ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

ปรีดีปรัชญา : ปรัชญาคืออะไร? "สมุฏฐานแห่งสิ่งทั้งหลาย: จิตธรรมและสสารธรรม" (ตอนที่ 3)

21
กุมภาพันธ์
2567

Focus

  • ในระหว่างคริสตศตวรรษที่ 14 – 17 มีการเกิดขึ้นของขบวนฟื้นภูมิธรรม (Renaissance) ในอิตาลี เพื่อพื้นศิลปและอักษรศาสตร์โรมันและกรีกโบราณ ขบวนเปลี่ยนแปลงระบบคริสต์ (Reformation) ที่แยกนิกายโปรเตสแตนด์ออกจากนิกายโรมันคาธอลิค และความก้าวหน้าของอุตสาหกรรมและธรรมชาติวิทยา รวมถึงการค้นพบว่าโลกหมุนรอบดวงอาทิตย์
  • การตื่นตัวในการค้นคว้าอย่างเสรีถึงสภาวะของธรรมชาติในการเสาะแสวงหาโลกทัศน์ที่ถูกต้องและการศึกษาปรัชญาที่แตกต่างจากเดิม เกิดขึ้นตามปฏิกิริยาที่ชาวยุโรปต้องการหลีกหนีอิทธิพลของพระคริสตพิทยาคม และนำไปสู่การแบ่งปรัชญาออกเป็น 2 สาขาใหญ่ คือ (ก) ธรรมชาติปรัชญา (Natural Philosophy) และ (ข) จิตหรือธรรมจริยปรัชญา (Mental or moral Philosophy)
  • ในศตวรรษที่ 19 การศึกษาปรัชญาแตกออกเป็นค่าย “ไอเดียลิสม์” (Idealism) หรือญาณธรรมหรือจิตธรรมที่ถือเอาธรรมชาติเป็นสมุฏฐานของโลก และค่าย “แมทีเรียลลิสม์” (Materialism) หรือ “สสารธรรม” ก็ถือเอาธรรมชาติเป็นสมุฏฐานของโลก และค่ายวิทยาศาสตร์แห่งสสารกับวิทยาศาสตร์แห่งความคิด
  • ฝ่ายที่ถือว่า ‘จิตเป็นสมุฏฐานแห่งสิ่งทั้งหลาย’ ยอมรับอภิเทวาหรือพระเจ้าผู้สร้างโลกและสิ่งทั้งหลาย ส่วนฝ่ายสสารธรรมก็ถือเอา ‘สสารเป็นสมุฏฐานแห่งสิ่งทั้งหลาย’ โดยอาศัยการค้นคว้าของนักวิทยาศาสตร์ ในการวินิจฉัยสภาวะทั้งหลายของโลก รวมทั้งสภาวะของสังคมแห่งมนุษยชาติ

 

ข้อ 11 ตั้งแต่ศตวรรษที่ 14 เป็นต้นมาได้เริ่มเกิด ขบวนพื้นภูมิธรรม (RENAISSANCE) ในดินแดนอิตาลี อันเป็นขบวนการพื้นศิลปและอักษรศาสตร์ของโรมันและกรีกโบราณ ซึ่งถูกทอดทิ้งมาหลายศตวรรษให้กลับฟื้นมาเป็นแบบฉบับของภูมิธรรมที่จะยึดถือเป็นหลักในการศึกษาและเจริญรอยตามกันขึ้นใหม่ขบวนการนี้ได้ขยายตัวไปในยุโรปตะวันตกในศตวรรษที่ 15 และ 16 และมีอิทธิพลต่อมาจนถึงศตวรรษที่ 17 ประกอบด้วยเกิดมี ขบวนเปลี่ยนแปลงระบบคริสต์ (REFORMATION) ในศตวรรษที่ 16 หรือขบวนคริสตเภท คือการแยกนิกายโปรเตสแตนด์ออกจากนิกายโรมันคาธอลิค และโดยเฉพาะการประดิษฐ์เครื่องพิมพ์หนังสือ, การเดินเรือรอบโลก, การก้าวหน้าของอุตสาหกรรม และธรรมชาติวิทยาซึ่ง โคเปอร์นิกัส และ กาลิเลโอ ได้ค้นพบว่าโลกเป็นดาราดวงหนึ่งที่หมุนรอบอยู่รอบดวงอาทิตย์, นักปราชญ์ชาวยุโรปตะวันตกหลายคนก็พยายามดิ้นรนที่จะปลีกการศึกษาปรัชญาให้ออกไปจากอิทธิพลและข้อขีดกั้นของพระคริสต์พิทยาคม เพื่อที่จะค้นคว้าอย่างเสรีถึงสภาวะของธรรมชาติในการเสาะแสวงหาโลกทัศน์ที่ถูกต้อง

