ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ศิลปะ-วัฒนธรรม

พลังขับเคลื่อนศิลปะร่วมสมัย : BIPAM (Bangkok International Performing Arts Meeting)

24
กรกฎาคม
2566

Focus

  • บนเส้นทางการของการทำงานศิลปะการแสดงร่วมสมัย BIPAM (Bangkok International Performing Arts Meeting) คือศูนย์กลางของการแลกเปลี่ยนความรู้และการจัดแสดงในระดับระหว่างประเทศ รวมทั้งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อันเป็นองค์การที่ร่วมเคียงข้างการสร้างสรรค์งานกับเหล่าศิลปินและต้องต่อสู้ดิ้นรนอย่างแข็งขันเพื่อการดำรงอยู่ ด้วยสภาวะของการเป็นเสมือนองค์กรอิสระขนาดเล็กเพื่อการบริหารจัดการโครงการด้านศิลปะการแสดงร่วมสมัย แต่ต้องทำหน้าที่อย่างยิ่งใหญ่ในการสร้างสรรค์งานทางศิลปการแสดง รวมทั้งในเชิงบทบาทของการส่งออกทางวัฒนธรรม ผ่านการร่วมมือกับและรับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ อาทิ สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) กระทรวงวัฒนธรรม สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) สำนักนายกรัฐมนตรี และองค์การอื่นๆ ของต่างประเทศ
  • วงการศิลปะการแสดงร่วมสมัยของไทยมีการสร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ อยู่เสมอ การแสดงแบบ Intermission (การแสดงขนาดเล็กๆ หลายๆ ชิ้นที่แบ่งเป็นตอนเล็กๆ และสั้นๆ ด้วยการเคลื่อนไหวร่างกายต่างๆ กัน) ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งแห่งรูปลักษณ์ของการเต้นแบบหลังสมัยใหม่ (Post-Modern Dance) ภายใต้ลีลาที่ซ่อนความหมายไว้ในทุกก้าวที่ขยับร่างกายมนุษย์ อันบอกไว้ด้วยถึงนัยทางการเมืองเพื่อการปลดปล่อยจากอำนาจที่กดทับ การแสดงเช่นนี้เกิดขึ้นจากการสร้างสรรค์งานของผู้กำกับและศิลปินหัวก้าวหน้าที่มีความรู้และประสบการณ์ในการทำงานในระดับระหว่างประเทศ
  • ภายใต้ภาคีผู้มีส่วนร่วมสำคัญคือ ศิลปิน-ผู้สร้างงาน, หน่วยงาน-ผู้สนับสนุน และผู้ชม บุคคลที่เกี่ยวข้อง อาทิ ผู้แทน BIPAM ผู้กำกับการแสดง และ ผู้ชม มีมุมมองที่แสดงถึงความเป็นมาของการสร้างสรรค์งานศิลปะการแสดงที่แปลกใหม่หลายชิ้น ความต้องการการสร้างสรรค์ร่วมกันระหว่างองค์กร (Co-Production) การวิจารณ์ศิลปะเพื่อชีวิตแบบเดิมที่ดูไม่สอดคล้องกับสมัยปัจจุบัน และการมีวิสัยทัศน์ไปสู่อนาคตร่วมกัน โดยย้ำถึงความสำคัญของการสนับสนุนจากภาครัฐ ทั้งในเรื่องการเงินและนอกเหนือ ตามความต้องการหรือจำเป็น และการยืนยันถึงการที่สังคมไทยควรร่วมกันสร้าง Soft Power (พลังอำนาจอ่อน เช่น การใช้อิทธิพลทางวัฒนธรรม) ให้เป็นพลังสำคัญหนึ่งต่อการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศผ่านกิจกรรมทางวัฒนธรรม รวมถึงสิ่งที่คาดหวังให้เป็นจริงอย่างยิ่งด้วยก็คือ สภาศิลปะ (Art Council) ในอนาคตที่จะเป็นองค์กรดูแลศิลปะหรือสนับสนุนศิลปินเพื่อเสริมส่งพลังการขับเคลื่อนศิลปร่วมสมัย

 

 

BIPAM 2023 - Performance : INTERMISSION : Thanapol Virulhakul - Photo : BIPAM
BIPAM 2023 - Performance : INTERMISSION : Thanapol Virulhakul - Photo : BIPAM

 

เราต่างคุ้นเคยกับศิลปะการแสดง ว่าเป็นศิลปะที่ต้องใช้เวลาและพื้นที่ร่วมกันระหว่างนักแสดงและผู้ชม มีความสดเป็นเสน่ห์ที่รับรู้ได้ด้วยอายตนะทั้งภายในและภายนอก คนไทยเราต่างคุ้นกับศิลปะการแสดงในขนบที่พบเห็นกันได้ทั่วไป แต่ศิลปะร่วมสมัยเริ่มในเมืองไทยเมื่อร่วมศตวรรษ ถูกจัดตำแหน่งให้อยู่ในแหล่งการศึกษาหลายระดับ แต่ไม่ถูกนับรวมให้เป็นศิลปะประจำชาติ แม้ไม่ขาดอัตลักษณ์และมีเอกลักษณ์ที่ล้ำลึกน่าศึกษา ยังไม่เป็นที่นิยมในวงกว้าง เพราะมีที่ทางเฉพาะเจาะจงให้ดำรงตน ไม่ปะปนกับศิลปะแนวอื่น ความตื่นตัวกับรูปแบบแปลกใหม่ขยายออกไปไม่มากนัก แม้สื่อจะนำเสนอให้ทำความรู้จักอยู่เป็นประจำ แต่เหมือนถูกย้ำให้แปลกแยก เพราะความแตกต่างที่ช่างเข้าใจยาก มากความหมาย หลายความเห็น ที่ไม่เป็นไปในทิศเดียวกัน และไม่สัมพันธ์กับผู้คนได้ทุกกลุ่ม แม้ทุ่มเทถากถางทางเข้าหาประชาชน แต่เหมือนพูดกันคนละภาษา ถูกด้อยค่าเพราะความไม่เข้าใจ จึงทำให้เกิดองค์กรกลางระหว่าง เอเชีย-ยุโรป เพื่อโอบอุ้มทุ่มเทให้ประเทศไทยเป็นศูนย์รวมศิลปินและศิลปะการแสดงทุกแขนงของโลก

BIPAM คือ แพลตฟอร์มระหว่างประเทศ (International Platform) ด้านศิลปะการแสดงที่ก่อตั้งโดยคนไทยคนรุ่นใหม่ที่มีใจรักในศิลปะการแสดง เพื่อให้เป็นแหล่งรวมศิลปินและคณะทำงานนานาชาติ ด้านศิลปะและการแสดง ทุกปีจะมีการจัดกิจกรรม และเทศกาล ให้ทุกคนที่รักในสิ่งเดียวกัน มาร่วมสังสรรค์ที่กรุงเทพฯ เพื่อแสดงงานและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทั้งในเทศกาลศิลปะการแสดงนานาชาติ 5 วัน และกิจกรรมการฝึกอบรมเพื่อพัฒนา สนับสนุนการแสวงหาเครือข่าย BIPAM จึงเสมือนเป็นองค์กรอิสระที่เป็นสนามแห่งความหวังของศิลปิน และผู้สร้างงานศิลปะจากทั่วโลก ในขณะเดียวกันก็สร้างสรรค์งานเพื่อการเผยแพร่ศิลปะร่วมสมัยของไทย ให้นานาชาติร่วมเสพ และยอมรับในความสามารถของศิลปินไทย ท่ามกลางความยากของยุคสมัย ซึ่งไม่ใช่เพียงวิสัยทัศน์ของรัฐที่เป็นอุปสรรคต่อการสร้างงาน แต่ไม่ใช่สิ่งทัดทานการขับเคลื่อนของ BIPAM…

 


Photo : BIPAM : Bangkok International Performing Arts Meeting

 

Bangkok-based International Performing Arts Management Services

BIPAM ประกาศจุดยืนชัดเจนว่า - จุดมุ่งหมายหลักของไบแพม คือการเป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยนความรู้ของศิลปิน ผู้จัดการ และนักวิชาการศิลปะการแสดงร่วมสมัยในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เวทีที่นานาชาติสามารถเดินทางมาค้นพบความสามารถและความสร้างสรรค์ของชุมชนนี้ และเป็นตลาดเสรีทางศิลปะการแสดงที่จะมีทั้งการประชุมวิชาการ เสวนา สร้างเครือข่ายระหว่างประเทศ และจัดการแสดงศิลปะการแสดงร่วมสมัยให้ได้เลือกชมและแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ เพื่อต่อยอดความเติบโตซึ่งกันและกัน และเพื่อแสดงศักยภาพของชุมชนศิลปะการแสดงในภูมิภาคนี้อย่างเป็นรูปธรรม[1]

 

มุมมองของผู้แทน BIPAM ผู้กำกับการแสดง และผู้ชม[2]

ศศพินทุ์ ศิริวาณิชย์ (ปูเป้)
Sasapin Siriwanij: Artistic Directer : performer, director and producer

ศศพินทุ์เริ่มต้นการเป็นนักแสดงในปี 2005 ระหว่างศึกษาอยู่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในระดับปริญญาตรีและปริญญาโท สาขาวรรณคดีภาษาอังกฤษ และกลายมาเป็นสมาชิกหลักของ B-Floor Theatre ตั้งแต่ปี 2009 ศศพินทุ์ได้แสดงในการแสดงมากมายที่ได้รับรางวัลต่างๆ เธอเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง For What Theatre และสร้างสรรค์ กำกับ และแสดงร่วมกับโรงละครไทยอื่นๆ ทั้งจากไทยและจากต่างประเทศ ในปี 2017 ศศพินทุ์ได้รับรางวัลการแสดงยอดเยี่ยมโดยศิลปินหญิง โดยชมรมวิจารณ์ศิลปะการแสดง (IATC-Thailand) จากผลงานชื่อ ‘OH! ODE’ ซึ่งเป็นผลงานที่ได้รับเชิญไปร่วมแสดงในเทศกาล Berliner Herbstsalon 2019 โดย The Maxim Gorki Theater ที่เบอร์ลิน งานของเธอมักจะเกี่ยวกับการสร้างความตระหนักรู้ และ Empowerment ผ่านการสำรวจร่างกาย เธอยังได้รับเชิญไปเป็นผู้เข้าร่วมโครงการ Young Curators Academy โดย Maxim Gorki Theater ในปี 2019 อีกด้วย ปัจจุบันเธอเป็น Artistic Director ของ Bangkok International Performing Arts Meeting (BIPAM)[3]

 


Sasapin Siriwanij : Artistic Directer
Photo : BIPAM : Bangkok International Performing Arts Meeting

 

BIPAM ก่อตั้ง 2017 (2560) : ริเริ่มก่อตั้งโดย ชู้ต-ชวัตถ์วิช เมืองแก้ว

ทีมงานทั้งหมดมี 5 คน เป้เป็นหลักในการวางโครงการกิจกรรมและตัดสินใจหลักของทีม จะทำอะไรต่อ พูดเรื่องอะไร ขับเคลื่อนประเด็นอะไร-กับใคร ดูแลครอบคลุมงานขององค์กร ปีแรกที่ชู้ตก่อตั้ง เป้ยังไม่พร้อมเข้ามาลุยแต่ก็เห็นว่ามีปัญหาเกิดขึ้นหลายครั้ง น้องเลยคิดว่าต้องมี direction บางอย่าง เขารู้สึกว่าตัวเองทำไม่ได้ เพราะเป็นคนสาย event แต่มี passion อยากทำให้สิ่งนี้เกิดขึ้นในสายละครเวที แต่ไม่รู้ว่าจะทำต่อไปยังไง ตั้งแต่ปีที่ 2 เป้เลยเข้ามาเป็น Artistic Director ซึ่งตอนแรกจะวางโปรแกรมอย่างเดียว ปีนี้จะเชิญใครมาพูด เสวนาหัวข้ออะไร ชู้ตก็เริ่มชัดว่าถอย เป้ก็อยากมีทีมไบแพมที่ชัดเจน ก่อนหน้านี้มีการดึงคนมาช่วยแบบไม่เป็นระเบียบ เดินทางมาเรื่อยๆ ชู้ตก็เหมือนมองอยู่ห่างๆ ให้เป้เข้ามานำอย่างเต็มตัว ณ วันนี้เราเป็นรูปแบบบริษัท เพราะต้องมีการจัดการบัญชี-การเงิน เป็นทีมที่ทำกันมาตั้งแต่แรก เราคุยกันว่าใครจะเป็นทีมไบแพมก็ออกมาเป็น

Core Team (ผู้นำทีม และผู้ประสานงานหลักของทีม) รวม 5 คน คือ ศศิพินท์ุ ศิริวาณิชย์, สิรี ริ้วไพบูลย์, วริศรา บ่อเกิด, เพียงดาว จริยะพันธุ์ และ กุนทรา ไชยชาญ และ Artistic Committee Member 4 คน คือ อมิธา อัมระนันทน์, ปานรัตน กริชชาญชัย, จารุนันท์ พันธชาติ และ วิชย อาทมาท

 


Photo : Bangkok International Performing Arts Meeting 2023

 

BIPAM 2023 เทศกาลศิลปะการแสดงร่วมสมัยนานาชาติ 22-26 มีนาคม 2566

ในปีที่แล้ว 2022 เป็นครั้งแรกที่จัดงานหลังโควิด ก็มีความตื่นเต้นของการเอาคนมาเจอกัน กังวลเอ๊ะเขาจะมาไหม ปีนี้ 2023 เป็นครั้งแรกที่เราย้ายเวลาจากปลายปีมาเป็นต้นปี ปกติจัดประมาณตุลาคม พฤศจิกายน พอย้ายมามีนาคม ก็ได้ลุ้นว่าจะเป็นผลดีหรือไม่ดียังไงบ้าง เพราะอากาศที่เปลี่ยนไปมันร้อนมากๆ เราก็คิดว่าทำยังไงให้คนมางานรู้สึกว่ามาแล้วได้อะไรเป็นน้ำเป็นเนื้อ เพราะตอนนี้ทำทุกอย่างออนไลน์ได้แล้วค่ะ ถ้าเราจะเรียกคนมาเราต้องทำอะไรที่มัน “ถึง” คนจะรู้สึกว่าต้องมาเท่านั้นนะเขาถึงจะได้ เซนเตอร์อยู่ที่จิมทอมสัน แต่การแสดงเราแยกไปที่อื่น อย่าง CEA, TCDC, จุฬาฯ-โรงละครสดใส พยายามคลุมให้อยู่บริเวณใกล้เคียงที่คนจะเดินไปได้

