ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

ปรีดีปรัชญา : ปรัชญาคืออะไร? (ตอนที่ 1)

5
กุมภาพันธ์
2567

Focus

  • คำว่า "ปรัชญา” มีความหมายครอบคลุมคำหลายคำ อาทิ “ปัญญา” (ภาษาสันสกฤตที่หมายถึง “ความรู้แจ้ง” “ความรอบรู้” “ความสุขุม” “ความฉลาด”) “หลักแห่งความรู้” “วิชชา” “ความจริง” “สัจจธรรม” “สภาวะที่แท้” และ “สุทธิ” เป็นต้น โดยต่างสังคมมีพัฒนาการในเรื่องปรัชญาที่เกี่ยวกับความกระจ่างแจ้งในเรื่องของความรู้และความจริง
  • พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานของไทยให้นิยาม “ปรัชญา” ว่า “วิชาว่าด้วยหลักแห่งความรู้และความจริง” ตามการแปลจากภาษาอังกฤษ คือ philosophy ที่ยืมภาษาจากฝรั่งเศส และมีรากฐานจากภาษากรีกและลาติน ทั้งคำว่า “ปรัชญา” ยังเกี่ยวโยงกับคำว่า “Wisdom” ที่หมายความว่า การวินิจฉัยอย่างถูกต้อง ปัญญา และความฉลาด
  • สำหรับสังคมไทยคำว่า “ปรัชญา” สามารถพิจารณาเชื่อมโยงกับคำในพุทธศาสนา เช่น “โพธิ” (สันสกฤต) หมายถึง แสงสว่าง, กระจ่างแจ้ง, ความรู้แจ้ง, ความเข้าใจ และสอดรับกับการจำแนกของพลาโตนักปรัชญากรีกที่ให้นิยามคำว่า “พีลสโซเพืย” ว่า “การแสวงที่จะรู้แจ้งเห็นจริงว่าอะไรเป็นยอดแห่งสภาวะทั้งหลาย” หรือ “อภิจิต” ซึ่งเป็นยอดสูงสุดที่อยู่เหนือสิ่งสามัญ

 

ปรัชญาคืออะไร?

ข้อ 1 ซึ่งตรงกับคำบาลี คำว่า ปรัชญา เป็นคำสันสกฤต “ปัญญา”

ความหมายเดิมของคำนี้คือ ความรู้แจ้ง, ความรอบรู้, ความสุขุม, ความฉลาด

ข้อ 2 เมื่อประมาณ 8-9 ปี ก่อนเปลี่ยนการปกครอง พ.ศ. 2475 มาใช้เป็นศัพท์เพื่อเทียบชื่อของวิชา ได้มีผู้นำเอาคำ ปรัชญา ที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า PHILOSOPHY (ออกสำเนียง “พืลอสโซพื”) ครั้นแล้วปทานุกรมและพจนานุกรมของทางราชการได้บรรจุคำนี้ไว้ในหนังสือเหล่านั้น โดยให้ความหมายของคำนี้ตามความหมายของคำอังกฤษ “พืลอสโซพื” ที่ปรากฏอยู่ในพจนานุกรมภาษาอังกฤษบางเล่ม ดังจะเห็นได้จากการที่พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถานแสดงไว้ ดังนี้ ปรัชญา (ปฺรัดยา) (น.) วิชาว่าด้วยหลักแห่งความรู้และความจริง (ส.) (อ. PHILOSOPHY)

ดังนั้น คำ ปรัชญา ที่ใช้ในประเทศไทยขณะนี้จึงมีความหมายตามคำ “พืลอสโซพื” ในภาษาอังกฤษไปเสียแล้ว มิใช่ความหมายเดิมที่ตรงกับคำว่า “ปัญญา” ในภาษาบาลีตามที่กล่าวในข้อ 1

