ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

บันทึกประกอบคำประท้วง กรณีหนังสือชีวิต 5 แผ่นดิน เรื่องข้อเท็จจริงของการอภิวัฒน์ 2475 (ตอนที่ 18)

16
ตุลาคม
2567

Focus

  • บันทึกประกอบคำประท้วงกรณีหนังสือชีวิต 5 แผ่นดิน เรื่องข้อเท็จจริงของการอภิวัฒน์ 2475 (ตอนที่ 18) ของนายปรีดี พนมยงค์ เสนอให้เห็นข้อบิดเบือนในหนังสือชีวิต 5 แผ่นดินฯ 2 ประการคือ ประยูร ภมรมนตรี ไม่ได้เป็นผู้ชักจูงผู้ร่วมก่อการหลักของการอภิวัฒน์ และอุดมการณ์ประชาธิปไตยเกิดในนักเรียนนอกที่สามัคยานุเคราะห์สมาคมตั้งแต่ก่อนประยูรเดินทางมายุโรป
  • ที่มาของหลักฐานประวัติศาสตร์ชุดนี้ เนื่องมาจากในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2523 นายปรีดี พนมยงค์ ได้มอบอํานาจให้นางสาวนวลจันทร์ ณ ป้อมเพชร เป็นโจทก์ยื่นฟ้องกระทรวงศึกษาธิการที่ 1 ห้างหุ้นส่วนจํากัดบรรณกิจเทรดดิ้งที่ 2 เป็นจําเลยต่อศาลแพ่ง เรื่อง ละเมิดหมิ่นประมาทไขข่าวแพร่หลายต่อหนังสือชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้า โดยประยูร ภมรมนตรี ซึ่งการฟ้องร้องคดีความฯ ของนายปรีดีถือเป็นการยืนยันสัจจะทางประวัติศาสตร์ให้ปรากฏโดยในเนื้อหาของคำฟ้องคดีความฯ ต่อหนังสือชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้าคดีความฯ ได้สิ้นสุดลงเมื่อศาลแพ่งได้พิพากษาในวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2525 ตามหนังสือประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจําเลยและนายปรีดีไม่ได้ฟ้องร้องคดีต่อนายประยูร ภมรมนตรี ด้วยปรารถนาจะประกาศสัจจะทางประวัติศาสตร์และเผยแพร่ข้อเท็จจริงของการก่อตั้งคณะราษฎรและประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ถูกบิดเบือนไป

 


บันทึกประกอบคำประท้วงของนายปรีดี พนมยงค์
เรื่องคดีฟ้องฯ หนังสือชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้า โดยประยูร ภมรมนตรี

 


บันทึกประกอบคำประท้วง ข้อ 16.

 

ข้อ 16.

ต้นแห่งการก่อหวอดโดยต่อสู้อัครราชทูตสยามฯตัวแทนระบบสมบูรณาฯ

16.1.

พล.ท.ประยูรฯได้จั่วหัวเรื่องการที่ท่านเป็นผู้ “ริเริ่ม” และ “ชักจูง” เพื่อนร่วมคิดเปลี่ยนแปลงการปกครองไว้ว่า “สหายสาม ป.ก่อหวอด” ซึ่งรวมทั้งข้าพเจ้าด้วยนั้น ข้าพเจ้าขอขอบคุณ

แต่สุภาษิตโบราณว่า “กินแล้วอย่าลืมต้นน้ํา”

ฉนั้นในหนังสือของข้าพเจ้าชื่อ “บางเรื่องเกี่ยวกับการก่อตั้งคณะราษฎรฯ” เล่มที่อ้างถึงหลายครั้งแล้วนั้น ข้าพเจ้ากล่าวถึงบุคคลที่ได้ริเริ่มคิดเปลี่ยนระบบสมบูรณาฯ ตั้งแต่ก่อนข้าพเจ้าเกิดแล้วแต่ก่อนที่ข้าพเจ้าจะได้ไปศึกษาในฝรั่งเศสเมื่อ พ.ศ. 2463 ซึ่งข้าพเจ้าได้สรุปพอสังเขปไว้ในข้อ 15.1. (5) แล้ว

