Focus
- “พีลสโซเพีย” หรือปรัชญาของสำนักปรัชญากรีกโบราณทั้งหลาย (ประมาณ 1,000 ปี นับตั้งแต่สมัยธาลิสจนกระทั่งถูกยุบเลิกโดยจักรพรรดิจุสติเนียน สมัย ค.ศ. 500 กว่า) เมื่อประมวลจากข้อเสนอของนักปรัชญาหรือเมธีหลายๆ คนแล้ว มีขอบเขตกว้างขวาง มิได้จำกัดอยู่เพียงวิชาว่าด้วยหลักแห่งความรู้และความจริงเท่านั้น
- จุดสนใจของปรัชญากรีกครอบคลุมในหลายเรื่อง อาทิ (ก) สมุฏฐานของโลกและสิ่งทั้งหลาย (กำเนิดและองค์ประกอบ) (ข) อาการของโลกและสิ่งทั้งหลาย (ความเป็นไปและเปลี่ยนแปลง) (ค) วิธีรู้แจ้งเห็นจริงในสภาวะทั้งหลาย (ง) จริยคือการที่มนุษย์ควรปฏิบัติ (จ) ระดับชั้นของปรัชญา (แม่บทหรือเมตาฟิสิกส์ สาขาวิชา และการใช้ความคิดแบบ “ไดอาเล็คติกส์” และ “ตรรกะ”) (ฉ) ยอดสรุปของวิชาหรือวิทยาของวิทยาทั้งหลาย
- คริสต์ศาสนาที่ถือกำเนิดขึ้นในภายหลัง ได้เข้าครอบงำจักรภพโรมันและยุโรปตะวันตก และเนื่องด้วยความเชื่อในเรื่องพระเจ้าเป็นสิ่งสูงสุดของศาสนานี้ ทำให้ปรัชญากรีกถูกยุบเลิก และวิทยาการต่างๆ ไม่สามารถสร้างคำสอนที่ขัดกับหลักศาสนาที่บาดหลวงสอนได้ แม้กระทั่งการศึกษาในมหาวิทยาลัยที่นิยมกันในยุโรปตะวันตกในสมัยยุคกลาง (คริสต์ศตวรรษที่ 12) จะมีวิชาแบบศิลปวิทยาเสรีที่อนุญาตให้เรียนกันได้เกิดขึ้น คือ เวยยากรณ์ สุนทรวจนศิลป์ เลขคณิต เรขาคณิต ดาราศาสตร์ ดนตรี และตรรกวิทยา แต่ก็ยังต้องจำกัดเนื้อหาตามคำสอนของคริสต์ศาสนาที่ว่า “พระเจ้าหรืออภิเทวาเป็นผู้สร้างโลกและสิ่งทั้งหลาย”
ข้อ 8 ถ้าเราพิจารณาถึงขอบเขตแห่งวิชาที่ชาวกรีกเรียกว่า “พีลสโซเพีย” หรือปรัชญาของกรีกโบราณระยะเวลาประมาณ 1,000 ปี นับตั้งแต่สมัยธาลิสจนกระทั่งสำนักปรัชญาทั้งหลายของกรีกต้องถูกยุบเลิกเมื่อคริสตศักราช 527 โดยจักรพรรดิจุสติเนียน แห่งจักรภพโรมันบูรพาซึ่งมีอำนาจเหนือดินแดนกรีกนั้นแล้ว จะเห็นได้ว่าวิชานั้นมิได้จำกัดอยู่เพียงวิชาว่าด้วยหลักแห่งความรู้และความจริง เท่านั้น คือมีเขตกว้างขวางมาก แม้เมธีบางคนจะค้นคว้าไม่ครบทุกอย่างหรือจำกัดแต่เพียงบางอย่างก็ตาม แต่เมื่อประมวลเข้าด้วยกันแล้วปรากฏว่ามีประเด็นสำคัญดังต่อไปนี้
ก. สมุฏฐานของโลกและสิ่งทั้งหลาย เมธีบางสำนักค้นคว้าจาก ธาตุ และ สสาร เช่นบางคนเห็นว่า “น้ำ”, บางคนเห็นว่า “ลม”, บางคนเห็นว่า “ไฟ”, บางคนเห็นว่า “ดิน, น้ำ, ลม, ไฟ” บางคนเห็นว่า “ปรมาณู” เป็นสมุฏฐานของโลกและสิ่งทั้งหลาย เมธีบางสำนักค้นคว้าจากสภาวะทางจิต เช่น บางคนเห็นว่า “อภิจิต” บางคนเห็นว่า “โลกธาดา” บางคนเห็นว่า “อภิเทวา” หรือ “พระเจ้า” เป็นสมุฏฐานของโลกและส่งทั้งหลาย ฯลฯ
