ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

ชะตาชีวิตของเตียง ศิริขันธ์ก่อนจะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

5
ธันวาคม
2566

Focus

  • นายเตียง ศิริขันธ์ จบการศึกษาอักษรศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นอกจากเป็น ส.ส. แล้ว เขายังเป็นสมาชิกขบวนการเสรีไทยเพื่อต่อต้านกองทัพญี่ปุ่น และรัฐมนตรี (ลอย) หลังสงครามโลกครั้งที่สอง
  • นายเตียงเป็นนักแสวงหาความรู้ ทั้งในเชิงวรรณคดี ประวัติศาสตร์และการเมือง การศึกษาและการสอน รวมถึงจิตวิทยา ฝึกฝนตนเป็นนักเขียน เป็นครูผู้สอนที่ดีของนักเรียนในวิชาจรรยาหรือจริยธรรม และวิชาประวัติศาสตร์ และนักแต่งกลอนที่คมคาย
  • นายเตียงขุนพลแห่งภาคอีสานถูกจับและดำเนินคดีอันเป็นคอมมิวนิสต์สมัยเป็นครู แม้ต่อสู้คดีชนะ แต่ได้ลาออกจากราชการไปเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์เสรีราษฎร์  ที่เน้นเสรีภาพ และความเท่าเทียมกันของผู้คน ได้รับความนิยมเป็น สส. ระหว่าง พ.ศ. 2480 - 2495 แต่ในที่สุดในปีสุดท้าย พ.ศ. 2495 นักประชาธิปไตยผู้นี้ก็ลูกอุ้มหายและสังหารโดยตำรวจ พร้อมคนอื่นๆ อีก 4 คน

 

ช่วงทศวรรษ 2560 ดูเหมือนจะเริ่มมีคนสนใจศึกษาเรื่องราวของ นายเตียง ศิริขันธ์ กันอย่างหนาตายิ่งขึ้น ดังปรากฏงานเขียนถึงบุคคลในประวัติศาสตร์การเมืองไทยผู้นี้จำนวนไม่น้อยผ่านทางหน้าสื่อออนไลน์ ซึ่งส่วนใหญ่มักมุ่งเน้นนำเสนอบทบาทความเป็นสมาชิกขบวนการเสรีไทยเพื่อต่อต้านกองทัพญี่ปุ่นแห่งภาคอีสานจนได้รับฉายาเรียกขานว่า “ขุนพลภูพาน” และการที่เขาต้องถูกฆาตกรรมทางการเมืองด้วยวิธีการ “อุ้มหาย” นั่นคือมีบุคคลลึกลับมาอุ้มตัวหายสาบสูญไปก่อนจะพบภายหลังว่าถูกสังหารแล้ว หากเท่าที่ลองสำรวจดู ยังไม่ค่อยเห็นใครถ่ายทอดถึงชีวิตของ นายเตียง ช่วงก่อนหน้าที่เขาจะดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสักเท่าใด ในวาระครบรอบ 114 ปีชาตกาล ผมจึงใคร่ถือโอกาสนี้บอกเล่าให้คุณผู้อ่านทั้งหลายรับทราบโดยทั่วกัน

นายเตียง ลืมตาดูโลกหนแรกเมื่อวันอาทิตย์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2452 เป็นบุตรชายคนที่ 6 ของนายฮ้อยบุดดี คหบดีแห่งเมืองสกลนคร และนางอ้ม บุตรีท้าวมหาเสนา นายฮ้อยบุดดีมีฐานะมั่งคั่งเพราะเป็นผู้รับซื้อวัวควายในมณฑลอีสานส่งไปขายทางพม่า และต่อมาครองบรรดาศักดิ์ “ขุนนิเทศพานิช” ฉะนั้น ชีวิตวัยเยาว์ของนายเตียงจึงถือว่าไม่ลำบากยากเข็ญ เขาเป็นเด็กเรียนหนังสือเก่ง ได้เข้าเรียนในโรงเรียนสกลราชวิทยานุกูลจนจบชั้นมัธยมต้น ก่อนจะเดินทางจากสกลนครไปเรียนต่อที่โรงเรียนอุดรพิทยานุกูลในเมืองอุดร แล้วเดินทางเข้ากรุงเทพมหานครมาศึกษาต่อที่โรงเรียนวัดบวรนิเวศจนสำเร็จประกาศนียบัตรประโยคครูประถม อีกทั้งยังได้รับทุนศึกษาต่อที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งยุคนั้นยังไม่มีระดับชั้นปริญญา แต่ถ้าเรียนสำเร็จหลักสูตรจะได้รับประกาศนียบัตรประโยคครูมัธยมเป็นรุ่นแรกของคณะ

ขณะที่ นายเตียง กำลังเป็นนิสิตคณะอักษรศาสตร์ เขาหมั่นค้นคว้าแสวงหาความรู้เสมอๆ โดยเฉพาะหนังสือภาษาอังกฤษจะชื่นชอบยิ่งนัก นายเตียงจะอ่านทั้งวรรณคดี ประวัติศาสตร์ การเมือง การศึกษาและการสอน รวมถึงจิตวิทยา มิเว้นกระทั่งสารานุกรม (Encyclopedia) อย่าง Britannica และ Social sciences สำหรับหนังสือที่เขาทุ่มเทเวลาให้เป็นพิเศษคือชุดคลาสสิคของ Everyman's Library หรือที่เรียกกันว่า “Everyman Classics” ซึ่งสมัยนั้นถือเป็นหนังสือชั้นดีมีรสนิยม โดยเขาคร่ำเคร่งอ่านอย่างน้อย 3 เล่มต่อหนึ่งเดือน

Everyman's Library ก่อตั้งขึ้นโดย โจเซฟ เดนท์ (Joseph Dent) เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1906 (ตรงกับ พ.ศ. 2449) เดนท์เป็นยอดนักคัดสรรผลงานคุณภาพ ดังนั้น หนังสือที่จัดพิมพ์เผยแพร่โดย Everyman's Library จึงได้รับความเชื่อถือจากนักอ่านในโลกตะวันตกว่าย่อมจะเป็นหนังสือดีมีประโยชน์ ช่วงต้นทศวรรษ 2470 ที่ นายเตียง เรียนมหาวิทยาลัย โจเซฟ เดนท์ คงจะไม่มีลมหายใจอยู่ในโลกแล้ว เพราะเขาเสียชีวิตเมื่อปี ค.ศ. 1926 (ตรงกับ พ.ศ. 2469) แต่หนังสือของเขากลับยิ่งเป็นที่นิยมสูงขึ้น

 


เตียง ศิริขันธ์ เมื่อครั้งยังเรียนที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

ไม่เพียงเป็นนักอ่านตัวยง นายเตียง ยังฝึกฝนจะเป็นนักเขียน ดังในปี พ.ศ. 2471 เขาเขียนเรียงความเรื่อง “พระบรมรูปทรงม้า” ส่งเข้าประกวด และได้รับรางวัลที่หนึ่งจากเงินทุนพระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา

การประกวดเขียนเรียงความนี้สืบเนื่องจาก พระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ทรงบำเพ็ญพระกุศลฉลองพระชนมายุ 60 พรรษาเมื่อปี พ.ศ. 2466 และประทานเงิน 3,000 บาทบำรุงจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อันเป็นอนุสาวรีย์แห่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เพื่อทรงอุทิศส่วนพระกุศลถวายสนองพระเดชพระคุณ กระทรวงธรรมการได้ตั้งเงินจำนวนดังกล่าวเป็นทุนสำหรับเก็บผลประโยชน์มามอบให้เป็นรางวัลแก่นิสิตของมหาวิทยาลัยผู้แสดงความสามารถในการแต่งเรื่องความเป็นไปในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง และตั้งกรรมการขึ้นคณะหนึ่งเพื่อจัดการเงินทุนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2467

ปีที่ นายเตียง ได้รับรางวัลนั้น ทางคณะกรรมการกำหนดให้แต่งเรียงความเข้าประกวดหัวข้อ “พระบรมรูปทรงม้า” ดัง พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัต เสนาบดีกระทรวงธรรมการแถลงไว้เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2471 ว่า

 

“การแต่งเรืองเพื่อรับรางวัลสำหรับศกนี้  พระเจ้าบรมวงศ์เธอ  กรมพระดำรงราชานุภาพ ประทานหัวข้อให้นักเรียนแต่ง เรื่องพระบรมรูปทรงม้า  และทรงรับเป็นผู้ตัดสินให้รางวัลเหมือนศกที่แล้วๆมา นับว่าเป็นพระกรุณาคุณอันใหญ่ยิ่ง นักเรียนมหาวิทยาลัยแต่งส่งกรรมการ เพื่อประกวดรับรางวัล ๒๒ สำนวน  กรรมการได้ตรวจคัดเลือก  แล้วนำถวายพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์นั้น ทรงพิจารณา ได้ทรงตัดสินให้สำนวนของนายเตียง ศิริขันธ์ คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ได้รับรางวัล  สำนวนของนายคำหมื่น เทพมณี คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ เป็นรองลงมา ได้รับความชมเชย กรรมการได้พิมพ์ ๒ สำนวนนี้ เพื่อแจกแก่ผู้มาถวายบังคมพระบรมรูปทรงม้า ในวันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๑ เพื่อเป็นเครื่องเผยแผ่พระเกียรติคุณแห่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง

ขอผลแห่งพระกุศลที่ พระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ได้ทรงบำเพ็ญด้วยพระกตัญญูกตเวทีนี้  จงสำเร็จเป็นปุพพเปตพลีธรรมบรรณาการ บันดาลสรรพทิพยารมณ์ประสิทธิ์ถวายแด่ พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๕ พระปิยมหาราชเจ้า สมพระประสงค์ และขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัยจงบันดาลให้ พระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ทรงพระเจริญด้วยจตุพิธธรรมทุกประการ

ขอขอบใจ พระยาอุปกิตศิลปสาร ปลัดกรมตำรา กระทรวงธรรมการ ที่ได้ช่วยตรวจในเบื้องต้น

อนึ่ง ขอสรรพสิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคล  จงมีแก่นักเรียนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เพียรแสดงพระเกียรติคุณแห่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ให้เผยยิ่งขึ้น อันนับเนื่องเข้าในกตัญญูกตเวทีธรรมอีกแผนกหนึ่งด้วย”

 

ด้าน นายคำหมื่น เทพมณี ผู้ได้รับรางวัลชมเชยเป็นชาวลำพูน อยากจะเล่าข้อมูลเพิ่มเติมให้ฟังอีกว่า เมื่อครั้งผมเคยไปลงพื้นที่เก็บข้อมูลและสัมภาษณ์คนเมืองลำพูนช่วงปี พ.ศ. 2562 ผมได้พบและสนทนากับทายาทรุ่นหลังของตระกูลเทพมณี จึงทราบว่า นายคำหมื่น เป็นบุตรคนสุดท้องในบรรดาบุตรธิดาทั้งหกของ พ่อน้อยลูน กับ แม่เฒ่าขาว และเป็นน้องชายของ นายสุข เทพมณี นายกเทศมนตรีเมืองลำพูน และเจ้าของโรงน้ำแข็งหริภุญชัย อันถือเป็นโรงน้ำแข็งแห่งแรกของเมือง

ด้วยว่าปัจจุบันนี้ ผลงานเรียงความที่คว้ารางวัลชนะเลิศของ นายเตียง คงจะหาอ่านได้ยากยิ่งแล้ว ผมจึงขอยกเนื้อความมาแสดงไว้ทั้งหมด เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงแนวความคิดและฝีไม้ลายมือทางภาษาในวัยหนุ่มของเขา

 


เรียงความเรื่องพระบรมรูปทรงม้า ของนายเตียง ศิริขันธ์

 

พระบรมรูปทรงม้า
นายเตียง ศิริขันธ์ เรียบเรียง
พ.ศ. ๒๔๗๑

--------------------

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระปิยมหาราชเจ้า เป็นพระบรมราชโอรสในพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี ทรงพระราชสมภพเมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ. ๒๓๙๖ ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติสืบสันตติวงศ์เป็นพระองค์ที่ ๕ แห่งมหาจักรีวงศ์ เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๑๑ เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ เวลา ๐.๔๕ นาฬิกา พระชนมายุได้ ๕๘ พระพรรษา นับเวลาที่ทรงปกครองสยามประเทศได้ ๔๒ ปีเศษ วันที่ ๒๓ ตุลาคม เป็นอภิลักขิตสมัยคล้ายวันสวรรคตแห่งพระองค์ เพราะฉะนั้นชาวเราทั้งหลายจึงพร้อมกันมากระทําสักการะบูชา  พระราชอนุสาวรีย์ของพระองค์อย่างเช่นเคยกระทำมาทุกปี เพื่อแสดงความจงรักภักดีแห่งชาวเราทั้งหลาย พระบรมรูปทรงม้าซึ่งเป็นพระราชอนุสาวรีย์ที่ชาวเราทั้งหลายพร้อมกันมาถวายบังคมนี้ มีเรื่องราวอย่างไร จะขอยกขึ้นมากล่าวไว้ในที่นี้เพื่อเฉลิมพระเกียรติคุณของพระองค์ และเพื่อจะได้เป็นเครื่องสะกิดใจให้ชาวเราทั้งหลายรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์อันได้ทรงประสิทธิ์ประสาทแก่มหาชนชาวสยามประเทศนี้

พระบรมรูปทรงม้า หล่อด้วยโลหะชนิดทองปรอนซ์ส่วนพระองค์โตกว่าขนาดจริงเหมือนกัน เสด็จประทับอยู่บนม้าพระที่นั่งซึ่งโตกว่าขนาดจริงเหมือนกัน ม้ายืนอยู่บนแผ่นโลหะชนิดทองปรอนซ์รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หนาประมาณ ๒๕ เซนติเมตร

แผ่นโลหะนี้วางบนแท่นศิลาอ่อน ซึ่งเป็นแท่นรองสูงประมาณ ๖ เมตร กว้างประมาณ ๒ เมตรครึ่ง ยาวประมาณ ๕ เมตร ฐานของแท่นรองกว้างประมาณ ๓ เมตรครึ่ง ยาวประมาณ ๖ เมตรครึ่ง มีอักษรจารึกบนแผ่นโลหะชนิดที่กล่าวแล้วติดอยู่กับแท่นรองด้านหน้า ข้อความพรรณนาถึงมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่ได้มีแก่มหาชนชาวสยามโดยย่อๆ ห่างจากฐานของแท่นออกมามีโซ่ขึงล้อมรอบเป็นอาณาเขตรูปสี่เหลี่ยมกว้างประมาณ ๙ เมตร ยาวประมาณ ๑๑ เมตร

เหตุที่จะสร้างพระบรมรูปนี้ขึ้นนั้น เนื่องจากพระบรมวงศานุวงศ์เสนามาตย์ราชบริพาร  ทั้งสมณชี พราหมณาจารย์คหบดีพ่อค้าพานิช ตลอดจนชั้นสามัญชนทั่วไปในประเทศสยาม รวมทั้งชาวต่างประเทศผู้เข้ามาพึ่งพระบรมมาโพธิสมภาร  พากันรำลึกถึงข้อต่อไปนี้ คือ

พากันรำลึกถึงว่า ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น พระองค์ได้ทรงทำนุบำรุงประชาชนข้าขอบขัณฑสีมาให้ได้รับความเจริญรุ่งเรือง มหาชนชาวสยามถึงซึ่งความสุขเกษมล่วงล้ำอดีตสมัยที่ได้ปรากฏมา ทั้งนี้ก็เพราะพระองค์ทรงดำรงอยู่ในสัตยธรรมอันมั่นคงมิได้หวั่นไหว ทรงอธิษฐานพระหฤทัยในทางที่จะบำรุงพระราชอาณาจักรให้เจริญขึ้นตามลำดับด้วยพระปรีชาสามารถสอดส่องวินิจฉัยในกิจการทั้งหลายทั้งปวง พระองค์ทรงนำหน้าประชาชนด้วยรัฎฐาภิบาลโนบายอันสุขุม ให้ดำเนินไปในทางที่ชอบที่มีประโยชน์ ทรงอาจหาญมิได้ย่อท้อต่อความลำบากยากเข็ญทั้งปวง  มิได้เห็นที่ขัดขวางอันใดเป็นข้อควรขยาด แม้ประโยชน์และความสุขส่วนพระองค์เองก็ยอมสละเพื่อแลกเปลี่ยนความสุขสำราญพระราชทานแก่ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินโดยทรงพระปรานีพระราชหฤทัยของพระองค์กอบด้วยพระมหากรุณาธิคุณ พระเมตตาคุณ พระวิริยะคุณ พระขันติคุณฯ อันแรงกล้า เป็นต้นว่า ทรงพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าฯ ให้ประกาศใช้พระราชบัญญัติเลิกทาส ร.ศ. ๑๒๔ ทรงพระอุตสาหะวิริยภาพเสด็จประพาสยุโรปถึง ๒ ครั้ง คือเมื่อ ร.ศ. ๑๑๖ และ ร.ศ. ๑๒๖ เพื่อทอดพระเนตรความเป็นไปขนบธรรมเนียมกิจการบ้านเมืองของชาวตะวันตกแล้วทรงนำมาดัดแปลงแก้ไขให้เหมาะสำหรับใช้ในเมืองไทย ทรงพอพระราชหฤทัยที่จะทรงติดต่อกับอาณาประชาชนโดยมิได้ทรงถือพระองค์ ตัวอย่างอันนี้ก็ปรากฏเป็นรายละเอียดอยู่ในจดหมายเหตุการเสด็จประพาสต้น เมื่อ ร.ศ. ๑๒๓ เป็นต้นนั้นแล้ว พระองค์ทรงรักใคร่ประชาชนประหนึ่งว่าบิดารักบุตร ฉะนั้น ทั้งนี้เป็นการสมควรยิ่งที่ชาวสยามพากันขนานพระนามว่า พระปิยมหาราชเจ้า ซึ่งแปลว่าพระเจ้าแผ่นดินอันเป็นที่รักและนับถืออย่างยิ่งโดยแท้