ปีนี้ 2566 เป็นปีที่ 6 แต่งาน on site ปีนี้เป็นครั้งที่ 4 เรามี Festival แต่เป็น online ในปี 2521 แรกจัดทุกปี ตั้งแต่มีโควิดเราคิดว่า 2 ปีครั้งจะดีกว่า ทีมเราเล็ก มีหลายอย่างที่อยากทำที่ไม่ใช่รูปแบบงานใหญ่เสมอ ทีมจะได้มีชีวิตไปทำอย่างอื่นด้วย ไม่งั้นมันจะยุ่งทั้งปี ด้วยโครงสร้างหลายอย่างทั้งภายในภายนอก ไบแพมเปลี่ยนงบที่ปกติใช้ทำงานมันลดลงมหาศาลมาก ถ้างั้นเราต้องลดขนาดงานแล้ว scale down เป็นอีกหนึ่งอย่างที่เปลี่ยนไปของปีนี้ ปกติจะมี 6-7 โชว์ ต่อปี ปีนี้เราเหลือ 4 เสวนาก็ไม่มีโปรแกรมทับซ้อนให้คนคิดหนักวิ่งวุ่นว่าจะเลือกเข้าห้องไหนดี เปลี่ยนเป็นมีตารางเดียวทั้งวัน ไม่มีการซ้อน มาก็มาไม่มาก็พัก การเปลี่ยนแปลงเป็นไปในทางที่ดีแบบที่เราคาดไม่ถึง feedback จากคนที่มางานผลออกมาดี พอมันเล็กลงจะโฟกัสมากขึ้น คนมางานก็รู้สึกว่าได้ทุกอย่างแบบเต็มๆ ไม่รู้สึกแตกกระจาย เขาเลือกได้ว่าจะไปไหนทำอะไร ได้อยู่ด้วยกัน คนมาใช้เวลาอยู่ด้วยกันเยอะขึ้นค่ะ

การที่เราย้ายเวลาจัดจากปลายปีมาต้นปี ทำให้เราได้คนที่ไม่เคยมาเข้าร่วม เพราะปกติปลายปีจะเป็นช่วงเทศกาลประเภทอื่นที่ใกล้เคียงด้วย เพราะฉะนั้นปีนี้เรามีคนมาจากออสเตรเลีย นิวซีแลนด์เยอะขึ้นมากแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน เพราะว่าปกติเขาจะมาไม่ได้เลยถ้าเราจัดปลายปี เป็นต้น เราก็จะมีกลุ่มคนใหม่ๆ มาเจอกัน แล้วโชคดีด้วยที่สถานที่เป็นจิมทอมสัน เพราะว่าที่มันน่ารักไม่ใหญ่เกินไป มีที่พอให้คนเดินไปเดินมา เหมือนคนได้เจอกัน แล้วค่อยๆ สนิทกัน จบ 5 วันเหมือนคนเป็นเพื่อนกันเรามีเพื่อนกลุ่มใหญ่ มีคน feedback เยอะว่า ไบแพมปีนี้เขาให้คำว่า Human Centric มนุษย์เป็นเพื่อนกันรู้สึกถึงคนต่อคน ไม่รู้สึกว่าเป็นงานที่มีแต่องค์กร แต่ไม่รู้ว่าคนอยู่ไหน คนจัดเป็นใคร เขารู้สึกว่าเราอยู่กับเขาตลอดเวลา เป้แฮปปีมาก เซอร์ไพรส์ดีใจที่ออกมาแบบนี้ เราก็ไม่รู้ว่ามันจะออกมาเป็นแบบนี้ได้

 


Photo : Bangkok International Performing Arts Meeting 2023

 

BIPAM TALK 2023

เป็นการประชุมที่ไบแพมจัดขึ้น 5 หัวข้อ (และอีก 20 หัวข้อเราคัดเลือกจากผู้เข้าร่วมงานเสนอมา) เราคุยกับเขาหลายรอบเหมือนกันค่ะว่า เราควรคุยเรื่องอะไรดีที่มีความหมายมีประโยชน์กับทุกคนในไบแพม แล้วจัดการได้ในเชิงงบประมาณจริง

1. From the Field เป็น report จาก Bangkok Theatre Festival เราตั้งใจว่าคุณมาเมืองไทยอย่างน้อยที่สุดต้องรู้ด้วยว่าประเทศไทยเกิดอะไรขึ้น เป็นการรายงานภาพรวม เราอยากเชิญให้เป็นมุมมองของ BTF ว่า พอเขาเปลี่ยนวิธีการทำงานตอนนี้เขาเห็นว่าแนวโน้มของวงการศิลปะการแสดง อย่างน้อยในกรุงเทพหรือในเมืองไทยจากสายตาของคนจัด BTF เป็นยังไง เลยให้เป็นหัวข้อแรก แล้วก็มี

2. Dance Forum 3. Dramaturgs Network และอีก 2 เป็น Artist’s Talk มีการเชิญวิทยากรมาเล่าว่าตอนนี้ศิลปินในประเทศไทยทำงานอะไร ศิลปินมาคุยเรื่องงานกับคนในงานเกี่ยวกับละคร 2 เรื่อง (Artist's Talk : A Notional History X I Say Mingalaba, You Say Goodbye)

 

Asian Dramaturgs' Network Forum - 25 March 2023

เขาก็ถามว่าทำไมเราสนใจ Dramaturgs เราก็บอกว่ามันเป็นการทำงานที่ประเทศไทยกำลังสนใจ ที่จริงๆ เราไม่รู้ว่ามันคืออะไร เป็นคำที่คนทำงานก็ใช้กันมากขึ้น แต่ไม่ค่อยมีใครตอบได้จริงๆ ว่ามันคืออะไรหว่า จริงๆ ต้องทำอะไร มันดูครอบคลุมหลายหน้าที่จังเลย ตั้งแต่ผู้ช่วยผู้กำกับ ช่วยวิจัย ช่วยดูซ้อม ช่วยประสานศิลปิน ฯลฯ ดูมีหลายหน้าที่แล้วไม่ชัดเจน เพื่อนที่ทำงานด้าน Dramaturgs ในเอเชียมานาน เขาพยายามพูดคุยกับคนต่างๆ ในภูมิภาคนี้ว่า Dramaturgs มันคืออะไร เลยเสนอว่างั้นเราคุยกับคนไทยดีกว่าว่า คนไทยที่ยูบอกว่าทำงานคล้ายๆ Dramaturgs แต่ไม่รู้ว่ามันแปลว่าอะไรนี่น่ะมานั่งคุยกันเลย ว่ามันคืออะไรเหรอที่พวกเราทำอยู่ เลยจบตรง 3 คนที่เราเลือกมา เพราะทำงานในพื้นที่ซึ่งไม่ถูกนิยามชัดเจนที่เราเรียกกันหลวมๆ ว่า Dramaturgs นี่ เพื่อมาแตกกันว่าในหน้าที่ที่คุณทำอยู่คืออะไรบ้าง ให้มันชัดเจนขึ้นว่า Dramaturgs คืออะไร

ข้อสรุปที่ได้คือบทสนทนาที่ต้องดำเนินการต่อไปเพราะยังไม่ชัดเจน อีกอย่างคำว่า Dramaturgs เป็นคำศัพท์ของทางตะวันตกที่เราหยิบยืมมา เพราะฉะนั้นถ้าเราจะเอามาใช้ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาจต้องเทียบเคียงหรือนิยามจากภาษาของภูมิภาคนี้เองมากขึ้น ซึ่งอันนี้เป็นบทสนทนาที่เราต้องตีต่อ คำว่า Dramaturgs อาจจะไม่ฟิตพอดี แต่ว่าหน้าที่นี้อาจจะตรงกับคำอื่น ภาษาอื่นในภูมิภาคเรามากกว่าหรือเปล่า คิดว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่น่าสนใจแล้วก็จะทำให้เราได้คุยกันเรื่องนี้ให้มันชัดเจนมากขึ้น นี่เป็นครั้งแรกที่เรามีหัวข้อนี้ในไบแพมค่ะ

 


Photo : Bangkok International Performing Arts Meeting 2023

 

Dance Forum : Borderless Dance Ecology - 23 March 2023

ส่วน Dance Forum เป็นครั้งแรกอีกเหมือนกันที่ไบแพมตั้งใจคุยเรื่องแดนซ์โดยเฉพาะ หลายคนถามไบแพม เธอทำ Performing Arts เธอครอบคลุมอะไรบ้าง ด้วยความที่ทีมไบแพมส่วนใหญ่เป็นคน Theatre นะคะ เราก็เน้นละคร แต่ว่าเราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า Performing Arts มันต้องรวม Dance เข้าไปด้วยแหละ รอบนี้เราอยากลองดูว่าคนทำแดนซ์เป็นใคร ใครเป็น Key Person เราจะช่วยเขา network กับ dancer ในประเทศอื่นได้ไหม นี่เป็นครั้งแรกของคนที่ทำเครือข่าย dance ในประเทศต่างๆ มาเจอกับคนทำแดนซ์ที่เป็นผู้นำชุมชนนิดๆ ในประเทศไทย เพื่อให้มาแลกเปลี่ยนไอเดียกันว่า ถ้าเกิดจะสร้างชุมชนแดนซ์ที่แข็งแรง โมเดลประเทศอื่นทำอะไรมาบ้าง แล้วประเทศไทยเป็นอย่างไร เกิดอะไรขึ้น นอกจากคุยก็อยากให้เขารู้จักกันเผื่อว่าเครือข่ายจะแข็งแรงขึ้น เพราะแดนซ์ในประเทศไทยมีคนทำงานเยอะเลย แต่ค่อนข้างกระจัดกระจาย จะรวมกันไม่ค่อยได้เหมือนคนละคร เลยลองดูเผื่อเป็นรูปเป็นร่างสนับสนุนสิ่งที่เขาทำกันอยู่ค่ะ

ทุกคนที่มางานได้เป็นเพื่อนกัน ช่วงกลางวันทำกิจกรรมร่วมกันไปดูโชว์เสร็จ กลางคืนก็ขึ้นไปที่บาร์ Roof Top ของจิม ทอมสัน (Jim Tomson) เป็นที่ hang out ได้คุยกันนอกรอบ เป็นพาร์ตสำคัญของไบแพมเหมือนกัน คือการ Network ทำยังไงให้บรรยากาศไบแพมเอื้อต่อการที่คนจะรู้จักกัน เอื้อต่อการที่คนจะสนทนากัน โดยที่เราไม่ต้องไปนั่งบังคับให้เป็น Forum เสมอไป Forum หรือ Talk เป็น format ที่ทำให้ไอเดียได้เกิด แต่ทีมไบแพมเชื่อว่าบทสนทนาจริงๆ ที่มีคุณค่า และจะเกิดการทำงานร่วมกันจริงๆ คือบทสนทนาที่ไปดื่มกาแฟกันคุยกัน ดื่มเบียร์กันคุยกัน ยืนสูบบุหรี่กันคุยกัน อันนี้สำคัญมากๆ เลย การมี Roof Top Bar จึงสำคัญมาก เพราะทำให้ Organic Conversation เกิดได้ คือสิ่งที่คนเห็นว่ามีคุณค่ามากในไบแพม เพราะมันเกิดจริงๆ เกิดเยอะ ผู้คนมีความสุขเพราะเขาจะรู้สึกว่างานแบบนี้ในประเทศอื่นจะเป็นทางการ คนยื่นนามบัตรกัน เป้ไม่ค่อยเชื่อเรื่องการยื่นนามบัตร งานเกิดกับคนที่เป้คุยด้วยแล้ว รู้สึกว่าเราอยากทำงานด้วย เราชอบคนนี้ เลยต้องทำบรรยากาศแบบนี้ให้เกิดขึ้น เพื่อคนได้คุยกันอย่างเป็นธรรมชาติ แล้วสิ่งที่เกิดจากตรงนั้นมันจะมีความหมายของมันเอง

 


Photo : Bangkok International Performing Arts Meeting 2023

 

อะไรทำให้ไม่สามารถรวมทุกอย่างไว้ที่จุดเดียวกันทั้งหมดได้

หอศิลป์ กทม. เป็นตัวเลือกแรกเสมอเพราะเราทำงานกันมาเยอะเป็นเพื่อนสนิทกัน แต่หอศิลป์ไม่ว่าง มีวิธีการจัดการภายในว่าช่วงตั้งแต่กลางปีเป็นต้นไป ถึงจะเป็นช่วงของการแสดง มีการแบ่งเวลาจัดการประมาณหนึ่ง ถ้าเวลาไม่ตรงกันก็ยากนิดหน่อยค่ะ แต่เราก็ค่อนข้างแฮปปีกับจิมทอมสัน เขาก็ยินดีให้เราเข้าไปใช้พื้นที่เขา ณ วันนี้รู้สึกลงตัว เพราะสามารถทำทุกอย่างภายในตึกเดียว ได้ความเป็นเซนเตอร์แบบที่เราคิด แต่ถ้าเป็นการแสดงต้องไปที่อื่น เพราะจิมทอมสันจะยังไม่สมบูรณ์ ทำ 4 โชว์พร้อมกันก็ต้องกระจายออกไป 3 เรื่อง เคยแสดงแล้วเราเชิญมา restage มีโชว์เดียวที่ทำใหม่คือ “INTERMISSION” เป็นงานที่เราทำกับศิลปินตั้งแต่ปีที่แล้ว 2022 อยากให้ ตั๋ม (ธนพล วิรุฬหกุล ศิลปินนักเต้น นักออกแบบท่าเต้นมากฝีมือ ที่ว่างงานไปนาน) กลับมาทำงานกับแม่จำปา (จำปา แสนพรม ครูซอล้านนาจากจังหวัดเชียงราย-ผู้อำนวนการโรงเรียนสืบสานล้านนา กรุงเทพฯ) กับ วิ (วิทุรา อัมระนันทน์ นักเต้นร่วมสมัย) เราคุยกันเชิงไอเดียว่างานจะเป็นยังไงได้บ้าง

