ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

คำถาม-คำตอบ เกี่ยวกับ “เค้าโครงการเศรษฐกิจ”

18
มกราคม
2567

 

1. “เค้าโครงการเศรษฐกิจ” ที่นายปรีดี พนมยงค์ เสนอ ในปี พ.ศ. 2476 เป็น การเสนอ “แผนและโครงการเศรษฐกิจ” ที่มีรายละเอียดชัดเจนนำไปสู่การปฏิบัติแล้วหรือไม่ ?

คำตอบ

เค้าโครงการเศรษฐกิจ พ.ศ. 2475 หรือ “สมุดปกเหลือง” ที่นายปรีดี พนมยงค์ เสนอ ในปี พ.ศ. 2476 เป็นการเสนอแนวทางในการวางรากฐานเศรษฐกิจที่เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยในขณะนั้น และ เป็นเพียง “เค้าโครงการ” ที่ร่างขึ้นภายในระยะเวลาอันจำกัด เป็นการเขียนในเชิงหลักการ จึงมีรายละเอียดไม่ครบถ้วนในทุกเรื่อง ซึ่งจะต้องมีการเห็นชอบในหลักการเสียก่อน ก่อนที่จะไปร่างเป็นโครงการในรายละเอียดต่อไป 

การอ่านและศึกษาเนื้อหาในเค้าโครงการเศรษฐกิจ จำเป็นต้องตระหนักถึงข้อเท็จจริงที่สำคัญยิ่งประการหนึ่ง กล่าวคือ นายปรีดีเขียนเค้าโครงการเศรษฐกิจด้วยความรีบเร่ง เนื่องจากจะต้องนำเสนอโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติต่อรัฐบาล ตามที่ได้ประกาศเป็นปฏิญญาไว้ในหลัก 6 ประการของคณะราษฎร และได้เขียนไว้ในหมวดที่ 1 ของเค้าโครงการเศรษฐกิจ ซึ่งย้ำถึงหลัก 6 ประการข้อ 3 ที่ว่า

“จะต้องบำรุงความสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะจัดหางานให้ราษฎรทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก”

 ดังนั้น สถานะของเค้าโครงการเศรษฐกิจที่นำเสนอต่อรัฐบาลในเวลานั้น จึงเป็นเพียงร่างเอกสารในการเสนอหลักการ เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจภายใต้สภาพเศรษฐกิจและสังคมในเวลานั้น โดยนำหลักทฤษฎีทางเศรษฐกิจที่เป็นส่วนดีของหลายทฤษฎี โดยเฉพาะทฤษฎีสังคมนิยมที่เป็นวิทยาศาสตร์ ลัทธิโซลิดาริสม์ (Solidarism) หรือภราดรภาพนิยม ที่มีแนวคิดว่า

 “มนุษยชาติต้องพึ่งพาอาศัยกันตั้งแต่เกิดจนตาย ดังนั้น จึงจะต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โดยให้ทุกคนมีส่วนร่วมในความลำบากของผู้อื่นด้วย ซึ่งการนี้เป็นมูลฐานแห่งความยุติธรรมของสังคม” 

รวมถึงการใช้รูปแบบสหกรณ์ในการบริหารเศรษฐกิจตามแนวคิดของชาร์ลส์ จี๊ด คือ “สหกรณ์สามารถตอบสนองความต้องการของตนด้วยวิธีการตนเอง คือ เป็นผู้ผลิตเอง พ่อค้าเอง นายธนาคารเอง เจ้าหนี้เอง และผู้ใช้แรงงานเอง”

 โดยสหกรณ์จะส่งคืนกำไรให้แก่สมาชิกตามที่มีส่วนร่วม และระบบเศรษฐกิจแบบสหกรณ์ยังสามารถดูแลการกระจายรายได้ให้เกิดความยุติธรรม และลัทธิรวมส่วนกลาง (Collectivism) มาผสมผสานกันเพื่อเสนอวิธีการที่ทำให้ความเป็นอยู่ของราษฎรดีขึ้นและแก้ปัญหาสังคมไทยที่นายปรีดี ได้สะท้อนออกมาว่า “ราษฎรมีความอัตคัดขัดสนในทางเศรษฐกิจ ไม่มีสิทธิเสรีภาพกับเสมอภาคในทางการเมือง รวมทั้งตกอยู่ภายใต้อิทธิพลและอำนาจของหลายประเทศทุนนิยม”

