ในระหว่างที่นายปรีดี พนมยงค์ พักอยู่ในฝรั่งเศส มิตรเก่าของท่านคนหนึ่ง คือ ลอร์ดหลุยส์ เมาท์แบ็ตแต้น เอิร์ลออฟเบอร์ม่า อดีตแม่ทัพใหญ่ภาคเอเซียอาคเณย์ของสัมพันธมิตร ในสงครามโลกครั้งที่สอง และอดีตอุปราชแห่งอินเดียคนสุดท้าย ได้เชิญนายปรีดีพร้อมด้วยท่านผู้หญิงพูนศุข ให้ไปเยือนประเทศอังกฤษ
ระหว่างที่ท่านพักอยู่กับลอร์ดหลุยส์ในอังกฤษนั้น นักเรียนไทยในประเทศอังกฤษได้เชิญท่านไปพบปะกับนักเรียนไทยในประเทศนั้น เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2513 ณ สมาคมนักเรียนไทย ในอังกฤษซึ่งมีชื่อเรียกว่า “สามัคคีสมาคม” ดังข้อความของ นายไพฑูรย์ สายสว่าง ที่ได้นำลงในหนังสือพิมพ์จตุรัสฉบับที่ 4 เดือนพฤศจิกายน 2513 ภายใต้หัวเรื่องว่า “นายปรีดี พนมยงค์ กับคนไทยในลอนดอน” บทบันทึกได้ขึ้นต้นดังนี้
“เมื่อสองวันก่อนได้ทราบว่า นายปรีดีได้มาลอนดอน และจะไปพูดกับนักเรียนไทย ด้วยความรู้สึกในวินาทีแรกที่ได้ยินคำบอกเล่า ออกจะฉงนแกมตื่นเต้น ด้วยว่าเป็นครั้งแรกที่จะได้มีโอกาสพบและฟังคำปราศรัยของรัฐบุรุษคนสำคัญ ซึ่งกำลังถูกกล่าวขวัญติชมมากที่สุดในสังคมไทยปัจจุบัน และยิ่งไปกว่านั้นก็ยังรู้สึกสงสัยในการเดินทางมาของท่านด้วย ความเคลื่อนไหวล่าสุดทราบว่า ท่านเดินทางออกจากกวางตุ้งแล้วมาพำนักอยู่ที่ปารีส และเริ่มมีบทบาทแสดงออกเพื่อเป็นที่รู้จักอีกครั้งหนึ่ง ด้วยการมีคดีความกับเอกอัครราชทูตไทยที่นั่น ต่อจากนั้นได้ทราบอีกว่า สมาชิกสภาผู้แทนบางท่าน เสนอให้เชื้อเชิญนายปรีดีเดินทางกลับมาสู่ประเทศไทย เพื่อแผ้วถางวิถีทางในอันที่จะเปิด การเจรจากับรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน
ในฐานะที่ท่านเป็นนายปรีดี พนมยงค์อยู่แล้ว จึงไม่มีความจำเป็นอย่างใดที่จะต้องโฆษณาป่าวร้อง เพื่อให้ได้คนไทยกลุ่มใหญ่มาฟังการปราศรัยครั้งนี้ และก็คงจะมีอยู่บ้าง ที่มาเพื่ออยากดูว่าหน้าตาของท่านเป็นอย่างไร แต่ส่วนมากนอกจากอยากดู และอยากฟังว่า จะพูดเข้าท่าแค่ไหน แล้วก็คงจะมาเพราะมีข้อสงสัยอยู่ในใจหลายข้อว่าท่านมาอังกฤษทำไม มาเที่ยวหรือว่ามีจุดประสงค์ และที่จะมาพูดกับนักศึกษานั้น ในทางด้านการเมืองท่านจะได้อะไรบ้างจากการปรากฎตัวครั้งนี้ ปฏิกิริยาของผู้คนที่หวาด ๆ ต่อการมาพบและร่วมหัวกับนายปรีดีเป็นอย่างไร และในที่สุดก็คงอยากทราบว่า ท่านจะเข้าถึงนักศึกษาได้แค่ไหน นักศึกษาบางคนนั้นยังไม่เกิดด้วยซ้ำในตอนที่ท่านต้องเดินทางออกนอกประเทศเมื่อ 20 ปีก่อน
วิถีทางการเมืองของนายปรีดี พนมยงค์ ความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ที่เชื่อมโยงกับสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศไทยและภูมิภาคเอเซียอาคเณย์ สรุปได้ดังนี้