ในข้อ 16 นี้ข้าพเจ้าขอเสนอท่านที่มีใจเป็นธรรมพิจารณาถึงการปฏิบัติของสามัคยานุเคราะห์สมาคมที่ได้ลงมือต่อสู้ท่านอัครราชทูตสยามประจํากรุงปารีส ซึ่งเป็นตัวแทนของระบบสมบูรณาสมัยนั้น อันเป็นการต่อสู้ที่เสี่ยงภยันตรายไม่น้อย ประดุจเป็นปลาตัวเล็ก ๆ ที่ก่อหวอดไว้ในแอ่งหนึ่งที่สืบมาจากต้นน้ำ อันบังเกิดผลที่ทําให้สมาชิกของสมาคมจํานวนมากได้บทเรียนว่าเป็นระบบสมบูรณาฯ มีแสนยานุภาพเพียงใด แต่สมาชิกที่มีความสามัคคีรวมกันเป็นปึกแผ่นก็สามารถต่อสู้ได้ผลตามสมควรแก่สภาพและกาละสมัยนั้น โดยอาศัยจิตสํานึกและบทเรียนที่ได้รับครั้งกระนั้น การก่อตั้งคณะราษฎรในกรุงปารีสเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1927 (ปฏิทินไทยขณะนั้นยังเป็น พ.ศ. 2469) จึงอุบัติขึ้น

หนังสือเล่มนั้นของพล.ท.ประยูรฯ ได้กล่าวถึงเรื่องที่ท่านใช้หัวเรื่องว่า “เกิดเรื่องกับท่านทูต” และในเนื้อเรื่องท่านใช้คําว่า “เกิดมีเรื่องวุ่นวายระหว่างนักเรียนไทยกับพระองค์เจ้าจรูญศักดิ์ อัครราชทูตไทยที่ปารีส” และท่านใช้คําว่า “คณะนักเรียน” ที่ก่อความวุ่นวาย ท่านไม่ยอมกล่าวชื่อคณะนักเรียนนั้นว่า “สามัคยานุเคราะห์สมาคม” ทั้ง ๆ ที่หนังสือทางราชการกระทรวงการต่างประเทศสมัยนั้นและพระบรมราชวินิจฉัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯก็รับรองการใช้ชื่อของสมาคมนั้น และทรงถือว่าข้าพเจ้าเป็น “สภานายก” ของสมาคมนั้นที่มีความผิดในการแผลงสมาคมให้เป็น สหภาพแรงงาน (Syndicate) และทําการต่อสู้ท่านอัครราชทูต แต่พล.ท.ประยูรฯ เขียนไว้ประดุจคําพังเพยโบราณว่า “ทะลุกลางปล้อง” คือ อ้างชื่อข้าพเจ้าโผล่ขึ้นมาท่ามกลางนักเรียนโดยไม่กล่าวว่าข้าพเจ้ารับผิดชอบในการนั้นในฐานะใด ดังที่ข้าพเจ้าได้เสนอท่านที่มีใจเป็นธรรมไว้แล้วในข้อ 4.2. ประการที่ 12 นั้น

นอกจากเอกสารหลักฐานทางราชการแล้ว ก็ยังมีนิตยสารบางฉบับสมัยนั้นได้พิมพ์เกี่ยวกับกรณีดังกล่าว และศาสตราจารย์เดือน บุนนาค ก็ได้นําจดหมายของท่านที่เขียนถึงท่านบิดาฉบับลงวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2469 เล่าถึงกรณีนั้นมาลงพิมพ์ไว้ในหนังสือชื่อ “ท่านปรีดี พนมยงค์ วางแผนเศรษฐกิจไทยคนแรก” พิมพ์ครั้งที่ 1 เมื่อพ.ศ. 2500 และครั้งที่ 2 พ.ศ. 2517

ฉนั้นเพื่อท่านที่มีใจเป็นธรรมทราบถึงความเคลื่อนไหวของนักเรียนไทยในฝรั่งเศสและในสวิตเซอร์แลนด์กับนักเรียนไทยในอังกฤษจํานวนหนึ่งที่ขึ้นต่อสถานทูตสถานทูตสยามประจํากรุงปารีสนั้น ได้ปฏิบัติก่อนตั้งคณะราษฎรที่กรุงปารีส ข้าพเจ้าจึงขอเสนอความเป็นมาแห่งการก่อตั้งสามัคยานุเคราะห์สมาคมก่อนที่ ร.ท.ประยูรฯ เดินทางมาถึงปารีสพร้อมทั้งเอกสารหลักฐานทางราชการที่เปิดแบบแล้ว ดังต่อไปนี้

16.2.

