ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

คดี “โมฆ (อาชญากร) สงคราม” อันเป็นต้นกำเนิด “ศาลรัฐธรรมนูญ” ตอนที่ 1

8
สิงหาคม
2565

“....สำหรับตัวผม ผมพูดมามากแล้ว ถ้ามีผิดและรบกวนอาจารย์ก็ขออภัยด้วย ผมได้เขียนเล่าการปฏิบัติการต่อสู้ญี่ปุ่น และส่งไปทางประธานสภาฯ และให้เพื่อนฝูงอ่าน ... มีความประสงค์อย่างเดียวจะช่วยให้เพื่อนฝูงไม่เป็นอาชญากรสงคราม รวมทั้งผมด้วยตามสัญชาตญาณของคนต้องป้องกันตน ... อาจารย์ขอได้กรุณาแก่ผมในเรื่องนี้ด้วย เพราะถ้านิ่งไว้ คนไม่รู้เหตุผลการปฏิบัติของเรา ก็จะหาว่าเป็นคนขายชาติอยู่ตลอดไป ชื่อเสียงก็จะเสีย ผมดีใจแล้วว่า ที่เราทำมาแล้วนั้น อย่างน้อยพระแก้วมรกตยังอยู่ ญี่ปุ่นไม่ขนเอาไปอย่างแห่งอื่น...”

ส่วนหนึ่งจากจดหมายของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ถึง นายปรีดี พนมยงค์
(ไม่ลงวันเดือนปีที่เขียน)

 

สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นบาดแผลสำคัญบนประวัติศาสตร์ยุคใหม่ หากปฏิเสธไม่ได้ว่าผลพวงของสงครามยังมีด้านที่พอจะเรียกว่าเป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติอยู่ด้วย

อย่างน้อย บทเรียนของประวัติศาสตร์เรื่องนี้ทำให้แนวคิดเรื่อง สิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ นั้น ถือเป็นคุณค่าทางกฎหมายและการปกครองร่วมกันของรัฐประเทศทั้งหลายที่เป็นอารยะ 

ผลพวงอย่างหนึ่งของสงครามโลกครั้งที่ 2 ต่อประเทศไทยที่ยังปรากฏเป็นมรดกตกทอดมาจนปัจจุบัน ความพยายามที่จะดำเนินคดีต่อผู้ที่ต้องรับผิดชอบในการนำประเทศไทยเข้าสู่มหาสงครามโลกในฐานะผู้ร่วมทำสงครามรุกรานได้กลายเป็นต้นกำเนิดขององค์กรตุลาการทางรัฐธรรมนูญในระบบกฎหมายไทยที่ปัจจุบันองค์กรนี้คือ “ศาลรัฐธรรมนูญ” 

การหาตัวคนผิดมารับโทษฐานเป็นอาชญากรสงครามนี้เกิดขึ้นแทบจะทันทีหลังสงครามโลกยุติลง ฝ่ายสัมพันธมิตรประกอบด้วยสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร สหภาพโซเวียต และรัฐบาลชั่วคราวแห่งฝรั่งเศส ได้ลงนามกันในข้อตกลงกรุงลอนดอนลงวันที่ 8 สิงหาคม 1945 ให้จัดตั้งศาลทหารกรณีพิเศษเพื่อทำการไต่สวนผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่ออาชญากรรมต่อสันติภาพและมนุษยชาติสำหรับอาชญากรสงครามชาวยุโรปขึ้นที่เมืองนูเรมเบิร์ก เยอรมนี และในปีต่อมาก็ได้มีการจัดตั้งศาลทหารระหว่างประเทศตะวันออกไกลเพื่อดำเนินคดีกับอาชญากรสงครามในฝั่งเอเชียที่กรุงโตเกียว

ในกรณีของประเทศไทย รัฐบาลของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติอาชญากรสงครามต่อสภาผู้แทนราษฎรตามมติคณะรัฐมนตรี โดย ม.ร.ว.เสนีย์ ได้แถลงหลักการและเหตุผลของกฎหมายนี้ต่อสภาว่า 

 

“...โดยที่อาชญากรรมสงครามเป็นภัยร้ายแรงต่อความสงบของโลก สมควรที่จัดให้บุคคลที่ประกอบได้สนองกรรมชั่วที่ตนได้กระทำตามโทษานุโทษ เพื่อเป็นการผดุงรักษาความสงบของโลก อันเป็นยอดปรารถนาของประชาชาติไทย...” 

