนี้ท่านจึงเห็นความลำบากของชาวนา และคิดว่าอาจจะช่วยเหลือพวกเขาได้ ถ้าหากได้เรียนทางรัฐประศาสนศาสตร์  ในสมัยที่อยู่อยุธยานั้น ก็ได้รับอิทธิพลจากบรรดาครู ซึ่งได้ชี้แจงเรื่องความรักชาติ เรื่อง “สยาม” ถูกข่มเหง เรื่องเหตุการณ์ ร.ศ. 112 (พ.ศ. 2436 หรือ ค.ศ. 1893) จึงทำให้นักเรียนมีสำนึกในเรื่องการเมืองมาก  

จากนั้น หลังจากที่เรียนจบจากโรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรมแล้ว จึงเดินทางไปศึกษาที่ประเทศฝรั่งเศส เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2463 (1920) เป็นเวลา 7 ปี  แล้วก็กลับมากรุงเทพฯ ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2470  (1927) โดยใช้เวลาเดินทาง ทางเรือราวหนึ่งเดือน

นอกจากนั้น ท่านปรีดียังกล่าวว่า พวก (กบฏ) ร.ศ. 130 (หรือ “กบฏหมอเหล็ง-เก็กเหม็ง” พ.ศ. 2454/55 หรือ ค.ศ. 1912 สมัยต้นรัชกาลที่ 6) ก็มีอิทธิพลต่อผู้ก่อการฯ 2475 มาก  บรรดาผู้ก่อการ 2475 รับรู้เรื่องราวเกี่ยวกับพวกกบฎ ร.ศ. 130  เพราะมีการพูดกล่าวขานกันมากในสมัยนั้น ครูและปัญญาชนในอยุธยาต่างก็พูดกันว่า  นายทหารกองพลที่ 3 ที่อยุธยา ถูกจับกุมตัวไปด้วย เลยทำให้รับรู้เรื่องราวดี รวมความแล้วทำให้คนชาวสยามสมัยนั้นได้เห็นว่า “แอบโซลูด มอร์นากี้” (absolute monarchy) เป็นเรื่องล้าสมัย ดังนั้น จึงต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อ พ.ศ. 2475  ซึ่งก็ได้ก่อตัวขึ้นในเมืองไทย  ก่อนที่จะไปคบคิดกันต่อในฝรั่งเศส  อนึ่ง จอมพล ป.พิบูลยสงคราม เอง ก็มีความเห็นเช่นนี้มาก่อนออกจากเมืองไทย  ก่อนไปเรียนต่อต่างประเทศเช่นกัน

พวกที่ไปเรียนต่อเมืองนอก (“นักเรียนนอก”) สมัยนั้นก็มีไม่มากนัก ในฝรั่งเศสและสวิตเซอร์แลนด์ มีประมาณ 75 คน ในอังกฤษมีประมาณ 200 คน ในอเมริกาเองก็มีไม่ถึง 100 คน ท่านปรีดีกล่าวว่า สมัยนั้นมีคนโอดครวญกันมากว่าเมืองไทยล้าหลัง แต่ส่วนมากโอดครวญแล้วก็ไม่ได้ทำการแก้ไขเปลี่ยนแปลงซึ่งจะไปโทษราษฎรว่าไม่ตื่นตัวไม่ได้

สมัยนั้น พวกผู้ก่อการฯ นิยมอ่านหนังสือพิมพ์เดลิเมล์ (เก่า) ซึ่งเจ้าของเป็นคนอเมริกัน นอกจากนั้นก็มีหนังสือที่ตีพิมพ์เป็นครั้งคราว เช่น กัมมันโต วายาโม ที่มีชื่อคล้ายญี่ปุ่น เพราะสมัยนั้นญี่ปุ่นมีอำนาจศาลในเมืองไทย อาจจะเป็นการใช้ชื่อหรือหัวหนังสือคล้ายภาษาญี่ปุ่น และภาษาทางพุทธศาสนา เพื่อใช้เป็นเกราะคุ้มกันการถูกจับกุมจากรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์

ส่วนอิทธิพลจากปัญญาชนอย่าง “ท่านเทียนวรรณ” (ต.ว.ส. วัณณาโภ เกิด พ.ศ. 2385 ตาย พ.ศ. 2458) นั้น ก็มีอยู่บ้าง อย่างกระเส็นกระสาย  “เทียนวรรณ” สิ้นชีวิตไปแล้วในสมัยผู้ก่อการฯ แต่มีอิทธิพลมากกว่าในสมัยรุ่นพ่อของผู้ก่อการฯ และการเสาะแสวงหาความรู้ในสมัยนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ แหล่งที่พอมีบ้าง ก็เช่นห้องสมุดวัดสามจีน หนังสือพิมพ์ต่าง ๆ ซึ่งก็หายาก  หนังสือพิมพ์  “เดลิเมล์” เองก็มีส่วนในการพูดถึงความล้าสมัยของระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (absolute monarchy) นอกจากนั้น หนังสือพิมพ์หลายฉบับยังลงเรื่องการโค่นล้มพระเจ้าซาร์ (ปฏิวัติรัสเซีย ค.ศ. 1917 หรือ พ.ศ. 2460 ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ 6) กันมาก

ท่านปรีดีกล่าวต่อไปอีกว่า ความคิดเกี่ยวกับการเมืองไทย หรือความคิดของมนุษย์ทั่วไปนั้น  เกิดได้ทั้งจากการอ่านหนังสือ  และการสัมผัสข้อเขียนของคนต่าง ๆ  ก็ปลุกจิตสำนึกได้ แต่สำหรับท่านเอง จิตสำนึกเกิดมาจากการสัมผัส  กล่าวคือในสมัยที่อยู่ฝรั่งเศสนั้น แม้ท่านได้จบเนติบัณฑิตไทยแล้วก็ตาม แต่ก็ไปเรียน Lycee (วิทยาลัย) กันใหม่  ตอนนั้นได้ไปอยู่กับครอบครัวของโปรเฟสเซอร์  ซึ่งในบ้านท่านนั้นมีห้องสมุดดีมาก ๆ  ตกบ่ายก็นั่งคุยกับโปรเฟสเซอร์ หาได้อยู่ตามลำพังไม่ ตราบจนกระทั่งมาเรียนระดับปริญญาเอก Doctorate