เค้าโครงการเศรษฐกิจมุ่งหมายให้รัฐบาลมีบทบาทในการจัดการเศรษฐกิจ ใน 2 เรื่องหลัก ได้แก่ (1) รัฐจะต้องรับผิดชอบจัดการเศรษฐกิจอันเป็นส่วนรวมระดับชาติ โดยวางหลักการที่จะประกันสวัสดิภาพและสวัสดิการของราษฎร ตลอดจนความเสมอภาค โดยมิให้มีการเอารัดเอาเปรียบกัน รักษาเสถียรภาพการเงินการคลังของประเทศ และพยายามพึ่งตนเองทางเศรษฐกิจ และ (2) ให้ความสนับสนุนต่อสหกรณ์ รวมถึงที่ดิน เงินทุนและเทคโนโลยี ตลอดจนกิจการสาธารณูปการและสาธารณูปโภคเพื่อช่วยเหลือราษฎรส่วนใหญ่ที่ยากจนและไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้

อย่างไรก็ตาม การเสนอหลักการใน “เค้าโครงการ” ไม่สามารถลงรายละเอียดในทุกเรื่องได้ ทำให้บางประเด็นอาจมีลักษณะเป็นแนวคิดเชิงอุดมคติ และทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนต่อความประสงค์ที่แท้จริง โดยมุ่งหมายจะให้มีการพิจารณาหลักการเหล่านี้ร่วมกันบนพื้นฐานที่ว่า “อะไรดีก็รับไว้ อะไรมีเหตุผลยิ่งกว่าก็ย่อมสามารถแก้ไขปรับเปลี่ยนได้” แล้วจึงค่อยมากำหนดรายละเอียดในภายหลัง

หากมีการรับร่างในหลักการแล้วจะต้องเข้าสู่ขั้นตอนต่อไป กล่าวคือ จะต้องมีการตั้งคณะกรรมการ ที่ประกอบด้วยนักวิชาการ ผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญ โดยเฉพาะชาวต่างประเทศ มาร่วมพิจารณาในรายละเอียด การดำเนินการด้วยความรีบเร่งเช่นนี้ อาจเป็นผลให้ผู้นำเสนอยังไม่ได้ชี้ชัดเด็ดขาดลงไปในความคิดว่าด้วยบทบาทของรัฐในการจัดการเศรษฐกิจ ทั้งนี้ อาจรวมไปถึงการเลือกใช้วลีหรือถ้อยคำอย่างกระชับรัดกุมเท่าใดนัก จนเป็นไปได้ว่า วลีหรือถ้อยคำบางคำอาจไม่สอดคล้องกับความประสงค์ที่แท้จริง จึงนำไปสู่ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้อยคำที่ว่า “รัฐบาลเป็นผู้ประกอบการเศรษฐกิจ” ซึ่งหากจะใช้คำว่า “รัฐบาลเป็นผู้รับผิดชอบดูแลการเศรษฐกิจ” ย่อมจะสอดคล้องกับหลักการหรือความประสงค์อันแท้จริง ซึ่งนายปรีดี ได้ขยายความในภายหลัง (จากการให้สัมภาษณ์ในปี พ.ศ. 2525) ว่า ในเค้าโครงที่ระบุว่ารัฐบาลจะเข้ามาเป็นผู้ประกอบการเศรษฐกิจนั้นมีนัยเพียงว่ารัฐบาลจะเข้ามารับผิดชอบดูแลในเบื้องต้นที่ราษฎรส่วนใหญ่มีความขัดสนทางเศรษฐกิจ ไม่มีที่ดิน เงินทุน และเทคโนโลยีในการประกอบอาชีพ และเมื่อสหกรณ์ที่จัดตั้งขึ้นมีความเข้มแข็งและมั่นคงแล้ว จะปล่อยให้สหกรณ์ดำเนินการโดยอิสระโดยรัฐไม่เข้าไปรับผิดชอบจัดการทางเศรษฐกิจอีก  หรือในประเด็นเรื่องการเสนอให้รัฐบังคับซื้อที่ดินส่วนใหญ่เป็นของรัฐ นอกจากที่ดินซึ่งเอกชนได้รับสัมปทานพิเศษ ทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน เนื่องจากในเค้าโครงการฯไม่สามารถเขียนอธิบายในรายละเอียดได้ ซึ่งนายปรีดีได้แถลงในภายหลังต่อคณะกรรมานุการว่า “การออกกฎหมายบังคับซื้อนั้น เพื่อป้องกันคนเกเรและหน่วงไม่ขาย หรือเกี่ยงเอาราคาแพงเท่านั้น” โดยเข้าใจว่าหากคณะรัฐบาลรับหลักการ เค้าโครงการฯ ในทางปฏิบัติคงสามารถต่อรองให้มีกรณียกเว้นได้มาก ดังที่ระบุในเค้าโครงการว่า “รัฐบาลต้องไม่ประหัตประหารคนมั่งมี” ทั้งนี้การจัดทำและเสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจในขณะนั้น นายปรีดียังไม่ทันได้มีโอกาสชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจโดยแจ่มแจ้ง ก็มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองกันเสียก่อน 