เราก็มานึกได้ว่าในปี 2018 (2561) มีโปรเจกต์หนึ่งที่แม่จำปา (Treditional) กับวิทุรา (Contemporary) เคยทำงานสั้นๆ ด้วยกัน 20 นาที มีองค์ประกอบมากมาย น้องผู้ชายอีกคนที่เต้นก็เป็นคนออกแบบเสียง (Sound Designer : ศิลปิน multidisciplinary ชณะพล คมขำ) เป็นศิลปินที่ทำงานร่วมกับไบแพมมา 2 ปีแล้วค่ะ เครื่องไม้เครื่องมือที่แม่จำปามิกซ์เสียงสดก็เป็นไอเดียที่ร่วมคุยกับน้อง เป็นศิลปินที่น่าสนใจ เป็นคนน่ารัก เราชอบทำงานด้วยก็แนะนำให้ตั๋ม ตั๋มกำกับจับใจผู้คนมาก เราสนใจโปรเจกต์นี้มากๆ อยากนำมาทำงานอยากพัฒนาต่อ จึงออกมาเป็นงานชิ้นนี้ค่ะ

 


วิทุรา อัมระนันทน์ (วิ) / จำปา แสนพรม (แม่จำปา)
“One Table Two Chairs” 2018 Photo : BIPAM

 

“INTERMISSION” เป็นผลงานจากความร่วมมือของสามเทศกาลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ BIPAM ประเทศไทย, Singapore International Festival of Arts ประเทศสิงคโปร์ และ George Town Festival ประเทศมาเลเซีย

เริ่มจากการที่เป้อยากทำงานในแบบ Co-Production คือการสร้างงานร่วมกันระหว่างหลายเทศกาล เราจับมือกันได้ไหมว่า 3 Festival ทำอะไรบางอย่างที่เป็นของเรา เพราะโมเดลนี้มีมากเลยในยุโรป แต่ไม่เคยเห็นว่ามันเกิดขึ้นในภูมิภาคใกล้ๆ บ้านเราได้ BIPAM จากกรุงเทพฯ ไปขอคุยกับโครงการที่สิงคโปร์ก่อน (SIFA-Singapore International Festival of Arts ประเทศสิงคโปร์) สิงคโปร์ค่อนข้างอยาก equip เชิงศิลปะมาก ก็เลยได้วางแผนร่วมกันก่อน สุดท้ายเขาบอกว่าไว้ใจไบแพม ให้เลือกมาได้เลย เลือกศิลปินหรือโครงการที่คิดว่ามีความหมายกับเรา ก็มาคิดว่ามีอะไรที่อยากทำบ้าง (และหลังจบการแสดงในไทยได้เดินทางไปเปิดการแสดงที่ Drama Centre Blackbox ในเทศกาล Singapore International Festival of Arts 2023 เมื่อวันที่ 2-3 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา)

 


BIPAM 2023 - Performance : INTERMISSION : Thanapol Virulhakul - photo : BIPAM

 

“INTERMISSION” กับสัญญะและความหมาย… ที่กลายเป็นประเด็นเชิงลึกให้ศึกษา

เนื้อหาของ “INTERMISSION” ที่จับใจคนดูมาจากตั๋มเป็นหลัก พอได้โจทย์นี้เขาก็ไปคิดต่อว่า ณ ในวันนี้เขาอยากพูดเรื่องอะไร ที่น่าสนใจคือ ตั๋มได้หยุดพักการเป็นศิลปินมาช่วงหนึ่ง (ศึกษาด้านการแพทย์แผนทิเบต Tibetan medicine practioner, Ritualist, Occult doctor และเปิดอบรมที่ PLACEBo CLUB) เรื่องนี้เหมือนเป็นครั้งแรกที่เขากลับมาในฐานะผู้กำกับ เป็นศิลปินที่สนใจเรื่องสังคม การเมืองมากๆ ตั๋มเขาไม่อยากเรียกตัวเองว่าเป็นผู้กำกับ อยากเรียกตัวเองว่าเป็นผู้สร้างงานเต้น (Choreograph) โดยรสนิยมส่วนตัวเป้ชอบเรื่องนี้มาก ดีใจที่งานออกมาดี รู้สึกคิดไม่ผิดที่ชอบงานตั๋ม ชอบศิลปะที่ตั๋มทำ เอาจริงแล้วคนทำงาน DANCE ในประเทศเราน้อยมาก ตั๋มเป็นหนึ่งในนั้นที่ยืนยันทำงาน Contemporary Dance ไม่ได้ทำแบบที่โชว์สวยๆ อย่างเดียว แต่มีเนื้อหาทางสังคม การเมือง ซ่อนอยู่ในนั้นด้วยเสมอ

เป้ว่า Combination จริงๆ ไม่ง่ายเลยในบ้านเรา ที่จะมีคนทำงานจริงจัง แล้วสามารถเอาวิธีการสร้างงานแบบแดนซ์มาสะท้อนสังคมการเมืองได้ ตั๋มเป็นหนึ่งในไม่กี่คนที่ทำสิ่งนี้ได้คมคาย แล้วก็สวยงามคุณภาพสูง กระบวนการก็เข้มข้น ทุกครั้งที่เข้าไปตามดูซ้อมก็จะเห็นคิดงานละเอียดลออมากๆ เนื้อหาที่ reserch เพื่อจะเอามาใช้กับนักแสดงก็มีลายแหล่งข้อมูล ทุกอย่างที่เห็นบนเวทีมีที่มาที่ไปทั้งหมด ทุกอย่างตอบคำถามได้หมด เขาทำงานร่วมกับทีมออกแบบที่ชื่อ กลุ่ม Duck Unit (เป็ดสร้างสรรค์ มีแนวทางในการทำงานที่นำไลท์ติ้งและเทคโนโลยีมาผสมผสานกับงานศิลปะ เพื่อสร้างสรรค์ผลงานและถ่ายทอดเรื่องราวตามโจทย์ที่ลูกค้าต้องการ โดยนำมาเชื่อมโยงกับแรงบันดาลใจในช่วงเวลานั้น เพื่อสร้างให้เกิดสไตล์ที่เป็นเอกลักษณ์)[4] เป็นดีไซเนอร์แนวหน้าของประเทศที่ทำทั้งงาน Theatre & Concert คุณภาพดีมีฝีมือ พอเขาเจอกันมันเป็นแมตช์ที่ดี เป็นมวยถูกคู่ที่เขาทำงานด้วยกัน ทำให้งานตั๋มน้อยแต่สวย เรียบแต่ใช่ มันถูกต้อง มันพอดี

พอเราตกลงกับศิลปินเรียบร้อยว่า โอเคเราจะทำงานด้วยกรอบแบบนี้ วิธีแบบนี้ concept ประมาณนี้ คุณทำเลย เพราะเรารู้สึกว่าเป็นงานสร้างสรรค์จะไม่ก้าวก่ายศิลปินเพราะเป็นงานของเขา เพียงแต่เราจะอัปเดตว่าความคิดของเขาพัฒนาไปถึงไหนมากกว่า แล้วเราก็มีหน้าที่กลับมาสรุปเป็นภาษาที่เอาไว้สื่อสารกับสาธารณะว่าศิลปินทำอะไรอยู่ เพราะวิธีคิดศิลปินบางทีจะนามธรรม เรามีหน้าที่ที่จะต้องเข้าใจมัน แล้วหยิบตรงนั้นมาเล่าว่าโชว์นี้เกี่ยวกับอะไร ออกมาเป็นคำบรรยายโชว์ หรือเวลาที่เป้ต้องเล่าให้คนอื่นฟังในที่ต่างๆ ว่าเรามีโชว์อะไรบ้าง คืออะไร เกี่ยวกับ Theme ทั้งหมดของไบแพมปีนี้ยังไงคะ

ถ้าเป็นคนไทยจะเข้าใจได้ไม่ยาก เพราะมันเป็น reference ทางร่างกายที่เราจำได้ เห็นแล้วก็นึกออกว่ามันคืออะไร แล้วเนื้อหาที่เกิดขึ้นข้างในสำหรับคนไทยไม่ยากเลย อยู่ที่ว่าเราจะส่งต่อให้ชาติอื่นยังไง ปีนี้เป้กับศิลปินก็ลองดูว่าถ้าเราให้ข้อมูลน้อยมากแล้วจะเป็นยังไง คือแค่อธิบายความคิดของตั๋ม แต่ไม่ได้ลงลึกไปถึงว่า ฉากนี้ ท่านี้มันคืออะไร สรุปได้ว่าคนดูต่างชาติต้องการข้อมูลมากกว่านี้เพื่อการทำความเข้าใจ แต่ก็มีคนต่างชาติที่เข้าใจแบบรับไปทั้งก้อนแบบนี้ก็มี โอเคเพื่อให้แฟร์ อาจจะมี sensitivity (ความเร็วต่อการรับรู้) ที่ต่างกัน โดยเฉพาะเมื่อเราเอาโชว์นี้ไปสิงคโปร์ตามข้อตกลง รัฐไม่ได้ช่วยเฉพาะเรื่องค่ะ แต่ได้เป็นทุนรวมดูแลโครงการจาก สศร. (สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม) จาก TCEB (สสปน. สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ) ที่อื่นถ้าจะขอสนับสนุนด้านการเงินยากค่ะ ยากขึ้นเรื่อยๆ ที่ได้มาก็ไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ ที่ใช้ทำไบแพม

 


BIPAM 2023 - Performance : INTERMISSION : Thanapol Virulhakul - photo : BIPAM

 

ภาพลักษณ์ของ BIPAM เหมือนเป็นองค์กรที่มีต่างประเทศสนับสนุน

ทุกคนคิดว่าเรารวย องค์กรต่างประเทศเรียกว่าเป็นเพื่อนเราดีกว่า ทุกคนเหมือนกันหมดไม่มีเงินถุงเงินถังมาลง จะสนับสนุนด้านอื่นๆ ที่ไม่ใช่เงินอย่างเช่น เกอเธ่ (Goethe-Institut สถาบันด้านวัฒนธรรมของประเทศเยอรมนี) สนับสนุนสถานที่ แต่เราก็จ่ายแม่บ้าน ไม่ใช่ฟรีทุกอย่าง ไม่ได้ให้เงินก้อนเรามา ห้องว่างก็ให้ใช้ ช่วยกันจัดนิดหน่อยแบบนั้นค่ะ อย่างญี่ปุ่น ถ้างานไหนมีวิทยากรหรือศิลปินญี่ปุ่นมาเขาก็สนับสนุนได้ แต่ต้องมีเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องกับองค์กร แต่ไม่ใช่ทุกคนเอาเงินมาลงให้ไบแพม พูดตรงๆ คือ ทีมเป้บางคนก็ยังลงเงินส่วนตัวอยู่เลยในการทำสิ่งนี้ เป้ก็เอาเงินเก็บมาลงค่ะ เก็บออมจากการทำงาน commercial ต่างๆ งานแสดง อัดเสียง เป็นพิธีกร ฯลฯ จิปาถะชีวิต เพราะมันมาถึงจุดที่เรารู้สึกว่าหาทุนไม่พอ ไม่ทัน แต่มันต้องไปต่อแล้วค่ะ

เวลาทำงบแล้วต้องกดให้ลดลงไปเรื่อยๆ ก้อนที่ต้องไปก่อนคือค่าตัวของพวกเราเอง ทุกวันนี้ไม่มีเงินให้ตัวเอง เพราะต้องไปจ่ายอย่างอื่น ไม่งั้นงานไม่เกิด เราก็ต้องไปหางานอย่างอื่นทำด้วยมาช่วยไบแพม ไม่มีเงินเดือน อันนี้เป็นสิ่งหนึ่งด้วยที่บางทีประเทศอื่นมาจะไม่เข้าใจเพราะว่า สำหรับเขาเวลาบอกว่า ไม่มีเงิน นี่คือแปลว่าไม่มีเงินทำงาน แต่เขามีเงินเดือนที่องค์กรจ้าง เพราะเขาอยู่ในตำแหน่งถ้าเป็นองค์กรของรัฐก็มีเงินเดือน เงินทำงาน โปรเจกต์มีเงิน แต่เราไม่มีอะไรเลย เพราะฉะนั้นหากว่าได้เงินก็ได้ ถ้าไม่ได้เงินคือไม่มีเงินจริงๆ ศูนย์บาท (หัวเราะ) เป็นงานอาสา บัตรขายได้ไม่เจ็บตัวหนักหนาสุดๆ แต่ก็ไม่ได้ cover แค่นี้ก็ดีใจแล้ว เพราะตอนแรกคาดการณ์ไว้ว่ามันอาจจะแย่กว่านี้มากๆ เพราะไม่รู้ว่าใครจะมาบ้าง ก็ลุ้นกันไปจนอาทิตย์สุดท้ายก่อนงานเริ่ม ยอดจองบัตรถึงเริ่มมา อ๋อเขาซื้อบัตรนาทีสุดท้ายกัน (หัวเราะ)

 


BIPAM 2023 - Performance : INTERMISSION : Thanapol Virulhakul - photo : BIPAM

 