ข. อาการของโลกและสิ่งทั้งหลาย เมธีบางสำนักเห็นว่า โลกและสิ่งทั้งหลายเปลี่ยนแปลงไปตามธาตุและสสารที่ตนเห็นว่าเป็นสมุฏฐาน เมธีบางสำนักเห็นว่าโลกและสิ่งทั้งหลายเปลี่ยนแปลงไปตามการดลบันดาลทางจิต เช่น ตามอภิจิต, ตามโลกธาดา, ตามพระเจ้า
ค. วิธีรู้แจ้งเห็นจริงในสภาวะทั้งหลาย เมธีบางสำนักอาศัยวิธีสัมผัสตามสามัญวิสัย บางสำนักอาศัยวิธีสากัจฉาทางคำพูด (ไดอาเล็คติเก DIALEKTIKE) บางสำนักได้พัฒนาวิธีสากัจฉาทางคำพูดมาเป็นวิธีสากัจฉาในความคิดหรือตรรกวิทยา บางสำนักใช้วิธียึดมั่นในศรัทธา ที่มีต่อบุคคลใดหรือลัทธิทฤษฎีใด
ง. จริย คือการที่มนุษย์ควรปฏิบัติ บางสำนักกล่าวเฉพาะการปฏิบัติของมนุษย์ส่วนตน บางสำนักกล่าวถึงการปฏิบัติของมนุษย์ต่อเพื่อนมนุษย์ บางสำนักกล่าวถึงการปฏิบัติของสังคมแห่งมนุษยชาติด้วย
จ. โดยเฉพาะอาริสโตเติล เห็นว่า บุคคลจะรู้แจ้งเห็นจริงได้ก็ต้องศึกษาให้มีความรู้ในวิทยาต่างๆ ซึ่งจัดออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ คือ
พีลสโซเพียชั้นที่ 1 ได้แก่วิชา “มาติกา” หรือ “แม่บท” (FIRST PRINCIPLE) คือการศึกษาถึง สมุฏฐานแห่งโลกและสิ่งทั้งหลาย ภายหลังที่อาริสโตเติลตายแล้ว, สานุศิษย์คนหนึ่งได้จัดรวบรวมคำสั่งสอนของอาจารย์ไว้เป็นหมวดๆ โดยเฉพาะคำสอนว่าด้วยมาติกานั้นได้จัดเข้าไว้ภายหลังหมวดที่ว่าด้วยฟิสิกส์ จึงให้ชื่อหมวดนั้นว่า “เมตา ตะ พียสิกา” คือ “ภายหลังวิชาฟิสิกส์” (คำว่า “เมตา” ในภาษากรีกแปลว่า “ภายหลัง”) ต่อมาคำนี้ได้พัฒนาเป็นคำอังกฤษ “เมตาพีสิกส์” ซึ่งสำนักปรัชญาต่างได้นำไปใช้ตามความหมายต่างๆ กัน เช่น บางสำนักใช้ในความหมายถึง สิ่งที่คงอยู่พ้นจากโลกมนุษย์, บางสำนักใช้ในความหมายถึง สิ่งที่คงอยู่กับที่ไม่เปลี่ยนแปลง, บางสำนักใช้ในความหมายถึง สิ่งที่พ้นวิสัยของโลก ถ้าพิจารณาสาระของทรรศนะต่างๆ ที่ใช้คำ เมตาพีสิกส์ ดั่งกล่าวแล้ว ก็เป็นเรื่องค้นคว้าหาสมุฏฐานของโลกและสภาวะทั้งหลายนอกเหนือจากการสัมผัสได้ จากปรากฏการณ์ตามธรรมชาติ โดยตั้งศรัทธาเชื่อว่า มีสิ่งแท้จริงหรือสุทธิภาวะตั้งอยู่กับที่เหนือโลกและปรากฏการณ์ธรรมชาติ “เมตาพีสิกส์” ควรแปลเป็นไทยว่า “นอกเหนือธรรมชาติ”