การที่ท่านปรีดีได้ทุนไปเรียนต่อทางด้านกฎหมายที่ฝรั่งเศสนั้น ก็เพราะจะมีการชำระประมวลกฎหมายใหม่ แม้ว่ารัฐบาลไทยสมัยนั้น จะส่งนักเรียนไปยังประเทศที่มีระบอบกษัตริย์ เช่น อังกฤษ หรือ เยอรมนีเป็นส่วนใหญ่ก็ตาม แต่ก็ส่งให้ไปเรียนวิชาทหาร-วิชากฎหมายที่ฝรั่งเศสด้วย  ประการหนึ่งก็เพราะว่าค่าครองชีพในฝรั่งเศสถูกกว่า  คือ ค่าใช้จ่ายประมาณหัวละ 2,000 บาทต่อปี ในขณะที่อังกฤษ ประมาณ 3,000 บาทต่อปี

นักเรียนไทยในฝรั่งเศสนั้น  มีการติดต่อคบหากับนักเรียนไทยในต่างประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  บรรดาผู้ที่มาจากประเทศใกล้เคียงอยู่บ้าง แต่เป็นเรื่องส่วนบุคคล มีนักเรียนไทยจำนวนไม่น้อยที่ดูถูกนักเรียนที่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน เพราะเห็นว่าเขาเป็นเมืองขึ้น ตกเป็นอาณานิคมของฝรั่ง ล้าหลังกว่า แต่ท่านปรีดีเองก็เคยทำความรู้จักกับเจ้าสุวรรณภูมา (ลาว) และเคยไปมาหาสู่กับพวกนักเรียนจากเวียดนาม เคยพูดคุยและประชุมร่วมกัน  การดูถูกชาติอื่นว่าด้อยกว่านั้น ท่านคิดว่าไม่ควรจะมีขึ้น เพราะของพรรค์นี้ไม่แน่ ขอให้ดูประวัติศาสตร์ให้ดี สหรัฐอเมริกาซึ่งเคยเป็นเมืองขึ้นเดิม ก็เลยหน้าอังกฤษ ฝรั่งเศส เลยหน้าโรม/อิตาลีไปได้

 

2: ต่อข้อถามของผมที่ว่าด้วย “เค้าโครงการเศรษฐกิจ”

ท่านปรีดีตอบว่า :  การที่ไม่อาจปฏิบัติตามเค้าโครงเศรษฐกิจได้นั้น ส่วนหนึ่งเนื่องจากการที่กลุ่มอนุรักษนิยมไม่เห็นด้วย และกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์  ถ้าพวกผู้ก่อการฯ ด้วยกันเห็นด้วย ก็คงทำไปได้ เรื่องเค้าโครงเศรษฐกิจนี้ ท่านเสริมว่าเป็นเรื่องที่ตัวเองใจร้อนไป ใช้จังหวะไม่เหมาะ อย่างไรก็ตาม คนเราย่อมผิดพลาดกันได้ แม้จอมพล ป. พิบูลสงครามก่อนตาย ก็เขียนจดหมายขออโหสิกรรม  ขอแต่ให้คนไทยสามัคคีกันบนพื้นฐานของความรักชาติและประชาธิปไตย

 

3: ต่อข้อถามของผมที่ว่าด้วย สันนิบาตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้/อาคเนย์ (Southeast Asian League) สมัยภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

ท่านปรีดีตอบว่า :  ไทยเป็นศูนย์กลางของประเทศที่ต้องการปลดแอกจากลัทธิอาณานิคมของฝรั่ง จึงนำไปสู่ความคิดที่จะก่อตั้ง “สันนิบาตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” หรือ “เอเชียอาคเนย์” ท่านปรีดีกล่าวว่า ไม่ต้องการกล่าวอ้างว่าเรื่อง “สันนิบาต” นี้เป็นความคิดริเริ่มของท่านเองโดยเฉพาะ แต่มีความเห็นว่า “เอเชียตะวันออกเฉียงใต้” เป็นดินแดนที่อยู่ตรงกลางระหว่างจีนและอินเดีย  ถ้าประเทศต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่างแตกแยกกัน ก็จะอยู่ได้ลำบากยากเย็น แต่หากรวมกัน สมานกันได้  ก็เป็นพลังอันหนึ่ง จึงได้ตกลงกันเรื่องสมาคม (หรือสันนิบาต) มี ลาว เวียดนาม กัมพูชา อินโดนีเซีย (รวมทั้งมอญ และไทยใหญ่มาร่วมประชุมกัน) แต่ยังมิได้ลงมือจัดตั้งให้เป็นเรื่องเป็นราว 

ดังนั้น จึงยังคงเป็นแค่ความริเริ่ม และมีนายเตียง ศิริขันธ์ (ส.ส. สกลนคร)  ที่นับได้ว่าเป็นผู้มีบทบาทสำคัญมาก เพราะเป็นคนที่ได้ช่วยเหลือ และมีส่วนสัมพันธ์เกี่ยวกับขบวนการเอกราชของทั้งลาวและเวียดนามเป็นอย่างยิ่ง เรื่องนี้จะสืบถามต่อได้จากคุณมาโนช วุฒาทิตย์ เกี่ยวกับความคิดในเรื่องสันนิบาตและความเป็นกลางของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้ มีส่วนทำให้เจ้าหน้าที่อเมริกันบางพวกไม่พอใจและไม่สนับสนุนท่าน โดยเฉพาะพวกที่เข้ามามีอำนาจหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

 

4: ต่อข้อถามของผมที่ว่าด้วย ความเป็นกลางของไทยกับการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ

ท่านปรีดีตอบว่า : เมื่อมีการประกาศหลักการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ (peaceful co-existence)  ที่นำโดยจีน-อินเดีย-อินโดนีเซีย (โจวเอินไหล-เนห์รู-ซูการ์โน) แล้ว  ท่านได้เขียนบทความเป็นภาษาไทย  สนับสนุนหลักการนั้นด้วย  เพราะเห็นว่าพุทธศาสนิกชน ควรจะถือหลักการอยู่ร่วมกันโดยสันติ การไปฆ่าฟันกันนั้น ผิดหลักการ ต่อมาทางเมืองจีนเขาเอาบทความนี้ไปแปลเป็นภาษาจีน และต่อมาเขาแปลเป็นภาษาไทยอีกทอดหนึ่ง เอาออกรายการภาษาไทยของวิทยุปักกิ่ง