1.) นอกจากจะมาพบเพื่อน ๆ และผู้คุ้นเคยในวงการแล้ว ก็คงจะมาอังกฤษเพื่อเริ่มสร้างเกียรติคุณอีกครั้งหนึ่ง ถ้าไม่ใช่ในฐานะรัฐบุรุษอาวุโส ก็ในฐานะของผู้บริสุทธิ์ที่สูญเสียศักดิ์ศรีจากเคราะห์กรรม และจากความผิดพลาดทางการเมือง และเรียกร้องความเห็นใจ เฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดในการปลงพระชนม์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ท่านจึงใช้โอกาสนี้เผยเรื่องกับนักศึกษา ไทยที่อังกฤษ ด้วยหวังว่าจะซึมไปถึงประเทศไทย
ในกรณีนี้ต้องนับว่าท่านโชคดีอยู่บ้างที่ฝ่ายตรงข้ามคอยกระตุ้นให้เป็นข่าวอยู่เสมอ และในคดีที่ฟ้องหนังสือพิมพ์สยามรัฐนั้น ก็เป็นการขอความเห็นใจจากประชาชน และเป็นโอกาสที่จะเปิดเผยเรื่องราวที่แล้วมา โดยไม่เคยมีโอกาสกระทำมาก่อน ทั้งนี้ออกจะเสี่ยงอยู่บ้างแต่มันก็เป็นช่องทางเดียวที่เหลืออยู่
2.) ต่อปัญหาที่ว่า จะประสบผลสำเร็จหรือไม่นั้น อย่างที่ได้กล่าวแล้วในตอนต้นว่า คนอย่างท่านนั้นย่อมดึงดูดคนฟังได้มาก และเป็นผู้ฟังที่มีความสนใจแทบทั้งสิ้น ส่วนเขาจะเชื่อและเห็นใจหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าท่านจะพูดได้ดีแค่ไหน ยังคล่องแคล่ว และปราดเปรียวเหมือนเดิมหรือไม่ นอกเหนือไปจากนั้น ท่านจะต้องแสดงให้เห็นถึงความเป็นผู้รักชาติอย่างแท้จริง เพราะเรื่องนี้ยังคลุมเคลืออยู่ในใจของผู้ฟังทุกคน
3.) ความรู้สึกโดยทั่วไปของผู้ฟังก่อนที่จะได้พบกับท่านปรีดีนั้น เห็นได้ชัดในกลุ่มนักศึกษา ที่กระตือรือร้นในกิจการบ้านเมือง เฉพาะพวกที่หนักในทางการเมืองออกจะดูมีความหมายอยู่บ้างในจุดประสงค์แห่งการมาของท่าน และไม่สู้จะเต็มใจนักจะเจาะจงการจัดประชุมในสามัคคีสมาคม เพราะกังวลไปว่า การปราศรัยและการปรากฏตัวของนายปรีดี พนมยงค์ จะทำให้พวกเขาเป็นที่สงสัยของตำรวจ ผู้ดูแลนักเรียนก็ไม่ค่อยจะสบายใจนัก แต่ท่านก็ไม่ได้ขัดขวางแต่อย่างใด ท่านทูตก็ร่วมอยู่ในที่นั้นด้วย แต่ก็ยากที่จะพูดถึงปฏิกิริยาของท่าน คนฟังส่วนมากก็เป็นกลุ่มเดียวกับที่เคยมาฟังการพูด ของคนสำคัญๆ อื่นๆ จากประเทศไทย จึงไม่มีใครหวาดระแวงกันนัก ด้วยกลุ่มผู้ฟังเช่นนี้เอง ผู้เขียนจึงคิดว่าการพูดคงจะมีผลอยู่บ้าง แต่จะได้ผลมากน้อยแค่ไหนนั้นขึ้นอยู่กับความสามารถของนายปรีดี ว่าท่านจะพูดได้ประทับใจเพียงใด
4.) ต่อปัญหาของความแตกต่างแห่งวัย จะเป็นปัญหาหรือไม่นั้น ก็ยังเป็นสิ่งสงสัยกันอยู่บ้างว่า คนวัยปูนเท่านั้น (70 ปี) ยังจะสามารถพูดถึงปัญหาในระดับเดียวกันกับคนหนุ่มรุ่นนี้ได้อยู่หรือ ถึงแม้ว่าท่านจะเคยอยู่ระดับแนวหน้าในยุคที่แล้วมา แต่เมื่อมาคิดอีกทีว่า ประสบการณ์ของท่านในต่างประเทศ น่าจะช่วยให้ท่านปราดเปรียวและรุดหน้าอยู่ และถ้าจะดูจากการเคลื่อนไหวที่แล้ว ๆ มา ก็พอจะคาดได้ว่าท่านคงทำได้ไม่ยาก แม้ในกรณีที่ท่านไม่อาจตอบคำถามบางข้อในที่ประชุมได้ ก็ยังสนใจต่อไปว่าท่านจะอ้อมคารมได้ดีเพียงใด และที่น่าคิดอย่างยิ่งนั้นก็คือว่า หลังจากที่ได้พำนักอยู่ในประเทศจีนมานาน หลักการและความคิดของท่านจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร จะยังเหลือแก่นสารแห่งความคิดอะไรไว้บ้าง ถึงแม้ว่าตอนนี้ ท่านอาจจะไม่มีโอกาสเข้าสู่วงการเมืองอีก แต่ท่านก็อาจจะจูงใจคนรุ่นเยาว์ได้บ้าง แม้จะไม่ถึงเป็นผู้ให้แนวทัศนะอุดมการณ์อะไร
