ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

เปิดจดหมายปรีดีถึงลูกๆ...เรื่องความชำนาญของพ่อเกี่ยวกับเพื่อนฝรั่ง

3
มกราคม
2567

 

คุณพ่อสั่งว่าเมื่อพี่ปาลอ่านแล้วให้คุณ จ. กับน้อยอ่านด้วย

๑. ลูกๆ ทุกคนที่จำความได้คงได้ยินพ่อเล่าถึงความชำนาญเกี่ยวกับเพื่อนฝรั่งและลูก ที่สนใจในชีวประวัติของพ่อก็คงศึกษาและสังเกตได้ว่าพ่อมีเพื่อนฝรั่งหลายชาติเป็นจำนวนมาก เพื่อนของพ่อนั้นมิใช่เป็นเพื่อนสามัญเพียงแต่ว่าพ่อเป็นนักเรียนฝรั่งเศสแต่เป็นเพื่อนที่พ่อเคยร่วมมือในการต่อสู้ศัตรูและพ่อเคยช่วยเหลือให้ความคุ้มครองหรือช่วยชีวิตเขาไว้มาก จากเหตุนั้นเองเมื่อครั้งพ่อออกจากประเทศไทยจึงคิดว่าเพื่อนที่เคยช่วยเหลือเขาก็คงช่วยเหลือเราเป็นการสนองตอบ อันที่จริงเขาก็ช่วยเหลือในฐานะส่วนตัว แต่ถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับรัฐบาลของเขาหรือผลประโยชน์แห่งชาติของเขาแล้วเขาก็ย่อมยกประโยชน์ขอรัของรัฐบาลและชาติของเขาเหนือกว่าส่วนตัว

ลูกๆ ยังจำกรณีที่พ่อต้องออกจากสิงคโปร์ซึ่งในระหว่างสงครามนั้นพ่อช่วยเหลืออังกฤษไว้มากแต่เมื่อฝ่ายเขาจะต้องเอาใจรัฐบาลไทยแล้ว เขาก็หาทางที่จะให้พ่อออกจากสิงคโปร์ แต่ด้วยความเกรงใจเขาจึงใช้อุบายทางอ้อมก่อน คือในชั้นแรกบอกให้วิซ่าเพื่อไปอยู่อังกฤษแต่เมื่อเราไม่ไปเขาก็ใช้วิธีจับคุณเฉียบอันเป็นการเตือนเราทางอ้อม กรณีอเมริกันที่ขีดฆ่าวิซ่าของเราที่สนามบินทั้งๆ ที่เรามีวิซ่าถูกต้อง กรณีสวีเดนที่เสร็จสงครามแล้วยกย่องเราถึงกับให้ตราสูงสุด แต่เมื่อเราจะไปสวีเดนก็ขีดฆ่าวิซ่าของเราอีก นายปีโกต์เป็นเพื่อนเก่าของเราก่อนและยิ่งกว่าดอกเตอร์ทั้งหลาย เมื่อพบเราครั้งแรกก็พูดระลึกถึงสิ่งที่เราช่วยนิคมมหาวิทยาลัย เราจึงขอใหเขาช่วยให้ลูกชายคนใหญ่ได้ห้องอยู่ในนิคมนั้น เขาก็รับปากว่าจะช่วย แต่เขาก็ไม่กล้าทำอะไรเอง คือไปบอกบุณยรักษ์นั่นเองให้หาทางช่วย สิ่งเหล่านี้ควรถอดถอนเป็นบทเรียนสำหรับลูกๆ ว่าจะไปหวังพึ่งเพื่อนส่วนตัวนั้นให้ช่วยคุ้มครองในเมื่อผลประโยชน์ของรัฐบาลและชาติของเขาต้องผูกมิตรกับชาติอื่นนั้นเป็นความหวังที่ลมๆ แล้งๆ

อนึ่ง นักเรียนเก่าฝรั่งเศสคนใดก็ตามที่แม้มีเจตนาดีตีอเราต่อเราที่จะขอให้ฝรั่งเศสช่วยนั้น เราขอบใจเขาได้สำหรับเจตนาดี แต่ควรเทียบดูบ้างว่าฐานะของคนนั้นกับพ่อที่เกี่ยวกับฝรั่งเศสนั้นทัดเทียมกันอย่างไร เมื่อพ่อเองร้องขอเขายังไม่ได้แล้ว คนอื่นใดจะขอร้องเพื่อลูกพ่อได้