ท่านปรีดีกล่าวต่อไปอีกว่า ไม่ปรารถนาให้ประเทศไทยไปเข้ากับใคร  ประเทศไทยได้เลี้ยงตัวเองมาตลอด  ไม่เคยมีใครเขาเอาเงินมาช่วยเราก่อน  แม้เราจะเคยกู้เงินจากอังกฤษ แต่ก็ใช้คืนเขาไปแล้ว แต่ตอนนี้ ปรากฏว่าเราไปขอ ไปกู้เงินเขามาใช้  ควรจะยึดหลัก “อัตตาหิ อัตโน นาโถ”  นอกจากนั้น  เราควรแยกว่า (สหรัฐ) อเมริกันสมัยเก่า กับสมัยนี้ว่าไม่เหมือนกัน  อย่างหมอบรัดเลย์นั้น ก็เป็นคนดี แต่อเมริกันปัจจุบันทำให้ศีลธรรมในเมืองไทยเสื่อม สำหรับการแก้ไขปัญหานี้เป็นเรื่องทางการเมือง

 

5: ต่อข้อถามของผมที่ว่าด้วย ความขัดแย้งกับ จอมพล ป. พิบูลสงคราม

ท่านปรีดีตอบว่า : การที่ทางฝ่ายทหารนิยมนาซีเยอรมัน และท่านไม่นิยมนั้น เป็นความขัดแย้งในปัญหาอุดมคติ ปัญหาของ “สันติภาพกับสงคราม”  ที่แตกต่างกัน ในพื้นฐานของประชาธิปไตย  กลัวภัยจากลัทธิฟาสซิสต์ ก่อนเกิดสงคราม "มหาเอเชียบูรพา” (หรือสงครามโลกครั้งที่สอง)  นั้นมีเหตุการณ์ใหญ่สำคัญเกิดขึ้น กล่าวคือเมื่อญี่ปุ่นเตรียมรุกรานและเข้ามายึดอินโดจีนของฝรั่งเศสนั้น ฝ่ายอังกฤษและอเมริกาตัดกำลังญี่ปุ่นโดยยึดเงินที่ญี่ปุ่นฝากไว้ที่ธนาคารในโลกตะวันตก ญี่ปุ่นก็ไม่มีเงินตราจะซื้อข้าว จึงมาหารัฐบาลไทยให้ช่วย  มาขอ “เครดิต” เพื่อซื้อข้าวไทย ท่านปรีดีซึ่งเป็นรัฐมนตรีคลังในขณะนั้น ตอบว่าช่วยได้ แต่ญี่ปุ่นต้องเอาทองคำมาเป็นประกันราคาค่าข้าว ญี่ปุ่นก็เลยไม่พอใจ (ส่วนเรื่องราวของกองทัพญี่ปุ่นบุกเข้ามาในประเทศไทยนั้น  ท่านแนะนำให้ดูจากหนังสือของ ไสว สุทธิพิทักษ์ ส่วนหนังสือของนายดิเรก ชัยนามนั้นให้ระมัดระวังในการอ่าน)

เมื่อกองทัพญี่ปุ่นบุกเข้ามาในประเทศไทย ก็บีบให้เอาท่านปรีดีออกจากตำแหน่ง รมต. คลัง  โดย “ยก” ให้มีตำแหน่งสูงขึ้นไป  ซึ่งหลวงอดุลเดชจรัส (รมต. และอธิบดีกรมตำรวจ) เสนอตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในหลวงรัชกาลที่ 8 ให้ท่าน ซึ่งท่านเองก็เต็มใจ  เพราะต้องการวางมือจากการเข้าร่วมกับฝ่ายญี่ปุ่น  งานของผู้สำเร็จราชการฯ เอง ก็มีน้อย  มีเวลาจะทำงานใต้ดินต่อต้านญี่ปุ่นได้ถนัด (ท่านแนะนำให้ดูหนังสือของ Sir Andrew Gilchrist)  สำหรับเรื่องการต่อต้านญี่ปุ่นนั้น แต่เริ่มแรกหน่วยตำรวจ (ภายใต้หลวงอดุลเดชจรัส) เป็นผู้ทำก่อน มิใช่พวกทหารทางฝ่ายของจอมพล ป. พิบูลสงคราม น่าเสียดายที่หลวงอดุลฯ ไม่ได้เขียนอะไรทิ้งไว้  หลวงอดุลฯ น่าจะมีเอกสารบางอย่างที่สำคัญ ๆ ทางประวัติศาสตร์

 

6: ต่อข้อถามของผมที่ว่าด้วยขบวนการเสรีไทย หรือ ขบวนการใต้ดินต่อต้านญี่ปุ่น

ท่านปรีดีตอบว่า : การที่ท่านตัดสินใจไม่เข้าร่วมกับญี่ปุ่นนั้น ท่านกล่าวว่าประเด็นนี้จะรู้เรื่องแสนยานุภาพทางการทหารอย่างเดียวไม่ได้  คือไม่ควรฟังความข้างเดียว เหมือนอย่างเหตุการณ์ปัจจุบัน (2513 = 1970) ที่ฟังแต่สหรัฐฯ แต่ข้างเดียว ทางพุทธศาสนากล่าวไว้ว่า “เอกจักษุ ทุติยจักษุ” คือ “ดวงตา ต้องดูทั้งสองข้าง”

ประการต่อมา  นี่เป็นเรื่องของอุดมคติ คือสงคราม “อธรรม” ต้องแพ้สงครามที่เป็น “ธรรม”  เพียงแต่จะช้าหรือเร็วเท่านั้นเอง  อันนี้เป็นพื้นฐานปรัชญาของมนุษย์  เชื่อว่า “ประชาธิปไตย” ต้องชนะ “เผด็จการ”  ประชาธิปไตยเป็น “อำนาจ” ของคนทั้งหลาย จะต้องชนะ  เพียงแต่เงื่อนเวลา ช้าหรือเร็วเท่านั้น ถ้าไปเห็นเขาชนะอยู่ในปัจจุบัน แล้วเข้าร่วมด้วยเพียงเพื่อประโยชน์ชั่วคราว ก็เป็นลูกขุนพลพลอยพยัก

