Focus
- บทความ “ป. อินทรปาลิต กับวิวัฒนาการแห่งสังคมไทย” นำเสนอภาพพลวัตของสังคมไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ผ่านงานเขียนของ ป. อินทรปาลิต โดยเฉพาะในนิยายชุด พล นิกร กิมหงวน ซึ่งทำหน้าที่เสมือนบันทึกทางวัฒนธรรมที่สะท้อนการเปลี่ยนผ่านของวิถีชีวิตและค่านิยมของสังคมไทย จากความเรียบง่ายของชนชั้นกลางในยุคก่อนสงคราม สู่ยุคของชาตินิยมและภาวะสงครามที่รัฐต้องการระดมความรู้สึกร่วมทางการเมืองและการทหาร ตัวละครในนิยายแปรเปลี่ยนบทบาทไปตามบริบทของชาติ ตั้งแต่พลเรือนไปสู่ทหาร และภายหลังสงครามจึงหวนกลับสู่ชีวิตพลเรือนและการมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางการเมือง สะท้อนทั้งความทุกข์ยากของภาวะสงครามและความหวังในการฟื้นฟูสังคมไทยในยุคหลังสงคราม ทำให้งานของ ป. อินทรปาลิต กลายเป็นหลักฐานสำคัญของจิตวิญญาณร่วมของสังคมไทยในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านนี้
ประมาณเมื่อปี 2495 พวกเรานักเรียนไทยกลุ่มหนึ่งนั่งสนทนากันอยู่ภายในห้องพักแคบ ๆ ของข้าพเจ้า ที่เอ็มมานูเอลคอลเลจ มหาวิทายาลัยควีนสแลนด์ ณ เมืองบริสเบน ประเทศออสเตรเลีย
เรากำลังคุยกันเรื่องเมืองไทย บ้านเกิดเมืองนอนของพวกเรา ซึ่งต่างคนต่างก็ได้จากมาเป็นเวลาคนละหลาย ๆ ปี ครั้งกระนั้น เมื่อนักเรียนออกไปศึกษาวิชาในต่างประเทศ โอกาสที่จะได้กลับไปเยี่ยมบ้านในระหว่างการศึกษามีน้อยมาก กล่าวคือจะได้กลับบ้านคือเมืองไทย ก็ต่อเมื่อสําเร็จการศึกษาเรียบร้อยแล้ว และด้วยเหตุนี้เมื่อพวกเราจับกลุ่มกันก็มักจะคุยกันถึงเรื่องเมืองไทย ใครมีสิ่งใดประทับใจก็จะนํามาพูดกัน โดยไม่รู้จักเบื่อหน่ายและยิ่งพูดก็ยิ่งคิดถึงบ้าน และก็ยิ่งเกิดความรักชาติ เร่งวันเร่งคืนที่จะได้กลับไปสู่ความอบอุ่นของผืนแผ่นดินไทยอีกครั้งหนึ่ง
วันนั้นใครคนหนึ่ง เปรยถามขึ้นมาว่าเมื่อเราคิดถึงเมืองไทย เรานึกถึงอะไรกันบ้าง นอกจากพ่อแม่ พี่น้อง เพื่อนฝูง ตลอดจนบ้านเกิดซึ่งเป็นเรื่องเฉพาะของแต่ละบุคคล