 

๒. พ่อเองผิดพลาดที่มิได้ถอดถอนบทเรียนของคนรุ่นก่อนที่ประสบเหตุการณ์ทำนองเดียวกันมาก่อนแล้วเช่นพวกเจ้าที่ลี้ภัยอยู่ภายหลังกบฏบวรเดชนั้น ในชั้นแรกๆ เมื่อรัฐบาลราษฎรยังง่อนแง่นอยู่ พวกลี้ภัยอยู่ที่ปีนังก็ได้ แต่ภายหลังที่รัฐบาลราษฎรพูดปรารถกับอังกฤษว่าไม่พอใจที่พวกเจ้าลี้ภัยอยู่ปีนัง อังกฤษก็เอาใจรัฐบาลราษฎรบอกให้พวกเจ้าย้ายไปอยู่เสียปลายแหลมสิงคโปร์ จนถึงกับมีเจ้าคนหึ่งหนึ่งซึ่งเป็นเพื่อนดีของอังกฤษแสดงความโทมนัสน้อยใจมากแล้วออกไปอยูฟิลิปปินส์ อ้างว่าไปขอพึ่งร่มธงของอเมริกันดีกวาของอังกฤษ แต่เจ้าคนนั้นก็ยังไม่ทันเห็นฤทธิ์อเมิอเมริกันเพราะตายในเวลาต่อมาอีกไม่นาน

 

๓. สรุปแล้วอย่าหวังว่าคนนั้นคนนี้จะช่วยพูดกับฝรั่งเศสให้ได้สมความปรารถนานักเลยจะเสียใจภายหลัง

โดยเฉพาะผู้ก้าวหน้าที่ศึกษามาเป็นอย่างดีรู้เรื่องส่วนบุคคลกับส่วนรัฐบาลและรู้เรื่องระบบการเมืองของสังคมแต่ละประเทศย่อมจะสังเกตได้ว่าในประเทศฝรั่งเศสนั้นนโยบายปัจจุบันนี้ขึ้นอยู่กับตัวเดอโกล อดีตทูตที่เคยมาพบก็ให้ทรรศนะว่าถ้าสิ้นเดอโกลแล้วก็ไม่แน่ว่าฝรั่งเศสจะไปทางไหน เดอโกลแก่แล้ว ถ้ารัฐบาลใหม่กลายเป็นฝ่ายขวาเหมือนดังแต่ก่อนก็จะทำให้ผู้ที่หลง เห็นว่านโยบายปัจจุบันถาวรแล้วพากันลำบากไปตามๆ กัน อนึ่งแม้เดอโกลอยู่ในอำนาจแต่เจ้าหน้าที่ของเดอโกลก็มีฝ่ายขวาอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะตำรวจผู้ใหญ่อาจเป็นของเดอโกล แต่รองๆ ลงมานั้นก็มีข่าวอยู่เสมอที่ไม่ใช่ของเดอโกล ยิ่งเกี่ยวกับตำรวจสากลแล้วเขาก็ต้องฟังตามข้อตกลงในฝรั่งเศศมีสำนักงานตำรวจรับจ้าง ในสมัยรัฐบาลราษฎรเราเคยจ้างสำนักงานตำรวจรับจ้างให้ทรสืบความเป็นไปของฝ่ายตรงกันข้าม วิธีนี้รัฐบาลไทยปัจจุบันก็คงทำต่อมา เพราะฉะนั้นจงอย่าได้ประมาทศัตรูเป็นอันขาดว่าเมื่อพ้นจากประเทศมาแล้วก็เป็นอันตัวรอดได้

 

หมายเหตุ :

  • คำสะกดตามอักขรวิธีสะกดในเอกสารจดหมาย
  • ไม่ทราบวันที่เขียนแน่ชัด แต่คาดการณ์ว่าน่าจะเขียนขึ้นช่วง พ.ศ. 2523