ข้อ 3 ปรัชญามีหลายสำนัก สำนักหนึ่ง ๆ ก็นิยามคำ “พืลอสโซพื” ไว้เฉพาะ จึงมีคำนิยามผิดเพี้ยนระหว่างสำนักนั้น ๆ บุคคลหรือคณะบุคคลใดที่แต่งพจนานุกรมภาษาอังกฤษก็นิยามคำ “พืลอสโซพื” ให้สอดคล้องกับสำนักที่ตนเลื่อมใส ดังนั้นความหมายของ ปรัชญา ในข้อ 2 จึงเป็นไปตามคำนิยามของสำนักใดสำนักหนึ่ง

ข้อ 4 คำว่า “หลักแห่งความรู้” นั้น พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานอาจแปลมาจากคำอังกฤษ “นอลิดจ์” (KNOWLEDGE) ซึ่งถ้าเทียบกับคำบาลีแล้วได้แก่คำว่า “วิชชา” หรือสันสกฤต “วิชญา” ส่วนคำว่า “ความจริง” นั้น พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานอาจแปลมาจากคำอังกฤษ “ทรูธ” (TRUTH) ซึ่งตามความหมายสามัญได้แก่ “ความจริง” หรือ “สัจจธรรม” แต่ในทางปรัชญานั้นหลายสำนักใช้ไปในความหมายเช่นเดียวกับคำว่า “เรียลิที้” (REALITY) คือ สิ่งแท้ หรือ สภาวะที่แท้ ซึ่งถ้าจะเทียบคำบาลีก็น่าจะได้แก่คำ “สุทธิ”

ท่านผู้อ่านจะเห็นได้ต่อไปเบื้องหน้าว่าขอบเขตของวิชานี้มิใช่จำกัดอยู่เพียงที่กล่าวข้างบนเท่านั้น

ควรสังเกตว่า แม้ในขณะนี้เราจะยังพิจารณาไปไม่ถึงว่าประเด็นของวิชานั้นมีอะไรบ้าง คือจะถือเอาคำนิยามของราชบัณฑิตยสถานเองว่า “วิชาว่าด้วยหลักแห่งความรู้และความจริง” เท่านั้นก็ตามเราก็จะเห็นได้ว่า มนุษยชาติที่พัฒนามาแล้ว ตั้งแต่โบราณกาลย่อมแสวงหาความรู้ที่กล่าวนี้ และคนไทยเราก็มิได้ยกเว้นจากการนั้น ฉะนั้นเรื่องของวิชา “พืลอสโซพื” จึงต้องมีอยู่แล้วในประเทศไทย โดยมีชื่อเป็นภาษาไทยหรือภาษาสันสกฤตบาลีที่ คนไทยได้รับเอามาเป็นภาษาไทย การตั้งศัพท์ใหม่ว่า “ปรัชญา” อาจทำให้บางท่านเข้าใจผิดไปได้ว่าเป็นวิชาใหม่ที่ยังไม่เคยได้ยินมาก่อน

อย่างไรก็ตาม เมื่อพจนานุกรมของราชบัณฑิตยสถานได้ รับรองบัญญัติคำ “ปรัชญา” ให้มีความหมายตรงกับคำ “พืลอสโซพื” ในภาษาอังกฤษ และโดยเฉพาะไม่ผิดความหมายถึงกับตรงกันข้าม เราจึงอาจใช้คำ “ปรัชญา” เสมือนเป็นสัญญาณชนิดหนึ่งที่มีความหมายตรงกับคำว่า “พืลอสโซพื” ทำนองเดียวกับคำอื่นใดที่เป็นเครื่องหมายแสดงออกซึ่งความหมายอย่างใดอย่างหนึ่ง

ส่วนการค้นคว้าหาความหมายของคำ “ปรัชญา” ปัจจุบันนี้จักต้องเป็นไปตามคำ “พืลอสโซพื” แล้วเปรียบเทียบกับคำที่คนไทยเราเคยใช้มาก่อนในเรื่องนั้น