เมื่อพระองค์ทรงพระคุณเป็นอเนกประการเช่นนี้ จึงทำให้ประชาชนชาวสยามพากันรำลึกถึงว่า จะได้อะไรน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นเครื่องประกาศพระเกียรติคุณเพื่อเป็นการสนองพระเดชพระคุณในงานพระราชพิธีรัชสมัยมังคลาภิเษก ซึ่งเป็นพระราชพิธีเนื่องในการที่พระองค์ได้เสด็จดำรงสิริราชสมบัติครบ ๔๐ ปีบริบูรณ์ อันเป็นรัชสมัยที่ยิ่งยืนนานกว่ารัชสมัยของสมเด็จพระมหากษัตราธิราชเจ้าแห่งสยามประเทศในอดีตกาล แสดงว่าพระองค์กอบด้วยพระราชกฤดาภินิหารเป็นอัจฉริยกษัตริย์แท้ สิ่งที่จะน้อมเกล้าฯ ถวายนี้ก็เพื่อจะแสดงให้พระองค์ทรงทราบตระหนักโดยพระเนตรพระกรรณว่า ชาวไทยมีความจงรักภักดีในพระองค์ยิ่งนัก

สิ่งซึ่งจะน้อมเกล้าฯ ถวายให้สมแก่พระเกียรติคุณนั้นควรจะเป็นสิ่งใดสิ่งหนึ่งซึ่งเป็นถาวรวัตถุ เพื่อจะได้เป็นพยานให้มหาชนในอนาคตกาลทราบความจงรักภักดีอันแท้จริงแห่งพระบรมวงศานุวงศ์เสนามาตย์ราชบริพาร พร้อมทั้งสมณชีพราหมณาจารย์อาณาประชาชนชาวสยามทุกชาติทุกชั้น ทั่วรัฐสีมาอาณาเขตของสยามประเทศ ซึ่งได้มีต่อพระองค์พระบาทสมเด็จฯ พระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และควรจะเป็นปูชนียวัตถุประกาศเกียรติคุณของพระองค์ไว้ทั่วกัลปาวสาน

ด้วยเหตุนี้จึงพร้อมกันเห็นว่า ในประเทศซึ่งถึงความเจริญรุ่งเรืองแล้ว มักจะสร้างอนุสาวรีย์ของผู้มีชื่อเสียงไว้เป็นที่ระลึกถึงบุญคุณของท่านผู้นั้น และเพื่อประกาศเกียรติคุณของท่านด้วย เช่นชาวอังกฤษสร้างอนุสาวรีย์ของเซอร์ฟรานซิสเดรกผู้เป็นคนแรกของชาติอังกฤษที่ได้เดินเรือรอบโลกไว้เป็นที่ระลึก ชาวสหปาลีรัฐอเมริกาสร้างอนุสาวรีย์ของยอรชวอชิงตัน ซึ่งเป็นผู้รวบรวมและก่อกู้ชาวอเมริกาให้พ้นจากเงื้อมมืออังกฤษและตั้งเป็นประเทศสหปาลีรัฐอเมริกาขึ้นไว้เป็นที่ระลึก พระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระมหากรุณาธิคุณแก่มหาชนชาวสยาม ทั้งมหาชนชาวสยามก็มีความจงรักภักดีต่อพระองค์ยิ่งนัก ควรจะสร้างอนุสาวรีย์ของพระองค์ขึ้นไว้เป็นที่ระลึก อย่างที่ชาวยุโรปและอเมริกากระทำกัน ดังนั้นชาวสยามจึงช่วยกันตามกำลังความสามารถสถาปนาพระบรมรูปทรงม้าขึ้น ในการนี้พระบาทสมเด็จฯ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังดำรงตำแหน่งสมเด็จฯ พระบรมโอรสาธิราชมกุฎราชกุมารทรงเป็นประธานกรรมการเรี่ยไรเงินจากพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการประชาชนทุกชั้นทุกภาษาในสยามประเทศ  ได้เงินรวมทั้งสิ้นมากกว่า ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท เงินจำนวนนี้เกินกว่าราคาพระบรมรูปราว ๕ เท่า เงินก้อนที่เหลือจากการสร้างพระบรมรูปนี้  ครั้นถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จฯพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์จึงได้พระราชทานเงินจำนวนนี้ รวมทั้งต้นและดอกเป็น ๙๘๒,๖๗๒ บาท ๔๗ สตางค์แก่โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งภายหลังได้ขยายการให้กว้างขวางขึ้นและเปลี่ยนชื่อใหม่ว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพื่อสนองพระเดชพระคุณให้สมพระบรมราชประสงค์

การสร้างพระบรมรูปทรงม้า ได้ตกลงจ้างช่างหล่อชาวฝรั่งเศสหล่อ ณ กรุงปารีส ประจบกับเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ ๒ ใน ร.ศ. ๑๒๖ ได้เสด็จไปทอดพระเนตรที่ปั้นพระบรมรูป เมื่อวันที่ ๑๙ มิถุนายน ร.ศ.นั้น และในวันนี้ ๒๒ สิงหาคมเสด็จประทับให้ช่างปั้นพระบรมรูป พระบรมรูปทำเสร็จเรียบร้อยส่งเข้ามาถึงกรุงเทพฯ ใน ร.ศ. ๑๒๗ ครั้นถึงวันพุธที่ ๑๑ พฤศจิกายน ร.ศ. ๑๒๗ พ.ศ. ๒๔๕๑ ตรงกับวันแรม ๓ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีวอก สัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๒๗๐ ประจวบกับวันพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก เจ้าพนักงานได้อัญเชิญพระบรมรูปทรงม้าขึ้นประดิษฐานบนแท่นรองที่พระลานหน้าพระราชวังดุสิต พระบาทสมเด็จฯ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวครั้งยังทรงดำรงตำแหน่งพระบรมโอรสาธิราชมกุฎราชกุมารทรงอ่านคำถวายพระพรชัยมงคลเนื่องในงานพระราชพิธีนั้น และน้อมเกล้าฯ ถวายพระบรมรูปทรงม้าด้วย แล้วกราบทูลอัญเชิญให้ทรงเปิดผ้าคลุมพระบรมรูปเป็นปฐมฤกษ์ เพื่อประกาศพระเกียรติคุณของพระองค์พระบาทสมเด็จฯ พระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวให้ปรากฏสืบไปทั่วกัลปาวสาน และมีการมหกรรมสมโภชครบกำหนด ๓ วันเป็นงานสนุกสนานมาก

การสร้างพระบรมรูปทรงม้า บันดาลให้เกิดผลประโยชน์หลายประการข้อใหญ่ใจความ คือ

พระบรมรูปทรงม้า เป็นเครื่องชักนำให้คนชั้นหลังรำลึกถึงพระองค์และรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ เป็นต้นว่า พระบรมรูปจะทำให้ชาวเรารำลึกได้ว่า เดิมคนไทยไม่มีอิสรภาพในตัวสมกับนามแห่งชาติ เพราะเวลานั้นไทยยังมีการใช้ทาส ครั้นมาถึงรัชสมัยของพระองค์ ทรงยกคนไทยขึ้นเป็นไทยแท้ สมกับนามแห่งชาติว่า ชาติไทยไม่เป็นข้าใครโดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตราพระราชบัญญัติเลิกทาสขึ้น นี้เป็นตัวอย่าง

ประโยชน์ในทางประวัติศาสตร์ ประเทศใดมีโบราณวัตถุ คำจารึกเก่าๆ เหลืออยู่มาก คนชั้นหลังย่อมค้นเรื่องราวของประเทศนั้นได้มาก และอาจจะสาวหาเหตุผลประกอบเรื่องราวประวัติศาสตร์ได้ดี พระบรมรูปทรงม้า ก็มีคำจารึกดังได้กล่าวมาแล้ว เพราะฉะนั้นคำจารึกนี้อาจนำให้ชนชั้นหลังๆ โน้นซึ่งบางทีอาจไม่ทราบเรื่องราวในรัชกาลของพระองค์ ค้นประวัติและเรื่องราวในรัชกาลนั้นได้เป็นอย่างดี