พีลสโซเพียชั้นที่ 2 ได้แก่วิชาต่างๆ มากมาย อาทิ วิชาฟิสิกส์ซึ่งในสมัยกรีกโบราณหมายถึงวิชาต่างๆ ที่เกี่ยวกับธรรมชาติอย่างกว้างขวาง เป็นต้นว่า เคมี, ดาราศาสตร์, อุตุนิยมศาสตร์, โลกทรรศนะศาสตร์, พฤกษศาสตร์, สัตวศาสตร์, ชีววิทยา, จิตวิทยา, คำนวณ, สุนทรวจนศิลป์, จริยา, การเมือง, เครื่องมือแห่งการที่จะรู้แจ้งซึ่งสานุศิษย์ของอาริสโตเติลเรียกว่า “ออร์กานอน” อันรวมทั้งวิจารณศิลป และศิลปแห่งสากัจฉา ซึ่งเรียกว่า “ไดอาเล็คติเก” ซึ่งวิวัฒนาการเป็นการใช้ความคิด และอังกฤษยุคกลางได้แผลงมาเป็น “ไดอาเล็คติกส์” คือตรรกวิทยาในสมัยที่ยังมิได้ใช้คำว่า “โลจิค”
ฉ. จะเห็นได้ว่าในสมัยกรีกโบราณวิชาที่เรียกว่า “พีลสโซเพีย” ซึ่งอังกฤษแผลงเป็น “พีลอสโซพี” และเรานิยมแปลเป็นไทยว่า “ปรัชญา” นั้น มีลักษณะเป็น ยอดสรุปของวิชา SUM OF KNOWLEDGE หรือนัยหนึ่งเป็น วิทยาของวิทยาทั้งหลาย (SCIENCE OF SCIENCES)
ข้อ 9 ศาสนาคริสต์ซึ่งได้เกิดในปาเลสไตน์ที่อยู่ใต้การปกครองของจักรภพโรมันนั้นได้เผยแพร่กว้างขวางยิ่งขึ้น ครั้นแล้วจักรภพโรมันได้รับรองศาสนาคริสต์เป็นทางการเมื่อ ค.ศ. 1325 พ่อบาทหลวงและสังฆราชบางองค์ได้นำเอา ปรัชญาฝ่ายจิตธรรม ของกรีกมาประกอบคำอธิบายศาสนาของท่าน ปรัชญาของท่านเหล่านี้มีชื่อเรียกว่า “ปาตริสติด พีลอสโซพี” หรือ “ปรัชญาของพ่อบาทหลวง”
ต่อมาเมื่อสำนักปรัชญากรีกต้องถูกยุบเลิกเมื่อ ค.ศ. 535 ดังกล่าวแล้วในข้อก่อน จักรภพโรมันและยุโรปตะวันตกตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของศาสนาคริสต์ ปรัชญากรีกเท่าที่เผยแพร่ได้ก็คือ ปรัชญาที่พ่อบาทหลวงได้แทรกเข้ามาในคำอธิบายศาสนาคริสต์ดังกล่าวแล้ว
ข้อ 10 เมื่อชาวตะวันตกได้เพิ่มความสนใจในการศึกษาชั้นสูงขึ้นในคริสตศตวรรษที่ 12 นั้น ได้มอบการอำนวยการศึกษาชั้นสูงให้เป็นการผูกขาดตัดตอนของสถานศึกษา ซึ่งจัดเป็นบรรษัทชนิดหนึ่ง มีชื่อเรียกเป็นภาษาลาตินว่า “อูนิแวร์ซิตาส มาจิสโตรรุม เอต สโคลาริอุม” (UNIVERSITAS MAGISTRORUM ETSC HOLARIUM) ซึ่งหมายถึงองค์การรวมของอาจารย์และนักศึกษา ซึ่งต่อมาเรียกกันย่อๆ ว่า “อูนิแวร์ซิตาส” และทุกวันนี้เขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า “ยูนิเวอร์ซิที” ซึ่งเราแปลว่า “มหาวิทยาลัย”
ก. มหาวิทยาลัยในยุโรปตะวันตกแห่งยุคกลางได้ก่อตั้งขึ้นก่อนที่ปารีส ครั้นต่อมาชาวอังกฤษจึงได้จัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นที่ออกซฟอร์ดกับเคมบริดจ์ ซึ่งทุกวันนี้ยังคงรักษารูปแบบแห่งมหาวิทยาลัยยุคกลางไว้ได้หลายอย่าง ส่วนมหาวิทยาลัยปารีสได้เปลี่ยนแปลงไปในสมัยต่อๆ มา
การศึกษาในมหาวิทยาลัยแห่งยุคนั้นตกอยู่ภายใต้ข้อจำกัดของศาสนา วิชาสาขาใดหรือส่วนใดที่ขัดแย้งต่อศาสนาคริสต์ก็ไม่อาจเล่าเรียนได้ เช่นการศึกษา ธรรมชาติวิทยา ที่จะค้นคว้าให้รู้สภาวะจริงของธรรมชาติและโลกพิภพก็ไม่อาจทำได้ นอกจากจะต้องรับเอาประกาศีตของ พระคริสต์พิทยาคม (SCHOLASTIC) ว่า พระเจ้าหรืออภิเทวาเป็นผู้สร้างโลกและสิ่งทั้งหลาย
ดังนั้น ทฤษฎีปรมาณูซึ่งนักปราชญ์กรีกได้เริ่มค้นคว้าไว้ตั้งแต่ 400 ปีก่อนพระเยซูเกิดจึงต้องหยุดชะงักลง ชาวคริสต์ที่มีความคิดนอกคัมภีร์ก็ถูกจับกุมคุมขัง และถ้านอกคัมภีร์มากก็ถูกจับเอาตัวไปเผาทั้งเป็น การค้นคว้าสิ่งที่เป็นไปตามกฎธรรมชาติในระยะเวลาหลายร้อยปีแห่งยุโรปยุคกลางจึงไม่ก้าวเท่าที่ควรจะก้าวหน้า ถ้าบุคคลไม่ถูกผูกมัดการใช้สมองของตนให้ขึ้นอยู่กับคัมภีร์อันเป็นประกาศิตนั้น
ข. วิชาที่สอนกันในมหาวิทยาลัยในสมัยนั้นเรียกเป็นภาษาลาตินว่า “อารเตส ลิเบราเลส” (ARTES LIBERALES) หรือ ศิลปวิทยาที่เสรีชนมีสิทธิ์เรียน คือ เวยยากรณ์, สุนทรวจนศิลป์, เลขคณิต, เรขาคณิต, ดาราศาสตร์, ดนตรี หรือ ตรรกวิทยา
ตรรกวิทยา ในสมัยนั้นเรียกเป็นภาษาลาตินว่า “ดีอาเลคติกา” (DIALBOTIOA) ซึ่งแผลงมาจากภาษากรีก “ไดอาเลกติเก” และภาษาอังกฤษได้แผลงศัพท์นี้มาเป็น “ไดอาเลคติกส์”
“ไดอาเลคติกส์” หรือ ตรรกวิทยา ที่เริ่มศึกษากันขึ้นในยุคนั้นถือกันว่าเป็นยอดของวิทยาทั้งหลาย หรือเป็น วิชาของวิชาทั้งหลาย
เมื่อการแสวงหาที่จะรู้แจ้งเห็นจริงต้องตกอยู่ภายใต้ขอบเขตของศาสนาคริสต์แล้ว ความหมายของคำว่า “พีโลโซเพีย” ซึ่งภาษาฝรั่งเศสยุคกลางได้แผลงมาเป็น “พีโลโซพี” และซึ่งภาษาอังกฤษยุคกลางได้ขอยืมไปใช้นั้นจึงได้ผันแปรไป คือ มีความหมายไปในทางค้นคว้าให้ถึง สภาวะของอภิจิตหรืออภิญญา และหมายความรวมถึงวิชาจำพวกที่เรียกว่า “อารเตส ลิเบราเลส” นั้นด้วย ซึ่งถือว่าเป็นวิชาจำพวกที่จะช่วยให้ บุคคลเกิดมีปัญญาที่จะรู้แจ้งเห็นจริงเข้าถึงสภาวะของอภิจิต
ในยุคกลางนี้มหาวิทยาลัยหลายแห่ง จึงได้มีปริญญาเรียกว่า “ดุษฎีบัณทิตย์แห่งปรัชญา” (DOCTOR OF PHLOSOPHY) ประสาทให้แก่ผู้สำเร็จศิลปวิทยาสาขาใดสาขาหนึ่ง
ที่มา : ปรีดี พนมยงค์. 2513. ปรัชญาคืออะไร?. โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, น. 15-22.
เรื่องที่เกี่ยวข้อง: