ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ศิลปะ-วัฒนธรรม

รางวัลละครเวทีและนาฏศิลป์ร่วมสมัยของประเทศไทย 2563-2565 | IATC-Thailand Dance and Theatre Awards 2020-2022

20
สิงหาคม
2566

Focus

  • การให้รางวัลแก่ผลงานสร้างสรรค์ด้านศิลปการแสดงเชิงพาณิชย์ หรือเชิงพัฒนาทางปัญญาแห่งการสร้างสรรค์งาน หรือกระทั่งการผสมผสานทั้งสองแบบเข้าด้วยกัน เป็นการประกาศเกียรติคุณแห่งความเป็นทุนทางศิลปการแสดงที่บุคคล กลุ่มบุคคล หรือองค์กรที่ได้รับรางวัลสามารถใช้สร้างสรรค์งานอื่นๆ ต่อไป
  • แม้ว่าโดยทั่วไป ผลงานสร้างสรรค์ “ละครเวที” ไม่ใช่การแสดงในวงการบันเทิงกระแสหลัก แต่ในปี 2566 คณะกรรมการตัดสินรางวัลละครเวทีและนาฏศิลป์ร่วมสมัยฯ ก็ได้มอบรางวัลประจำปี 2563-2565 ให้ละครเวทีเรื่อง “ART” โดยได้ถึง 4 รางวัล คือ ละครเวที (ละครพูด) ยอดเยี่ยม การแสดงยอดเยี่ยมโดยนักแสดงชาย การแสดงยอดเยี่ยมโดยนักแสดงกลุ่ม และการกำกับการแสดงยอดเยี่ยม
  • ผู้สร้างสรรค์งานละครเวทีรวมทั้งนักวิชาการจำนวนหนึ่ง ได้แสดงความเห็นสำคัญๆ เพื่อการพัฒนางานละครเวทีให้มีคุณค่าแก่สังคมต่อไป อาทิ การทำงานสร้างสรรค์ต้องการการวิจารณ์เพื่อเป็นการช่วยสะท้อนมุมมองของผู้ชมให้กับคนสร้างงาน (การเปิดอภิปรายหลังการแสดงจบ) ผู้สร้างสรรค์งานควรรวมตัวกันและแลกเปลี่ยนกันกับผู้ชม การทำงานของชมรมวิจารณ์ศิลปะการแสดงในประเทศไทยและสมาคมวิจารณ์ละครนานาชาติที่ได้แลกเปลี่ยนและเรียนรู้ร่วมกัน มีส่วนช่วยให้เกิดการพัฒนาสร้างสรรค์ผลงานของผู้คนในวงการแสดงละคร การพัฒนาทางทฤษฎีของการสร้างสรรค์งานละคร (เช่น ‘ละครผอม’ ที่ลงทุนน้อย ไม่เน้นบทแสดงที่ไม่สำคัญ แต่เน้นบทแสดงที่ให้ปัญญา) และการได้พูดคุยกันของตัวแทนจากสถาบันต่างๆ เพื่อสร้างสรรค์งานที่ตรงกับสถานการณ์ในชีวิตจริงและความต้องการของผู้ชม เป็นต้น

 

 


ART : photo : Facebook page : NUNi Productions : จิร อังศุธรรมทัต

 

การจัดประเภทของมหรสพบันเทิงไทย มีหลักการเดียวกับมาตรฐานสากลโลกซึ่งแบ่งขั้วออกเป็นสองข้างตามโครงสร้างภาพรวมใหญ่ที่ไม่ต่างกัน คือ การสร้างงานเชิงพาณิชย์บนแนวคิดเพื่อการตลาด (Commercial Art) และการสร้างงานเพื่อพัฒนาสุนทรียปัญญา สนองตอบจิตวิญญาณแห่งการสร้างสรรค์ (Fine Art) แม้ในปัจจุบันดูเหมือนเส้นแบ่งจะถูกทำให้พร่า เพราะมีคำใหม่เข้ามาประสมประสานสองฝ่ายเพื่อการขายที่ครอบคลุมคือ ‘Edutainment’ เพราะการตลาดเข้ามามีบทบาทต่อการสร้างภาพอย่างเข้มแข็ง (Corporate Image) ท่ามกลางสื่อบันเทิงในกระแสหลักที่หลากหลาย และมากมายรางวัลที่มอบให้กอบเกี่ยวหลังจากเคี่ยวกรำกันมาจนเก่ง เป็นเสมือนใบประกาศเกียรติคุณ ที่สามารถนำไปต่อทุนชีวิตทำธุรกิจได้ตามปรารถนา

แต่สื่อประเภท “ละครเวที” ไม่ถูกนับรวมอยู่ในสายธารการบันเทิงกระแสหลักที่เชี่ยวกรากมากเงื่อนไข เพราะศาสตร์ที่ต่างและแนวทางที่แตก (ไม่เข้าพวก) จึงทำให้ต้องแยกออกมาเป็นอีกสาขา การจัดมอบรางวัลสำหรับการแสดงในแนว Performing Art จึงมีไม่มาก ไม่ต่างจากจำนวนบุคลากรกลุ่มน้อยของวงการ เปิดม่านด้วยรางวัลประกันคุณภาพ (สูงมาก) “หน้ากากทองคำ” โดย มณเฑียรทองเธียเตอร์ (ถาวร โสภีอมร ผู้จัดการ) และรางวัลศิลปินแห่งละครเวที โดย ภัทราวดีเธียเตอร์ (ครูเล็ก ภัทราวดี มีชูธน ผู้ก่อตั้ง) ฯลฯ ปัจจุบันยังยืนยันอยู่เพียง รางวัลละครเวทีและนาฏศิลป์ร่วมสมัยฯ สืบทอดเจตนารมณ์เปี่ยมอุดมการณ์ เริ่มสืบสานประมาณปี 2554 หลังจากห่างหายไปร่วม 3 ปีเพราะวิกฤติ โควิด-19 รางวัลละครเวทีฯ กลับมาพร้อมปรากฏการณ์ใหม่ที่ดึงความสนใจเป็นอย่างมาก อันเป็นเหตุมาจากผลการตัดสินมอบรางวัลล่าสุดในปี 2566

ผลการพิจารณาละคร Onsite ในภาวะวิกฤตโควิด-19 ที่ไม่รวมละคร Online ซึ่งจัดทำขึ้นเพื่อแก้ปัญหาที่ต้องรักษาระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) มีละครที่ได้รับรางวัลสำคัญสูงสุดถึง 4 สาขา เช่นเดียวกับปีแรกของการเปิดตัวรางวัลนี้ในปี 2555 ครั้งนั้น พิเชษฐ กลั่นชื่น แดนซ์คัมพานี รับไป 4 รางวัล จากละครเรื่อง “พระคเณศร์เสียงา” ในสาขาการกำกับศิลป์ยอดเยี่ยม (Best Art Direction of a Play/Performance/Musical), การกำกับการแสดงยอดเยี่ยม (Best Direction of a Play/Performance/Musical), การแสดงที่ใช้การเคลื่อนไหวของร่างกายยอดเยี่ยม (Best Movement-based Performance) และ สุนนท์ วชิรวราการ สมาชิกหลักของคณะได้รับรางวัลการแสดงยอดเยี่ยมโดยนักแสดงชาย (Best Performance by a Male Artist in a Play/Performance/Musical) จากการแสดงเดี่ยวเรื่อง “Home” PK Company สมกับการเป็นศิลปินนักคิด-นักเคลื่อนไหวหัวก้าวหน้าของนาฏศิลป์ร่วมสมัยทั้งไทยและสากล ที่เกิดพร้อมกับประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของวงการ

ผ่านไป 10 ปี คณะกรรมการตัดสินรางวัลละครเวทีและนาฏศิลป์ร่วมสมัยฯ มอบรางวัลประจำปี 2563-2565 ให้ละครเวทีที่มีลักษณะเด่นเป็น “ละครผอม” จอมเก่งแห่งปี เรื่อง “ART” (ที่กลับมากระตุกสำนึกเพื่อตกผลึกในการสร้างงาน กระตุ้นให้ตระหนักถึงการถนอมพลังงาน เวลา และต้นทุน ด้วยการสร้างสรรค์แบบ ‘น้อยแต่มาก’) ถึง 4 รางวัล ได้แก่ Best Play: ละครเวที (ละครพูด) ยอดเยี่ยม ‘ART’ โดย NUNi Productions, Best Performance by a Male Artist: การแสดงยอดเยี่ยมโดยนักแสดงชาย นิกร แซ่ตั้ง จากเรื่อง ‘ART’, Best Performance by an Ensemble: การแสดงยอดเยี่ยมโดยนักแสดงกลุ่ม คณะนักแสดงจาก ‘ART’ และ Best Direction of a Play or a Performance: การกำกับการแสดงยอดเยี่ยม ภัทรสุดา อนุมานราชธน จากเรื่อง ‘ART’ นักแสดง (รุ่นครู)หน้าใหม่ รับรางวัลประกันคุณภาพร่วมกับศิลปินผลงานเด่นหลายรุ่นจากเรื่องอื่นๆ ตามรายนามในประกาศอย่างเป็นทางการผ่าน Facebook page : ชมรมวิจารณ์ศิลปะการแสดง เมื่อวันอังคารที่ 2 พฤษภาคม 2566 ตามลำดับดังต่อไปนี้

หมายเหตุ ปีนี้งดมอบรางวัล “บทละครเพลงยอดเยี่ยม” เพราะคณะกรรมการชมรมพิจารณาว่า ไม่มีละครเพลงเรื่องไหนสมควรได้รับรางวัล “บทละครเพลงยอดเยี่ยม” จึงเหลือเพลง Best Musical : ละครเพลงยอดเยี่ยม : ‘L’elisir d’amore’ โดย ธาริน ปริญญาคณิต

 


photo : Facebook page : ชมรมวิจารณ์ศิลปะการแสดง

 

IATC DANCE & THEATRE AWARDS 2020-2022[1]

รางวัลละครเวทีและนาฏศิลป์ร่วมสมัย ของประเทศไทย 2563-2565

IATC Lifetime Achievement Award: รางวัลทรงเกียรติแด่ผู้ทรงคุณูปการต่อวงการศิลปะการแสดง
• อาจารย์รัศมี เผ่าเหลืองทอง

Best Play: ละครเวที (ละครพูด) ยอดเยี่ยม
• ‘ART’ โดย NUNi Productions

Best Musical: ละครเพลงยอดเยี่ยม
• ‘L’elisir d’amore’ โดย ธาริน ปริญญาคณิต

Best Movement-based Performance: การแสดงที่ใช้การเคลื่อนไหวของร่างกายยอดเยี่ยม
• ‘Biopsy of Fear: A Thorn of Conceptual Pain’ โดย B-Floor Theatre และราษฎรัมส์

Best Original Script of a Play or a Performance: บทละครดั้งเดิมยอดเยี่ยม
• บทละครเรื่อง ‘Cyberpunk TH 2020: อาตมาฝันถึงการปฏิวัติ’ โดย ปานมาศ ทองปาน

Best Adapted Script of a Play or a Performance: บทละครดัดแปลงยอดเยี่ยม
• บทละครเรื่อง ‘มนต์รักทรานซิสเตอร์’โดย จตุรชัย ศรีจันทร์วันเพ็ญ [ดัดแปลงจากนวนิยายเรื่อง ‘มนต์รักทรานซิสเตอร์’ โดย วัฒน์ วรรลยางกูร]

Best Performance by a Male Artist: การแสดงยอดเยี่ยมโดยนักแสดงชาย
• นิกร แซ่ตั้ง จากเรื่อง ‘ART’


Best Performance by a Female Artist: การแสดงยอดเยี่ยมโดยนักแสดงหญิง
• สินีนาฏ เกษประไพ จากเรื่อง ‘Biopsy of Fear: A Cowbell and the Invisible’

Best Performance by an Ensemble: การแสดงยอดเยี่ยมโดยนักแสดงกลุ่ม
• คณะนักแสดงจาก ‘ART’

Best Direction of a Play or a Performance: การกำกับการแสดงยอดเยี่ยม
• ภัทรสุดา อนุมานราชธน จากเรื่อง ‘ART’

Best Art Direction of a Play or a Performance: การออกแบบศิลป์ยอดเยี่ยม
• คณะทำงานฝ่ายออกแบบ จาก ‘มนต์รักทรานซิสเตอร์’

 


photo : Facebook page : ชมรมวิจารณ์ศิลปะการแสดง (IATC)

 

รัศมี เผ่าเหลืองทอง

“รางวัลทรงเกียรติแด่ผู้ทรงคุณูปการต่อวงการศิลปะการแสดง”[2]