คำถามนั้น ถึงแม้ผู้ถามอาจจะมิได้หมายความจริงจังเท่าใดนัก แต่ก็เป็นคำถามที่ท้าทายความคิดหลังจากนิ่งเงียบกันไปสักครู่ ผู้เปรยถามก็ได้รับคําตอบ ทุกคนดูเหมือนจะบอกตรงกันว่า นึกถึงวัดและพระสงฆ์ ซึ่งในต่างแดนเช่นนั้น ชีวิตของพวกเราช่างขาดเสียจริง ๆ อยู่เมืองไทยไปทางไหนเราก็จะพบวัดวาอารามและพระคุณเจ้า เป็นภาพที่ประทับตาและพิมพ์ใจแก่คนไทยทุกผู้ทุกนาม ในต่างประเทศ ภาพเช่นนั้นไม่ปรากฏแก่ตา เป็นแต่ความรู้สึกอยู่ในใจว่า ชีวิตของพวกเราคนไทยขาดสิ่งที่สําคัญไปสิ่งหนึ่ง
เนื่องจากพวกเราทุกคนในที่นั้น เติบโตขึ้นมาในย่านราชวัตร สุโขทัย ราชวิถี หรือแม้ศรีอยุธยา มโนภาพของเราจึงจับอยู่ที่วัดเบญจมบพิตรเป็นศูนย์กลาง ซึ่งบริเวณรอบข้างเต็มไปด้วยสถานที่ซึ่งมีแต่ความสวยงามและเงียบสงบ บริเวณพระบรมรูปทรงม้า ตัวตึกหินอ่อนของพระที่นั่งอนันต์ซึ่งตั้งตระหง่านโดดเดี่ยว เขาดินวนาซึ่งร่มรื่นด้วยพฤกษชาตินานาชนิด พระตำหนักจิตรดาซึ่งเป็นที่พระทับขององค์พระประมุขของชาติ และสนามม้าราชตฤณมัย ซึ่งเงียบสงบในวันธรรมดาและครึกครื้นในวันที่มีการแข่งม้า
เมื่อเรานึกถึงเมืองไทย เรานึกถึงสถานที่เหล่านี้ในครั้งกระนั้น
เรานึกกันเรื่อยต่อไป และคราวนี้ความคิดก็เปลี่ยนจากภาพที่จับต้องได้มาสู่อารมณ์ พวกเรากําลังนึกถึงเสียงเพลงซึ่งกล่อมชาวกรุงทุกเมื่อเชื่อวัน นับแต่ครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งในบรรยากาศมืดทึบแห่งสงครามเช่นนั้น เราต้องขอบใจ “สุนทราภรณ์” และวงดนตรีของเขาที่ช่วยปลอบประโลมให้ชาวไทยลืมทุกข์ และเกิดกำลังใจที่จะต่อสู้กับชีวิตต่อไป นึกย้อนหลังไปตลอด 30 ปีที่ผ่านมา ข้าพเจ้าคิดไม่ออกว่า บรรยากาศของสังคมไทยเราจักเปลี่ยนไปเช่นไร หากไม่มี “สุนทราภรณ์” และคณะของเขา
ความคิดถึงเมืองไทยของพวกเราในขณะนั้นยังมิได้ยุติลงที่ “สุนทราภรณ์” เพราะยังมีอีกบางสิ่งที่เรายังขาดไป และเมื่อเราควานหาสิ่งนั้นกันอย่างจริงจัง เราก็เห็นพ้องกันว่า เรากําลังคิดถึงหนังสือชุดสามเกลอ ซึ่งเป็นอาหารแห่งอารมณ์ประจําวันของพวกเรามาเป็นเวลานานปี
พวกเรา ณ ที่นั้นไม่มีผู้ใดไม่รู้จัก “พล นิกร กิมหงวน” ตรงข้าม ดูเหมือนเราจะได้อ่านกันมาแล้วทุก ๆ เรื่อง และอาจจะเป็นคนละหลาย ๆ เที่ยว จนกระทั่งสามารถจําประโยคคําพูดในบางตอนได้อย่างแม่นยํา และจนกระทั่งสํานวนจากนิยายเรื่องนั้นได้ซึมแทรกเข้ามาเป็นสํานวนคําพูดของพวกเราหลายคน ทั้งนี้โดยไม่ต้องกล่าวถึงสิ่งอื่น ๆ ซึ่งผู้เขียนนิยายชุดนั้นแทรกเข้าไว้ในระหว่างตัวอักษรนับหมื่นนับแสนของเขา
