Focus
- นายปรีดี พนมยงค์ บันทึกถึงเหตุการณ์สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 กับรายละเอียดการลาออกของจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ที่ทางนายปรีดีและผู้ให้การสนับสนุนได้ใช้วิธีทางรัฐสภาเพื่อล้มรัฐบาล
- นายปรีดีได้ใช้หลักฐานที่มีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ คือบันทึกความทรงจำที่บันทึกโดยนายทวี บุณยเกตุ บุคคลที่มีตำแหน่งทางการเมืองในเวลาดังกล่าว
-1-
ในประเทศที่มีระบบรัฐสภาก็เป็นธรรมดาอยู่เองที่จะใช้วิธีรัฐสภาต่อสู้รัฐบาลได้ ส่วนประเทศไทยที่แม้สมัยใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม 2475 ซึ่งมีสมาชิกประเภท 1 ได้รับเลือกตั้งจากราษฎร ประเภท 2 ได้รับแต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์โดยรัฐบาลเป็นผู้เสนอในครั้งแรก แล้วเลือกตั้งกันเองก็ดีซ่อมตำแหน่งว่างก็ดี แต่รัฐบาลพระยาพหลฯได้เคยทำตัวอย่างไว้ คือ เมื่อแพ้คะแนนเสียงในร่างกฎหมายที่สำคัญ ก็ยอมลาออกโดยมารยาทตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
-2-
จอมพล ป. เคยเสนอใบลาออกหลายคราวมายังพระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ ประธานคณะผู้สำเร็จราชการฯ ซึ่งส่งใบลาจอมพล ป. กลับคืนไปโดยไม่แจ้งให้ข้าพเจ้าทราบ
ต่อมาประมาณเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2486 จอมพล ป. เกิดมีความน้อยใจเกี่ยวกับเรื่องส่วนตัวของท่านเอง ส่งใบลาออกตรงมายังพระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ คราวนี้ท่านผู้นี้ส่งต่อมาให้ข้าพเจ้าพิจารณโดยหวังว่าข้าพเจ้าคงลงความเห็นให้คืนใบลาไปเหมือนกับที่ท่านเคยปฏิบัติ แต่เมื่อใบลานั้นมาถึงข้าพเจ้า ๆ เขียนความเห็นในบันทึกหน้าปกใบลานั้นว่า “ใบลานั้นถูกต้องตามรัฐธรรมนูญแล้วอนุมัติให้ลาออก” ข้าพเจ้าลงนามไว้ตอนล่างทิ้งที่ว่างตอนบนไว้เพื่อให้พระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ ลงพระนาม ข้าพเจ้าได้กำชับเจ้าหน้าที่ราชเลขานุการในพระองค์ที่นำหนังสือมาเสนอว่า ให้ไปทูลพระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ ว่าคณะผู้สำเร็จฯจะคืนใบลาไม่ได้ ขืนทำไปผิดรัฐธรรมนูญ ขอให้พระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ ทรงลงพระนามอนุมัติให้ลาออกด้วย ส่วนเมื่อจอมพล ป. ลาออกแล้ว สภาฯจะแนะนำให้ตั้งจอมพล ป. อีกเราก็จะทำตาม ไม่ต้องวิตก ขอให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญก็แล้วกัน
ข้าพเจ้าเกรงว่าจะเกิดการโลเลขึ้น จึงเชิญนายทวี บุณยเกตุ ซึ่งขณะนั้นป็นรัฐมนตรีและเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ซึ่งกรมโฆษณาการขึ้นอยู่ มาเล่าเรื่องให้ทราบและปรึกษาตกลงกันว่า นายทวีฯ จะสั่งกรมโฆษณาการให้วิทยุของกรมนั้น ประกาศการลาออกของจอมพล ป. ทันที
เมื่อจอมพล ป.ได้ฟังวิทยุโดยมิได้คาดคิดว่า คณะผู้สำเร็จราชการฯ ก็ดี นายทวีฯ ก็ดีจะร่วมมือเอาจริงเอาจังในการลาออกของจอมพล ป. ด้วย จึงแสดงอาการโกรธมากได้ส่งนายทหารบางคนไปเฝ้าพระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ ที่พระที่นั่งอัมพรสถาน ซึ่งท่านผู้นี้ประทับอยู่ขณะนั้น ขอให้จัดการเอาใบลาคืนให้จอมพล ป. พระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ ตกใจมาก จึงเสด็จพร้อมด้วยหม่อมกอบแก้วมาทำเนียบที่ข้าพเจ้าอยู่ริมแม่น้ำใกล้ท่าช้างวังหน้า ขออาศัยค้างคืนที่ทำเนียบข้าพเจ้า และขอให้ข้าพเจ้าบอกเพื่อนทหารเรือให้ความอารักขาข้าพเจ้าได้ปฏิบัติตามพระประสงค์
ต่อมาสังเกตว่า มีทหารบกมาสังเกตการณ์อยู่บริเวณนอกทำเนียบ ส่วนทหารเรือได้ส่งยามฝั่งบังคับบัญชาของ ร.อ.วัชรชัย ชัยสิทธิเวช ร.น.มาจอดเทียบอยู่กับทำเนียบด้านแม่น้ำ ฝ่าย พ.ต.หลวงราชเดชา ราชองครักษ์ประจำตัวข้าพเจ้าได้รีบมาอารักขาข้าพเจ้าที่ทำเนียบ พ.ท.ประพันธ์ กุลพิจิตร ราชองครักษ์ประจำพระองค์เจ้าอาทิตย์ฯก็ได้มาร่วมให้ความอารักขาด้วย ตอนสายของวันรุ่งขึ้น พระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ กับหม่อมกอบแก้วกลับไปที่พระที่นั่งอัมพรสถานทางฝ่ายพนักงานราชเลขานุการในพระองค์คนหนึ่งได้เอาใบลาคืนให้จอมพล ป. แล้วจอมพล ป. ให้วิทยุกรมโฆษณาการกระจายเสียง ใจความว่า ที่กระจายเสียงไว้เมื่อวันก่อนว่าจอมพล ป. ลาออกนั้นคลาดเคลื่อนไป จอมพล ป. ก็ครองตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป เพราะหลักฐานการลาออกถูกทำลาย
-3-
นายทวี บุณยเกตุถูกจอมพล ป. ตำหนิ จึงได้ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีและเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
เพื่อลงโทษพระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ และข้าพเจ้า จอมพล ป. อ้างตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด ออกคำสั่งให้พระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ และข้าพเจ้าไปประจำกองบัญชาการทหารสูงสุดคือ เท่ากับให้ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บัญชาการทหารสูงสุด
พระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ ได้เสด็จไปรายงานพระองค์ต่อจอมพล ป. ตามคำสั่ง ส่วนข้าพเจ้าไม่ยอมไป ข้าพเจ้าเชิญ พล.ต.อ.อดุลฯ รองนายกรัฐมนตรีมาชี้แจงว่าข้าพเจ้าไม่อาจรับทราบคำสั่งนั้นของจอมพล ป. ได้ เพราะข้าพเจ้า มีตำแหน่งเป็นผู้แทนพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงเป็นจอมทัพตามรัฐธรรมนูญ
ถ้าข้าพเจ้าไปรายงานตนยอมอยู่ภายใต้จอมพล ป. อีกคนหนึ่งเหมือนพระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ แล้ว ก็เท่ากับข้าพเจ้าลดพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ลงอยู่ภายใต้ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ขอให้ พล.ต.อ.อดุลฯ ช่วยชี้แจงจอมพล ป. ให้เข้าใจว่า การที่ทำไปนั้นผิดรัฐธรรมนูญและไม่เหมาะสม พล.ต.อ.อดุลฯ เห็นด้วยจึงได้ช่วยชี้แจงแก่จอมพล ป. ในที่สุดจอมพล ป. ก็ได้ถอนคำสั่งนั้น
-4-
ต่อมาประมาณเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2486 พระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ เสด็จไปพักผ่อนที่วังไกลกังวล หัวหิน รับสั่งชวนให้ข้าพเจ้าไปเยี่ยมพระองค์ในปลายสัปดาห์ ข้าพเจ้าก็ได้ไปครั้งหนึ่งตามคำชวน
ระหว่างนั้น ได้รับฟังวิทยุต่างประเทศกระจายข่าวว่า พระเจ้าวิคตอร์ เอมมานูเอล แห่งอิตาลี ไม่อาจทรงเพิกเฉยต่อการดำเนินนโยบายของมุสโสลินีที่ทำให้ชาติประสบความพ่ายแพ้ในสงครามและนำอิตาลีไปสู่ความหายนะพระองค์จึงรับสั่งให้มุสโสลินีเข้าเฝ้าที่พระราชวังกิรินัล แล้วผู้ที่ร่วมคิดกับพระองค์ทำการจับกุมมุสโสลินีใส่รถพยาบาล เปิดแตรไซเรนออกไปจากพระราชวัง โดยผู้คน 2 ข้างทางที่รถผ่านไปไม่อาจทราบได้ว่า เป็นรถที่พาตัวมุสโสลินีไปสู่ที่คุมขังแห่งหนึ่ง ครั้นแล้วพระมหากษัตริย์องค์นั้น แต่งตั้งจอมพลบาโดกลิโอเป็นนายกรัฐมนตรี จัดตั้งรัฐบาลใหม่แห่งชาติอิตาลีขึ้น
พระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ กับข้าพเจ้าได้สนทนาถึงเหตุการณ์ครั้งนี้ แล้วพระองค์รับสั่งว่า
ในเมืองไทยไม่มีใครที่จะกล้าทำเช่นนั้น ข้าพเจ้าจึงทูลเพื่อสนุก ๆ ว่า ต้องหาคนแก่ ๆ อย่างบาโดกลิโอ แล้วทูลต่อไปว่า เมื่อตอนบ่ายจากรถไฟซึ่งข้าพเจ้าโดยสารมาหัวหินนั้น เห็น พล.ท.พระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกรยืนอยู่ที่สถานีห้วยทราย ท่านผู้นี้ชราพอ ๆ กับจอมพลบาโดกลิโอ น่าจะทำได้ ครั้นแล้วเราก็เสสรวลกันเป็นเรื่องสนุกไม่จริงจัง
ต่อมาเมื่อพระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ เสด็จกลับจากหัวหินแล้ววันหนึ่งนายเฉลียว ปทุมรส ได้รีบมาหาข้าพเจ้าบอกว่า จอมพล ป. ได้เรียกประชุมผู้ก่อการ 24 มิถุนาฯเป็นการด่วน แจ้งว่าพระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ ได้รายงานว่าข้าพเจ้าคิดจับตัวจอมพล ป. เหมือนที่มุสโสลินีถูกจับ โดยข้าพเจ้าจะให้พล.ท.พระยาวิชิตฯ เป็นผู้นำจับ จึงให้ผู้ก่อการฯ ปรึกษาโทษข้าพเจ้าที่ประชุมขอรอการลงมติไว้ก่อนอ้างว่าจะเชื่อพระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ ยังไม่ได้ขอให้ตั้งกรรมการมาสอบสวนข้าพเจ้า กรรมการกำลังออกจากวังสวนกุหลาบมุ่งหน้ามายังทำเนียบท่าช้างแล้ว ไม่ช้ากรรมการก็มาถึง เท่าที่จำได้มาด้วยกัน 3 คนมี พ.อ.ช่วงเชวงศักดิ์สงครามด้วยผู้หนึ่ง กรรมการได้สอบถามข้าพเจ้า ๆ รับว่าพูดตามที่กล่าวนั้น แต่เป็นการพูดเล่นสนุก ๆ เพราะพระองค์เจ้าอาทิตย์ฯปรารภขึ้น
ถ้าข้าพเจ้าจะจับจอมพล ป. จริงแล้วคงไม่บอกพระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ เพราะข้าพเจ้ายังมีเพื่อนไว้ใจได้ยิ่งกว่าพระองค์เจ้าอาทิตย์มากนักและพล.ท.พระยาวิชิตฯนั้นท่านชราแล้วจะใช้ท่านทำการอย่างที่กล่าวหาได้อย่างไร คณะกรรมการกลับไปรายงานจอมพล ป. ว่า เป็นเรื่องที่พระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ เอาเรื่องเหลวไหลมารายงานจอมพล ป. เรื่องก็เลยระงับไป พระองค์เจ้าอาทิตย์ฯก็เลยเจื่อน ๆ กับข้าพเจ้า แต่นั้นมาข้าพเจ้าก็ต้องระวังในการพูดกับท่าน
ภายหลังสงคราม เมื่อพระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ ประชวรหนักก่อนสิ้นพระชนม์ประมาณ 1-2 วัน ท่านให้นายเฉลียว ปทุมรส มาเชิญข้าพเจ้าไปเฝ้าที่วังรัตนาภา ถนนเศรษฐศิริ ตรัสว่าก่อนสิ้นพระชนม์ ท่านอยากพบข้าพเจ้าเพื่อขอขมาสิ่งที่ล่วงเกินแก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ไปเฝ้า ท่านรับสั่งว่า ขอให้ข้าพเจ้าอโหสิกรรมในเรื่องที่ท่านได้กระทำไป ข้าพเจ้าได้ทูลว่า ข้าพเจ้า ถวายอโหสิกรรมมาก่อนแล้วขอให้ทรงตั้งพระทัยยึดมั่นในพระพุทธคุณ ทรงทำจิตให้ผ่องแผ้ว อย่าวิตกกังวลเลย ต่อมาพระองค์ก็ได้สิ้นพระชนม์ด้วยความสงบ ข้าพเจ้ามิได้จองเวรอย่างหนึ่งอย่างใดแก่ท่านเลย
-5-
ภายหลังที่ข้าพเจ้าได้ส่งนายจำกัด พลางกูรไปจุงกิง และได้ส่งคณะตัวแทนอันมีนายสงวน ตุลารักษ์เป็นหัวหน้าตามไป ต่อมาได้ข่าวว่านายจำกัดฯ ได้เสียสละชีวิตเพื่อชาติแล้ว ข้าพเจ้าได้ทราบผลการเจรจากับสัมพันธมิตรเรื่องตั้งรัฐบาลเสรีของชาติไทย ซึ่งฝ่ายอังกฤษโดยความสนับสนุนของหม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตนที่มาพบนายจำกัดฯ ที่จุงกิงนั้นแสดงความสนพระทัยสัมพันธมิตร ได้มีความเห็นว่า นอกประเทศยังหาผู้ที่เหมาะสมเป็นรัฐบาลไม่ได้ ข้าพเจ้าจึงเสนอตัวข้าพเจ้าเองเป็นผู้ไปจัดตั้ง แล้วรัฐบาลเสรีนั้นจะเข้ามาในประเทศไทยเมื่ออังกฤษขับไล่ญี่ปุ่นออกจากพม่าได้แล้ว ฝ่ายอังกฤษได้ส่งนายป๋วย อึ้งภากรณ์มาทางเรือดำน้ำเพื่อรับข้าพเจ้าและเพื่อนที่จะเดินทางไปด้วย แต่เวลานั้นการติดต่อขลุกขลักเนื่องจากเราไม่มีวิทยุลับ เรือดำน้ำที่พานายป๋วยฯมาต้องกลับไปลังกา ส่วนนายสงวนฯ ก็ได้รับความช่วยเหลือจากสัมพันธมิตรให้ไปอังกฤษและสหรัฐอเมริกาได้
ข้าพเจ้าจึงเชิญนายทวี บุณยเกตุมาปรึกษา ดังที่นายทวีฯ ได้บันทึกไว้นำลงในหนังสือนายดิเรกฯ เล่มที่อ้างไว้แล้ว และเจ้าภาพงานพระราชทานเพลิงศพนายทวีฯ ได้พิมพ์ชำร่วยญาติมิตรที่มาในงานนั้น มีความตอนหนึ่งดั่งนี้
ในเดือนกุมภาพันธ์ 2486 ข้าพเจ้าก็ได้ลาออกจากราชการ คือจากรัฐมนตรีและจากตำแหน่งเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เนื่องจากมีความเห็นขัดแย้งกับจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ข้าพเจ้าจึงไปพักผ่อนอยู่ที่หัวหิน ค่ำวันหนึ่งในเดือนกุมภาพันธ์นั้นเอง นายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้ให้คนเชิญข้าพเจ้าไปพบที่บ้านพักในพระราชวังไกลกังวล (หัวหิน) เมื่อข้าพเจ้าไปถึงและได้นั่งคุยกันอยู่สองต่อสอง นายปรีดีฯ ก็เอ่ยปากชวนข้าพเจ้าให้ร่วมทำงานเสรีไทยด้วยกัน โดยกล่าวเป็นใจความว่า นายปรีดีฯ ได้เริ่มติดต่อกับอังกฤษและอเมริกา โดยส่งคนออกไปพบกับผู้แทนเสรีไทยนอกประเทศหลายคนแล้ว โดยแบ่งออกเป็นสาย ๆ และคนหนึ่งที่ส่งไปก็ได้ล้มป่วยถึงแก่กรรมลงกลางทาง เสรีไทยผู้นี้ชื่อนายจำกัด พลางกูร เพราะการเดินทางนั้นนอกจากจะต้องเสี่ยงอันตรายรอบด้านแล้วยังต้องเดินทางด้วยเท้าบุกป่าฝ่าดงทุรกันดารมาก
นายปรีดีฯ ได้ชี้แจงกับข้าพเจ้าว่า ควรจะไปตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นขึ้นที่นอกประเทศ ทำนองเดียวกับที่นายพลชาลส์ เดอโกล ได้ไปตั้งรัฐบาลฝรั่งเศสที่ประเทศอังกฤษ โดยจะได้หาทางเจรจาชี้แจงเหตุผลกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้ลงมติเลือกให้ข้าพเจ้าเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร และเมื่อข้าพเจ้าได้เป็นประธานสภาฯ แล้ว นายปรีดีฯ ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ กับข้าพเจ้าในฐานะที่เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรอันชอบด้วยกฎหมายพร้อมด้วย ม.ล.กรี เดชาติวงศ์ ซึ่งในขณะนั้นเป็นรัฐมนตรีอยู่ในคณะรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงครามก็จะได้ร่วมเดินทางไปยังต่างประเทศด้วยกัน เพื่อไปตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นอยู่นอกประเทศ เพราะเมื่อมีตัวผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ มีตัวประธานสภาผู้แทนราษฎร และมีรัฐมนตรีนายหนึ่งที่ถูกต้องตามกฎหมายและรัฐธรรมนูญเช่นนี้แล้ว จะทำอะไรหรือจะประกาศอะไรออกมาก็ถือว่า ประกาศนั้นเป็นพระบรมราชโองการและสมบูรณ์ ตามกฎหมายถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ นายปรีดีฯ กับข้าพเจ้าได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันจนเป็นที่ตกลง และข้าพเจ้ายินดียอมรับร่วมมือในงานเสรีไทย เพื่อช่วยกอบกู้เอกราชของชาติไทยในครั้งนี้
ครั้นในวันที่ 26 มิถุนายน 2486 ก็ได้มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยสามัญเพื่อเลือกตั้งประธานและรองประธานสภาผู้แทนฯ ตามระเบียบ ที่ประชุมสภาฯ ได้ลงมติเลือกให้ข้าพเจ้าเป็นประธานสภาฯ และนายควง อภัยวงศ์ เป็นประธานสภาฯ (เพื่อความเข้าใจอันดี ข้าพเจ้าขออธิบายไว้เสียด้วยว่า นายควง อภัยวงศ์ ก็ได้ลาออกจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมพร้อมกับข้าพเจ้าด้วยเหมือนกันและโดยเหตุผลเดียวกัน) แต่ในที่สุดข้าพเจ้าก็ไม่ได้เป็นประธานสภาฯ ทั้ง ๆ ที่ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งมาแล้ว แต่นายกรัฐมนตรีไม่ยอมลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ซึ่งเป็นการผิดรัฐธรรมนูญ เรื่องจึงอลเวงกันอยู่หลายวัน ในที่สุดรัฐบาลก็ได้ขอให้สภาฯ พิจารณาเลือกบุคคลอื่นซึ่งไม่ใช่ข้าพเจ้าหรือนายควง อภัยวงศ์ โดยมีเหตุผลทางการเมืองว่า หากข้าพเจ้าได้รับเลือกเป็นประธานสภาฯ แล้วจะเกิดเรื่องใหญ่เพราะญี่ปุ่นไม่ไว้วางใจ เนื่องจากข้าพเจ้าและนายควง อภัยวงศ์เอาใจฝักใฝ่กับอังกฤษและอเมริกา และได้อ้างเหตุผลทางทหารต่าง ๆ นานา จนในที่สุดสภาฯต้องประชุมเลือกประธานฯ กันใหม่ เป็นอันว่าข้าพเจ้าไม่ได้เป็นประธานสภาฯ เมื่อเป็นเช่นนี้แผนการที่จะไปตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นอยู่นอกประเทศก็เป็นอันต้องระงับลง”
ภาคผนวก
ชุดภาพการเมืองในระบบรัฐสภาระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 พ.ศ. 2482-2486
หมายเหตุ:
- คงอักขรและวิธีสะกดตามต้นฉบับ
- ภาพประกอบจากหนังสือโมฆสงคราม บันทึกสัจจะประวัติศาสตร์ที่ยังไม่เปิดเผยของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ และเอกสารส่วนบุคคลปรีดี-พูนศุข พนมยงค์จากหอจดหมายเหตุมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เอกสารอ้างอิง
- ปรีดี พนมยงค์, “การต่อสู้รัฐบาลจอมพล ป. โดยวิธีรัฐสภา” ใน โมฆสงคราม บันทึกสัจจะประวัติศาสตร์ที่ยังไม่เปิดเผยของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ (กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, 2558), น. 295-302.