ข้อ 5 สำหรับท่านที่สนใจในการเทียบเคียงศัพท์ทางปรัชญายุโรปที่สืบมาจากภาษากรีกโบราณและลาตินฝ่ายหนึ่ง กับศัพท์ไทยที่สืบมาจากสันสกฤตและบาลีอีกฝ่ายหนึ่ง โปรดสังเกตด้วยว่า ภาษากรีก, สันสกฤต, บาลี เป็นภาษาที่อยู่ใน “อินโดยุโรเปียน” ด้วยกัน หลายคำมีมูลมาจาก แต่เนื่องจากเผ่าต่าง ๆ แห่งตระกูลนี้กระจัดกระจายแยกย้ายกันไป จึงมีการพัฒนารูปภาษาและความหมายผิดเพี้ยน กันได้

นอกจากนั้นภาษาทั้ง 4 นี้ มีสัญลักษณ์ที่เปลี่ยนแปลงคำโดยวิภัตติและมีการแผลงสระพยัญชนะและการเปลี่ยนแปลงอื่น ๆ ซึ่งแม้แต่ในสาขาภาษาหนึ่ง ๆ นั้นเองก็ทำให้เห็นรูปของคำแตกต่างกัน เช่นคำว่า “พุทธ” ในภาษาบาลีนั้น ถ้าใช้เป็นคำ ประธาน ก็เป็น “พุทโธ” ถ้าใช้เป็นคำว่าไปกับพระพุทธเจ้าก็เปลี่ยนวิภัตติเป็น “พุทเธน” ถ้าจะพูดว่า ถวายของแก่พระพุทธเจ้า ก็เปลี่ยนวิภัตติเป็น “พุทธสฺส” ฯลฯ ส่วนสระนั้นก็เปลี่ยนแปลงได้ เช่นคำไทยที่มาจากสันสกฤต เปลี่ยน “โอสาน” เป็น “อวสาน” เป็นต้น ในระหว่างกรีกโบราณกับสันสกฤตก็มีการใช้สลับกัน เช่นคำว่า “สว” ในภาษาสันสกฤตที่แปลว่า ตนของตน นั้น แผลงเป็น “โส” ซึ่งตรงกับคำกรีกโบราณ “โซ” ( หรือ “โส” ) ส่วนการแผลงพยัญชนะนั้นเรารู้กันอยู่แล้วว่าคำไทยที่มาจากสันสกฤตบาลีก็ดี หรือมาจากภาษาปรากฤตก็ดีนั้น มีการแผลง “ว” เป็น “ต” เป็น ฯลฯ

ดังนั้น แม้ว่าภาษาทั้งสี่นี้จะอยู่ในตระกูลเดียวกัน แต่รูปภายนอกอาจเพี้ยนกัน ส่วนมูลศัพท์ของหลายคำยังคงคล้ายกันอยู่ น่าสังเกตว่าอักขระสันสกฤตที่เขียนเป็นอักษรโรมันว่า DH

หรือเขียนเป็นพยัญชนะไทย “ธ” นั้น กรีกโบราณออกสำเนียง “ส” BH () และ P () กรีกโบราณออกสำเนียง “ฟ”, สระ “โอ” สันสกฤตนั้นบางทีกรีกโบราณออกสำเนียง “โอ” ยาว บางทีออกสำเนียง “โอะ” บางทีออกสำเนียงเป็น “อต”