ความดำริที่จะตั้งสมาคมในประเทศภาคพื้นทวีป (Continent)ยุโรป

สมาคมแรกของนักเรียนไทยในต่างประเทศนั้นคือ “สามัคคีสมาคม” ซึ่งนักเรียนไทยในประเทศอังกฤษ ภายใต้พระราชูปถัมภ์ของสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ (พระมงกุฎเกล้าฯ รัชกาลที่ 6) ขณะศึกษา ณ ประเทศอังกฤษ จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2445 สามัคคีสมาคมมีอายุยืนนานจนถึงปัจจุบันนี้

ส่วนนักเรียนไทยในประเทศต่าง ๆ แห่งภาคพื้นทวีป (Continent) ยุโรปนั้นได้กระจัดกระจายอยู่ในประเทศต่าง ๆ และมีจํานวนน้อย จึงยังมิได้จัดตั้งเป็นสมาคมขึ้น

ต่อมาใน ค.ศ. 1923 (ตรงกับพ.ศ. 2465) (ขณะนั้น ร.ท.ประยูรฯ ยังเป็นมหาดเล็กอยู่ในสยาม) นายเรือตรีสินธุ์ กมลนาวิน นักศึกษาวิชาทหารเรือเดนมาร์กได้ไปทัศนาจรกรุงปารีส และได้พบปะกับนายทวี บุณยเกตุ และข้าพเจ้า(ปรีดี) เราทั้งสามคนจึงถือโอกาสปรึกษากันว่าสมควรจัดตั้งสมาคมนักเรียนไทยในประเทศต่าง ๆ แห่งภาคในยุโรปขึ้น

ในปลายเดือนธันวาคม ค.ศ. 1923 (พ.ศ. 2465) ข้าพเจ้าได้นําความเห็นที่สมควรตั้งสมาคมนักเรียนในประเทศต่าง ๆ แห่งภาคพื้นยุโรปไปปรารภกับเลขานุการสถานทูตสยามเพื่อให้หาโอกาสทาบทามพระองค์เจ้าจรูญศักดิ์ฯ อัครราชทูตสยามว่าจะทรงเห็นชอบด้วยหรือไม่ ท่านอัครราชทูตฯ ให้เลขานุการแจ้งปรีดีว่าท่านอัครราชทูตทรงเห็นว่า การตั้งสมาคมนั้นกว้างขวางเกินไป ท่านเห็นสมควรจํากัดเพียงเป็นสมาคมของนักเรียนไทยในฝรั่งเศสและสวิตเซอร์แลนด์กับนักเรียนไทยในอังกฤษจํานวนหนึ่งที่ขึ้นต่อสถานทูตสยามประจํากรุงปารีส ท่านอัครราชทูตจึงสั่งให้ข้าพเจ้าเตรียมศึกษาระเบียบการและข้อบังคับของสมาคมไว้

16.3.

การก่อตั้งสามัคยานุเคราะห์สมาคม

ครั้นถึงเดือนมีนาคม ค.ศ. 1924 ตรงกับ พ.ศ. 2466 (ร.ท.ประยูรฯ ยังมิได้มาปารีส) ขณะที่ปรีดีกําลังศึกษาเพื่อปริญญา “ลิลองซ์ ออง ครัวต์” ณ มหาวิทยาลัย “กอง” (Caen) นั้น ท่านอัครราชทูตได้มีคำสั่งให้ปรีดีเดินทางมาปารีสเพื่อร่วมกับหม่อมเจ้าเจริญใจ จิตรพงษ์ และหม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร จัดร่างข้อบังคับนักเรียนไทยในฝรั่งเศสและในสวิตเซอร์แลนด์และนักเรียนไทยในอังกฤษจํานวนหนึ่งที่ชี้เพื่อสถานทูตสยามประจํากรุงปารีส