การพูดดำเนินไปอย่างที่ควร ผู้ฟังมีจำนวนมากมายตามล้นหลามออกมานอกประตู มีคำถามหลายข้อจากคนถามกลุ่มเดียวกัน ซึ่งรู้สึกว่าจะจงใจเลือกเฟ้นคำถามกันมาก่อน แต่ขณะเดียวกันก็แสดงให้เห็นถึงความระมัดระวัง และมีความเคารพต่อผู้พูดด้วย ไม่มีคำถามที่ก้าวร้าวและเสียดสีเหมือนอย่างที่เคยมักจะมี ผู้คนส่วนมากดูตั้งใจฟังและรับฟังด้วยดี ทั้งนี้อาจเป็นเพราะยังไม่ค่อยจะคุ้นเคยกับเรื่องราวของนายปรีดีมาก่อน หรือบางทีอาจเป็นเพราะลักษณะการวางตัวเข้มของท่าน เมื่อคิดดูแล้วก็รู้สึกว่าออกจะเป็นการยากที่ผู้พูด จะเผยความในใจในบรรยากาศเช่นนั้น
ครั้งแรกที่ได้เห็นนายปรีดี ผู้เขียนเองรู้สึกประหลาดใจที่เห็นท่านไม่แก่อย่างที่คาดไว้ แต่งกายด้วยชุดสากลสีเทา ท่านนั่งอย่างสำรวมและยิ้มอ่อนโยนในบางครั้ง พูดอย่างธรรมดา ด้วยเสียงค่อนข้างเบาแต่ชัดเจนดี สายตาเหม่อมองเพดานบ่อยครั้งเมื่อนึกถึงเรื่องราวที่แล้วมา และบางครั้งเมื่อพยายามลำดับข้อเท็จจริงเมื่อถูกถามก็หันไปถามท่านผู้หญิงพูนศุข เพื่อความแน่ใจ ท่านตอบคำถามอย่างตั้งใจและด้วยความระมัดระวัง แต่ก็มิได้เน้นถึงเรื่องหนึ่งเรื่องใดโดยเฉพาะ และถ่อมตัวด้วยการตำหนิตนเองในความแข็งทื่อถือดี ในขณะดำรงตำแหน่งอยู่ แต่เมื่อพูดถึงมิตรและศัตรูท่านเอ่ยถึงโดยใช้ตำแหน่งเต็ม และไม่ปรากฏว่าได้ใช้ถ้อยคำที่ไม่บังควรแม้แต่ครั้งเดียว
ท่านกล่าวถึงหลักการแต่พอเป็นเค้า และยึดอยู่ในหลักความเป็นอนิจจังของพระพุทธเจ้า ที่กล่าวถึงวิถีแห่งความเปลี่ยนแปลงไม่แน่นอนของสากลโลก ส่วนที่เกี่ยวกับภาวะการเอาเปรียบ (Exploitation) นั้น ท่านถือเป็นเพียงหมายเหตุเท่านั้น และไม่พยายามที่จะโยงเข้ากับลัทธิชาตินิยมแต่อย่างใด การปราศรัยจบลงอย่างเรียบ ๆ รู้สึกว่าผู้ฟังต่างพอใจ และชื่นชมยินดีอย่างเห็นได้ชัด
การที่ท่านพูดอย่างตั้งใจและถ่อมตัวก่อให้เกิดความนิยมนับถือ ถึงแม้จะเหินห่างไปบ้าง แต่ที่ท่านยังสามารถให้ข้อคิดเห็นอย่างเฉียบแหลมอยู่ทั้งในการเมืองและสังคม ทำให้ผู้ฟังต่างตระหนักว่า ท่านยังไม่ถึงกับหลงลืมหรือฟั่นเฟือน ที่ประทับใจมากที่สุดก็คือ การนับถือในตัวบุคคลที่ท่านมีต่อมิตรและศัตรู นับแต่ท่านประธานเหมา หม่อมราชวงศ์เสนีย์และคึกฤทธิ์ ปราโมช หนังสือพิมพ์สยามรัฐ และมิตรผู้ร่วมก่อการเมื่อปี พ.ศ. 2475
การปรบมือตอบรับอย่างยาวนาน แสดงว่าท่านได้ชนะจิตใจของผู้ฟังกลุ่มใหญ่ อย่างแท้จริง