ศัพท์ “ฟีโลโซฟี” (PHILOSOPHIE) ของฝรั่งเศสแห่งยุคกลางนั้นอังกฤษได้ยืมเอามาใช้แล้วก็ได้ผันแปรมาเป็นศัพท์อ้งกฤษยุคใหม่ “ฟีลอสโซฟี” (PHILOSOPHY)

ส่วนเนื้อเรื่องของ “ฟีลอสโซฟี” ก็ได้ผันแปรไปตามการพัฒนาของการศึกษาที่ปลีกตนออกจากอิทธิพลของพระคริสต์พิทยาคม การศึกษา “ฟีลอสโซฟี” จึงกลับมีอาณาเขตกว้างขวาง เพราะการแสวงที่จะบรรลุถึงซึ่ง “โลกทัศน์” อันถูกต้องนั้นก็ต้องทำการค้นคว้าให้รู้ถึงสภาวะที่แท้จริงของธรรมชาติและของจิต, ครั้นแล้วก็จะได้อาศัยรากฐานจากการค้นพบทางธรรมชาติและทางจิตมาประมวลและประสานกันเข้าเพื่อวางเป็นหลักทาง “โลกทัศน์” ในสมัยนั้นฟิลอสโซฟีจึงแยกออกเป็น 2 สาขาใหญ่ คือ

ก. ธรรมชาติปรัชญา (NATURAL PHILOSOPHY) ซึ่งศึกษาถึงสภาวะและอาการทั้งหลายของธรรมชาติ

ข. จิตหรือธรรมจริยปรัชญา (MENTAL OR MORAI PHILOSOPHY) ซึ่งศึกษาถึงสภาวะต่างๆ ทางจิตและทางความประพฤติของมนุษย์ คือ ตรรกวิทยา, จิตวิทยา, “เมตาฟิสิกส์” หรือ “นอกเหนือธรรมชาติ”

ข้อ 12 เมื่อยุโรปตะวันตกได้เข้าสู่ยุคใหม่และการศึกษาได้ปลีกตัวออกจากอิทธิพลของพระคริสต์พิทยาคมได้มากขึ้น การค้นคว้าปรากฏการณ์ทางธรรมชาติก็ทำได้เต็มที่ ธรรมชาติปรัชญานี้เองก็มีอาณาจักรกว้างขวางยิ่งขึ้นและต้องแบ่งออกเป็นสาขาต่างๆ เช่น ฟิสิกส์, เคมี, ชีววิทยา ฯลฯ ครั้นแล้วธรรมชาติวิทยาก็ปลีกตัวออกไปจาก ปรัชญา โดยประกอบเป็นวิชาประเภทใหญ่ เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า “ไซเอนส์” (SCIENCE) ซึ่งถ่ายทอดเป็นภาษาไทยว่า “วิทยาศาสตร์” แต่โดยที่คำว่า “ไซเอนส์” แผลงมาจากคำลาติน “เซียงซิอา” (SCIENTIA) ซึ่งตามมูลศัพท์แปลว่า “ความรู้” ดังนั้นจึงมีผู้ใช้คำว่า “ไซเอนส์” ในความหมายอย่างกว้างเพื่อหมายถึง ความรู้ที่ได้มาจากการศึกษาและการปฏิบัติที่เป็นระเบียบ นักปราชญ์บางท่านจึงถือเอาคำนี้หมายถึง ยอดของความรู้ แล้วจำแนกเป็นสาขาปลีกย่อย เช่น บางท่านจำแนกวิทยาศาสตร์ออกเป็น วิทยาศาสตร์แห่งสสาร กับวิทยาศาสตร์แห่งความคิด

  • วิทยาศาสตร์แห่งสสารจำแนกปลีกย่อยออกไปเป็นวิทยาศาสตร์อินทริย์ ซึ่งได้แก่ สัตวศาสตร์, มนุษยศาสตร์, พฤกษศาสตร์, สรีรศาสตร์, กายวิภาค, ชีววิทยา
  • วิทยาศาสตร์แห่งความคิดก็จำแนกปลีกย่อยออกไปเป็น จิตวิทยา, สภาววิทยา, ธรรมจริยา, ลาวัณยวิทยา, ภาษาศาสตร์, วิทยาศาสตร์เชื้อชาติ, ประวัติศาสตร์, โบราณคดี, สังคมวิทยา, เศรษฐกิจ, การเมือง ฯลฯ