ประการสุดท้าย สภาพเศรษฐกิจของญี่ปุ่นสมัยนั้นไปไม่ไหว วัตถุดิบอื่น ๆ ไม่มี เช่นข้าว ในแง่ทางการเมือง สภาพการเมืองของญี่ปุ่น มีอำนาจของจักรพรรดิแต่อีกฝ่ายหนึ่งเป็นประชาธิปไตย กำลังใจของระบบจึงดีกว่ากัน ฝ่ายหนึ่งมีกำลังใจโดยถูกหลอก  แต่อาจมีวันหนึ่งที่จะหลอกเขาไม่ได้

ข้อพิจารณาดังกล่าวนี้ ท่านกล่าวว่า ไม่ได้คิดเอาเอาเอง แต่ใช้วิทยาศาสตร์แห่งความคิด

เมื่อสมัยสงครามนั้น ทางฝ่ายสหรัฐฯ ไม่ค่อยมีปัญหานัก แม้รัฐบาลไทยจะยอมให้ญี่ปุ่นยาตราทัพ  ผ่านแดนไปโจมตีมลายู พม่า และอินเดีย ทางสหรัฐฯ ก็ยอมให้ได้  ยังคงให้มีสถานทูตอยู่ต่อไป (แม้จะไม่มีการเปิดทำการ)  แต่ของอังกฤษนั้น ถูกปิดลง  เมื่อรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ประกาศสงครามกับอังกฤษและอเมริกาเมื่อ 25 มกราคม 2485 (1942) ทางอังกฤษก็ตอบโต้รับการประกาศนั้น

อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีความเข้าใจกันกับทางอังกฤษ ทางฝ่ายสัมพันธมิตรได้ขอร้องให้เสรีไทยนิ่ง ทำการเป็นความลับที่สุด  ลอร์ด หลุยส์ เมาท์แบทเตน (ผู้บัญชาการของอังกฤษใน South-East Asia Command) โทรเลขลับจากอังกฤษว่า  จะไม่มีสภาพสงครามต่อกัน แต่พอจบสงคราม อังกฤษกลับเกี่ยงงอนให้เซ็น “สัญญาสมบูรณ์แบบ” ก่อน (ในเรื่องค่าปรับและการชดใช้ความเสียหายให้อังกฤษ) แต่เรื่องอาชญากรสงคราม (war criminals) นั้น ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ทูตไทยประจำวอชิงตันที่กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น เห็นว่าเราควรทำกันเอง จับกันเอง และศาลตัดสินปล่อยกันไปเอง (จอมพล ป. พิบูลสงคราม หลวงวิจิตรวาทการ นายสังข์ พัธโนทัย)

 

7: ต่อข้อถามของผมที่ว่าด้วย: การรัฐประหาร พ.ศ. 2490 (1947)

ท่านปรีดีตอบว่า : ในเรื่องที่เกิด “รัฐประหาร” ล้มล้างระบอบประชาธิปไตยนั้น ความผิดพลาดไม่ใช่เพราะ “ไม่จำกัดอำนาจทหาร” ให้ออกจากทางการเมือง จะเห็นได้ว่าการกระทำรัฐประหารครั้งนั้น ที่นำโดยพลโท ผิน ชุณหะวัณ ก็มีกำลังจากพวกทหารกองหนุนทั้งนั้น (คือถูกปลดออกจากราชการทหารไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นผิน ชุณหะวัณ หรือแม้แต่จอมพล ป. พิบูลสงคราม) ในแง่ของท่านปรีดีจะไปห้ามปราบปรามได้อย่างไร หรือ จะให้เอาไปยิงเป้าได้ หรือ ท่านทำอะไรไม่ได้

ส่วนเรื่องของพรรคการเมืองต่าง ๆ  ที่เฟื่องฟูและได้รับอนุญาตให้มีการก่อตั้งในสมัยหลังสงครามฯ นั้น พรรคสหชีพ มีนโยบายทางสังคมนิยมที่วางแผนทำไว้แน่นอน สมาชิกพรรคส่วนมากเป็นคนอีสาน มีผู้นำสำคัญ ๆ เช่น นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ (อุบล)  เป็นความจริงที่ว่า มีคนกรุงเทพฯ  บางคนรังเกียจพวกอีสาน  แต่พวกสมาชิกชั้นนำของสหชีพฯ นี้  มีความรู้ดีพอสมควร  แม้จะไม่เคยเรียนเมืองนอก แต่บุคคลสำคัญอย่างเตียง ศิริขันธ์ (สกลนคร) ก็อ่านภาษาอังกฤษได้ดีมาก

ส่วนพรรคแนวร่วมรัฐธรรมนูญนั้น นิยมรูปแบบประชาธิปไตยแบบสมัยก่อการฯ พ.ศ. 2475 ได้ให้หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ (ทางฝ่ายทหารเรือ) มาเป็นหัวหน้ากลุ่มนี้ นอกนั้นก็มีกลุ่มอิสระ มีคนเช่น นายวิจิตร ลุลิตานนท์ (คนสนิทของท่านปรีดีเอง ทำงานตำแหน่งสำคัญในธรรมศาสตร์) นายวิโรจน์ กมลพันธ์ (เคยเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ) นายเสวตร เปี่ยมพงษ์ศานต์ นายธรรมนูญ เอี่ยวพงศ์เงิน เป็นต้น

 

8: ต่อข้อถามของผมที่ว่าด้วย: กรณีสวรรคตของในหลวงอานันท์ รัชกาลที่ 8

ท่านปรีดีตอบว่า : การที่ไม่สามารถทำให้เรื่องกระจ่างได้ ก็เพราะเกิด “รัฐประหาร 2490”  ฝ่ายทหารกลับมามีอำนาจใหม่  ท่านเองจะอยู่ได้อย่างไร ไม่สามารถจะมีเวทีแสดงความบริสุทธิ์ได้  และที่ไม่ได้ใช้ international channel หรือช่องทางจากระดับสากลในต่างประเทศ  ก็เพราะเห็นว่าไม่ได้ผลอะไร  บรรดาพวกต่างประเทศ เมื่อเขาเขียนเรื่องกรณีสวรรคต ก็ไม่เคยเขียนว่าท่านมีส่วนในการปลงพระชนม์ในหลวงอานันท์  เรื่องนี้ถ้าพูดเอง พูดมาก ก็กลายเป็นการแก้ตัวเอง

