ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
วันนี้ในอดีต

คุณหญิงจันทนี สันตะบุตร แม่ของเด็กผู้ไร้ที่พึ่งพิง

25
ธันวาคม
2566

Focus

  • ความเป็นแม่ของคุณหญิงจันทนี สันตะบุตร นอกจากจะสร้างความอบอุ่นในชีวิตครอบครัว และความสำเร็จให้แก่ลูกๆทุกคนแล้ว ความเป็นแม่ของสตรีท่านนี้ยังเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ไปสู่เด็กๆผู้ทุกข์ยากและถูกทอดทิ้ง รวมทั้งถูกใช้แรงงานอย่างผิดกฎหมายอีกด้วย
  • งานด้านสังคมสงเคราะห์ของคุณหญิงจันทนีเป็นงานที่บ่มเพาะมาจากการได้รับการเลี้ยงดูอย่างอบอุ่น สภาพแวดล้อมอันดีงาม การมีศีลธรรมของพ่อแม่ และการช่วยเหลือผู้คนรอบบ้านที่บุพการีกระทำให้เห็น อันช่วยบ่มเพาะจิตใจที่อ่อนโยนและชอบช่วยเหลือผู้อื่นตลอดกาล
  • แม้ว่าจะได้รับการเลี้ยงดูมาแบบไทยๆ แต่คุณหญิงจันทนีก็เป็นสตรีหัวสมัยใหม่ที่ต้องการสร้างความเปิดกว้างของโลกการเรียนรู้ของตน อาทิ การรักการอ่าน การมุ่งมั่นในการเรียนให้สูงขึ้น ทำให้สามารถทำงานที่รับผิดชอบที่สูงขึ้น และเอื้อต่อการทำประโยชน์ให้แก่ผู้คนได้มากขึ้น เช่น สมาชิกสมัชชาแห่งชาติ (หลังเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖) รองประธานสภาที่ปรึกษา (เพื่อพัฒนา) แรงงานแห่งชาติ ประธานมูลนิธิเด็กอ่อนในสลัม และประธานมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก เป็นต้น

 

หน้าที่ยิ่งใหญ่ในรอบชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่งก็คือ ความเป็นแม่ หากความเป็นแม่นั้นไม่ได้จำกัดอยู่ที่การปฏิบัติต่อลูกที่ให้กำเนิดออกมาเพียงอย่างเดียว ถ้าผู้หญิงคนหนึ่งสามารถให้ความรักเอื้ออาทร ทุ่มเทการอบรมเลี้ยงดูให้กับเด็กทุกคนทัดเทียมกับลูกของตัวเอง...คำเรียกว่า “แม่” คงไม่เกินเลยสำหรับเธอแน่นอน

คุณหญิงจันทนี สันตะบุตร ผู้ผ่านเส้นทางอบอุ่นในชีวิตครอบครัวตลอดมา ตั้งแต่ยังเป็นเด็กหญิง ฟันฝ่าและยืนหยัดเพื่อความต้องการของเธอเองตลอดมาอย่างเข้มแข็ง ได้มายืนอยู่ในจุดของความเป็น “แม่” อย่างสง่าผ่าเผย ด้วยความเคารพยกย่องจากหัวใจของเด็กมากมาย นอกเหนือจากลูกทั้ง ๔ ของเธอเอง

นั่นเพราะเธอได้ทำงานหนักต่อเนื่องกันมาอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเด็ก…เด็กที่เธอรัก เรื่องราวเกือบค่อนชีวิตของเธอที่ได้พาเราท่องเข้าไปจึงผูกพันกระหวัดเกี่ยวกับเรื่องราวของครอบครัวและเด็กเสมอมา

ไม่ว่าในขณะนั้นเธอกำลังทำงานด้านสังคมสงเคราะห์ด้วยความตั้งใจหรือได้สงเคราะห์สังคมด้วยความไม่ตั้งใจอยู่ก็ตาม

“การสงเคราะห์นี่นะคะมาทำเป็นเรื่องเป็นราวก็เมื่อแต่งงานแล้ว”

“ตอนอยู่กับคุณพ่อคุณแม่ที่ต่างจังหวัด อยู่จังหวัดลพบุรีค่ะ คุณพ่อเป็นทนายความนะ คุณแม่เป็น...นักธุรกิจ....สมัยนี้เรียกว่านักธุรกิจ เพราะเป็นเจ้าของตลาดบ้านหมี่ มีฉางข้าว ค้าข้าวด้วย แล้วบางโอกาสก็มีคนมากๆ มาหา”

“ดิฉันตอนนั้นยังเด็กจำไม่ได้ว่า แม่เคยคุมคนทำนา เป็นนาที่เราชายไปแล้ว เศรษฐกิจมันตกต่ำเค้าก็เอามาขายคืนให้ก็มีนามาก แม่ก็ให้คนไปทำแต่ตอนนั้นตัวดิฉันเองยังเล็กมากจำไม่ได้”

“แต่จำได้อยู่อย่างนึ่งว่า ใต้ถุนบ้านเป็นบ้านใหญ่ใต้ถุนสูง ข้างล่างพวกลูกจ้างจากอีสานมาอยู่กันเยอะ...แล้วก็มีพวกเกวียน...นึกภาพออกแต่จำตอนนั้นไม่ได้...สรุปแล้ว คือ แม่ทำมาตั้งแต่ทำนาทำฉางข้าว”

“ตามสถานีรถไฟเมื่อก่อนจะมีคนมาส่งข้าวขึ้นรถไฟ...ไม่มีทางรถยนต์นี่เค้าก็จะซื้อข้าวใส่ยุ้งใส่ฉางเก็บไว้ แล้วส่งไปทางรถไฟ”

“เพราะฉะนั้นแม่เป็นนักธุรกิจ ค้าข้าว แต่คุณพ่อไม่ค่อยได้ทำ เพราะท่านเป็นนักกฎหมาย”

วัยเด็กที่อบอุ่นในบ้านหลังใหญ่อันแวดล้อมด้วยสิ่งดีงามรอบตัว เป็นพื้นฐานแน่นหนาอย่างหนึ่งสำหรับงานด้านสังคมสงเคราะห์ของคุณหญิงที่จับทำติดต่อกันมาถึงปัจจุบัน ตัวอย่างจากผู้ให้กำเนิดได้ฝังรากลึกลงในจิตใจ อ่อนโยนของเธอเสมอมา

