ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

อภิสิทธิ์ของการทำงานไม่เกิน 8 ชั่วโมง : การเวลาพักผ่อนและการพัฒนาตัวเอง

20
กันยายน
2565

เมื่อไม่นานมานี้ Kisi ซึ่งเป็นบริษัทเทคโนโลยีให้คำปรึกษาด้านการทำงาน ได้เผยแพร่ผลการสำรวจในหัวข้อ “เมืองที่มีสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงานที่ดีที่สุด ในปี พ.ศ. 2565” (Cities with the Best Work-Life Balance 2022) ซึ่งระบุตัวชี้วัดว่า เมืองใดบ้างที่เป็นเมืองที่มีสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน และเมืองใดที่มีการทำงานหนักเกินไป โดยในการสำรวจปี พ.ศ. 2565 นั้น Kisi ระบุว่า กรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่มีสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงานเป็นอันดับที่ 96 ซึ่งลำดับเพิ่มจากในปี พ.ศ. 2564 ที่อยู่ในอันดับที่ 49 (จากทั้งหมด 100 อันดับ) โดยกรุงเทพมหานครมีประชากรที่ทำงานหนักประมาณร้อยละ 15.10[1] ซึ่งในงานวิจัยนี้แสดงจำนวนประชากรที่ทำงานเกินกว่า 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือ 6 วัน วันละ 8 ชั่วโมง[2]

สถานการณ์ดังกล่าวสะท้อนภาพของภาระการทำงานที่หนักหน่วงของคนไทยบางส่วน โดยเมื่อพิจารณาผลการศึกษาขององค์การอนามัยโลกในปี พ.ศ. 2561 พบว่า การทำงานหนักมีส่วนในการทำให้เกิดอัตราเสียชีวิตมากถึงปีละ 745,000 คนต่อปี[3] โดยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ภาระการทำงานหนักเพิ่มขึ้นเป็นผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้คนส่วนใหญ่ต้องทำงานที่บ้าน (Work from Home) ซึ่งการทำงานดังกล่าวมีความยืดหยุ่นมากกว่าการทำงานภายในสำนักงานหรือบริษัท รวมถึงการทำงานผ่านระบบรีโมท (Remote Jobs) นี้ มีส่วนในการจำกัดเวลาพักผ่อนระหว่างชั่วโมงลงไป[4] ซึ่งในกรณีของประเทศไทยนั้น คนทำงานในกรุงเทพมหานครมีจำนวนถึงร้อยละ 16.84 ที่ทำงานผ่านระบบรีโมท[5]

การทำงานเกินเวลาไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นปัญหาที่สืบเนื่องมาอย่างยาวนานนับตั้งแต่เริ่มต้นมีการทำงานในระบบแรงงาน ภายหลังจากการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมอุตสาหกรรมภายหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรม

การเปลี่ยนผ่านสู่สังคมอุตสาหกรรม

ภายหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรมสถานะของแรงงานได้พลิกไปอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน การทำงานในสังคมอุตสาหกรรมเป็นการทำงานภายใต้ระบบการผลิตแบบโรงงาน ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงวิถีการผลิตที่มีลักษณะเป็นการผลิตเพื่อยังชีพในอดีต มาสู่การผลิตเพื่อจำหน่ายในฐานะสินค้า ภายใต้ระบบดังกล่าว แรงงานของผู้ใช้แรงงานก็มีสถานะไม่ต่างอะไรกับสินค้าที่ผู้ใช้แรงงานจำหน่ายให้แก่ผู้ประกอบการ ซึ่งผู้ประกอบการจะนำแรงงานของผู้ใช้แรงงานมาควบรวมกับทุนอย่างอื่นในการผลิตสินค้าเพื่อจำหน่ายให้ได้กำไรสูงสุด

เพื่อประโยชน์สูงสุด คือ กำไรที่ได้จากการจำหน่ายสินค้า สิ่งที่ผู้ประกอบการจะต้องกระทำจึงเป็นความพยายามที่จะควบคุมต้นทุนของธุรกิจให้ต่ำที่สุด ซึ่งหนึ่งในต้นทุนที่จำเป็นต้องจำกัด คือ อัตราค่าจ้างของผู้ใช้แรงงาน ซึ่งจะต้องควบคุมค่าจ้างดังกล่าวไว้