 

9: ต่อข้อถามของผมที่ว่าด้วย: การเหยียดและหลงเชื้อชาติ

ท่านปรีดีเล่าว่า : การดูถูกเหยียดหยามเชื้อชาติต่อคนไทยภาคอื่น ๆ นั้น มีมาแต่สมัยโบราณแล้ว เช่น เคยมีพระราชหัตถเลขาของรัชกาลที่ 5 ถึงพระนางเจ้าวิคตอเรียของอังกฤษ ใจความว่า มณฑลทางใต้เป็น “colony” ของไทย (ปรากฏในหนังสืองานพระศพของกรมหลวงอดิศรฯ)

ส่วนเรื่องการดูถูกคนอีสานนั้น ท่านผู้หญิงพูนศุข (ซึ่งนั่งร่วมสนทนาอยู่ด้วยในวันนั้น) ได้กล่าวเสริมว่า พวกที่ถูกกล่าวหาว่าเป็น “กบฏแบ่งแยกดินแดน” และพวก “กบฏ 1 ตุลา” ซึ่งเป็นทหารเล่าให้ฟังว่า เมื่อถูกจับเข้าคุกพร้อมกับพวกอีสานได้พูดคุยกัน จึงเริ่มเข้าใจว่าพวกอีสาน ก็มีความรู้ความสามารถผิดกับที่เคยดูถูกไว้

 

10: ต่อข้อถามของผมที่ว่าด้วย: เรื่องถิ่นกำเนิดของคนไทยนั้น

ท่านปรีดีกล่าวว่า : ไม่เห็นด้วยกับหนังสือ “หลักไทย” ของขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) ท่านเคยไปแถวเมือง “ตาลีฟู” (Tali) หรือ “น่านเจ้า” ในมณฑลยูนาน ก็ไม่เห็นหลักฐานเรื่องคนไทยเคยอยู่ในแถบนั้น  พบพวกบัณฑิตจีน เขาก็รู้ถึงหนังสือของกรมพระยาดำรงฯ ได้คุยกันถึงเรื่องที่กล่าวถึงต้นกำเนิดคนไทย  เห็นว่าได้เรื่องมาจากหมอด๊อดด์ (W. C. Dodd: The Tai Race-Elder Brothers of the Chinese) ซึ่งเป็นมิชชันนารีอเมริกัน ทำงานอยู่ที่เชียงใหม่ได้เดินทางไปแวะเวียนสำรวจในแถบตอนใต้ของจีน แล้วก็กลับมาตั้งทฤษฎีว่าคนไทยมาจากที่นั่น

ที่นักวิชาการฝรั่งเขียนว่าต้นตระกูลไทยมาจากตาลีฟู  ความจริงชื่อนี้เป็นชื่อใหม่ คำว่า "ฟู" เป็นศัพท์ที่เกิดขึ้นในสมัยราชวงศ์ชิง  ที่แบ่งแยกการปกครองเป็นฟู  การเอาชนชาติ “ไป่” (Pai) มาทดลองสอบถามดู เช่น เรื่องการนับตัวเลข ก็ไม่ตรงกัน ท่านจึงไม่คิดว่า “น่านเจ้า” หรือ “ตาลีฟู” เป็นอาณาจักรของคนไทย หรือเป็นถิ่นกำเนิดดั่งเดิมของคนไทย

 

11: ต่อข้อถามของผมที่ว่าด้วย: การเมืองไทย-สันติหรือรุนแรง

ในเรื่องเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีนกับไทยนั้น เป็นเรื่องที่จะต้องเผชิญต่อความเป็นจริงว่า  จีน (ใหม่ สมัยของเหมาเจ๋อตุงและโจวเอินไหล) นั้นตั้งประเทศใหม่เมื่อ พ.ศ. 2492 (1949 ซึ่งท่านหมายถึงการปฏิวัติจีนที่นำโดยเหมาเจ๋อตุง) แล้วเราฝ่ายรัฐบาลไทยไปตั้งข้อว่าเขาจะยกกองทัพมารุกรานประเทศไทยของเรานั้น แต่ที่เราเองไปสมรู้ร่วมคิดกับสหรัฐฯ กลายเป็น “ฐานทัพอเมริกัน” ให้เครื่องบินไปทิ้งระเบิดเพื่อนบ้านในลาว-กัมพูชา-เวียดนาม  ทำไมเราไม่คิด  คิดแต่เพียงว่าเราจะไปป้องกัน “คอมมิวนิสต์”  แต่ที่เราไปบอมบ์เด็กเล็ก (ในอินโดจีน) ทำไม่ไม่คิด

นโยบายต่างประเทศของไทย ควรจะอยู่ร่วมกันอย่างสันติ  สำหรับไทยถ้าเกิดอะไรขึ้น รบกันเราจะอยู่ได้อย่างไร ทหารของเราคือใคร  เรื่องกำลังทหาร  พวกที่รบจริง ๆ คือ พลทหาร ซึ่งเป็นลูกหลานชาวไร่ชาวนา  “การเมืองภายในของไทยนั้น ถ้าไม่ปล่อยให้มีสันติ คนก็จำต้องหันไปหาวิธีที่ไม่สันติ”

 

ครั้งสุดท้ายในบางกอก สยามประเทศไทย พ.ศ. 2544 (2001)

ครับ ผมได้เข้าพบและสัมภาษณ์ท่านปรีดีไว้เป็นหลักฐานครั้งแรกและครั้งสุดท้าย เมื่อปี พ.ศ. 2513 (1970) หลังจากนั้นผมก็ไม่ได้พบท่านอีกเลย จนกระทั่งต่อมาอีก 13 ปี  ผมจึงได้วางแผนการสัมภาษณ์ครั้งที่ 2 ไว้ในปี พ.ศ. 2526 (1983)

