ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ศิลปะ-วัฒนธรรม

Bangkok Theatre Festival 2023 “แสงสัจจา” ละครร้องโดยกลุ่มละครอนัตตา

5
พฤศจิกายน
2566

“ข้าพเจ้าเอง แม้จะมีทัศนคติเกี่ยวกับบุคคลนั้นๆ อย่างเปลี่ยนแปลงไปตามกาล แต่ก็ไม่เคยถึงขนาดเปลี่ยนอย่างขั้นพื้นฐาน ดังกรณีที่เกี่ยวกับนายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเกือบจะเรียกได้ว่าเป็นการเปลี่ยนทัศนคติจากหน้ามือเป็นหลังมือ หรือจากของที่คว่ำเป็นหงาย โดยการเปลี่ยนความเห็นเช่นนี้ใช่ว่าจะทำได้ง่าย” และ “บัดนี้ข้าพเจ้าเห็นแล้วว่า นายปรีดี พนมยงค์ เป็นขุนเขาอันยิ่งใหญ่ ที่แม้หมู่มารเอาเส้นผมและขวากหนามมาปิดกั้น ก็หาทำได้ตลอดไปไม่ ข้าพเจ้าถือเป็นภาระหน้าที่ที่จะต้องสนองคุณท่าน ด้วยการประกาศสัจจะให้แพร่หลายออกไปให้เป็นที่รับทราบกันในวงกว้างให้จงได้” ตอนหนึ่งในหนังสือ “เรื่องนายปรีดี พนมยงค์ ตามทัศนะ ส. ศิวรักษ์” หนังสือที่ใช้เป็นคลังข้อมูลสำหรับบทละครเรื่อง “แสงสัจจา”

 


ฉากหนึ่งในละคร "แสงสัจจา"
ที่มา : FB Tua Pradit Prasartthong

 

“แสงสัจจา” [Sang Sajja] ละครร้องแบบไทยสร้างใหม่ ทำการแสดงโดย กลุ่มละครอนัตตา Anatta Theatre เขียนบทและกำกับโดย ประดิษฐ ประสาททอง หนึ่งในสามผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มละครอนัตตาและ ศิลปินศิลปาธรสาขาศิลปะการแสดงคนแรก

นำเสนอเรื่องราวฉากสำคัญฉากหนึ่งในชีวิตของ ส. ศิวรักษ์ ที่มีต่อนายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส เมื่อคราวที่นายสุลักษณ์ ยังอยู่ในวัยหนุ่ม “เขา” ผู้ซึ่งมีอคติต่อเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 และทวีคูณมากขึ้นจนเมื่อเกิดการสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 8 ในปีพุทธศักราช 2489 

นายสุลักษณ์ได้เขียนบทความโจมตีนายปรีดีเสมอมา จนเวลาล่วงเลยความเข้าใจผิดต่างๆ นานาเริ่มคลี่คลาย อคติต่างๆ ได้ปลาสนาการหายไป นายสุลักษณ์ได้ตระหนักถึงความเป็นจริงราวปี 2523 เมื่อได้อ่านหนังสือ “คำตัดสินใหม่ กรณีสวรรคต ร.8” แบบรวดเดียวจบ โดยท้ายที่สุดได้เขียนจดหมายส่งถึงนายปรีดีเพื่อเป็นการขออโหสิกรรม และได้มีโอกาสเดินทางไปพบกับนายปรีดี ณ บ้านอองโตนี ประเทศฝรั่งเศสราวปี 2525 ก่อนหน้าการอสัญกรรมของรัฐบุรุษอาวุโสผู้นี้ไม่ถึงปี 

 


ฉากหนึ่งในละคร "แสงสัจจา"
ที่มา : FB Tua Pradit Prasartthong

 


“ตั้ว ประดิษฐ ประสาททอง” หนึ่งในสามผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มละครอนัตตา และ ศิลปินศิลปาธรสาขาศิลปะการแสดงคนแรก
ที่มา : FB Tua Pradit Prasartthong
Photo by Jira Angsutamatuch

 