การที่จะลำดับสาระแก่นสารคำปราศรัยของท่านทำไม่ได้ง่ายนัก และก็ยากที่จะตัดสินความคิดทฤษฏีต่าง ๆ ในการบรรยายอย่างไม่เป็นกิจจะลักษณะในชั่วเวลาเพียง ๙๐ นาที ยิ่งกว่านั้นยังดูจะไม่เป็นธรรมต่อผู้พูดเองด้วย แม้ว่าจะไม่ถึงกับเป็นการกระทบกระเทือนอะไรจากสาระในคำปราศรัย นายปรีดี พนมยงค์ อยากให้ประชาชนได้ประจักษ์เรื่องราวทางด้านของท่านบ้าง และขจัดความคลุมเครือในความบริสุทธิ์ในคดีการลอบปลงพระชนม์ เพื่อที่คนจะได้เห็นว่าท่านเป็นผู้รักชาติอย่างแท้จริง ในกรณีนี้ไม่มีส่วนด้วยเลย ไม่มีเหตุผล อะไรทั้งสิ้น
การที่หนังสือพิมพ์สยามรัฐกล่าวหาว่าท่านจะตั้งสาธารณรัฐขึ้นนั้น ถ้าอยากจะทำ ก็สามารถกระทำได้โดยรัฐสภา เพราะขณะนั้นทั้งสองสภาเข้ากับท่านอยู่แล้ว นอกจากนั้น ท่านยังเป็นคนแรกที่เสนออัญเชิญ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบันขึ้นสู่ราชบัลลังก์ การออกนอกประเทศของท่าน ไม่ใช่เป็นการหลีกเลี่ยงคดีนี้ เพราะไม่มีการฟ้องกล่าวหาในครั้งนั้น หากเพื่อเลี่ยงจากการถูกทำร้าย และลี้ภัยการเมืองจากการรัฐประหาร
หลักการของท่านพอที่จะเข้าถึงได้ไม่ยาก แม้ว่าท่านจะได้พูดอย่างระมัดระวังถึงผลกระทบกระเทือนทางการเมือง ข้อคิดอุดมคติทางสังคม และการคาดหมายถึงลักษณะของสังคมยังไม่แน่ชัดนัก พอจะจับได้ว่าเป็นสังคมที่มีความเป็นธรรมเป็นหลัก โดยกล่าวว่าสังคมที่ปราศจากการเอาเปรียบ (Exploitation) ซึ่งหมายถึงว่าบุคคลได้รับประโยชน์เป็นส่วนเหมาะสมกับแรงงานของคนนั้น ท่านเชื่อว่าสภาพการเปลี่ยนแปลงย่อมมีขึ้นเสมอ แต่ก็ไม่ได้บอกว่า การเปลี่ยนแปลงนั้น จะเป็นไปเพื่อก่อให้เกิดมีลักษณะการเอารัดเอาเปรียบให้มากขึ้น หรือน้อยลง และว่าการโกงกันนั้นเป็นการเอาเปรียบที่น่าอับอายและเห็นได้ชัดมากที่สุด ท่านไม่ได้กล่าวสิ่งใดนอกเหนือไปกว่านี้
การประชุมปราศรัยเช่นนี้ ควรแก่การต้อนรับด้วยดีจากบุคคลทั่วไป และไม่น่าจะเป็นโทษ เป็นภัยแก่ใครเลย นอกจากบางที่บุคคลฝ่ายตรงกันข้ามสองสามคน แต่ท่านเหล่านั้นก็มีโอกาสเสนอเรื่องราวทำนองนี้อยู่แล้ว ส่วนเราผู้ฟังส่วนมากนับว่า เป็นโอกาสดีที่จะได้ตัดความรำคาญ อย่างน้อยที่สุดก็ได้รับฟัง และพบกับบุคคลสำคัญผู้ได้รับการติชมโต้เถียงกันมากที่สุดในประวัติศาสตร์ปัจจุบันของไทย สำหรับนายปรีดีเองก็เป็นโอกาสที่จะได้เปิดเผย ความนัยด้านของท่านบ้าง และได้พบปะสังสรรค์กับคนไทยซึ่งขาดการติดต่อกันมานานอีก ครั้งหนึ่งสำหรับฝ่ายรัฐบาลนั้น เอเย่นต์ที่เข้าร่วมฟังก็คงจะได้ทราบถึงฐานะของนายปรีดี และรู้เห็นถึงผู้ใกล้ชิดมิตรสหายของท่านว่ามีใครบ้าง
ส่วนผู้ที่ร่วมประชุมครั้งนี้ด้วยความกระอักกระอ่วนใจ ก็คงจะได้รู้ว่าตนได้ตั้งราคาให้แก่ความมั่นคงและฐานะทางการเมืองของตนสูงเกินไป ”
บันทึกจบลงเพียงแค่นี้ และนอกจากบทความเห็นเกี่ยวกับท่านปรีดีในลอนดอน โดยไพฑูรย์ สายสว่างแล้ว ก็ได้มีบันทึกอีกฉบับหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยผู้ใช้นามปากกว่า “คนไทยในอังกฤษ” ซึ่งมีเนื้อหาค่อนข้างจะละเอียด ดังนี้
บันทึก
หัวหน้ากลุ่มนักศึกษาแนะนำให้ผู้ที่มาร่วมสนทนาทราบประวัตินายปรีดี ตลอดจนการเป็นหัวหน้าเสรีไทยในสงครามโลกครั้งที่สอง แล้วเชิญนายปรีดีขึ้นพูด
นายปรีดีฯ กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของตนที่เดินทางมายังประเทศอังกฤษว่า
มีเจตนาที่จะมาเยี่ยมเยียนและนมัสการวัดพุทธประทีป เพราะตนเองกำลังดำเนินการสร้างสำนักสงฆ์ไทยขึ้นในประเทศฝรั่งเศส ในการเดินทางมาครั้งนี้ได้รับความช่วยเหลือจากเพื่อนชาวอังกฤษ ที่เคยนับถือและชอบพอกันอำนวยความสะดวก อาทิเช่นการขอวีซ่าจากสถานทูตอังกฤษในฝรั่งเศส การให้การรับรองในอังกฤษ และมีความยินดีที่กลุ่มนักศึกษาภาวะประเทศไทย เชิญมาพบปะกับคนไทยในประเทศอังกฤษ
ในการมาพบปะครั้งนี้มิได้มุ่งหมายจะโฆษณาชวนเชื่อหรือล้างสมองคนไทยในอังกฤษ และที่มาครั้งนี้ก็ไม่มีหัวข้อที่จะพูด หากแต่ว่าใครประสงค์จะถามปัญหาอะไรก็ยินดีตอบให้ทราบ โดยขอทำตัวเป็นจำเลยให้ผู้ที่มาฟังซักถามเอาเอง ได้มีผู้ถามปัญหาและเรื่องราวต่าง ๆ สรุปคือ
ชีวิตในระหว่างที่อยู่ในประเทศจีน
นายปรีดี ฯ เล่าให้ฟังว่า ได้ไปอยู่ในประเทศจีนครั้งแรกสมัยรัฐบาลก๊กมินตั๋งยังมีอำนาจอยู่ ครั้งหลังได้ไปอยู่ในกรุงปักกิ่ง ต่อมาได้ย้ายไปอยู่ในเมืองกวางตุ้ง เพราะทนอากาศหนาวไม่ไหว การอยู่ในประเทศจีนอยู่อย่างคนไทย ซึ่งเป็นคนต่างด้าวของประเทศจีน ต้องทำบัตรต่างด้าว มิได้มีเอกสิทธิ์แต่อย่างใด ชีวิตประจำวันก็ได้แก่การฟังวิทยุจากสถานีของประเทศ ต่าง ๆ เช่น ประเทศไทย อังกฤษ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และของจีน กับอ่านหนังสือพิมพ์ และหนังสือ และตำราต่าง ๆ ไม่เคยเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ใด ๆ เคยพบปะกับ ประธานเหมา และนายกรัฐมนตรีโจวเอินไหลในงานฉลองวันชาติจีน ทั้งสองคนแสดงความเห็นใจที่ต้องจากบ้านเกิดเมืองนอน
เมื่อจะเดินทางออกจากประเทศจีนมายังฝรั่งเศส ตนได้รับความช่วยเหลือจากเพื่อน และทางการจีนได้จัดเอกสารการเดินทางสำหรับคนต่างด้าวให้ เพราะหนังสือเดินทางที่มีอยู่ขาดอายุและต่อไม่ได้ เพราะไม่มีสถานทูตหรือกงสุลไทยในประเทศจีน ในที่สุดก็ได้เดินทางออกมาพำนักในประเทศฝรั่งเศส ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมศกนี้ อยากจะเดินทางมาประเทศอังกฤษตามความตั้งใจดังกล่าวตั้งแต่มาถึงฝรั่งเศส แต่มาไม่ได้เพราะไม่มีหนังสือเดินทาง ได้ขอหนังสือเดินทางจากสถานทูตไทยในปารีส แต่สถานทูตไทยไม่ยอมออกให้ ตนจึงต้องนำคดีขึ้นสู่ศาลไทย ในที่สุดศาลได้ไกล่เกลี่ยและรัฐบาลได้สั่งให้สถานทูตไทยในปารีสออก หนังสือเดินทางให้
บทบาทการเมืองระหว่างประเทศของจีน
มีผู้ถามว่านโยบายของจีนจะรุกรานประเทศต่าง ๆ รวมทั้งประเทศไทยนั้น มีความจริง ประการใด
นายปรีดีฯ กล่าวว่า รัฐบาลจีนได้ประกาศนโยบายของเขาอย่างชัดแจ้ง ที่จะปฏิบัติตามหลักแห่งการอยู่รวมกันโดยสันติ 5 ข้อ ที่ตกลงกับบางประเทศและที่บันดง และเขาได้ประกาศยืนยันในนโยบายนี้ตลอดมา มีผู้ถามกรณีขัดแย้งระหว่างประเทศจีนกับประเทศต่าง ๆ เช่น กรณีอินเดียก็ดี กับอินโดนิเซียก็ดี ก็เป็นเรื่องต้องวินิจฉัยว่าใครผิดใครถูก ส่วนที่มีกรณีพิพาทในท้องที่ต่าง ๆ เช่น พม่า ลาว ก็นับว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย และธรรมดาสำหรับประเทศที่มีอาณาเขตติตต่อกัน ก็อาจจะกระทบกระทั่งกันบ้างเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่นโยบายของรัฐบาล เขายึดหลัก 5 ข้อนั้นอย่างแน่นแฟ้น
บทบาทคนไทยในประเทศจีน
มีผู้ถามถึงเรื่องกระบวนการของคนไทยที่เรียกว่าแนวร่วมรักชาติและวิทยุไทยในปักกิ่ง ซึ่งแสดงท่าทีคุกคามประเทศไทย
นายปรีดีฯ กล่าวว่า กระบวนการดังกล่าวนั้น เขาดำเนินการโดยเปิดเผย คือ พ.ท. โพยม จุฬานนท์ รวมทั้งคนไทยอื่น ๆ ซึ่งเขาเป็นผู้รับผิดชอบในกระบวนการนั้น ตนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย มีผู้ถามว่า ในประเทศจีนมีคนไทยมากน้อยเท่าใด
นายปรีดีฯ ตอบว่า เป็นลูกหลานจีนที่เกิดในเมืองไทยอยู่มากมาย ตนเองโดยปกติไม่มีโอกาสพบปะกับคนไทยมากนัก นอกจากบางครั้งมีคนไทยผ่านไปทางเมืองกวางตุ้ง ก็ได้พบปะกันบางโอกาสเท่านั้น สำหรับวิทยุไทยในปักกิ่งนั้นก็เป็นเรื่องของกระบวนการดังกล่าว ตนไม่มีส่วนรู้และทราบเรื่อง ทั้งไม่เคยส่งข้อความไปร่วมกระจายเสียงด้วยเลย
กรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 8
มีผู้ถามถึงกรณีสวรรคต ซึ่งมีการกล่าวว่านายปรีดีฯ มีส่วนร่วมในกรณีนั้นด้วย ข้อเท็จจริงเป็นประการใด
นายปรีดีฯ กล่าวว่า เนื่องจากขณะนั้นตนกำลังเป็นโจทก์ฟ้องหนังสือพิมพ์สยามรัฐและพวกมี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมชและบุคคลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งลงข่าวหมิ่นประมาทตน หาว่าตนเป็นผู้ต้องหาคดีลอบปลงพระชนม์และหลบหนีคดีนั้น ซึ่งเป็นเรื่องไม่จริงจึงเป็นการหมิ่นประมาท ใส่ความ คดีเพิ่งจะเริ่มฟ้องและกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล ตนจึงไม่อาจชี้แจงนอกเหนือไปจากคำฟ้องได้ เพราะจะเป็นการละเมิดอำนาจศาล จึงอยากจะเพียงสรุปจากคำฟ้องของตนให้ฟัง กล่าวคือ ที่กล่าวหาว่าตนร่วมในกรณีปลงพระชนม์รัชกาลที่ 8 นั้น เป็นข้อกล่าวหาของบุคคลในรัฐบาล
สมัยที่ร่วมกันทำรัฐประหารรัฐบาลธำรง เมื่อหลังวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 ข้อเท็จจริงมีว่า ในขณะที่รัชกาลที่ 8 สวรรคตนั้น ตนเป็นนายกรัฐมนตรี และมีเสียงข้างมากในพฤฒสภาและสภาผู้แทน เมื่อรัชกาลที่ 8 สวรรคต ตนได้ปรึกษากับเจ้านาย ประธานสภาทั้งสอง และคณะรัฐมนตรี อัญเชิญทูลพระอนุชา คือ รัชกาลปัจจุบันขึ้นทรงราชย์ต่อไป และเสนอต่อรัฐสภาเพื่อรับความเห็นชอบตามวิถีทางรัฐธรรมนูญทุกประการ
หากตนมีเจตนามุ่งหมายจะทำลายสถาบันกษัตริย์ก็ย่อมกระทำได้โดยไม่ยาก
และที่กล่าวหาว่าตนหลบหนีคดีสวรรคตก็ไม่เป็นความจริง เหตุที่ตนหลบหนีจากประเทศไทย ก็เพราะคณะรัฐประหารสมัยนั้นตามจับตัวและลูกเมียเพื่อจะฆ่าแต่ตนหนีรอดออกมาได้ เพราะความช่วยเหลือของผู้ช่วยทูตทหารเรืออังกฤษและอเมริกาที่ประจำอยู่ในประเทศไทย และได้ออกมาจากประเทศไทยภายหลังรัฐประหาร
การดำเนินการสอบสวนกรณีสวรรคตกระทำภายหลัง เมื่อตนได้ออกมาจากประเทศไทยแล้ว จะกล่าวหาว่าตนหลบหนีกรณีสวรรคตได้อย่างไร แม้เมื่อตอนหนีออกไปพำนักอยู่สิงคโปร์ในระยะแรก ทางคณะรัฐบาลรัฐประหารได้พยายามหาความกับบุคคลที่ติดตามตนไป เพื่อขอให้ทางสิงคโปร์จัดส่งตัวตามวิธีการส่งผู้ร้ายข้ามแดน ศาลสิงคโปร์ก็ได้ตัดสินว่าไม่มีมูล ไม่ยอมให้ส่งตัว และปล่อยบุคคลที่ติดตามนั้นเสีย แม้เมื่อตนได้ไปอยู่ในประเทศจีน ซึ่งขณะนั้นคณะก๊กมินตั๋งยังครองอำนาจเป็นรัฐบาลอยู่ และมีความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศไทย ก็ไม่ปรากฏว่าทางการรัฐบาลไทยสมัยนั้นได้ดำเนินการเรียกร้องขอให้รัฐบาลจีนส่งตัวตามวิธีการส่งผู้ร้ายข้ามแดนแต่ประการใด การดำเนินการสอบสวนดำเนินคดี ก็ปรากฎว่ามีการบังคับขู่เข็ญพยาน ดังกรณีพระยาศรยุทธเสนี ซึ่งได้ให้การไว้ต่อศาลเป็นต้น
ฉะนั้นข้อความที่ลงในหนังสือพิมพ์กล่าวหาว่าตนต้องหาในกรณีสวรรคตกับหลบหนีคดี จึงเป็นความเท็จ มุ่งหมายใส่ความตน รายละเอียดปรากฎอยู่ในคำฟ้องแล้ว การดำเนินคดี จะมีผลประการใดขอให้ติดตามฟังผลเอาเอง ตนไม่อาจชี้แจงนอกเหนือไปกว่านี้ได้
แผนการเศรษฐกิจ
มีผู้ถามถึงแผนการเศรษฐกิจที่นายปรีดีฯ เคยจัดทำว่ามีเบื้องหลังและเจตนาอย่างไร
นายปรีดีฯ กล่าวว่า แผนเศรษฐกิจที่ได้จัดทำขึ้นเมื่อปี 2475 นั้น จัดทำขึ้นก็เพื่อให้เศรษฐกิจของประเทศไทยได้เป็นไปโดยเหมาะสมแก่สภาพของประเทศที่เป็นอยู่ในขณะนั้น เพราะตนเองเป็นคนเกิดในชนบท ได้พบเห็นภาวะและความเป็นอยู่ของชาวนา ซึ่งได้รับ ความบีบคั้นและเดือดร้อนเป็นอันมาก แต่บังเอิญการจัดทำและเสนอแผนเศรษฐกิจในขณะนั้น ยังไม่ทันได้มีโอกาสชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจ โดยแจ่มแจ้งก็มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองกันเสียก่อน
ข้อสำคัญอย่างยิ่งก็คือ การดำเนินงานใด ๆ ถ้าไม่มีแผนการก็ย่อมจะดำเนินไปด้วยดีไม่ได้ ความประสงค์ที่วางแผนการขึ้น ก็เพื่อให้เป็นแนวทางดำเนินงานตามความเหมาะสมแก่สภาพของสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัตถุประสงค์เพื่อกำจัดการเบียดเบียนระหว่างประชาชน เพราะตราบใดที่ยังมีการเบียดเบียนระหว่างประชาชน สังคมนั้นก็ย่อมไม่มีความยุติธรรม และสังคมที่ไม่มีความยุติธรรมย่อมจะหาความสงบเรียบร้อยไม่ได้
อย่างไรก็ตาม สังคมย่อมมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ทุกขณะ ฉะนั้นการวางแผนใด ๆ ก็จะต้องคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงของสังคมด้วย กล่าวง่าย ๆ แผนการนั้นคิดขึ้นเมื่อเกือบ 40 ปีแล้ว เมื่อถึงบัดนี้ภาวะต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงไป รายละเอียดหลายอย่างที่วางไว้ตามแผนนั้น ก็นับว่าล้าสมัยไปแล้ว
การกลับประเทศไทยและการช่วยประเทศชาติ
มีผู้ถามว่า มีเจตนาจะกลับประเทศไทยหรือไม่ และถ้ามีโอกาสได้รับใช้บ้านเมือง จะดำเนินการเศรษฐกิจอย่างไร ในประเทศไทยควรทำอย่างไร
นายปรีดีฯ กล่าวว่า การกลับประเทศไทยเป็นเจตนาอันใหญ่ยิ่ง เพราะเป็นคนไทยก็ต้องรักบ้านเมืองไทย แม้คดีที่ถูกกล่าวหาจะหมดอายุความแล้ว แต่ตามสภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ยังขัดขวางการกลับอยู่ จะต้องรอดูสภาพการณ์ไปก่อน ถ้าหากกลับประเทศไทยและมีโอกาสรับใช้บ้านเมืองก็ยินดี และจะรับใช้โดยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประชาชนคนไทย สำหรับในทางเศรษฐกิจนั้น มีความคิดเห็นว่าจะต้องปรับปรุงโดยยึดหลักความยุติธรรมของสังคม ตัดรอนการเบียดเบียนต่อกัน เฉพาะอย่างยิ่งการคอร์รัปชั่นซึ่งเป็นการเบียดเบียนที่ร้ายแรงที่สุด ในการดำเนินการจะต้องพิจารณาทั้งด้านสัปเยกตีพและอ็อปเยกตีพ จะเอาด้านใดด้านเดียวไม่ได้ เพราะได้กล่าวแล้วว่าสังคมย่อมมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอเป็นอนิจจัง การดำเนินการใดๆ ก็จะต้องคำนึงถึงความเปลี่ยนแปลงของสังคมเป็นประมาณ
สำหรับท่าทีของประเทศไทยนั้น ย่อมทราบกันอยู่แล้วว่าโลกเราเปลี่ยนแปลงไปเป็นอันมาก ข้อสำคัญอยู่ที่ความเป็นเอกราชของชาติ ฉะนั้นนโยบายอันใหญ่ยิ่งของเราก็คือ จะต้องรักษาเอกราชที่เป็นประชาธิปไตยและวางตัวเป็นกลาง จะเป็นวิถีทางที่ดีที่สุด”
หมายเหตุ คดีท่านปรีดี พนมยงค์ ฟ้องหนังสือพิมพ์สยามรัฐนั้น คดีสิ้นสุดลงด้วย การประณีประนอมยอมความกัน โดยจำเลยยอมตกลงขออภัยโจทก์ในหน้าหนังสือพิมพ์ของจำเลย (สยามรัฐ) ดังนี้
ประกาศ
ตามที่นายปรีดี พนมยงค์ ได้เป็นโจทก์ฟ้องบริษัทสยามรัฐ จำกัด ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช นายสำเนียง ขันธชวนะ นายประจวบ ทองอุไร และนายประหยัด ศ.นาคะนาท เป็นจำเลยต่อ ศาลแพ่ง ในข้อหาละเมิดโจทก์ ตามคดีดำหมายเลขที่ ๗๒๓๖/๒๕๑๓ เนื่องจากหนังสือพิมพ์ สยามรัฐฉบับลงวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๑๓ และหนังสือพิมพ์สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ฉบับลง วันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๑๓ ลงข้อเขียนซึ่งเขียนโดยนายสำเนียง ขันธชวนะ ใช้นามปากกว่า ส.ธ.น. ซึ่งมีใจความว่าโจทก์พัวพันในคดีสวรรคตนั้น
จำเลยขอแถลงความจริงว่า โจทก์ไม่เคยเป็นจำเลยในคดีสวรรคตเลย และไม่เคยถูกศาล พิพากษาว่ากระทำผิด เมื่อโจทก์ไม่เคยถูกศาลพิพากษาลงโทษ จึงถือว่าโจทก์ยังบริสุทธิ์
ส่วนการที่โจทก์หลบหนีออกจากประเทศไทยนั้น เป็นเพราะหลบหนีการรัฐประหาร จึงขอให้ ผู้อ่านทราบความจริง และขออภัยในความคลาดเคลื่อนนี้ด้วย
บริษัทสยามรัฐ จำกัด
ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
นายสำเนียง ขันธชวนะ
นายประจวบ ทองอุไร
นายประหยัด ศ. นาคะนาท