ครั้งนั้น ผมและทีมงานวิจัย “ประวัติศาสตร์ธรรมศาสตร์” ที่จะเขียนขึ้นเฉลิมฉลองการครบรอบการสถาปนา 50 ปี ที่ผมรับผิดชอบโดยตรงในฐานะรองอธิการบดี “กึ่งศตวรรษธรรมศาสตร์” เมื่อ พ.ศ. 2527 (1984) นั้น ได้นัดขอเข้าพบท่านปรีดีเป็นมั่นเป็นเหมาะ ณ กรุงปารีสในต้นเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2526 (1983)  แต่แล้วเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม ปีนั้น ท่านปรีดีก็ถึงแก่กรรม เมื่อสิริอายุได้ 83 ปี

แทนที่ผมจะได้ไปสัมภาษณ์ท่าน ก็กลับกลายต้องไปงานเผาศพของท่านชานกรุงปารีส และแม้ว่าจะดำรงตำแหน่งรองอธิการบดี ผมก็ไปร่วมงานศพที่ฝรั่งเศส ในฐานะส่วนตัวเสียมากกว่า ได้กู้เงินค่าเครื่องบินจากสหกรณ์ออมทรัพย์ธรรมศาสตร์ไปเอง เพราะผู้บริหารระดับสูงสุดของ มธ. ยังงง ๆ งวย ๆ และ “กลัว ๆ กล้า ๆ” ต่อมหาบุรุษท่านนี้ ไม่ออกหน้าออกตาในงานถึงแก่กรรมของท่าน  ไม่มีคำสั่งเป็นทางการตั้งตัวแทนของธรรมศาสตร์ไปร่วมงานศพแต่อย่างใด เช่นเดียวกับรัฐบาลไทยสมัยนั้น  ก็หาได้ทำอะไรสำหรับ “มหาบุรุษ” และ “รัฐบุรุษอาวุโส” ของชาติท่านนี้ไม่

แน่นอน พวกเรามี “วาระซ่อนเร้น” ของการเฉลิมฉลองธรรมศาสตร์ 50 ปีครั้งนั้น  กล่าวคือทำการ “ขุดแต่ง บูรณะ ปฏิสังขรณ์ทางประวัติศาสตร์โบราณคดี” ว่าด้วย “ปรีดี พนมยงค์ กับธรรมศาสตร์และประวัติการเมืองร่วมสมัยของไทย” ผมและทีมงานได้สัมภาษณ์นักการเมืองและผู้เกี่ยวข้องหลายต่อหลายท่าน รวมทั้งคุณย่าชวนชื่น นิติทัณฑ์ประภาส (น้องสาวของท่านปรีดี) ที่เป็นปากคำจากทัศนะของสตรีผู้ที่ไม่ได้มีส่วนโดยตรงกับการเมืองระดับสูง (ที่ยังไม่ได้ตีพิมพ์)  ผมได้พบปะกับครอบครัวพนมยงค์อยู่เป็นเนืองนิจ และก็โดยบังเอิญที่ได้สัมภาษณ์ท่านผู้หญิงพูนศุขเอาไว้สั้น ๆ ซึ่งถือโอกาสนำออกมาปีพิมพ์ในงานครบรอบ 110 ปี ปรีดี พนมยงค์ พ.ศ. 2553 (หรือ ค.ศ. 2010) ครั้งนี้

ครั้งนั้น เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2544 (2001) เมื่อผมมีอายุได้ 60 ปีพอดี เพื่อนชาวอังกฤษนาม David Boggett ซึ่งเป็นอาจารย์สอนหนังสือว่าด้วยไทยคดี และ เอเชียศึกษา ที่มหาวิทยาลัยเซกะ กรุงเกียวโต ขอให้ผมช่วยนัดแนะเข้าพบท่านผู้หญิงพูนศุข ที่บ้านซอยสวนพลู (ตอนนั้นท่านมีอายุได้ 89 ปีแล้ว ความจำยังดี สมองดูแจ่มใส)  เขามีข้อกังขาและมีคำถามเกี่ยวกับหนังสือดัง 2 เล่ม คือ

ล่มแรก คือ The Dragon’s Perle ของ สิรินทร์ พัธโนทัย (Sirin Phathanothai ผู้แต่งยังมีนามอื่นที่เป็นที่รู้จักกันอีก เช่น แดง หรือ นวลนภา) หนังสือเล่มนี้เป็นบันทึกความทรงจำของบุตรีของนายสังข์ พัธโนทัย  (เกิด 2457/1914 – ตาย 2529/1986) นายสังข์ผู้นี้เป็นคนสนิทใกล้ชิดของจอมพล ป. พิบูลสงคราม หนังสือของสิรินทร์กล่าวว่าเธอและพี่ชาย (“วรรณไว”) ถูกผู้พ่อส่งไปเป็น “บุตรบุญธรรม” ของนายกรัฐมนตรีโจวเอินไหลของจีน  สมัยนั้นท่านประธานเหมาเจ๋อตุง  ยังเรืองอำนาจอยู่ ตอนนั้น คือ ปี พ.ศ. 2499 (1956) อันเป็นสมัยของความขัดแย้งทางลัทธิ หรือ “สงครามเย็น”  สิรินทร์หรือนวลนภามีอายุได้เพียง 8 ขวบ เรื่องราวที่เธอเขียนเล่าในเชิงบันทึกความทรงจำ ทำให้หนังสือเล่มนี้แพร่หลายไม่น้อย และถูกแปลออกเป็นหลาย ๆ ภาษา รวมทั้งภาษาไทยในชื่อของ “มุกมังกร” (แถมยังถูกสร้างเป็นรายการทีวีอีกด้วย)

ส่วนหนังสือเล่มที่สอง ก็คือ The Revolutionary King (พ.ศ. 2542 หรือ ค.ศ. 1999) เป็นงานของนักเขียนชาวแคนาดา ชื่อ William Stevenson หนังสือเล่มนี้อื้อฉาวมาก (และต้องห้าม) เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับพระประวัติและกิจวัตรของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ผู้เขียนอ้างว่าตนใกล้ชิดกับราชสำนักไทย ถึงขนาดมีรูปภาพถ่ายกับพระเจ้าแผ่นดินไทย ทั้งยังมีลูกสาวเข้าเรียนที่โรงเรียนสวนจิตรลดา  ผู้เขียนมีข้อมูลต่าง ๆ มากมายที่อ้างว่าได้จากปากคำของราชสำนักฝ่ายใน หนังสือเล่มนี้จึงกลายเป็นหนึ่งในหนังสือ “ต้องห้าม” ทั้งหลาย  แม้จะไม่มีประกาศห้ามอย่างเป็นทางการก็ตาม แต่ชนชั้นสูงและกลางระดับสูงของไทย ต่างก็หามาอ่านและนำมาถกเถียงกันได้ไม่ยากเย็นนัก