 

2. เค้าโครงการเศรษฐกิจมีความชอบธรรมหรือไม่ ?

คำตอบ

เค้าโครงเศรษฐกิจมีความชอบธรรมในบริบทเศรษฐกิจและสังคมของโลกและของประเทศสยามในสมัยนั้น โดยการอ่านและศึกษาเนื้อหาในเค้าโครงการเศรษฐกิจ” ในปี พ.ศ. 2476 สิ่งที่จะมองข้ามมิได้เป็นอันขาดก็คือ จะต้องเข้าใจบริบทของโลก และของประเทศสยาม ในช่วงเวลาก่อนหน้านั้น

บริบทของโลกในช่วงปี พ.ศ. 2472-2475 จะเห็นว่า เกิดสภาพเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก เศรษฐกิจระบบเสรีนิยมในอังกฤษเริ่มประสบปัญหา มีคนว่างงานจำนวนมาก หลายๆ ประเทศในโลกเริ่มเห็นผลเสียของระบบทุนนิยมที่การใช้เครื่องจักรก่อให้เกิดการว่างงาน ทำให้เริ่มมีแนวคิดที่ว่ารัฐจำเป็นต้องเข้ามาวางแผนเศรษฐกิจ โดยไม่ปล่อยให้เป็นไปตามระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม และในสมัยนั้น หลักการที่สนับสนุนให้รัฐเข้ามาจัดการเศรษฐกิจได้รับการตอบรับมากขึ้น ทั้งยังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงในด้านลบของการที่รัฐเข้ามาจัดการเศรษฐกิจมากนัก  ดังนั้น ประเทศทั้งหลายต่างพยายามหันมาดำเนินนโยบายเศรษฐกิจในแนวทางชาตินิยม พึ่งพาตนเองทางเศรษฐกิจและคุ้มครองการค้า เช่น การตั้งกำแพงภาษี เป็นต้น

ในบริบทของโลก ที่ปราฏผลเสียของระบบทุนนิยมที่การใช้เครื่องจักรก่อให้เกิดการว่างงาน นายปรีดีจึงเขียนเค้าโครงฯ ให้รัฐเข้ามาจัดการเศรษฐกิจ ให้มีการใช้เครื่องจักรและเทคโนโลยี เพื่อไม่ให้เกิดการว่างงาน จากการที่เครื่องจักรและเทคโนโลยีช่วยประหยัดแรงงาน เนื่องจากรัฐสามารถจัดหาคนไปทำงานอย่างอื่นได้ หรือลดชั่วโมงการทำงานลงเพื่อให้คนมีเวลาพักผ่อนมากขึ้นหรือไปทำงานในกิจการสาธารณะ

บริบทของประเทศสยามในช่วงก่อนปี พ.ศ. 2476 อาชีพหลักของชาวสยามคือ การทำนา (ประมาณ 80% ของประชากรทั้งประเทศ) รองลงมาคือ การรับข้าราชการ ชาวนานับเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ยังยากจนแและมีความเป็นอยู่อย่างลำบากยากแค้น ไม่สามารถเข้าถึงที่ดิน เงินทุน เทคโนโลยี อีกทั้งยังมีปัญหาด้านการชลประทานและถูกเก็บภาษีที่ไม่เป็นธรรม ขาดอำนาจต่อรองทางเศรษฐกิจกับกลุ่มนายทุน การค้าพาณิชย์อยู่ในมือของชาวต่างชาติ