หม่อมเจ้าทั้งสององค์กับปรีดีได้ร่างข้อบังคับเสร็จแล้วโดยใช้ชื่อสมาคมที่รวมนักเรียนหลายประเทศดังกล่าวนั้นว่า “สามัคยานุเคราะห์สมาคม” ใช้เป็นอักษรย่อภาษาไทยว่า “ส.ย.า.ม.” อักษรย่อภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสว่า “S.I.A.M.” เพราะเป็นสมาคมของนักเรียนไทยในหลายประเทศ เมื่อท่านอัครราชทูตทรงเห็นชอบด้วยแล้ว นักเรียนดังกล่าวจํานวนมากได้ประชุมลงมติเห็นชอบให้ใช้ข้อบังคับของสมาคมนั้น

ที่ประชุมมีมติอัญเชิญสมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปก (ขณะนั้นทรงศึกษาที่โรงเรียนเสนาธิการทหารบกฝรั่งเศส) ทรงเป็น “สภานายกกิติมศักดิ์”

(1)

ครั้นแล้วที่ประชุมได้ลงมติแต่งตั้งกรรมการ 5 คนสําหรับปี พ.ศ. 2466-2467 คือ

1. ม.จ.เจริญใจ จิตรพงษ์ สภานายก

2. ปรีดี เลขาธิการ

3. ม.ล.เดช สนิทวงศ์ เหรัญญิก

4. ม.จ.นักขัตรมงคล กิตติยากร กรรมการ

5. ม.จ. สมัยเฉลิม กฤดากร กรรมการ

โดยที่ม.จ.เจริญใจต้องศึกษาในประเทศอังกฤษ ที่ประชุมจึงอนุมัติมอบให้ปรีดีปฏิบัติหน้าที่แทนหม่อมเจ้าเจริญใจ อีกตําแหน่งหนึ่ง

(2)

การชุมนุมฤดูร้อน ตุลาคม ค.ศ. 1924 (พ.ศ. 2467)

ปรีดีได้ปฏิบัติหน้าที่รับใช้สมาชิกทั้งในด้านกิจกรรมของสมาคมและให้คําปรึกษาตามที่สมาชิกหลายคนที่ขอปรึกษาเกี่ยวกับที่อยู่และการศึกษา และได้จัดให้มีการประชุมประจําปีเป็นครั้งแรก ณ วิทยาลัยกับโรงแรมแห่งหนึ่งที่เมือง “เมอเลิง” (ใกล้กรุงปารีส) สมาชิกได้อยู่ร่วมกันเป็นเวลา 15 วัน โดยมีการแข่งขันกีฬาหลายประเภท. มีการแสดงละคร. มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกันเกี่ยวกับสถานะการณ์เมืองไทย ความสนิทสนมระหว่างเพื่อนนักเรียนจึงมีมากขึ้น

16.4.

คณะกรรมการสมาคมฯ ชุดที่ 2

(1)

ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2467 ปรีดีได้รายงานผลงานที่ได้ปฏิบัติมาเป็นเวลา 1 ปีนั้น คณะกรรมการชุดแรกจึงสิ้นสุดลงตามข้อบังคับ ปรีดีขอให้มีการประชุมเลือกตั้งคณะกรรมการชุดต่อไป สมาชิกหลายคนเสนอให้ปรีดีเป็นสภานายก ปรีดีได้ขอตัวว่าอาวุโสยังน้อยอยู่จึงขอให้ที่ประชุมพิจารณาเพื่อนคนอื่นที่มีอาวุโสอยู่เมืองนอกมานานกว่าปรีดี แต่ที่ประชุมก็อภิปรายกันว่าเห็นผลงานที่ปรีดีปฏิบัติให้แก่สมาคมฯ แล้ว ที่ประชุมจึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ปรีดีเป็นสภานายกของสมาคมฯ สําหรับปี พ.ศ. 2467-2468

คณะกรรมการชุดนี้จึงประกอบด้วย

1. ปรีดี สภานายก

2. ร.ท.สนิท แข็งรักษ์สัตว์ เลขาธิการ

3.ม.ล.อุดม สนิทวงศ์ เหรัญญิก

4. นายจันทร์ บุนนาค กรรมการ

5. ผู้แทนนักเรียนทั่วไปอีกคนหนึ่ง กรรมการ

หมายเหตุ (ร.ท.ประยูรฯ ไปถึงกรุงปารีส ภายหลังมีนาคม พ.ศ. 2467)