ในครั้งกระนั้น เมื่อพวกเรานึกถึงสังคมไทยเราไม่อาจลืมนิยายชุดสามเกลอไปได้
ข้าพเจ้าได้รับการแนะนําให้รู้จักหนังสือชุด “พล นิกร กิมหงวน” ในระหว่างสงครามอินโดจีน (พ.ศ. 2483) ขณะที่เป็นนักเรียนกินนอนอยู่วชิราวุธวิทยาลัย ดูเหมือนเล่มแรกที่อ่านจะเป็นเรื่อง “นักบินจําเป็น” ซึ่งเกี่ยวกับวีรกรรมของนักบินไทยสมัยรบเอาดินแดนคืนจากฝรั่งเศส ครั้งนั้นจําได้ว่า การอ่านหนังสือใด ๆ ที่ไม่ใช่หนังสือเรียน เป็น “ของต้องห้าม” ถ้าคุณครูจับได้ถูกลงโทษอย่างใดอย่างหนึ่ง คุณครูจับได้ว่าข้าพเจ้าเอาหนังสือ “ปทานุกรม” รามเกียรติของเสถียรโกเศสและนาคะประทีป มาอ่านในเวลาสําหรับทําการบ้านก็ได้ริบเอาไป เมื่อข้าพเจ้าแอบอ่าน “ราชาธิราช ตอนศึกมังรายกะยอชวา” ก็ถูกตําหนิอีก เพราะโรงเรียนให้อ่านตอนศึกพระเจ้าฝรั่งมังฆ้อง ซึ่งพิจารณาย้อนหลังไป 40 ปีจากขณะนี้ ข้าพเจ้าก็พอจะเข้าใจเจตนาดีของคุณครู เพราะเมื่อนักเรียนหัดคิด “ตะแบง” ตั้งแต่ยังเล็กอยู่เช่นนี้แล้ว จะเรียนให้ได้คะแนนดีในชั้นนั้นหาได้ไม่ โรงเรียนให้นักเรียนเอาใจใส่เรื่องศึกกุมภกรรณ์ หรือเรื่องการว่าความของท้าวมาลีวราช ข้าพเจ้าไพล่ไปให้ความสนใจกับประวัติของพาลี ฯลฯ เช่นนี้เสมอไป และผลก็คือข้าพเจ้าพบความลําบากมากในการขึ้นชั้นแต่ละชั้น ทั้ง ๆ ก็ดูเหมือนว่าเป็นเด็กที่มีความรอบรู้กว้างขวาง
เมื่อคตินิยมในวงการศึกษาครั้งนั้นเป็นเช่นนี้ การอ่านนิยายชุดสามเกลอ จึงต้องเป็นการแอบอ่าน และถึงแม้การกระทําเช่นนั้นจะเป็นการเสี่ยง แต่ข้าพเจ้าก็ยอมเสี่ยงด้วยความเต็มใจตลอดมา
ข้าพเจ้ามีโอกาสได้ย้อนอ่าน “พล นิกร กิมหงวน” ตั้งแต่เริ่มต้นประมาณปีน้ําท่วม คือเมื่อ พ.ศ. 2485 ซึ่งขณะนั้นข้าพเจ้าได้ย้ายมาอยู่โรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตรแล้ว บังเอิญเพื่อนร่วมชั้นคนหนึ่งเป็นลูกชายเจ้าของร้านเช่าหนังสือขนาดเล็กอยู่ท้ายตลาดราชวัตร ข้าพเจ้าจึงได้พบ “คลัง” หนังสือสามเกลอ และตั้งหน้าตั้งตาอ่านทุกบ่ายเวลาเลิกเรียน จําได้ว่าเมื่อหนังสือ “พล นิกร กิมหงวน” อยู่ในมือแล้วข้าพเจ้าไม่ต้องการสิ่งรบกวนใด ๆ จากภายนอก เพราะเวลานั้นเป็นเวลาเฉพาะระหว่าง ป. อินทรปาลิตกับข้าพเจ้า และนอกจาก “พล นิกร กิมหงวน” แล้ว ข้าพเจ้าก็ได้มีโอกาสรู้จักกับงานของนักประพันธ์คนเดียวกันนี้ ในด้านอื่น ๆ นับตั้งแต่ “นักเรียนนายร้อย” เป็นต้นไป
