ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

ปรีดีปรัชญา : ปรัชญาคืออะไร? "จิตใจวิทยาศาสตร์: พื้นฐานสู่การเข้าใจปรัชญาที่เป็นวิทยาศาสตร์" (ตอนจบ)

6
มีนาคม
2567

Focus

  • นอกเหนือปรัชญาอันเป็นยอดรวมของวิชาแล้ว ในทาง “วิทยาศาสตร์สังคม” ก็ได้รับการพัฒนาขึ้น เพื่ออธิบายถึง ‘สภาวะและอาการทั้งหลายแห่งสังคมของมนุษย์ที่ย่อมเป็นไปตามกฎธรรมชาติซึ่งเป็นกฎวิทยาศาสตร์ที่แท้จริง’
  • หลักปรัชญาที่สามารถใช้อธิบาย “วิทยาศาสตร์สังคม” ได้ ก็คือ ปรัชญาสสารธรรมทางสังคมที่เป็นวิทยาศาสตร์ กับ ปรัชญาทางสังคมที่มีลักษณะ “นอกเหนือธรรมชาติ” (เมตาฟิสิกส์) และเป็น “จิตธรรม” โดยแบบแรกจะเน้นสภาวะทางสังคมที่มีอาการเคลื่อนไหวเป็นไปตามกฎธรรมชาติและที่บุคคลรู้จักเอากฎธรรมชาติมาใช้เปลี่ยนแปลงสังคม ส่วนแบบหลัง (ปรัชญาฝ่ายจิตธรรม) จะเน้นสภาวะและการเคลื่อนไหวทางสังคมที่เป็นไปโดยอภิเทวาหรือผู้วิเศษบันดาล
  • นักปรัชญาสสารธรรมิกจะเอารูปธรรมกำหนดจิตสำนึก ในขณะที่นักปรัชญาจิตธรรมิกจะเอาจิตสำนึกขึ้นก่อนหรือให้จิตสำนึกกำหนดรูปธรรมที่ประจักษ์ (นายปรีดี พนมยงค์) เห็นว่าแบบแรกจะตรงกับทฤษฎีผัสสะของพระพุทธองค์ คือบุคคลต้องสัมผัสทางรูปธรรมก่อน แล้วจึงจะรู้แจ้งเห็นจริงทางนามธรรม
  • ปรัชญาสสารธรรมทางสังคมที่เป็นวิทยาศาสตร์สังคม ให้ความสำคัญกับ : การที่ปรากฏการณ์ทั้งหลายเกี่ยวข้องและมีอิทธิพลต่อกัน สภาวะทางสังคมมีการเคลื่อนไหวอย่างไม่หยุดยั้ง การเปลี่ยนแปลงเกิดจากผลของการเปลี่ยนแปลงทางปริมาณทีละน้อยๆ ผสมกันจนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางคุณภาพ และทุกสภาวะสังคมมีข้อขัดแย้งภายในตัวเอง
  • ปรัชญาฝ่ายนอกเหนือธรรมชาติให้ความสำคัญกับ : การที่ปรากฏการณ์แต่ละอย่างเกิดขึ้นและเป็นอยู่โดยลำพัง ปรากฏการณ์ในสังคมคงอยู่กับที่ การพัฒนาเปลี่ยนแปลงโดยคุณภาพเกิดขึ้นได้อย่างทันใด เพราะปรากฏการณ์แต่ละสิ่งเกิดขึ้นได้โดยลำพัง และไม่พิจารณาว่าทุกสภาวะมีข้อขัดแย้งภายในตัวเอง
  • การจะเข้าใจปรัชญาที่เป็นวิทยาศาสตร์ได้ดี บุคคลต้องมี “จิตใจวิทยาศาสตร์” 6 ประการ คือ (ก) จิตใจสังเกต (ข) จิตใจมาตรการ (ค) จิตใจค้นคว้าหาหลักฐานและเหตุผล และใช้ความคิดทางตรรกวิทยา (ง) จิตใจพิเคราะห์หรือวิจารณ์ (จ) จิตใจปราศจากอคติ (การไม่ลำเอียงตามทรรศนะอัตวิสัยของตน) และ (ฉ) จิตใจที่มีความคิดเป็นระเบียบ

 

ข้อ 17.

โดยที่ปรัชญายังคงเป็น “ยอดสรุปของวิชา” หรือ “วิทยาแห่งวิทยาทั้งหลาย” ตามที่ได้กล่าวในข้อ 14. นั้น วิชาสังคมของมนุษย์ซึ่งเป็นวิทยาหนึ่งในบรรดาวิทยาทั้งหลายก็ย่อมขึ้นอยู่กับปรัชญา และเราอาจเรียกวิชาประเภทนี้ว่า “ปรัชญาแห่งสังคม” หรือ “วิทยาศาสตร์สังคม” ในความหมายว่า ‘สภาวะและอาการทั้งหลายแห่งสังคมของมนุษย์ย่อมเป็นไปตามกฎธรรมชาติซึ่งเป็นกฎวิทยาศาสตร์ที่แท้จริง’

โดยที่คำว่า “วิทยาศาสตร์” มีเครดิตดีที่แสดงถึงความรู้อันถูกต้องแท้จริงในสภาวะทางธรรมชาติ จึงมีผู้นำเอาคำนี้ไปใช้เพื่อเรียกคติทางสังคมซึ่งตนเห็นว่า แท้จริงว่าเป็น วิทยาศาสตร์ ความขัดแย้งจึงเกิดมีขึ้นระหว่างผู้ถือคติทางสังคมต่างกัน ซึ่งแต่ละฝ่ายก็อ้างว่าของตนเป็นวิทยาศาสตร์ ดั่งนั้น ปรัชญาเมธี ฝ่ายสสารธรรมผู้หนึ่งจึงอธิบายถึงทรรศนะ สสารธรรมทางสังคม ซึ่งถือว่าเป็นวิทยาศาสตร์นั้นว่า

“ทรรศนะสสารธรรมต่อธรรมชาตินั้น มิได้หมายความไปอย่างอื่นยิ่งกว่าการพิจารณาธรรมชาติตามที่เป็นอยู่ โดยปราศจากการเจือปนของสิ่งประหลาดใดๆ”

เพราะฉะนั้น จึงเป็นการสมควรที่เราจะต้องสังเกตความต่างกันระหว่าง ปรัชญาสสารธรรมทางสังคมที่เป็นวิทยาศาสตร์ กับ ปรัชญาทางสังคมที่มีลักษณะเป็น “นอกเหนือธรรมชาติ” (เมตาฟิสิกส์) และ “จิตธรรม” ดั่งต่อไปนี้

1) ปรัชญาสสารธรรมทางสังคมที่เป็นวิทยาศาสตร์ หรือ วิทยาศาสตร์สังคม นั้นตั้งอยู่บนรากฐานแห่งทรรศนะสสารธรรม ซึ่งพิจารณาสภาวะและอาการของสังคมตามกฎธรรมชาติ ตรงกับความหมายของคำว่า “วิทยาศาสตร์” ซึ่งพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานกล่าวไว้ คือ ความรู้ที่ได้โดยการสังเกตและการค้นคว้าจากการประจักษ์ทางธรรมชาติแล้วจัดเข้าเป็นระเบียบ ส่วนปรัชญาทางสังคมที่มีลักษณะเป็น จิตธรรมนั้นตั้งอยู่บนรากฐานแห่งจิตวิสัย คือการสัมผัสทางจิตซึ่งเป็นความนึกคิดตามภาพทางจิตหรือมโนภาพ จึงนำไปสู่เรื่องที่เป็น “นอกเหนือธรรมชาติ” (เมตาฟิสิกส์ )

2) ความแตกต่างกันที่เด่น ระหว่างปรัชญาสสารธรรม ที่เป็นวิทยาศาสตร์กับปรัชญาฝ่ายจิตธรรม คือ

(ก) ปรัชญาสสารธรรมทางสังคม ที่เป็นวิทยาศาสตร์สังคมมีทรรศนะว่า สภาวะทางสังคมเกิดขึ้นและมีอาการเคลื่อนไหวตามกฎธรรมชาติของมวลราษฎร ส่วนปรัชญาฝ่ายจิตธรรมมีทรรศนะว่า สภาวะและการเคลื่อนไหวทางสังคมเป็นไปโดยอภิเทวาหรือผู้วิเศษบันดาล