 

ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติรับหลักการในวาระแรกอย่างเป็นเอกฉันท์โดยไม่มีการอภิปราย และให้ตั้งกรรมาธิการวิสามัญจำนวน 9 คนเพื่อแปรญัตติร่างกฎหมายนี้ภายใน 3 วัน

สาระสำคัญของพระราชบัญญัตินี้อาจแบ่งได้เป็นส่วนสารบัญญัติ คือ การกำหนดความผิดฐานเป็นอาชญากรสงคราม กำหนดระวางโทษ รวมถึงมาตรการทางแพ่งที่เกี่ยวข้อง และส่วนวิธีสบัญญัติที่ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาชญากรสงคราม 

ในส่วนสารบัญญัติ ความผิดฐานเป็นอาชญากรสงครามถูกกำหนดไว้ในมาตรา 3 รวม 4 ประการ ได้แก่ 

(1) ทำการติดต่อวางแผนการศึกเพื่อทำสงครามรุกรานหรือกระทำโดยสมัครใจเข้าร่วมสงครามกับผู้ทำสงครามรุกราน หรือ โฆษณาชักชวนให้บุคคลเห็นดีเห็นชอบในการกระทำของผู้ทำสงครามรุกราน 

(2) ละเมิดกฎหมายหรือจารีตประเพณีในการทำสงคราม คือปฏิบัติไม่ชอบธรรมต่อทหารที่ตกเป็นเชลย จัดส่งพลเรือนไปเป็นทาส ฆ่าผู้ที่ถูกจับเป็นประกัน ทำลายบ้านเมืองโดยไม่จำเป็นสำหรับการทหาร 

(3) กระทำละเมิดต่อมนุษยธรรม คือกดขี่ข่มเหงในทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ หรือทางศาสนา และ

(4) กระทำโดยสมัครใจเข้าร่วมมือกับผู้ทำสงครามรุกราน คือชี้ลู่ทางให้ทำการยึด หรือครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นโดยไม่ชอบธรรม หรือสืบ หรือให้ความลับ หรือความรู้อันเป็นอุปการะแก่การทำสงครามของผู้ทำสงครามรุกราน 

ทั้งนี้ ไม่ว่าการนั้นจะได้กระทำขึ้นก่อนหรือหลังวันที่กฎหมายอาชญากรสงครามมีผลใช้บังคับ 

ซึ่งผู้ที่เป็นอาชญากรสงครามนั้น มีระวางโทษตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 9 ตั้งแต่ประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกไม่เกินยี่สิบปี ให้ริบทรัพย์สินทั้งหมด และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งสิบสองปีนับแต่วันพ้นโทษ รวมทั้งยังมีบทบังคับทางแพ่งว่านิติกรรมใดที่มีลักษณะเป็นการจำหน่ายถ่ายโอนทรัพย์สินโดยผู้ที่ศาลพิพากษาแล้วว่าเป็นอาชญากรสงครามได้กระทำไปในระหว่างหนึ่งปีก่อนกฎหมายนี้มีผลใช้บังคับให้ถือเป็นโมฆะ เว้นแต่ผู้ได้รับประโยชน์พิสูจน์ได้ว่าเป็นการทำนิติกรรมที่สุจริตและมีค่าตอบแทนแล้ว

กระนั้น ในส่วนวิธีบัญญัติที่เป็นปัญหาสำคัญที่สุด คือ จะให้คดีอาชญากรสงครามนี้ถูกชำระกันโดยศาลใด สำหรับกรณีการไต่สวนอาชญากรสงครามในภาคพื้นยุโรปและเอเชียนั้นได้มีลักษณะเป็นการจัดตั้งศาลพิเศษขึ้นดังที่ได้กล่าวไป โดยมีผู้พิพากษาและอัยการจากประเทศผู้ชนะสงคราม 

ในกรณีของประเทศไทย ร่างแรกของกฎหมายดังกล่าวคณะรัฐมนตรีได้เสนอให้ศาลฎีกาทำหน้าที่เป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีอาชญากรสงคราม โดยให้เหตุผลว่าเพื่อเป็นการยุติธรรมต่อจำเลยอาชญากรสงคราม คดีนี้สมควรได้รับการไต่สวนและตัดสินจากผู้มีประสบการณ์สูงในการพิจารณาอรรถคดีต่างๆ  จึงควรเป็นหน้าที่ของศาลฎีกาซึ่งเป็นศาลสูงสุดของศาลยุติธรรม 

อย่างไรก็ตาม ในชั้นการแปรญัตติ นายสงวน ตุลารักษ์ รัฐมนตรีคนหนึ่งในคณะรัฐบาลและอดีตเสรีไทยสายพลเรือน รวมถึงการแปรญัตติของ นายถวิล อุดล ได้เสนอให้จัดตั้งศาลพิเศษในลักษณะของ “ศาลประชาชน” เพื่อดำเนินคดีนี้ 

แนวทางจัดตั้งศาลพิเศษนี้ก็มีความเห็นของ พระยาอรรถการีย์นิพนธ์ รัฐมนตรี และอดีตอธิบดีกรมอัยการ (เทียบเท่าอัยการสูงสุดในปัจจุบันนี้) เห็นว่าศาลฎีกาในสมัยนั้นมีผู้พิพากษาจำนวนน้อย หากต้องพิจารณาคดีอาชญากรสงครามซึ่งเป็นการพิจารณาคดีแบบเต็มรูปแบบเช่นเดียวกับศาลชั้นต้นด้วย ก็จะทำให้อรรถคดีอื่นๆ ของประชาชนล่าช้าไป รวมถึงคดีอาชญากรสงครามมีลักษณะเป็น “คดีการเมือง” หากให้ศาลฎีกามาตัดสินก็จะถูกมองว่าเป็นการทำให้ศาลลงมา “เล่นการเมือง” ซึ่งไม่เป็นการดีต่อสถาบันศาลในระยะยาว 

อย่างไรก็ตาม เหตุผลของคณะกรรมาธิการก็เห็นว่าการกำหนดให้มีการจัดตั้งศาลพิเศษขึ้นในพระราชบัญญัตินี้อาจจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 59 (รัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม 2475) ซึ่งหากจะใช้วิธีดังกล่าวรัฐบาลจะต้องเสนอกฎหมายจัดตั้งศาลพิเศษขึ้นมาเสียก่อน 

ซึ่งการเปิดช่องให้ตั้ง “ศาลพิเศษ” หรือ “ศาลประชาชน” นี้ ก็เคยมีบาดแผลจากครั้งที่รัฐบาลเคยตั้งศาลพิเศษมาแล้วในช่วงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเพื่อพิจารณาคดีกบฏและเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐบาล โดยก่อนหน้านี้เคยมีการจัดตั้งศาลพิเศษ 3 ครั้ง ในปี 2476 เพื่อพิจารณาโทษกบฏบวรเดช ปี 2478 เพื่อพิจารณาโทษกบฏนายสิบ และ ปี 2481 เพื่อพิจารณาโทษผู้ประทุษร้ายและล้มล้างรัฐบาล 

ศาลพิเศษนี้ที่ตั้งขึ้นเพื่อชำระคดีการเมืองนี้มีชั้นเดียวไม่มีอุทธรณ์ฎีกา และมีข้อครหาเกี่ยวกับความเป็นธรรมซึ่งมีลักษณะเป็นเหมือนการเช็คบิลกันแบบทีใครทีมัน เรื่องนี้มีผู้แทนราษฎรที่เคยได้รับผลกระทบจากการจัดตั้งศาลพิเศษดังกล่าวได้เคยอภิปรายคัดค้านการจัดตั้งศาลพิเศษด้วย 

ในที่สุดจากการลงมติสภาผู้แทนราษฎรจึงเห็นควรให้ศาลฎีกาทำหน้าที่พิจารณาคดีอาชญากรสงคราม คงตามร่างของรัฐบาล แต่ถึงกระนั้นแม้จะให้เป็นอำนาจของศาลฎีกาซึ่งเป็นศาลยุติธรรมในระบบปกติก็ตาม หากโดยสาระก็มิได้แตกต่างจากการชำระความโดยศาลพิเศษเท่าใดนัก เพราะก็ยังถือเป็นการพิจารณาเพียงชั้นศาลเดียวเป็นที่สุด ตามมาตรา 8 ของกฎหมายดังกล่าว