แต่ทั้งๆ ที่ข้าพเจ้ารู้จักและมีความนิยมในงานประพันธ์ของ ป.อินทรปาลิต หากไม่เคยมีโอกาสได้รู้จักกับท่านผู้นั้นเป็นส่วนตัวเลย ความจริงข้าพเจ้าได้เคยเห็น ป. อิทรปาลิตอยู่บ่อย ๆ ในระหว่างปี 2490 ซึ่งเป็นสมัยที่ ป. อิทรปาลิตกําลังเขียนประจําให้กับหนังสือพิมพ์ “ปิยมิตร” และข้าพเจ้าก็เตร็ดเตร่อยู่แถวนั้นเป็นประจํา ต่อมาไม่นานข้าพเจ้าก็ไปอยู่ต่างประเทศและไม่ค่อยจะได้อยู่เมืองไทยตั้งแต่นั้นมา เท่าที่จําได้สมัยนั้นท่านผู้นั้นยังอยู่ในวัยหนุ่ม ท่าทางกระฉับกระเฉง
ถึงแม้จะไม่เคยรู้จัก ป. อินทรปาลิตเป็นส่วนตัว แต่ข้าพเจ้าก็ยังติดตามอ่าน “พล นิกร กิมหงวน” มาตลอด เมื่ออยู่เมืองนอกมีคนส่งไปให้อ่าน กลับมาก็ซื้ออ่านเป็นประจํา หรือบ่อยครั้งก็ย้อนอ่านเรื่องเก่า ๆ ซ้ําไปซ้ํามาเช่นนี้เป็นกิจวัตร ยิ่งราชการมากขึ้นสมองต้องใช้งานมากขึ้น ข้าพเจ้าก็ยิ่งต้องอ่าน “พล พล นิกร กินหงวน” มากขึ้น ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความสมดุลย์ระหว่างอารมณ์ที่แท้จริง และอารมณ์อันเกิดจากสิ่งแวดล้อมในลักษณะเช่นนี้ ป. อินทรปาลิตจึงเปรียบเสมือนทั้งแพทย์และเพื่อนของข้าพเจ้า
เมื่อเป็นเด็ก ข้าพเจ้าได้รับแต่ความหฤหรรษ์จากการอ่าน “พล นิกร กิมหงวน” แต่เมื่อเป็นผู้ใหญ่ขึ้น ข้าพเจ้าแน่ใจว่า ป. อินทรปาลิตได้ให้อะไรแก่ข้าพเจ้ามากกว่านั้น
ในขณะที่นิยายชุดสามเกลอได้เขียนต่อเนื่องกันโดยไม่ขาดระยะมาเป็นเวลา 30 ปีเต็ม ข้าพเจ้ามองเห็นงานประพันธ์ชิ้นนี้เป็นการบันทึกวิวัฒนาการแห่งสังคมไทย ในระยะเวลาเดียวกัน และเป็นงานชิ้นเดียวที่ปราศจากคู่แข่งขัน
เริ่มตั้งแต่สมัยเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยแล้วไม่นาน ป. อินทรปาลิต ได้นําผู้อ่านให้รู้จักกับสังคมไทยสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อครั้งที่การสําเร็จชั้นมัธยมบริบูรณ์ หรือมัธยมแปดยังเป็นระดับมาตรฐานการศึกษาสําหรับลูกผู้ดีมีเงิน และเมื่อครั้งที่สุภาพชนยังนุ่งผ้าม่วง สวมเสื้อนอกคอปิดกระดุมห้าเม็ดไปในงานการต่าง ๆ และนุ่งกางเกงแพรสีสดไปเที่ยวนอกบ้าน “พล นิกร กิมหงวน” ของเราเป็นชายหนุ่มในยุคนั้น ซึ่ง “อายผู้หญิง” และ “รักสนุก”