(ข) ปรัชญาสสารธรรมทางสังคม ที่เป็นวิทยาศาสตร์สังคมมีทรรศนะว่า สภาพความเป็นอยู่ของสังคมมนุษย์เป็นสิ่งที่กำหนดจิตสำนึกทางสังคม ส่วนปรัชญาฝ่ายจิตธรรมมีทรรศนะว่า จิตเป็นสิ่งกำหนดจิตสำนึกของมนุษย์

(ค) ปรัชญาสสารธรรมทางสังคม ที่เป็นวิทยาศาสตร์สังคม มีทรรศนะว่า ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ต่อกฎธรรมชาติเป็นความรู้ที่แท้จริงซึ่งบุคคลอาจรู้กฎธรรมชาติโดยการทดลองปฏิบัติ ( วิธีวิทยาศาสตร์ ) ส่วนปรัชญาฝ่ายจิตธรรมมีทรรศนะว่า บุคคลต้องตั้งจิตให้เกิด “ศรัทธานุสติ” (FIDBISM) ทางอัตวิสัยก่อน และถือว่ามีสิ่งที่เป็นอยู่ในตัวเอง (THINGSIN - TEEMSBLVES ) ซึ่งบุคคลไม่อาจรู้ได้โดยสามัญวิสัย[1]

ปรัชญาสสารธรรมมิได้ปฏิเสธอำนาจแห่งจิตสำนึกเพราะฝ่ายสสารธรรมรู้ดีว่ามนุษย์ต่างกับสัตว์เดรัจฉานที่มีความรู้สึกตามสัญชาติญาณ แต่มนุษย์สามารถมีจิตสำนึกซึ่งนำให้มนุษย์มีการปฏิบัติตามจิตสำนึก ความต่างกันระหว่างปรัชญาสสารธรรมกับจิตธรรมในเรื่องนี้อยู่ที่ฝ่ายสสารธรรมถือว่า “สภาวะความเป็นอยู่ก่อให้เกิดจิตสำนึก” หรือนัยหนึ่งบุคคลต้องพิจารณารูปธรรมที่ประจักษ์ให้ถ่องแท้ทุกด้านทุกมุมแล้วจึงตั้งจิต ส่วนฝ่ายจิตธรรมนั้นตั้งจิตขึ้นก่อนรูปธรรมที่ประจักษ์ถ่องแท้ทุกด้านทุกมุม

ปรัชญาเมธีเรืองนามผู้หนึ่งได้สรุปไว้ว่า “ผู้ใดถือว่าสสารเป็นแม่บทแห่งจิตผู้นั้นเป็นสสารธรรมิก” ผู้ใดถือว่าจิตเป็นแม่แห่งสสารผู้นั้นเป็นจิตธรรมิก คติของเมธีผู้นี้ตรงกับทฤษฎีผัสสะของพระพุทธองค์ คือบุคคลต้องสัมผัสทางรูปธรรมก่อนแล้วจึงจะรู้แจ้งเห็นจริงทางนามธรรม ดังนั้นบุคคลสามารถมีความเชื่อมั่นหรือศรัทธาได้ สุดแท้แต่ว่าศรัทธานุสตินั้นเกิดจากแม่บทอันใด คือถ้าเกิดจากรูปธรรมที่เป็นสภาวะ ทางสสารก็เป็นศรัทธานุสติทางสสารธรรม แต่ถ้าตั้งจิตมีศรัทธานุสติก่อนรูปธรรมก็เป็นศรัทธานุสติทางจิตธรรม

3) ความแตกต่างที่เด่นระหว่าง ปรัชญาสสารธรรมทางสังคมที่เป็นวิทยาศาสตร์ กับ ปรัชญาฝ่ายนอกเหนือธรรมชาติ (เมตาฟิสิกส์) คือ

(ก) ปรัชญาสสารธรรมทางสังคมที่เป็นวิทยาศาสตร์สังคมมีทรรศนะว่า ‘ปรากฏการณ์ทั้งหลายทางสังคมย่อมเกี่ยวข้องกัน และต่างก็มีอิทธิพลต่อกัน สภาพการณ์อย่างหนึ่งเกิดขึ้นได้ก็เพราะมีสภาพที่เกี่ยวข้องอำนวยให้เกิดสภาพนั้นได้’ เช่นการที่ฝรั่งเศสมีระบบจักรวรรดิของนโปเลียน ก็เพราะในสมัยนั้นฝรั่งเศสมีสภาพซึ่งเป็นการประจักษ์ทางสังคม ที่อำนวยให้นโปเลียนโบนาปาร์ตสถาปนาระบบจักรวรรดิชนิดนั้นขึ้นได้ ส่วนปรัชญาฝ่ายนอกเหนือธรรมชาติมีทรรศนะว่า ‘ปรากฏการณ์แต่ละอย่างเกิดขึ้นและเป็นอยู่โดยลำพัง’

(ข) ปรัชญาสสารธรรมทางสังคมที่เป็นวิทยาศาสตร์สังคมมีทรรศนะว่า ‘สภาวะทางสังคมมีการเคลื่อนไหวอย่างไม่หยุดยั้งเช่นเดียวกับสิ่งทั้งหลายทางธรรมชาติ’ ส่วนปรัชญาฝ่ายนอกเหนือธรรมชาติมองปรากฏการณ์ว่าคงอยู่กับที่

(ค) ปรัชญาสสารธรรมทางสังคมที่เป็นวิทยาศาสตร์สังคมมีทรรศนะว่า ‘การเปลี่ยนแปลงเกิดจากผลของการเปลี่ยนแปลงทางปริมาณทีละน้อยที่ผสมกันเข้ามากๆ ก็เป็นการเปลี่ยนแปลงทางคุณภาพเช่นเดียวกับการเปลี่ยนแปลงทั้งหลายตามธรรมชาติ’ ส่วนปรัชญาฝ่ายนอกเหนือธรรมชาติมีทรรศนะว่า ‘การพัฒนาเปลี่ยนแปลงโดยคุณภาพทันใดได้เพราะถือว่าปรากฏการณ์แต่ละสิ่งเกิดขึ้นได้โดยลำพัง’

(ง) ปรัชญาสสารธรรมทางสังคมที่เป็นวิทยาศาสตร์สังคมมีทรรศนะว่า ‘ทุกสภาวะมีข้อขัดแย้งภายในตัวเอง เช่นเดียวกับทุกสิ่งตามธรรมชาติซึ่งมีข้อขัดแย้งภายในตัวเอง คือมีด้านบวกก็ย่อมมีด้านลบ’ ส่วนปรัชญาฝ่ายนอกเหนือธรรมชาติมีทรรศนะตรงข้ามดั่งกล่าวนี้

 

ข้อ 18.

โดยที่ปรัชญาสสารธรรมทางสังคมมีลักษณะเป็นวิทยาศาสตร์ หรือเป็นวิทยาศาสตร์สังคม ฉะนั้น การที่บุคคลจะเข้าใจปรัชญาที่เป็นวิทยาศาสตร์ได้ก็ต้องมี “จิตใจวิทยาศาสตร์” เช่นเดียวกับนักวิทยาศาสตร์ทั้งหลายที่ต้องมีจิตใจวิทยาศาสตร์

จิตใจวิทยาศาสตร์มี 6 ประการดั่งต่อไปนี้

ก. จิตใจสังเกต

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายของคำว่า “วิทยาศาสตร์ ไว้แล้วว่า “ความรู้ที่ได้โดยการสังเกต และค้นคว้าจากการประจักษ์ทางธรรมชาติ แล้วจัดเข้าเป็นระเบียบ”

นักวิทยาศาสตร์ตั้งแต่โบราณกาลมามีจิตใจสังเกตปรากฏการณ์ธรรมชาติ ถ้าปราศจากการมี ‘จิตใจสังเกต’ แล้ว ก็ไม่มีทางที่จะพัฒนาวิทยาศาสตร์ได้