สำหรับผู้ที่เป็นโจทก์ฟ้องคดีอาชญากรสงครามนั้น มาตรา 5 ได้กำหนดให้มีคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นโดยคณะรัฐมนตรีจำนวน 15 คน "มีอำนาจในการทั้งสอบสวนและฟ้องคดีแทนพนักงานสอบสวนและอัยการ" รวมถึงมีอำนาจสั่งการให้ตำรวจและสารวัตรทหารช่วยเหลือจับกุมตัวจำเลยได้ ส่วนวิธิพิจารณาทั้งในส่วนของการจับกุม สอบสวน ส่งฟ้อง การดำเนินคดีในศาล ให้นำวิธีพิจารณาคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญามาปรับใช้  

ทั้งนี้ตามมาตรา 6 และมาตรา 7 พระราชบัญญัติอาชญากรสงคราม พุทธศักราช 2488 ได้ผ่านกระบวนการตราโดยมี นายปรีดี พนมยงค์ ลงนามในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2488 และมีผลบังคับใช้ในวันต่อมาเมื่อได้ประกาศลงราชกิจจานุเบกษา และในวันเดียวกัน รัฐบาลก็ได้แต่งตั้งคณะกรรมการตามมาตรา 5 ดังกล่าว โดยมีนายสงวน ตุลารักษ์ และกรรมการคนอื่นอีก 14 คน ขึ้นมาเพื่อดำเนินคดีต่ออาชญากรสงครามตามกฎหมายนี้ทันที 

การจับกุมตัวผู้ต้องหาคดีนี้ในวันที่ 16 ตุลาคม ปีเดียวกัน โดยเริ่มจาก จอมพล ป. พิบูลสงคราม และบุคคลในคณะรัฐบาล ที่ต้องรับผิดชอบในการประกาศสงครามและให้การสนับสนุน นอกจากนี้ก็ยังมีกรณีข้าราชการ ทหาร และพลเรือน ที่ถูกจับเนื่องจากการกระทำในช่วงสงครามที่เป็นความผิดตามกฎหมายนี้แบบต่างกรรมต่างวาระ เช่น เป็นผู้จับกุมตัวเชลยศึกไปมอบให้กองทัพญี่ปุ่น กักตุนสินค้าสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนในระหว่างสงคราม ตลอดจนโฆษณาชวนเชื่อด้วยหนังสือพิมพ์หรือออกวิทยุเพื่อโน้มน้าวให้คนไทยให้ความสนับสนุนกองทัพญี่ปุ่น โดยรวมแล้วมีผู้ถูกจับกุมดำเนินคดีฐานอาชญากรสงครามนี้ 13 คน และเริ่มทำการสอบสวนกันในเดือนพฤศจิกายน 

แต่หลังจากการสอบสวน มีผู้ที่ถูกฟ้องเป็นจำเลยจริงๆ ต่อศาล เพียง 8 คน คือ ตัวจอมพล ป. พิบูลสงคราม พระสารสาสน์พลขันธ์ หลวงเสรีเริงฤทธิ์ พลโท ประยูร ภมรมนตรี พระราชธรรมนิเทศ นายสังข์ พัธโนทัย นายฉ่ำ จำรัสเนตร และหลวงวิจิตรวาทการ และเริ่มดำเนินคดีแรกในเดือนมกราคม 2489 ในคดีที่พระสารสาสน์พลขันธ์ เป็นจำเลย

จำเลยคนสำคัญของคดีนี้ คือ จอมพล ป. นั้น ถูกฟ้องคดีในฐานะนายกรัฐมนตรีที่ตัดสินใจนำประเทศเข้าสู่สงคราม และคดีที่ร่วมเป็นตัวการกับจำเลยคนอื่นในการโฆษณาชวนเชื่อให้ประชาชนเห็นดีเห็นชอบและให้การสนับสนุนกับการทำสงครามรุกรานหลายกรรมหลายวาระ

ในส่วนคำฟ้องคดีแรกของจอมพล ป. นั้น พระยาอรรถกรมมณุตตี โจทก์ในฐานะของคณะกรรมการตามพระราชบัญญัติอาชญากรสงคราม บรรยายฟ้องรวมสรุปได้ว่า จอมพล ป. เมื่อครั้งที่เป็นนายกรัฐมนตรีนั้นเป็นเผด็จการ นิยมการใช้อำนาจและฝักใฝ่ต่อการทำสงครามเช่นเดียวกับเยอรมัน อิตาลี และญี่ปุ่น เป็นผู้มีความมักใหญ่ใฝ่สูง ได้ทำการเจรจาร่วมมือกับญี่ปุ่นรวมถึงโน้มน้าวใจให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบกับการเข้าร่วมกับญี่ปุ่นและประกาศสงครามต่อฝ่ายสัมพันธมิตร ซึ่งขัดต่อความประสงค์ของปวงชนชาวไทยที่มีนิสัยรักความสงบไม่นิยมในสงคราม และได้ทำการต่อสู้เพื่อต่อต้านญี่ปุ่นที่มารุกรานในครั้งที่ยกพลขึ้นบกเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2484 การกระทำของจอมพล ป. จึงถือเป็นอาชญากรสงคราม เป็นภัยต่อความสงบสุขของโลกและทำให้สูญเสียทรัพย์สินและชีวิตของผู้คน

จอมพล ป. ได้อ้างพยานหลักฐานขึ้นต่อสู้หลายประการ เช่นข้อโต้แย้งถึงความเป็น “โมฆสงคราม” ที่นายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์มิได้ลงนามในคำประกาศสงครามฉบับลงวันที่ 25 มกราคม 2485 รวมถึงข้อเท็จจริงที่ว่าการเข้าร่วมกับฝ่ายญี่ปุ่นในการทำสงครามนั้นก็ด้วยความจำยอม เพราะกำลังรบของไทยไม่อาจต้านทานทัพญี่ปุ่นในขณะนั้นไหว ถ้าตัดสินใจต่อสู้ ต่อต้าน น่าจะเกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อประเทศชาติและประชาชนชาวไทยยิ่งกว่า

อย่างไรก็ตาม ข้อต่อสู้ทั้งหลายของ จอมพล ป. และจำเลยคนอื่นที่ทั้งยกทั้งนำสืบกันมากมายทั้งหลายทั้งปวงนั้น ในที่สุดแล้วก็หามีผลใดต่อผลแห่งคำพิพากษาไม่ เพราะจุดที่ชี้ขาดคดีนี้อยู่ที่ “ข้ออ่อน” สำคัญในเนื้อหาแห่งกฎหมายอาชญากรสงครามนี้เอง และข้อนี้ก็เป็นประเด็นสำคัญที่ติติงกันมาก่อนแล้วตั้งแต่ในชั้นพิจารณากฎหมายแล้วด้วย

ข้ออ่อนนี้เองที่ส่งผลให้การดำเนินคดีอาชญากรสงครามและกฎหมายเพื่อการนี้เป็นโมฆะ จนหลายฝ่ายเชื่อว่าเป็นเรื่องปาหี่เพื่อสมคบกันช่วยเหลือคณะจำเลยมิให้ต้องไปตกเป็นจำเลยคดีอาชญากรสงครามที่ต้องถูกไต่สวนพิจารณาในศาลต่างประเทศ ถือเป็นข้อพิพาททางรัฐธรรมนูญแรกของประเทศไทย ซึ่งเป็นที่มาของศาลรัฐธรรมนูญในกาลต่อมา

 

บรรณานุกรม :

  • ป. พิบูลสงคราม เรียนอาจารย์ที่เคารพและนับถือ (จดหมายของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ถึง นายปรีดี พนมยงค์) สืบค้นจาก : https://pridi.or.th/th/content/2021/11/882
  • พระราชบัญญัติอาชญากรสงคราม พุทธศักราช 2489 สืบค้นจาก : https://dl.parliament.go.th/handle/lirt/13367
  • อังคณา เกียรติศักดิ์นุกูล. (2533) คดีอาชญากรสงครามในประเทศไทย พ.ศ. 2488-2489. คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย : กรุงเทพฯ.
  • Britannica. War crime สืบค้นจาก : https://www.britannica.com/topic/war-crime