พระบรมรูปทรงม้า เป็นเครื่องเชิดชูประเทศและพลเมืองของประเทศสยาม ข้อนี้หมายความว่า เมื่อชาวต่างประเทศได้เห็นหรือทราบเรื่องพระบรมรูป ก็อาจทราบไปถึงว่าพลเมืองของประเทศมีความสามัคคีกลมเกลียวกันดีมาก ทำอะไรพร้อมเพรียงกันดี นอกจากนั้นยังเป็นเครื่องแสดงให้ชาวต่างประเทศเห็นน้ำใจของชาวไทยว่า มีความจงรักภักดีกตัญญูกตเวทีต่อพระเจ้าแผ่นดินและเจ้านายของตนจริงๆ ทำให้เกิดผลในทางรัฐประศาสโนบายอย่างหนึ่ง

พระบรมรูปทรงม้ามีประโยชน์ และเป็นที่เคารพนับถือสักการะบูชาของชาวเราทั้งหลายดังได้พรรณนามานี้ ชาวเราจึงพร้อมกันนำมาซึ่งดอกไม้ธูปเทียนและพวงมาลา เพื่อทำการสักการะบูชารำลึกถึงพระองค์ และพระมหากรุณาธิคุณ พระเมตตาคุณ พระวิริยคุณ พระขันติคุณ ฯลฯ ของพระองค์พระบาทสมเด็จฯ พระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราชเจ้า ในวันที่ ๒๓ ตุลาคม ทุกปีมาและคงมีเป็นงานประจำปีตลอดไปจนชั่วกัลปาวสาน.

--------------------

 

รางวัลจากการประกวดเรียงความย่อมเป็นกำลังใจให้ นายเตียง มุมานะที่จะสร้างสรรค์ผลงานต่างๆส่งไปอวดโฉมตามหน้าสื่อสิ่งพิมพ์ เฉกเช่นปีสุดท้ายของการเรียนในคณะอักษรศาสตร์ เขาใช้นามปากกา “ศิริขันธ์”ประพันธ์บทกวีนิพนธ์เรื่อง “ดอนสวรรค์” เป็นโคลงสี่สุภาพพรรณนาถึงสถานที่ทางธรรมชาติแห่งเมืองสกลนครอันเป็นถิ่นฐานบ้านเกิด แล้วส่งไปตีพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ มหาวิทยาลัย เล่ม 8 ตอน 1 ประจำปี พ.ศ. 2473  ซึ่งเป็นหนังสือที่จัดทำโดยสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บรรณาธิการขณะนั้นคือ นายเปลื้อง ณ นคร

“ดอนสวรรค์”  โปรยถ้อยคำชวนอ่าน

 

“ดอนสวรรค์” เป็นนามของภูมิประเทศงดงาม “ดอนสวรรค์” คือเกาะในหนองขนาดใหญ่จวนจะนับได้ว่าเป็นทะเลสาบแห่งหนึ่งมีนามว่าหนองหารในจังหวัดสกลนคร ดอนสวรรค์นี้มีภูมิประเทศติดต่อกับห้วงน้ำซึ่งประดับด้วยเกาะแก่งด้านหนึ่ง อีกด้านหนึ่งติดต่อกับพื้นดินซึ่งเต็มไปด้วยโขดเขินและเนินลาดแห่งสกลนคร “ดอนสวรรค์” นี้แหละเป็นที่เกิดแห่งความรักความเริงรมย์ระหว่างหนุ่มและสาว เป็นฉากอันวิจิตร์สำหรับศิลปินและเป็นที่เกิดแห่งนิยายอันเริงใจของเหล่ากวี

 


ดอนสวรรค์ เมื่อครั้งลงพิมพ์ใน มหาวิทยาลัย เล่ม 8 ตอน 1 พ.ศ. 2473

 

และเปิดเผยอีกว่า

 

(เรื่องนี้ผู้เขียนได้เขียนที่ “ดอนสวรรค์” ต่อหน้าธรรมชาติอันวิจิตรเหล่านั้น โคลงทุกบทได้ผูกขึ้นจากภาพและความรู้สึกอันแท้จริง เพราะฉะนั้นท่านไม่ควรพลิกผ่านไป)

 

“ดอนสวรรค์” ประพันธ์ขึ้นตามขนบวรรณคดีประเภทนิราศ กล่าวคือแสดงให้เห็นทัศนียภาพของสถานที่ซึ่งกวีได้ไปเยือนแล้วหวนรำพึงรำพันถึงนางอันเป็นที่รัก นายเตียง เปิดเรื่องว่า

 

๏  ดอนสวรรค์สวรรค์ชื่อตั้ง        นามขนาน  สมนอ
เป็นที่รมณียฐาน                      ถิ่นกว้าง
หัวหินผ่อนจักปาน                   ปูนส่วน  เดียวฤา
เสนาะคลื่นครื้นเครงกว้าง         คดคุ้งแคมเฉนียน

๏  กลางเกาะเกียนโบสถ์ตั้ง      ตรูตา
เหลื่อมๆ ลานหลังคา                เพริศพ้น
นพศูลสอดเวหา                      เมฆเกลื่อน  กลายแฮ
งามช่อฟ้าเลอล้น                     เลิศล้วนเรืองอุไร

๏  อำไพพรายเพ็ชร์พริ้ง         พิดาน
ดูดั่งดาวตระการ                     ก่องฟ้า
รวงผึ้งพิศเพียงมาน                มธุรส  ในฤา
รังเรขลายจั่วหน้า                   นาคสะดุ้งดัดตน

๏  กมลอาสน์อะเคื้อ               ควรพิศ
ปฏิมากรประดิษฐ                    เด่นตั้ง
สักการแน่นเนืองนิตย์             นรแต่ง  ไว้แฮ
มุจลินท์นาคราช[1] กั้ง            ถงาดเงื้อมพลเพียร

 

ก่อนจะบรรยายลักษณะภูมิทัศน์ของเกาะดอนสวรรค์กลางบึงหนองหารว่า

 

๏  ระเมียลหัวหาดกว้าง             ไกลครัน
วาลุกาก่องฉัน                           เฉกแก้ว
เพลินพิศพิพิธพรรณ                 ไพโรจน์ เรืองนา
สบรวีวาวแพร้ว                         เพริศพ้นเพรางาย

๏  เล็งสายสินธุ์สุดล้ำ                 ลานตา
แลลิ่ววงเวหา                            จรดกั้น
พราวๆ พื้นคงคา                       แสงสอด สูรย์เอย
งามเงื่อนเงินยวงชั้น                   ชาติแท้เทียมกัน

๏  อรรณพเนืองคลื่นฟุ้ง             ตีฟอง
ซัดส่งวาลุกากอง                       เกลื่อนกว้าง
พระพายพัดพฤกษ์ผอง              เพลงขับ ครวญแม่
สวรรค์เฉกสวรรค์อ้าง                 ห่อนแพ้กันไฉน

๏  ไพบูลย์มูลหมู่ไม้                    มีพรรณ แผกนา
ลำลัดแลลานสันติ                      สุดเว้า
ยูง, ยาง, อย่างยลยรร-               ยงยิ่ง
สูงสลับเทียมทัดเข้า                   เขตต์พื้นอัมพร

๏  อมรเทวราชไท้                      นฤมิตร ฤาแม่
ฤาวิศวกรรมสฤษฎ์                    รุ่งเรื้อง
แดนเดียรถ์ดั่งประดิษฐ               ดูเด่น
เฉกเช่นนันทวันเบื้อง                 ฟากฟ้าแมนสรวง

 

บทโคลงข้างต้นแสดงให้เห็นภาพความงามของชายหาดและกรวดทราย (วาลุกา) ระยิบระยับ คลืนน้ำซัดสาดกระเซ็นตีฟอง หมู่แมกไม้นานาพรรณ มองแล้วราวกับทวยเทพมาสร้างไว้

ผู้ประพันธ์ยังเชื่อมโยงทัศนียภาพที่แลเห็นเข้ากับความคิดถึงหญิงคนรัก ตัดพ้อว่าน่าเสียดายที่มิได้มาร่วมเรียงเคียงใกล้เพื่อดื่มด่ำความสดชื่นของธรรมชาติ เฉกเช่นตอนชมนกที่ว่า

 

๏  กระเต็นตาส่ายจ้อง               จับชล
จิตต์มุ่งมัจฉะผล                        ภักษ์ไซร้
อ้าอาตม์อกมากล                      เกิดดั่ง เดียวนา
เนตรส่ายหมายจิตต์ให้               พบน้องนงราม

๏  งามขมิ้นเหมือนแผ่นผ้า          สะไบนาง
คิดปทุมทองกลาง                      อกอุ้ม
นางนวลพักตร์นวลนาง              นวลนิ่ม เกินนา
นวลแจ่มจันทร์ยังคลุ้ม               เคลือบด้วยเมฆมัว

