Focus
- แม้ว่าวิทยาการหลายสาขาได้ปลีกตัวออกไปจากปรัชญาเพื่อเป็นวิชาเฉพาะ แต่ในบางประเทศ จิตวิทยา ตรรกวิทยา จริยศาสตร์ และธรรมศาสตร์ ก็เป็นส่วนหนึ่งของปรัชญาที่ยังคงเป็น “ยอดสรุปของวิชา” (Sum of Knowledge) หรือ “วิทยาแห่งวิทยาทั้งหลาย” (Science of Sciences)
- สามัญชนส่วนหนึ่งได้นำเอาความเป็น “พีลอสโซพื” หรือ ปรัชญา ไปใช้ในความหมายอื่นๆ อีกด้วย อาทิ (ก) หลักนำในการคิดการปฏิบัติ (ข) ทรรศนะที่มีต่อสังคม (ค) ระบบแห่งการบำเพ็ญชีวิต (ง) หลักแห่งความประพฤติ (จ) สุขุมคัมภีรภาพ (ฉ) อุเบกขาญาณ (ช) อารมณ์และคำวินิจฉัยอย่างเยือกเย็น ละเอียดถี่ถ้วน เป็นต้น
- ปรัชญามิใช่เรียนรู้กันเพียงในประเทศตะวันตก แต่ชาวอาเซียและชาวไทยก็เรียนรู้เรื่องเช่นนี้ ดังที่ปรากฏในเรื่อง “พระอภิธรรม” อันเป็นยอดคำสอนของพุทธศาสนา โดยคำว่า “ธรรม” นั้น สอดคล้องกับคำว่าฟอร์ม (Form) ที่หมายถึง “แม่แบบ” ในหลักปรัชญาของอริสโตเติล และ “แม่แบบ” ก็มีความหมายเช่นเดียวกับคำว่า “ธรรม” (ภ.บาลี) หรือ “ธรม” (สันสกฤต) ที่หมายถึง “สิ่งที่ทรงไว้” หรือ “ทรงสิ่งทั้งหลายไว้” ด้วย
ข้อ 14.
ในปัจจุบันนี้แม้วิทยาหลายสาขาจะได้ปลีกตัวออกไปเป็นวิชาเฉพาะก็ตาม แต่ปรัชญายังคงเป็น “ยอดสรุปของวิชา” (SUM OF KNOWLEDGE) หรือ “วิทยาแห่งวิทยาทั้งหลาย” (SCIENCE OF SCIENCES)
ในบางประเทศแห่งสมัยปัจจุบันนี้ จิตวิทยา, ตรรกวิทยา,จริยศาสตร์, ธรรมศาสตร์ ยังคงถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของปรัชญา
ฉะนั้น คำว่า “พีลอสโซพี” ที่เราแปลว่า ปรัชญา นั้น ถ้าใช้เป็นชื่อของวิชาชนิดหนึ่งแล้ว ก็มีความหมายถึง “ยอดสรุปของวิชา” หรือ “วิทยาของวิทยาทั้งหลาย”
ข้อ 15.
นอกจากคำ “พีลอสโซพื” เป็นชื่อของวิทยาดังที่ได้กล่าวแล้ว สามัญชนได้นำเอาคำนี้มาใช้ในความหมายอีกหลายอย่าง คือ
ก. หลักนำในการคิดการปฏิบัติ
ข. ทรรศนะที่มีต่อสังคม
ค. ระบบแห่งการบำเพ็ญชีวิต
ง. หลักแห่งความประพฤติ
จ. สุขุมคัมภีรภาพ
ฉ. อุเบกขาญาณ
ช. อารมณ์และคำวินิจฉัยอย่างเยือกเย็น ละเอียดถี่ถ้วน
ฯล ฯ
ดังนั้น เมื่อพบศัพท์ “พีลอสโซพื” เข้าแล้ว ก็ต้องพิจารณาว่า ผู้ใช้ศัพท์นี้ต้องการที่จะกล่าวถึง ความหมาย อันใด
ข้อ 16.
ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว จะเห็นได้ว่า วิชาที่เรียกในปัจจุบันนี้ว่า ปรัชญา นั้นไม่ใช่ของใหม่สำหรับชาวอาเซียและชาวไทย
ก. ใน “ชมพูทวีป” (โดยประมาณอินเดียกับประเทศใกล้เคียงในปัจจุบัน) ได้มีนักปราชญ์มากหลายศึกษาค้นคว้าเรื่องที่เรียกในปัจจุบันว่า “ปรัชญา” ก่อนชาวกรีกโบราณหลายศตวรรษ ชาวชมพูทวีปแห่งแคว้นที่ใช้ภาษาสันสกฤตได้เรียกเรื่องที่ศึกษาค้นคว้านั้นว่า “ทรสน” ไม่ใช้ “ปรัชญา”
ส่วนราษฎรสามัญทั่วไปแห่งแคว้นมคธ ที่ใช้ภาษาบาลีแทนภาษาสันสกฤตนั้น ได้เรียกเรื่องที่กล่าวถึงนั้ว่า “อภิอภิธรรม” คือเป็นคำที่ประกอบด้วย “อภิ” กับ “ธรรม”, “อภิ” เป็นคำนำหน้าศัพท์มีความหมายว่า ยิ่ง, วิเศษ, เหนือ, “ธรรม” แปลว่า สภาพที่ทรงไว้เป็นพื้น, ความถูกต้อง, ความรู้ของจริง, คุณงามความดี, หลักที่ควรประพฤติตาม ฯลฯ ซึ่งเป็นศัพท์ที่เทียบได้กับคำว่า “ยอดสรุปของวิชา” หรือ “วิทยาแห่งวิทยาทั้งหลาย” พระพุทธองค์กับสาวกได้ใช้ภาษาบาลีซึ่งเป็นภาษาของราษฎรสามัญในการเทศนาสั่งสอน ดังนั้น พระไตรปิฎกจึงมีอยู่หมวดหนึ่งเรียกว่า “พระอภิธรรม”
ข. คำว่า “ธรรม” เป็นคำกลางๆ ที่มีความหมายดังกล่าวแล้ว แต่ถ้าจะหมายถึงคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว คนไทยเราเติมคำว่า “พระ” ไว้ข้างหน้าเป็น “พระธรรม” ซึ่งไม่ปะปนกับคำว่า “ธรรม” ที่ใช้ในกรณ์อื่นๆ และที่ใช้ประกอบศัพท์ต่างๆ เช่น มนุษยธรรม, นิติธรรม, สัจธรรม, จิตธรรม, สสารธรรม ฯลฯ
คำว่า “อภิธรรม” เป็นคำของราษฎรสามัญแห่งแคว้นมคธ ที่ใช้ภาษาบาลีซึ่งตกทอดมายังคนไทยหลายศตรรษแล้ว แต่ถ้าคนไทยเราจะหมายถึง ยอดแห่งคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นหมวดหนึ่งแห่งพระไตรปิฎกแล้ว เราก็ได้เติมคำว่า “พระ” ไว้ข้างหน้าเป็น “พระอภิธรรม” เพื่อไม่ให้ปะปนกับ อภิธรรม อื่นๆ
ดังนั้น คนไทยเรารู้เรื่องของสิ่งที่ชาวกรีกโบราณเรียกว่า “ฟิลสโซเฟีย” และอังกฤษแผลงมาเป็น “พีลอสโซฟี” เป็นเวลาหลายศตวรรษแล้ว คือเรื่องที่เรียกว่า “อภิธรรม”
ค. ข้อสังเกตเรื่องมูลศัพท์ของคำว่า “ธรรม”
คำว่า “ธรรม” เป็นภาษาบาลี, ถ้าจะเขียนอย่างสันสกฤต คือ “ธรม” พุทธทาสภิกขุได้กล่าวไว้อย่างถูกต้องว่า คำนี้มีรากมาจากคำว่า “ธร” คือ “ทรง” คำนี้จึงมีความหมายตามมูลศัพท์ว่า “สิ่งที่ทรงไว้” หรือ “ทรงสิ่งทั้งหลายไว้”
ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า ภาษาสันสกฤตบาลีเป็นภาษาแห่งตระกูลอินโดยุโรเปียน อันเป็นตระกูลเดียวกันกับภาษากรีกและลาติน และพยัญชนะสันสกฤตบาลีที่ออกสำเนียง “ธ” หรือ DH นั้น คนกรีกโรมันโบราณออกสำเนียง “ฟ”
ตำราปรัชญายุโรปยุคกลาง ที่แปลปรัชญากรีกเป็นภาษาลาตินนั้น ได้เรียกสิ่งที่ทรงสิ่งทั้งหลายไว้ว่า “ฟอรมา” (FORMA) เช่นทรรศนะเรื่อง “ฟอรมา” ของอาริสโตเติล เป็นต้น ต่อมาอังกฤษได้แผลงคำนี้เป็น “ฟอรฺม” ซึ่งสามัญชนหมายถึง แบบ หรือ แม่แบบ, จึงเป็นเหตุให้บางท่านที่อ้างถึง ทรรศนะ ของอาริสโตเติลนั้น เข้าใจว่าเป็นเรื่อง แบบ หรือ แม่แบบ ตามธรรมดาสามัญ แต่อันที่จริงนั้นในทางปรัชญาคำว่า “ฟอรฺม” ที่มาจาก “ฟอรมา” หมายถึง สิ่งทรงไว้ หรือ ทรงสิ่งทั้งหลายไว้ ซึ่งตรงกับคำว่า “ธรรม” ในภาษาไทยที่สืบทอดมาจากคำบาลีสันสกฤตดังกล่าวแล้ว.
ที่มา : ปรีดี พนมยงค์. ปรัชญาคืออะไร?. (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2513), น. 30-34.
บทความที่เกี่ยวข้อง :