BIPAM คือความหวังของศิลปินร่วมสมัยไทย โดยเฉพาะคนละครรุ่นใหม่

ดีใจค่ะ ถ้าจะเป็นแบบนั้นได้ นี่แหละเนาะคุณค่าของงานที่ทำ เหนื่อยไปเพื่ออะไร? เหมือนขึ้นหลังเสือแล้ว หายไม่ได้จริงๆ หายไปคงใจเหี่ยวกันหมด เราเองด้วย เพราะเรารู้สึกว่าไหวก็ทำไปก่อน พี่ที่ดูแลฝ่ายการแสดงที่หอศิลป์ฯ เป็นเพื่อนรักสนิทกัน เวลาเขาเห็นเราทำงานเยอะๆ ก็เคยถามด้วยความเอ็นดู “พวกเธอทำไปทำไมก็ไม่รู้เนาะ เหนื่อยก็เหนื่อย เงินก็ไม่ได้” ก็ได้แต่ตอบว่า “ไม่รู้เหมือนกันพี่” (หัวเราะ) สิ่งที่เป็นพลังคือ เราเชื่อว่าสิ่งที่เราทำมีคุณค่าจริงๆ แล้วเกิดแรงกระตุ้นกลับมาหาเรา เป้คิดว่าความพยายามแบบไบแพม ไม่ได้เริ่มที่เรา เราไม่ใช่กลุ่มแรกที่ทำ จริงๆ พี่ๆ ก่อนหน้าเราได้ปูทางบางอย่างมา เส้นทางนี้ถามว่าไบแพมทำสำเร็จเป็นคนแรกเหรอมันก็ไม่ใช่ อาจจะสำเร็จในรูปแบบนี้ แต่จริงๆ เรามีพี่ๆ พี่ตั้ว (ประดิษฐ ประสาททอง) พี่จา (จารุนันท์ พันธชาติ) พี่คาเงะ (ธีระวัฒน์ มุลวิไล) รุ่นพี่ที่เขาปูทางมา เป็นกำลังให้เราทำสิ่งนี้ได้ในวันนี้เหมือนกัน สานต่อเนื่องกันมา

คือเป้อาจจะหยุดในอนาคตก็ได้ ไม่ได้สัญญาอะไรกับใคร คิดว่าถ้าเราหยุดอีกก็จะเป็นเหมือนที่ผ่านมา ที่เคยมีความพยายามแล้วหายไป ทุกครั้งคนกลุ่มใหม่ รุ่นใหม่ก็ต้องเริ่มใหม่จากศูนย์ ณ วันนี้ถ้าเราทำให้คนที่พามาไม่ต้องเริ่มจากศูนย์ อย่างน้อยเริ่มจากหนึ่งหรือหนึ่งจุดห้าก็ได้เอา มันก็ได้อะไรบางอย่างแล้ววางไว้น่ะค่ะ…. มันเหนื่อยเหลือเกิน เราเติบโตมาในวงการนี้เราเห็นพี่ๆ เขาทำกันมาทุกอย่างแล้ว ไม่ใช่ว่าทุกคนมีกำลังใจทำยาวๆ ได้ มีผลที่ทำแล้วเหนื่อย ทำไปหายไปด้วยเหตุอะไรก็เข้าใจได้ แม้ทำต่อเนื่องแล้วได้สเกลน้อยก็ยังทำอยู่ คนอย่างพี่จา พี่ตั้วเขาก็ยังทำอยู่ในแบบของเขา มันเป็นองคาพยพเดียวกัน ในเบื้องหลังที่ไม่มีใครมองเห็น เป็นเครือข่ายแห่งคนผู้สร้างบางอย่าง เราเองก็รับจากสิ่งที่เขาทำนั่นแหละ แล้วถ้าเราส่งต่อจะด้วยทางตรงหรือทางอ้อมให้รุ่นต่อๆ ไปได้ เขาก็จะได้ไม่ต้องเริ่มจากศูนย์อย่างที่บอก

สิ่งที่เป้พูดได้เลยก็คือ ตอนนี้เราเห็นผลบางอย่างแล้วเช่น ศิลปินไทยในประเทศไทยเวลาคนที่เขามองเข้ามาก็ไม่ได้เริ่มจาก “ประเทศไทยมีศิลปะด้วยเหรอ?” เป้ว่าภาพมันกำลังค่อยๆ เปลี่ยนไป พอต่างชาติเห็นว่ามีไบแพม เขาเริ่มได้รู้จักศิลปินชื่อไทยบางชื่อที่เริ่มติดหูเริ่มมองเห็นกันแล้ว ก็ไม่ศูนย์แล้วค่ะ อย่างน้อยนึกถึงชื่อคนนี้คนนั้น พอมีประตูแล้วก็เดินเข้ามาง่ายขึ้น ไม่ใช่สมัยก่อนที่แบบ… อยู่ไหน ฉันจะโทรหาใครดี กระทรวงวัฒนธรรมจะไปรู้อะไรคะ โทรหาหนูนี่ เราก็ยินดีจะส่งต่อให้นอกจากงานที่ทุกคนเห็นมันมีงานประเภทนี้ด้วย ไบแพมทำงานด้านนี้เยอะค่ะ ใครอยากรู้เรื่องอะไร เรานั่งไล่ชื่อศิลปินส่งลิสต์ให้เขา เพื่อให้มั่นใจว่าเวลาใครถามเกี่ยวกับประเทศไทยแล้วจะไม่หายไปในทะเลอันกว้างใหญ่ เขาต้องได้ข้อมูลบางอย่าง แล้วเขาต้องรู้ว่าศิลปะและศิลปินของเราน่ะ Active น่าสนใจและรุ่มรวยด้วยไอเดียไม่ใช่เงิน รุ่มรวยด้วยพลังและความสร้างสรรค์ อันนี้เป็นสิ่งที่หนุน สำหรับเป้… ยังไงก็ต้องทำ ถ้ายังไม่มีคนทำก็ต้องทำต่อไปค่ะ

 


BIPAM 2023 - Performance : INTERMISSION : Thanapol Virulhakul - photo : BIPAM

 

ฝากถึงรัฐบาล เรื่องบริหารจัดการงานวัฒนธรรมอย่างมีส่วนร่วม

ถ้าเขาฉลาด เขาควรจะมองเห็นว่า หลายกลุ่มที่ทำงานคล้าย BIPAM เป็นพลังขับเคลื่อน เขาต้องสนับสนุนให้เราไปต่อได้ เขาไม่ควรปล่อยให้เราตาย เพราะเราขับเคลื่อนในจุดที่ไม่มีคนทำสำหรับประเทศนี้ คุณไม่รู้หรอกว่ามันมีความหมายขนาดไหน ยุโรปอยากมาเมืองไทยเพราะเขาได้ยินชื่อ BIPAM เขาอยากได้ศิลปินไทยไปแสดงในเทศกาลของเขาเพราะเขารู้จักเรา ส่วน Soft Power ที่พูดๆ กันน่ะมีคนทำอยู่แล้วทั้งนั้นเลย หนัง Performing Arts ทัศนศิลป์ ล้วนแต่คนเก่งมาก คุณต้องหนุนเขา จับมือกันไม่ใช่ไปทำเอง ไม่รู้แล้วพยายามไปหาเอง ซึ่งมันเป็นวิธีคิดของรัฐไทยมากเลย ที่เวลาอยากได้อะไรบางอย่างคิดแต่ว่าตัวเองจะต้องทำ แล้วไปจ้างใครก็ไม่รู้ทำ ไม่เคยมองกลับมาว่ามีคนทำอยู่แล้วทั้งนั้นเลย สิ่งที่คุณควรต้องทำคือเป็นผู้สนับสนุนพลเมืองในสิ่งที่เขาทำอยู่ ไม่ใช่เอาเงินไปจ้างใครทำก็ไม่รู้แล้ว เย่! ฉันได้หน้าเพราะฉันทำแล้ว เราต้องทำงานด้วยกันค่ะ

เป้รู้สึกตลกที่คนประเทศอื่นเขาชื่นชมเราขนาดไหน แต่ที่นี่ไม่มีใครเห็นหัวเราเลย เชิญมางานก็แค่มาถ่ายรูปแล้วก็กลับบ้าน มันเป็นสิ่งที่เกิดซ้ำๆ จนเป้เบื่อไม่อยากคุยกับเขาแล้ว (หัวเราะ) ผู้ใหญ่ที่มีอำนาจเหรอ…ไม่รู้ใคร ไม่รู้จะได้คุยกับเขาไหม คุยไปก็ไม่รู้เขาเข้าใจรึเปล่า เพราะว่าขั้วอำนาจเปลี่ยนด้วย แล้วคนมานั่งก็ไม่รู้เป็นใคร อันนี้ก็คืออีกหนึ่งปัญหาของบ้านเรา คนของรัฐมักเป็นคนที่ไม่มีความรู้ความเข้าใจ คุยไปก็เหมือนหายไปในสายลม คนที่เข้าใจไม่มีอำนาจที่จะขับเคลื่อนบางอย่าง เขาก็ต้องส่งเรื่องให้นายสุดแล้วแต่นายจะตัดสินใจอย่างไรก็ไม่รู้ เพราะอะไรก็ไม่รู้อีก

กลุ่มคนทำงานศิลปะการแสดงรวมตัวกันก็ได้คุยกับฝ่ายรัฐอยู่บ้างค่ะ ไม่ใช่ระดับรัฐบาลแต่เป็นระดับเมือง ผลเป็นไปในทางค่อนข้างบวกกับทางเมืองกรุงเทพฯ (ทีมงานผู้ว่าการ กรุงเทพมหานคร) อาจไม่ใช่ไบแพมโดยตรงแต่ในแวดวงศิลปะการแสดงนี่แหละค่ะ เป้อยู่ห่างๆ แต่มองเห็นว่ามันมีบทสนทนาที่ค่อยๆ เคลื่อนไปอย่างช้าๆ ว่าทำอะไรด้วยกันได้บ้าง มานั่งคุยกันนี่คือเห็นกันแล้ว ไม่ใช่กระทรวงที่เราไม่เคยรู้เลยว่า คุยกับใคร จดหมายที่ส่งไปให้ใครก็ไม่รู้ แต่กับกรุงเทพฯ ยังได้นั่งคุยกันแบบเราเห็นเขา เขาเห็นเรา เป็นก้าวที่ใกล้ขึ้นมากแล้วจากที่ไม่เคยมีมาก่อน

 


BIPAM 2023 - Performance : INTERMISSION : Thanapol Virulhakul - photo : BIPAM

 

เป้ชอบคิดเรื่องนี้มาตั้งแต่เด็ก ทำไมถึงไม่ไปต่อเราจะพัฒนายังไง จนตอนนี้ถึงมาเข้าใจว่า ศิลปินกับคนทำงานได้ใช้ศักยภาพ ‘สุด’ เท่าที่ตัวเองมีแล้วค่ะ ตัวเป้เองก็ใช้เงินตัวเองเดินทางไปเจอผู้คนจน… ต้องเจอกันกับรัฐบาลด้วยค่ะ คนต่อให้เก่งแค่ไหนก็ชนกำแพง ชนเพดานของสังคม เพราะฉะนั้นถ้ารัฐไม่เปิดความเป็นไปได้มันก็จะต่ำอยู่ที่เพดาน แต่ถ้ารัฐช่วยสนับสนุนศักยภาพมันจะระเบิดระเบ้อปุ้งปั้งไปไหนได้อีกมากมาย ตอนนี้เป้คิดว่าศักยภาพของคนสร้างสรรค์มันชนเพดานรัฐบาล ทุกคนทำเต็มที่แล้วในความสามารถของตัวเอง แล้วเราก็พร้อมเหลือเกิน คือศักยภาพมันพร้อมแบบที่… ถ้าเหล่านี้ไปอยู่ประเทศอื่นคนพวกนี้จะไปถึงไหนแล้วก็ไม่รู้ คนบ้านเราเก่งมากๆ แล้วก็พลังสูงมาก แต่เหมือนทำอะไรก็ติด คือรัฐเขาไม่เข้าใจแล้วไม่มาถามว่าเราต้องการอะไร ช่วยอะไรกันได้บ้าง เราพยายามจะยื่นมือเข้าไปคุยเขาก็ส่งใครก็ไม่รู้มา ไม่มีแววว่าจะสนใจ ไม่มีไอเดีย คุยแล้วก็หาย เราก็เหนื่อย งั้นเราทำกันเองก็ได้

ไบแพมเคยจัดงาน TALK เรานั่งไล่กันเลยว่าองค์กรรัฐหรือองค์กรกึ่งรัฐ ซึ่งตามหน้าที่ของเขาควรจะมีส่วนร่วมในการสนับสนุนศิลปะมีใครบ้าง จะมีประมาณ 12 องค์กร ส่งเรื่องไปว่าเราจะจัด talk ที่อยากให้คุณได้เจอกับคนทำงานศิลปะ นั่งในห้องเดียวกันเลยเพื่อจะได้คุยกัน เราอยากฟังว่า Mission ขององค์กรคุณคืออะไร ให้ศิลปินได้ฟังด้วย เราต้องแฟร์ บางทีศิลปินก็ไม่รู้ว่าแต่ละองค์กรทำงานเพื่อเป้าอะไร กระบวนการติดต่อก็ยากมาก จะเห็นเลยว่าองค์กรไหนใส่ใจ ส่งคนที่พร้อมฟังพร้อมพูดมา แล้วก็มีองค์กรที่ส่งคนเหมือนได้สคริปต์มา เขาพูดอะไรต่อไม่ได้นอกจากสคริปต์ของเขา สงสารเขาเหมือนกันที่องค์กรเลือกทำอย่างนี้ในโอกาสแบบนี้ รู้สึกเหนื่อยจังเลย คนที่คุยรู้เรื่องก็รู้เรื่องมาตลอด คนที่คุยไม่รู้เรื่องก็ยังไม่รู้เรื่องต่อไป มีคนที่ไม่ส่งมาด้วยเหมือนกัน การคุยกับรัฐยังไงก็เป็นสเต็ปที่ช้า ต้องกระจายกันทำงาน อย่างที่คุยกับ กทม. เราก็เชียร์