๏  หัวขวานขวานแขวะค้น          ทรวงใน
ไส้แสกสาวไส้ไป                        ส่งแร้ง
กาแกเกาะกินใจ                        จับจิก ก็ดี
เจ็บบ่เทียมอกแห้ง                      ห่างเนื้อนงคราญ

๏  รังนานเนาเนิ่นน้อง                นางคอย พี่ฤา
ดุเหว่าวานเหิรลอย                    ล่องฟ้า
ข่าวโศกสู่แก้วกลอย-                  ใจพี่  แพงแม่
เสร็จกิจคืนหลังข้า                     จิตต์ตั้งฟังคดี

๏  อ้าศรีสาวสวาทล้ำ                 เลอลักษณ์ เรียมเอย
จันทร์แจ่มยังเจียมพักตร์            นาฏน้อง
เรียมชมส่ำแสนปัก-                   ษีโศก วายฤา
ชมยิ่งชักจิตต์ข้อง                      ทุกข์พ้นพลันพูน

 

นั่นคืออารมณ์ความสุข ครั้นพออารมณ์เศร้าโศกอาวรณ์ก็สะท้อนว่า

 

๏  ระอาอกอ่อนอั้น                     ตันทรวง
ดอนสวรรค์สวรรค์ลวง               หลอกข้า
เขาอื่นหมื่นแสนดวง                   จิตต์สุข  สราญแฮ
ไยทุกข์รุมเรียมอ้า                      อาตม์นี้แหนงตาย

๏  หมายใจจักสุขด้วย                มาดอน
ดอนเปล่าแปลนศรีสมร              ยอดสร้อย
พันพักตร์ใช่บังอร                      อวนแม่ นาแม่
ดอนสงัดเพราะน้องน้อย            นิ่มเนื้อไป่มา

๏  อา ! สวรรค์ฤานรกแท้            ยังแคลง
มาสวรรค์ไยแพลง                     ไพล่เศร้า
โฉมมาสวรรค์แสดง                   ดูดั่ง สวรรค์นา
นี่นรกจริงเจ้า                            จึ่งไร้สุขสันติ์

๏  ผันพิศโบสถเพี้ยน                 โรงศาล
เทียมที่สิงยมบาล                      เดชกล้า
อ้าอาตม์องค์พระกาฬ                กุมจับ มาฤา
มาสถิตย์ฉะเพาะหน้า                หน่อท้าวทินกร

๏  สาครเครงครั่นครื้น                คะนองเสียง
ดูดั่งหนองหารเพียง                   กระทะร้อน
ฟองฟัดดังมันเปรียง                   ดาลเดือด นาแม่
โอยอกเรียมสะท้อน                   หวั่นว้าหวาดเสียว

 

“ดอนสวรรค์” ปิดท้ายว่า

 

๏  ชาติชายหมายรักโอ้               อาภัพ จริงนอ
เคราะห์ท่วมราหูทับ                   ป่นปี้
ริรักรักพากลับ                           กลายโศก
ใครอย่าริเรียมชี้                         เช่นให้สหายเห็น

๏  ขอเป็นเยี่ยงอย่างให้              ปวงสหาย
ริรัก, ราเรียน, หมาย                   มุ่งน้อง
งานการบ่กล้ำกลาย                   จิตต์จ่อ เลยนา
กลดั่งมูลดินต้อง                        ติดหุ้มหางสุกร

๏  สุนทรภาษิตอ้าง                    อัตถ์ไข
ชิงสุกก่อนห่ามใย                      เยี่ยงข้า
ผลพฤกษ์อร่อยใน                     ยามสุข งอมพ่อ
ภาษิตดีเลิศหล้า                         เล่ห์นี้จงจำ

 

ทั้งผลงานการเขียนเรียงความเรื่อง “พระบรมรูปทรงม้า” และการแต่งโคลงสี่สุภาพเรื่อง “ดอนสวรรค์” ย่อมเป็นเครื่องยืนยันว่า นายเตียง เป็นผู้มีความสามารถทางด้านภาษาและวรรณคดีไทย  ทั้งที่เป็นร้อยแก้วและร้อยกรอง  นอกจากนี้ยังมีภูมิความรู้กว้างขวาง

ภายหลังสำเร็จการศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  นายเตียง เริ่มเข้ารับราชการครูที่โรงเรียนมัธยมหอวัง ก่อนจะย้ายไปสอนหนังสือที่โรงเรียนฝึกหัดครูวัดบวรนิเวศ อันเป็นโรงเรียนฝึกหัดครูประถม ห้วงเวลานี้เองที่เขาร่วมมือกับ สหัส กาญจนพังคะ เขียนหนังสือชุด เพื่อนครู ตีพิมพ์เผยแพร่ออกมาประมาณ 5 เล่ม มีเป้าประสงค์ที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้หลากหลายด้านแก่ผู้ที่เป็นครู โดยเฉพาะวิธีและแนวทางการสอน เพื่อเพื่อนครูทั้งหลายจะได้นำไปดัดแปลงและปรับใช้ในการสอนนักเรียนให้เกิดประสิทธิภาพ

ตอนที่ผมกำลังเขียนบทความชิ้นนี้ แว่วยินข่าวคราวว่า กระทรวงมหาดไทยจะรื้อฟื้นให้แต่ละโรงเรียนกลับมาสอนวิชาประวัติศาสตร์ หน้าที่พลเมือง และจริยธรรมอีกหน ผมจึงปรารถนาลองยกตัวอย่างความคิดเห็นของ “ครูเตียง” ต่อการสอนนักเรียนในวิชาจรรยา (หรือจริยธรรม) และวิชาประวัติศาสตร์ที่เคยได้เสนอไว้ในหนังสือ เพื่อนครู มาให้ทุกๆ ท่านพิจารณาพอสังเขป เริ่มกันที่วิธีสอนวิชาจรรยา ซึ่ง “ครูเตียง” อธิบายว่า

 

จรรยาเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในวงการศึกษา  และดูเหมือนว่าในสมัยปัจจุบันนี้ ประเทศสยามของเรากำลังต้องการผู้ที่สามารถสั่งสอนและอบรมเด็กไทยให้มีศีลธรรมอันดีงาม  กล่าวคือต้องการให้เด็กไทยแสดงความประพฤติภายนอก  อันปรากฏแก่ตาโลกอย่างสุภาพชนทั้งหลายควรประพฤติ ซึ่งเรียกว่า ศีล นั้นอันหนึ่ง  และต้องการให้เด็กไทยมีน้ำใจผ่องใสบริสุทธิ์ซึ่งเรียกว่า ธรรม นั้นประการหนึ่ง  นักศึกษาสำคัญเช่น เรมองท์ (Reymont) แฮร์บาร์ต (Herbart) เจ้าคุณธรรมศักดิ์มนตรีเห็นพ้องกันว่าการศึกษามีความมุ่งหมายที่จะกล่อมเกลาเด็กให้มีศีลธรรมอันดีงาม  เพราะฉะนั้นเพื่อนครูทั้งหลายควรรู้สึกว่า  การสั่งสอนและอบรมจรรยาเป็นหัวใจสำคัญของพวกเรา และเราจะต้องพากันยึดมั่นในอันที่จะปลูกฝังให้จรรยาของเด็กไทยดียิ่งขึ้นตามลำดับ  ดังที่ชาวต่างประเทศได้ชมคนไทยไว้  ขออย่าให้เราได้ยินชาวต่างประเทศติคนไทย  ที่เราปลุกปลอบขึ้นว่าเป็นผู้มีศีลธรรมอันเลวทราม หากว่าคนไทยถูกติเช่นนั้นในอนาคต  ใครเล่าควรจะได้รับบาปสาหัส  ที่ชาวต่างประเทศหรือแม้คนไทยด้วยกันสาปแช่งไว้  น่าจะเป็นครูมากกว่าคนอื่น ฉะนั้นเรามาช่วยกันฝึกฝนอุปนิสสัยใจคอเด็กไทยให้อ่อนโยน  สมกับเป็นชาติที่ได้รับอารยธรรมชั้นสูงเถิด

 

ตามความเห็นของครูเตียงนั้น การฝึกหัดและอบรมจรรยาจะทำได้ 3 ทางคือ

 

๑. จากตัวอย่าง  ได้กล่าวไว้ในเพื่อนครูเล่มหนึ่งแล้วว่าครูคือคนตัวอย่างเพราะฉะนั้นในที่นี้จะไม่ขอกล่าวซ้ำอีก  ขอเตือนไว้แต่เพียงว่า อิริยาบถทุกอย่างที่ครูทำ  มักจะแนะนำให้เด็กลอกเลียนตามอย่างนั้นเสมอ  นอกจากครูแล้วยังมีคนอื่นๆอีก  ที่จะให้ตัวอย่างแก่เด็ก  เช่นเด็กโตกว่า  บิดามารดา เพื่อนฝูงของเด็ก ฉะนั้นจะเป็นใครก็ตามที่เด็กคบค้าสมาคม  เด็กมักจะเลียนแบบเสมอ เป็นหน้าที่ของครูที่จะต้องระวัง