นายปรีดีจึงเห็นว่าการที่จะได้มาซึ่งระบอบประชาธิปไตยต้องเริ่มจากการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจและปัญหาความยากจนของชาวชนบท ในสมัยนั้น ราษฎรและเอกชนของไทยยังคงมีความอ่อนแอในทางเศรษฐกิจอยู่เป็นอันมาก ไม่ได้เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต รวมถึงไม่ได้ประกอบกิจการทางการค้า จึงไม่สามารถให้เอกชนเป็นผู้มีบทบาทหลักในการดำเนินการทางเศรษฐกิจเหมือนสถานการณ์ปัจจุบันได้ แนวทางเดียวที่จะบำรุงความสุขสมบูรณ์ให้ราษฎรก็คือ ในเบื้องต้น รัฐบาลจะต้องมีบทบาทสำคัญในการเข้าจัดการและรับผิดชอบดูแลระบบเศรษฐกิจเสียก่อน โดยการจัดการเศรษฐกิจส่วนรวมให้มีเสถียรภาพ วางหลักประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎรตั้งแต่เกิดจนตาย และสนับสนุนให้ราษฎรที่เป็นชาวนายากจนรวมตัวกันเป็นสหกรณ์เพื่อประกอบการเศรษฐกิจแบบครบรูปเพื่อร่วมกันผลิต ร่วมกันจำหน่าย จัดหาสิ่งจำเป็นในการบริโภคให้กับสมาชิก และร่วมกันสร้างสถานที่อยู่ เพื่อให้ประชาชนมีโอกาสเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตก่อน โดยการให้ความสนับสนุนต่อสหกรณ์ รวมถึงที่ดิน เงินทุนและเทคโนโลยี ตลอดจนกิจการสาธารณูปการและสาธารณูปโภคเพื่อช่วยเหลือราษฎรส่วนใหญ่ที่ยากจนและไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ 

แต่ขณะเดียวกันประชาชนที่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ รัฐจะไม่เข้าไปจัดการเศรษฐกิจ ประชาชนมีเสรีภาพในการประกอบการ จากการที่ให้เอกชนประกอบการเศรษฐกิจกรณีได้รับสัมปทานจากรัฐบาล และยกเว้นการรับราชการให้กับคนที่แสดงได้ว่า “มีฐานะที่จะเลี้ยงตัวเอง” และครอบครัวได้ รวมถึงสนับสนุนให้เอกชนประกอบกิจการเศรษฐกิจตามความรู้ความสามารถในแต่ละคน   นอกจากนี้ เมื่ออาชีพรองจากการทำนาในเวลานั้น คือการรับราชการ ข้อเสนอในเค้าโครง ฯ จึงมุ่งให้รัฐบาลรับราษฎรที่อยู่ในวัยแรงงานเข้าเป็นข้าราชการ เพื่อให้แรงงานใช้ประโยชน์ได้ตลอดปี เนื่องจากข้อเท็จจริงปรากฏชัดเจนในสมัยนั้นว่า หากราษฎรไม่เลือกอาชีพทำนา ก็จะเลือกเข้ารับราชการ จึงไม่ใช่การจำกัดทางเลือกในการประกอบอาชีพให้รับราชการแต่อย่างใด

นอกจากนี้ ข้อเสนอในเค้าโครงฯ ไม่ได้เป็นคอมมิวนิสต์อย่างที่ถูกกล่าวหา เนื่องจากเป็นการเสนอให้รัฐซื้อที่ดินเฉพาะที่เป็นไร่นาจากเจ้าของที่ดินโดยความสมัครใจ โดยเจ้าของที่ดินจะได้พันธบัตรรัฐบาลที่จะได้รับผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ยเพื่อให้ได้รับราคาที่เป็นธรรม รวมถึงให้เอกชนมีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ทั้งหลายซึ่งเอกชนนั้นหามาได้ โดยรัฐยังรับรองกรรมสิทธิ์ของเอกชนที่มีอยู่เดิม และยอมรับกรรมสิทธิ์แห่งการประดิษฐ์คิดค้นของบุคคล และไม่มีการริบที่ดินของผู้มั่งมี นอกจากนี้เอกชนเดิมที่เป็นเจ้าของโรงงานก็ให้สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ แต่ให้มีการมารับสัมปทานจากรัฐ 

ทั้งนี้ นายปรีดี ได้ตอบคำถามระหว่างการสนทนากับนักเรียนไทยในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในปี พ.ศ. 2513 ในเรื่องเค้าโครงการเศรษฐกิจว่า

“ข้อสำคัญอย่างยิ่งก็คือ การดำเนินงานใด ๆ ถ้าไม่มีแผนการก็ย่อมจะดำเนินไปด้วยดีไม่ได้ ความประสงค์ที่วางแผนการขึ้น ก็เพื่อให้เป็นแนวทางดำเนินงานตามความเหมาะสมแก่สภาพของสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัตถุประสงค์เพื่อกำจัดการเบียดเบียนระหว่างประชาชน เพราะตราบใดที่ยังมีการเบียดเบียนระหว่างประชาชน สังคมนั้นก็ย่อมไม่มีความยุติธรรม และสังคมที่ไม่มีความยุติธรรมย่อมจะหาความสงบเรียบร้อยไม่ได้อย่างไรก็ตาม สังคมย่อมมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ทุกขณะ ฉะนั้นการวางแผนใด ๆ ก็จะต้องคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงของสังคมด้วย กล่าวง่าย ๆ แผนการนั้นคิดขึ้นเมื่อเกือบ 40 ปีแล้ว เมื่อถึงบัดนี้ภาวะต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงไป รายละเอียดหลายอย่างที่วางไว้ตามแผนนั้น ก็นับว่าล้าสมัยไปแล้ว”

 

3. เค้าโครงฯ ให้ความสำคัญกับการเป็นพลเมืองประชาธิปไตยหรือไม่ ?

คำตอบ

การอธิบายว่าเค้าโครงฯ ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย ที่ประชาชนทุกคนมีอำนาจในการตัดสินใจร่วมกัน โดยรัฐเชื่อใจว่าประชาชนมีความสามารถในการปกครองตนเองนั้น เป็นข้อวิพากษ์ที่ไม่ได้คำนึงถึงบริบททางประวัติศาสตร์และสังคม เนื่องจาก ภายใต้บริบทก่อนปีพ.ศ. 2476 ราษฎรส่วนใหญ่ยังไม่มีการศึกษา มีความเป็นอยู่ลำบาก และเพิ่งมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยได้เพียง 1 ปี ราษฎรส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจในระบอบประชาธิปไตย ภายใต้เค้าโครงฯ จึงแบ่งการประกอบการเศรษฐกิจเป็นสหกรณ์แบบครบรูป เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมให้มีการปกครองในรูปแบบเทศบาล โดยสหกรณ์แบบครบรูปเป็นการรวมตัวกันของราษฎรอย่างอิสระเพื่อร่วมกันผลิต จัดการตลาด และจัดหาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นให้กับสมาชิก และเมื่อสหกรณ์เติบโตและมีความเข้มแข็งขึ้นจะเป็นฐานสำหรับการปกครองในรูปแบบเทศบาล ซึ่งรับผิดชอบการศึกษา การสาธารณสุข สาธารณูปโภคและสาธารณูปการในพื้นที่ และมีความมุ่งหมายที่จะให้การปกครองในระดับตำบลมีรูปแบบแบบสหกรณ์ ที่มีการผสมผสานประชาธิปไตยทางการเมืองการปกครองและประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจเข้าด้วยกัน จึงเป็นการให้ความสำคัญกับการเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย (อ่านรายละเอียดได้ในวิชิตวงศ์ (2543) และฉัตรทิพย์ นาถสุภา (2525)) 

นอกจากนี้ภายใต้เค้าโครงฯ มีการเก็บภาษีมรดก การกระจายการถือครองที่ดิน เป็นการทำให้คนส่วนใหญ่มีเสรีภาพมากขึ้น ผ่านการที่ทำให้คนสามารถเริ่มต้นชีวิตเท่ากัน และไม่ได้เป็นการทำลายเสรีภาพของการทำธุรกิจแต่อย่างใด เพียงแต่เป็นการกำหนดแนวทางการสะสมทุนที่เหมาะสม ซึ่งข้อเสนอของนายปรีดี ในเรื่องสวัสดิการ ที่ให้รัฐบาลประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎรตั้งแต่เกิดจนสิ้นชีพ เนื่องจากเหลือวิสัยที่เอกชนจะทำได้ หรือ หากทำได้ ราษฎรจะต้องเสียค่าประกันแพงจึงจะคุ้มค่า ดังนั้นจึงต้องมีกฎหมายบัญญัติให้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องจ่ายเงินให้ราษฎรในจำนวนเงินที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต โดยมีลักษณะใกล้เคียงกับรัฐสวัสดิการในยุโรปตะวันตก กลางศตวรรษที่20 ในประเทศอังกฤษ ยุค ฮาโรล วิลสัน หรือในอเมริกา ยุค F.D. Roosvelt หรือ ในสแกนดิเนเวีย

 

4. เค้าโครงฯ ทำลายระบบตลาดและเงินตรา หรือไม่ ?

คำตอบ  

เค้าโครงฯ ไม่ได้ทำลายระบบตลาด เนื่องจาก ภายใต้เค้าโครงฯ มีการแบ่งการประกอบการเศรษฐกิจเป็นสหกรณ์ต่างๆ  โดยสมาชิกสหกรณ์รวมกันประกอบการเศรษฐกิจครบรูป คือ ร่วมกันประดิษฐ์ จำหน่าย ขนส่ง จัดหาของอุปโภคให้แก่สมาชิก และร่วมกันในการสร้างสถานที่อยู่  โดยรัฐบาลเป็นผู้ออกที่ดินและทุน และสมาชิกสหกรณ์เป็นผู้ออกแรง ระบบตลาดยังคงมีอยู่ มีการซื้อขายสินค้าระหว่างสหกรณ์และสมาชิกของสหกรณ์ และไม่ได้ทำลายระบบเงินตรา และยังเป็นการที่ราษฎรโดยสหกรณ์และรัฐบาลเป็นทั้งเจ้าของและผู้ใช้ปัจจัยการผลิต ทำให้ได้รับส่วนแบ่งจากมูลค่าเพิ่มที่ได้จากการใช้ปัจจัยการผลิตอย่างเป็นธรรม

ทั้งนี้ เนื่องจากบริบทฯสมัยนั้น ธนาคารส่วนใหญ่เป็นของธนาคารต่างประเทศ ทำให้โอกาสที่ประชาชนจะเข้าถึงเงินทุนเป็นไปได้ยาก เนื่องจากประชาชนขาดแคลนหลักทรัพย์ค้ำประกัน รวมถึงยังไม่มีสถานะทางเศรษฐกิจมั่นคงพอที่ธนาคารต่างประเทศจะพิจารณาให้สินเชื่อ โดยภายใต้เค้าโครงฯ รัฐบาลจะเป็นผู้ช่วยเหลือด้านเงินทุน 

นอกจากนี้ ในเค้าโครงฯ ยังได้มีการนำเสนอให้มีการจัดตั้งธนาคารชาติซึ่งต่อมาได้พัฒนาเป็นธนาคารแห่งประเทศไทย  เพื่อเตรียมความพร้อม เมื่อประชาชนเข้มแข็งขึ้นในการที่จะมีธนาคารพาณิชย์ของไทย และมีธนาคารชาติในการสร้างเสถียรภาพของระบบเงินตรา โดยหลังจากช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลได้มีการจัดตั้งธนาคารชาติ และมีการส่งเสริมให้เกิดการจัดตั้งรัฐวิสาหกิจ ธนาคารสัญชาติไทย เช่น ธนาคารเอเชีย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา  และผู้ประกอบธุรกิจคนไทย 

 

5. หากมีการนำการรวมที่ดินจากส่วนกลางตามลัทธิ Collectivism และใช้รูปแบบสหกรณ์ในการบริหาร มาใช้ในสมัยนั้น จะทำให้ระบบเศรษฐกิจเกิดความเสียหายหรือไม่ ?

คำตอบ

หากมีการรวมที่ดินจากส่วนกลางตามลัทธิ Collectivism ในสมัยนั้น และใช้รูปแบบสหกรณ์ในการบริหาร ไม่ได้ทำให้ระบบเศรษฐกิจเกิดความเสียหาย แต่จะทำให้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการถือครองที่ดินให้มีการกระจายมากขึ้น และทำให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น เช่นกรณีตัวอย่างของประเทศมาเลเซีย เป็นประเทศหนึ่งที่มีการปฏิรูปที่ดินโดยการรวมที่ดินจากส่วนกลางตามลัทธิ Collectivism และใช้รูปแบบสหกรณ์โดยให้สมาชิกสหกรณ์มีส่วนร่วมในการบริหารเศรษฐกิจภายใต้โครงการพัฒนาการเกษตรในชนบทอย่างบูรณาการ ใกล้เคียงกับแนวคิดของนายปรีดีที่เสนอในเค้าโครงการเศรษฐกิจ ที่องค์กรพัฒนาที่ดินแห่งรัฐ หรือ Federal Land Development Authority (FELDA) ได้จัดตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1956 โดยได้รับงบประมาณจากรัฐบาลกลางเข้ามาจัดการในการจัดสรรที่ดินของรัฐให้แก่เกษตรกรที่มีรายได้น้อย และอาศัยอยู่ในชนบท โดยเกษตรกรประมาณ 400 ครอบครัว จะได้รับการจัดสรรให้อยู่ในที่ดินผืนใหญ่ (estate) ครอบครัวละประมาณ 25 ไร่ เพื่อทำการเกษตรและ 1.5 ไร่เพื่อใช้อยู่อาศัย โดย FELDA จะมีการจัดสรรที่อยู่อาศัยให้กับแต่ละครอบครัว รวมทั้งได้มีการจัดวางระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน ระบบชลประทาน รวมถึงโรงเรียนและโรงพยาบาลไว้พร้อม ส่วนการดำเนินงานของชุมชนนั้น อยู่ในรูปแบบของสหกรณ์ที่มีเกษตรกรมีส่วนร่วม  โดยในระยะแรก เกษตรกรเป็นแรงงานปลูกปาล์มน้ำมันภายใต้ FELDA  และ FELDA รับซื้อผลผลิตทั้งหมดไปแปรรูปในโรงงานของ FELDA เพื่อสกัดทำน้ำมันปาล์ม โดยการรับซื้อผลผลิตดังกล่าวสร้างรายได้ที่มั่นคงให้แก่เกษตรกร นอกจากนี้ FELDA ยังให้การสนับสนุนด้านการวิจัยและพัฒนา เพื่อช่วยเกษตรกรในการเพิ่มคุณภาพของผลผลิต  และมีการใช้เครื่องมือทางการเกษตรต่างๆ เพื่อเพิ่มผลผลิต และเมื่อเกษตรกรและเอกชนมีความเข้มแข็งมากขึ้น ภาครัฐไม่ได้เข้ามาจัดการและปล่อยให้ FELDAดำเนินธุรกิจในรูปแบบเอกชน ส่งผลให้อุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันในมาเลเซียมีความเข้มแข็ง ซึ่งแนวคิดดังกล่าวสอดคล้องกับความประสงค์ที่แท้จริงของนายปรีดี ที่ให้รัฐประกอบการเศรษฐกิจในระยะแรก แต่เมื่อเกษตรกรและเอกชนมีความเข้มแข็งมากขัน ภาครัฐจะไม่ได้เข้ามาจัดการ

 

6. เค้าโครงเศรษฐกิจ สามารถประยุกต์ใช้ในปัจจุบันได้หรือไม่ ?

คำตอบ

เค้าโครงเศรษฐกิจสะท้อนถึงแนวคิดทางเศรษฐกิจของปรีดี พนมยงค์ที่สำคัญ 6 เรื่องซึ่งยังคงสามารถประยุกต์ใช้ได้ในปัจจุบัน แม้ว่ารายละเอียดในข้อเสนอฯบางเรื่องจะล้าสมัยไปแล้ว เนื่องจาก ไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบันที่บริบททางเศรษฐกิจและสังคมย่อมแตกต่างจากช่วงก่อนปี 2476 เป็นอย่างมาก ดังนี้

1.  การนำไปสู่การวางแผนเศรษฐกิจเพื่อใช้เป็นแนวทางดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ จะต้องอาศัยหลักคิดและทฤษฎีทางเศรษฐกิจ ความรอบรู้ และความเชี่ยวชาญในการวางแผนการใช้ปัจจัยการผลิต การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และมีความเหมาะสมแก่สภาพของสังคม และรัฐบาลต้องมีความรับผิดรับชอบ (Accountability) ในแผนพัฒนาฯ ที่จะได้จัดทำขึ้น

2. แนวคิดเศรษฐกิจที่ยึดถือเอกราช อธิปไตยของชาติ ความยุติธรรมและความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคมเป็นหลัก โดยประเทศจะต้องสร้างขีดความสามารถในการผลิตสินค้าและบริการต่างๆ จึงจะรักษาเอกราชทางเศรษฐกิจเอาไว้ได้ หลักการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่รักษาเอกราชทางเศรษฐกิจ ยังสามารถประยุกต์ใช้ได้ในบริบทปัจจุบัน ที่จะต้องลดการพึ่งพาเศรษฐกิจและปัจจัยการผลิตจากประเทศหนึ่งประเทศใดที่มากเกินไป และการพึ่งพาทางเศรษฐกิจอยู่บนพื้นฐานของความเสมอภาค ที่ไม่อยู่ใต้อำนาจหรืออิทธิพลของต่างชาติ รวมถึงกำกับดูแลและวางกติกาในระบบเศรษฐกิจให้เกิดความเป็นธรรม และแก้ไขปัญหาการผูกขาด โดยไม่ปล่อยให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมีอำนาจผูกขาดทางเศรษฐกิจ และไม่ปล่อยให้มีการคอรัปชั่นทางเศรษฐกิจ

3. แนวคิดเศรษฐกิจสหกรณ์ในชนบท การรวมที่ดินและพัฒนาการรวมกลุ่มของเกษตรกร หรือมุ่งพัฒนาระบบสหกรณ์ครบรูปเพื่อเป็นทางออกของเกษตรกรรายย่อยที่มีที่ดินขนาดเล็กในปัจจุบัน ด้วยวิธีการรวมที่ดินในแปลงที่ติดกันเพื่อให้เกิดความสะดวกแก่การเกษตรกรรมในการใช้เครื่องจักรและการจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลดต้นทุนการผลิต ในกรณีเกษตรกรรายย่อยนั้น มักจะมีที่ดินขนาดเล็ก โดยในกรณีนี้ อาจส่งเสริมหรือมอบหมายให้สหกรณ์ที่มีความมั่นคง หรือผู้ประกอบการธุรกิจเพื่อสังคมเป็นหน่วยบริหารจัดการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรตามแนวคิดภราดรภาพนิยมในการพัฒนาประสิทธิภาพ ผลิตภาพ และขีดความสามารถของสมาชิก โดยมีภาครัฐช่วยสนับสนุนด้านโครงสร้างพื้นฐานและการวิจัยและพัฒนา

4. เศรษฐกิจประชาธิปไตย คือการกระจายปัจจัยการผลิต มิให้กระจุกตัวอยู่ในครอบครองของบุคคลกลุ่มใด ขณะที่การจัดสรรส่วนแบ่งในมูลค่าเพิ่มที่เกิดจากการผลิตต้องมีความเป็นธรรม ทำให้ราษฎรที่อยู่ในพื้นที่ชนบทสามารถเพิ่มผลิตภาพการผลิต ได้รับส่วนแบ่งจากมูลค่าเพิ่มอย่างเต็มเม็ดเต็ม นอกจากนี้วิธีการหาเงินทุนรัฐบาลด้วยการเก็บภาษีมรดก การเก็บภาษีทางอ้อมผ่านทางภาษีการบริโภคจะช่วยไม่ให้ราษฎรเดือดร้อนมาก

5. เศรษฐกิจสวัสดิการสังคม ที่คำนึงถึงคุณภาพและความทั่วถึงในการให้บริการ รวมถึงการให้ความสำคัญกับการพัฒนาฝีมือแรงงาน

6. เศรษฐกิจเทคโนโลยี การให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์และการพัฒนาการคุ้มครองระบบทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อจูงใจให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีในการเพิ่มผลิตภาพการผลิต และการพัฒนาขีดความสามารถในการพึ่งตนเองในทางเทคโนโลยีเพื่อเป็นหลักประกันเอกราชและอธิปไตยของชาติทางเศรษฐกิจ ยังคงเป็นแนวคิดที่ยังคงเป็นหัวใจของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในยุคปัจจุบัน

 

ที่มา :

บทความที่เกี่ยวข้อง :