Focus
- วัฒนธรรมมีอิทธิพลต่อความประพฤติของผู้คนในสังคม และสื่อสามารถนำเสนอสาระเชิงวัฒนธรรมที่มีผลต่อพฤติกรรมของมนุษย์ทั้งในแง่ดีและแง่ลบ โดยในแง่ลบประการหนึ่งก็คือวัฒนธรรมของความรุนแรงต่อผู้หญิงที่เป็นผลมาจากสื่อบันเทิง
- ในปัจจุบัน ความรุนแรงในครอบครัวกว่าร้อยละ 40 เป็นการใช้ความรุนแรงระหว่างสามีและภรรยา อันเป็นผลมาจากปัจจัยเชิงวัฒนธรรมที่สร้างบทบาทที่แตกต่างกันของหญิงและชาย และสื่อบันเทิงนำเสนอละครที่เป็นการผลิตซ้ำความรุนแรงต่อผู้หญิง เพราะส่วนหนึ่งสร้างขึ้นจากบทประพันธ์ที่มีวิธีคิดแบบชายเป็นใหญ่
- การเปลี่ยนแปลงในระดับวัฒนธรรมเป็นสิ่งจำเป็นที่ลดความรุนแรงต่อผู้หญิง โดยสื่อควรจะต้องสร้างภาพใหม่ให้ผู้หญิงมีความเข้มแข็งมากขึ้น สามารถก้าวออกไปใช้ชีวิต และมีพื้นที่ทัดเทียมกันกับผู้ชาย และเลิกสร้างผลงาน ทั้งในประเทศและการส่งออกสินค้าทางวัฒนธรรมไทยไปต่างประเทศที่สร้างความชอบธรรมให้กับการใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิง
ในโอกาสที่วันที่ 25 พฤศจิกายน ของทุกปีเป็นวันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล (International Day for the Elimination of Violence against Women) ผู้เขียนจึงใคร่ขอนำเสนอถึงประเด็นวัฒนธรรมว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญต่อการกำหนดรูปแบบและส่งอิทธิพลต่อความประพฤติของคนในสังคม อิทธิพลของวัฒนธรรมปรากฏชัดเจนเป็นพิเศษผ่านสื่อบันเทิง โดยสื่อบันเทิงไม่ได้มีผลต่อพฤติกรรมของมนุษย์เฉพาะในแง่ดีแต่ผลของการทำสื่อบันเทิงอาจส่งผลกระทบในเชิงลบได้เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อคนบางกลุ่ม อาทิ เด็กและผู้หญิง ทั้งในฐานะของผู้รับสารจากสื่อบันเทิงและผู้รับผลลัพธ์ของความรุนแรงนั้นๆ สิ่งนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ประเทศไทยควรย้อนกลับมาพิจารณาเมื่อประเทศไทยต้องการก้าวเข้าไปอยู่ในตำแหน่งของผู้ส่งออกสินค้าทางวัฒนธรรมต่างๆ และเริ่มมีบทบาทในการเมืองโลกผ่านวัฒนธรรม
บทความชิ้นนี้จึงพยายามสำรวจความเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรมและความรุนแรงต่อผู้หญิงที่เป็นผลมาจากสื่อบันเทิง
ความรุนแรงในครอบครัว คือความรุนแรงต่อผู้หญิง
จากการสำรวจสถิติความรุนแรงในครอบครัวไทยของกรมกิจการสตรีและครอบครัวในช่วงตุลาคม 2564 - กันยายน 2565 พบว่า สถานการณ์ความรุนแรงในประเทศไทยเกิดขึ้นกับผู้หญิงกว่าร้อยละ 82.78 ของจำนวนกรณีความรุนแรงที่เกิดขึ้นทั้งหมด ในขณะที่ผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัวร้อยละ 90.5 ของจำนวนผู้กระทำความรุนแรงทั้งหมดเป็นผู้ชาย
ในแง่ของจำนวนเหตุการณ์ความรุนแรงในช่วงตุลาคม 2564 - กันยายน 2565 เฉลี่ยเดือนละ 196 รายต่อเดือน โดยเดือนที่มีผู้ถูกกระทำความรุนแรงมากที่สุดคือ เดือนพฤศจิกายน 2564 จำนวน 247 ราย และเมื่อย้อนกลับไปมองภาพความรุนแรงย้อนหลังในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา (ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 - 2566) พบว่า จำนวนเหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยมีความรุนแรงเฉลี่ยเกิดขึ้น 1,660 รายต่อปี
นอกจากนี้ จากการสำรวจดังกล่าวระบุว่า ความรุนแรงในครอบครัวส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นช่วงเดือนตุลาคม 2564 ถึงกันยายน 2565 จำนวนกว่าร้อยละ 42.8 ของจำนวนเหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัว เกิดขึ้นในความสัมพันธ์ระหว่างสามี-ภริยา
โดยสาเหตุ 10 อันดับแรกของความรุนแรงในครอบครัวเกิดมาจาก
- ยาเสพติด ร้อยละ 19.3
- สุรา ร้อยละ 11.8
- ความหึงหวง ร้อยละ 10.8
- สุราและการบันดาลโทสะ ร้อยละ 9.9
- บันดาลโทสะ ร้อยละ 8.6
- ความรู้สึกว่าตนมีอำนาจมากกว่า ร้อยละ 8.1
- หย่าร้าง ร้อยละ 6.3
- ปัญหาสุขภาพจิต ร้อยละ 4.9
- สุราและยาเสพติด ร้อยละ 4.7
- ปัญหาอื่นๆ อาทิ ความเครียดทางเศรษฐกิจ และการพนัน ร้อยละ 15.6
ผลของความรุนแรงที่เกิดขึ้นนี้กระทบต่อทั้งร่างกาย จิตใจ เพศ และชีวิตของผู้ถูกกระทำความรุนแรง โดยผลกระทบต่อร่างกายถือว่าเป็นผลกระทบอันดับแรกๆ ที่เกิดขึ้น
จุดที่น่าสนใจเกี่ยวกับสาเหตุการใช้ความรุนแรงในครอบครัวประการหนึ่งก็คือ สาเหตุที่ว่าตนมีความรู้สึกว่าตนมีอำนาจมากกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งปัจจัยดังกล่าวเป็นผลมาจากปัจจัยเชิงวัฒนธรรมที่สร้างบทบาทของหญิงและชาย
สื่อบันเทิงกับความรุนแรงต่อผู้หญิง
ตลอดช่วงระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา สื่อบันเทิงไทยมีการนำเสนอละคร ซีรีส์ หรือภาพยนตร์ ซึ่งหลายเรื่องดัดแปลงมาจากบทประพันธ์ที่มีชื่อดังหรือละครที่ประสบความสำเร็จในการถ่ายทำตลอดกาล โดยบรรดาละคร ซีรีส์ หรือภาพยนตร์เหล่านี้บางเรื่องมีการทำซ้ำมากกว่าหนึ่งครั้ง และหลายเรื่องมีการทำซ้ำหลายครั้ง (มากถึง 5-6 ครั้งในรูปแบบที่แตกต่าง)
ปัญหาของการนำบทประพันธ์ที่มีชื่อเสียงหรือละครที่ประสบความสำเร็จนี้คือ การผลิตซ้ำความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้หญิง บทประพันธ์หรือละครเหล่านี้ส่วนหนึ่งสร้างขึ้นบนวิธีคิดแบบชายเป็นใหญ่ กล่าวคือ บทประพันธ์เหล่านี้ให้ความชอบธรรมแก่ผู้ชายกับพฤติกรรมแบบผู้ชายกระแสหลัก ซึ่งทำให้เกิดการตั้งท่าทีรังเกียจกับคนที่เป็น LGBTQ+ หรือยอมรับการใช้ความรุนแรงกับผู้หญิงหรือสร้างบทบาทของผู้หญิงให้ด้อยกว่าหรือต้องพึ่งพาผู้ชาย
จุดที่น่ากังวลที่สุดก็คือ การให้ความชอบธรรมกับการข่มขืน ละครโทรทัศน์ส่วนหนึ่งที่ดัดแปลงมาจากบทประพันธ์เก่าหรือละครที่มีชื่อเสียงในอดีตบางเรื่องได้พยายามนำเสนอภาพของความชอบธรรมเกี่ยวกับการข่มขืนในหลายๆ ลักษณะ อาทิ ตัวละครเอกฝ่ายหญิงถูกตัวละครเอกฝ่ายชายข่มขืน กรณีนี้เป็นการใช้การข่มขืนเป็นเงื่อนไขของความรักและเป็นการทำให้การข่มขืนกลายเป็นเรื่องโรแมนติก ซึ่งในตอนสุดท้ายเรื่องก็จะจบลงอย่าง Happy Ending หรืออีกกรณีหนึ่งก็คือ ตัวละครหญิงฝ่ายร้าย (ผู้เขียนลำบากใจมากที่จะเรียกว่านางร้าย) ซึ่งทำเรื่องไม่ดีมาทั้งหมดตลอดทั้งเรื่องอาจจะมีจุดจบคือ การถูกข่มขืน การถูกนำไปค้าประเวณี หรือการติดโรคร้ายแรงทางเพศสัมพันธ์ หรือไม่ว่าจะกรณีใดๆ ก็ตาม
สิ่งเหล่านี้คือการที่ผู้เขียนบทประพันธ์พยายามนำเสนอภาพของการสั่งสอนและชี้ให้เห็นผลร้ายของการทำตัวเป็นคนไม่ดีตามบทประพันธ์ ปัญหาก็คือ การที่ตัวละครหญิงฝ่ายร้ายถูกข่มขืนกับกลายเป็นเรื่องสะใจหรือที่พึงพอใจของผู้ชม เพราะมองว่าเหมาะสมกับสิ่งเลวร้ายที่ตัวละครนั้น ความเลวร้ายในเรื่องดังกล่าวถูกจัดให้เลวร้ายเสียยิ่งกว่าการถูกดำเนินคดีหรือถูกนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ในขณะเดียวกันตัวละครชายที่ข่มขืนตัวละครหญิงฝ่ายร้ายนี้ก็ไม่ได้รับผลร้ายจากการกระทำ
สถานการณ์ของการฉายวนภาพของความรุนแรงกับผู้หญิงและการข่มขืนในละครไทยเริ่มกลับมามีอีกครั้งหนึ่ง ในช่วงขาลงของธุรกิจโทรทัศน์ไทยที่หลายๆ ช่องเริ่มนำละครที่เคยได้รับความนิยมกลับมาฉายซ้ำในช่วงเวลาที่ไม่ได้ไพรม์ไทม์ (ช่วงเวลายอดนิยม)
สิ่งสำคัญที่ต้องตระหนักไว้ก็คือ ไม่ควรมีใครสมควรถูกข่มขืน สิ่งนี้เป็นหลักการสำคัญที่สุด
นอกจากเรื่องการข่มขืนแล้ว ละคร ซีรีส์ หรือภาพยนตร์จำนวนหนึ่งยังให้ความสำคัญหรือกำหนดคุณค่าของผู้หญิงอยู่ที่แบบแผนที่สังคมปรารถนาหรือมาตรฐานความสวยงามไว้กับรูปแบบที่คนส่วนใหญ่พึงพอใจมากกว่าจะเปิดพื้นที่ให้กับความหลากหลายหรือสร้างเรื่องราวที่เสริมสร้างให้ยอมรับความหลากหลาย แน่นอนว่าในปัจจุบันเราเริ่มเห็นผลงานที่นำเสนอในประเด็นนี้แล้วและคาดหวังว่าจะดีขึ้นเรื่อยๆ
อีกรูปแบบหนึ่งของความรุนแรงที่ปรากฏในละคร ซีรีส์ หรือภาพยนตร์คือ การสร้างภาพของการทำร้ายร่างกายของตัวละครฝ่ายหญิงเพื่อแย่งชิงฝ่ายชาย ซึ่งทำให้ภาพของความภราดรภาพในหมู่ผู้หญิงอ่อนแอลง โดยทำให้ผู้หญิงเข้าสู่ความขัดแย้งเพื่อแย่งชิงผู้ชายกัน มากกว่าการสร้างคุณค่าของตัวละครหญิงเอง
การสร้างความตระหนักรู้ต่อความรุนแรงคือเรื่องสำคัญ
ความรุนแรงไม่ใช่เรื่องส่วนตัวแต่เป็นปัญหาโดยรวมของสังคม กลไกการสร้างความตระหนักรู้มีส่วนสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิงที่ยั่งยืนที่สุด คือ การเปลี่ยนแปลงในระดับวัฒนธรรม
การเปลี่ยนแปลงในระดับวัฒนธรรม โจทย์ที่สำคัญจึงมาตกอยู่กับการทำอย่างไรให้สามารถขับเคลื่อนคุณค่าของผู้หญิงและการต่อต้านความรุนแรงต่อผู้หญิงไปสู่สังคมที่ผู้หญิงมีคุณค่าและได้รับการเสริมพลังอย่างเต็มที่
การสร้างความตระหนักรู้ควรจะเริ่มต้นจากการอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ ให้กับคนในสังคมเข้าใจ แม้ว่าผู้เขียนจะพูดถึงบทประพันธ์เก่าหรือที่เราเรียกว่างานคลาสสิกว่า อาจจะไม่สอดคล้องกับบริบทปัจจุบัน แต่ในการนำเสนองานดังกล่าวอาจต้องผ่านการปรับปรุงหรืออย่างน้อยที่สุด สื่อควรมีบทบาทในการอธิบายพฤติกรรมดังกล่าวว่าเหมาะสมหรือไม่ และให้ข้อมูลกับผู้เสพสื่อเพื่อให้เขาสามารถตัดสินใจต่อไปได้
บทบาทของสื่อบันเทิงควรเปลี่ยนไป สื่อควรจะต้องสร้างภาพแทนใหม่ให้ผู้หญิงมีความเข้มแข็งมากขึ้นสามารถก้าวออกไปใช้ชีวิตและมีพื้นที่ทัดเทียมกันกับผู้ชาย รวมถึงควรเลิกสร้างสื่อที่ผลักดันหรือสร้างความชอบธรรมให้กับการใช้ความรุนแรง ปัญหาสำคัญที่สุดของสื่อปัจจุบันคือ การทำให้เกิดวัฒนธรรมที่ผู้ชายรู้สึกว่าตนมีอำนาจมากกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง ศักยภาพของผู้ผลิตสื่อไทยสามารถที่จะนำเสนอประเด็นความรักโรแมนติกโดยที่ไม่ต้องมีการข่มขืนหรือการทำร้ายร่างกายกันได้
ในแง่ของรัฐบาลที่ต้องการส่งออกสินค้าทางวัฒนธรรมออกไปสู่ต่างประเทศ รัฐบาลอาจจะต้องกลับมาทบทวนก่อนว่า สินค้าที่จะส่งออกนี้มีคุณภาพเพียงพอหรือไม่ ที่จะใช้เป็นฐานในการขยายผลและสร้างที่มั่นทางการเมืองระหว่างประเทศ เมื่อเทียบกับการส่งออกสินค้าทางวัฒนธรรมในต่างประเทศที่มีการปรับตัวเข้าสู่บริบทของสังคมใหม่ๆ แล้ว ภาพของการใช้ความรุนแรง การหึงหวงแบบเกินเลย หรือการข่มขืนไม่ควรจะต้องอยู่ในชั้นวางขายสินค้าอีกต่อไป
รายการอ้างอิง
- กรมกิจการสตรีและครอบครัว, “สถิติความรุนแรงในครอบครัว ในรอบ 7 ปี,” สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) [Online], สืบค้นเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2566.
- กรมกิจการสตรีและครอบครัว, “สถิติความรุนแรงในครอบครัว 76 จังหวัด และกรุงเทพฯ ประจำปี 2565,” สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) [Online], สืบค้นเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2566.