“ตั้ว ประดิษฐ ประสาททอง” ได้เขียนถึงต้นธารบทละครแสงสัจจา ผ่าน Facebook ส่วนตัวว่า “ผมใช้เวลา 2-3 เดือนในปี 2560 เขียนบทละครร่างแรกสำเร็จ เพื่อเตรียมไว้จัดแสดงในโอกาสอันควร แต่เกิดเหตุวิปลาส Hard Disk พังพินาศ บทละครหลายๆ เรื่องที่เขียนไว้หายวับกู้กลับไม่ได้ ก็ท้อแท้ไม่คิดจะเขียนขึ้นอีก จนต้นปี 2566 มีเหตุให้จัดแสดงละครเรื่องนี้ในวาระ “90ปี สุลักษณ์ ศิวรักษ์” ผมจึงรวบรวมพละกำลังเขียนบทละครขึ้นใหม่จนสำเร็จได้ในเวลาไม่ถึงเดือน การจัดแสดงครั้งนั้นเป็นที่ชื่นชมแก่ผู้ชมอย่างน่าปลาบปลื้ม ผมจึงนำบทละครมาปรุงปรับให้เหมาะกับการจัดแสดงในเทศกาลละครกรุงเทพฯ ปีนี้ ในการสร้างบทละคร ผมใช้ข้อมูลอ้างอิงจากหนังสือสองเล่มนี้เป็นหลัก โดยเฉพาะ “เรื่องนายปรีดี พนมยงค์ ตามทัศนะ ส.ศิวรักษ์” ฉบับตีพิมพ์ครั้งที่ 4 ในปี 2543 ซึ่งฉายให้เห็นทัศนคติ ความคิด ความเชื่อของ อ.สุลักษณ์ที่มีต่อนายปรีดีฯ และระบอบประชาธิปไตยที่คลี่คลายไปด้วยเอกสารหลักฐานและปากคำของพยานบุคคลทั้งหลายในต่างกรรมต่างวาระ เส้นการเดินทางที่เคลื่อนไปของความคิดนี้มีความน่าสนใจ และน่าจะเป็นประโยชน์ต่อสังคม ณ ปัจจุบันนี้อยู่ไม่น้อย” 

 


ภาพจาก FB Anatta Theatre Troupe 

 

“แสงสัจจา” เป็นหนึ่งในการแสดงของเทศกาลละครกรุงเทพ Bangkok Theatre Festival 2023 ซึ่งจัดขึ้น ณ หอศิลปกรุงเทพฯ ยังคงเปิดทำการแสดงจนถึงสัปดาห์หน้า

รายชื่อทีมงาน - นักแสดง : 

  • เกรียงไกร ฟูเกษม 
  • ประดิษฐ ประสาททอง 
  • คานธี วสุวิชย์กิจ
  • ธันยธร จันเสถียร 
  • ภูริวัฑ ไตรสุวรรณ 
  • อาธิตญา เสาสมภพ 

รายชื่อนักร้อง : 

  • ดนย บุญทัศนกุล 
  • พิชญา ดังศิริแสงทอง 
  • ธนารัฐ ชมพูวณิชกุล 
  • สุพิชฌาย์ ขัตติยะมาน 

สร้างสรรค์ดนตรี : 

  • โสภณัฐ ฤกษ์สมุทร 
  • คานธี วสุวิชยกิจ

ออกแบบแสง : นิสิตา ผดุงศักดิ์สิน 
กำกับเทคนิค : ศรายุทธ เพชรสัมฤทธิ์ 
ประสานงานและประชาสัมพันธ์ : พชร อาชาศรัย
อำนวยการผลิต : ดวงใจ หิรัญศรี 

รอบการแสดง : 
4 - 5 พฤศจิกายน 2566 เวลา 17.30 - 18.30
11 - 12 พฤศจิกายน 2566 เวลา 19.00 - 20.00

สถานที่ : ห้องสตูดิโอ ชั้น 4 หอศิลปกรุงเทพฯ 

ราคาบัตร : 350 บาท

จองบัตร : https://forms.gle/moTnwRefWv3KpWat5

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : 09-7112-7514, 08-5157-5832

 


ฉากหนึ่งในละคร "แสงสัจจา"
ที่มา : FB Tua Pradit Prasartthong

 

ขอบคุณข้อมูล :

  • FB Tua Pradit Prasartthon
  • FB Anatta Theatre Troupe
  • FB Sulak Sivaraksa