ข. จิตใจมาตรการ

คือเมื่อมี ‘จิตใจสังเกต’ แล้ว ต้องมี ‘จิตใจมาตรการ’ มิฉะนั้น เป็นการสังเกตเลื่อนลอย ‘มาตรการ คือ การกำหนดให้รู้ถึงขนาดปริมาณและคุณภาพของสิ่งต่างๆ ซึ่งจะสามารถเปรียบเทียบได้ว่าเหมือนกันและแตกต่างกันทั้งในทางปริมาณ สถานที่ เวลา’[2] เด็กที่น่ารักน่าเอ็นดูแสดงความนึกคิดโดยผู้ใหญ่มิได้สอนนั้น เพราะตามธรรมชาติของมนุษย์ตั้งแต่แรกเกิดนั้นเด็กมีความสามารถในการสังเกตปริมาณว่า สิ่งใหญ่ต่างกับสิ่งเล็ก, ของมากต่างกับของน้อย, เวลาช้าต่างกับเวลาเร็ว ถ้าเด็กโตขึ้นเอาจริงเอาจังในมาตรการ เด็กก็เข้าถึงวิทยาศาสตร์ดีขึ้น สามารถเปรียบเทียบ ความเหมือนกัน กับ ความต่างกัน ในสภาพท้องที่กาลสมัย อันเป็นจิตใจวิทยาศาสตร์ดีขึ้น

ค. จิตใจค้นคว้าหาหลักฐานและเหตุผล และใช้ความคิดทางตรรกวิทยา

ง. จิตใจพิเคราะห์หรือวิจารณ์

คือในการสังเกต, ในการใช้มาตรการ, ในการค้นคว้าหาหลักฐานและเหตุผลนั้นจะต้องพิเคราะห์ หรือวิจารณ์ปรากฏการณ์ทุกอย่าง ถ้าปราศจากจิตใจเช่นนี้ก็เป็นการรับเอาปรากฏการณ์ทั้งดุ้น เข้าลักษณะจิตใจนอกเหนือธรรมชาติ (เมตาฟิสิกส์) และจิตธรรม

จ. จิตใจปราศจากอคติ

คือการไม่ลำเอียงตาม ทรรศนะอัตวิสัย ของตน เพราะการลำเอียงเป็น “มายา” ที่พรางรูปธรรมที่ประจักษ์ ทำให้สังเกตไม่ชัด, ทำให้ใช้มาตรการบกพร่อง, ทำให้ค้นคว้าบกพร่อง, ทำให้ขาดการพิเคราะห์ หรือวิจารณ์ความถูกต้องและความผิดพลาด แม้ในทางสังคมนั้นมนุษย์จะมีจิตสำนึกตามสภาพความเป็นอยู่ที่ต่างกันตามวรรณะ แต่ในการหาความจริงในสภาวะของสังคมแห่งมวลมนุษย์ในสังคมก็ต้องไม่ตั้งทรรศนะลำเอียงถึงจะพิจารณารูปธรรมที่ประจักษ์ได้ และแม้จะพิจารณาสภาพความเป็นอยู่แห่งวรรณะ ของตน ก็ต้องไม่ตั้งทรรศนะลำเอียงจึงจะพิจารณารูปธรรมที่ประจักษ์แห่งวรรณะของตนซึ่งเป็นพื้นฐานให้เกิดจิตสำนึกที่แท้จริงจากรูปธรรมที่ประจักษ์แห่งวรรณะของตน

ฉ. จิตใจที่มีความคิดเป็นระเบียบ

คือการสังเกต, การใช้มาตรการ, การค้นคว้าหาหลักฐานแห่งเหตุผล, การพิเคราะห์หรือวิจารณ์, การปราศจากอคตินั้น ต้องเป็นไปตามจิตใจที่มีความคิดเป็นระเบียบ ไม่ระส่ำระสาย

 

ที่มา : ปรีดี พนมยงค์. ปรัชญาคืออะไร?. (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2513), น. 34-41.

หมายเหตุ : คงอักขระตามต้นฉบับเดิม

บทความที่เกี่ยวข้อง :


[1] ดูหนังสือเรื่อง " ความเป็นอนิจจังของสังคม " เรียบเรียงโดย นายปรีดี พนมยงค์ พิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2500 ตอนที่ว่าด้วยทฤษฎีแห่งวิชชา

[2] การศึกษาเบื้องต้นของวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ เช่น พี่สิกส์, เคมี, ชีววิทยา ก็เริ่มตันจากมาตรการ คือ ต้องรู้จักมาตรา ชั่ง ตวง วัด