อนึ่ง ในการศึกษาค้นคว้าความหมายของคำอังกฤษ “พีลอสโซพื” เป็นการจำเป็นที่ต้องอ้างคำในภาษาต่างประเทศบ่อยครั้ง ผู้เรียบเรียงหนังสือเล่มนี้ ได้พยายามเขียนทับศัพท์ คำเหล่านั้นตามอักขรวิธีไทย แต่ต้องขอทำความเข้าใจกับท่านผู้อ่านไว้ก่อนว่า สำเนียงตรงเผงที่เดียวไม่ได้ เพราะอักขรวิธีของไทยต่างกับของภาษาต่างประเทศเหล่านั้น ทำนองกลับกัน คือ ถ้าคนอังกฤษใช้อักขระของเขาเขียนทับศัพท์ไทยก็เพี้ยนไปได้มาก แม้ภาษาต่างประเทศนั้น ๆ เอง เช่นภาษาอังกฤษ ก็ปรากฎว่าชนชาติที่พูดภาษาอังกฤษด้วยกันแต่ออกสำเนียงต่างกัน เช่นออสเตรเลียนและอเมริกันออกสำเนียงอังกฤษต่างกับคนที่อยู่ในสหราชอาณาจักร และคนอังกฤษที่อยู่ในสหราชอาณาจักรเองก็ออกสำเนียงผิดเพี้ยนกันตามท้องที่หรือเผ่าที่มีสัญลักษณ์เฉพาะได้ อนึ่ง ภาษากรีกโบราณและลาตินนั้นขาวยุโรปปัจจุบันออกสำเนียงผิดเพี้ยนกันอยู่ คือมีหลายวิธี อาทิวิธีอังกฤษ, วิธีฝรั่งเศส, วิธีอิตาเลี่ยน, วิธีกรีกปัจจุบัน, วิธีอเมริกัน เช่นคำลาตินที่ลงท้ายด้วย UM นั้น บางวิธีออกสำเนียง “อัม”, บางวิธี “ออม”, บางวิธี “อุม” ดังนั้นการเขียนทับศัพท์ลาตินในหนังสือเล่มนี้ จึงเป็นเพียงสำเนียงโดยประมาณเท่านั้น เช่น UM เราทับศัพท์เป็น “อุม” ส่วนสระ IA ในภาษากรีกโบราณ ไม่ใช่สระควบ เช่น PHIA เราออกสำเนียง “เพืย” อนึ่ง เพื่อความสะดวกของผู้อ่านโดยส่วนมากในประเทศไทย เราจึงทับศัพท์กรีกด้วยอักษรโรมันไว้ แทนการเขียนด้วยอักษรกรีก

ข้อ 6 คำอังกฤษ “พีลอสโซพื” แห่งยุคใหม่สืบมาจากคำอังกฤษยุคกลางที่ยืมเอาคำฝรั่งเศสโบราณ PHILOSOPHIE, FILOSOFTE (พีโลโซพื) มาใช้ คำฝรั่งเศสโบราณนี้มาจากคำลาติน PRILOSOPHIA (พีโลโซพืยา) ที่แผลงมาจากคำกรีก Φιλοσοφία (พีลสโซเพืย)

พจนานุกรมภาษาอังกฤษบางเล่มย่อมบอกไว้ว่า คำกรีก “พืลสโซเพืย” ประกอบด้วยศัพท์ “พีลส” กับ “โซเพืย” “พี่ลส” เทียบได้กับคำอังกฤษ LOVING OF คือ ความรัก หรือ ความพอใจ สิ่งใดสิ่งหนึ่ง “โซเพืย” เทียบกับคำอังกฤษ “วิสดมฺ” (WISDOM ) และถ้าเปิดพจนานุกรมภาษาสันสกฤตเป็นคำอังกฤษจะพบว่าคำ “ปรัชญา” มีความหมายหลายอย่าง รวมทั้ง “วิสดมฺ” ด้วย บางท่านอาจคิดว่าคำอังกฤษ “พีลอสโซพื” พบกับคำปรัชญาได้ที่คำ “วิสดมฺ”

คำ “วิสดมฺ” เป็นคำในตระกูลแองโกลแซกซอนหมายความว่า การวินิจฉัยอย่างถูกต้อง, ปัญญา, ความฉลาด

เมื่อเอาคำ “ปรัชญา” เทียบกับคำ “วิสดมฺ” แล้ว, ก็ยังขาดคำเทียบอีกคำหนึ่ง คือคำ “พีลส” ซึ่งแปลว่า ความรัก หรือ ความพอใจในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง, คำนี้นำหน้าคำ “โซเพืย” อันเป็นประเด็นสำคัญของชาวกรีกโบราณได้ประกอบศัพท์นั้นขึ้น แทนที่จะใช้ “โซเพืย” ลอย ๆ

ข้อ 7 วิชาที่ชาวอังกฤษเรียกว่า “พีลอสโซพื” นั้น ได้เริ่มจับความมาตั้งแต่ทรรศนะของ ธาลีส THALES) เมธีกรีกโบราณแห่งสำนัก “ไอโอเนียน” (IONIAN) ธาลีสมีชีวิตอยู่ประมาณระหว่าง 640 ปีถึง 545 ปีก่อนพระเยซูเกิด สำนักนั้นได้ทำการค้นคว้าว่าธาตุหรือสารใดเป็นสมุฏฐานแห่งโลกและสิ่งทั้งหลาย