(2)

การประชุมประจําปีระหว่างหยุดฤดูร้อนครั้งที่ 2 ได้มีขึ้นระหว่าง 15-31 กรกฎาคม ค.ศ. 1924 (พ.ศ. 2467) สมาคมได้เช่าคฤหาสน์บริเวณกว้างขวางตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำแซนน์ ณ ตําบลซาเครตต์เป็นที่ประชุมมีกําหนด 15 วัน นักเรียนที่ไปร่วมประชุม 75 คน

ปรีดีเห็นว่าเพื่อนนักเรียนจํานวนมากมีจิตสํานึกในระบบประชาธิปไตยสูงขึ้นแล้ว สมควรจัดให้สภาของที่ประชุมมีรูปแบบไปหลายองค์การรัฐชนิดหนึ่ง โดยถือว่าบริเวณที่สมาคมฯ เช่าไว้นั้นเป็นส่วนหนึ่งของรัฐสยามได้จัดมีบัตรใช้แทนเงินตราทํานองธนบัตรของสมาคมขึ้นใช้ภายในสมาคมได้จัดให้เพื่อนนักเรียนช่วยกันประกอบอาหารขึ้นเอง ได้จัดให้มีการกีฬาแทบทุกชนิดรวมทั้งฝึกหัดยิงเป้าได้จัดให้มีการบันเทิงหลายอย่าง และได้มีการอภิปรายเกี่ยวกับการเมืองมากขึ้นกว่าการประชุมครั้งแรกซึ่งเริ่มเปลี่ยนสภาพสมาคมฯ ให้เข้าสู่สมาคมการเมือง

เมื่อการประชุมใกล้จะครบกําหนด 15 วัน สมาชิกหลายคนได้แสดงความจํานงว่าเสียดายที่การประชุมกําหนดไว้เป็นเวลาน้อย จึงอยากให้ขยายการประชุมออกต่อไปอีก แต่ปรีดีกับคณะกรรมการเห็นว่าได้เตรียมการประชุมไว้เพียง 15 วัน จึงเสียใจที่ไม่อาจสนองความต้องการของสมาชิกได้

16.5.

คณะกรรมการสมาคมฯ ชุดที่ 1 และการแผลงสมาคมฯ เป็นสหภาพแรงงาน

กรรมการฯ ชุดที่ 3

ในเดือนมีนาคม ค.ศ.1926 (พ.ศ.2469) ปรีดีกับคณะกรรมการสมาคมขอลาออกตามข้อบังคับของสมาคมต่อที่ประชุม แต่สมาชิกได้ออกเสียงเลือกตั้งปรีดีเป็นสภานายกอีกครั้งหนึ่งสําหรับ ค.ศ.1926-1927

คณะกรรมการชุดนี้ประกอบด้วย

(1) ปรีดี สภานายก

(2) นายชม จารุรัตน์ เลขาธิการ

(3) นายควง อภัยวงศ์ เหรัญญิก

(4) นายตั้ว ลพานุกรม กรรมการ

 

16.6.

การแผลงมาเป็นสหภาพแรงงานและการต่อสู้ท่านอัครราชทูตสยามซึ่งเป็นตัวแทนระบบสมบูรณาฯ

การประชุมประจําปีระหว่างหยุดฤดูร้อนประจําปี ค.ศ. 1926 ได้มีขึ้นในเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม ค.ศ. 1926 (ค.ศ. 2468) ที่คฤหาสถ์ ณ ตำบลชาเกรตต์ และมีกิจกรรมพื้นฐานเช่นเดียวกับการประชุม ค.ศ. 1925

ปรีดีเห็นว่าผลสรุปที่ได้จากการประชุมเมื่อปีที่แล้วนั้นแสดงว่าเพื่อนนักเรียนส่วนมากได้การเข้าสู่แนวทางสมาคมการเพียงเพื่อระบบประชาธิปไตย ฉนั้นในการประชุมประจําปีครั้งที่ สําหรับ ค.ศ. 1926 นั้น คณะกรรมการสมาคมฯ จึงได้จัดให้มีปาฐกถาการเมืองมากขึ้นกว่าปีที่แล้วเพื่อปรารถนาให้สมาคมการไปอีกก้าวหนึ่งในการร่วมกันต่อสู้ท่านอัครราชทูตซึ่งเป็นตัวแทนของรัฐบาล (สมบูรณาฯ) เพราะท่านปฏิบัติการไม่เหมาะสมหลายประการ