บางท่านจำแนกวิทยาศาสตร์ออกเป็น วิทยาศาสตร์นามธรรม, วิทยาศาสตร์รูปธรรม, วิทยาศาสตร์นาม - รูปธรรม

  • วิทยาศาสตร์รูปธรรมก็จำแนกปลีกย่อยเป็น ดาราศาสตร์, สัตวศาสตร์, พฤกษศาสตร์, ภูมิวิทยา, โลหวิทยา, ชีววิทยา, จิตวิทยา, สังคมวิทยา
  • วิทยาศาสตร์นามธรรมก็จำแนกปลีกย่อยเป็น ตรรกวิทยา, คณิตศาสตร์

ส่วนวิทยาศาสตร์นาม-รูป-ธรรม ก็จำแนกเป็น ยันตรศาสตร์, ฟิสิกส์, เคมี ฯลฯ

ตามความหมายโดยเฉพาะซึ่งสืบมาจากธรรมชาติปรัชญานั้นคำว่า “วิทยาศาสตร์” ก็ยังคงมีความหมายถึง ‘ความรู้ในสภาวะและอาการทั้งหลายของธรรมชาติ’ ดังที่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายของคำว่า “วิทยาศาสตร์” ไว้ดังต่อไปนี้

“ความรู้ที่ได้โดยการสังเกตและค้นคว้าจากการประจักษ์ทางธรรมชาติแล้วจัดเข้าเป็นระเบียบ วิชาที่ค้นคว้าได้หลักฐานและเหตุผลแล้วจัดเข้าเป็นระเบียบ”

ข้อ 13 เมื่อหน้าที่ในการค้นคว้าถึง ภาวะของธรรมชาติ และสภาวะของจิต ได้แยกออกเป็นหน้าที่ของวิชาเฉพาะดังกล่าวแล้ว การศึกษาปรัชญาโดยทั่วไปก็เหลือแต่ปัญหา ยอดของวิทยาทั้งหลาย ดังที่เมธีผู้หนึ่งได้กล่าวไว้เมื่อกลางศตวรรษที่ 19 ว่า

“ปัญหาแห่งความสัมพันธ์ระหว่างความคิด และความเป็นอยู่, ความสัมพันธ์ระหว่างจิตกับธรรมชาติเป็นยอดปํญหาของปรัชญาทั้งปวง”

และอีกผู้หนึ่งกล่าวไว้เมื่อ ค.ศ. 1888 ว่า

“ปัญหาพื้นฐานอันใหญ่ยิ่งของปรัชญาทั้งหลาย โดยเฉพาะปรัชญาใหม่ที่สุดนั้นคือ เรื่องที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างความคิดกับความเป็นอยู่”

เมธีนั้นกล่าวต่อไปว่า คำตอบของปรัชญาต่อปัญหานี้ ทำให้นักปรัชญาแยกออกเป็นสองค่ายใหญ่ คือ ผู้ซึ่ง ถือเอาจิตเหนือธรรมชาติ ก็ประกอบเป็นค่าย “ไอเดียลิสม์” (IDEALISM) คือ ญาณธรรม หรือ จิตธรรม ผู้ซึ่งถือเอาธรรมชาติเป็นสมุฏฐาน ก็ขึ้นอยู่ในสำนักต่างๆ ของค่าย “แมทีเรียลลิสม์” (MATERIALISM) ซึ่งเราแปลว่า ‘สสารธรรม’

ในการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่าง ความคิด กับ ความเป็นอยู่ ดังกล่าวนั้น ก็เป็นการจำเป็นที่จะต้องเริ่มจากการศึกษาว่า ‘อะไรเป็นสมุฏฐานของโลกและสิ่งทั้งหลาย’ ซึ่งเป็นการจำเป็นที่จะต้องศึกษาถึงสภาวะของธรรมชาติและของจิต, อาการของธรรมชาติและของจิต, วิธีรู้แจ้งเห็นจริงในสภาวะทั้งหลายเมื่อได้ศึกษาเช่นนั้นแล้ว ก็จะต้องนำเอาความรู้นั้นมาสู่การปฏิบัติว่า บุคคลจะต้องปฏิบัติอย่างไรที่จะทำให้ความเป็นอยู่ของมนุษยชาติและสังคมของมนุษยชาติบรรลุถึงความสุขสมบูรณ์