๒.  จากอิทธิพลของครู  คือจากอำนาจภายในที่มีอยู่ในตัวครูบางอย่าง  อันอาจจะปลุกใจเด็กให้รักไปในทางดี  เด็กบางคนพอเห็นครูเข้าก็รู้สึกเคารพนับถือและอ่อนน้อม  แต่บางคนหาเป็นเช่นนั้นไม่  ครูบางคนอิทธิพลของคำพูด หรือน้ำเสียงที่เปล่งออกมาสามารถจะกล่อมใจเด็กได้ดี  แต่บางคนหาเป็นเช่นนั้นไม่ ครูบางคนสามารถจะใช้กิริยาบางอย่าง  เช่น สายตา เค้าหน้า ปลุกปั่นใจนักเรียนได้ แต่บางคนหาเป็นเช่นนั้นไม่ เรื่องเหล่านี้จำเป็นต้องฝึกหัด

๓. จากวินัย  การรักษาวินัยทุกอย่าง  เป็นการฝึกหัดและอบรมจรรยาอยู่โดยตรงแล้ว เพราะฉะนั้น ถ้าครูคนใดรักษาวินัยดีก็กล่าวได้ว่า  ครูคนนั้นอบรมจรรยาเด็กดี  ถ้าครูคนใดรักษาวินัยไม่ดี  ก็เป็นที่แน่ใจว่า การอบรมเด็กไม่ดีแน่นอน

 

และเนื่องจากตอนที่ครูเตียงเขียนหนังสือ เพื่อนครู นั้น เป็นช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 มีการใช้รัฐธรรมนูญและรณรงค์ให้พลเมืองเลื่อมใสในระบอบประชาธิปไตย เขาจึงสอดแทรกเรื่องการอบรมจรรยาเด็กของประเทศประชาธิปไตยเอาไว้ด้วย ดังความว่า

 

เนื่องจากสยามได้เปลี่ยนระบอบการปกครองใหม่ ความจำเป็นต้องอบรมเด็กไทย ให้หมุนตัวตามแผนความเจริญของประเทศนั้น  เป็นการเจริญอย่างยิ่ง (ตามความเห็นของข้าพเจ้า) ว่าบัดนี้วิชาฝึกคนให้เป็นพลเมืองดี (Civics or Citizenship) ของประเทศประชาธิปไตย์นั้นจำเป็นอย่างยิ่ง  เรื่องสิทธิและหน้าที่ของพลเมือง  ควรได้รับความเอาใจใส่จากครูไปปลูกฝังเป็นสันดานในตัวเด็ก  สั่งสอนให้รู้จัก สิทธิ คืออะไร  หน้าที่ คืออะไร และเกี่ยวข้องกันอย่างไร  เริ่มกล่อมเกลาให้เด็กรู้จักติชมตัวเองและผู้อื่น ยอมรับการติชมจากผู้อื่นด้วยอารมณ์เย็น  ทั้งนี้เพื่อประโยชน์แก่ตัวเด็กเท่านั้น และประโยชน์ส่วนใหญ่คือประเทศ

 

ในส่วนของวิชาประวัติศาสตร์นั้น ครูเตียงมองว่าเป็นวิชาที่มีคุณค่าสูงเพราะ “เป็นวิชาที่เพาะความเจริญขึ้นในตัวเด็กอย่างยิ่ง เป็นวิชาที่ฝึกฝนคน, แนะนำคนโดยอาศัยพะยานหลักฐานหรือตัวอย่างทั้งทางดีและชั่วที่เป็นมาแล้ว เป็นวิชาที่สอนคนให้เป็นพลเมืองดี” ทั้งยังเอ่ยอ้างนามนักคิดชาวตะวันตกมาสมทบ

ท่านอาโนลด์เบนเนท์กล่าวว่า “วิชาประวัติศาสตร์เป็นเนื้อไขที่จะเพาะความเป็นพลเมืองดี ถ้าครูรู้จักสอน แต่ทุกวันนี้ครูยังสอนไม่ถูกวิธี หรือยังเรียกไม่ได้ว่าครูได้สอนประวัติศาสตร์” ท่านปรัชญาเมธีคองเต (Auguste Comte) กล่าวว่า “วิชาประวัติศาสตร์เป็นมรรคุเทสก์แห่งชีวิตของมนุษย์” ข้าพเจ้าใคร่จะเสริมว่า ประวัติศาสตร์นั้นไม่ฉะเพาะแต่เป็นมรรคุเทสก์แห่งชีวิตของมนุษย์เอกชนเท่านั้น  ย่อมเป็นมรรคุเทสก์หรือดวงประทีปส่องมรรคให้แก่หมู่ชน, ให้แก่ชาติ, และให้แก่โลกด้วย ประวัติศาสตร์ย่อมสอนให้เรารู้ว่าสิ่งใดจะให้ผลเช่นไร หากเราทราบว่าสิ่งใดให้ผลร้ายเราก็รู้จักหาทางเลี่ยงเสียหรือป้องกันเสีย  สิ่งใดที่ให้ผลดีเราก็กระทำตาม และไม่เพียงแต่ตามเท่านั้น ย่อมส่งเสริมให้ดียิ่งขึ้น. ขอให้ข้าพเจ้าเตือนเพื่อนครูของเราว่า ประวัติศาสตร์นี่แหละเป็นเครื่องดลบรรดาลใจเอกชน, หมู่ชน, ชาติ และโลก, ให้แสวงหาทางปฏิบัติอันจะนำมาซึ่งสันติสุข ประวัติศาสตร์สอนให้ชาติต่างๆเอาอย่างกัน ประวัติศาสตร์สอนให้โลกตั้งสมาคมสันนิบาตชาติ ฯลฯ เมื่อฝีมือของประวัติศาสตร์ปราณีต, เมื่อประวัติศาสตร์มีอิทธิพลที่จะดลบรรดาลใจมนุษย์ได้ดี เห็นปานดังนี้แล้ว ขอให้เพื่อนครูใช้ประวัติศาสตร์เป็นลูกมือที่ดีของครูในการกล่อมเกลาและดลบรรดาลใจศิษย์ของครูบ้าง

ครูเตียงแบ่งคุณค่าของประวัติศาสตร์ออกเป็น 3 ด้าน ได้แก่

  1. ประวัติศาสตร์ย่อมให้ความรู้
  2. ประวัติศาสตร์ย่อมฝึกความจำ
  3. ประวัติศาสตร์ย่อมปลุกกำลังความคิดคำนึงและหาเหตุผล

ขณะเดียวกันก็มองว่าวิชาประวัติศาสตร์มีความยากในการสอน นั่นเพราะ

๑. ความลำบากในการปลุกความตั้งใจของนักเรียน  ความลำบากข้อนี้มักเกิดแต่ครูไม่มีลักษณะเป็นผู้เล่านิทานดี  ครูสอนประวัติศาสตร์มักเบื่อหน่ายในการหาเครื่องใช้มาประกอบ  หรือบางครั้งก็ปฏิเสธเสียเลยว่า บทเรียนประวัติศาสตร์ไม่ต้องมีเครื่องใช้

๒. ในบทเรียนประวัติศาสตร์ไมีความจริงที่จะต้องท่องจำอยู่มากไม่น้อย  การสอนให้นักเรียนสมัครใจที่จะท่องจำสิ่งเหล่านี้ เป็นของทำได้ยาก ลงท้ายครูก็มักใช้วิธีบังคับ อันเป็นเหตุให้เด็กเบื่อหน่ายวิชาประวัติศาสตร์ ครูสอนประวัติศาสตร์มักเพ่งแต่เพียงจะให้เด็กสอบไล่ได้แต่อย่างเดียว เพราะฉะนั้นจึงพากันลืมเสียหมดว่า ในวิชาประวัติศาสตร์ยังมีสิ่งอื่นๆอีกมาก ที่ครูจะต้องทำ  มิใช่แต่เพียงให้เด็กจดเรื่องราวสำหรับท่องจำเท่านั้น

๓. ความจริง ต่างๆที่มีในหนังสือประวัติศาสตร์หรือจดหมายเหตุที่ผู้เขียนหลายคนเขียนไว้มักจะไขว้กันหรือบางทีก็ผิดกันตรงกันข้ามทีเดียว เรื่องเช่นนี้ยากที่ครูจะวินิจฉัยลงไปได้แน่นอนว่า อะไรผิดและอะไรถูก ยิ่งสำหรับเด็กด้วยแล้วก็เกือบจะจนปัญญาทีเดียว ขอให้ครูระวังในเมื่อเตรียมตัวจะสอนวิชาประวัติศาสตร์ คือว่า ครูต้องมีอารมณ์เป็นกลางในเมื่อวินิจฉัยข้อความรู้ที่ผู้เขียนๆไว้แย้งกันและนอกจากนั้น จะต้องใช้ความสันนิษฐานถึงลักษณะของผู้เขียน ซึ่งมักจะลำเอียงไปข้างใดข้างหนึ่งโดยฉะเพาะ เช่นบางท่านชมเชยการกระทำของวีรบุรุษบางคนจนเกือบจะนับว่าวีรบุรุษนั้นเป็นพระเจ้า