“หลังบ้านที่บ้านมีเนื้อที่กว้างมากเป็นสวนนะ ก็มีพวกคนจีนนี่เยอะเชียวคนไทยน่ะน้อย ส่วนใหญ่เป็นคนจีนเค้าจะมาเช่าบ้านอยู่เดือนละบาท หลังเล็กหน่อยก็ ๒ สลึงก็มี...เท่าที่จำได้ แล้วเค้าก็เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ แล้วก็มีเด็กเยอะ”

“เช้าๆ ขึ้นพวกผู้ชายก็จะหาเฉาก๊วยบ้าง หมูสะเต๊ะ ไอศกรีม สารพัดละออกไปขายตลาด แต่เมียเค้าก็ซักผ้า เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ เลี้ยงหมู แล้วเย็นสามีเค้าก็จะกลับ”

“บางทีกลางคืนก็จะมีข้าวต้ม บะหมี่ มีทุกอย่างที่ไปขายตลาดน่ะ ก็ไปจากหลังบ้านเราเนี่ย

“มีคนเช่าอยู่สัก ๕๐-๖๐ หลังคาเรือน แล้วเค้าจะมาคล้ายๆ กับเราเป็นผู้ใหญ่บ้านเป็นเจ้าของบ้าน เจ็บทุกข์ได้ป่วยอะไรก็จะมา”

“ทีนี้หน้าบ้านเรามีศาลาขนาดนี้ (ทำมือวาดให้ดูขนาดกว้างยาวประมาณ ห้องรับแขกย่อมๆ ห้องหนึ่ง) ไว้สำหรับใส่บาตรก็มีหลังคา มีเสา เราก็เล่นลิงจับหลัก เล่นอะไรๆ กับเด็กๆ พวกนี้”

“มีเพื่อนเล่นเยอะ ลูกหลานคนจีนหลังบ้านน่ะ แล้วเป็นเพื่อนเล่นชนิดที่เราเป็นหัวโจกเสียด้วย เพราะว่าทุกคนก็ยกให้เป็นหัวหน้า”

“เล่นกับเด็กพวกนี้จนพูดภาษาจีนได้น่ะ พูดได้สบาย…สมายเลย ภาษาจีนแต้จั่วนะ แต่คำสึกๆ น่ะไม่ได้หรอก กินอะไร ไปทำไมนี่พูดได้ แล้วตอนั้นเด็กๆ ใช่มั้ยก็พูดชัด”

“ตอนที่ถูกเชิญไปเมืองจีนเวลาพูดออกมาแต่ละคำ พวกนั้นสงสัยมากว่าทำไมพูดภาษาจีนชัด แล้วภาษาจีนแต้จิ๋วกับภาษาจีนกลางนี้ไม่เหมือนกันจริงแต่มันเพี้ยนไปหน่อย อย่างคำว่าเพื่อน ‘เพ่งอิว’ ภาษากลางใช้คำว่า ‘เผิงโหย่วง’

“เวลาไปเมืองจีนเราก็เรียนกับล่ามเดี๋ยวนั้นเลย แล้วพอเราไปพูดกับเค้าคนจีนก็ดีใจเข้ามากอด คือ ภาษาเราพูดได้ชัด แต่เราพูดไม่ได้เยอะ”

“นี่ค่ะพื้นฐานความเป็นอยู่มันมาอย่างนี้ เราก็คุ้นกับพวกงานสังคมสงเคราะห์ เพราะว่าแม่นี่บางทีคนเจ็บคนไข้ จะไปเมืองจีน รับลูกรับเมียไม่มีเงิน ก็มายืมเงินแม่ เราก็เห็นไอ้พรรค์อย่างนี้อยู่เรื่อย”

นอกเหนือจากพื้นฐานของความชอบช่วยเหลือผู้อื่นโดยไม่หวังสิ่งใดตอบแทน คุณงามความดีที่เธอได้รับการอบรมตลอดมาเช่นเด็กหญิงไทยยุคก่อน ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เธอนำมาถ่ายทอดให้กับเด็กรุ่นลูกรุ่นหลานในทุกวันนี้

“เราเกิดความรู้สึกที่พ่อแม่เป็นคนมีศีลธรรมน่ะ เช้าขึ้นก็ปลุกใส่บาตรแล้วคุณพ่อจะว่าความเอาคนออกจากคุก มีคติอยู่ว่าถ้าฟ้องเอาคนเข้าคุกมาให้เงินเยอะแต่ไม่เป็นธรรมพ่อจะไม่ทำ เราจะรู้สึกคือพ่อเป็นคนทำให้เห็นเพราะฉะนั้นครอบครัวสำคัญมาก”

“ดิฉันนี่สวดมนต์ได้ตั้งแต่เล็กๆ เลย เพราะว่าคุณพ่อคุณแม่ไปวัดก็ไปด้วย นั่งกรรมฐานกลางคืน ๕ ทุ่ม ๖ ทุ่มก็นั่งด้วย บางทีก็ถือศีลด้วย เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้หลอมเรามาโดยที่เราไม่รู้สึกในตอนนั้น ตอนนี้เราย้อนหลังไปเราถึงจะรู้ว่าทำไมเราจึงเป็นอย่างนี้”

แต่ในท่ามกลางอวลอายของบรรยากาศแบบบ้านไทยสมัยโบราณ ที่ลูกผู้หญิงมักจะได้รับการเลี้ยงดูให้เป็นผู้ตาม คุณหญิงมีแววของความทะเยอทะยานอย่างหญิงสาวหัวสมัยใหม่แฝงเร้นอยู่ เธอเปิดโลกกร้างให้ตัวเองผ่านตัวหนังสือหลากหลายเท่าที่จะสัมผัสได้

“เป็นคนชอบอ่านหนังสือค่ะก็เลยรู้จักโรงเรียนในกรุงเทพฯ ตอนนั้นเห็น

ว่าโรงเรียนราชินีแหมเก่ง นักเรียน ๑๐ กว่าคนสอบมัธยม ๘ ได้หมด อยากเข้าโรงเรียนนี้จริงๆ ก็มาเรียนต่อที่โรงเรียนราชินีอยู่พักหนึ่งจนจบ”

“ตอนนั้นคุณพ่อคุณแม่อยากให้อยู่โรงเรียนประจำ อยากจะเข้ามหาวิทยาลัยก็ไม่ให้เข้า เอากลับไปอยู่บ้าน พอดีที่จังหวัดมีประกาศรับสมัครโรงเรียนฝึกหัดครูก็ไปสอบ เกิดสอบได้ก็มาเรียนที่สวนสุนันทา”

“เรียนจบก็ไปเป็นครูอยู่ที่บ้านหมี่ ไปอยู่กับพี่ พอดีช่วงนั้นมีประกาศ รับสมัครครูมัธยมก็มาสอบแข่งขันกับเค้า ติดครูมัธยมที่โรงเรียนจันทรเกษมเก่าน่ะ เมื่อก่อนเรียนกันอยู่หลังกระทรวงก์เรียนไม่จบหรอกนะ...และขณะที่เรียนก็เรียนกฎหมายไปด้วย”