การกำหนดค่าจ้างของผู้ใช้แรงงานนั้น ในมุมมองสายตาของ คาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx) อธิบายว่า นายจ้างมักจะกำหนดอัตราค่าจ้างของผู้ใช้แรงงานให้เพียงพอ (เหมาโดยคิดเป็นจำนวนที่แน่นอน) กับการอยู่รอดของผู้ใช้แรงงานซึ่งแลกกับพลังแรงงานของผู้ใช้แรงงาน ซึ่งในความเป็นจริงค่าจ้างที่ผู้ประกอบการจ่ายให้กับแรงงานนั้น อาจจะน้อยกว่าผลผลิตที่ผู้ใช้แรงงานสร้างขึ้นมา ยกตัวอย่างเช่น ค่าตอบแทนที่นายจ้างจ่ายให้แก่ผู้ใช้แรงงานสำหรับการทำงานในโรงงาน อาจจะคิดเป็นเพียงค่าตอบแทนเท่ากับ 3 ชั่วโมงเท่านั้น ซึ่งเวลาทำงานดังกล่าว คือ เวลาทำงานที่แท้จริงเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าจ้างที่ใช้ในการดำรงชีวิต

แต่ในความเป็นจริง ผู้ใช้แรงงานอาจจะต้องทำงานให้กับโรงงานเป็นระยะเวลา 9 ชั่วโมง ซึ่งเป็นชั่วโมงการทำงานที่ผู้ประกอบธุรกิจได้คิดเหมามาแล้ว ซึ่งเวลา 6 ชั่วโมงที่เกินมานี้ คือ ส่วนเกินของพลังแรงงานที่ผู้ประกอบการได้รับไป ในท้ายที่สุด เมื่อชิ้นงานที่เกิดขึ้นจากพลังแรงงานเสร็จสิ้น ชิ้นงานดังกล่าวจะมีมูลค่าได้มากกว่ามูลค่าของพลังแรงงานเอง มูลค่าที่เพิ่มขึ้นมานี้เป็นมูลค่าส่วนเกินที่ผู้ประกอบการเก็บเอาไว้เพื่อใช้ในการตอบสนองความมั่นคั่งและการขยายตัวทางเศรษฐกิจของผู้ประกอบการต่อไป

การทำงานภายใต้การจำกัดเวลา

ดังจะเห็นได้ว่า ค่าจ้างที่ผู้ประกอบการจ่ายให้กับผู้ใช้แรงงาน คิดอัตราค่าจ้างให้เพียงพอกับการอยู่รอดของผู้ใช้แรงงาน โดยผู้ใช้แรงงานจะต้องทำงานภายใต้ระยะเวลาที่ผู้ประกอบการกำหนด สิ่งนี้เองส่งผลให้ผู้ประกอบการในอดีตมีแนวโน้มที่จะกำหนดชั่วโมงการทำงานเอาไว้ให้สูง เพื่อให้สามารถได้ประโยชน์สูงสุดจากการใช้แรงงาน ยกตัวอย่างเช่น ผู้ประกอบธุรกิจอาจจะกำหนดชั่วโมงการทำงานสำหรับแรงงานไว้ที่ 14 ชั่วโมง

อย่างไรก็ดี เนื่องจากมนุษย์ไม่ใช่เครื่องจักร ดังนั้น การใช้กำลังแรงงานของมนุษย์โดยไม่คำนึงถึงความเหนื่อยล้าหรืออันตรายที่จะเกิดต่อชีวิตของผู้ใช้แรงงาน อาจจะเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม การเรียกร้องให้มีการปรับเวลาการทำงานจึงเกิดขึ้น โดยรัฐต้องเข้ามาแทรกแซงและขีดเส้นกำหนดชั่วโมงการทำงาน การกำหนดชั่วโมงการทำงานค่อยๆ ขยับลดลง โดยการเคลื่อนไหวครั้งแรกปรากฏขึ้นในประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของการปฏิวัติอุตสาหกรรม ด้วยข้อเรียกร้องของ โรเบิร์ต โอเวน (Robert Owen) ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 โดยโอเวนเสนอให้จำกัดชั่วโมงการทำงานลดลงเหลือเพียงแค่ 10 ชั่วโมง[6] ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวได้ถูกนำไปกำหนดไว้ในพระราชบัญญัติโรงงาน ค.ศ. 1847 ในเวลาต่อมา[7]