William Stevenson นั้นเป็นนักเขียนอาชีพที่มีงานประเภท “อิงประวัติศาสตร์ร่วมสมัย” หลายเล่ม อย่างเรื่อง A Man Called Intreprid (1976) ถึงกับได้รับการทรงแปลโดย “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช” โดยมีอัมรินทร์พริ้นซ์ติ้ง ตีพิมพ์ปกแข็งเดินทองอย่างสวยงามเมื่อปี พ.ศ. 2536 (1993) และใช้ชื่อเรื่องภาษาไทยว่า “นายอินทร์ ผู้ปิดทองหลังพระ”

ในการเข้าพบปะกับท่านผู้หญิงพูนศุขในวันนั้น เราได้สนทนาและซักถามท่านหลายเรื่อง นับตั้งแต่เรื่องราวชีวิตของสตรีชั้นนำของไทยที่ “ไม่ขอรับเกียรติยศใด ๆ” นับแต่เรื่องชาติตระกูลของท่าน (ณ ป้อมเพชร์) หรือนับแต่เรื่องของรัฐประหาร พ.ศ.  2490 (1947) ที่นำโดยพลโท ผิน ชุณหะวัณ ล้มล้างระบอบประชาธิปไตย (ด้วยข้ออ้างกรณีสวรรคตของในหลวงอานันท์ รัชกาลที่ 8) หรือ นับแต่เรื่องของการที่ต้องถูกยกเลิกวีซ่าไม่ให้ท่านปรีดีเดินทางไปสหรัฐอเมริกา หรือ นับตั้งแต่เรื่องญี่ปุ่นบุกไทยเมื่อเดือนธันวาคม 2484 (1941) ซึ่งเป็นช่วงของการแข่งขันฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ที่ธรรมศาสตร์แพ้เป็นครั้งแรก ฯลฯ (โปรดดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน http://www.pridi-phoonsuk.org เป็น website และ E-library ที่สร้างขึ้นเนื่องในโอกาสครบรอบ 110 ปีของ ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์)

 

12: ต่อข้อถามของเราทั้งสองที่ว่าด้วยหนังสือ: The Dragon’s Perle หรือ “มุกมังกร”

ท่านผู้หญิงพูนศุข เล่าภูมิหลังให้ฟังว่าผู้แต่งเป็นบุตรีของนายสังข์ พัธโนทัย คนสนิทของจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายสังข์เป็นคนปากน้ำ (สมุทรปราการ) มีเชื้อสายจีน บิดามีอาชีพเป็น “ไต้ก๋งเรือ” มารดามีเชื้อสายเวียด นายสังข์มีบทบาทมากในสมัยของ “กรมโฆษณาการ” เผยแพร่ลัทธิชาตินิยม (ทหารไทย) ของจอมพล ป. พิบูลสงครามและหลวงวิจิตรวาทการ  นายสังข์ควบคุมรายการ “โฆษณา” ที่สำคัญมาก ๆ คือ บทสนทนายอดฮิต คือ “นายมั่น-นายคง” ปลุกระดมเรื่องการเรียกร้องดินแดนในอินโดจีนของฝรั่งเศส โดยเฉพาะอย่างยิ่งดินแดน “เสียมราฐ-พระตะบอง-ศรีโสภา” เมื่อ พ.ศ. 2483-2484 (1940-1941)

ท่านผู้หญิงดูจะไม่ค่อยเชื่อว่าคุณสิรินทร์/นวลนภา หรือผู้แต่งนั้นได้เป็นถึง “บุตรบุญธรรม” ของนายกรัฐมนตรี ท่านโจวเอินไหล ท่านกล่าวสั้น ๆ ว่า “คอมมิวนิสต์ เขาไม่สนิทกับใครอย่างนั้น” แต่ท่านก็ทราบเรื่องบุตรทั้งสองคนของนายสังข์ ที่ถูกส่งไปเรียนหนังสืออยู่กรุงปักกิ่ง รุ่นราวคราวเดียวใกล้เคียงกับบุตรีคนที่สองของท่าน คือ คุณสุดา พนมยงค์ บุตรชายของคุณสังข์ คือ วรรณไว เรียนทางด้านปรัชญา ส่วนสิรินทร์ หรือ นวลนภา เรียนภาษาอังกฤษ

David Boggett เพื่อนผมที่ไปสัมภาษณ์ด้วยกัน  พยายามซักไซ้ไล่เลียงเรื่องของสิรินทร์/นวลนภา ว่าด้วยเหตุการณ์ที่น่าตื่นเต้นที่เธอต้องมีชีวิตผ่านช่วง “การปฏิวัติวัฒนธรรม” หรือ Cultural Revolution ในเมืองจีนของสมัย “เรดการ์ด” ถึงขนาดถูกประณามว่าเป็น “สมุนหรือสุนัขรับใช้อเมริกา” เธอต้องถูกบังคับให้ทำงานเป็นกรรมกรในโรงงาน และต้องออกวิทยุปักกิ่งโจมตีประณาม (ด่า) บิดา (นายสังข์) ของเธอเอง ฯลฯ แต่เดวิดเพื่อนผมก็ดูจะไม่ได้รายละเอียดมากนัก รู้แต่ว่าเธอได้ออกจากจีนไปอยู่อังกฤษ แล้วก็ได้แต่งงานกับนักการทูตเนเธอร์แลนด์

และเราทั้งสอง ก็ไม่ได้ความกระจ่างนักเกี่ยวกับข่าวลือที่หนังสือเล่มดังกล่าวที่แย้มพรายว่า มีความพยายามที่จะจัดการให้ท่านปรีดี พบกับจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในเมืองจีน ซึ่งเป็นช่วงเวลาภายหลังถูกจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ปฏิวัติให้ตกจากอำนาจไปเมื่อ พ.ศ. 2500 (1957)  และจอมพล ป. ต้องลี้ภัยการเมืองไปอยู่ญี่ปุ่น และก็สิ้นชีวิตลงเมื่อปี 2507 (1964) หลังจอมพลสฤษดิ์ คู่ปรับตายเพียง 1 ปี จอมพล ป. เกิดก่อนท่านปรีดี 3 ปี และสิ้นชีวิตไปก่อนท่านปรีดี 19 ปี