ตำราปรัชญาหลายเล่ม มิได้กล่าวครบทุกประเด็นดังกล่าวในวรรคต้นนั้น ตำราฝ่ายที่ถือว่า ‘จิตเป็นสมุฏฐานแห่งสิ่งทั้งหลาย’ นั้นยอมรับอยู่แล้วว่า อภิเทวาหรือพระเจ้าผู้สร้างโลกและสิ่งทั้งหลายย่อมมีอาการไปตามอิทธิของอภิเทวา และธรรมจริยากับสังคมจะต้องเป็นไปสอดคล้องกับคำสั่งสอนของศาสดาแห่งลัทธอภิเทวาทั้งหลาย ดังนั้น หลายสำนักปรัชญาฝ่ายจิตธรรมจึงกล่าวหนักไปแต่เฉพาะ ‘วิธีรู้แจ้งเห็นจริง’ หรือที่พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถานเรียกว่า “วิชาว่าด้วยหลักแห่งความรู้แจ้งและความจริง” ซึ่งเป็นคำนิยามคำว่า “ฟีลอสโซฟี” ของสำนักใดสำนักหนึ่งซึ่งถือว่าหน้าที่ของปรัชญาเหลืออยู่เพียงแค่นั้น และนอกเหนือขึ้นไปนั้นจะต้องเป็นไปตามคำสั่งสอนของศาสดาแห่งลัทธอภิเทวา ตำราปรัชญาฝ่ายจิตธรรมบางเล่มได้แบ่งการศึกษาออกเป็นสามส่วน คือ โลก, พระเจ้า, จิต

ส่วนตำราปรัชญาฝ่ายสสารธรรม ที่อาศัยการค้นคว้าของนักวิทยาศาสตร์เป็นหลักกล่าวว่า ‘สสารเป็นสมุฏฐานแห่งสิ่งทั้งหลายนั้น’ ก็ได้นำเอาหลักนั้นมาวินิจฉัยถึงอาการของสภาวะทั้งหลาย รวมทั้งสภาวะของสังคมแห่งมนุษยชาติ, และวิธีรู้แจ้ง

เห็นจริงในสภาวะของสังคมและการปฏิบัติของบุคคลที่จะทำให้ความเป็นอยู่ของมนุษยชาติ และสังคมมนุษยชาติ บรรลุถึงซึ่งความสุขสมบูรณ์

ทรรศนะของนักปรัชญาแตกต่างกันมากเพียงใด การวิเคราะห์ศัพท์ของ “ฟีลอสโซฟี” ก็มีการแตกต่างกันมากเพียงนั้น เช่นบางสำนักวิเคราะห์ไว้ว่า “วิทยาของสิ่งที่เป็นเทพยวิสัย”, “วิทยาแห่งปรมัดถ์”, “วิทยาแห่งอัตตจิต” ฯลฯ ส่วนตำราอย่างกลางๆ ก็วิเคราะห์ศัพท์ไว้ว่า “ฟีลอสโซฟี” คือ วิทยาของสิ่งที่วิเคราะห์อย่างมีหลักฐานหนักแน่น, วิทยาของสิ่งที่อาจเป็นไปได้เท่าที่สิ่งนั้นอาจเป็นไปได้, วิทยาแห่งวิทยาทั้งหลาย (SCIENCE OF SCIENCES)

ถ้าเรากันความโน้มเอียงทางใดทางหนึ่งออกไป และพิจารณาถึงประเด็นที่ปรัชญาควรกล่าวถึงแล้ว เราก็เห็นว่ามีประเด็นดังนี้

ก. สมุฏฐานที่จริงแท้ของโลกและสิ่งทั้งหลาย

ข. อาการเคลื่อนไหวของโลกและสิ่งทั้งหลาย

ค. วิธีรู้แจ้งเห็นจริงในสภาวะของโลกและสิ่งทั้งหลาย หรือ ทฤษฎีแห่งวิชา (THEORY OF KNOWLEDGE ) หรือสัมวุทธิวิทยา ( EPISTEMOLOGY)

ง. จริย คือการที่มนุษย์ควรปฏิบัติส่วนตน ในความเกี่ยวพันกับเพื่อนมนุษย์ และในส่วนที่เกี่ยวกับลังคม

(จบตอนที่ 3)

 

ที่มา : ปรีดี พนมยงค์. ปรัชญาคืออะไร?. (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2513), น. 22-29.

บทความที่เกี่ยวข้อง :