ในครั้งนั้นมี สศร.(สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย) ได้คุยกันค่ะ ก็เป็นคล้ายๆ อย่างนั้น คือเป็นคนที่ถือนโยบาย แต่ไม่รู้ปรับเปลี่ยนไม่ได้หรือว่าอะไร เขามาบอกเฉยๆ ว่าเขาทำอะไร ระบบซับซ้อนหน่อยนึง ถ้าเขาอยู่ใต้ กทม. มันก็จะเป็นไปตามผู้นำว่ามีวิสัยทัศน์ยังไง เพราะฉะนั้นในอนาคตอีกสักนิดอาจจะพอทะลุทะลวงเจาะคุยกันได้ ในขั้นแรกมันก็ยังยากอยู่ แต่ก็ได้เจอกันมากขึ้นแล้วล่ะ จากกลุ่มขับเคลื่อนคนหน้าเดิมปรับเปลี่ยนบ้างบางวาระนี่แหละค่ะ จะเห็นภาพว่าทำไมเราเหนื่อยกันมาก ทุกคนยุ่งมากเพราะทำทุกอย่าง คนหนึ่งเป็นทั้งศิลปิน ช่วยที่ปรึกษาไบแพม ทำเทศกาลของตัวเอง อยู่ในกลุ่มคุยกับ กทม. ด้วย ก็สี่หน้าที่เข้าไปแล้ว เป้เองบางทีเป็นศิลปินช่วยกลุ่มต่างๆ ด้วย ทำสองเทศกาลด้วยห้าหกอย่าง ไม่มีใครทำหน้าที่เดียว ไม่มีใครมีเงินเดือนจากที่เดียว เพราะว่าทุกคนกำลังพยายามขับเคลื่อน เป้ว่าทุกคนคิดคล้ายกัน คือมันต้องทำ เราไม่ทำแล้วใครจะทำ กำลังเกิดเป็นปรากฏการณ์แบบนี้ค่ะ ไม่ใช่แค่ไบแพมแต่หลายๆ กลุ่มมากๆ ที่กำลังทำ แล้วทุกคนเป็นอาสาสมัครทั้งหมด ทุกคนต้องทำงานหาเงินด้วย ขับเคลื่อนไปด้วย (หัวเราะ)

 


BIPAM 2023 - Performance : INTERMISSION : Thanapol Virulhakul - photo : BIPAM

 

การเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกรมศิลปากรไม่เคยคิดรูปแบบนี้เลยค่ะ ไม่แน่ใจว่าสุดท้ายมันจะเป็นยังไง แต่ที่ได้คุยกันมันคือสิ่งที่เรียกว่า “ARTS COUNCIL” คือ สภาศิลปะ เป็นโมเดลที่เราคิดว่าอาจจะเวิร์กที่สุดในอนาคตที่เรามองเห็นได้ ก็คือองค์กรที่ดูแลศิลปะ หรือสนับสนุนศิลปิน โดยคนจากวงการศิลปะเอง และผู้ที่มีความเข้าใจ มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับงาน พอเป็นรูปแบบนี้เป้คิดว่าอาจจะมีประสิทธิภาพที่สุด ถ้าไม่อยู่ใต้รัฐบาลเหมือนเป็นองค์กรอิสระ เพราะไม่งั้นเราต้องรับนโยบายรัฐบาล แล้วก็จะเหมือนอีหรอบเดิมอีก “ARTS COUNCIL” ถ้าจะมี ควรจะมีอิสระของตัวเองประมาณหนึ่ง แต่สามารถได้เงินทุนจากรัฐบาลที่จะเจียดให้ศิลปะ แต่ผู้ที่จะเป็นคนตัดสินใจคือ “ARTS COUNCIL” เพราะคนกลุ่มนี้ควรจะรู้ว่า ใครทำอะไร ที่ไหน และทำงานยังไง กับ กทม.อาจจะเป็นก้าวต่อไป ตอนนี้เพิ่งเริ่มสานสัมพันธ์ เพื่อให้เขาเข้าใจเรา เราเข้าใจเขา

“ARTS COUNCIL” เป็นเหมือนความฝัน… ฝันไกล ที่ไม่ใช่แค่สายศิลปะการแสดง หนัง ทัศนศิลป์ ฯลฯ ทุกคนพูดเรื่องนี้มาเป็นสิบปีแล้วค่ะ แล้วเราก็… กว่าจะมีรัฐบาล แค่ฟังก็ยากแล้ว ตอนนี้เรามีแล้วหนึ่ง คือรัฐบาลท้องถิ่น (หัวเราะ) ก็ต้องค่อยๆ ก้าวไปกับเขาทีละก้าว เพราะส่วนของเขาเองก็ต้องต่อสู้กับระบบภายในของราชการเหมือนกัน มีขั้นตอนแบบช้างตัวใหญ่มหาศาลที่มันยาก… เราก็พยายามค่อยๆ แกะ หรือการคุยกับตัวแทนพรรคการเมืองที่เหมือนจะมีนโยบายทางศิลปะ ก็มีการปรึกษากันที่ไม่ใช่แค่พวกเรา การพูดคุยมันเกิดมาตลอดจนพวกเราเหนื่อย เพราะพูดแล้วไม่ไปไหนสักที ตั้งวงคุยแต่ละครั้งเราจะได้อะไร แต่เราก็มีความหวังทุกครั้ง คือเป้รู้สึกชื่นชมอย่างคนในสาย FILM หรือ VISUAL ทุกคนคิดเหมือนกันว่ามันต้องคุย เป็นรอบที่ร้อยก็ต้องคุย เพื่อขับเคลื่อนไปด้วยกันค่ะ

 


BIPAM 2023 - Performance : INTERMISSION : Thanapol Virulhakul - photo : BIPAM

 

BIPAM 2023 - Performance : INTERMISSION : Thanapol Virulhakul

An inexistent Thai post-modern dance choreographed by Thanapol Virulhakul เมื่ออำนาจทางการเมืองแทรกซึมอยู่ทุกที่ไม่เว้นแม้แต่ร่างกายของนักเต้น จึงก่อเกิดเป็นผลงานเต้นร่วมสมัย โดย ธนพล วิรุฬหกุล เปิดการแสดง 22-23 มีนาคม 2566 สถาบันเกอเธ่ สาทร และ SIFA - Singapore International Festival of Arts 2-3 June 2023 Drama Centre Black Box

 

POST MODERN DANCE by Thanapol Virulhakul

ธนพล วิรุฬหกุล (ตั๋ม) ออกแบบลีลา ท่าเต้น

ตั๋ม ธนพล เป็นผู้กำกับและนักออกแบบท่าเต้นชาวไทย ที่ทำงานด้าน conceptual dance performance โดยตั้งคำถามถึงการรับรู้ของศิลปินที่มีต่อตนเอง และต่อโลกภายนอก ธนพลเคยทำงานเป็นผู้กำกับร่วมของกลุ่ม Democrazy และเคยมีผลงานจัดแสดงมาแล้วมากมายทั้งในและต่างประเทศ อาทิ Hipster the King (2014) จัดแสดงครั้งแรกในไทย เดินทางไปแสดงยังประเทศเยอรมนี และญี่ปุ่น Girl X (2015) ซึ่งเป็นงานร่วมกับผู้กำกับชาวญี่ปุ่น, Happy Hunting Ground (2016) ซึ่งเป็นผลงานสร้างสรรค์ร่วมกับคณะละครจากประเทศเยอรมนี และ The Retreat โครงการเชิงทดลองที่ได้รับเชิญไปทำงานใน Tokyo Performing Arts Meeting in Yokohama (TPAM) และจัดแสดงในประเทศไทย ปัจจุบัน นอกจากความสนใจในการสร้างงานที่พูดถึงสังคมและคอนเซปต์ของการเต้น เขายังมีความเชี่ยวชาญและศึกษาการบำบัดแนวทิเบตอีกด้วย[5]

 


ธนพล วิรุฬหกุล (ตั๋ม) รับรางวัลกำกับการแสดงยอดเยี่ยม จากเรื่อง “Transaction” โดยชมรมวิจารณ์ศิลปะการแสดง : “ IATC-Thailand Dance and Theatre Review 2013”
Photo : TVmunk[6]

 

เมื่อปี 2018 ตั๋มเคยอยู่ใน process การสร้างงาน “One Table Two Chairs” งานที่ แม่จำปา กับ วิ (จำปา แสนพรม ครูซอล้านนาจากจังหวัดเชียงราย-ผู้อำนวยการโรงเรียนสืบสานล้านนา กรุงเทพฯ กับ วิทุรา อัมระนันทน์ นักเต้นร่วมสมัย) เคยทำงานด้วยกันมาแล้ว ปีนี้ 2023 ตั๋มได้รับโจทย์มาจากไบแพม ว่าอยากจะพัฒนาเรื่องนี้อีกครั้ง สิ่งที่เห็นจากสองคนมันเป็นความต่างระหว่าง Generation วัย กับที่มา ที่ต่างกันมาก แม่จำปามาจากเชียงราย สิ่งที่แม่โตมาเป็นคนยุคหนึ่ง ศิลปะที่แม่เรียนมาก็เป็นแบบหนึ่ง ส่วนวิโตมากับเมืองนอก สิ่งแวดล้อมกับศิลปะที่เรียนมาก็ต่างกัน งานในปี 2018 สองคนแสดงภายใต้พิธีเรียกขวัญ ครั้งนี้ตั๋มมาคิด มันมีพื้นที่ไหนนะที่แม่จำปากับวิจะได้เจอกันจริงๆ หมายความว่าทั้งแม่และวิจะไม่ได้ถนัดอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะในพิธีเรียกขวัญแม่จำปารู้อยู่แล้วว่าทำยังไง เป็นพื้นที่ของแม่ มีวิเข้าไปในพื้นที่ของแม่

แต่ครั้งนี้ตั๋มไม่อยากให้มันเป็นพื้นที่ของใครคนใดคนหนึ่ง หรือให้ใครไปอยู่ในพื้นที่ของใคร พยายามหาพื้นที่ตรงกลางที่ต่างคนต่างไม่เคยสัมผัสสิ่งนี้มาก่อน ก็เลยนึกถึงช่วงเวลาหนึ่งที่ประเทศไทยไม่เคยมีอยู่ โดยเฉพาะเวลาในประวัติศาสตร์การเต้น เป็นช่วงที่เรียกว่า POST MODERN DANCE พอดีว่าประเทศไทยไม่เคยมี POST MODERN DANCE เป็นไปได้ไหมที่จะมี ถ้ามีแล้วรูปร่างหน้าตาจะเป็นอย่างไร นี่เป็นไอเดียหลัก ก็เลยเลือกสร้างช่วงเวลา POST MODERN DANCE ในไทยขึ้นมาครับ

 


วิทุรา อัมระนันทน์ (วิ) / จำปา แสนพรม (แม่จำปา)
“One Table Two Chairs” 2018 Photo : BIPAM

 

POST MODERN DANCE เป็น movement ที่เกิดขึ้นในอเมริกาช่วงยุค 70 ครับ

เป็นแดนซ์ที่ตั้งคำถามมาจากสิ่งที่พัฒนามาก่อนหน้านั้นก็คือสิ่งที่เรียกว่า Modern Dance มีกลุ่มหนึ่งพยายามจะตั้งคำถามกับสิ่งที่มีอยู่ก่อนหน้านั้นว่า ทำไมแดนซ์ต้องเป็นคนที่ถูกฝึกหัดมาอย่างดี ทำไมต้องเต้นแบบนี้ใช้วิธีอื่นได้ไหม แล้วก็ลองหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ว่าจะทำอะไรได้บ้างกับสิ่งที่เรียกว่าเต้น เป็นไปได้ไหมว่า movement ที่เราเห็นใน dance จะเป็น movement ที่เราเห็นในสังคม อย่างเช่นในยุคนี้จะเป็น movement ในชีวิตประจำวันที่เอาเข้ามาสร้างหรือเป็นส่วนหนึ่งของการเต้น เดิน นอน ยืน นั่ง เอามาทำอะไรได้นะ คนจะเต้นได้ต้อง dancer อย่างเดียวเหรอ คนธรรมดาได้ไหมนะ ก็เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างคนที่เป็น dancer กับคนที่ไม่ได้เป็นครับ

 “INTERMISSION” เหมือนแบ่งเป็นการแสดงเล็กๆ หลายๆ ชิ้นอยู่ในการแสดง แบ่งเป็นตอนเล็กๆ สั้นๆ ในแต่ละตอนมีที่มาของ movement ต่างๆ กันไป มาจากโจทย์ที่อยากรู้ว่าถ้าประเทศไทยมี POST MODERN DANCE หน้าตาจะเป็นยังไง คำถามต่อมาหลังจากนั้นคือ ถ้าเราอยากเห็นอย่างนั้นเราก็จะต้องรู้ก่อนว่า DANCE ในไทย เขาเรียนอะไรกัน หรือ dance ในประเทศไทยมีอะไรบ้าง ตั๋มสนใจ movement ที่อยู่ในบริบทชีวิตของคนไทย สิ่งที่มองกลับไปคือมันมี movement หรือเต้นหลายๆ แบบ ที่อยู่ในเนื้อตัวของคนไทยแต่เราไม่ได้เรียกสิ่งนี้ว่าเป็น ศิลปะ เช่น จินตลีลา ที่มันอยู่ในระบบการศึกษา ในการแสดงวันพิเศษต่างๆ โดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจไม่รู้ ตั้งแต่เป็นเด็กตั๋มก็สัมผัสสิ่งนี้มาจนบัดนี้ก็ยังอยู่ สำหรับตั๋มจินตลีลาเป็นการเต้นแบบไทยๆ ที่เราเรียนกันแบบรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว ก็ไม่รู้ โดยคนออกแบบท่าเต้นอาจเป็นคุณครูก็ได้ ไปจนถึงการเต้นแบบลูกทุ่ง แบบหางเครื่อง

แต่ละชิ้นจะมีที่มา เช่น การใช้มารยาทไทยใน “INTERMISSION” พยายามจะหา movement แบบต่างๆ ที่อยู่ในบริบทของสังคมไทย หลายชิ้นอยู่ภายใต้ระบบการศึกษาที่พลเมืองคนหนึ่งได้เรียนรู้ เลยหยิบ movement เหล่านี้มาเป็นสารตั้งต้น ก่อนที่จะเอาลักษณะหรือแนวคิดแบบ post modern เข้ามาทำงานกับ movement พวกนี้ครับ จินตลีลาก็ไม่ได้เต้นให้ดูแต่จะเห็นว่า movement นี้มาจากจินตลีลา แม่จำปาเป็นช่างซอก็จะร้องเป็นหลัก แต่ในเรื่องนี้จะเห็นน้อยมากที่แม่จะร้องในแบบที่เคยร้อง จะเห็นแค่ช่วงต้นนิดเดียว (จ๊อย บทสักการะ ทำนองเชียงแสน) ก่อนที่จะถูกขัดจังหวะด้วยเพลงชาติ คำร้องทำนองเป็นแบบดั้งเดิม หลังจากนั้นแม่ไม่ได้ร้องแบบเดิมเลย แค่ใช้เสียงอย่างเดียวขาดเป็นคำๆ การทำงานมีการบิดไปหมด มีความหมายว่าเป็นช่วงเวลาที่ไม่เคยมีอยู่ กำลังถูกทำงานผ่าน post modern dance โจทย์ของตั๋มคือ ถ้าแม่จำปาจะอยู่ใน post modern dance แม่จะทำอะไร ร้องแบบไหน การที่แม่ไม่ได้ทำสิ่งเดิมเป๊ะๆ มันเป็นการตั้งคำถามจากสิ่งที่เคยมีอยู่ครับ

 


BIPAM 2023 - Performance : INTERMISSION : Thanapol Virulhakul - photo : BIPAM

 

Singapore International Festival of Arts

2-3 June 2023 Drama Centre Black Box

เปิดการแสดงที่สิงคโปร์ได้เพิ่มนักแสดงมาอีกคนครับ เผ่าภูมิ ชีวารักษ์ (เผ่า) มาช่วยทำให้ชิ้นงานบางชิ้นพูดได้ชัดเจนขึ้น ทำให้ choreography แข็งแรงขึ้นครับ

 “INTERMISSION” มีเรื่องของ Body Politic จะมองร่างกายเป็นการเมืองก็ได้อีกระดับหนึ่ง พูดถึงระดับ Micro Politic ก็คือภายใต้โครงสร้างลักษณะสังคมในแต่ละแบบย่อมส่งผลกับการใช้ร่างกายแตกต่างกันไปด้วย หรือถ้ามองกลับกันก็คือ ร่างกายเองหรือแม้แต่การเต้นเองก็อาจจะบ่งบอกลักษณะสังคม สภาพสังคม รวมถึงอำนาจในสังคมได้ในระดับหนึ่งเหมือนกัน

Dance มีความเป็น Abstract อยู่แล้วนะครับ บางครั้งมันอาจจะไม่ได้เล่าเรื่องว่าใครทำอะไรที่ไหน ไม่ชัดว่าเรื่องที่กำลังเล่าอะไร แต่จะมี narrative ในแบบของ dance เหมือนกัน เช่น ตั้งใจทำให้เกิดการทำซ้ำ เห็นการทำซ้ำค่อนข้างบ่อย การทำซ้ำกำลังจะพัฒนาไปสู่อะไร หรือกำลังพูดอะไร dance มีการสร้าง construct ในอีกรูปแบบหนึ่ง ถ้าจะดูแบบหาเรื่องราวในแดนซ์จะยากนิดนึง แต่ผมเชื่อว่าแดนซ์ทำงานระหว่างร่างกายกับร่างกาย ลักษณะคล้ายกับเวลาเราดูหนัง แล้วเราก็เห็นตัวแสดงในหนังแบกหิน เรารู้สึกหินก้อนใหญ่มันอาจจะหนักจังเลย สำหรับตั๋มมันไม่ได้สื่อสารแค่ความเข้าใจว่าเขาหนัก บางครั้งมันทำงานระดับร่างกายเราเหมือนกัน จินตนาการถึงความหนักนั้นได้ หรือในขณะที่คนหนึ่งทำซ้ำบ่อยๆ เราอาจจะรู้สึกอะไรบางอย่างกับการทำซ้ำนั้น แดนซ์มีการสื่อสารตรงไปตรงมาในระดับหนึ่งครับ

 


BIPAM 2023 - Performance : INTERMISSION : Thanapol Virulhakul - photo : BIPAM

 

นำไปแสดงต่างประเทศมีการคิดเพื่อสื่อสารในระดับสากลเพิ่มขึ้นจากเดิม

มีเพิ่มขึ้นระดับหนึ่งครับ แต่ว่าความตั้งใจเลยของงานชิ้นนี้จริงๆ ก็อยากจะ challenge คนดูระดับสากลเหมือนกันครับ โดยที่ไม่ได้ให้ข้อมูลทั้งหมดในการแสดง หรือว่าพยายามจะให้การแสดงสื่อสารในระดับสากลทั้งหมด จะมีเพิ่มมาในพาร์ต “ฉุยฉายแปลง” เผ่า (เผ่าภูมิ ชีวารักษ์) นักเต้นที่เพิ่มมาจะรำท่าฉุยฉายในแบบฉบับรำไทยดั้งเดิม ประกอบคู่ไปด้วย เพิ่มขึ้นมาให้เห็นว่าใน instruction ที่บอก จริงๆ แล้วท่ารำเป็นอย่างไร แล้วจะเห็นการเทียบเคียงระหว่างท่ารำจริง หรือสิ่งที่เขาปฏิบัติกันมา กับสิ่งที่ถูกสร้างใหม่ในการแสดง “INTERMISSION”

ศิลปินสิงคโปร์คนหนึ่งบอกว่างานแบบนี้เป็นไปไม่ได้เลยที่จะเกิดขึ้นในสิงคโปร์ เพราะเขารู้สึกว่ามันมีความกล้าที่จะเล่น หมายถึง เหมือนเด็กซนเรามาเล่นอันนี้กันเถอะแล้วเราก็เล่นกัน ในขณะที่ในสิงคโปร์อาจจะไม่ได้มีรูปแบบนี้เท่าไหร่นัก การแสดงจะปรับน้อยมากเพราะมีความตั้งใจจะ challenge คนดูอยู่แล้ว บางครั้งแค่รู้สึกเหมือนว่าเราไม่เคยกินอาหารชาตินี้มาก่อน บางครั้งการลองชิมมันอาจจะดีก็ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าเขาจะต้องชอบมัน ถ้าเทียบกับอาหารก็คือมันเป็นทั้งวัตถุดิบ รสชาติ วิธีการ ทุกอย่างถูกสร้างขึ้นจากพื้นที่นั้น ก็เลยทำให้เกิดอาหารประเภทนี้ รสชาตินั้น ตั๋มรู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องปรับไปซะหมด กระทั่งอาหารเปลี่ยนรสชาติจนทุกคนยอมรับได้อะไรแบบนั้น ไม่ได้มองว่าเป็นอัตลักษณ์ไทยนะครับ เนื่องจากงานนี้ถูกสร้างขึ้นภายใต้สภาพสังคมและความเป็นไปของประเทศไทย นักแสดงก็คนไทย มีหลายองค์ประกอบที่มีความเป็น Local หรือบริบทของพื้นที่นั้นอยู่ ตั๋มคิดว่าไม่อยากปรับมันในแบบที่ทำให้คนเข้าใจทั้งหมดครับ จะมีการให้ข้อมูลเพิ่มเติมในรูปแบบเชิงอรรถให้สามารถอ่านได้ เป็น QR code แยกออกมาจากการแสดง อ่านก่อนเข้าไปดูการแสดงหรือหลังการแสดงก็ได้ ที่ไทยไม่มีให้เพราะเราอยู่ในประเทศนี้อยู่แล้ว เราพอจะเห็นอะไรบางอย่างในนั้นอยู่แล้ว เราอยู่ในพื้นที่นี้ก็น่าจะมีความเข้าใจร่วมกัน มากน้อยต่างกันนั่นอีกเรื่องนะครับ

 


เผ่าภูมิ ชีวารักษ์ (เผ่า) photo : SIFA - Singapore International Festival of Arts

 

ต้องจัดการอย่างไรให้เข้าใจร่วมกัน เพื่อการสื่อสารกับมวลชน

งานแต่ละชิ้นอาจจะมี function ไม่เหมือนกัน ก็เลยมองเป็นองคาพยพมากกว่า หมายถึงถ้าจะมองว่างานชิ้นใดชิ้นหนึ่งมันจำเป็นจะต้องเกิดความสมบูรณ์ในการสื่อสารกับคนหมู่มากไปหมด มันอาจเป็นแรงกดดันสำหรับผู้สร้างเหมือนกันครับ อาจต้องมองเป็นองคาพยพทั้งในตัวศิลปะเอง ที่อาจต้องเคลื่อนไปพร้อมๆ กัน ในแต่ละงานเราอาจเป็นเฟืองชิ้นเล็กมากๆ (เฟือง-อุปกรณ์ที่ใช้ในการควบคุมความเร็ว แรง หรือทิศทางการเคลื่อนที่) อาจจะไม่ได้มีหน้าที่สำคัญ หรืออาจจะไม่ได้ปรากฏให้เห็นในหน้าที่ของเขาอย่างชัดเจน แต่ตั๋มว่ามันก็กำลังทำงานอะไรบางอย่างอยู่ไม่มากก็น้อย คนที่สื่อสารกับมวลชนได้เขามีทักษะ ประสบการณ์บางอย่างที่ทำให้เขาสามารถทำสิ่งนั้นได้ดี ใครทำอะไรได้ดีก็ทำสิ่งนั้น (หัวเราะ)

ถ้าให้ตั๋มไปทำงาน mass อาจทำได้ไม่ดีเลยก็ได้ เพราะมันอาจไม่ใช่สิ่งที่เราถนัด

 

อาชีพนักเต้นหรือออกแบบท่าเต้น สามารถเลี้ยงชีพได้ไหมในประเทศไทย

ความเป็นอาชีพมีองค์ประกอบปัจจัยอะไรบ้าง หนึ่งในนั้นคือเราต้องหาเลี้ยงตัวเอง จะเลี้ยงตัวจากสิ่งนี้ได้ไหม สำหรับตั๋มมันไม่ได้นะครับ แต่ก็ยังเห็นอยู่ว่าหลายคนที่กำลัง active อยู่ในแวดวงการแสดง ส่วนใหญ่ยังต้องทำอย่างอื่นด้วย ยังทำการเต้นอยู่แต่ก็ไม่สามารถทำแค่เป็นนักเต้นได้ ต้องไปสอนเต้น เพราะปัจจัยยังไม่ครบถ้วนที่เราจะเป็นนักเต้นแล้วมีรายได้เพียงพอยังชีพ สำหรับประเทศในนี้นะครับ มันยากมากที่จะวางเรื่องการพัฒนาอาชีพไปอีกสเต็ป เมื่อก่อนอาจจะวาง pathway ได้บ้างนะ พอเป็น dancer แล้ว ถึงจุดหนึ่งเราอาจจะอยากสร้างงานเอง ก็ผันตัวมาเป็นผู้กำกับลีลา หรือ choreographer ก็เป็นอีกสเต็ปหนึ่ง แต่พอถึงจุดนี้มีหลายองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องกับแผนที่วางต่อไป

ถ้าพูดในมุมศิลปินคงรอเวลาพร้อมทุกด้านก็จะเริ่มสร้างงานบางงาน ในประเด็นที่เราสนใจ ตอนนี้แค่คิดไว้ในใจครับ อยากใช้เวลากับมันค่อยๆ ฟอร์มโปรเจกต์ขึ้นมาอย่างเป็นธรรมชาติ โดยที่เราไม่ต้องไปเร่งให้เกิด มีหลายปัจจัยที่จะทำให้งานเกิดขึ้นมาได้ รวมทั้งพลังงานทั้งหมดของเราจากเดิมที่เราเคยให้กับงานได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่พอถึงจุดหนึ่งเราอยากจะแบ่งบางเปอร์เซ็นต์เอาไปใช้บางอย่างในชีวิตมากขึ้นครับ ไม่สามารถทำสิ่งนี้อย่างเดียว บางครั้งมีเบื่อหรือเหนื่อยกับแรงของอุตสาหกรรม ตั๋มมี pressing ในการสร้างงานอีกแบบหนึ่ง รอองค์ประกอบพร้อมในการสร้างงานก็คงจะทำครับ

ใครที่อยากทำจริงๆ อาจต้องดูความเป็นจริงของประเทศนี้ด้วยครับ (หัวเราะ) แน่นอนว่าทุกคนมีสิ่งที่อยากทำอยู่ ลองมาดูบริบทของศิลปะการแสดง โดยเฉพาะศิลปะการเต้นในประเทศนี้ ดูก่อนว่าเรารับ condition ต่างๆ ได้ไหม ถ้าเกิดจะทำ เช่น มันอาจจะเกิดขึ้นยากมากเลยในประเทศเราตอนนี้ ที่จะเป็นนักเต้นอาชีพ โดยไม่ต้องไปเต้นในโรงแรม ไม่ต้องสอนเต้น รับกับสภาวะนี้ได้ไหม ถ้ารับได้ก็ทำเลยครับ

 


BIPAM 2023 - Performance : INTERMISSION : Thanapol Virulhakul - photo : BIPAM

 

PLACEBo CLUB กับกิจกรรมทางเลือก

ตอนนี้ตั๋มทำ พาซิโบ คลับ เป็นการรวมตัวกันกับเพื่อนๆ ทำกิจกรรมทางเลือก healing บางอย่าง สิ่งที่ทำอยู่ไม่ได้ต่างจาก Art เท่าไหร่เลยนะ เรามักจะมองว่าศิลปะคือศิลปะ แต่ตั๋มกลับมองว่าการมีอยู่ของศิลปะในหนึ่ง function ของเขานั้น …บ่อยครั้งที่ศิลปะเข้ามาเยียวยาใจของเรา เหมือนเราอยากฟังเพลงนี้ เห็นภาพนี้แล้วสวยจังเลยแบบนี้ สิ่งที่ทำอยู่ปัจจุบันก็ไม่ได้ต่างจากที่ทำก่อนหน้านี้สักเท่าไหร่ ศิลปะมีฟังก์ชันการเยียวยาเป็นส่วนหนึ่งรวมอยู่ด้วย การเยียวยาไม่ได้หมายถึงการรักษา แต่บางครั้งการที่เรามีพื้นที่ให้กับอารมณ์ความรู้สึกเราบ้าง บางครั้งมันก็เพียงพอแล้วที่เราจะได้มีเวลารับรู้อารมณ์ความรู้สึกของตัวเอง คนที่จะเข้ามาจะเหมือนเราเจอหนังเรื่องหนึ่งที่น่าดูจังเข้าไปดูซะหน่อย บางคนก็ต้องการมีเวลากับตัวเองสักช่วงหนึ่ง ในสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการอยู่กับตัวเอง หรือมีเพื่อนคุยรับฟังเรื่องราวของเขาครับ