ผลจากการชอบศึกษานี่เอง ถึงแม้เธอจะเป็นลูกสาวคนเล็กของคุณพ่อ ยุคโบราณ แต่เธอก็ได้เข้ามาศึกษาระดับสูงในเมืองหลวง หากสงครามโลกครั้งใหญ่ไม่ยื่นล้ำเข้ามามีผลต่อประเทศไทยเสียก่อน ความฝันด้านการศึกษาของเธอคงไม่สะดุดหยุดลง

“บ้านดิฉันอยู่หน้าสถานีรถไฟ ระเบิดมาลงที่สถานีรถไฟใกล้บ้านมาก พวกญี่ปุ่นก็มายึดที่บ้าน มายึดบริเวณน่ะ บ้านเรามันเป็นสวนมีต้นไม่ใหญ่ๆ ญี่ปุ่นก็มากางเต็นท์อยู่กัน”

“เราก็อพยพกันไปอยู่บ้านหมี่เหลือแต่ผู้ชายอยู่ที่บ้าน ไปอยู่ที่นั่นสัก ๒-๓ เดือน นายอำเภอก็มาช่วยดูแล เสร็จสงครามก็แต่งงานกับนายอำเภอเลย”

น้ำเสียงรำลึกที่เล่าเรียงถึงเหตุการณ์ครั้งก่อนยังคงให้ภาพและบรรยากาศคล้ายเพิ่งผ่านมาไม่เนิ่นนาน ถึงแม้ว่าสงครามจะเป็นเหตุผลที่ห้ามไม่ได้อันทำให้เธอต้องหยุดเรียน แต่เธอก็ยังคงถวิลหาการศึกษาที่สูงขึ้นตลอด

“ตอนสงครามมันหนักนะคะ โรงเรียนหยุด...ปิดเลย ต้องหยุดเรียนไปเลย ก็เลยไม่ได้เรียนให้จบ”

“อันนี้ที่เป็นปมด้อยที่อยู่ในใจ หลับไม่เคยสบายเลย อาทิตย์นึงจะต้องฝันว่าเป็นอย่างโน้นเป็นอย่างนี้...จริงๆ นะคะ ไม่เคยได้สงบเลย อาจจะสงบข้างนอก แต่ข้างในมันจะตีกันยุ่งเหยิง ฝันอย่างนี้จนกระทั่งมีลูก ๓-๔ คนแล้วก็ยังเป็น หลังๆ นี่ยังมีฝันสักปีละครั้ง แต่เมื่อก่อนนี้ถี่มาก”

“เป็นจิตใต้สำนึกนะ....คือเป็นคนที่มี ambition เรื่องเรียนมาก เพราะเป็นคนเรียนหนังสือดีด้วย เมื่อไม่ได้อย่างใจ...มีเหตุการณ์หลายอย่างที่บีบคั้นในที่สุดก็กลับมาเรียนใหม่ มาเรียนกฎหมายที่ธรรมศาสตร์เมื่อมีลูกคนที่ ๔”

แรงบันดาลใจที่ได้เข้าไปทำงานและรับรู้ปัญหาเกี่ยวเนื่องกับกฎหมายที่เสียเปรียบของผู้หญิงทำให้เธอมุมานะกลับมาเรียนต่อด้านกฎหมายที่ใจรักอีกครั้งที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ใช้เวลาเพียง ๒ ปีเชื่อมต่อกับความรู้เดิมเธอก็เรียนจบดังตั้งใจ

“พอสามีย้ายเข้ากรุงเทพฯ ตอนนั้นเค้าก็บอกว่า พวกภรรยาข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ต้องไปเป็นสมาชิกสโมสรวัฒนธรรมหญิง อันนี้ก็ต้องขอขอบคุณอยู่ ๒ คนนะ คือ ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม ซึ่งริเริ่มให้ผู้หญิงตื่นตัว และ คุณหญิงอารี สุนาวินวิวัฒน์ ซึ่งท่านเป็นภรรยารัฐมนตรีมหาดไทย”

“หลังจากที่ท่านผู้หญิงละเอียดตั้งภรรยาผู้ว่าราชการจังหวัดทั้งหมดมาเป็นนายกสโมสรวัฒนธรรมหญิง...เรียกว่า สวญ.ต่างจังหวัดนะคะ ท่านก็เลยบอกว่าในส่วนกลางก็น่าจะต้องมาช่วยกันบ้าง”

“ตอนนั้นดิฉันอายุยังน้อย ๓๐ ยังไม่ถึงมั้ง...ดิฉันก็ได้มาด้วย ซึ่งก็มีท่านผู้ใหญ่ๆ เยอะค่ะที่มาเป็นสมาชิกสโมสรวัฒนธรรมหญิง เพราะตอนนั้นสามีดิฉันเป็นหัวหน้ากองการสอบสวนในสมัยนั้น”

“ก่อนจะมานะกลัวจังละจะแต่งตัวก็ต้องไปตัดเสื้อ เพราะว่าเราเป็นแม่บ้าน...คือ ที่จริงอยากจะบอกพวกเราไว้ว่าเพียงแต่ว่าให้เรียบร้อยไม่ให้กะเร่อกะร่าก็พอแล้ว คนเค้าไม่ได้มองเราหรอก เรามองตัวเราเอง”

“ที่นี้หลังจากเข้าไปตรงนั้นแล้วไม่รู้จะไปทำอะไร เค้าก็มีแผนกสังคมสงเคราะห์ซึ่งเราสนใจ เค้ามีแผนกประดิษฐ์ เอ๊ะ เราก็ประดิษฐ์ไม่เป็นเอาแผนกนี้แหละ สังคมสงเคราะห์นี่แหละ”

“สโมสรวัฒนธรรมหญิงชุดนั้นเป็นระเบียบมากในเรื่องการทำงาน ดิฉันก็ได้จากที่นั่นเยอะ ได้เข้าไปเห็นสิ่งที่มีประโยชน์เยอะแยะ และเราก็ได้รู้จักผู้ใหญ่เยอะ ได้เห็นวิธีการทำงานของท่าน...ก็ได้เริ่มต้นทำงานสังคมสงเคราะห์เป็นเรื่องเป็นราวที่สโมสรวัฒนธรรมหญิง”

ความประทับใจส่วนตัวที่คุณหญิงมีต่อท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เธอทำงานอยู่ในสโมสรวัฒนธรรมหญิงอย่างกระตือรือร้นเต็มเปี่ยม...พร้อมกับหวนนึกถึงการทำงานด้านสังคมสงเคราะห์ที่ผ่านมาของเธอที่ทำด้วยจิตใจขึ้นมาด้วย

“ที่ทำมาตั้งแต่ต้นโดยที่ไม่รู้ก็ทำมานะ เพราะว่าสามีไปเป็นนายอำเภอตอนสมัยสงคราม ไม่ว่าจะปลัดอำเภอ นายอำเภอ ยากจนกันทั้งนั้นแหละ มีลูกกันเยอะๆ บางที”

“ถ้วยชามก็แพงน่ะ ไม่ขายด้วย ช่วงสงคราม ไม้ขีดก็ไม่มี สบู่ก็ไม่มีเราต้องเอาขี้เถ้ามาแช่แล้วเอาน้ำขี้เถ้ามาซักเสื้อกางเกงที่ดำๆ สบู่เค้าก็จะเคี่ยวขายเอง เอาไขวัวมาเคี่ยว แต่มันแพงมาก เพราะฉะนั้นผ้าซิ่นกางเกงพวกนี้เราจะแช่ด่างที่เป็นน้ำจากการแช่ขี้เถ้า”

“ยังจำได้นะเมื่อก่อนกระโถนน้ำหมากนี่แม่ใช้ขัดนะ ดิฉันนี่เคยทำ แล้วลูกความมาหาพ่อวันละไม่รู้กี่คน เราก็เทแล้วใช้กาบมะพร้าวชุบดินแล้วก็ขัดคราบน้ำหมากแดงๆ”

“ถูบ้านพี่สาวจะเป็นคนทำ เราเด็กก็มีหน้าที่ล้างกระโถน มีพวกลูกจ้างเหมือนกันนะ แต่แม่จะไม่ให้ทำหรอก สิ่งเหล่านี้จะให้ลูกๆ ทำ”

“หน้าที่อีกอย่างก็คือใส่บาตร จนนกขุนทองเรียก...ที่บ้านเรียกติ๊กนะคะ...นกขุนทองจะปลุกทุกเช้าเลย....ติ๊กเอ้ย ใส่บาตร...เพราะแม่เช้าขึ้นมา ต้องมาเรียกปลุก นกขุนทองได้ยินจนพูดตามไปเลย”

“ที่เล่าถึงความเป็นอยู่ เพราะอยากจะเน้นให้เห็นว่า เรื่องของครอบครัวนั้นมีส่วนสำคัญต่อชีวิตของมนุษย์มากที่สุด เป็นโรงเรียนแรกที่จะหลอมเราโดยไม่รู้ตัว”

ความเป็นครูที่ถูกถ่ายทอดมาเมื่อครั้งเรียนสวนสุนันทา บวกกับประสบการณ์หลากหลายด้าน คุณหญิงก็เริ่มต้นเข้ามาทำงานต่อสู้เพื่อสิทธิสตรี และช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสไปเกือบจะพร้อมกัน ความรักที่จะเรียนรู้ก็ยังคงเป็นสมบัติประจำตัวของเธออยู่ เมื่อเธอได้รับแรงบันดาลใจให้รวบรวมสมัครพรรคพวกตั้งกลุ่มเรียนภาษาอังกฤษกับอาจารย์ฝรั่ง เธอยังคงร้อยเรียงประสบการณ์ชีวิตของเธอ

“ลูกๆ ที่เป็นด๊อกเตอร์ทั้งหลายนี่เมื่อก่อนนี้ใช้เศษผ้าร้านตัดเสื้อเอามาตัดกระโปรง เลาะกระโปรงมาตัดเสื้อ เอามาต่อทำเสื้อผ้าใส่ เพราะมันไม่มีขายด้วย”

จากประสบการณ์สิ่งละอันพันละน้อยที่เธอได้รับมาเป็นกำไรชีวิต ทำให้เธอมีหลักและวิธีการในการทำงานที่จะถ่ายทอดให้กับคนรุ่นหลังมากมาย เช่น ที่เธอบอกกับเราถึงวิธีการทำงานในด้านต่างๆ กับผู้คนที่รายรอบข้าง

“คนเราไม่ต้องบังคับ ถ้าบังคับแล้วจะเกิดการต่อต้าน บางทีทำให้เกิดผลร้าย ชักจูงสิคะ...ถ้าไม่บังคับนัก การกระทำจะเป็นอัตโนมัติไปเอง”

“แต่ก็มีบางอย่างที่ต้องบังคับ เมื่อสิ่งที่ทำขึ้นแล้วไปทำให้เกิดความทุกข์ทำให้เป็นอันตรายกับผู้อื่น อันนั้นต้องบังคับ ถ้าเผื่อเป็นผลกับตัวเค้าเอง เราแนะนำให้รู้สิ่งดีสิ่งไม่ดี”

สำหรับการเริ่มต้นทำงานที่สโมสรวัฒนธรรมหญิงของเธอสั่งสมประสบการณ์และมุมมองให้กับชีวิตที่คลุกคลีอยู่กับงานสังคมสงเคราะห์ตลอดมาของเธอเป็นอันมาก ทั้งที่ในช่วงเริ่มต้นเธอเองยังมองไม่ออกเสียด้วยซ้ำว่า ลักษณะของงานสังคมสงเคราะห์คือสิ่งใด

“ไปแล้วก็ไปอยู่แผนกสังคมสงเคราะห์ เค้าจะส่งไปตามโรงพยาบาลแยกกันไป ก็เลยไปทำอยู่โรงพยาบาลเด็ก ไปช่วยเค้าซ่อมพวกเสื้อผ้า ไปอยู่สักพักเค้าก็บอกว่าให้ไปอยู่ที่โรงพยาบาลหญิงบ้าง ตอนนั้นก็ติดโรงพยาบาลเด็ก ไม่ค่อยอยากไป แต่พอเราไม่ไปก็ไม่มีใครไป ในที่สุดก็เลยไป”

“ไปอยู่โรงพยาบาลหญิงไปถึงก็ไปช่วนพ้นผ้าก๊อซ ปั้นสำลีมั่ง เดี๋ยวนี้ก็ยังทำกันอยู่เลยนะ ก็ทำกันมาเรื่อย ทีนี้ขณะที่ทำก็มีพวกภรรยาผู้อำนวยการ จำชื่อได้คนเดียว มิซซิสมาซินทิลก็มานั่งทำอยู่ด้วย เราก็พูดภาษาอังกฤษไม่ค่อยได้ วันดีคืนดีท่านผู้หญิงก็จัดการอบรมพวกเราเกี่ยวกับการสังคมสงเคราะห์นี่ละให้มันเข้ารูปมากขึ้น”

“ก็มีอาสาสมัครสัก ๔๐-๕๐ คน พากันไปโรงพยาบาลมั่งไปดูแลคนไข้มั่ง ...ยังจำได้สวมชุดสีเทากันตอนนั้น”

ส่วนงานที่เกี่ยวเนื่องกับเด็กที่เธอประสบความสำเร็จกับการทำงานให้สมาคมและมูลนิธิหลากหลายในวันนี้นั้น เธอก็เคยเริ่มต้นมาตั้งแต่สมัยที่ยังเพิ่งเต็มสาว

“เมื่อตอนที่เป็นครูอยู่ลพบุรีที่โรงเรียนเทพสตรี เคยไปเป็นอาสาสมัครอาสากาชาดรุ่นแรกเลย เค้าก็มีหลายแผนกนะ ก็ไปแผนกบำรุงใจคนไข้ พาเด็กๆ ไปเล่นละครมั่ง ร้องเพลงมั่ง ให้พวกทหารที่ไปรบแล้วก็เจ็บป่วยที่โรงพยาบาลอานันทมหิดล”

“นั่นน่ะเป็นการเริ่มเข้าไปทำงานครั้งแรก แต่ไม่รู้ว่าเค้าเรียกว่า สังคมสงเคราะห์”

“ยังได้เหรียญช่วยเขตหลังมาเลย เวลาไปไหนขึ้นรถลงเรือลดครึ่งราคานะ รักษาถ้าโรงพยาบาลใช้บัตรนี้ได้ลดนะ เรียกว่า บัตรผ่านศึก”

คุณหญิงได้ทำงานด้านกฎหมายเพื่อผู้หญิงด้วยกันมาตลอดเวลาพร้อมกับงานด้านเด็กเช่นที่กล่าวแล้ว เมื่อครั้งมีสมัชชาแห่งชาติหลังเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ เธอเป็น ๑ ในจำนวนผู้หญิง ๑๖ คนที่ได้รับเลือกเข้าไปจากจำนวนสมาชิกสมัชชาทั้งหมด ๒๙๙ คน เธอได้ต่อสู้เพื่อผู้หญิงสำเร็จหลายประการในด้านกฎหมาย

“ดิฉันทำงานเกี่ยวกับเด็กมาอย่างที่เล่าไปแล้วนะคะ แล้วดิฉันก็มีลูก ๔ คน ที่บ้านดิฉันมีหลานเยอะแยะ ก็อยู่กับเด็ก เลี้ยงเด็ก แล้วดิฉันเคยเป็นครูเคยเห็นเด็กมาเยอะ และยังได้ไปอยู่ศาลเด็ก มีประสบการณ์เกี่ยวกับเด็กมากมาย”

“โดยเฉพาะที่ศาลเด็กได้เห็นเลยครอบครัวที่แตกแยก เด็กที่มาสู่ศาล...หมายความว่าถูกจับมานี่นะเกือบจะว่า ร้อยทั้งร้อยเป็นเด็กที่มาจากครอบครัวแตกแยก”

“ครอบครัวแตกแยกในที่นี้ไม่ได้หมายความว่า ครอบครัวยากจนอย่างเดียว แต่ส่วนใหญ่ความยากจนทำให้ไม่ได้เกิดความอบอุ่น ไปทำมาหากินเสียจนไม่ได้ดูแลลูก ไม่มีจะกินก็ทะเลาะหาเหล้ามาย้อมใจ พอกินเหล้าเข้าไปแล้วมันก็ไม่ใช่คนแล้ว ก็มีเรื่องทุบตีกันในครอบครัว”

“แล้วครอบครัวที่ไม่มีรั้วรอบขอบชิด ครอบครัวที่อยู่ในสลัม...เด็กในสลัมไม่ใช่ซับแต่ความไม่ดีของพ่อแม่ แต่ยังซับเอาความไม่ดีของเพื่อนบ้านที่รั้วติดกันและมันก็เห็น...ไม่ว่าเรื่องเพศ เรื่องลักขโมย ไม่ว่ายาเสพติด ทุกอย่างหมด”

“เพราะฉะนั้นคนจนมีโอกาสที่จะทำให้เด็กได้เป็นอาชญากรค่อนข้างมากแต่คนรวยก็มีโอกาส...เพราะมีมากเกินไป สิ่งเหล่านี้ถ้าพ่อแม่ไม่ดูแล ก็ทำให้เกิดปัญหากับตัวเด็ก”

“ดิฉันเข้าไปอยู่ศาลเด็กก่อนที่จะมาทำเรื่องผู้หญิงนะ ดิฉันสนใจเรื่องของเด็กมาก”

ส่วนงานที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องของเด็กโดยตรง คุณหญิงเริ่มต้นตรงที่ได้เข้าไปเป็นนักกฎหมายในศาลคดีเด็กและเยาวชน ภาพของเด็กที่ถูกนำมาขึ้นศาลเป็นความสะเทือนใจที่ทำให้เธอคิดหาทางช่วยเหลืออยู่เสมอ และได้จับทำจนสำเร็จอย่างที่เห็นในวันนี้

“ในที่สุดก็ไปเป็นรองประธานสภาที่ปรึกษาแรงงานแห่งชาติ ได้เห็นสภาพเด็กถูกกดขี่แรงงานบ้างอะไรบ้าง ก็เลยหันมาช่วยมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก ตอนนั้นเราไปริเริ่มจะตั้งมูลนิธิช่วยเหลือแรงงานเด็ก ตอนหลังก็เลยเอามารวมกันไว้ที่มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็กเป็นส่วนหนึ่ง”

“ดิฉันสนใจเรื่องปัญหาแรงงานเด็ก สนใจเรื่องเด็กที่ถูกทอดทิ้งเร่ร่อนเด็กเกเร แล้วครูประทีปก็มาขอให้ไปเป็นประธานมูลนิธิเด็กอ่อนในสลัม ก็เลยไปทำให้ ไปทำอยู่ ๑๐ ปี”

“ขณะที่ทำมูลนิธิเด็กอ่อนในสลัมก็ไปอยู่ในสลัมได้รู้เรื่องสลัมเยอะ ครหยุย ซึ่งเป็นผู้จัดการเค้าไปช่วยอยู่ ก็มาขอให้มาเป็นประธานมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก”

“มูลนิธีสร้างสรรค์เด็กเป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับศาลเด็ก ก็สนใจอยากจะช่วยเด็กพวกนี้ก่อนที่จะต้องเข้าไปศาล”

“ก็เลยรับทำ ๓-๔ ปี ได้ผลดีมาก แล้วยังเอาเด็กที่ศาลฯ มาฝากครูหยุยตั้งเยอะ อย่างพวกที่ออกมาแล้วไม่รู้จะไปที่ไหน ก็เอามาไว้ที่นี่”

“หรือเด็กที่ไม่มีความผิด.. คือศาลเด็กมีวิธีพิจารณาผิดจากที่อื่นซี่งคดีเดียวกันถ้าเกิดทำผิดจะตัดสินไม่เหมือนกันไม่ได้ถ้าทำผิดเหมือนกัน แต่ศาลเด็กแม้จะทำความผิดเหมือนกัน แต่บางคนเราเห็นว่าควรปล่อยเค้ากลับไปเพราะมีพ่อมีแม่ เราก็ปล่อยได้ ถ้าเด็กไม่มีพ่อมีแม่ เราจะปล่อยไปได้ยังไง เราก็เอาไว้ เพราะฉะนั้นทำไม่เหมือนกัน”

“ถ้าพ่อแม่เค้าแข็งแรงสภาพดีขึ้นแล้ว ว่าพ่อแม่เค้าสามารถดูแลได้โรงเรียนรับรองก็ปล่อยให้ไปได้ แต่ที่นี้ถ้าไม่มีคนดูแลพ่อติดเฮโรอีนอะไรต่างๆ เราก็ต้องเอาไว้ คนประเภทที่เราไม่อยากเอาไว้ เราก็เอามาในสถานที่ที่ไม่ใช่ศาลไม่ต้องติดคุกไม่ต้องกักขังน่ะ แต่จะเอาไปไว้ในที่ที่เราคิดว่าปลอดภัยสามารถจะกลับตัวได้”

และเมื่อย้อนกลับไปร้อยเรียงถึงสาเหตุของเด็กที่กระทำผิด...เรื่องราวในวัยเด็กที่คุณหญิงเล่าให้ฟังก็หวนกลับมาสู่การสนทนาอีกครั้ง...หากเป็นรูปแบบที่ต่างๆ ออกไป

“สังเกตมั้ยว่าคนยิ่งจนยิ่งมีลูกเยอะแล้วจะมีเวลาอะไรดูแลลูก เพราะฉะนั้นส่วนที่เค้าขาด โรงเรียนหรือสังคมน่าจะต้องเติมให้ ทีนี้ถ้าไปเจอะสังคมที่แย่มันก็ยิ่งทำให้เด็กที่ขาดขาดมากยิ่งขึ้น ก็ยิ่งทำให้เค้าเป็นเด็กไม่พึงปรารถนาหนักขึ้น”

“แต่ถ้าเผื่อว่าโรงเรียนช่วยได้ เติมในส่วนที่พ่อแม่ให้ไม่ได้...ซึ่งเดี๋ยวนี้ก็เห็นใจนะ ยิ่งกว่านั้นสังคมคอยฉวยโอกาสอยู่แล้วที่จะใช้เด็กเหล่านี้ อย่างเอาเด็กไปใช้แรงงานให้ไปขอทาน สังคมซ้ำเติมฉวยโอกาสกับเด็กเหล่านี้ที่พ่อแม่ไม่เอาใจใส่ ใช้ปมด้อยของเค้ามาฉวยโอกาสเอารัดเอาเปรียบ”

“ตราบใดที่สังคมยังมีสิ่งที่ไม่สามารถกำจัดสิ่งที่เลวร้าย บุคคลที่ฉวยโอกาสในเรื่องปมด้อยของเด็ก อย่างมีสถานเริงรมย์ยั่วยุเยอะแยะ หรือฉวยโอกาสใช้เด็กไปเป็นเครื่องมือทำมาหากิน หรือพวกที่หลอกเด็กเอาไปด้วยวิธีการต่างๆ”

“เหล่านี้คิดว่าถ้าหันมาช่วยกัน พ่อแม่ โรงเรียน และก็สังคม ก็จะสามารถช่วยเด็กเหล่านี้ได้”

ในฐานะที่เป็นจุดเล็กจุดหนึ่งในเส้นต่อของสังคมอันไพศาล ความช่วยเหลือจากสมาคมและมูลนิธิที่คุณหญิงเกี่ยวข้องเปรียบเสมือนหยดน้ำบนผืนทรายกว้างใหญ่หากก็ยังดีกว่าปล่อยให้เด็กๆ เคว้งคว้างโดยที่เธอไม่ได้ทำอะไรเสียเลย

“พูดกันง่ายๆ นะคะ เด็กอ่อนในสลัมเราจะช่วยทางด้านสุขภาพ สุขภาพกาย สุขภาพจิต ถ้าพูดกันในด้านสุขภาพจิตเด็กๆ พวกนี้ถ้าถูกปล่อยไว้กับน้องกับพี่ หนึ่ง พี่ไม่ได้ไปโรงเรียน สอง เด็ก ๆ พี่จะดูแลน้องได้อย่างไรมีอะไรก็ให้กินไปตามมีตามเกิด ก็กลายเป็นขาดธาตุอาหาร เช่น เอาน้ำโคล่าบ้างบีบใส่ให้น้องกิน”

“บางคนมาหาเรานี่ขาดสารอาหารอยู่ในระดับที่แย่ที่สุด เพราะว่าอาจจะมีกิน แต่ก็กินไม่ถูก หรือไม่มีกิน เพราะฉะนั้นพวกนี้จะเติบโตมาอย่างอดๆ อยากๆ หรือไม่ก็ได้อาหารที่ไม่ถูกส่วน การพัฒนาทางร่างกายก็ใช้ไม่ได้เลย”

“เมื่อใช้ไม่ได้ก็กระทบถึงสมอง เป็นคนไม่ฉลาดไปแล้ว”

“ทางด้านจิตใจเมื่อไม่ได้รับความอบอุ่น...ความรักความอบอุ่นนี่เมื่อเด็กขาดสิ่งเหล่านี้ก็จะเกิดเป็นคนก้าวร้าว เกิดเป็นคนที่เมื่อกระทบกับสิ่งเลวร้ายก็จะคล้อยตามไปได้ง่าย”

“ทางเด็กอ่อนเราก็ต้องเริ่มปูพื้นฐานในเรื่องอารมณ์ ในเรื่องของการเจริญเติบโตของเซลล์ต่างๆ ของร่างกาย”

“ดิฉันไม่ใช่หมอนะคะ แต่เรามีทั้งหมอทั้งพยาบาลที่คอยดูแลสิ่งเหล่านี้”