การจำกัดช่วงโมงการทำงานดังกล่าวเป็นสถานการณ์เพียงเบื้องต้นเท่านั้น เพราะข้อเสนอสำคัญที่สุดที่โอเวนต้องการ คือ การเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงชั่วโมงการทำงาน โดยจำกัดชั่วโมงการทำงานให้เหลือเพียง 8 ชั่วโมง โดยโอเวนชูสโลแกนว่า “8 ชั่วโมงสำหรับการทำงาน 8 ชั่วโมงสำหรับการพักผ่อน และ 8 ชั่วโมงสำหรับการนันทนาการ”[8] ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวใช้ระยะเวลาอีกช่วงเวลาหนึ่งกว่าจะบรรลุผลครั้งแรก และกลายมาเป็นข้อจำกัดของชั่วโมงการทำงานมาตรฐานในปัจจุบัน ดังจะเห็นได้จากกฎหมายของหลายประเทศได้กำหนดชั่วโมงการทำงานสูงสุดจะต้องไม่เกิน 8 ชั่วโมง ตามอนุสัญญาว่าด้วยชั่วโมงการทำงาน (ในภาคอุตสาหกรรม) ค.ศ. 1919 (Hours of Work (Industry) Convention 1919)[9] ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization) ซึ่งในบริบทของประเทศไทย การกำหนดชั่วโมงการทำงานในปัจจุบันเป็นผลสืบเนื่องมาจากพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ได้กำหนดชั่วโมงการทำงานไว้ที่ 8 ชั่วโมง[10]

แรงงานกับเวลาว่าง

การทำงานกับเวลาว่างมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด เพราะเวลาว่างไม่เพียงแต่เป็นเรื่องของการพักผ่อนหย่อนใจเพียงอย่างเดียว แต่เวลาว่างมีความสำคัญต่อการพัฒนาตัวเองของผู้ใช้แรงงาน[11] ซึ่งจะเพิ่มความสามารถและพัฒนาตัวเองของผู้ใช้แรงงาน

การพัฒนา คือ เงื่อนไขสำคัญของการดำรงชีวิต เพราะเมื่อสามารถที่จะพัฒนาตัวเองได้ ผู้ใช้แรงงานสามารถที่จะเลื่อนระดับหรือพัฒนาศักยภาพเพื่อเปลี่ยนสถานะไปสู่สถานะที่ดีกว่าได้ อย่างไรก็ดี ในอดีตการได้รับเวลาว่างเพื่อพัฒนาตัวเองเป็นเรื่องที่อาจจะเกิดขึ้นได้ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงระยะเวลาที่ยังไม่มีการกำหนดชั่วโมงการทำงาน

อย่างไรก็ดี แม้จะได้มีการกำหนดชั่วโมงการทำงานแล้ว แต่ผู้ประกอบการก็อาจจะใช้วิธีการเพิ่มภาระงานเพื่อให้การทำงานยังคงอยู่ภายใต้ขอบเขตที่กฎหมายยอมรับให้กระทำได้ ทว่า ภาระงานที่เพิ่มขึ้นนี้ก็เป็นการขูดรีดแรงงานอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งเมื่อจบสิ้นการทำงานแรงงานก็อาจจะเหนื่อยล้าเกินกว่าที่จะนำเวลาไปใช้พัฒนาตัวเองได้เช่นกัน 