ตั๋มเป็นผู้นำกิจกรรมหลากหลายรูปแบบ ทั้งกลุ่มและเดี่ยว ส่วนมากจะเดี่ยว เหมือน workshop ในการแสดง แต่ไม่ใช่งานทางการแพทย์นะครับ ตั๋มแค่เรียนรู้ เริ่มอยากรู้เกี่ยวกับองค์ความรู้ในแพทย์แผนทิเบต จากเดิมที่ทำงานการแสดงแบบเต้น เราอยู่กับร่างกายในแบบหนึ่ง อยากรู้การทำงานของร่างกายในอีกมุมหนึ่งผ่านแว่นของแพทย์ทิเบต เพื่อเข้าใจการทำงานของร่างกายในอีกมุมหนึ่ง อยากได้อีกมุมมองหนึ่งในการมองร่างกาย ทำความเข้าใจร่างกายและสิ่งที่เป็นไปภายในร่างกาย มีผลกับการทำงานแดนซ์ครับ แต่ไม่ใช่กับ “INTERMISSION” นะ เรื่องนี้อาจไม่ใช่งานที่เหมาะจะนำมาใช้ อาจเป็นเรื่องต่อไปที่จะหยิบมุมมองบางอย่างมาครับ

 


Photo : Facebook เพนกวิน - พริษฐ์ ชิวารักษ์ Parit Chiwarak

 

พริษฐ์ ชิวารักษ์ (เพนกวิน) Parit Chiwarak วิจารณ์ " INTERMISSION " : POST MODERN DANCE

ในฐานะที่ผมเป็นคนเหนือรู้จักแม่จำปา ผมคิดว่าการใช้สัญญะในงานนี้ผมเข้าใจสารที่เขาสื่อนะ แล้วการสื่อความมันแหลมคมมากเลยทีเดียว มีจริตที่น่าสนใจ

ผมไม่แน่ใจว่าตัวเองตีความถูกหรือเปล่า ความเป็นละครใบ้มันจะตีความยังไงก็ได้ ผมเข้าใจว่ามันคือสปิริตของคนเหนือ โดยเฉพาะผู้หญิงเหนือ โดยเฉพาะช่วง 100 ปีที่ผ่านมาหลังจากล้านนาถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของสยาม ชะตากรรมของผู้หญิงเหนือเป็นยังไงในสังคมที่ไม่ใช่เมืองหลวง มันอธิบายได้ยังไงว่าทำไมคนเหนือถึงเป็นเสื้อแดง ทำไมคนเหนือถึงเชียร์สามนิ้ว ตัวอย่าง ซีนแม่จำปาซอ ซอยังไม่ถึงครึ่งท่อนเลยก็มีเพลงชาติไทยมาตบผัวะ!! อันนี้ก็มีสัญญะที่ชัด เสียงกระท่อนกระแท่นที่ตีอยู่กับเสียงในวิทยุแสดงให้เห็นถึงความเลือนรางแปรปรวน การต่อสู้กันระหว่างวัฒนธรรมเจ้าอาณานิคม และวัฒนธรรมล้านนาที่ต้องการจะมีชีวิตรอด

แต่ละฉากก็เห็นนะว่า portrait ผู้หญิงเหนือในบทบาทไหนบ้าง สาวเครือฟ้า สาวรำวง ถ้าไม่ใช่คนเหนือจะนึกภาพไม่ออกเลยนะว่ามันคืออะไร รวมถึงอคติที่ผู้หญิงเหนือได้รับจากคนเมืองหลวง ถูกมองมาอย่างยาวนาน เช่น ดอกคำใต้ ใจง่ายขายตัว สุดท้ายมันก็อธิบายได้ทั้งหมดว่าทำไมผู้หญิงเหนือถึงลุกขึ้นมาสู้ ภาพรวมของเรื่อง มันคือโลกกายภาพกับโลกจิตวิญญาณ มันคือ Folk Guide (คู่มือมนุษย์) กับ UTU (แอปพลิเคชันบนสมาร์ตโฟนรายแรกของโลก ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์การช้อปปิ้งรูปแบบใหม่)[7] ผมศึกษาเรื่องนี้ไง เลยคิดว่าผู้จัดน่าจะทำการบ้านมาลึกพอสมควร ประเด็นทำนองนี้แม้กระทั่งนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญเรื่องล้านนาก็ยังไม่มองไม่เห็นเลย ผู้จัดทำการบ้านมาดี มีแง่มุมที่น่าสนใจ

 


วิทุรา อัมระนันทน์ (วิ) / จำปา แสนพรม (แม่จำปา)
“One Table Two Chairs” 2018 Photo : BIPAM

 

จริงๆ มันเป็นไทม์ไลน์ด้วยนะ ตอนฉากฉุยฉาย มันอะไรของพี่เขาน่ะ คนดูต้องสมาธิลึกนิดนึงไม่งั้นจะหลุดโฟกัสไป พี่รู้มั้ยว่าท่า ‘ฟ้อนเล็บ’ ที่เราดูกันทุกวันนี้ไม่ใช่ท่าเหนือแท้ มันถูกจัดรูปแบบ 2 รอบ รอบแรกโดยเจ้าดารารัศมี จัดใหม่อีกรอบโดยวิทยาลัยนาฏศิลป์ เจ้าดารารัศมีได้เอาท่าที่ได้เรียนรู้จากวังหลวงไปใช้ในการปรับท่า วิทยาลัยนาฏศิลป์นี่ไม่ต้องพูดถึง แน่นอนอยู่แล้วกรมศิลปากร ถ้าเราไปดูคลิปเก่าๆ โบราณที่ไม่มีเสียง จะเห็นว่ามันต่างกัน มีท่าหลายท่าที่ไม่ได้ใช้ในการฟ้อนเล็บ มันต้องเอะใจทำไมท่าแม่แบบในการฟ้อนเล็บชื่อมันเหมือนท่ารำไทยหมดเลยล่ะ ผมคิดว่าเอาท่าทางนี้ไปทับท่าที่เคยมีอยู่แล้วทางโน้น อันนี้เป็นโจทย์ใหญ่มากของนาฏศิลป์ล้านนา สรุปว่าท่าล้านนาจริงๆ คืออะไรเพราะมันหายไปแล้ว ก็เป็นประเด็นทางวิชาการว่ากันไป

การที่ยอมให้เรื่องนี้มันเกิดขึ้นได้ ในทางประวัติศาสตร์มันคือการล่มสลายทางจิตวิญญาณและศิลปวัฒนธรรมของล้านนา ในทางกายภาพมันล่มสลายไปแล้ว ฟื้นฟูได้ก็คงไม่เหมือนเดิม เป็นอนิจจัง อะไรก็ตามมันยังมีจิตวิญญาณของการต่อสู้นะ ในเรื่องนี้สังเกตว่าแต่ละคนเขาให้รำตาม Instruction (n. การสั่งสอน, การแนะนำ, การชี้แนะ, การศึกษา, คำสั่ง, คำสอน) มันมีความกระแนะกระแหนอย่างเห็นได้ชัดเจนอยู่ นี่คือสปิริตของคนเหนือเวลาไม่พอใจอะไรแต่ต้องจำใจทำไง คนเหนือจะทราบกันดีว่าเราไม่ค่อยปาก ไม่ค่อยเถียงใคร ไม่ค่อยสู้ใคร แต่เวลาดื้อก็จะประมาณนี้ แม่จำปาอาจจะเป็น old tradition สาวอีกคนอาจเป็น modern Lanna ผู้ชายชุดขาวอาจเป็นจิตวิญญาณก็ได้ผมไม่รู้ แล้วแต่จะตีความ

 


BIPAM 2023 - Performance : INTERMISSION : Thanapol Virulhakul - photo : BIPAM

 

เพนกวินเคยใช้การแสดง แต่งตัวชุดไทยร้องเพลงฉ่อยกระแนะกระแหนการเมือง ได้น่ารัก เพื่อการนี้แล้วได้ผล คนสนใจชอบใจในความสามารถพิเศษ

รุ่นหลังๆ เขากระแนะกระแหนได้เจ็บกว่าผมอีก ผมก็ยังแต่งกลอนอยู่เรื่อยๆ แต่งด่าเนาวรัตน์ก็สนุกนะ ต้องเป็นเนาวรัตน์ด้วยนะคนอื่นไม่สะใจ เพราะผมรู้สึกว่าเนาวรัตน์อยู่บนปราสาทบนเมฆ ไม่มีอะไรสนุกไปกว่าการถอนหงอกผู้ใหญ่ที่คิดว่าตัวเองอยู่บนปราสาทเมฆ แล้วมันกลวงเปล่า มีแต่ชื่อเสียง แล้วเขาก็ทำตัวเขาเองด้วย หลายๆ อย่าง ความน่านับถือด้วย สำหรับคนรุ่นผมเขาเป็นตัวตลก ล้อเล่นก็สนุกดี นึกถึงเรื่อง “เสื้อผ้าใหม่ของพระราชา” มันสนุกกว่าปกติ ก็มีกวีหลายคนนะที่มีความคิดเห็นต่างจากผม แต่ผมคิดว่าปฏิปทา (ทางดำเนิน, ความประพฤติ, วิถีปฏิบัติ, นฤติการณ์) ของเขาน่านับถือ อย่างนี้ล้อไม่ได้ ล้อไม่สนุกอย่าเอามาเข้าตัว

ผมไม่ได้เป็นคนที่ชอบละครชอบแนวนี้เท่าไหร่ด้วยนะ ผมชอบอะไรที่เป็นมหรสพกว่านี้ ดูโขนดูหนัง ส่วนตัวผมคิดว่ามันต้องหาจุดสมดุล ถ้ามันตรงเกินไปเราก็ไปอ่านหนังสือดีกว่าไหม เราเปิดเลคเชอร์ดีกว่า แต่ถ้าใช้สัญลักษณ์ที่มันลึกซึ้งเกินไป ต้องถามว่าทำให้ใครดู เรื่องนี้ INTERMISSION ชัดเจนนะ ไม่คิดว่าคนทำเรื่องนี้นึกอยากจะไปเปิดที่ไหนก็ได้นะ เขาก็ประเมินผู้ดูมาเหมือนกัน พอเราใช้ศิลปะเป็นการขับเคลื่อน มันต้องคำนึงถึงผลลัพธ์ของการขับเคลื่อนด้วย (ประเมิน)

 


Photo : กานต์ ทัศนภักดิ์ : Facebook : เพนกวิน - พริษฐ์ ชิวารักษ์ Parit Chiwarak

 

อย่างเพื่อนผมโดนวิจารณ์ศิลปะเพื่อชีวิตของฝ่ายก้าวหน้าในอดีต ว่ามันเป็นศิลปะเพื่อชีวิตที่ไม่มีชีวิตเอาเสียเลย (นิยายทั้งหลาย) เพราะตัวเอกมันอุดมคติเกินไป จน... ในชีวิตจริงเราจะหาคนอย่าง สายสีมา ใน ปีศาจ ได้สักกี่คนกัน คือมันเป็นฮีโร่แหละ แต่ว่าแล้วยังไงต่อ ทำไมคนทั่วไปถึงควรมาทัชกับฮีโร่คนนี้เป็นพิเศษ คือมันอยู่ในโลกอุดมคติไปนิดนึง ข้อวิจารณ์นี้ผมก็เห็นด้วย อันนี้ผมคิดว่าเป็นข้ออ่อนของวรรณกรรมฝ่ายเรานะ ที่ยังไปทัดเทียมฝ่ายอนุรักษนิยมไม่ได้ คือความเป็น MASS นี่เราอย่าไปดูถูกมัน การที่เป็นแมสได้นี่เพราะมันทัชคนส่วนมากด้วย คือการคำนึงถึงผู้รับสาร อย่างเรื่องนี้ผมคิดว่ามันเป็นดาบสองคมนะ คือพวกที่จะตีความอะไรอย่างนี้ ก็เป็นพวกที่มีความมั่นใจอยู่แล้วถึงกล้าตีความ แล้วถ้าเราตีความอะไรแบบนี้บ่อยๆ มันไปเสริมอัตตาเราซะจนล้ำเกินกว่าที่ควรจะเป็น โห ข้านี่เก่งจังเลยถึงดูแล้วรู้เรื่อง แต่ในขณะเดียวกันมันก็จะไปกดตัวตนของคนที่แปลไม่ออก ผมเคยเป็นหนึ่งในนั้นไง คนที่เข้ามาดูสองครั้งสามครั้งแล้วก็ไม่เข้าใจซะที เขาก็จะตั้งคำถามว่านี่กูโง่รึเปล่า

ผมคิดว่าศิลปะที่จะทำงานกับมวลชนได้ดีไม่ควรเป็นแบบเรื่องนี้ เราไม่จำเป็นต้องเลือกระหว่างดำกับขาว อย่างเพลง “ประเทศกูมี” เขาเปิดกันทั่ว แม้กับบางที่ซึ่งไม่น่าจะทำได้ (สถานที่ขอไม่บันทึก) ที่นั่นเปิดได้ด้วยเหรอ? ก็จะเปิดน่ะ! แต่ผมไม่ได้เป็นคนเปิดนะเขาเปิดกันเอง มันมีระบบภายในแต่เราอย่าไปพูดถึงมันดีกว่า คือต่อให้คุณเป็นคนไม่ได้สนใจการเมืองมากหนักเข้าเส้นขนาดนั้น คุณก็เสพประเทศกูมีได้ เพราะมันไม่ใช่มีแค่เรื่องการเมืองอย่างเดียว ทุกคนเห็นสภาพสังคมทุกวันนี้มันเป็นยังไง ไม่มีใครปฏิเสธว่าสังคมทุกวันนี้มันแย่ แล้วยังไงต่อ คือมันไม่เรียกร้องให้ผู้ฟังผู้เสพมีพื้นฐานมีต้นทุนอะไรมามากนัก ผมว่าอันนี้สำคัญมากเลย