ปรีดีจึงเสนอในที่ประชุมอภิปรายถึงกิจกรรมของท่านอัครราชทูตที่เพื่อนนักเรียนเห็นได้ว่าไม่เหมาะอย่างไรบ้าง ครั้นแล้วปรีดีจัดให้มีการอภิปรายถึงวิธีจ่ายเงินกระเป๋า (Pocket Money) และเงินค่าใช้จ่ายสําหรับความเป็นอยู่ของนักเรียนส่วนมากไม่ได้รับเท่าที่ควร เพราะเงินแฟรงค์มีค่าตกต่ำอยู่เรื่อย ๆ

นักเรียนส่วนมากทราบอยู่แล้วว่า ขณะนั้นสถานทูตให้ปรีดีเป็นนักเรียน “อาวุโสสูง” (Super Senior) ที่ได้เงินเดือนจากสถานทูตมากกว่านักเรียนอาวุโสธรรมดา และการศึกษาของปรีดีที่จะสําเร็จขั้นปริญญาเอกภายในเวลาอีกไม่กี่เดือน ฉนั้นปรีดีจึงไม่มีเหตุเฉพาะตัวที่จะก่อเรื่องเกี่ยวกับประโยชน์ส่วนตน นายปรีดีมีความเห็นแก่ความเป็นอยู่ของนักเรียนส่วนมากที่จะต้องเรียนอยู่ในฝรั่งเศสต่อไป ปรีดีจึงเสนอที่ประชุมสมาคมทําหนังสือยื่นต่อท่านอัครราชทูตเพื่อขอให้พิจารณาเพิ่มเติมเงินค่าใช้จ่ายให้แก่นักเรียนที่ได้เงินกระเป๋าหรือเงินเดือนน้อย และขอให้จ่ายเป็นเงินปอนด์ตามงบประมาณที่สถานทูตได้รับจากกรุงเทพฯ ท่านอัครราชทูตจึงได้โทรเลขถึงกระทรวงการต่างประเทศขอให้นําความกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ขอส่งตัวปรีดีกลับสยามโดยด่วนตามเหตุผลที่ท่านอัครราชทูตกล่าวหาว่าปรีดีทําการประดุจเป็นหัวหน้าสหภาพแรงงาน โดยยุยงให้นักเรียนเรียกร้องเงินกระเป๋าหรือเงินเดือนเพิ่มขึ้น อีกทั้งปรีดีได้ปฏิบัติการโดยขัดคำสั่งอัครราชทูต ฯลฯ ฝ่ายปรีดีกับสมาชิกแห่งสมาคมฯ ก็ได้ถวายฎีกากราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ โต้แย้งคำกล่าวอัครราชทูต

 

 

โปรดติดตามอ่านต่อในบันทึกประกอบคำประท้วงกรณีหนังสือชีวิต 5 แผ่นดิน เรื่องข้อเท็จจริงของการอภิวัฒน์ 2475 (ตอนที่ 19)

 

หมายเหตุ :

  • คงอักขร การสะกดคำศัพท์ การเว้นวรรค และเลขไทยตามเอกสารต้นฉบับ
  • ภาพประกอบจากบันทึกประกอบคำประท้วงของนายปรีดี พนมยงค์

 

ภาคผนวก

คำขอขมาของห้างหุ้นส่วนจำกัดบรรณกิจเทรดดิ้งและประกาศกระทรวงศึกษาธิการเพิกถอนคำตัดสินของคณะกรรมการพิจารณาหนังสือแห่งชาติ หนังสือชื่อ “ชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้า” โดย พล.ท. ประยูร ภมรมนตรี

 

 

บรรณานุกรม

หลักฐานชั้นต้น :

  • ปรีดี พนมยงค์, บันทึกประกอบคำประท้วงของนายปรีดี พนมยงค์, (มปท., มปป.)

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง :