ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

รากฐานของการค้นคว้าทางอุตสาหกรรม

13
มีนาคม
2567

Focus

  • วิทยาศาสตร์มีอิทธิพลต่อความเจริญทางอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมที่เกี่ยวเนื่องกัน โดยต้องการการค้นคว้าอย่างมีประสิทธิภาพในปัญหาต่างๆ และแก้ไขให้ล่วงไป
  • การค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์พึงมุ่งไปในทางทำให้เกิดของใหม่ ดัดแปลงวิธีการใหม่ ให้ทุ่นแรง ทุ่นค่าใช้จ่าย และได้ประสิทธิภาพ โดยต้องการนักวิทยาศาสตร์ อาทิ นักเคมี นักฟิสิกส์ และนักชีววิทยา มาทำงานร่วมกัน
  • ผลของการใช้วิทยาศาสตร์ย่อมทำให้การอุตสาหกรรมเจริญขึ้น ผลผลิตสามารถจำหน่ายไปต่างประเทศ บริโภคในประเทศ และเป็นสัมภาระดิบ (วัตถุดิบ) สำหรับโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ และเพื่อการพึ่งตนเองในทางวิทยาศาสตร์จึงต้องมีนักวิทยาศาสตร์ ดังเช่นที่กรมวิทยาศาสตร์จัดตั้งสถานศึกษาเคมีปฏิบัติขึ้นเพื่อเตรียมนักเคมีให้พอแก่งาน

 

อิทธิพลของวิทยาศาสตร์ในทุกวันนี้ มิได้อยู่ในขอบเขตต์อันจำกัด แต่ได้แผ่ออกไพศาล การทำกิจการใดๆ เช่นเกี่ยวกับการอุตสาหกรรมก็ดี การพาณิชยกรรมก็ดี ถ้าหากขาดความรู้ทางวิทยาศาสตร์เสียแล้ว ก็ยากที่จะคิดจะทำให้เป็นผลสำเร็จลุล่วงไปได้เป็นอย่างดี และแม้ในกิจการอย่างอื่น ซึ่งเราเกือบไม่นึกว่าอิทธิพลของวิทยาศาสตร์จะแผ่ไปถึง ก็ยังอยู่ในเขตต์อิทธิพลของวิทยาศาสตร์ เป็นต้นในเรื่องการทูตและการเมือง

ในที่นี้ จะกล่าวถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์ในแง่ของการอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมซึ่งมีเกี่ยวเนื่องกันอยู่ กล่าวคือ พาณิชยกรรมที่ได้เจริญก้าวหน้าขึ้นมา เช่นในปัจจุบันนี้ ก็ด้วยเป็นผลจากการอุตสาหกรรม และอุตสาหกรรมที่เจริญขึ้นมาก็ด้วยความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ดั่งนั้นจึงไม่เป็นการเกินความจริงอย่างใดที่จะกล่าวว่า วิทยาศาสตร์อุตสาหกรรมนี่แล้ว คือหัวใจแห่งความเจริญของโลกมนุษย์ในสมัยนี้โดยแท้

วิเคราะห์ให้ละเอียดลงไปอีกชั้นหนึ่ง เราจะได้พบว่า งานวิทยาศาสตร์ที่ทำความก้าวหน้าให้แก่การอุตสาหกรรมนั้น คืองานค้นคว้าในปัญหาต่างๆ ซึ่งเกิดขึ้นเนื่องในการประกอบกิจอุตสาหกรรมสิ่งนั้น และถ้าหากปัญหาต่างๆ ได้ถูกแก้ไขลุล่วงไปแล้ว งานในแผนกค้นคว้านี้ต่อไปก็คือ หาทางที่จะส่งเสริมให้เกิดทั้งประสิทธิภาพคุณภาพทวีขึ้น กับหาวิธีป้องกันไม่ให้เกิดสิ่งอันจะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียในประสิทธิภาพและคุณภาพของผลแห่งอุตสาหกรรมนั้นๆ

ในการประกอบอุตสาหกรรมใดๆ ถ้าหากเคยทำได้แค่ไหนแล้วหยุดอยู่แต่เพียงแค่นั้น ไม่หาวิธีขยับขยายให้ก้าวหน้าต่อไปอีก ก็เปรียบเหมือนว่ากิจการนั้นได้ล้าหลังลงไปทุกขณะ เพราะทุกวันนี้ ทุกสิ่งทุกอย่างกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ความสันโดษ หรือความพอใจในสิ่งที่มีอยู่แล้ว ที่เป็นอยู่แล้ว หมายความถึงความอัปปางในทางอุตสาหกรรม และก็ด้วยเหตุฉะนี้ การอุตสาหกรรมต่างๆ จึงต้องอาศัยการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์เป็นหัวใจของงาน การค้นคว้าดั่งกลาวนี้ มุ่งไปในทางหาหรือทำให้เกิดของใหม่ ดัดแปลงวิธีการใหม่ ให้ทุ่นแรง ทุ่นค่าใช้จ่าย และได้ประสิทธิภาพอันดี หาวิธีที่จะให้วัตถุประดิษฐ์เหล่านั้นเกิดปริมาณเสนอ (Demand) มากขึ้น กิจการในทางค้นคว้าเหล่านี้ต้อง ประกอบด้วยนักค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์และนายช่างวิศวกรรม ดำเนินงานร่วมกัน

การอุตสาหกรรมแทบทุกสาขา เป็นอุตสาหกรรมที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับวิชาเคมี เท่าที่เราเห็นจะได้ในประเทศ มีอุตสาหกรรมทำซีเมนต์ อุตสาหกรรมทำกระดาษ อุตสาหกรรมทำน้ำตาล อุตสาหกรรมทำเบียร์ เป็นต้น สาขาของวิชาเคมีที่ใช้ในการนี้ คือ อุตสาหกรรมเคมี (Industrial chemistry) แต่เราก็ต้องไม่เข้าใจผิดไปว่าวิทยาศาสตร์ในสาขาอื่นๆ สำคัญน้อยไปกว่า เพราะนักวิทยาศาสตร์คือหมายถึงนักเคมี นักฟิสิคส์ และนักชีววิทยานั้น ย่อมทำงานร่วมไปด้วยกันเสมอ โดยฉะเพาะในด้านของวิชาสกายเคมี (Physical chemistry) ชีวฟิสิคส์ (Biophysics) และชีวเคมี (Biochemistry)

การศึกษาค้นคว้าในวิชาเคมีก็ดี วิชาฟิสิคส์ก็ดี และชีววิทยาก็ดี ต้องอาศัยความสังเกต (Observation) การทดลอง (Experimentation) การเปรียบเทียบ (Comparison) แล้วใช้หลักวิชาเข้าประกอบเพื่อการวินิจฉัยในขั้นสุดท้าย

ปัญหาในเรื่องการค้นคว้าต่างๆ สำคัญอยู่ที่การมีเครื่องมือเครื่องใช้ครบถ้วน มิฉะนั้นการทดลองก็จะไม่ได้ผลเต็มที่ นักวิทยาศาสตร์จะทำงานจากกระดาษ ดินสอ และความเพ้อฝันของตนหาได้ไม่ แต่ละคนจะต้องลงมือทำทดลองจับหาจุดผิดและจุดถูก ตลอดจนเหตุการณ์เล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดขึ้น ทั้งต้องเป็นผู้มีใจกว้างขวาง ไม่ยึดมั่นในความคิดเห็นของตนเป็นประมาณ จะต้องฟังความคิดความเห็นและผลของการทดลองของผู้อื่นด้วย ความเป็นนักวิทยาศาสตร์ต้องการความจริง และเหตุผลเป็นใหญ่กว่าสิ่งอื่นทั้งสิ้น

อันความจริงที่ได้พบจากสถานทดลองของนักวิทยาศาสตร์นี่แหละ ที่บรรดาลให้เกิดการอุตสาหกรรมต่างๆ ขึ้นเป็นอันมาก อาจมีผู้มองไม่เห็น ความจำเป็นของการค้นคว้าในประเทศเราอยู่บ้าง เพราะเราเป็นประเทศกสิกรรม ไม่ใช่ประเทศอุตสาหกรรม แต่ในขณะนี้ประเทศไทยก็กำลังมีนโยบายส่งเสริมการอุตสาหกรรมอยู่แล้ว เราจึงน่าสนใจและรับรู้สภาพการณ์อันเกี่ยวกับการอุตสาหกรรมไว้บ้างตามสมควร