ต่อมาเข้าสู่สมัย แต่งกายแบบสากลและสวมหมวก ซึ่งยังคงจํากันได้ว่า ผ้าช๊ากสกินและปาล์บิชเป็นสิ่งที่ถือกันว่า โก้เก๋ที่สุด สังคมไทยเมื่อก่อนสงครามโลกครั้งที่สองกําลังเปลี่ยนแปลงโดยรวดเร็ว กระตุ้นด้วยนโยบายและมาตรการของรัฐบาลซึ่งมีรากฐานอยู่กับชาตินิยม ในยุคนั้น ป. อินทรปาลิต ก็ได้เขียน “สามเกลอรัฐนิยม” “สามเกลอเลี้ยงไก่” ฯลฯ ให้เราอ่าน

เมื่อความรู้สึกชาตินิยมเพิ่มพูนถึงจุดที่ต้องการการปฏิบัติการทางทหาร เริ่มด้วยการเรียกร้องดินแดนคืน และต่อมาการใช้กําลัง “พล นิกร กิมหงวน” ของเราก็เปลี่ยนสภาพจากพลเรือนเป็นทหาร ด้วยความรู้สึกรักชาติ เช่นเดียวกับคนหนุ่มเลือดไทยทั้งหลาย ตลอดระยะเวลาสงครามซึ่งต่อเนื่องไปอีก 4 ปี นิยายสามเกลอส่วนใหญ่จึงเป็นชีวิตในสนาม ทั้งทางบก ทางอากาศ และทางเรือ อย่างไรก็ตามเราก็ได้อ่านเรื่องซึ่งเป็นบันทึกเหตุการณ์ส่วนที่ไม่เกี่ยวกับทหารอยู่บ้างประปราย เช่น เหตุการณ์เมื่อน้ําท่วม เมื่อเปิดอาคารถนนราชดําเนิน และเมื่อการซื้อน้ําตาลต้องใช้บัตรปันส่วนเหล่านี้เป็นต้น


เราติดตาม “พล นิกร กิมหงวน” ต่อไปถึงสมัยสงครามเลิก ซึ่ง ป. อินทรปาลิตก็ปล่อยให้ตัวละครของเขาโลดแล่นไปกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย เมื่อเขาสนุกกันด้วยการสมัครผู้แทน เราก็ได้อ่านเรื่องการสมัครผู้แทน เมื่อเขาเริ่มไปทัศนาจรต่างประเทศกัน ป. อินทรปาลิตก็ได้ ส่ง “พล นิกร กิมหงวน” ไปเมืองนอกกับเขาด้วย
เข้ามาถึงปัจจุบันเมื่อสังคมไทยตกอยู่ในภาวะกึ่งสงครามอีกครั้งหนึ่ง “พล นิกร กิมหงวน” ก็ถูก ป. อินทรปาลิต จับสวมเครื่องแบบ และให้ออกปฏิบัติการเพื่อความคงอยู่ของประเทศชาติ คราวนี้สมาชิกคณะพรรคได้เพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว เพราะลูกชายซึ่งโตเป็นหนุ่มแล้วได้เข้ามามีบทบาทเป็นกําลังให้พ่อ ๆ ซึ่งย่างเข้าสู่วัยกลางคน เช่นเดียวกับท่านผู้ประพันธ์
กล่าวโดยสรุปแล้ว ป. อินทรปาลิตได้ใช้นิยายสามเกลอของเขา พิจารณาสังคมไทยทุกมุมทุกด้านเป็นระยะเวลายาวนานถึง 30 ปี สังคมไทยวิวัฒนาการไปอย่างไร ป. อินทรปาลิตได้บันทึกเอาไว้โดยละเอียดทั้งสิ้น ในแง่นี้ข้าพเจ้าคิดว่า ป. อินทรปาลิต ได้ทําหน้าที่ของเขาโดยสมบูรณ์แล้ว และด้วยเหตุนี้อีกที่ข้าพเจ้าไม่เคยเบื่อที่จะอ่าน “พล นิกร กิมหงวน” เมื่อใดก็ตามที่ต้องการทบทวนบรรยากาศ และสิ่งแวดล้อมเก่า ๆ ซึ่งไม่มีวันที่จะย้อนกลับมาอีกแล้ว
