Focus
- นายปรีดี พนมยงค์บันทึกถึงเหตุการณ์ที่รัฐบาลไทยได้ส่งทหารเข้าครอบครองดินแดน ประกอบด้วย 4 รัฐมาลายา เชียงตุง และเมืองพาน ต่อมานายพลฮิเดกิ โตโจ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้มาเยือนกรุงเทพฯ เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2486 และทำคำแถลงร่วมกันกับจอมพล ป. พิบูลสงคราม ยอมให้ 4 รัฐมลายา คือ ปลิศ, ไทรบุรี, กลันตัน, และตรังกานู อีกทั้งยังยอมรับรองรัฐเชียงตุง, รัฐเมืองพาน ซึ่งทหารไทยยึดครองไว้นั้น รวมเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทยภายใต้การสนับสนุนจากกองทัพญี่ปุ่น
- ผลจากเหตุการณ์ทำให้ประเทศไทยได้เสียเอกราชสมบูรณ์แก่ประเทศญี่ปุ่น
-1-
ประมุขรัฐบาลไทยได้เร่งเร้าญี่ปุ่นให้แบ่งดินแดนส่วนหนึ่งในมลายาที่ญี่ปุ่นยึดไว้ได้นั้นมาให้ไทยบ้าง ต่อมาโตโจ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้มากรุงเทพฯเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2486 ทำคำแถลงร่วมกันกับจอมพล ป. ยอมให้ 4 รัฐมลายา คือ ปลิศ, ไทรบุรี, กลันตัน, และตรังกานู อีกทั้งยอมรับรองรัฐเชียงตุง, รัฐเมืองพาน ซึ่งทหารไทยยึดครองไว้นั้น รวมเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย
ข่าวนี้ทำให้ผู้นิยมการสถาปนามหาอาณาจักรและคนที่พาซื่อรู้สึกยินดีเป็นอันมาก โดยไม่รู้ว่าก่อนหน้านั้น สถานทูตไทยอันเป็นสัญลักษณ์แห่งความเป็นเอกราชของชาติได้ถูกลดฐานะจากการเป็นตัวแทนของชาติไทยเอกราชจากญี่ปุ่น โดยญี่ปุ่นซึ่งได้ตั้งกระทรวงขึ้นใหม่เรียกว่า “กระทรวงกิจการมหาเอเชียบูรพา” (Ministry of Great-East-Asia- Affaires) ในเดือนตุลาคมและเปิดทำการเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2485 (ค.ศ. 1942) ซึ่งมีลักษณะเป็นกระทรวงอาณานิคมชนิดหนึ่ง
บรรดาการทูตของรัฐหุ่นทั้งหลายที่ญี่ปุ่นตั้งขึ้นมา เช่น มานจูกัว, จีนของวังจิงไว, พม่าของบามอ ฯลฯ รวมทั้งไทยเคยเป็นเอกราชมาก่อนก็ต้องติดต่อกับกระทรวงใหม่นี้ แทนการติดต่อกับกระทรวงการต่างประเทศ จึงเท่ากับประเทศไทยกลายเป็นเมืองขึ้นของญี่ปุ่นไปเสียแล้ว โตโจนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้อธิบายให้นายดิเรก ชัยนาม อัครราชทูตไทยสมัยนั้น ทราบตามที่นายดิเรกฯพิมพ์ไว้ในหนังสือที่อ้างข้างต้นว่าดังนี้
“พลเอกโตโจได้อธิบายให้ฟังยืดยาวว่า ขอชี้แจงอย่างเราเป็นพี่น้องกัน การต่างประเทศเรา (ญี่ปุ่น) แบ่งออกเป็นสองประเภท ประเภทหนึ่งคือยุโรปและอเมริกา ซึ่งเราถือว่าไม่ใช่เลือดเนื้อเชื้อไขอะไร อีกประเภทหนึ่งคือเอเชีย เราถือว่าชาวเอเชียเป็นพี่น้องกัน เฉพาะอย่างยิ่งไทยกับญี่ปุ่นมีธรรมเนียมประเพณีคล้ายกัน ลักษณะหน้าตาก็คล้ายกันเหมือนพี่น้องกัน เรื่องพิธีรีตองหรือแบบอย่างจะถูกต้องหรือไม่นั้น อย่าไปคำนึงนัก อย่างที่ต้อนรับข้าพเจ้าในวันนี้เราก็สนทนากันอย่างญาติ เมื่อสักครู่รับทูตทางยุโรปหลายคน ก็รับอย่างธรรมเนียม ขอให้นึกถึงหัวใจว่า ญี่ปุ่นกับไทยต้องร่วมเป็นร่วมตาย เพราะเราเป็นพี่น้องกัน ฉะนั้นติดต่อกับกระทรวงใหม่นี้ดีกว่าและได้ประโยชน์รวดเร็วด้วย พลเอกโตโจยกตัวอย่างว่า เช่นในวงญาติการไปเยี่ยมไปมาหาสู่ไม่ต้องมีพิธีรีตอง ไม่ต้องนัดเวลา เราคิดถึงกันก็ไปเยี่ยมกัน ขอฝากข้าพเจ้าช่วยชี้แจงไปยังรัฐบาลไทยให้ทราบไว้ด้วยเพื่อให้ข้าพเจ้าช่วยชี้แจงไปยังรัฐบาลไทยให้ทราบไว้ด้วยเพื่อนำให้ราษฎรของเราทั้งสองชาติเข้าใจซึ่งกันและกัน ข้าพเจ้าตอบว่ายินดีจะรายงานโดยละเอียดไปให้รัฐบาลทราบ”
คารมของโตโจนั้นเป็นการพรางสาระแท้จริงของกระทรวงใหม่นี้ที่มีลักษณะเป็นกระทรวงอาณานิคมหรือกระทรวงจักรภพ
ดังนั้น ไทยได้ดินแดนเหล่านั้นมาก็โดยเสียความเป็นเอกราชสมบูรณ์ให้ญี่ปุ่นเป็นการแลกเปลี่ยน
น่าเสียดายที่ทางการรัฐบาลไทยไม่ชี้แจงให้ราษฎรไทยทราบตามเพลงเกลี้ยกล่อมที่มีความตอนหนึ่งว่า “ตื่นเถิดชาวไทย อย่ามัวหลับใหลลุ่มหลง” จึงเป็นเหตุให้คนที่พาซื่อยังลุ่มหลงว่า ไทยได้ดินแดนมาจากญี่ปุ่นเปล่า ๆ
-2-
เรื่องที่ทำให้ประเทศไทยทรุดหนักลงไปในท่าทีของสัมพันธมิตรนั้น คือการปฏิบัติในการครอบครองดินแดนของอังกฤษ ทำให้อังกฤษถือเป็นเหตุเพิ่มเติมได้อีกว่าไทยเป็นพันธมิตรของญี่ปุ่นทั้งในทางปฏิบัติด้วย
ส่วนความรู้สึกของคนไทยที่เพลงเกลี้ยกล่อมว่า “ไทยอิสลาม อยู่ลำน้ำปัตตานี ต่อลงไปไทยก็มีอยู่เหมือนกัน” นั้น เสรีไทยจากอังกฤษจำนวนหนึ่งที่มาอินเดียแล้วโดดร่มลงในประเทศไทยได้เล่าให้ข้าพเจ้าฟังด้วยความวิตกในบูรณภาพของชาติไทยว่า ระหว่างที่เขาอยู่ในอินเดียนั้นได้ทราบว่า ที่นิวเดลีได้มีการเลี้ยงฉลองให้แก่ “ราชาแห่งปัตตานี” ซึ่งมีการดื่มให้พรว่า ขอให้กษัตริย์แห่งปัตตานีจงเจริญ (Long Live the King of Pattani) ข้าพเจ้าสืบได้ความว่า “ตวนกู โมหยิดดิน” ผู้เป็น “รายามุดา” ของอับดุลกาเด อดีตราชาแห่งปัตตานีที่ลี้ภัยจากไทยไปอาศัยและสิ้นชีพในกลันตันนั้น ได้เดินทางไปยังอินเดียได้สำเร็จแล้วได้รับการต้อนรับดังกล่าวแล้ว แม้ตวนกูผู้นี้เคยมาพบข้าพเจ้าภายหลัง 24 มิถุนายน 2475 สมัครใจรวมอยู่ในสยามประชาธิปไตย
แต่ในระหว่างสงครามที่ไทยอิสลามในจังหวัดภาคใต้ไม่ได้รับความเป็นธรรมเกี่ยวกับศาสนาและประเพณี จึงคิดแยกดินแดนไทยอิสลามออกเป็นอิสระจากไทย (ภายหลังสงครามเมื่อตวนกูผู้นี้เห็นว่า ประเทศไทยมีความเป็นประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญอย่างสมบูรณ์ จึงยืนยันกับข้าพเจ้าที่จะร่วมอยู่กับไทยอีก ระหว่างข้าพเจ้าลี้ภัยอยู่ในสิงคโปร์ ตวนกูผู้นี้ได้มาเยี่ยมข้าพเจ้าและยืนยันว่า ถ้าประเทศไทยกลับมีประชาธิปไตยสมบูรณ์เมื่อใด ก็จะขอร่วมอยู่ในประเทศอีก ต่อมาเมื่อข้าพเจ้ามาอยู่ในฝรั่งเศสได้ข่าวจากหนังสือพิมพ์ว่าทางการไทยแถลงชื่อของคนที่เป็นหัวหน้าขบวนการแยกดินแดนไทยอิสลามออกเป็นอิสระจากประเทศไทยไปตั้งเป็นรัฐใหม่ ข้าพเจ้าจึงสืบได้ความว่าคนนั้นคือ บุตรของตวนกูโมหยิดดิน ส่วนตวนกูผู้นั้นได้สิ้นชีพที่กลันตันหลายปีมาแล้ว)
เอกสารอ้างอิง:
- ปรีดี พนมยงค์. “รัฐบาลไทยครอบครอง 4 รัฐมลายา” ใน โมฆสงคราม บันทึกสัจจะประวัติศาสตร์ที่ยังไม่เปิดเผยของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ (กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, 2558), น. 239-242