 

13: ต่อข้อถามของเราทั้งสองที่ว่าด้วยหนังสือ: The Revolutionary King ของ William Stevenson

ทันทีที่เราทั้งสองถามท่านผู้หญิงว่า ได้อ่าน The Revolutionary King หรือไม่ ท่านก็หัวเราะ บอกว่าทำไมจะไม่ได้อ่าน มีคนมาบอกท่านว่าน่าจะต้องอ่าน แต่ก็ไม่มีขายในเมืองไทย เลยซื้อมาฝากจากอังกฤษ

และเมื่อ David Boggett เพื่อนผมที่อยู่ญี่ปุ่นมาหลายสิบปี พยายามซักไซ้ไล่เลียงท่านว่าด้วยข้ออ้าง ของ W. Stevenson ที่ตั้งทฤษฎีโดยอ้างว่าใช้อิงกับข้อมูล  ที่อ้างต่ออีกว่าได้รับมาจากวงในชั้นสูงของไทย กล่าวคือ นายทหารผู้ฉาวโฉ่ฝ่ายราชการลับของญี่ปุ่น คือ “พันโทซูจิ” (Colonel Masanobu Tsuji ) เป็นผู้ลอบปลงพระชนม์ในหลวงอานันท์ รัชกาลที่ 8 แล้วก็หนีไปหลบซ่อนตัว บวชเป็นพระภิกษุอยู่ที่วัดเลียบ (หรือวัดราชบูรณะ) ใกล้ ๆ กับสะพานพุทธนั้น ท่านก็หัวเราะอีก และว่า “เป็นไปไม่ได้” ท่านเสริมอีกว่าหนังสือเล่มนี้ “เหลว ๆ” (รวมทั้งการที่ Stevenson กล่าวอ้างว่าในหลวงรัชกาลที่ 8 ต้องการเสด็จกรุงจุงกิง อันเป็นเมืองหลวง ฐานที่มั่นของประธานาธิบดี เจียงไคเช็ค ในการต่อสู้กับทั้งญี่ปุ่นและกับคอมมิวนิสต์จีน)

ในการสนทนาวันนั้น ได้มีการกล่าวถึงหนังสือทำนองเดียวกันนี้อีกเล่มหนึ่งด้วย คือ เล่มที่อื้อฉาวพอสมควร The Devil’s Discus หรือที่แปลเป็นภาษาไทยโดย ร.อ. ชลิต ชัยสิทธิเวช) เมื่อปี 2517 (1974) ในชื่อว่า “กงจักรปีศาจ” หนังสือเล่มที่กล่าวนี้แต่งขึ้นโดยนักเขียนชาวแอฟริกาใต้ชื่อ Rayne Kruger (พิมพ์ พ.ศ. 2507 หรือ ค.ศ. 1964 หรือ 10 ปี ก่อนแปลออกมาเป็นภาษาไทย)

หนังสือเล่มนี้  เสนอทฤษฎีหลายทฤษฎีว่าด้วยเหตุการณ์ 9 มิถุนายน 2489 (1946) ว่าเกิดอะไรขึ้น กับในหลวงอานันท์ กล่าวคือ

(ก) ถูกลอบปลงพระชนม์-โดยใคร หรือ
(ข) อัตวินิบาตกรรม หรือ
(ค) อุบัติเหตุ-อย่างไร ฯลฯ

เมื่อหนังสือเล่มนี้  พิมพ์ออกมาเป็นภาษาอังกฤษครั้งแรกนั้น อ. สุลักษณ์ ศิวรักษ์  ได้บริภาษเชิงวิจารณ์อย่างหนักหน่วง ในแนวของนักเขียนและสื่อกระแสหลักทั้งหลายในสมัยนั้น คือเป็น “ลบ” ทั้งต่อผู้เขียน (Kruger) และเป็น “ลบ” ทั้งต่อท่านปรีดี พนมยงค์  ก่อนที่ อ. สุลักษณ์ จะมี “ความกล้าหาญทางจริยธรรม” ประกาศเปลี่ยน “จุดยืน” เกี่ยวกับกรณีสวรรคตและต่อท่านปรีดี  อีกหลายปีต่อมา

แต่ท่านผู้หญิงพูนศุข  ดูจะไม่มีทัศนคติที่เป็น “บวก” หรือ “ลบ” อย่างเด่นชัด ท่านเพียงแต่กล่าวผ่าน ๆ ว่า Kruger ช่างค้นคว้าหาหลักฐานแปลก ๆ  มาเขียนหนังสือ เช่น หลักฐานโปสต์การ์ดที่ในหลวงอานันท์ ทรงมีไปถึงพระสหายสตรีฝรั่งในสวิส ฯลฯ

เมื่อเราทั้งสองพยายามซักถามอีกว่า เกิดอะไรขึ้นเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2489 (1946) ต่อในหลวงอานันท์ รัชกาลที่ 8 ท่านตอบแต่เพียงว่า ในพระที่นั่งบรมพิมาน อันเป็นที่ประทับนั้น มีบุคคลเข้าออก หรือ ขึ้นลงได้เพียง 7 ท่าน และ 7 ท่านนี้รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ท่านทิ้งท้ายด้วยการกล่าวว่า “ทฤษฎีว่าด้วยอุบัติเหตุ” นั้นดีที่สุดสำหรับกรณีสวรรคต เมื่อท่านพูดจบก็ดูเหมือนจะเป็น full-stop สำหรับเราทั้งสอง “ไม่มากไม่น้อย” หรืออีกนัยหนึ่ง “ไม่ต้องถามต่อ”

 

หมายเหตุ: บทความนี้ เขียนโดย 'ชาญวิทย์ เกษตรศิริ' เผยแพร่เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2559 กองบรรณาธิการฯ ได้ทำการขออนุญาตเป็นที่เรียบร้อย

ที่มา: คลิกที่นี่