ผู้เขียนใคร่ที่จะชี้ให้ผู้อ่านเห็นความสำคัญของการส่งเสริมอุตสาหกรรมในประเทศของเรา ว่าจำเป็นและสำคัญอย่างไร แม้ความมุ่งหมายของการเขียนเรื่องนี้ จะมีอยู่ในอันที่จะชี้แจงให้ผู้อ่านทราบว่า การอุตสาหกรรมจะเจริญขึ้นได้ด้วยการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ก็ตาม กล่าวคือ ผลที่เกิดขึ้นจากประเทศกสิกรรม เช่น ประเทศของเรานี้ ถ้าทำน้อย เราก็มีพอกินพอใช้กันในประเทศ ถ้าทำมาก เราก็จำหน่ายไปต่างประเทศเพื่อใช้เป็นของบริโภคบ้าง เป็นสัมภาระดิบของโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ บ้าง สัมภาระสำเร็จเป็นอันมาก เราไม่ได้ทำขึ้นเองในประเทศ

หากซื้อของเขามาใช้เป็นการแลกเปลี่ยนกัน แต่ว่าอารยธรรมของโลกทุกวันนี้ บังคับให้มนุษย์ไม่รู้จักสันโดษ แต่ละประเทศย่อมจะดิ้นรน ขวนขวาย หาทางเป็นอิสสระไม่ต้องอาศัยประเทศอื่นอยู่เสมอ เว้นไว้แต่ในกรณีที่จำเป็นจริงๆ ดั่งนั้นตลาดที่เราจะส่งสัมภาระดิบออกไปจำหน่ายก็นับวันจะเล็กลงไปทุกทีๆ ส่วนเราเองเมื่อวันอันคับแค้นเช่นนั้นมาถึง เราจะไม่ดิ้นรนหาหนทางเปลี่ยนสัมภาระดิบเหล่านั้นให้เป็นสัมภาระสำเร็จเพื่อใช้เสียเองบ้างหรือ ก็ถ้าอนาคตของโลกมีท่าทีว่าจะหมุนเวียนเปลี่ยนวิถีไปในทางนั้น

ไฉนเราจะรอให้วัวหายเสียก่อน แล้วจึงจะล้อมคอก เล่าแม้สมเด็จพระบรมศาสดาของเราก็ยังทรงประทานพุทธโอวาทไว้ให้เป็นเครื่องเตือนใจว่า ตนของตนย่อมเป็นที่พึ่งแห่งตนเอง

ในบัดนี้ แม้เราจะตระหนักในความสำคัญของการส่งเสริมอุตสาหกรรม และการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์เพื่อการอุตสาหกรรมก็ดี แต่ถ้าหากเราจะมีโรงงานอุตสาหกรรมเกิดขึ้น เราก็ยังหาอาจที่จะดำเนินการค้นคว้าใดๆ ตามที่ได้กล่าวมาข้างต้นไม่ อะไรหรือคืออุปสรรคที่ไม่ให้เราสามารถกระทำเช่นนั้นได้ คำตอบคงเป็นเช่นเดียวกับที่ผู้เขียนได้เคยกล่าวมาแล้ว คือการขาดคน จำนวนคนที่จะบรรจุให้พอแก่งานนั้นสำคัญยิ่งนัก นี่คือเหตุหนึ่งที่กรมวิทยาศาสตร์จัดตั้งสถานศึกษาเคมีปฏิบัติขึ้น ซึ่งอาจเป็นเสมือนบันไดขั้นแรกที่จะนำไปสู่ความเจริญของประชาชาติในด้านของการอุตสาหกรรมต่อไป

 

ที่มา : ตั้ว ลพานุกรม, “รากฐานของการค้นคว้าทางอุตสาหกรรม,” ใน ที่ระลึกในงานรัฐพิธีพระราชทานเพลิงศพ ฯพณฯ ดร. ตั้ว ลพานุกรม ณ สุสานหลวง วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 4 ธันวาคม 2484. (กรุงเทพฯ : การพิมพ์ไทย, 2484), น. 88-92.

หมายเหตุ :

  • บทความชิ้นนี้เคยตีพิมพ์ในหนังสือวิทยาศาสตร์ ฉบับประจำเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2480
  • คงการเขียนอักขระแบบเดิมจากต้นฉบับ