“ในฐานะของคนทำงานวิจารณ์ ตีความเนื้อหาของละคร การมารวมตัวกันในฐานะชมรมวิจารณ์การแสดง ศิลปะการละคร เป็นสิ่งที่อยากจะให้เกิดขึ้นมานานแล้ว อยากจะเห็นพัฒนาการทางด้านนี้ เพราะคิดว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมากสำหรับการทำงานสร้างสรรค์ การทำงานวิจารณ์จะเป็นการช่วยสะท้อนมุมมองของผู้ชมให้กับคนสร้างงาน และจะเป็นสิ่งที่ช่วยผลักดันให้คนทำงานอยากจะทำงานให้ดียิ่งขึ้นเรื่อยๆ คิดว่าชมรมวิจารณ์ศิลปะการแสดงน่าจะมีส่วนช่วยในการทำให้บรรยากาศของการพูดคุยแลกเปลี่ยน การเขียน การนำเสนอความเห็นได้พัฒนาเติบโตขึ้นไป การวิจารณ์ การมองละครในแง่การตีความ นำเสนอออกมาเพื่อที่จะบอกกับสังคมไทยว่า งานละครนั้นไม่ใช่มีการเสแสร้งหรือมีความสมัครเล่น

ในหมู่คนทำละครด้วยกันจะรู้ว่า ละครต้องการอุตสาหะในการทำการซ้อม การเรียนรู้เนื้อหา การตีความ เพื่อที่จะสื่อสารไปถึงผู้ชมที่อยู่ในสังคมเดียวกับเขา ไม่ว่าละครนั้นจะคิดขึ้นในบริบทของสังคมปัจจุบัน หรือละครนั้นจะเขียนมาเมื่อหลายพันปีที่แล้ว ก็ยังสามารถนำกลับมาแสดงด้วยการตีความ เพื่อที่จะสื่อสารถึงผู้ชมร่วมสมัยของผู้สร้างสรรค์งาน เพราะฉะนั้นก็อยากจะเชิญชวน ในฐานะที่เป็นเจ้าของพื้นที่ (Art Space : GalileOasis) ที่อยากจะเห็นคนทำงานสร้างสรรค์ได้มารวมตัวกัน แลกเปลี่ยนกัน หรือได้มาพบปะกับผู้ชม ผู้ชมไม่ใช่เพียงแค่คนซื้อตั๋วมาดูละครเท่านั้น แต่คือคนที่เราจะสามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ความฝันที่มีต่อสังคมต่อพัฒนาการของมนุษย์ มาช่วยกันสร้างให้เกิดบรรยากาศนี้ขึ้นในสังคมให้มากๆ เพราะว่าตอนนี้โลกเคลื่อนที่ไปรวดเร็ว เราควรต้องช่วยกันผลักดันให้มันเคลื่อนที่ไปอย่างรวดเร็วและมีคุณภาพค่ะ”

 


Biopsy of Fear ซีรีส์การแสดงจาก กลุ่มบีฟลอร์  พระจันทร์เสี้ยวการละคร และ ลานยิ้มการละคร
photo : Facebook page : Bacc หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

 

พันธกิจ เกียรติประวัติ และผลงานคุณภาพ: ชมรมวิจารณ์ศิลปะการแสดง IATC : International Association of Theatre Critic Thailand Center[3]

ชมรมวิจารณ์ศิลปะการแสดงเกิดจากการรวมตัวกันของนักวิจารณ์ศิลปะการแสดงในประเทศไทยเมื่อปี 2554 ได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกของ IATC เครือข่ายวิจารณ์ศิลปะการแสดงที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีประวัติความเป็นมายาวนานถึง 67 ปี จากการประชุมใหญ่ของสมาคมฯ ที่ประเทศโปแลนด์เมื่อเดือน มีนาคม 2565 ชมรมฯ ได้ตอบรับเข้าเป็นสมาชิกอย่างเป็นทางการ นับเป็นภาคีสมาชิกนักวิจารณ์ศิลปะการแสดงเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นประเทศที่ 7 ในทวีปเอเชีย ต่อจาก จีน ไต้หวัน อินเดีย อิหร่าน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ในการประชุมใหญ่ World Congress ของ IATC (International Association of Theatre Critics : สมาคมวิจารณ์ละครนานาชาติ) เมื่อปี 2521 อาจารย์ปวิตร มหาสารินันทน์ ประธานชมรมวิจารณ์ศิลปะการแสดงประเทศไทย ได้รับเลือกจากสมาชิก IATC จากทั่วโลกให้เป็นกรรมการบริหาร หรือ Executive Committee ของ IATC นับเป็นนักวิจารณ์คนแรกของอาเซียนที่ได้รับตำแหน่งนี้

 


Best Performance by a Female Artist: การแสดงยอดเยี่ยมโดยนักแสดงหญิง
สินีนาฏ เกษประไพ จากเรื่อง ‘Biopsy of Fear: A Cowbell and the Invisible’
photo : Facebook page : Bacc หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

 

เท่าที่ผ่านมา IATC ก็ได้จัดกิจกรรมที่ส่งเสริมการวิจารณ์ละครเวที และศิลปะการแสดงร่วมสมัยอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับวงการศิลปะการแสดงตลอดมา ตั้งแต่มีการก่อตั้งชมรมฯ เมื่อปี 2555 เว้นเพียงช่วงโควิดปี 2560-2562 ทำให้มีการแสดงแบบนั่งชมในโรงละครน้อยมาก เมื่อสถานการณ์กลับมาปกติ บรรยากาศของวงการศิลปะการแสดงก็กลับมาคึกคักขึ้น ทางชมรมก็ได้กลับมา active อีกครั้ง และการวิจารณ์ก็เช่นเดียวกัน นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมด้านการวิจารณ์ที่หลากหลายมากขึ้น และมีการร่วมงานกับหน่วยงานและองค์กรต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตัวแทนจากชมรมวิจารณ์ศิลปะการแสดงสองท่านได้แก่ คุณตี้ อมิธา อัมระนันทน์ และคุณแอน แก้วตา เกษบึงกาฬ ได้รับเลือกให้เข้าร่วม For Young Critic ที่จัดโดย IATC ที่เมือง ลิโมจส์ (Limoges) ประเทศฝรั่งเศส ในปี 2018 (2561) ซึ่ง workshop นี้เป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลละครที่รวมการแสดงของโรงเรียนและสถาบันการแสดงจากหลายประเทศทั่วโลก มาจัดแสดงตลอด 5 วัน โดยนักวิจารณ์ที่เข้าร่วมมาจากหลายประเทศทั่วโลกนั้น จะต้องเข้าชมการแสดงที่จัดขึ้น และเขียนงานวิจารณ์วันต่อวัน เพื่อนำมาพูดคุยในห้องเรียน และเปิดโอกาสให้วิจารณ์บทความของกันและกัน

 


‘Biopsy of Fear: A Thorn of Conceptual Pain’ โดย B-Floor Theatre และราษฎรัมส์
Best Movement-based Performance: การแสดงที่ใช้การเคลื่อนไหวของร่างกายยอดเยี่ยม
photo : Facebook page : Bacc หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

 

IATC Thailand ได้รับเชิญจาก IATC Hong Kong ให้จัดบรรยายพิเศษ 2 ครั้งในหัวข้อ “Blurring Powder in Tradition and Modernity Practices of Contemporary Thai Performing Artist” และ “Pre and Post covid - 19 Thailand Performing Art Political Theatre form Studio Two Street and Oversea Festival plus Immersive Performances” เมื่อเดือนมกราคม 2023

มีการเสวนา online เป็นส่วนหนึ่งของ “International Theatre Workshop Series” นอกจากนี้ IATC Thailand ยังได้รับเชิญจาก IATC JAPAN ให้เข้าร่วม Trans-Forum - Theatre Criticism around the World บรรยายพิเศษหัวข้อ “Freedom of Speech Theatre Criticism amidst Thailand Political Turmoil” เมื่อเดือนสิงหาคม 2565

 


* Best Adapted Script of a Play or a Performance: บทละครดัดแปลงยอดเยี่ยม
บทละครเรื่อง ‘มนต์รักทรานซิสเตอร์’ โดย จตุรชัย ศรีจันทร์วันเพ็ญ
[ดัดแปลงจากนวนิยายเรื่อง ‘มนต์รักทรานซิสเตอร์’ โดย วัฒน์ วรรลยางกูร]
* Best Art Direction of a Play or a Performance: การออกแบบศิลป์ยอดเยี่ยม
คณะทำงานฝ่ายออกแบบ จาก ‘มนต์รักทรานซิสเตอร์’
photo : Facebook page : Bacc หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

 

IATC Taiwan ให้ความสนใจสัมภาษณ์เรื่องกิจกรรมชมรมวิจารณ์ศิลปะการแสดงในประเทศไทย และได้รับเชิญให้เข้าร่วม Annual conferrences หัวข้อ International Connection Ecology and Policy เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565

ปี 2562 IATC ร่วมมือกับ BIPAM (Bangkok International Performing Arts Meeting) จัดอบรมการเขียนวิจารณ์ศิลปะการแสดง ฝึกมอง ตั้งคำถาม และเขียน เป็น workshop การวิจารณ์ละครเวที หลังจากที่ได้เรียนรู้และแลกเปลี่ยนเรื่องการวิจารณ์จากสมาชิก IATC ผู้อบรมได้ดูการแสดงของ BIPAM 2 เรื่อง และปิดท้ายด้วยการเขียนวิจารณ์งานที่ได้ดู งานของผู้เข้าร่วมได้รับการตอบรับจากนักวิจารณ์และผู้เข้าร่วมคนอื่นด้วย บทความของ ธีรพันธ์ เงาจีนานันต์ ได้รับการคัดเลือกให้ตีพิมพ์ลงใน The Momentum

 


Best Original Script of a Play or a Performance: บทละครดั้งเดิมยอดเยี่ยม
บทละครเรื่อง ‘Cyberpunk TH 2020: อาตมาฝันถึงการปฏิวัติ’ โดย ปานมาศ ทองปาน
photo : Facebook page : Bacc หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

 

อีกความร่วมมือหนึ่งที่จัดขึ้นในปี 2564 IATC ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการจัดกิจกรรม Arts at Our Fingertips Online Arts Appreciation กับ สมาคมการค้าส่งเสริมอุตสาหกรรมศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (CAPT) เป็นกิจกรรมที่มีต่อปรากฏการณ์การแพร่ระบาดของโควิดที่ทำให้เราต้องหันไปเสพศิลปะแบบ online กันมากขึ้น โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ด้วยกัน ส่วนแรกเป็นการเชิญนักวิจารณ์รุ่นใหญ่จากหลากหลายสาขา ทั้งวรรณกรรม ดนตรี ทัศนศิลป์ ละครเวทีและภาพยนตร์ มาเสวนาเรื่องการเสพงานศิลปะแขนงต่างๆ บน platform online ส่วนที่ 2 เป็นการ workshop กับบุคคลทั่วไป โดยการให้ตัวอย่างงานศิลปะหลากหลายสาขาที่ดู online ได้ จากนั้นให้ผู้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน มีสมาชิก IATC ดำเนินการเป็นกระบวนกรในงานด้วย จะเห็นว่ากิจกรรมของ IATC มีหลากหลายมากจริงๆ และยังครอบคลุมไปในศิลปะหลากหลายแขนงอีกด้วย

 


ผศ.ปวิตร มหาสารินันทน์ มอบรางวัล IATC Lifetime Achievement Award (2019/2562) รางวัลทรงเกียรติแด่ผู้ทรงคุณูปการต่อวงการศิลปะการแสดง แก่
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.เจตนา นาควัชระ
photo : Facebook page : ชมรมวิจารณ์ศิลปะการแสดง

 

ผศ. ปวิตร มหาสารินันทน์ (Pawit Mahasarinand) กรรมการบริหาร International Association of Theatre Critics (IATC)[4] และ International Association of Theatre Leaders (IATL)[5] คณะกรรมการคัดสรร ศิลปินศิลปาธร และ ศิลปินแห่งชาติ อดีตผู้อำนวยการหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ได้รับเครื่องอิสริยาภรณ์ด้านอักษรศาสตร์และมนุษยศาสตร์ (Ordre des Arts et des Lettres) ชั้นอัศวิน (Chevalier) จาก ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส ในฐานะผู้มีผลงานดีเด่นด้านการละครและการภาพยนตร์ และได้ใช้ความรู้ความสามารถช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างราชอาณาจักรไทยและสาธารณรัฐฝรั่งเศส (มอบโดยเอกอัครราชทูตฝรั่งเศส ณ โรงละครสดใส พันธุมโกมล คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2557) ครูป้อม เริ่มสอนประจำที่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี 2535 มานาน 26 ปี อดีตผู้อำนวยการหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร บรรณาธิการหนังสือ “art 4D” ปัจจุบันเป็นอาจารย์พิเศษวิชา World Drama วรรณกรรมการละคร(นานาชาติ) ระดับปริญญาตรี และระดับปริญญาโท (World Dramatic Art and Theory : วรรณกรรมการละคร และทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับวรรณกรรมการละคร)

 


ART : photo : Facebook page : NUNi Productions

 

กว่า 30 ปี กับละครเวที ที่แรงใจยังเต็มเปี่ยม เพราะบทบาทที่เปลี่ยนไป ไม่ซ้ำ…

“มีเพื่อนที่เรียนอักษรศาสตร์มาด้วยกัน เรียนไม่เก่งเท่าเรา เขาไปต่อสายธุรกิจ MBA ได้คุยกันเมื่อสิบปีที่แล้ว เงินเดือนเขามากกว่าเรา 4 เท่า เคยคิดเหมือนกันทำไมเราไม่เปลี่ยนไปสายนั้นเลย สุดท้ายก็ได้คำตอบว่า ได้ทำในสิ่งที่เรารักจริงๆ แม้ไม่มีค่าตอบแทนมากมาย แต่การมีความสุขไม่จำเป็นต้องร่ำรวยมีเงินเดือนมหาศาล เพราะมีอะไรใหม่ๆ มาเรื่อย อย่างละครเรื่อง ART ก็ไม่เคยคิดว่าเราจะได้มาเล่น แล้วก็เล่นไม่เลิกแบบนี้ เป็นละครที่ผมแปลจากบทภาษาอังกฤษเมื่อ 23 ปีก่อน ช่วงนั้นแปลอยู่หลายเรื่อง คนที่เลือก ART มาให้แปลคือ พี่โจ้ ดารกา วงศ์ศิริ เมื่อปี 2543 สมัยที่ยังเป็นโรงละคร Dass Entertainment (ก่อนที่ Dass จะรวมตัวกับ โรงละครกรุงเทพ เป็น Deam Box ในปี 2554 ปัจจุบันคือโรงละคร M Theatre) ช่วงนั้นผู้กำกับคือ พี่ลิง (สุวรรณดี จักราวรวุธ ศิลปินศิลปาธร สาขาศิลปะการแสดง ประจำปี 2560) ช่วงนั้นเราทำละครหลากหลาย 4-5 เรื่อง ต่อปี แล้วเรื่อง ART ก็เป็นตัวเลือกหนึ่ง เพราะว่าเวลานั้นช่วงทศวรรษแรก 1990 มันดังมาก”

ART เรื่องราวสนุกของสามหนุ่ม ป้อม นิกร ดำ ที่เป็นเพื่อนสนิทกันมา 15 ปี แต่มีเหตุให้ต้องเคลียร์ใจกัน ด้วยความมหัศจรรย์ของภาพวาดสีขาวพราวปริศนา เพราะราคาแพงแสลงใจดำ กับนิกร ผู้ไม่เคยประสบความสำเร็จตามนิยามของโลกกระแสหลัก เขามีคนรักที่กำลังจะแต่งงาน ภาพราคาหลักล้านของ ป้อม หมอผิวหนัง คือจุดประดังความคิดเห็นจากรสนิยมส่วนตัว ลามทั่วไปถึงเบื้องลึกในตัวตนของแต่ละคนเมื่อปะทะ… แรกยังจะไม่กล้าเปิดใจโปร่งใสตามรู้สึก ได้เพียงนึกแล้วพูดลับหลังกับเพื่อน เหมือนทุกครั้งที่เราไม่เห็นด้วยกับใครแต่เกรงใจจะพูดให้ชัดเจน เมื่อป้อมต้องเผชิญหน้ากับความจริงที่ว่า ไม่มีใครชื่นชมกับความว่างเปล่าของภาพที่เปล่งประกายสุดคลาสสิกนั่น นิกรผู้อ่อนไหวก็ถูกบทกำหนดให้ชวนทุกคนหันไปหาสัจธรรมที่ว่า แท้จริงแล้วไม่มีใครใส่ใจเรื่องใดๆ ของคนอื่นมากไปกว่าเรื่องสำคัญของตัวเอง แต่แม้จะนักเลงแค่ไหน เพื่อนก็เป็นอีกหนึ่งที่พึ่งทางใจ ไม่ใช่รสนิยม หรือ คำคม ความคิด จากตำราปรัชญาชีวิต มิตรภาพคือคุณค่าแท้จริง ควรอย่างยิ่งที่ต้องถนอมรักษาไว้ อย่าให้ความสัมพันธ์เปราะบางเพียงเพราะความเห็นต่างมาทำให้แตก เราอยู่ร่วมกันได้ด้วยเคารพในสิทธิ และยอมรับที่จะอยู่กับมันอย่างเห็นเป็นธรรมดาวิถี เหมือนที่ทุกคนมีหน้าตาไม่เหมือนกัน ฉันใดก็ฉันนั้น

 


ART : photo : Facebook page : Bacc หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

 

ART เริ่มเล่นที่ Paris ได้รับรางวัลสูงสุดของฝรั่งเศส (Molière Award) หลังจากนั้นนักเขียนบทละครชื่อ Christopher Hampton ชาวอังกฤษแปลจากต้นฉบับภาษาฝรั่งเศสของ ยัสมีนา เรซา (Yasmina Reza) มีไปแสดงที่อังกฤษ (ลอนดอน) ก่อนไปอเมริกา (นิวยอร์ก) ทุกที่ได้รางวัล BEST PLAY (ละครยอดเยี่ยมแห่งปี) แล้วก็เล่นกันอยู่นานพอสมควร มีการเปลี่ยน cast ทุกสองเดือน (นักแสดง 3 คนที่ถูกคัดเลือกเพื่อเวียนรอบ มีดาราดังหลายคนร่วมแสดงในช่วงสั้นๆ ) ART ในไทย เริ่มเล่นที่ โรงละครกรุงเทพ แล้วก็ไปเชียงใหม่ ขอนแก่น หาดใหญ่ มีครูลิงเป็นผู้กำกับ (สุวรรณดี จักราวรวุธ) นักแสดงคือ ตั้ว ศรัญญู วงศ์กระจ่าง, ม่วง บุญชัย จักราวรวุธ, สังข์ ธีรวัฒน์ อนุวัตรอุดม (สังข์ 108 มงกุฎ) , โหมโรง เดอะ มิวสิคัล, โต๊ะกลมการละคร ฯลฯ) เกือบทุกมหาวิทยาลัยเคยเอาละครเรื่องนี้ไปทำ รวมทั้งที่จุฬาฯ ด้วย มี ฮีน - ศศิธร พานิชนก กำกับการแสดง เมื่อปี 2558 (ฮีน เป็นลูกศิษย์ครูป้อมที่ สาขาวิชาศิลปะการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ เรียนต่อปริญญาโทสาขาการแสดง MFA in Acting จาก Actors Studio Drama School at Pace University, New York)

20 ปี ผ่านไป … ล่าสุด ครูบัว ภัทรสุดา อนุมานราชธน ผู้กำกับคนเก่งร่วมกับสถานทูตฝรั่งเศสนำละคร ART ที่ชอบ กลับมาสร้างอีกครั้งดังข้ามปี มีอรรถรสที่คุ้นเคยกับคนไทย กลมกล่อมในเนื้อหา ครูป้อมยืนยันว่า

“ชื่อละครคือ “ART” แต่ไม่ได้เกี่ยวกับศิลปะมากเท่ากับเรื่องมิตรภาพ ความแตกต่างทางความคิดเห็นของคนในระบอบไทยๆ ซึ่งมันสำคัญกว่าเรื่องอื่น ไม่จำเป็นต้องรู้เกี่ยวกับประเภทต่างๆ ของศิลปะว่าคืออะไร ไม่ใช่เรื่องพวกนั้น คนเขียนเขาแค่จำลองสถานการณ์นี้ขึ้นมาเพื่อจิกกัดชนชั้นกลางของฝรั่งเศสที่พยายามทำตัวไฮโซในช่วงปี 1990 ผ่านไป 30 ปี ซึ่งบังเอิญตรงกับปัจจุบันของเมืองไทย ที่มีชนชั้นกลางของไทยพยายามทำตัวไฮโซด้วยการซื้อ สะสมภาพศิลปะ …”

“เราดูในยูทูปเห็นเคยมีโปรดักชันของอินเดีย แต่เราก็ต้องเคารพในความคิดเขาครับ เดิมได้วางตัวผู้กำกับไว้เป็น ครูบิ๊ก ดำเกิง ฐิตะปิยะศักดิ์ (ศิลปินศิลปาธร ปี 2562) อยู่แล้ว เลยสลับหน้าที่กันครูบิ๊กไปเป็นนักแสดง บัวเป็นผู้กำกับแทน อีกคนก็ นิกร แซ่ตั้ง[6] (ศิลปินศิลปาธร สาขาศิลปะการแสดง จากสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม 2555) ผมก็ยินดีอยู่แล้วได้เล่นกับศิลปาธร 2 ท่าน ไม่ใช่โอกาสที่หาได้ง่ายๆ เลย เราสามคนเคยเล่นละครเรื่องเดียวกัน “แมคเบธ” แต่ผมออกแค่สองฉากก็ตายแล้ว สองคนออกทีหลังเลยไม่เจอกัน ตั้งแต่ตอนนั้นมาจนปัจจุบัน ก่อนได้ร่วมงานในเรื่อง ART ก็ยังเป็นแค่คนรู้จักกันแบบห่างๆ นะครับ”

(“แมคเบธ”[7] จัดแสดงเมื่อปี 2554 สร้างบทภาษาไทยและกำกับแสดงโดย รศ. นพมาส แววหงส์ ภาควิชาศิลปะการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมศิษย์หลายรุ่น) คือจุดเริ่มต้นบนถนนสายมิตรภาพของสามครู)

 


ART photo : Facebook page : NUNi Productions : จิร อังศุธรรมทัต

 

ART ฉบับล่าสุดเริ่มทำงานกันเมื่อเดือน กรกฎาคม 2565 อ่านบท ซ้อม 2 เดือน ก่อนเปิดการแสดงเป็นครั้งแรกในกรุงเทพ เมื่อ กันยายน 2565 ที่ GalileOasis และสมาคมฝรั่งเศส ในปีนี้ 2566 ตระเวนเปิดวิกอีกหลายจังหวัด จัดถี่ทั้งที่ ม.บูรพา บางแสน, ขอนแก่น, มหาสารคาม, สงขลา, ม. เชียงใหม่ แล้วกลับมากรุงเทพฯ อีกครั้งในรอบที่ 30 ณ Jim Tomson Art Center และเริ่มรอบที่ 31 ณ ม.ศรีปทุม ในเดือนตุลาคมมีคิวลงใต้ เริ่มกวาดตั้งแต่ หาดใหญ่ ปัตตานี ในเดือนธันวาคม ที่ วิกหัวหิน จ.ประจวบฯ และรอคิวต่อไป อย่างไม่มีทีท่าว่าจะหมดแรง

“บทละครหรือภาพยนตร์ทุกเรื่อง ความต้องการคือสื่อสารกับคนปลายทาง คนแปลซึ่งอยู่ตรงกลาง พยายามทำทุกวิถีทางที่จะรักษาแก่นของเรื่องเดิม เพื่อสื่อสารกับคนปลายทาง พยายามทำให้คนดูเข้าใจแก่นของเรื่อง จุดที่ปรับเปลี่ยนเป็นไปเพื่อให้คนดูที่อยู่ปลายทางรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่อยู่ใกล้ตัวมากขึ้น เป็นเรื่องของกระบวนการทำงานทั้งตัวผู้กำกับและนักแสดง เวลาเราไปแสดงที่ไหนเราจะคุยกับนักศึกษาถามว่าชอบไปกินข้าวร้านไหน สถานที่เป็นยังไง ให้เป็นตัวแทนของหลายๆ ฉาก ถ้าเป็นคนที่เรียนละคร เขาจะประหลาดใจหรือประทับใจที่ว่า ละครไม่มีอุปกรณ์อะไรมากเลย อาจารย์เจตนา นาควัชระ ใช้คำว่า “ละครผอม”[8] ที่ทำงานด้วยบทกับการแสดงเป็นส่วนใหญ่ บัวลดทอนจุดที่ไม่จำเป็นลงเรื่อยๆ ให้เหลือเฉพาะส่วนที่สำคัญเท่านั้น ส่วนบทไม่ได้ตัดออก

แต่จะตัดฉากที่เดิมระบุว่าเป็นห้องนั่งเล่นที่ต้องมีเฟอร์นิเจอร์ แล้วผู้กำกับบัวคิดว่าต้องนั่งแสดงอย่างเดียว เลยเปลี่ยนเป็นม้านั่งยาวเหมือนใน gallery ไม่มีพนักให้เป็นกลางๆ จะหาได้ง่ายตามที่ต่างๆ ให้คนดูจินตนาการเองว่าอันนี้คืออะไร น่าที่จะง่ายกว่า ซ้อมตอนแรกบัวก็คิดว่าน่าจะมีตู้เย็นไว้ใส่น้ำ ขนม ตอนหลังก็ถูกตัดออกไป พอเหลืออุปกรณ์ประกอบฉากน้อยชิ้นก็สามารถเดินทางได้ง่ายขึ้น แน่นอนว่าแม้มี subtitle ที่เป็นบทแปลภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศสด้วย มีเรื่องแสงมาด้วย แต่สุดท้ายแล้ว ถ้ามีเฉพาะนักแสดงเล่นอย่างเดียวก็ได้ เวลาเราเดินทางไปแสดงทุกคนขนเสื้อผ้ากันไปเอง กระเป๋าไม่มีน้ำหนักเกิน เฟรมภาพสีขาวที่เป็นอุปกรณ์สำคัญ ถ้าไปต่างจังหวัดก็จะให้เจ้าภาพทำขึ้นมา ไม่เป็นภาระขนย้าย เพราะทำง่ายใครวาดก็ได้ อีกภาพก็หาไม่ยาก ใช้เป็นภาพวิวหรือ Abstract อะไรไป ที่ไหนก็มีครับ”

 


ART photo : Facebook page : NUNi Productions : จิร อังศุธรรมทัต

 

ยังไปต่อได้อีกนาน กับการแสดงแบบ “ละครผอม”[9] ที่ยอมตัดแต่จัดเต็ม เปี่ยมสปิริตครูละครไม่มีใครน้อยหน้าใคร ศาสตราจารย์ ดร.เจตนา นาควัชระ ผู้บัญญัติคำ ละครผอม อธิบายว่า “มักเป็นละครที่ลงทุนน้อย ทั้งอุปกรณ์และนักแสดง แต่ต้องใช้ความคิดอย่างมากในการจัดการแสดงเล่าเรื่องด้วยวิธีที่หลากหลาย ไม่สื่อสารอย่างตรงไปตรงมา มุ่งสร้างปัญญาให้กับสังคม เพื่อให้ละครขัดเกลา สร้างการเรียนรู้ และพัฒนาความเป็นมนุษย์ของผู้คน การทำงานจะให้ความสำคัญกับการเลือกเฟ้นประเด็นที่สนใจ ก่อนใคร่ครวญถึงวิธีการนำเสนอ เพื่อสามารถสื่อสารถึงประเด็นนั้นๆ ได้ชัดเจน” และในการแสดงแต่ละรอบมีการเสวนาหลังจบการแสดง เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ชมร่วมแลกเปลี่ยน แสดงความคิดเห็น นอกจากคำถามที่เป็นมาตรฐานเรื่องการเลือกบทประพันธ์ และการพัฒนาบทแล้ว หลายครั้งยังได้ฟังความคิดเห็นที่ทำให้ตกใจ และดีใจมากเพราะเหนือความคาดหมายในเวลาเดียวกัน

“คนดูเขานึกว่าผมเขียนบทเอง ผมเล่าให้ฟังว่ามันผ่านการแปลมาหลายขั้นตอนมาก นอกจากผมแปลแล้วก็มี พี่โจ้ ช่วยขัดเกลาให้ (ดารกา วงศ์ศิริ กรรมการผู้จัดการของบริษัท DREAM BOX) และนักเขียนบทละครเวทีมือครูของ Dass Entertainment ในนักแสดงชุดต่อมาก็มี คุณฉี ชลเทพ ณ บางช้าง ผู้ช่วยผู้กำกับ ดูแลเรื่อง Subtitle มี ดร.วณิชชา กาญจโนภาส สาขาวิชาภาษาฝรั่งเศสที่จุฬาฯ มาช่วยด้วยครับ บทผ่านกระบวนการกลั่นกรองมาตลอด นี่แสดงมาปีกว่าแล้วมีคำศัพท์ใหม่ๆ เกิดขึ้นมาในช่วงนี้เราก็ใส่เข้าไปสำหรับบางคำที่เปลี่ยนได้ เวลาไปเล่นตามจังหวัดต่างๆ บัวก็จะปรับบริบทบางอย่างให้มันเข้ากับจังหวัดนั้นๆ เช่นไปเล่นที่ขอนแก่น เราก็จะใช้ชื่อร้านอาหารอิตาเลียนดีๆ ที่มีอยู่จริง หรือใช้ชื่อร้านข้าวต้มที่เป็นที่รู้จักจริงของจังหวัดนั้น บางทีจะผมใส่คำด่าภาษาถิ่น เช่นคำว่า เปรต คนกลางพูดจะไม่แรงเท่าคนใต้ก็เป็นความสนุกในที่ต่างๆ”

 


ART photo : Facebook page : NUNi Productions : จิร อังศุธรรมทัต

 

ละครส่งสารถึงความคิดที่ขัดแย้งกัน ผ่านสัญญะในศิลปะต่างแนว มีนัยให้สามารถตีความอย่างเสรี และครอบคลุมหลายเรื่อง หรือเพื่อเลี่ยงบางประเด็นที่เป็นปัญหา เช่น ศาสนา การเมือง ฯลฯ ด้วยหรือไม่

“ในเรื่องเหตุบ้านการเมืองไม่ได้เลี่ยง ถ้ามีจังหวะเปลี่ยนได้ก็เปลี่ยน เช่น ‘นิกรพยายามมาไกล่เกลี่ย คอยเป็นคนสมานฉันท์’ ผมเปลี่ยนคำว่าไกล่เกลี่ยเป็น ‘ก้าวข้ามความขัดแย้ง’ คำนี้จะทำให้นึกถึงสโลแกนของ พรรคพลังประชารัฐ อีกตอนที่ผมพูดว่า ‘มึงไม่นึกเคยรู้สึกว่ากูประทับใจภาพนี้จริงๆ’ ผมก็เปลี่ยนเป็น ‘กูใจบันดาลแรงภาพนี้จริงๆ’ ใจบันดาลแรงเป็นคำที่พลเอกประวิตรพูด มันก็คือความหมายเดียวกัน เพียงแต่ว่ามันอยู่ในยุคสมัยที่พอได้ยินจะนึกถึงคนพูดทันที แล้วแต่คนด้วยนะ บางคนก็จับไม่ทัน สุดท้ายผมเชื่อว่างานศิลปะหลีกเลี่ยงการเมืองไม่ได้ เรื่องที่คนมีพื้นฐานความคิดต่างกันแล้วอีกคนพยายามจะไกล่เกลี่ย ยังไงมันก็การเมือง แม้เป็นเรื่องมิตรภาพก็ตาม เพราะประเทศไทยเป็นประเทศที่ไม่เหมือนกับบางประเทศที่สามารถจะมีความคิดเห็นที่ขัดแย้งกันได้

ของเราพอขัดแย้งก็ unfriend ไม่คบเคยมี line กลุ่มของมหาวิทยาลัยหนึ่งมีสมาชิกแค่สามร้อยกว่าคนเอง แล้วมีผู้นำทางการเมืองคนหนึ่งเข้ามา พอเขาใส่เรื่องการเมืองเข้าไป ก็มีคนบอกกรุ๊พนี้เราไม่คุยเรื่องการเมือง สักพักคนนั้นเขาก็ออกไปเลย ถ้าไม่ไล่ออกจากกลุ่มก็ตั้งกลุ่มใหม่ น่าแปลกใจนะเพราะน่าจะคุยกันได้ ยอมรับความแตกต่างได้ ไม่น่าต้องออกจากกรุ๊พหรือจำหน่ายออกไป มันจะน่าเบื่อมากถ้าทุกคนคิดเหมือนกันหมด ละครเกิดจากความขัดแย้ง Drama มาจากความขัดแย้ง ความขัดแย้งที่มันลึกซึ้งแบบนี้จะจุดประกายให้เกิด action ขึ้นมาได้ กลับไปโยงเรื่องการเมืองอีก พื้นฐานความคิดของคนต่างรุ่นที่มีประสบการณ์มีทุกอย่างต่างกัน ก็คิดไม่เหมือนกัน ถ้าเป็นคนที่ชัดเจนมากๆ ไม่มีทางเปลี่ยนใจได้ง่ายๆ

ผมมองว่าในยุคร่วมสมัย (Contemporary) มันเป็นยุคที่รวมทุกอย่างจากอดีตมาถึงปัจจุบัน เพราะฉะนั้นมันจะมีความแตกต่างหลากหลายมาก รสนิยมของคนเราก็เช่นกัน ไม่เหมือนกับสมัย Renaissance (ยุคเฟื่องฟูทางด้านศิลปะ การเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรมของยุโรป ราวศตวรรษที่ 14-17) ที่ชัดเจนว่าทุกคนชอบแบบนี้เป็นแนวทางรสนิยมหลัก เราไม่สามารถบอกได้ว่ายุคไหนดีกว่ายุคไหน แล้วแต่รสนิยม ถ้าเป็นแฟนหรือภรรยาก็ควรต้องใกล้เคียงกัน ถึงจะอยู่กันได้ ถ้าเป็นเพื่อนนานๆ เจอกันทีก็ช่างมัน ไม่ชอบเหมือนกันก็เรื่องของมึง ถ้าทุกคนเข้าใจตรงนี้ เห็นตรงกันแบบนี้แล้วรู้ว่า ความคิดเห็น รสนิยม ที่แตกต่างกัน มันก็คือแตกต่างกัน ไม่ต้องไปเปลี่ยน จริงๆ แล้วความแตกต่างหลากหลาย หรือความขัดแย้งเป็นความสวยงามของโลก ถ้าทุกคนเหมือนกันหมดก็น่าเบื่อครับ”

 


ART photo : Facebook page : NUNi Productions : จิร อังศุธรรมทัต

 

Main Props ของเรื่อง มีภาพวาดวิวธรรมดาที่หาได้กับ canvas ภาพวาดสีขาว ที่ดูเหมือนเฟรมว่างเปล่า เป็นชนวนที่ชวนให้ปลดปล่อยอัตตา นำมาซึ่งความขัดแย้ง แฝงสัญญะอยู่ในทุกจังหวะของความคิด ก่อนมิตรภาพถูกเติมเต็ม ป้อม-นิกร-ดำ

“สำหรับหลายคนมันคืองานที่เสร็จแล้ว เสร็จในแบบที่เปิดให้คนมาใช้จินตนาการได้เต็มที่เลยว่ามันคืออะไร แล้วแต่จะคิดจะเติมลงไป เป็นหมอกหรือหิมะที่ปกคลุมอะไรอยู่หรือเปล่า? หรือว่าศิลปินวาดชุ่ยๆ กันไปเองก็แล้วแต่จะคิด แต่สำหรับบางคน เขาก็ต้องการอะไรบางอย่างที่จะซัดเข้าไป เพื่อที่จะบอกให้ชัดเจนว่ามันคืออะไร ก็เหมือนหลายอย่างในชีวิตที่เป็นเรื่องการตีค่า ประเมินคุณค่า การตั้งมูลค่าของงานศิลปะ เหมือนตอนที่ โน้ต อุดม แสดงเดี่ยวไมค์ เล่นคนเดียวสองชั่วโมง บัตรพันบาท ช่วงหลังบัตรห้าพัน คนจะเริ่มเข้าใจมากขึ้นเรื่อยๆ หรืออย่างไอโฟนที่ซื้อกันสามหมื่น ต้นทุนไม่ถึงพันนะครับ อะไหล่หลักร้อย ที่เหลือเป็นค่าโฆษณาอะไรต่างๆ คุณก็ซื้อ มันมีเรื่องความพึงพอใจของผู้ซื้อด้วย

ผมมองว่าเราควรยอมรับความแตกต่างหลากหลาย บางคนก็ต้องการที่จะไม่บอกอะไรให้ชัดเจน แต่หลายคนต้องการสิ่งที่ชัดเจนตายตัว มีวิธีคิดมีจุดหมายที่ต่างกันของแต่ละคนแต่ละรุ่น ละครเรื่องนี้เขียนมากว่า 30 ปีแล้ว แต่ว่ามันก็ยังเข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันบ้านเราได้ เพราะมีความร่วมสมัยกับปัจจุบัน ในต่างประเทศตามเทศกาลใหญ่ๆ ก็ยังมีแสดงกันอยู่ ผมเรียกว่าเป็นงานแนว Modern Classic เพราะใช้นักแสดงไม่เยอะ ก็ไม่วุ่นวายมาก บทขึ้นอยู่กับการตีความคนเขาชอบดู ตอนเขียนคนแต่งเรื่องก็คงไม่คิดว่าจะเล่นมานานขนาดนี้ แน่นอนว่าความนิยมไม่เยอะเท่ากับช่วงทศวรรษแรก 1990 ที่ดังมากฮิตมากใครๆ ก็รู้จักอยากดู ขนาดรู้เรื่องแล้วก็ยังตลกอยู่ จะสนุกมากถ้าไปดูกับเพื่อน เวลาไปดูหนังผมชอบดูคนเดียว แต่เวลาละครอยากมีคนไปดูด้วย เพราะมันได้คุยกันต่อ หนังมีรอบเยอะ โรงเยอะเราเลือกได้ ละครต้องที่นั่นเวลานี้เท่านั้น เล่นอยู่ไม่กี่วันก็ไปแล้ว เป็นประสบการณ์ที่ดีนะได้ไปกับเพื่อนแล้วเราจะเห็นว่า ถึงเรียนโรงเรียนเดียวกันมาตั้งแต่อนุบาลจนถึงมัธยมปลาย ต่อมหาวิทยาลัยเข้าคณะเดียวกัน มันก็ไม่จำเป็นว่าความคิดต้องเหมือนกัน”

 


ART photo : Facebook page : NUNi Productions : จิร อังศุธรรมทัต

 

“ถ้าเรื่องนี้จะปรับไปเป็นละครโทรทัศน์ คงต้องย้อนกลับไปตอนที่สามคนนี้มารู้จักกันเมื่อ 15 ปีก่อน มาเป็นเพื่อนกันได้ไง คบกันยังไง ฯลฯ พอเป็นละครเวทีจะเรียกว่า late point of attack คือมาเริ่มเอาตอนช่วงปลายของความสัมพันธ์แล้ว เหตุการณ์ที่กระตุ้นขึ้นมาก็คือการที่ตัวละคร (ป้อม) ซื้อภาพเขียนสีขาวมา ในราคาที่แพงมาก แล้วเพื่อนไม่เห็นด้วย พอมาขมวดลงในเรื่องช่วงเวลา 3 วัน ก็จะเห็น Timing หลังจากที่ต้องเคลียร์เรื่องนี้ ถ้าเป็นละครโทรทัศน์คนดูมีเวลาที่จะได้เห็นพัฒนาการความสัมพันธ์ของสามคน ป้อม นิกร ดำ แต่พอเป็นละครเวทีก็จะไม่เห็น เชื่อแต่ว่า 3 คนนี้เป็นเพื่อนกัน ทั้งที่มีอะไรหลายอย่างแตกต่างกันอยู่ ก็คือลักษณะของละครเวทีที่จะต้องมาขมวดตรงปมความขัดแย้ง

ที่สุดก็เข้าใจว่ามันต่างกัน มีหักมุมตอนสุดท้ายของเรื่อง ป้อมให้เพื่อนเอาปากกาเมจิกมาเขียนรูปลงบนภาพ คนดูจะรู้สึกว่าป้อมยอมทำลายภาพศิลปะ ของรักของหวงที่มันทุ่มเงินมหาศาลไปซื้อมา คงเพื่อรักษามิตรภาพนี้ไว้ แต่มันก็มาหักมุมว่า จริงๆ แล้วไอ้หมึกนี่มันล้างออกได้ ของอาจจะมีตำหนินิดนึง แต่ว่าก็ไม่ได้คิดจะเอาไปขาย สุดท้ายคือคนเราคบกันไม่จำเป็นต้องเหมือนกันทุกอย่าง เราเถียงกันได้เราทะเลาะกันได้ แต่ก็ต้องยอมรับว่าคนเราคิดไม่เหมือนกัน ถึงจะเป็นสังคมประชาธิปไตย ไม่ใช่การหลีกเลี่ยงไม่พูดถึงด้วย ไม่เหมือน Line Group บ้านเราที่ ‘ไม่พูดเรื่องการเมืองนะ’ อะไรแบบนี้ การถกเถียงกันใน Social Media ไม่ใช่สิ่งที่เขาสนับสนุนกัน การถกเถียงกันในเวทีสาธารณะ หรือต่อหน้ากันจริงๆ ก็อยู่ร่วมกันได้ แม้ผัวเมียยังมีหลายอย่างที่แตกต่างกันเลย

Monologue (บทพูดคนเดียว) ยาวๆ ของ นิกร ไม่ได้ช่วยให้เรารู้จักตัวละครนี้มากขึ้นนะครับ ฟังจริงๆ ก็จับใจความไม่ทันอยู่ดี ผมคิดว่าคนเขียนใส่มาไม่ได้เพื่อต้องการให้เรารู้จักตัวละครนี้มากขึ้น เขาอยากจะให้เห็นว่า คนเรามีเรื่องส่วนตัวของมันที่สำคัญกว่าเพื่อนอยู่แล้ว เรื่องสำคัญของนิกรไม่ใช่เรื่องที่เพื่อนสองคนทะเลาะกัน แต่เป็นเรื่องงานแต่งงานของมัน เหมือนเรามีเรื่องเดือดร้อนใจมากๆ ช่วงนี้ไม่ไหวหนักมาก วันนี้ไม่ได้แล้วนะ อะไรอย่างนี้ แต่ก็ไม่แน่อาจจะมีอะไรที่มันแย่กว่านี้อีก เรื่องนี้มีหลายระดับ จะมองผิวเผินเป็นเพื่อนสามคนทะเลาะกันก็ได้ เป็นเรื่องของมิตรภาพก็ได้ เป็นเรื่องของการเมืองก็ได้ คนดูละครเรื่องนี้ที่สนุกมีหลายกลุ่ม แน่นอนเด็กเล็กก็คงไม่สนุก วัยรุ่นขึ้นไปจะได้รับประสบการณ์ต่างกัน

มีคนดูหลายคนร้องไห้ คงเหมือนประสบการณ์บางอย่างของเขา การเมืองก็ต้องมีหลายแนวความคิด ต้องขัดแย้งกันอยู่แล้ว หลายคนเสียเพื่อนเลิกคบกัน เพราะความแตกต่างขัดแย้ง หลาย moment ในละครทำให้รู้สึกไปสู่เรื่องนั้นได้”

 


ART : photo : Facebook page : NUNi Productions : จิร อังศุธรรมทัต

 

การแสดงของสามครูในบทบาทเพื่อนสนิทที่ลื่นไหล ทำให้ผู้ชมหลายคนซึ่งไม่เคยรู้จักเชื่อว่า ชีวิตจริงของสามหนุ่มมีภูมิหลังที่คงสนิทสนมกันไม่น้อย แต่เบื้องหลังการสร้างงานนั้น Inner ถูกปลุกสร้างขึ้นจากความรู้สึกภายใน ก่อนเนียนออกมาภายนอกด้วยเทคนิคการแสดงแบบ Inside Out (การสื่อสารที่เริ่มจากความรู้สึกและลักษณะภายใน นำออกไปสู่กิริยา ท่าทาง และรูปลักษณ์ภายนอก) ความสมจริงของคนรู้จักที่แสดงเป็นเพื่อนสนิท 15 ปี มีผลให้ได้รับ รางวัลละครเวทีและนาฏศิลป์ร่วมสมัยของประเทศไทย 2563-2565 สาขา Best Performance by an Ensemble : การแสดงยอดเยี่ยมโดยนักแสดงกลุ่ม • คณะนักแสดงจาก ‘ART’ โดย ชมรมวิจารณ์ศิลปะการแสดง (IATC Thailand Center)

ในช่วง Post-Show หลายคนถามว่าสามคนเป็นเพื่อนสนิทกันรึเปล่า ความจริงคือเป็นคนรู้จักกันครับ ไม่ได้ร่วมวงเหล้าเคยร่วมงานกันบ้าง ไปดูงานของกันบ้าง เมื่อหลายปีพี่บิ๊กก็ชวนผมมาสอนการแสดง พี่นิกรก็มาเป็นอาจารย์พิเศษที่จุฬาฯ ด้วย พบเจอกันเรื่อยๆ แต่ไม่เคยได้ร่วมงานกันจริงจัง ไม่เคย Line หากัน เกิดวันไหนกันก็ไม่รู้หรอก วันไหนที่เราทำงานร่วมกัน คนก็เชื่อได้ว่าเราเป็นเพื่อนกันจริงๆ อย่างพี่นิกรบทนี้มันเหมาะกับเขามาก ดีใจมากที่เขาได้รางวัล (Best Performance by a Male Artist: การแสดงยอดเยี่ยมโดยนักแสดงชาย • นิกร แซ่ตั้ง จากเรื่อง ‘ART’ โดย ชมรมวิจารณ์ศิลปะการแสดง IATC Thailand Center)[10] เพราะบทนี้เล่นยากมาก แล้วยังมี monologue ที่ยาวๆ เป็นการทำงานร่วมกันของพี่นิกรกับผู้กำกับบัว (ภัทรสุดา อนุมานราชธน) แรกพี่นิกรก็คิด blocking มา เดินไปตรงนั้นตรงนี้ ตอนหลังบัวตัดบทให้เหลือเป็นนั่ง ได้จังหวะเร็วลงตัวขึ้นด้วยครับ

ชื่อที่อยู่ในเรื่อง นอกจากบัวจะให้ใช้ชื่อจริงของเราเอง แล้วยังมีชื่อตัวละครอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งก็เป็นชื่อที่มีความหมายของแต่ละคนจริงๆ ‘น้องลูกบัว’ ก็คือ ‘บัว’ ผู้กำกับนั่นเอง ไม่ถึงกับเป็นมุกภายในขนาดนั้น แต่เราก็เลือกชื่อคนที่ใกล้ตัวเรา เพื่อให้รู้สึกว่าเป็นเรื่องของเราจริงๆ อย่างชื่อผม ‘ปวิตร’ มีเพื่อนสนิทอยู่เพียงสองคนที่เรียก ‘วิตร’ ที่เหลือเรียก ‘ป้อม’ หมดเลย เพื่อนคนนึงให้เหตุผลว่า เพราะแฟนเก่ามันชื่อป้อม เลยไม่อยากเรียกให้แสลงปาก แต่ละคนมีเหตุผลของตัวเอง ในเรื่องเราเรียกพี่นิกรว่า ‘นิ’ เคยมีเพื่อนเรียกแกว่านิเหมือนกัน พี่บิ๊ก (ดำเกิง ฐิตะปิยะศักดิ์) เราเรียก ‘ดำ’ เกือบจะเหมือนจริงแต่ไม่ 100 เปอร์เซ็นต์ มีรายละเอียดที่แตกต่างกับชีวิตจริงพอสมควรครับ”

 


ART : photo : Facebook page : NUNi Productions : จิร อังศุธรรมทัต

 

“สนุกมากตรงที่ทั้งสามคนก็ทำงานกำกับมาเยอะ เวลาเปลี่ยนสถานที่แสดง เราต้องปรับ blocking จะเหมือนเราทำงานกำกับไปด้วย อย่างตอนเล่นที่จิมทอมสันจะเห็นชัดเจนเพราะว่าที่นั่งคนดูเป็นสามด้านชัดเจนต่างจากที่อื่นๆ บัวก็จะช่วยดูนิดนึงที่เหลือก็จะปล่อย เพราะเข้าใจว่าสามคนเป็นผู้กำกับอยู่แล้วจะรู้ว่า ถ้าคนนึงนั่งที่พื้นอีกคนต้องนั่งเก้าอี้ อีกคนต้องยืน ไม่ควรอยู่ในระดับเดียวกันทั้งหมด มีเหตุผลอะไรเป็นพิเศษ แสดงแต่ละสถานที่ blocking ไม่เหมือนกัน แต่ถ้าในที่เดียวกันแต่ละรอบ blocking จะเหมือนกัน จริงๆ ในละครเวทีไม่มีทางเหมือนกันเป๊ะอยู่แล้ว ตัวละครมีสามตัว ถ้าคนดูสามด้านนี่มุมจะลงตัวมาก ด้วยความที่ฉากเราน้อย มีบางด้านที่คนดูนอกจากจะเห็นนักแสดงแล้ว ยังเห็นผู้ชมฝั่งตรงข้ามเหมือนเป็นฉากของเราไปด้วย

เวทีโค้งไม่ใช่ปัญหา มีมาตั้งแต่สมัยกรีกแล้ว เวทีแบบที่ไม่ได้ดูด้านเดียวจะเน้นลักษณะพิเศษของละครเวที คนดูละครเวทีค่อนข้างนิ่งไม่กวนสมาธิกัน ต่างให้ความร่วมมือขณะชม สถานที่เล็ก ไม่มีใครทำอะไรที่เป็นการแย่งโฟกัสไปจากการแสดง แสงไฟครึ้ม นักแสดงมองเห็นคนดู คนดูก็มองเห็นนักแสดงทุกคน ทำให้ผู้ชมรู้สึกว่าทุกคนอยู่ร่วมกันในเหตุการณ์นี้ โดยที่ไม่ต้องเรียกว่าเป็นแนว Immersive (ใกล้ชิด สนิทแนบ แบบดื่มด่ำฉ่ำใจ) แต่ในทางจิตวิทยามันสร้างชุมชนขึ้นมา ผู้ชมจะได้รับประสบการณ์พิเศษที่ไม่เหมือนไปดูหนัง ในช่วงโควิดที่ผ่านมาเราดูอะไรในจอกันเยอะมาก มันก็คือด้านเดียวนั่นแหละ ถ้าได้ดูแบบที่ต้องหันซ้ายขวา มันเป็นมุมมองที่น่าสนใจกว่าดูด้านเดียว นี่ก็เป็นอีกประเด็นที่คนพูดถึงเยอะตอนถามตอบช่วง post-show”

 


ART : photo : Facebook page : NUNi Productions : จิร อังศุธรรมทัต

 

“การเรียนการสอนละครตะวันตกในไทยเราเริ่มมาห้าสิบกว่าปีแล้วนะครับ ปัญหาคือถ้าเทียบกับสื่อบันเทิงสายอื่น โทรทัศน์ ภาพยนตร์ YouTube ก็เป็นกลุ่มคนดูที่ยังน้อย ตลาดงานก็ยังเล็กอยู่ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะไม่มีการพัฒนาอาชีพด้านนี้อย่างจริงจัง ตัวอย่างเช่น เทศกาลละครกรุงเทพ (Bangkok Theatre Festival) หลายปีแล้วก็ยังเล็กๆ อยู่เหมือนเดิม อาจจะดีที่มันเล็กอย่างนี้ แต่ก็ไม่ควรเล็กต่อเนื่องยาวนานขนาดนี้ มีละครเวทีไทยไปแสดงต่างประเทศบ้างอะไรบ้าง แต่ส่วนใหญ่แล้วคนจำนวนเยอะมากที่ไม่เคยดูละครเวที เอาละคร ART ไปทัวร์พบว่าผู้ชมหลายคนเคยดูละครเวทีมาแล้ว มีบ้างที่ไม่เคยดูเลย การที่คนยังตื่นเต้นกับความน้อย ความง่าย ของละครเรื่องนี้ก็แสดงว่าคนดูไม่มีประสบการณ์ในการดูละครเวทีสักเท่าไหร่นัก ‘ละครผอม’ อย่างที่อาจารย์เจตนาเรียก มีมาตั้งนานแล้ว คนดูก็มาชมเพื่อใช้จินตนาการ เพราะเราไม่จำเป็นต้องทำทุกอย่างให้สมจริงเหมือนในหนัง เพราะความสมจริงเราสู้หนังไม่ได้อยู่แล้ว ไม่มีความจำเป็นต้องแข่งกับเขา ไม่จำเป็นต้องทำน้ำตก น้ำพุ ให้เหมือนจริงเลยครับ

นักศึกษาเวลาทำละครเวทีก็ยังนึกถึงซีนใหญ่ พื้นที่ใหญ่ ส่วนหนึ่งเราต้องโทษการเรียนการสอนด้วยว่า เคยเอามาแซวในละครเรื่อง ART ด้วยซ้ำ พอดีช่วงนั้นเราเล่นเดือนกันยายน 2565 ในเดือนสิงหาคมมีละครมืออาชีพเรื่องหนึ่ง ดังมาก มีดาราเล่น นักแสดงแค่ 4 คน แต่ใช้ทีมงาน (Backstage) 18 คน เพราะต้องยกโซฟา ยกคอมพิวเตอร์ เข้าออกวุ่นวายไปหมด ทำให้เห็นว่าถ้าแบบนี้คุณไปเล่นที่ไหนไม่ได้แล้ว ถ้าคุณบอกว่านักแสดงแค่ 4 คนนะ แต่ต้องมีทีมงานอีก 18 คน จะไปหาดใหญ่ตั๋วเครื่องบิน 22 ใบ ยังไม่รวมผู้กำกับ แล้วทีมงานทำอะไรบ้าง บางคนยกโซฟา 3 ครั้งจบ นอกจากว่าจะไปชวนน้องที่หาดใหญ่ทำก็เสียเวลาอีก ซึ่งมันแตกต่างจากวิธีคิดของละคร ART ที่ไม่มีผู้กำกับเวที ทุกคนจัดการของตัวเอง props ก็ขนมาเองถ้าลืมก็แก้ปัญหาเอง

 


ART photo : Facebook page : NUNi Productions : จิร อังศุธรรมทัต

 

ไม่ได้บอกว่าต้องสอนให้เด็กทำเฉพาะ ‘ละครผอม’ แต่ให้เขาเห็นความเป็นไปได้ของรูปแบบต่างๆ ว่า ละครเวทีใช้คนเดียว สามคนก็ได้ หรือจะ 80 คนก็ได้ แต่ว่า TREND ของโลกมันคือละครที่ใช้คนไม่มาก ล่าสุดที่เมลเบิร์นประเทศออสเตรียสร้างละครมิวสิคัล มีทีมแค่ 12 คน ใช้คุ้ม คอรัสก็เป็นตัวละคร เพราะเขารู้ว่ายิ่งคนมาก ค่าใช้จ่ายยิ่งเยอะ โอกาสเจ๊งก็สูง เพราะฉะนั้นทำยังไงถึงจะใช้ประโยชน์จากนักแสดง ทีมงานทุกคนอย่างเต็มที่ที่สุดเป็นเรื่องธุรกิจของการทำโปรดักชันด้วย ART ใช้ทีมรวมนักแสดง 6 คน มีบัวกำกับ (ภัทรสุดา อนุมานราชธน), คุณฉี เป็นผู้ช่วยผู้กำกับ (ชลเทพ ณ บางช้าง) , พี่แอ๋มดูแล subtitle กับทำไฟ (อาจารย์ทวิทธิ์ เกษประไพ นักออกแบบแสงคนเก่งของ Red, Hot and Cole) ไม่ได้บอกว่าแสง เสียง ฉาก ไม่จำเป็น แต่สุดท้ายมันกลับมาที่หัวใจสำคัญของละครเวทีซึ่งก็คือ บทกับการแสดง จะตัดอะไรก็ตัดได้แต่ตัดบทกับการแสดงออกไปไม่ได้ครับ

ถ้าเป็นบทละครไทยตัวละครยังเยอะอยู่ ต้องใช้นักแสดงเยอะ พอพูดถึงละครคนก็จะนึกถึง 20-30 คน พระเอก นางเอก พระรอง นางรอง ตัวร้าย ตัวประกอบ มีทหารเลวยืนถือปืน คือภาพจำของคนเกี่ยวกับละครไทย แต่ในเรื่องนี้มีแค่สามคนทุกคนเท่ากันหมด แทบจะทะเลาะกันทั้งเรื่อง ไม่มีพักครึ่ง ชั่วโมงครึ่งก็จบ มันเป็นวิธีคิดอีกแบบหนึ่ง ไม่ใช่อะไรดีกว่ากัน ถ้าละครไทยจะทำแบบนี้ต้องปรับมาก เคลื่อนไหวไม่สะดวกเท่าที่ควรครับ อย่าง ART ไปเล่นจังหวัดไหนก็ไปถึงตอนสายๆ เข้าไปที่โรงละครแล้ว Set up ซ้อมรอบหนึ่งแล้วตอนเย็นก็แสดงจริงได้ ยังไม่ได้นอนเลยนะ วันต่อมาจะเล่นรอบบ่ายหรือรอบค่ำก็ได้ บัวออกแบบมาให้คล่องตัวมาก Trend ของโลกเอื้อให้คนดูได้ใช้จินตนาการเพิ่มเติม ไม่ได้ขายความยิ่งใหญ่อลังการ มีมานานแล้วนะครับ เน้นการที่ผู้ชมกับนักแสดงอยู่ในสถานที่เดียวกัน”

 


ART Photo : Facebook : NUNi Productions : Pattarasuda Anuman Rajadhon : Alliance Française de Bangkok

 

การศึกษาวิชาศิลปะการแสดง กับระบบ ที่กระทบต่อการสร้างงานละครเวทีไทย

“ประกอบอาชีพกันลำบากครับ เพราะมีอยู่ไม่กี่คนที่สามารถทำละครเวทีอย่างเดียว โดยที่ไม่ทำอย่างอื่นรองรับ แม้แต่ศิลปินศิลปาธรเองก็ตาม ต้องสอนด้วยทำอย่างอื่นด้วย เพื่อที่จะได้มีเวลา มีเงินที่เหลือมาทำละครเวทีได้ ช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีคณะใหม่ๆ เกิดขึ้น บางคณะก็น่าสนใจมาก แต่ตอนหลังก็เงียบๆ กันไป ไม่รู้แยกกันไปรึยัง คิดว่าน่าจะมีโอกาสทำอย่างอื่น เช่น ละครโทรทัศน์ Netflix ฯลฯ ที่มีรายได้มั่นคงมากกว่า เพราะฉะนั้นยังมีพื้นที่ให้พัฒนาได้อีกเยอะ มีคนใหม่มาเป็นช่วงๆ คนเก่าที่ทำอยู่ก็ยังอยู่แบบเดิมๆ แต่ก็ยังไม่ค่อยไปไหนเท่าไหร่ มองได้หลายแง่ ถ้าในมุมการเมืองก็คือ ละครเวทีเป็นสื่อที่จะแสดงออกทางการเมืองได้ชัดและเร็วที่สุด เพราะไม่ต้องส่งบทไปให้ใครเซนเซอร์ เล่นได้เลย พูดอะไรก็ได้ในละคร รับผิดชอบผลที่ตามมาเอง แต่ส่วนใหญ่แล้วไม่มีการเผยแพร่ไปที่อื่นต่อ คนดูอาจแค่ 80-100-200 คน เฉพาะกลุ่มนั้น ถ้าไม่บันทึกไว้แล้วไปเผยแพร่ที่อื่นอีก ก็ไม่มีผลทางกฎหมาย

สถาบันการศึกษาส่วนใหญ่ที่สอนละครเวทีก็รู้เรื่องนี้ดี เขาก็ยอมรับสภาพที่ว่า คนที่จบไปจะทำงานสื่ออื่น เหมือนเขารู้ตัวว่า train บัณฑิตออกมาเพื่อไปทำโทรทัศน์ ภาพยนตร์ โดยมีพื้นฐานจากละครเวที ซึ่งก็ได้ เพราะละครเวทีเป็นพื้นฐานของการแสดงทุกสาขา เหมือนที่ Classical Ballet เป็นพื้นฐานของ Modern Dance, Contemporary Dance ได้ แต่ถ้าคิดว่าสถาบันการศึกษาไม่ได้พยายามที่จะพัฒนาวงการให้คึกคักมากขึ้น ก็เป็นปัญหาเหมือนกัน นักศึกษาที่เรียนละครแล้วชอบเขียนบท ต้องหาโอกาสไปเรียนเขียนบทโทรทัศน์ เขียนบทภาพยนตร์ด้วย ถ้ามีพื้นฐานแล้วปรับไม่ยากครับ ไม่ใช่ตะบี้ตะบันเรียนละครเวทีอย่างเดียวโดยที่ไม่คิดถึงอนาคตว่าจบไปแล้วจะทำอะไร

เราสร้างศิลปินกันเยอะ เด็กๆ วาดรูปเป็น รำเป็น เล่นดนตรีไทยเป็น แต่สุดท้ายไม่มีใครดูงานทัศนศิลป์เป็น นาฏศิลป์เป็น ไม่มีใครฟังดนตรีไทยตอนโตขึ้น อันนี้เป็นปัญหา เพราะเราให้แต่ skill เราไม่ได้ให้ทักษะในการดูงานศิลปะ นับดูได้เลยว่ากี่โรงเรียนสอนทัศนศิลป์ ที่สอนนาฏศิลป์ แล้วจบออกมาหลังจากนั้นสิบปี อายุ 30 มีใครดูงานทัศนศิลป์บ้าง ทั้งที่วาดรูปเป็น ที่เคยเรียนนาฏศิลป์มีใครดูโขนบ้าง