ในระหว่างตัวอักษรของเขา ซึ่งถึงแม้จะมุ่งให้ผู้อ่านคลายความเคร่งเครียดแห่งอารมณ์ หาก ป. อินทรปาลิตก็ได้แทรกปรัชญาชีวิต ซึ่งทรงคุณค่าสําหรับการตรึกตรอง
ตลอดเวลา 30 ปี ป. อินทรปาลิตเน้นอยู่ว่าความสุขแห่งชีวิตมีที่มาสองประการ ประการแรก คือ ความมีเงิน ซึ่งเกิดจากการทํามาหากินโดยสุจริตอย่างหนึ่ง และความมัธยัสถ์อย่างหนึ่ง ในทางที่กลับกัน ความยากจนคือที่มาของความทุกข์ ประการที่สองนั้น ความสุขจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีความร่าเริง และไม่ถือเอาสิ่งใดเป็นเรื่องจริงจัง ดังนั้นถึงแม้ ป. อินทรปาลิตจะให้ความสุขแก่เพื่อนมนุษย์ร่วมโลกในประการแรกไม่ได้ แต่ก็ได้ให้มากกว่าบุคคลใดอื่นจักได้เคยให้แก่สังคมไทย ในประการหลังคือความร่าเริง ป. อินทรปาลิต ปรารถนาจะให้บทประพันธ์ของเขาเป็นยาอายุวัฒนะสําหรับคนไทย
ยิ่งกว่านั้น ป. อินทรปาลิตยังได้พร่ําสอนให้เยาวชนตระหนักในการบําเพ็ญตนเป็นคนดี เป็นสุภาพบุรุษ มีความสุภาพอ่อนโยน ไม่ดูถูกเพื่อนมนุษย์ และตั้งใจแต่จะทําประโยชน์ให้แก่สังคม ซึ่งเป็นนิสัยใจคอและความประพฤติของ “พล นิกร กิมหงวน” ป. อินทรปาลิตเป็นนักประชาธิปไตย ที่บูชาเสรีภาพและความเสมอภาค
ข้าพเจ้ามีความเสียใจอย่างยิ่ง ที่ไม่มีโอกาสได้กล่าวสิ่งต่างๆ ดังที่กล่าวมานี้ ต่อท่านนักประพันธ์ผู้นี้ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ แต่ก็หวังว่าหากมีญาณใดที่ผู้ล่วงลับไปแล้วจะ ทราบว่า ยังมีคนที่สดุดีงานของเขาอยู่ วิญญาณของเขาก็คงจะมีความสุข
การจากไปของ ป. อินทรปาลิตครั้งนี้ วงวรรณกรรมไทย ขาดเพชรน้ําหนึ่งไป ท่านผู้อ่านรวมทั้งตัวข้าพเจ้าขาดมิตรจากตัวอักษร แต่สำหรับสังคมไทยของเรานั้นได้สูญเสียสถาบันที่สําคัญไปอย่างที่ไม่มีสิ่งใดจะทดแทนได้
หมายเหตุ :
- อักขระและวิธีสะกดคงไว้ตามต้นฉบับ
บรรณานุกรม :
- ดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร, เรื่อง “ป. อินทรปาลิต กับวิวัฒนาการแห่งสังคมไทย”, ย้อนไปข้างหลัง, (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์พิทยาคาร, ม.ป.ป.), หน้า 266-277.