ก. ในสมัยธาลิสและสมัยของเมธีกรีกคนต่อ ๆ มาอีกกว่า 100 ปีนั้นมิได้มีศัพท์ที่ใช้เรียกเรื่องที่เมธีกรีกโบราณค้นคว้านั้น ว่า เป็นเรื่องอะไร ความเห็นของเมธีต่าง ๆ มีอยู่ในเรื่องที่เรียกว่า บทสาธยาย บ้าง หรือ บทความ อื่นๆ บ้าง

แต่สำหรับตัวท่านนักปราชญ์เหล่านั้นได้รับการยกย่องจากชาวกรีกเรียกท่านว่า “โซฟส” σοφός

คำว่า “โซ” แปลว่า ตนของตน ซึ่งตรงกับสันสกฤต “สว” (ในภาษาสันสกฤตเปลี่ยนสระ โอ เป็น “อว” คือการเปลี่ยนโดยวิธีพฤทธิ์ เช่น “โอสาน” เปลี่ยนเป็น “อวสาน”)

คำว่า “ฟส” มาจากคำว่า โฟส Φως ออกสำเนียง “โอ” ยาว แปลว่า แสง สว่าง (ในภาษาสันสกฤต สระ “โอ” ยาวเปลี่ยนเป็น “โอ” เสียงสั้น หรือเป็นสระ “โอะ” ได้) คำนี้มีที่มาอย่างเดียวกับคำว่า “โพธ” และ “โพธิ” ในภาษาสันสกฤต ซึ่งเดิมหมายถึง แสงสว่าง, กระจ่างแจ้ง, แล้วต่อมา วิวัฒน์เป็น ความรู้แจ้ง, ความเข้าใจ

“โซฟส” หมายถึง ผู้กระจ่างแจ้งโดยตนเอง หรือผู้ตรัสรู้

ข. ในกลางศตวรรษที่ 5 ก่อนคริสต์ศักราช ได้เกิดมีอาจารย์กรีกจำพวกหนึ่งที่ทำการสอนโดยเรียกเก็บเงินคำเล่าเรียนชาวกรีกโบราณเรียกอาจารย์จำพวกนี้ว่า “โสพีสติส” (SOPHISTES) ซึ่งภาษาอังกฤษแผลงเป็น “โซพีสต์” (SOPHIST)

ค. โสเครติส (SOCRATES) ซึ่งมีชีวิตอยู่ประมาณระหว่าง 496 ปีถึง 399 ปี ก่อนคริสต์ศักราช ได้เรียกตนเองเป็นการถ่อมตนว่า “พีลสโซฟส” ( PHILOSOPHOS)

“พีลส” (PHILOS) แปลว่า ความรัก, ความพอใจ, ฯลฯ ซึ่งเทียบได้กับคำ “พิลาส” หรือ “วิลาส” ในภาษาสันสกฤต

“โซฟส” คือ ผู้รู้ ( ดูในข้อ ก.) ถ้าจะแปลตามมูลศัพท์คือ ผู้รักที่จะรู้แจ้ง โสเครติส ออกตัวว่าคนมิได้อวดอ้างว่ารู้อะไรทั้งหมด, แต่จำกัดอยู่ในเรื่องวิชาที่ให้ผู้ศึกษาบรรลุถึงซึ่งกุศลกรรม หรือ การบำเพ็ญความดี เท่านั้น

ง. ในระหว่างศตวรรษที่ 5 ก่อน ค.ศ. ได้มีนักประวัติศาสตร์กรีกบางคนได้ใช้ศัพท์ “พีลสโซฟส” เพื่อหมายถึง การแสวงที่จะรู้แจ้งเห็นจริง

จ. พลาโต (PLAT0) ประมาณ 427-360 ปีก่อนค.ศ ได้ให้ความหมายของการเป็น “พีลสโซฟส” และวิชา “พี่ลสโซเพืย” ไว้โดยสืบเนื่องจากทรรศนะจิตธรรมของพลาโต

พลาโตเห็นว่า เหนือโลกที่สามัญชนสัมผัสได้โดยสามัญวิสัย นั้นมี โลกแห่งอภิจิตที่มีอิทธิ ซึ่งเป็นสิ่งที่แท้จริง หรือเป็นสุทธิภาวะคงอยู่เป็นนิจนิรันดร์ อันเป็นสมุฏฐานของโลกและสิ่งทั้งหลาย บุคคลจะเข้าถึงซึ่งภาวะดังกล่าวนั้นได้ก็โดยยกระดับจากสามัญวิสัยเข้าสู่ความรู้ที่แท้จริง ในการนี้จะทำได้ต่อเมื่อมี “พีลส” คือ “ความรัก” ในสิ่งแท้จริง หรือ สุทธิภาวะ

พลาโตจึงได้ให้ความเห็นว่า “พีลสโซฟส” นั้นต่างกับ “โซฟส” คือ “โซฟส” เป็นแต่เพียงอาศัยปรากฏการณ์และความสัมผัสจากรูปธรรมเท่านั้น ส่วน “พีลสโซฟส” นั้นเป็นบุคคลที่มี “ความรัก” ในสิ่งที่แท้จริงและเข้าใจว่าสิ่งนั้นดำรงอยู่เป็นนิจ

เราจะเห็นได้ว่า คำ “พีลส” ที่นำหน้าคำ “โซฟส” มีนัยดังได้กล่าวมานี้ ซึ่งถ้าจะเล็งถึงสาระแล้วน่าจะเป็นความรักขั้นที่เรียกว่า “ศรัทธา”

ครั้นแล้วพลาโตได้นิยามคำ “พีลสโซเพืย” ว่า “การแสวงที่จะรู้แจ้งเห็นจริงว่าอะไรเป็นยอดแห่งสภาวะทั้งหลาย” หรือนัยหนึ่ง อภิจิต ซึ่งเป็นยอดสูงสุด

คำนิยามต่าง ๆ ของพลาโตดังกล่าวได้รับความนิยมในบรรดาสานุศิษย์และผู้ที่เจริญรอยตามพลาโต, แต่นักปรัชญาฝ่ายที่ถือว่า ธาตุ หรือ สาร เป็น สมุกฐาน นั้นยังมีอยู่อีกมากที่ไม่ยอมเห็นด้วย อย่างไรก็ตามปรัชญาของพลาโตมีอิทธิพลเหนือ สำนักปรัชญากรีก “สโตอิค” และศาสนาคริสต์ที่ได้พัฒนา อภิจิต ของพลาโตมาเป็น อภิเทวา หรือ พระเจ้า, ดังนั้นคำนิยามของพลาโตจึงมีอิทธิพลเหนือนักปรัชญาคริสเตียนในสมัยต่อมา

(ถ้าผู้ใดนึกสนุกอยากอาศัยคำสันสกฤตประกอบเป็นศัพท์ไทยขึ้นใหม่อย่างขำๆ เพื่อถ่ายทอดให้ตรงกับมูลศัพท์กรีกโบราณ ก็น่าจะถ่ายทอดวิชาที่กรีกโบราณเรียกว่า “พีลอสโซเพืย” ซึ่งอังกฤษแผลงเป็น “พีลอสโซพื” นั้นว่า “พิลาสสวโพธิ” หรือ “พิลาสโสโพธิ” หรือ “วิลาสสวโพธิ” หรือ “วิลาสโสโพธิ” แต่การประกอบศัพท์ไทยขึ้นใหม่เพื่อถ่ายทอดศัพท์ต่างประเทศนั้นเราควรถือเอา สาระแห่งความหมาย ยิ่งกว่า มูลศัพท์ ที่พัฒนาต่อมาในระหว่างเวลากว่า 2 พันปี)

 

ที่มา : ปรีดี พนมยงค์. 2513. ปรัชญาคืออะไร?. โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, น. 3-14.