เรื่องการพัฒนาคนดูเป็นเรื่องที่กระทรวงวัฒนธรรมยังไม่เข้าใจสักที ความจริงโยงกับกระทรวงศึกษาธิการด้วยนะครับ ถ้ากระทรวงศึกษาเห็นว่าการไปดูงานศิลปวัฒนธรรม เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนได้ สามารถที่จะประยุกต์เข้ากับการเรียนการสอนวิชาอื่นๆ ได้ ถ้ามองเห็นตรงนี้คนดูก็จะมีประสบการณ์ในการดูละครเวที ในการเข้าพิพิธภัณฑ์ ในการเข้าหอศิลป์ตั้งแต่เรียนประถมแล้ว ไม่ใช่ว่าเป็นเรื่องของคนมีเงิน เรื่องของคนกรุง หรือว่าคนที่อยู่ในเมืองใหญ่อีกต่อไป แต่จะเป็นเรื่องของทุกคน เพราะมันมาจากภาษีประชาชน”

 


ART Photo : Facebook : NUNi Productions : Pattarasuda Anuman Rajadhon : Alliance Française de Bangkok

 

ครูป้อมเคยเป็นผู้อำนวยการหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) มีพันธกิจหนักท่ามกลางความไม่ปกติของสถานการณ์ ได้พยายามพัฒนาขยายฐาน เพื่อสนับสนุนงานศิลปะอย่างเป็นรูปธรรมทุกแขนง ไม่ใช่เฉพาะการแสดง ด้วยการทำความเข้าใจกับนักการเมืองท้องถิ่น และประชาชนทั่วไป ถึงเหตุผลที่ทำไมถึงต้องมีพื้นที่แสดงงานศิลปะ หรือพื้นที่เพื่อให้ประชาชนได้มาเรียนรู้ผ่านงานศิลปะ และยังคงยืนยันแนวคิดก้าวหน้าเหล่านั้นตลอดมา

“เรื่องการทำงานร่วมกันของสถาบันต่างๆ ต้องคุยกันทั้งระบบหลายด้าน ควรเป็นศิลปะทุกแขนงมานั่งคุยกัน ว่าปัญหาของแต่ละสาขาคืออะไรบ้าง อีกเทรนด์ที่สำคัญคือการทำงานข้ามสาขา ในกระบวนการสนับสนุนของรัฐบาล ถ้าเรายังแบ่งสาขาอยู่อย่างทุกวันนี้ จะทำให้เราก้าวหน้าไม่ทันประเทศอื่นเขา เพราะตอนนี้เหมือนกับแย่งงบประมาณกัน ‘ควรสนับสนุนภาพยนตร์เพราะขายในต่างประเทศได้ เป็น Soft Power แต่ละครเวทีขายในต่างประเทศได้น้อยมาก เพราะฉะนั้นก็ไม่ควรได้รับทุนจากรัฐบาลเยอะ’ มันจะกลายเป็นอย่างนั้นไป กลายเป็นการแย่งชิงกัน แทนที่จะมารวมกันโดยภาพรวม ควรเปลี่ยนวิธีคิดแบบนี้

อีกเรื่องคือการแบ่งระหว่างความเป็น TRADITIONAL กับ CONTEMPORARY มันอาจไม่ค่อย work เท่าไหร่แล้ว เพราะ CONTEMPORARY รวมทุกอย่าง เพราะฉะนั้นงาน TRADITIONAL ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันก็น่าจะมีความเป็น CONTEMPORARY ด้วย งบประมาณของกระทรวงวัฒนธรรมไม่ควรจะทุ่มไปที่การอนุรักษ์ รักษา ซ่อมแซมอย่างเดียว ไม่ได้มองว่าเป็นเรื่องสำคัญของชีวิต ควรมีการสานต่อ พัฒนา และปรับปรุงคุณภาพชีวิตคนทำงานด้วย กระทรวงวัฒนธรรมเป็นกระทรวงเกรดซี ที่ไม่มีใครพูดถึง ถ้าพูดถึงก็จะพูดในแง่ของ Creative Economy หมายความว่าถ้าวัฒนธรรมที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ ก็จะได้รับการสนับสนุนซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะมันไม่ใช่แค่นั้น มีศิลปวัฒนธรรมที่ไม่ได้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ แต่ว่ามีความสำคัญกับการดำรงชีวิตอยู่ของประชาชนอีกเยอะแยะมากมาย ซึ่งอันนี้ผมคิดว่ามันเกี่ยวข้องกับระบบการศึกษาด้วย”

 


ART Photo : Facebook : NUNi Productions : Pattarasuda Anuman Rajadhon : Alliance Française de Bangkok

 

“สภาศิลปะ พูดกันมานานแล้วแต่ยังไม่ได้ทำอะไร ไม่รู้กระทรวงไหนต้องเริ่ม ต้องเอางบมาจากไหน ถ้าจะเอาศิลปะหลายๆ แขนงมารวมกัน ระบบการเรียนการสอนต้องเชื่อมโยงกันมากขึ้นกว่านี้ในแต่ละสาย อยู่ในมหาวิทยาลัยเดียวกันยิ่งไม่ค่อยได้ทำงานร่วมกัน ผมเคยไปดูงานของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง เกี่ยวกับการออกแบบโปรดัก เขาต้องการนักเต้น Movement ซึ่งในมหาวิทยาลัยนั้นก็มีคณะที่สอนเต้นอยู่ ก็ไม่เอานิสิตคณะนั้นมาเต้น ไปเอาพวกกันซึ่งเต้นไม่ได้เรื่องมา เพราะว่าครูเขาไม่ทำงานด้วยกัน (หัวเราะ) ทั้งที่คณะอยู่ใกล้กันแค่นั้น เพราะเขาคิดว่าศาสตร์มันต่างกัน ซึ่งจริงๆ แล้วมันเหมือนกัน จบออกไปแล้วก็ต้องทำงานด้วยกันอยู่ดี ปัจจุบันขอบเขตของวิชาต่างๆ มันเบลอมาก ไม่ชัดว่าสาขาไหนคืออะไร สุดท้ายจบแล้วทำงานอะไรก็ได้

เรื่องพื้นที่ กระทรวงวัฒนธรรมไม่เห็นว่าเป็นเรื่องเร่งด่วน ซึ่งปัจจุบันนี้ก็ยังขาดแคลน เมื่อก่อนเคยมีสถาบันปรีดี พนมยงค์ เคยมี Democrazy ตอนนี้หายไปหมดแล้ว พื้นที่ของรัฐบาลที่เป็นรัฐบาลกลาง เช่น หอศิลป์กรุงเทพเป็นพื้นที่ของกระทรวงวัฒนธรรมก็มีปัญหามาก หรือแม้แต่หอศิลป์แห่งชาติ (ตั้งอยู่ด้านหลังกระทรวงวัฒนธรรม ใกล้กับศูนย์วัฒนธรรม ย่านรัชดาฯ พื้นที่ประมาณ 19,000 ตารางเมตร) สร้างเสร็จมาเป็นปีแล้ว มีให้เช่าจัด event แต่ยังไม่ได้เปิดอย่างเป็นทางการ เห็นมีโครงการจะทำโรงละครกับห้องซ้อมด้านหลังหอศิลป์แห่งชาติ มีโครงการมา 5-6 ปีแล้ว แต่ก็ยังไม่เริ่มสร้าง เพราะเขายังไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องเดือดร้อน ปัจจุบันการทำพื้นที่สำหรับงานศิลปะ ต้องใช้จัดนิทรรศการได้ เล่นละครได้ เล่นดนตรีได้ด้วย ฯลฯ ต้องเป็นพื้นที่อเนกประสงค์ทำได้หลายอย่าง จะทำให้คนมีโอกาสได้ดูงานหลากหลายภายในพื้นที่เดียว อันนี้ผมคิดว่าสำคัญมากครับ”

 


ART photo : Facebook page : NUNi Productions : จิร อังศุธรรมทัต

 

ภัทรสุดา อนุมานราชธน ผู้กำกับการแสดง ART

ครูบัว มีผลงานการแสดงละครดังเรื่องล่าสุด “บุษบาลุยไฟ” ของ Thai PBS รับบทเด่นเป็น คุณพุ่ม สมกับที่เป็นศิษย์เก่า คณะอักษรศาสตร์ ภาควิชาศิลปะการละคร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ปริญญาโท สาขาการแสดงจาก Goldsmiths College, University of London ได้รับทุนจาก Korea National University of Arts ไปดูงานด้านละครเวที และทำงานที่เกาหลีใต้, ได้รับรางวัล การกำกับการแสดงยอดเยี่ยม จากชมรมวิจารณ์ศิลปะการแสดงฯ เรื่อง คนก้างปลา ในปี 2559 ล่าสุดปีนี้ 2023 ได้รับเครื่องอิสริยาภรณ์ด้านอักษรศาสตร์และมนุษยศาสตร์ (Ordre des Arts et des Lettres) ชั้นอัศวิน (Chevalier) จาก ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส ในฐานะผู้มีผลงานดีเด่นด้านการละครและการภาพยนตร์ และได้ใช้ความรู้ความสามารถช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างราชอาณาจักรไทยและสาธารณรัฐฝรั่งเศส ART จึงเป็นทีมละครที่รวมทั้ง อัศวิน และศิลปินศิลปาธร เปิดสอนการแสดงทั่วประเทศในขอบเขตของละครเวที

เมื่อปี 2564 ครูบัวได้สร้างสรรค์งานละครเวทีเรื่อง “The Father” ของ Florian Zeller ร่วมกับสถานทูตฝรั่งเศส ในปี 2565 เมื่อได้รับโอกาสอีกครั้งจึงเป็นจุดดึงความสนใจให้นำละคร ART ละครเด่นที่ชอบเป็นการส่วนตัวกลับมาทำอีกหน โดยได้รับการสนับสนุนจากสถานทูตฝรั่งเศสให้ทำและทัวร์ บทภาษาไทยโดย ครูป้อม ผศ. ปวิตร มหาสารินันทน์ แปลจากภาษาอังกฤษไว้เมื่อ 20 กว่าปีก่อนจึงงอกงามตามความฝัน บทประพันธ์ถูกปรับรายละเอียดให้เป็นบริบทไทย เบรกให้เบาเพื่อคุมโทนของเรื่องให้รื่นรมย์สมชื่อ ART จาก PARIS สู่ กรุงเทพฯ ในเวลาหนึ่งปีกว่า จาก กันยายน 2565 ถึง 9 สิงหาคม 2566 รวม 33 รอบการแสดง และยังมีกำหนดการทัวร์ทั่วไทยไปต่อให้รอติดตามตลอดปีไม่มีเค้าสิ้นสุดง่ายๆ เลย

 


ART : photo : Facebook page : NUNi Productions : Khon Kaen

 

บัวชอบสาระของเรื่องที่พูดถึง มิตรภาพ ซึ่งใหญ่กว่าอะไรบางอย่างที่เรายึดถือ ประกอบกับคนน้อยของก็น้อยเลยไปแนวนี้ เราจะไม่วุ่นวายยึดความ Minimal ดีกว่า เลยฟอร์มทีมขึ้นมา คัดวัยไล่เลี่ยกันตามความเหมาะสมของบท ส่งข้อความถึงนักแสดงทุกอย่างเกิดขึ้นภายในเวลา 15 นาที ปรับบทกันเลย ฉากมีเฟอร์นิเจอร์ตัดออก direction การแสดงจาก event ก็เปลี่ยนเป็น activity ให้เหมาะกับตัวละคร อุปกรณ์ก็ขอยืมเจ้าภาพ มีกระเป๋าคนละใบไปไหนก็ไปกัน ทำงานกับสามคนสนุกมาก ขำกันตลอดเวลา เป็นนักแสดงที่ creative มาก ร่วมเสนอความคิดเห็นกัน บัวเป็นคนคอยดูอย่างเดียวว่าให้ภาพรวมมันชัดขึ้นมากกว่า

แรกเลยบัวต้องการทำเป็นเวอร์ชันผู้หญิง จากบทเดิมที่เป็นผู้ชายทั้งหมด อยากเล่นบทพี่นิกรที่ตรงข้ามกับตัวจริงมาก แต่คนเขียน (เจ้าของบทประพันธ์ชาวฝรั่งเศส ยัสมีนา เรซา (Yasmina Reza) ไม่อนุญาต อาจมีเหตุผลที่จะกระทบเนื้อหา ทางสถานทูตเสนอให้บัวเล่น พี่บิ๊กกำกับ (ดำเกิง ฐิตะปิยะศักดิ์) เราไม่มีสิทธิ์เปลี่ยนไอเดียของบท บัวเองก็ไม่โอเค เราขึ้นชื่อเจ้าของงานเขียนด้วย เพราะต้องเคารพลิขสิทธิ์ให้เกียรติคนเขียน เราจ่ายค่าลิขสิทธิ์ด้วย เขาไม่จำกัดจำนวนรอบที่เล่น บทเราเปลี่ยนเฉพาะ context เพื่อให้แก่นบรรลุหน้าที่ของมันมากขึ้น เปลี่ยนได้เพียง 7 จุด เช่น ชื่อจากฝรั่งเศสเป็นไทย ร้านอาหาร ถนน รูปภาพ ให้เข้ากับภาคอีสานภาคใต้ ในเชิงภูมิศาสตร์มากกว่าค่ะ หนังสือที่ดำอ่านแล้วแนะนำเพื่อนก็เปลี่ยนจากหนังสือของฝรั่งเศส ‘De Vita Beata’ เป็นปรัชญาตะวันออก ‘TAO TE CHING’ เพื่อให้เข้ากับคนไทยในบริบทเอเชีย

ตอนที่อ่านบทดั้งเดิมมีบางจุดที่บัวไม่เข้าใจจะวงไว้เลย มั่นใจว่าจุดที่โบว์ไม่เข้าใจต้องเปลี่ยนใหม่หมดเลย อย่างน้อยทุกคนต้องเข้าใจ เพราะคิดว่าทำในฐานะตัวแทนคนดู ดูแล้วต้องไม่เอ๊ะ!? ต้องไปต่อได้ไม่ติดขัด เช่น ชื่อยาหอมของฝรั่ง Ignatia เป็นชื่อเฉพาะ เราต้องมาคิดว่ายารักษาแบบทางเลือกอะไรที่เป็นสมุนไพรธรรมชาติ ไม่ใช่ยาเม็ดเคมีที่เข้ากับตัวละคร ในต้นฉบับฝรั่งเศสเดิมใช้ชื่ออะไร พอแปลเป็นอังกฤษแล้วใช้ชื่ออะไร พอเป็นบทไทยเราจะยึดอะไร เราจะยอมใช้คำเดิมแต่ไม่รู้เรื่อง หรือเปลี่ยนเป็นอันใหม่แต่คนไทยเข้าใจ ทุกคนช่วยกันตัดสินใจ เพื่อให้ฝรั่งที่จะอ่านก็ดูได้ ฝรั่งที่ทั้งอ่านและฟังก็รู้เรื่อง คนไทยที่ทั้งฟังและอ่านอังกฤษ ฝรั่งเศสล่ะ เราค่อนข้างละเอียดว่าถ้าคนทั้งฟังทั้งอ่านเขาจะถามเราไหม ว่าทำไมใช้ซับคำนี้ เป็น choice ที่ละเอียดมากที่จะเลือก เราทำบทกันสามคน มีเพื่อนผู้เชี่ยวชาญภาษาฝรั่งเศสหนึ่งคน บัวไม่อ่านฝรั่งเศส เช็กตรงจากอังกฤษ ฟังภาษาไทย แล้วเช็กคำย้อนกลับไปที่ต้นฉบับว่ามันใกล้กันไหม บางทีภาษาไทยความหมายใกล้กว่าภาษาอังกฤษอีก บางคำถ้าเราแปลจากอังกฤษมันก็จะหายไป ถ้าแปลจากฝรั่งเศสมาเลยยังจะใกล้มากกว่า ทำเทียบภาษาเป็นสามเหลี่ยมตลอด ต้องค้นขนาดนั้นเลย เพื่อที่จะเลือกมาเป็น ยาหอม มันมีที่มาที่ไปเราไม่ได้คิดขึ้นมาเองค่ะ”

 


ART photo : Facebook page : NUNi Productions : Chiangmai

 

“เราขอการสนับสนุนเฉพาะในสิ่งที่เราไม่สามารถหาเองได้ ไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายทั้งหมดค่ะ เจ้าภาพที่เชิญไปก็ช่วยกันหลายฝ่ายเพื่อให้งานมันเกิด ทุกทริปได้รับทุนสนับสนุนจากสถานที่ที่ไปเป็นค่าใช้จ่ายสมทบ บัวเบื่อละครคนเยอะอยากทำคนน้อยๆ ไปได้หลายที่ คนดูแต่ละที่ตอบรับไม่เหมือนกัน เพราะมีหลากหลายกลุ่มทั้งเด็ก ทั้งนักศึกษาคละกันตลอด เขาแชร์ในสิ่งที่เขาเชื่อ แล้วพอคนอีกรุ่นแชร์เขาก็ได้ฟังความคิดคนอื่นด้วย งานดีไซน์ก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามสถานที่ที่เราไป ได้ทำงานกับคนในพื้นที่ กับทีมเราเองด้วย ทำให้สนิทกัน บัวพบว่าตัวเองชอบทำแบบนี้ ฝรั่งหลายคนที่ดูก็บอกว่าตอนตีกันจะไม่แรงเท่าเวอร์ชันของฝรั่งที่ซีเรียสตลอดเวลาเพื่อปะทะ ตีกันแบบจะเอาตาย แต่เราคิดว่ามันจริงจังมากเกินไป หนักไป แล้วจะทำให้เรื่องช้าด้วย อารมณ์ก็จะไปทางเดียวไม่มีหลายอารมณ์

จากที่เริ่มเล่นจนผ่านไปเป็นปีแล้ว สิ่งที่เราได้กลับมาคือ คนดูประหลาดใจว่านี่หรือคือละครฝรั่งเศส!? หนึ่ง เขาไม่ทันคิดว่ามันดูไม่เหมือนฝรั่งเศส ฟังดูไทยมาก อันนี้สำหรับบัวถือว่าบรรลุ เพราะเราจงใจทำให้มันไม่มีกลิ่นฝรั่งเหลืออยู่ แต่แก่นซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุดยังอยู่ สอง การที่เราเปิด discussion หลังการแสดง เป็นการเปิดให้ทุกคนกล้าที่จะฟัง เราได้ฟังคนอื่นไหมอันนี้สำคัญมาก อย่างน้อยฟังว่าคนอื่นรู้สึกยังไง กล้าที่จะถาม บางคนอยากแชร์ บางคนชอบฟังเฉยๆ ก็แล้วแต่ เป็น space ที่ดี เป็นการสร้างนิสัยที่ดี ที่เราจะเปิดให้ทุกคนแชร์ได้ ไม่ใช่แค่เขียนใน facebook แล้วแชร์ อันนี้คือเปิดกว้างเป็นสาธารณะมากกว่า เพราะคุย ถาม ต่อหน้า อยากรู้อะไรถามเลย อย่าคิดเอง ชอบๆ ชมๆ ความรู้สึกที่เราแชร์ moment นี้ด้วยกันมัน Live Performance สำหรับบัวเป็นสิ่งที่สำคัญกว่าการดูหนัง Netflix อยู่บ้านคนเดียวค่ะ

“ทุกครั้งหลังการแสดงจบ ที่มีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ไม่ได้คิดถึงขนาด educate คนดูนะคะ แค่คิดว่าเราอยาก present เรื่องนี้ อยากแชร์กัน คนดูพูดว่าเขาก็เป็นอย่างนี้นะเวลาตีกับเพื่อนเห็นตัวเองในตัวละคร เห็นตัวเองเป็นดำ เกิงเป็นนิกร เห็นตัวเองในมุมต่างๆ แล้วเขาก็กลับมาคิดว่า แล้วเราจะรักษาสมดุลของมิตรภาพกับความถูกต้องที่เรายึดยังไง อันนี้เป็นสิ่งที่ดีมาก กระตุ้นให้คนดูมี feedback มีคำถามกลับมา กล้าที่จะบอกว่าไม่เข้าใจ กล้าบอกว่าชอบหรือไม่ชอบอะไร เราก็ได้ปรับในโชว์รอบต่อไป ประเด็นสำคัญคือ เรามี openion กับ art การเมือง รสนิยมเพศผู้ชายหรือหญิง หนังสือที่เราชอบ ต้องเคารพอีกคนที่เขาชอบหรือไม่ชอบเรา opinionสามารถถกกันในเชิง objective ไม่เอาอารมณ์เหมือนที่ตัวละครเป็น เราชอบเพราะอะไร ไม่ชอบเพราะอะไร ไม่ข้ามไปกัดกันในเรื่องบุคลิกส่วนตัว เรายังจะเก็บความเป็นเพื่อนไว้ได้ไหม เวลาขัดใจกับเพื่อนเรา ทั้งที่บางทียังแยกไม่ออกว่าเราตีกันเรื่องอะไร แล้วเราลามไปเรื่องอื่น เป็นเรื่องที่ Universal มาก แล้วมัน Timeless ให้ความสำคัญกับมิตรภาพมากกว่า มีสิ่งที่ beyond ความเชื่อของเราไหม เรายอมประนีประนอมอะไรได้ ที่จะรักษาสัมพันธ์ที่ดีไว้…” ครูบัว ทิ้งท้ายไว้ให้ผู้ชมคิดต่อ

 


ART photo : Facebook page : NUNi Productions : Khon Kaen

 

ละครเวที สร้างพื้นที่ เติบโต และขยายฐาน ด้วยตัวเองมานานกว่าศตวรรษ ชัดเจนในเป้าหมายที่มุ่งมั่น ไม่แข่งขันบนเวทีของสื่อบันเทิงในกระแสหลัก ที่หมุนเร็วและแรงเหวี่ยงสูงเกินจะรังสรรค์ให้ทันกับความต้องการ และรสนิยมของตลาดหลัก จึงเป็นอีกโลกของการเสพศิลป์ซึ่งอยู่ในทิศทางที่ถูกจัดวางอย่างเป็นมิตรตามแนวคิดแบบ MINIMALISM อันเป็น TREND หลักของโลกในทุกๆ เรื่อง ทั้งปัจจุบันและอนาคต ที่มนุษย์จำเป็นต้องลดการบริโภคทรัพยากรลงเพื่อคงความสมดุล ขอบคุณและเคารพต่อธรรมชาติอย่างนอบน้อม ยอมจำนนบนสภาพความเป็นจริงที่ต้องยอมรับ พร้อมกับคิดค้นวิธีการเอาชนะอย่างสมถะ สง่างาม ด้วยความทระนงทรงปัญญา เพื่อยืนยันว่านี่คือวิถีและแนวทางที่เป็นแบบอย่าง โดยศิลปินผู้สร้างสรรค์ จึงจะสมควรกับรางวัลอันทรงเกียรติอย่างแท้จริง.

“ART” จะเปิดการแสดงอีกครั้งที่กรุงเทพฯ ในเดือน พฤศจิกายน 2567 ณ River City Bangkok ชั้น 2 ห้อง RCB Forum ติดตามข่าวความเคลื่อนไหวได้ที่ 
https://www.facebook.com/nuniproductions และ
https://rivercitybangkok.com/  

 


ART photo : Facebook page : NUNi Productions

 

หมายเหตุสำคัญและอ้างอิง

  • photo : Facebook page : ชมรมวิจารณ์ศิลปะการแสดง
  • photo : Facebook page : Bacc หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
  • photo : Facebook page : NUNi Productions : จิร อังศุธรรมทัต
  • Photo : Facebook : NUNi Productions : Pattarasuda Anuman Rajadhon

รายการอ้างอิง


[1] ชมรมวิจารณ์ศิลปะการแสดง (2 พฤษภาคม 2566), ผลรางวัลละครเวทีและนาฏศิลป์ร่วมสมัยของประเทศไทย ประจำปี 2563–2565 (IATC Thailand Dance and Theatre Awards 2020-2022), [online] สืบค้นเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2566.

[2] ชมรมวิจารณ์ศิลปะการแสดง (2 พฤษภาคม 2566), IATC DANCE & THEATRE REVIEW 2020-2022 งานมอบรางวัลละครเวทีและนาฏศิลป์ร่วมสมัยของประเทศไทย 2563-2565, [online] สืบค้นเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2566.

[3] อ้างอิงแล้ว

[4] สมาคมวิจารณ์ละครนานาชาติ, [online] สืบค้นเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2566.

[5] สมาคมระหว่างประเทศของผู้นำโรงละคร, [online] สืบค้นเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2566.

[6] Ratchadamnoen Contemporary Art Center, นิกร แซ่ตั้ง, [online] สืบค้นเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2566.

[7] ละครเวที, “แมคเบธ”(Macbeth Drama Arts Chula), [online] สืบค้นเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2566.

[8] Ratchadamnoen Contemporary Art Center, นิกร แซ่ตั้ง, [online] สืบค้นเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2566.

[9] อ้างอิงแล้ว.

[10]  ชมรมวิจารณ์ศิลปะการแสดง (2 พฤษภาคม 2566), ผลรางวัลละครเวทีและนาฏศิลป์ร่วมสมัยของประเทศไทย ประจำปี 2563–2565 (IATC Thailand Dance and Theatre Awards 2020-2022), [online] สืบค้นเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2566.