ดังนั้น ครูเตียงจึงเสนอแนะวิธีการสอนประวัติศาสตร์

 

ก่อนที่จะกล่าวถึงวิธีสอน  ครูจะต้องทราบเสียก่อนว่า  วิชาประวัติศาสตร์เป็นเรื่องราวที่ผ่านมาแล้วแต่หนหลัง  เพราะฉะนั้นวิธีสอนวิชาประวัติศาสตร์จึงต่างกับวิธีสอนวิทยาศาสตร์  เพราะเหตุว่าในวิทยาศาสตร์เราสามารถจะสังเกตจากของจริง  จากเหตุการณ์ที่ปรากฏต่อหน้า  ส่วนในประวัติศาสตร์เราดึงเอาสิ่งที่ผ่านมาแล้วกลับมาปรากฏต่อหน้าไม่ได้  จะได้ก็แต่เพียงให้คำนึงถอยหลัง เราเรียนประวัติศาสตร์โดยใช้เครื่องมือทดลองอย่างวิทยาศาสตร์หาได้ไม่  เพราะฉะนั้นการที่เราจะปลุกใจให้นักเรียนสนใจต่อบทเรียนจึงเป็นวิธีคนละอย่างต่างกับวิธีสอนวิทยาศาสตร์  ในวิธีสอนประวัติศาสตร์เราจะต้องปลุกความคิดคำนึงเป็นข้อสำคัญ  แล้วอาศัยการสันนิษฐานซึ่งอาจจะผิดจะถูกก็ได้  ผลของการสันนิษฐาน  จะเอาให้แน่นอนเหมือนผลของการทดลองวิทยาศาสตร์  ย่อมไม่ได้  ได้แต่เพียงการคาดคะเน ดังตัวอย่างเช่นเมื่อเราเห็นลายเซ็นของผู้จดบันทึก, จดหมายเหตุเป็นลายมือหยุกหยิก  เราก็ยากที่จะสันนิษฐานได้ว่า

ก. ผู้เขียนกำลังจะขาดใจ หรือ
ข. ผู้เขียนเป็นคนประสาทพิการ  เพราะด้วยยาเสพติดต่างๆ หรือ
ค. ผู้เขียนเขียนในรถไฟ

 

สำหรับวิธีสอนประวัติศาสตร์ อาจจะสอนได้ 3 วิธี คือ

  1. สอนตามเวลาที่มาก่อนหลัง
  2. สอนจากสมัยปัจจุบันไปหาสมัยดึกดำบรรพ์
  3. สอนอย่างวิธีค่อยขยายให้ละเอียดขึ้นทีละน้อย

และจำเป็นจะต้องมีศิลปะในการสอน ได้แก่

  1. ครูต้องเป็นนักเล่านิทานเก่งคนหนึ่ง
  2. วิธีพรรณนาหรือบรรยายเรื่อง
  3. ครูต้องฉลาดในการใช้เครื่องมือประกอบการสอน
  4. การใช้กวีนิพนธ์กับประวัติศาสตร์

หนังสือ เพื่อนครู  ยังสะท้อนให้เห็นความเอาจริงเอาจังในอาชีพครูของนายเตียง เขามีปณิธานแน่วแน่ในการที่จะสร้างนักเรียนให้เติบโตขึ้นมาเป็นกำลังของประเทศชาติ เพราะฉะนั้น กระบวนการสอนหนังสือจึงเป็นภารกิจสำคัญที่ครูต้องปฏิบัติให้ดีที่สุด

ปลายทศวรรษ 2470 ครูเตียงย้ายจากโรงเรียนในกรุงเทพมหานครกลับไปรับตำแหน่งผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่ที่โรงเรียนอุดรพิทยานุกูลกลางเมืองอุดร โดยต้องดูแลทั้งงานบริหาร งานธุรการ และงานปกครองแทนอาจารย์ใหญ่ ซึ่งขณะนั้นคือ หม่อมหลวงมานิจ ชุมสาย ขณะเดียวกันเขาก็ต้องสอนหนังสือด้วย วิชาที่สอนได้แก่ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และประวัติศาสตร์

แต่แล้วช่วงกลางปี พ.ศ. 2478 ก็เกิดกรณีอื้อฉาวใหญ่โตขึ้น นั่นคือ ครูเตียง พร้อมกับเพื่อนครูอีก 3 ราย ได้แก่ นายปั่น แก้วมาตย์, นายสุทัศน์ สุวรรณทัต และ นายญวง เอี่ยมศิลา ได้ถูกจับกุมควบคุมตัวในข้อหากระทำการอันเป็นคอมมิวนิสต์

สวัสดิ์ ตราชู  ผู้ใกล้ชิดกับนายเตียง เคยส่งเสียงเล่าว่ากรณีนี้มีจุดเริ่มมาจากในวันหนึ่งบนยอดเสาธงของโรงเรียนอุดรพิทยานุกูลมีรูปภาพค้อนกับเคียว เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงมาจับกุมนักเรียนชั้น ม.4 ซึ่งเป็นลูกของชาวญวนเพื่อนำตัวไปสอบสวน หม่อมหลวงมานิจ อาจารย์ใหญ่ทราบเข้าก็เรียกนักเรียนคนนี้มาเฆี่ยนแลัวไล่ออกจากโรงเรียน ต่อมาได้มีการทิ้งใบปลิวกลาดเกลื่อนเมืองอุดร นายร้อยตำรวจโทสมบูรณ์จึงมาจับกุมนายเตียงกับครูอีกสามราย

เกี่ยวกับการเผยแพร่ใบปลิวจนมาสู่การจับครูนั้น หนังสือพิมพ์ ประชาชาติ ฉบับประจำวันศุกร์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2478  ได้นำเสนอข่าวนี้  โดยพาดหัวหลัก “ครูในอุดรถูกจับว่าเปนคอมมิวนิสต์ ๔ คน” และพาดหัวรอง“หลังจากที่ได้จับญวนในอุโมงค์เร้นลับแล้ว” พร้อมรายงานว่า

พวกเผยแพร่ใบปลิวคอมมิวนิสต์ในจังหวัดอุดร ที่ได้ขุดอุโมงค์ตั้งเป็นที่ทำการและเจ้าหน้าที่บ้านเมืองได้จับกุมได้ ๔ คนรวมทั้งเจ้าของอุโมงค์ซึ่งมีอายุ ๑๐๐ ปีปลาย กับต่อมายังได้ไปค้นที่พักของนายยวง เอี่ยมศิลา ป.ป. ครูโรงเรียนประจำมณฑลอุดร “อุดรพิทยานุกูล” ในฐานสงสัยว่านายยวงจะเป็นคนหนึ่งในพวกเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์ตามข่าวที่เราได้นำลงแล้วนั้น

เมื่อนายญวงถูกควบคุมตัวไปไต่สวนและกักขังในฐานที่มีส่วนพัวพันกับคอมมิวนิสต์ที่จับตัวได้ในอุโมงค์ พอในวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2478 มีการขยายขอบเขตมาจับกุมครูโรงเรียนอุดรพิทยานุกูลเพิ่มอีก 3 ราย ซึ่งครูเตียงเป็นหนึ่งในนั้น

หลังจากถูกสอบสวนอย่างหนักและก็มีข่าวว่าจะครูทั้ง 4 รายจะถูกส่งตัวมาดำเนินคดีในกรุงเทพฯ ดังที่หนังสือพิมพ์ ประชาชาติ ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2478 ได้ตามเกาะติดข่าวนี้มานำเสนอ โดยพาดหัวหลัก “จะพิจารณาเนรเทศครูไทยในอุดร” และพาดหัวรอง “ให้ส่งจำเลยคดีคอมมิวนิสต์มากรุงเทพฯ” พร้อมรายงานว่า

 

“ข่าวเรื่องคอมมิวนิสต์ในจังหวัดอุดร ซึ่งปรากฏว่าในเรื่องหลังสุดนี้ที่สุดนี้ นอกจากจะมีเพียงชนชาติญวนถูกจับกุม ยังปรากฏว่ามีคนไทยที่เป็นครูประกาศนียบัตร์ประจำโรงเรียนประจำมณฑล “"อุดรพิทยานุกูล” ได้ถูกจับกุมรวมทั้งหมด ๔ คนดังที่เราได้เสนอข่าวนั้นแล้ว บัดนี้ทางการกระทรวงมหาดไทยได้แจ้งไปยังจังหวัดอุดรว่าให้ส่งจำเลยในคดีนี้ลงมากรุงเทพฯ เพื่อพิจารณาต่อไป และทางจังหวัดอุดรได้นำตัวจำเลยทั้งหมดโดยสารรถไฟเข้ามา…”

 

ครูเตียงและเพื่อนครูต้องต่อสู้คดีนี้อยู่นานเกือบปี ท้ายที่สุดศาลพิพากษายกฟ้อง

ผมยังเคยอ่านพบเรื่องเล่าทำนองว่า มูลเหตุที่ นายเตียง ต้องถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์นั้น อาจเพราะการมีเรื่องผิดใจกับผู้กล่าวหาสืบเนื่องมาจากเรื่องของหญิงสาวผู้เข้าประกวดนางงามในงานฉลองรัฐธรรมนูญที่เมืองอุดร  โดยผู้กล่าวหานั้นชอบพอหญิงสาวคนนี้ แต่เธอกลับมาชอบ นายเตียง แทน

ควรบอกด้วยว่า ตอนนั้น นายเตียง ยังคงเป็นโสดและมีความเจ้าชู้ตามประสาคนหนุ่ม

หลังรอดพ้นมลทิน นายเตียง มิได้คิดที่จะกลับไปเป็นครูอีก เขาตัดสินใจลาออกจากราชการในปี พ.ศ. 2479  นี่คือจุดเปลี่ยนของชีวิตคนหนุ่มวัย 27 ปีผู้ตั้งปณิธานว่าจะเป็นครูสอนหนังสือและสร้างนักเรียนเท่านั้น ซึ่งคุณผู้อ่านก็คงน่าจะเห็นได้จากสิ่งที่ผมได้แจกแจงไปก่อนหน้าแล้ว

หากการถูกกลั่นแกล้งใส่ความและความอยุติธรรมที่ นายเตียง ต้องเผชิญได้ปลุกจิตสำนึกแบบใหม่ขึ้นมา จนเขารู้สึกว่าจะต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม สิทธิอันเท่าเทียมกัน และแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำให้แก่คนสังคม

 


หนังสือพิมพ์ประชาชาติ ปีที่ 3 ฉบับที่ 836 ประจำวันศุกร์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2478

 


หนังสือพิมพ์ประชาชาติ ปีที่ 3 ฉบับที่ 841 ประจำวันพฤหัสบดีที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2478

 

นายเตียง เลือกวิถีนักหนังสือพิมพ์เพื่อจะได้เป็นปากเสียงให้กับประชาชน เริ่มทำงานในตำแหน่งบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ เสรีราษฎร์

เมื่อมีการจัดให้เลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยในวันอาทิตย์ที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2480 นายเตียง จึงสมัครลงรับเลือกตั้ง และได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสกลนคร ทั้งยังได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ติดต่อกันมาอีกหลายสมัย และเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี

ที่กล่าวมาคือเรื่องราวของ นายเตียง ช่วงก่อนเขาจะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ครูหนุ่มคงจะไม่คาดคิดหรอกว่าการหันหลังกระดานดำอำลาโรงเรียนแล้วก้าวเข้ามาใช้ชีวิตนักการเมืองจะชักนำให้เขาต้องพบกับจุดจบของชีวิตที่เลวร้าย

ในวันศุกร์ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2495 นายเตียง ถูกอุ้มตัวไปสังหารอย่างโหดเหี้ยมโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐที่กล่าวหาว่าเขาเป็นคอมมิวนิสต์และเป็นกบฏแบ่งแยกดินแดน  เขากลายเป็นบุคคลสูญหายนานหลายปี กว่าที่จะมีการรื้อฟื้นเสาะหาความจริงว่าผู้ถูกอุ้มหายเสียชีวิตแล้วก็ช่วงต้นทศวรรษ 2500 ในสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผลการสืบสวนสอบสวนปรากฏว่า ตำรวจจำนวน 15 นาย ทั้งนายพัน นายร้อย และนายสิบได้สมคบร่วมกระทำความผิดด้วยการทรมานทำร้ายร่างกายและใช้เชือกรัดคอนายเตียงจนถึงแก่ความตายในวันศุกร์ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2495 ที่บ้านหลังหนึ่งในตำบลบางจาก อำเภอพระโขนง จากนั้นลำเลียงร่างไร้วิญญาณไปขุดหลุมเผาอำพรางกลางป่าในคืนวันเสาร์ที่ 13 ธันวาคมต่อเนื่องกับวันอาทิตย์ที่ 14 ธันวาคมในเขตตำบลแก่งเสี้ยน อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี

เมื่อทางเจ้าพนักงานสอบสวนเดินทางไปตรวจสอบพยานหลักฐานตรงจุดเกิดเหตุที่จังหวัดกาญจนบุรี เนื่องจากเวลาผ่านไปหลายปี พอขุดหลุมซึ่งเคยเป็นที่เผาอำพรางศพจึงพบเพียงเศษกะโหลกศีรษะและเศษกระดูกส่วนต่างๆ แต่ก็เจอสิ่งของติดตัวต่างๆ เช่น หัวเข็มขัด เศษแว่นตา ฟันทอง ส้นรองเท้า และพวงกุญแจ ประกอบกับการพิจารณาคำให้การของพยานแวดล้อมอื่นๆ ก็พอจะยืนยันได้ว่านายเตียง ศิริขันธ์ รวมถึงบุคคลอื่นๆที่ถูกอุ้มตัวมาพร้อมกันเป็นเจ้าของร่างที่ถูกฆาตกรรมและถูกเผาในหลุมนี้จริงๆ

ผมยังเคยฟังเรื่องเล่าที่ว่า แม้กระทั่งในวาระสุดท้ายของ นายเตียงก็ยังเกี่ยวพันกับการประกวดนางงาม ดังที่สถาปน์ ศิริขันธ์ ผู้เป็นหลานชายเล่าว่า ในวันศุกร์ที่ 12 ธันวาคม ก่อนที่จะนายเตียงจะหายสาบสูญไป ได้นัดหมายกับเขาเพื่อจะไปดูการประกวดนางสาวไทยในงานฉลองรัฐธรรมนูญ โดยตอนกลางวันที่ทั้งสองคนรับประทานอาหารด้วยกัน ได้มีรถเก๋งสีดำมาจอดตรงหัวมุมถนนพะเนียงคันหนึ่ง และอีกคันจอดอยู่ใกล้ๆ รถรางนางเลิ้ง นายเตียงชี้ให้สถาปน์ดูว่ามีรถเก๋งสีดำมาคอยเฝ้าดูอยู่ พอเวลาหนึ่งทุ่มของวันนั้น สถาปน์ไปรออยู่หน้าเวทีประกวดนางสาวไทย รอเท่าไรนายเตียง ก็ไม่มาสักที และคืนนั้นก็หายตัวไปเลยไม่ได้กลับมาบ้านอีก

เรื่องราวชีวิตของ นายเตียง ศิริขันธ์ ก่อนหน้าที่เขาจะดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นับว่าเป็นส่วนสำคัญที่ไม่ควรละเลยความเอาใจใส่ เพราะสามารถนำมาวิเคราะห์เพื่ออภิปรายถึงจุดเปลี่ยนแปลงจากการเป็นครูมาสู่การเป็นนัการเมืองได้อย่างน่าครุ่นคิด

 

เอกสารอ้างอิง

  • เตียง ศิริขันธ์.  เพื่อนครู เล่ม ๔. พิมพ์ครั้งที่ 2. พระนคร: โรงพิมพ์กรุงเทพ บรรณาคาร, 2478.
  • นิยม รักษาขันธ์. 2488 ครูอีสานกู้ชาติ. สกลนคร : สถาบันราชภัฏสกลนคร, 2543.
  • ประชาชาติ. ปีที่ 3 ฉบับที่ 836 (12 กรกฎาคม 2478).
  • ประชาชาติ. ปีที่ 3 ฉบับที่ 841 (18 กรกฎาคม 2478).
  • เรียงความเรื่องพระบรมรูปทรงม้าของนักเรียนจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย. พระนคร : โรงพิมพ์ศรีหงส์, 2471.
  • วิสุทธ์ บุษยกุล. เตียง ศิริขันธ์ วีรชนนักประชาธิปไตย ขุนพลภูพาน. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : แม่คำผาง, 2553.
  • ศิริขันธ์. “ดอนสวรรค์.” มหาวิทยาลัย. เล่ม 8 ตอน 1(2473). หน้า 3-14.
  • สวัสดิ์ ตราชู.  เตียง ศิริขันธ์ ลับสุดยอดเมื่อข้าพเจ้าเป็นเสรีไทย. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : แม่คำผาง, 2553.

[1] เป็นนามพระยานาคตนที่มาขดขนดกายเป็น 7 รอบแวดวงพระศาสดาจารย์ และแผ่พังพานปกเบื้องบนพระเศียรเกล้าพระบรมครู เราจะเห็นได้จากพระพุทธรูปปางนาคปรก