“เด็กเล็กเราจะเลี้ยงตั้งแต่เด็กแรกเกิดไปจนถึง ๔-๕ ขวบ จนเข้าโรงเรียนอนุบาลต่อไปได้ เด็กแรกเกิดเราถือว่ามีความหมายนะที่จริงนั้นเราอยากให้เด็กได้อยู่กับแม่เค้ามากกว่า เราไม่ได้เลี้ยงแต่ในสถานรับเลี้ยงเด็กเฉยๆ แต่เราจะขยายความรู้เหล่านี้ออกไปให้ในการเยี่ยมบ้านด้วย”

“เราพยายามที่จะขยายสิ่งเหล่านี้ให้ไปอยู่ในชุมชนต่างๆ โดยที่ใช้ชาวบ้านซึ่งเลี้ยงลูกสี่ซ้าห้าคน เราจะสนับสนุนในเรื่องนม แม้นมแม่ที่สุดแต่ถ้าเพื่อให้ไม่ได้เพราะเหตุหนึ่งเหตุใด เราจะช่วยในส่วนนั้น”

“นมแม่จะดีก็ต่อเมื่อแม่ได้มีอาหารกินที่บริบูรณ์ และมีเวลาให้ลูก แต่อย่างน้อยก็ต้องให้เลี้ยง ๒ เดือน ๓ เดือน ๕ เดือน”

"บางทีไม่มีน้ำนมให้ลูก สิ่งเหล่านี้เราก็ต้องให้ความช่วยเหลือ”

“จะเห็นได้ว่า วิธีของเรานั้นเราปูพื้นฐานตั้งแต่ต้น เราไม่ถือว่าเด็กเพิ่มปริมาณเป็นของดี เราต้องการขยายความคิดขยายวิธีการเหล่านี้ไปสู่ชุมชนด้วยเราไม่อยากให้เข้ามาเยอะๆ ถ้าเข้ามาเยอะเราถือว่าเราทำงานไม่ได้ผล”

หากความสำเร็จที่อย่างน้อยมีกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งรับรู้ในการทำงานของมูลนิธิเด็กอ่อนในสลัมย่อมเป็นสิ่งตอบรับความตั้งใจของผู้ทำงานได้เป็นอย่างดี นอกจากเธอจะทำงานด้านเด็กอ่อนแล้ว เด็กโตเธอก็ยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือด้วยเช่นกัน และเด็กกลุ่มนี้เองที่นับเนื่องมาจากการทำงานในศาลเด็กของเธอ

“สร้างสรรค์เด็กนั้นน่ะเราช่วยเด็กโตหน่อย เด็กที่เร่ร่อน เด็กจรจัด.... สำคัญที่สุดในการช่วยเด็กๆ เหล่านี้ก็คือ เราพยายามที่จะไม่ให้สายสัมพันธ์ของเค้ากับครอบครัวแตกหักออกไปเว้นแต่ที่จำเป็น”

“ที่เราเอาไว้แล้วเด็กไม่ยอมกลับบ้านพักนึงกลัวแม่ตามมาถูก เด็กถูกตีจนหัวเป็นแผลเยอะหมดเลย เค้าทำผมเค้าต้องเอาผมปิด แม่เมาขึ้นมาแม่ก็เอาไม้กระบองตีเอามีดสับหัว นี่เรื่องจริง เราไปเจอเค้ากำลังอยู่แถวสนามหลวงเด็กเป็นสาวแล้วนะอายุ ๑๓”

“อีกประเภทก็เป็นเด็กเร่ร่อน หนีออกมาจากบ้านไปเที่ยวขอทานบ้าง ฉกฉวยของบ้าง พวกนี้เค้าจะไม่เดินเข้ามาหาเราเอง เพราะฉะนั้นจึงต้องมีโครงการเรียกว่า 'ครูข้างถนน'

“ก็คือโครงการที่เด็กส่วนใหญ่จะมาจากข้างถนนนั่นแหละ แต่เค้าปรับตัวแล้วเข้ามาเรียนกับเราจนเป็นคนดีแล้ว”

“เราให้เค้ามาเป็นอาสาสมัครแล้วให้เงินเดือน เราไม่ได้จ้างแต่ให้เค้ามาช่วยเดือนนึงเราให้ ๘๐๐-๑,๐๐๐ บาท”

“พวกเค้าจะออกไปในพื้นที่ต่างๆ ไปเจอกับเด็กข้างถนนซึ่งเด็กพวกนั้นจะไม่รู้สึกรังเกียจ ลองเป็นเราออกไปสิ เค้าไม่เอาด้วยหรอก เค้าเดินหนีถ้าเป็นพวกนี้เค้าไม่รู้สึก”

“อาสาสมัครของเราก็จะใช้วิธีการต่างๆ ที่จะชักจูงให้เห็นว่า การเร่ร่อนนั้นมีอันตราย เค้าก็จะมาอยู่ด้วย อย่างน้อยหิวข้าวก็มากินข้าวสักมื้อสองมื้อ”

“เราจะมีบ้านพักหลังหนึ่งเรียกว่า ‘บ้านแรกรับ’ เราจะไม่ดึงเอาเด็กใหม่ๆ เข้ามาไว้ในบ้านอุปถัมภ์ของเราเลย เพราะบ้านอุปถัมภ์เราต้องมีกฎเกณฑ์บ้าง”

“เด็กที่เคยอยู่อย่างนั้น เค้าจะเข้ามาอยู่ในที่มีกฎเกณฑ์ทีเดียวไม่ได้เค้าก็จะตามครูของเราเข้ามาใหม่ๆ อาจจะดู กินข้าวมือนึงแล้วก็ไป ไปขอทานอีก ไปขายหนังสือพิมพ์อีก ตามเรื่องเค้าจนกว่าเค้าจะรู้ว่าอยู่ที่นี่แล้วมันจะดีเค้าจะมีอนาคต”

“อีกอย่างเราก็กลัวเหมือนกันว่าเอามาเข้าบ้านดีของเราเลย ดีไม่ดีพาเด็กดีของเราติดยาติดเฮโรอีนไปเลย เพราะฉะนั้นเราทิ้งไว้ที่นี่นาน เราพินิจอยู่นานกว่าจะเอามาเข้าบ้านอุปถัมภ์”

“ที่สำคัญที่สุดพวกเด็กเร่ร่อนเราจะพยายามให้เค้ากลับบ้าน”

ส่วนเงินทุนสำหรับนำมาใช้จ่ายในสมาคมและมูลนิธิที่เธอรับผิดชอบอยู่ถ้าเป็นเงินก้อนใหญ่จะเป็นมูลนิธิเพื่อการกุศลในต่างประเทศให้มา แต่จากในประเทศเองก็เป็นแหล่งเงินหมุนเวียนที่สำคัญยิ่งเช่นกัน