การที่เราทำงานให้มวลชนเสพได้ง่ายมันไม่ได้แปลว่าเราทำงานดาษนะ (ดาดาษ หรือ ดารดาษ ดาษดื่น - มากมาย, เกลื่อนกลาด, มีทั่วไป) งานที่เสพง่ายแล้วมันดาษมันกลวงมีอยู่เยอะ แต่ไม่ได้แปลว่ามันกลวงเพราะมันเสพง่ายนะ มันกลวงเพราะมันกลวงอยู่แล้ว (สาระ) จะวิเศษแค่ไหนถ้าเราทำให้มันไม่กลวงแต่เข้าใจง่าย ผมเข้าใจว่ามันคนละโจทย์กับอันนี้แหละ คือผมก็จะไม่ไปพูดว่า คุณพูดอะไรเข้าใจยากจังกับอาจารย์ปรัชญา เพราะเขามีหน้าที่ลึกซึ้งก็ลึกซึ้งไป ถ้าคำถามคือใช้สิ่งนี้ไปขับเคลื่อนวงกว้างยังไง ผมคิดว่ามันต้องปรับ ไม่ได้ว่าเรื่องนี้ไม่ดีนะ เรื่องนี้เหมือนห้องทดลอง (Innovative) เกี่ยวกับการปรับปรุงใหม่, ที่เต็มไปด้วยจิตใจปฏิรูปใหม่ คุณต้องลองอะไรใหม่ๆ ก็ถูกแล้ว แต่ว่าถ้าออกจากห้องนี้ไป… (ละไว้ให้คิด)

 


BIPAM 2023 - Performance : INTERMISSION : Thanapol Virulhakul - photo : BIPAM

 

อย่างผมก็ทำละครล้อเลียนมาเยอะ ทำเพลงฉ่อยที่มันเกิดมาเพื่อสิ่งนี้ คนโบราณเขาไม่รู้จะด่าผู้มีอำนาจยังไง พูดตรงๆ ก็โดนตัดหัวสิ เขาก็แอบเอามาใส่ลูกนิดลูกหน่อยในพ่อเพลงแม่เพลงนี่แหละ ลิเก ละครนอกอย่างนี้ ตัวตลกนี่เป็นเจ้าทั้งนั้น นี่คือศิลปะในการพยายามระบายอารมณ์ของคนโบราณ ถ้าพูดให้สวยๆ หน่อย มันคือศิลปะในการท้าทายอำนาจตามช่องทางที่เขาทำได้ ซึ่งทุกคนเข้าใจและมีสุนทรีย์ด้วย ผมคิดว่าการต่อสู้ไม่ได้จะสำเร็จเพราะใครคนใดคนหนึ่ง อะไรทำได้ก็ทำ เราไม่มีทางรู้หรอกว่า โยนอะไรเข้าไปในกองไฟแล้วมันจะติด ดังนั้นใครโยนอะไรได้ก็โยนไปก่อน ช่วยกันปา ผมว่าศิลปะก็เป็นหนึ่งในนั้นครับ

พลังของศิลปะเราอย่าดูถูก ดูถูกไม่ได้เลย คือมันอาจไม่ได้นำเสนออย่างแหลมคม เท่ากับวิธีการด้านอื่น แต่มันสร้างสิ่งแวดล้อมที่พร้อมจะทำให้คนแหลมคมได้ มันสร้างอากาศใหม่ สร้างแสงสีเสียงใหม่ ที่ทำให้คนพร้อมจะฟังในสิ่งที่แปลกใหม่ อย่างฉ่อยนี่ที่เลือกเพราะผมชอบของผมด้วย แต่ผมทราบว่าการใช้ฉ่อย โขน ละคร พวกนี้ มันเป็นสิ่งที่ทำให้สารที่เราจะสื่อมันไม่จี้ใจเกินไป อย่างน้อยที่สุดมันก็มีศิลปวัฒนธรรมไทย คือยามันขมอย่างน้อยเคลือบน้ำตาลไว้สักหน่อย สุดท้ายมันก็ขึ้นอยู่กับรสนิยมนะ เพราะศิลปะมันเป็นเรื่องของรสนิยม แต่ละคนก็มีรสนิยมต่างกัน เพราะสมัยนี้คนยิ่งมีรสนิยมหลากหลายขึ้นไปอีก

ผมพูดในมุมที่ผมชอบศิลปวัฒนธรรมไทยหนึ่ง ผมชอบอะไรที่มันไทยๆ ศิลปะจากราชสำนักเริ่มสร้างนี่เกิดจากไพร่หมดแหละ ศิลปะไทยฟังดูเผินๆ เหมือนจะมีพื้นที่มาก แต่จริงๆ มีพื้นที่น้อย ลองนึกถึงนาฏศิลป์ไทย สมัยก่อนมีร้อยแปดพันเก้าอย่าง ตอนนี้นอกจากโขนแล้วเราเคยดูอะไรกันบ้าง ที่เหลือมันเป็นของชาวบ้านไง นับวันจะสูญหาย นี่ผมพูดให้คนก้าวหน้าฟังนะ ผมพูดให้คนอนุรักษ์ฟังด้วยนะ คือการไปเชิดชูศิลปะบางชนชั้นสุดท้ายมันทำลายวัฒนธรรมของตัวเอง นี่เราพูดถึงเรื่องการอนุรักษ์ล้วนๆ เลยนะ ยังไม่ได้พูดถึงของใหม่นะ ขนาดอดีตที่คนว่ารุ่งเรือง กลายเป็นเชิดชูชนชั้นใดชนชั้นหนึ่งก่อให้เกิดความเสียหายกับอดีต แล้วมันจะไม่ก่อให้เกิดความเสียหายกับปัจจุบันเหรอ

 


BIPAM 2023 - Performance : INTERMISSION : Thanapol Virulhakul - photo : BIPAM

 

พื้นที่ด้านศิลปะของสังคมไทยปัจจุบันนี้มันยังจำกัดมากเลยนะ ในกรุงเทพฯ ที่เป็นศูนย์กลางก็ยังถือว่าน้อย ไม่ต้องพูดถึงที่อยู่ต่างจังหวัดเลย สิ่งที่จะดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืน ก็ต้องพึ่งพาจากสังคมโดยรวม แต่ว่าในการที่จะสร้างนวัตกรรมทางศิลปะ วัฒนธรรมภาครัฐต้องสนับสนุน กระทรวงต่างๆ ก็ต้องมาสนับสนุนเป็นพิเศษ เพราะตอนนี้นาไร่ที่จะเพาะปลูกงานศิลปะ วัฒนธรรม ของเรามันแห้งแล้งเหลือเกินต้องทำชลประทานกันหน่อยนะครับ โดยเฉพาะนโยบายของหลายๆ พรรคที่พูดถึงเรื่องการยกเครื่องศิลปะ วัฒนธรรม ต้องมีโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแรงก่อน ผมคิดว่าคนมีความสามารถของเมืองไทยมีเยอะ แต่ไม่รู้จะเอาความสามารถไปลงตรงไหน อย่างน้อยมีพื้นที่เข้ามา คนที่เก่งไม่เก่งยังไงก็จะได้มาลองดูก่อน ที่เหลือสังคมจะคัดสรรเองว่าจะเอาอะไรยังไง

แต่ตอนนี้พื้นที่มันไม่มี สารตั้งต้นมันไม่มี ยังไม่พอ เพราะมันไม่ใช่แค่สถานที่ งบ พื้นที่ในทางสังคม เสรีภาพในการสื่อเนื้อหาเป็นเรื่องสำคัญ ศิลปะเมืองไทยมันพูดได้ไม่กี่เรื่อง มันสะท้อนความคับแคบของศิลปะในสังคมเรา แล้วเราจะเอาอะไรกันน่ะ ทางออกเหรอ ถ้าพูดถึงในระยะยาวมันต้องแก้ได้หลายทาง ผมก็ไม่ได้มีความชำนาญด้านนี้ก็ไม่อยากจะพูดแทน ผมรู้สึกว่าการสร้างรสนิยม การสร้าง literacy (ความสามารถในการอ่านออกเขียนได้, การรู้หนังสือ) ให้กับผู้คน คือมีสองส่วน สร้างปัจจัยพื้นฐานที่พร้อมจะ literacy ด้วยการไปสอนให้เขาพร้อมที่จะเสพศิลปะนี่หนึ่งเรื่อง พื้นฐานชีวิตเขาต้องพร้อมที่จะเสพด้วย ตัวอย่างง่ายๆ เลยอย่างวันนี้ผมต้องไปทำงานก่อนตากแดดมาทั้งวันเลย ตอนนี้ผมก็กัดฟันดูประมาณหนึ่ง คือผมชอบหัวข้อนี้ก็เลยกัดฟันโฟกัสดู มันก็เสพได้แหละแต่มันไม่จอยเพราะว่าผมเหนื่อยมาก คิดถึงว่าถ้าคนทั่วไปจะต้องปากกัดตีนถีบ เหนื่อยประมาณนี้ แล้วจะไปเรียกร้องให้เขาเสพศิลปะที่มันต้องปีนกระไดดูได้ไง ประเทศที่รุ่งเรืองทางศิลปวัฒนธรรม ไม่มีประเทศไหนจน มันต้องอิ่มก่อน ของพวกนี้มันเป็นของต่อยอด

ส่วนการให้ความรู้ทางศิลปะผมคิดว่ามันทำไปด้วยกันได้ แต่ก็ต้องค่อยเป็นค่อยไป คือเราต้องมองศิลปะเป็นส่วนหนึ่งของสังคม เราอย่ามองศิลปะเป็นส่วนแยก ไม่งั้นมันจะขึ้นหิ้ง เรามาพูดถึงศิลปะอันสวยงามโดยที่ผู้คนไม่มีกินไม่ได้ มันไม่เป็นจริง ต้องสร้างพื้นที่ สร้างงบ สร้างบรรยากาศที่ทุกคนรู้สึกว่า “มาเสพศิลปะกันเถอะ” มีผู้เสพแล้วก็มีผู้สร้าง.

 


BIPAM 2023 - Performance : INTERMISSION : Thanapol Virulhakul - photo : BIPAM

 

ไม่ว่าโลกจะตกอยู่ในสถานการณ์ใดหรือวิกฤติแค่ไหน แต่ศิลปินก็ยังคงทำงานศิลปะที่เป็นมากกว่าหน้าที่ต่อไป อย่างยากที่เปลี่ยนแปลง ไม่ใช่เพื่อแสดงความซื่อสัตย์ต่อตัวตน แต่บางคนไม่ได้เกิดมาเพื่อทำหลายสิ่งได้ในเวลาเดียวกัน การเลี้ยงตัวและเลี้ยงใจจึงต้องดำเนินไปพร้อมกัน ไม่ต่างจากนโยบายของรัฐ ที่ต้องจัดระบบบริหารจัดการให้พัฒนาไปพร้อมกันได้ในทุกๆ ด้าน ทั้งสาธารณสุข เศรษฐกิจ การเมือง ศิลปะ-วัฒนธรรม ฯลฯ ไม่อาจแยกส่วน แบ่งบริหาร หรือจัดการเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง ด้วยข้อจำกัดว่าต้องจัดงบประมาณเพื่อการดูแลปากท้องเป็นสำคัญ เพราะทุกสิ่งล้วนเกื้อกูลกัน ซึ่งไม่ใช่เฉพาะในทางเศรษฐกิจเท่านั้น สำคัญที่วิสัยทัศน์ ต้องชัดว่า Soft Power คือสิ่งที่เกิดและเติบโตขึ้นได้ด้วยการสนับสนุน ประเทศที่เป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจทั่วโลก ต่างก็ยอมรับและสนับสนุนให้ศิลปะทุกแขนง เป็นต้นทุนสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามมานานมากแล้ว.

 


Photo : BIPAM : Bangkok International Performing Arts Meeting

 

หมายเหตุสำคัญและอ้างอิง :

ขอบคุณภาพโดย Facebook : page : BIPAM

Photo : BIPAM : Bangkok International Performing Arts Meeting

การสัมภาษณ์

  • ธนพล วิรุฬหกุล / 17 ก.ค. 2566 / ZOOM MEETING.
  • พริษฐ์ ชิวารักษ์ / 23 มี.ค. 2566 / สถาบันเกอเธ่.
  • ศศพินทุ์ ศิริวาณิชย์, BIPAM / 25 เม.ย. 2565 / หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร.

รายการอ้างอิง


[1] BIPAM, “ABOUT BIPAM,” [online] สืบค้นเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2566.

[2] สัมภาษณ์ คุณศศพินทุ์ ศิริวาณิชย์, BIPAM / 25 เม.ย. 2565 / หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร, คุณธนพล วิรุฬหกุล / 17 ก.ค. 2566 / ZOOM MEETING และ คุณพริษฐ์ ชิวารักษ์ / 23 มี.ค. 2566 / สถาบันเกอเธ่.

[3] BIPAM, “Sasapin Siriwanij ศศพินทุ์ ศิริวาณิชย์,” [online] สืบค้นเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2566.

[4] Lifestyle Magazine (21 เมษายน 2560), “#Visit : with กลุ่มเป็ดสร้างสรรค์ Duck Unit กับเบื้องหลังการทำงาน Federbräu presents The German Klub curated by Duck Unit นำไลท์ติ้งเทคโนโลยีครีเอทคลับสไตล์เยอรมันใจกลางกรุงเทพ” [online] สืบค้นเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2566.

[5] BIPAM (13 ธันวาคม 2565), “ธนพล วิรุฬหกุล,” [online] สืบค้นเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2566.

[6] TVmunk (27 มีนาคม 2557), ตั๋ม ธนพล วิรุฬหกุล รับรางวัลการกำกับการแสดงยอดเยี่ยม จากเรื่อง Transaction <พอ-นิยม>,” [online] สืบค้นเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2566.

[7] GizmoTH (22 พฤศจิกายน 2559), “สรุป : UTU คืออะไร ใช้อย่างไร และนักช้อปได้สิทธิพิเศษอะไรบ้าง,” [online] สืบค้นเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2566.