นอกจากนี้ การพิจารณาชั่วโมงการทำงานดังกล่าว เป็นการพิจารณาเฉพาะชั่วโมงการทำงานของแรงงานในระบบเท่านั้น ปัญหาจึงเกิดขึ้นเมื่อแรงงานดังกล่าวไม่ใช่แรงงานในระบบแรงงาน อาทิ แรงงานแพลตฟอร์มที่รับงานผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ซึ่งในอดีตอาจจัดแรงงานเหล่านี้ให้เป็นแรงงานอิสระ ทว่า ในปัจจุบันรูปแบบของการควบคุมการทำงาน ได้เปลี่ยนแปลงแรงงานแพลตฟอร์มให้ได้รับความกดดันจากแพลตฟอร์ม ให้ต้องทำงานและอาจจะโดนเร่งรัดเรื่องเวลาการทำงานโดยแพลตฟอร์ม ผ่านการกดดันให้ต้องทำงานเสร็จอย่างรวดเร็วเพื่อให้ได้รับรายได้เพียงพอ ซึ่งรูปแบบดังกล่าวนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของการขูดรีดแรงงานที่เปลี่ยนไปตามลักษณะของการทำงาน

กล่าวโดยสรุป ชั่วโมงการทำงานเป็นสาระสำคัญอย่างหนึ่งของการทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งชั่วโมงการทำงานซึ่งเกี่ยวข้องอย่างยิ่งกับการพัฒนาตัวตนของแรงงานเอง อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการมีแนวโน้มที่ขูดรีดแรงงานโดยการที่จะกำหนดชั่วโมงการทำงานเอาไว้ให้มากที่สุด และแม้ในเวลาต่อมาจะได้มีการกำหนดชั่วโมงการทำงาน แต่วิธีการขูดรีดเอาส่วนเกินจากแรงงานก็ยังคงมีอยู่ โดยอาจจะเปลี่ยนแปลงวิธีการขูดรีดแรงงานไปจากเดิม ซึ่งสิ่งเหล่านี้กลายเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาตัวเองของผู้ใช้แรงงาน

 

[1] สถิติดังกล่าวอ้างอิงข้อมูล ณ วันที่ 17 กันยายน 2565. ดู Kiri, ‘Cities with the Best Work-Life Balance 2022’ (2022) https://www.getkisi.com/work-life-balance-2022 accessed 17 September 2022.

[2] Ibid.

[3] BBC, ‘Long working hours killing 745,000 people a year, study finds’ (BBC, 17 May 2021) https://www.bbc.com/news/business-57139434 accessed 17 September 2022.

[4] Hilary Osborne, ‘Home workers putting in more hours since Covid, research shows’ (The Guardian, 4 February 2021) https://www.theguardian.com/business/2021/feb/04/home-workers-putting-in-more-hours-since-covid-research accessed 17 September 2022.

[5] Kiri (no 1).

[6] Karl Marx, ‘The Capital Volume 1: The Process of Production of Capital’ (Marxists Internet Archive Library) https://www.marxists.org/archive/marx/works/download/pdf/Capital-Volume-I.pdf accessed 17 September 2022, 211 ;The Federation of International Employers, ‘History of Working Time’ (The Federation of International Employers) https://www.fedee.com/labour-relations/history-of-working-time/ accessed 17 September 2022.

[7] see The Factory Act 1847.

[8] Anna McEvinney ‘Why Do We Have An 8-Hour Working Day?’ (History Guild, 6 November 2022) https://historyguild.org/why-do-we-have-an-8-hour-working-day/ accessed 17 September 2022.

[9] Hours of Work (Industry) Convention 1919, Article 8.

[10] เดิมประเทศไทยเคยกำหนดชั่วโมงการทำงานไว้ไม่เกิน 7 ชั่วโมง แต่ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติดังกล่าวโดยแก้ไขเป็น 8 ชั่วโมง ในเวลาต่อมา.

[11] Oleg Komlik, ‘Karl Marx on Free Time – Time for the Full Development of the Individual’ (Economic Sociology & Political Economy, 13 October 2016) https://economicsociology.org/2016/10/13/karl-marx-on-free-time-time-for-the-full-development-of-the-individual/ accessed 17 September 2022.