“ขอพูดนิดนึงนะว่าคนไทยนั้นไม่ใช่ไร้น้ำจิตน้ำใจ ไม่ใช่อาศัยแต่เมืองนอกนะ แต่ไม่มีเงินก้อนใหญ่ๆ จะให้ ที่เมืองนอกเค้าเป็นมูลนิธิเค้าให้เป็นก้อน แต่คนไทยนั้นให้เหมือนกับน้ำฝนที่หลั่งค่อยๆ หยดลงมา ให้โดยไม่ได้หวังว่าจะได้ชื่อเสียงนะ”

“อีกอย่างหนึ่งก็คือกล่องที่ตั้งรับบริจาคตามที่ต่างๆ...อันนี้เป็นความชื่นใจของผู้ที่ทำงาน ที่รู้ว่าคนไทยเรามีน้ำจิตน้ำใจไม่ต้องมาก บาท ๒ บาท ๕ บาท...ที่หยอดลงมา ทุกเดือนเราได้เป็นหมื่นจากที่ต่างๆ เรามีวิธีจัดเก็บที่ถูกวิธีและปลอดภัยไม่รั่วไหล เพราะฉะนั้นเงินที่เราได้รับจะเต็มเม็ดเต็มหน่วย”

“นอกจากนั้นยังมีคนให้เป็นรายเดือน เดือนละ ๓๐๐ บ้าง ๔๐๐ บ้าง ต่อคน…เด็กคนหนึ่งที่อยู่กับเรากินอยู่ทั้งเดือนประมาณสัก ๖๐๐-๗๐๐ บาท ยังไม่คิดค่าครูนะคะถ้าคิดด้วยประมาณเดือนละ ๑,๐๐๐ บาท ถ้ามีคนให้สักเดือนละ ๒๐๐-๓๐๐ ก็มาช่วยกัน”

การช่วยเหลือเด็ก ๆ นั้นใช่ว่าจะมีแต่เฉพาะในโครงการเท่านั้น ตามสถานที่ซึ่งต้องการความช่วยเหลือด้านนี้ เช่น ชุมชนที่มีลูกคนงาน ตามหมู่บ้านห่างไกล เจ้าหน้าที่ก็ยินดีไปให้ความช่วยเหลือเต็มที่

“เราไม่ได้ทำบ้านอุปถัมภ์แห่งเดียว เราดูแลลูกกรรมกรด้วย จะเห็นว่าถ้าไปที่บ้านอุปถัมภ์จะมีเด็กอยู่ ๑๐๐ กว่าคน แต่จริงๆ แล้วเรามีเด็กในความดูแล ๕๐๐-๖๐๐ คน เพราะว่าเราแยกออกไปตามหมู่บ้าน”

“แรกๆ กว่าเราจะเข้าไปทำเรื่องเด็กในหมู่บ้านจัดสรรได้ เราก็ไปขอเค้าทำ เดี๋ยวนี้เค้ามาเชื้อเชิญให้เราไปทำ บางแห่งยังออกค่าครูให้ ปลูกโรงให้ ออกค่าดำเนินงาน ค่าอาหารกลางวันเด็กๆ ให้ด้วย”

“เราจะส่งคนไปดูที่นั่นส่วนมากเป็นครู ๒ คน ตอนกลางวันจะสอนเด็กๆ กลางคืนไปคุยกับพ่อแม่เค้าให้ความรู้หลายๆ ทาง แม้กระทั่งด้านเศรษฐกิจให้รู้จักเก็บหอมรอมริบ”

“เราไม่ใช่สอนเด็กอย่างเดียว แต่ให้ความรู้ผู้ใหญ่ด้วย”

เหตุนี้จึงเป็นเรื่องพลาดไม่ได้ที่เราจะทักถามถึงการอบรมเลี้ยงดูลูกของเธอจนเติบโตขึ้นมาประสบความสำเร็จ แต่เธอกลับยิ้มกว้างสดใสก่อนตอบคำว่า

“ความจริงไม่ได้มีวิธีการอะไรเลยนะ...(หัวเราะแจ่มใส) ก็อบรมธรรมดาให้เค้ารู้สภาพความเป็นจริง เรื่องสำคัญ คือ ให้รู้จักใจเค้าใจเรา”

“สอนลูก ดิฉันสอนให้เค้าเผชิญความจริง สอนให้เค้าเห็นใจคน มนุษย์นี่ถ้ามีคุณธรรมเสียอย่าง...ลูกๆ ดิฉันจะเป็นคนไม่ฟุ่มเฟือย แต่ว่าให้…”

“เด็กที่มูลนิธิก็สอนมาเหมือนกัน เค้าเรียกคุณแม่หมดนะ... ซึ่งดิฉันภูมิใจที่สุดเลยที่เค้าเรียกเราเป็นแม่”

“เป็นแม่ของลูก ๔ คนนั้นก็เป็นธรรมดา เพราะอยู่ใกล้ตัวเรา ลูกก็ต้องเหมือนเรา ที่เราเหมือนพ่อเหมือนแม่ อาจจะแตกต่างกันนิดหน่อยตามสภาพของสังคม แต่ก็ยึดหลักเหมือนกัน ใครมาช่วยเราไม่ได้หรอก นอกจากคุณความดี และความสามารถ ก็สอนกันมาอย่างนี้”

“ลูกดิฉันก็ว่านอนสอนง่าย แล้วก็เรียนหนังสือดี (รอยยิ้มที่ส่งมาให้เราอบอุ่นอ่อนโยนเป็นอย่างยิ่ง)”

“เจ้าหน้าที่มูลนิธิเค้าก็ให้ความรักความเคารพดี...เวลานี้ก็มีความสุขจากที่พวกนั้นเรียกแม่ เค้าจะแต่งงานก็แต่งให้ เค้ามีปัญหาอะไรก็มาหาเราก็อบรมกันไป”

ในวาระวันแม่แห่งชาตินี้เราจึงเป็นตัวแทนคำนับเธอด้วยหัวใจของเด็กทุกคน ในฐานะที่เธอเป็น “แม่”

 

หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรกใน  “ผู้หญิง ปีที่ 10 ฉบับที่ 168 ปักษ์แรก สิงหาคม 2535.”

ที่มา : . คุณหญิงจันทนี สันตะบุตร แม่ของเด็กผู้ไร้ที่พึ่งพิง ใน รำลึกถึงคุณหญิงจันทนี สันตะบุตร. นนทบุรี : บริษัทภาพพิมพ์ จำกัด; 2565, หน้า 320-334.